วอร์เรน บัฟเฟตต์ ไม่เคยเขียนหนังสือการลงทุน แต่แนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนของเขานั้น ส่วนใหญ่น่าจะมาจาก รายงานประจำปี
ที่เสนอต่อผู้ถือหุ้น บริษัทเบิร์กไชร์ แฮทธะเวย์ ที่เขาเป็นประธานอยู่ และอีกจำนวนไม่น้อยมาจากการพูดหรือแสดงความคิดเห็นในที่ต่างๆ หลังจากนั้น ก็มีคนหลายคนที่ศึกษา และรวบรวมความคิดของเขาออกมาเป็นหมวดหมู่เป็นระบบ และกลายเป็นหนังสือแนวทาง หรือกลยุทธ์การลงทุน "แบบบัฟเฟตต์" ซึ่งแน่นอน มีหลายเวอร์ชั่น แล้วแต่ว่าใครจะมองอย่างไร
ถ้าตัดเรื่องของการเขียนเป็นรูปเล่ม ที่ต้องมีการพรรณนาเรื่องราวต่างๆ ที่ยืดยาวออกไป เราก็พอจะหาแนวคิดที่เป็น "แก่น" จริงๆ ของบัฟเฟตต์ได้จากคำกล่าว หรือข้อคิดสำคัญๆ ของบัฟเฟตต์ที่พูดไว้ในที่ต่างๆ ได้ และต่อไปนี้คือข้อคิดดีๆ ที่เป็น "สุดยอด" ของบัฟเฟตต์
คำกล่าวที่หนึ่ง ก็คือ "สำหรับเรื่องของการลงทุนแล้ว กฎข้อที่หนึ่ง ก็คือ อย่าขาดทุน และกฎข้อที่สอง ก็คือ ให้กลับไปดูกฎข้อที่หนึ่ง" นั่นก็คือ สำหรับบัฟเฟตต์แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการลงทุน ก็คือ คุณต้องพยายามอย่าให้ขาดทุน บัฟเฟตต์นั้น ไม่เคยพูดถึงว่าเวลาลงทุนเขาคาดว่าจะกำไรเท่าไร กำไรกี่เปอร์เซ็นต์ ซื้อหุ้นแล้วมีโอกาสที่จะหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปมากน้อยแค่ไหน พูดง่ายๆ เขาดูความเสี่ยงที่เป็น Down Side หรือขาลง มากกว่าโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงในด้านขาขึ้น หรือ Up Side
เหตุผลสำคัญผมคิดว่า น่าจะอยู่ที่การลงทุนของบัฟเฟตต์ ที่เน้นการลงทุนถือหุ้นระยะยาวมาก ดังนั้น หุ้นจะขึ้นหรือเปล่าในเดือนหน้าหรือปีหน้าเขาไม่สนใจ เขาสนใจแต่ว่าในระยะยาวแล้ว หุ้นที่เขาซื้อจะไม่ลดลงอย่างถาวรเนื่องจากผลการดำเนินงานแย่ลง
คำกล่าวที่สอง "เป็นเรื่องที่ดีกว่าที่เราจะซื้อธุรกิจที่ดีสุดยอดในราคาปานกลาง แทนที่จะซื้อธุรกิจปานกลางในราคาที่ดีสุดยอด" ความหมาย ก็คือ บัฟเฟตต์นั้นไม่เน้นซื้อของถูกหรือซื้อได้ในราคาที่ "ดีสุดยอด" เขาคิดว่าธุรกิจที่ดีสุดยอดนั้น ในระยะยาวแล้วมูลค่าของกิจการก็จะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าเราสามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม ไม่แพง ราคาหุ้นก็จะปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามผลประกอบการของมัน ยิ่งถือนานก็ยิ่งดี
ตรงกันข้าม หุ้นของกิจการปานกลางนั้น ผลประกอบการก็มักจะไม่ดีขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้มูลค่าของกิจการไม่ใคร่เพิ่มขึ้น จริงอยู่ ในวันแรกเราอาจจะซื้อได้ในราคาที่ถูกมาก และก็มีโอกาสที่ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นไปเข้าหามูลค่าที่เหมาะสม หรือเข้าหา Intrinsic Value แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน นอกจากนั้น หลังจากที่มันปรับตัวขึ้นไปครั้งเดียวแล้ว ราคาของมันก็อาจจะนิ่งไม่ไปไหนอยู่นาน เพราะกิจการไม่ได้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ดังนั้น ยิ่งถือนาน ผลตอบแทนก็จะลดลง ซึ่งนำไปสู่ คำกล่าวที่สาม
คำกล่าวที่สาม "เวลาเป็นเพื่อนของธุรกิจที่มหัศจรรย์ แต่เป็นศัตรูของธุรกิจพื้นๆ" นั่นก็คือ ถ้าเราถือหุ้นของ "ธุรกิจมหัศจรรย์" หรือธุรกิจที่ดีสุดยอด คุณจะอยากถือไว้นานที่สุด ให้เวลากับการลงทุน เพราะยิ่งเวลาผ่านไป กำไรของบริษัทก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราที่สูงต่อเนื่อง ตรงกันข้าม ธุรกิจพื้นๆ นั้น ในบางช่วงเช่นช่วงแรกๆ ราคาอาจจะปรับตัวขึ้นด้วยสาเหตุอะไรบางอย่างซึ่งอาจจะรวมถึงการที่มีคนเห็น ว่ามันเป็นหุ้นที่ถูกและเข้ามาซื้อทำให้หุ้นปรับตัวขึ้น แต่เมื่อถือหุ้นนานขึ้นเรื่อยๆ แต่กำไรของบริษัทและราคาหุ้นกลับไม่ปรับตัวขึ้น ผลก็คือ เมื่อเวลาผ่านไป ผลตอบแทนต่อปีก็จะลดลงเรื่อยๆ ยิ่งถือนานก็ยิ่งแย่
คำกล่าวที่สี่ "แนวทางของเรา ก็คือ กำไรจากการไม่มีการเปลี่ยนแปลงแทนที่จะเปลี่ยนแปลง อย่างหมากฝรั่ง Wrigley มันเป็นเรื่องของการไม่เปลี่ยนแปลงที่ดึงดูดใจผม ผมไม่คิดว่ามันจะถูกเปลี่ยนโดยอินเทอร์เน็ต นั่นคือธุรกิจที่ผมชอบ"
นั่นก็คือ บัฟเฟตต์ มองว่าธุรกิจที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปง่ายด้วยปัจจัยอื่นโดยเฉพาะทางด้านของ เทคโนโลยี จะถือว่าเป็นธุรกิจที่สามารถคาดการณ์ผลประกอบการได้ในระยะยาว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากสำหรับเขาที่ต้องการลงทุนระยะยาวมากหรือตลอดไป ดังนั้น ถ้าอะไรที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ง่าย เขาก็มักจะหลีกเลี่ยงไม่ลงทุนแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงบางทีอาจจะทำให้บริษัท หนึ่ง มีผลประกอบการที่ก้าวกระโดด และทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นได้มหาศาลอย่างหุ้นอินเทอร์เน็ตทั้งหลาย กิจการที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายก็มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่บัฟเฟตต์จะรับได้
คำกล่าวที่ห้า "สิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับเรา ก็คือ บริษัทที่ยิ่งใหญ่ ประสบกับปัญหาชั่วคราว เราต้องการซื้อมันเมื่อมันอยู่บนโต๊ะผ่าตัด" นี่เป็น "โอกาสทอง" ที่บัฟเฟตต์แสวงหาตลอดมา จากอดีตจะเห็นว่าเขาเคยทำเงินมหาศาลอย่างรวดเร็วจากการซื้อหุ้นของกิจการที่ ดีสุดยอด แต่ประสบปัญหาชั่วคราวที่สามารถแก้ไขได้ อาทิเช่น หุ้นของอเมริกันเอ็กซ์เพรส หุ้นโค้ก และหุ้นอีกหลายตัวในช่วงที่เกิดวิกฤติซับไพร์มในอเมริกา
คำกล่าวที่หก "นานมาแล้ว เซอร์ไอแซคนิวตันให้กฎ 3 ข้อของการเคลื่อนที่ของวัตถุซึ่งเป็นผลงานที่เป็นอัจฉริยะ แต่ความสามารถของนิวตันไม่คลุมไปถึงเรื่องการลงทุน เขาขาดทุนมากมายในวิกฤตการณ์ฟองสบู่เซาท์ซี เขากล่าวภายหลังว่า "ผมสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของดวงดาวได้ แต่ผมไม่สามารถคำนวณความบ้าคลั่งของคน"" ถ้าเขาไม่ถูกทรมานจากการขาดทุนในครั้งนั้นมากเกินไป เขาคงได้ค้นพบกฎข้อที่สี่ของการเคลื่อนไหว นั่นคือ "สำหรับนักลงทุนโดยรวม ผลตอบแทนลดลงเมื่อมีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น" ความหมายของคำกล่าวนี้ก็คือ บัฟเฟตต์มองว่า ยิ่งเราซื้อขายหุ้นมากขึ้น เราก็จะต้องเสียต้นทุนค่าคอมมิชชั่นเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับส่วนต่างราคาซื้อราคาขาย และอาจจะเกิดความผิดพลาดในด้านของจังหวะการซื้อขาย ทั้งหมดนั้นทำให้ยิ่งเทรดหุ้นมาก ผลตอบแทนก็ยิ่งลดลง
คำกล่าวสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ บัฟเฟตต์บอกว่า "เหนือสิ่งอื่นใด คุณจะพบว่า ใครว่ายน้ำล่อนจ้อนก็ต่อเมื่อกระแสน้ำลดลง" ความหมายก็คือ การที่จะดูว่าใครมีฝีมือในการลงทุนจริงๆ หรือหลักการลงทุนแบบไหนได้ผลในระยะยาวจริงๆ นั้น เราจะต้องดูตอนที่ตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำหรือซบเซาลงมากๆ เพราะนั่นคือ เวลาที่จะพิสูจน์ว่ากลยุทธ์การลงทุนใช้ได้ผลจริง เพราะในยามที่ตลาดดีหรือช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นโดดเด่นเป็นกระทิง กลยุทธ์หลายๆ แบบอาจให้ผลดี หรือแม้แต่ดีกว่ากลยุทธ์ที่กูรูระดับโลกใช้กัน แต่ในยามที่ตลาดตกต่ำ กลยุทธ์นั้นอาจจะทำให้ขาดทุนมหาศาลและทำให้ผลตอบแทนโดยรวมระยะยาวกลับแย่ลง หรือไม่ดีอย่างที่คิด
ทั้งหมดก็เป็นเพียงบางส่วนของ "อัจฉริยะ" ของบัฟเฟตต์ ที่ได้ผ่านการทดสอบมาต่อเนื่องยาวนานคิดแล้วน่าจะถึงห้าสิบปีที่เขาลงทุนมา เขาบอกว่า "คนชอบอ้างอิงความคิดของเรา แต่น้อยคนที่จะปฏิบัติตามแนวทางการลงทุนที่เราทำ" และนี่ก็คงเป็นเรื่องธรรมชาติของคน หลักการลงทุนแบบบัฟเฟตต์ มันฝืนความรู้สึกของคนที่มักจะชอบ "ทำอะไรบางอย่าง" การซื้อแล้วถือหุ้นไว้เฉยๆ แบบบัฟเฟตต์นั้น ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่าย
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 26 เมษายน 2554
No comments:
Post a Comment