Tuesday, May 3, 2011

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ประเด็นทางสังคมกับการลงทุนนั้นถ้าคิดแบบผิวเผินก็ดูเหมือนว่าจะเกี่ยวข้องกันไม่มาก เพราะสังคมนั้นมักเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆจนเราไม่ค่อยรู้สึกว่ามี การเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม คนที่ผ่านหนาวผ่านร้อนมามากหรือพูดง่ายๆ มีอายุมากและตรึกตรองย้อนหลังอย่างพินิจพิจารณาก็จะรู้ได้ว่า สังคมไทยนั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปมากจนไม่น่าเชื่อ ผมเองที่มีอายุ “ใกล้เกษียณ” ก็เป็นหนึ่งในนั้น และการเปลี่ยนแปลงนั้น แน่นอน ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทย แต่เป็นไปทั้งโลก ซึ่งประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่ง ว่าที่จริง ถ้าพูดถึงเรื่องของสังคมแล้ว คำว่า “ไทย” นั้น ผมดูว่ามีความหมายน้อยลงไปมาก ลองไปถามเด็กวัยรุ่นไทยในปัจจุบันว่าการเป็นคนไทยนั้นทำให้เขาแตกต่างจากวัย รุ่นในประเทศอื่นอย่างไร? คำตอบของพวกเขาคงจะเบลอไปหมด บางทีคำตอบที่มากที่สุดอาจจะเป็นว่า “เขาพูดภาษาไทย” นอกเหนือจากนั้นแล้ว เขาก็คิดและทำ “เหมือนๆ กับคนทั้งโลก” ลองมาดูกันว่ามีอะไรที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปมากนับจากวันที่ผมยังเป็นวัย รุ่นเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว

เมื่อสัปดาห์ก่อนในงานเสกสมรสระหว่างเจ้าชายวิลเลียม ของราชวงศ์อังกฤษกับนางสาวเคท มิดเดิลตัน ซึ่งเป็นสามัญชน ผมได้รับรู้เรื่องราวสองเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ในสมัยที่ผมยังเรียน ชั้นมัธยมหรือมหาวิทยาลัยนั่นก็คือ เรื่องแรก เคท ไม่ยอมกล่าวคำสาบานว่าจะ “เชื่อฟังคำสั่ง” หรืออยู่ในโอวาทของสามีซึ่งในอนาคตจะเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษซึ่งเป็นราชวงศ์ ที่ถือว่ายังยึดมั่นใน “ขนบธรรมเนียมประเพณี” อย่างเคร่งครัด ส่วนเรื่องที่สองที่น่าจะยิ่ง “ช็อก” สำหรับคนรุ่นใกล้ๆ กับผมก็คือ เคทและเจ้าชายวิลเลียมให้สัมภาษณ์อย่างเปิดเผยว่าทั้งคู่ “อยู่กันมาก่อนแต่งงาน” ทั้งสองเรื่องนี้ ถ้าเป็นสมัยก่อนคงเป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำให้เกิดโกลาหลถึงขนาด “พัง” กันได้ แต่ใน พ.ศ. นี้ ดูเหมือนว่าไม่มีใครติดใจอะไรเลย เป็นพฤติกรรมที่ยอมรับกันได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา นั่นคือ ข้อแรก หญิงชายมีความเสมอภาคกัน ดังนั้นหญิงไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังคำสั่งของชาย ข้อสอง ธรรมเนียม “รักนวลสงวนตัว” ของผู้หญิงนั้น หมดไปแล้ว ว่าที่จริง ธรรมเนียมนี้ก็เป็นผลต่อมาจากธรรมเนียมเรื่องความไม่เสมอภาคระหว่างชายกับ หญิง เมื่อชายกับหญิงเท่าเทียมกันแล้ว ธรรมเนียมว่าชายกับหญิงไม่ควรมีสัมพันธ์ขนาดอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานก็หมดไป

ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้คน “รุ่นใหม่” ของไทยก็มีความคิดแบบเดียวกับเคทและเจ้าชายวิลเลียมแม้ว่า “คนรุ่นเก่า” จำนวนไม่น้อยก็ยัง “รับไม่ได้” ตัวอย่างเล็ก ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ของปีนี้ก็คือ เด็กสาววัยรุ่น 3-4 คน เปลือยกายเต้นโชว์ต่อหน้าผู้คนจำนวนมากที่กำลังเล่นน้ำสงกรานต์กันอยู่ที่ ถนนสีลม หลังจากการตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ ข่าวนี้ก็กลายเป็น “เรื่องใหญ่” ทาง “ขนบประเพณีและวัฒนธรรมไทย” ดูเหมือนว่าการกระทำของเด็กสาวดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่เลวร้ายและจะต้อง ถูกลงโทษทางสังคมอย่างรุนแรง แต่ถ้าถามคน “รุ่นใหม่” ที่ไม่ “เสแสร้ง” ผมเชื่อว่าพวกเขาน่าจะรู้สึก “เฉย ๆ” เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ พวกเขาอาจจะมองว่า มันเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ว่าที่จริงธรรมชาติของผู้หญิงก็ชอบโชว์อยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นผู้หญิงจะชอบแต่งตัวแต่งหน้ากันหรือ? การแก้ผ้าโชว์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการโชว์เท่านั้น และลองไปดูที่บราซิลหรือในอีกหลาย ๆ ประเทศ พวกเขาก็แก้ผ้าโชว์กันเป็นเรื่องปกติ เมืองไทยต่างหากที่เป็นปัญหา

ก่อนหน้านี้เพียงไม่ถึงเดือน มีการทำโพลล์ทางอินเทอร์เน็ตของนิตยสารไทม์ถ้าผมจำไม่ผิด ว่าใครคือผู้ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก คำตอบที่ออกมานั้นทำให้ผมรู้สึกทึ่งมาก เพราะว่าคนที่ได้อันดับหนึ่งนั้น ไม่ใช่ประธานาธิบดีของอเมริกาหรือจีนอย่างที่ควรจะเป็นถ้าเป็นโพลล์สมัยที่ ผมยังเป็นวัยรุ่นหรือเพียง 10-20 ปีที่แล้ว หรือเป็นบริทนีย์สเปียร์หรือแบรดพิตต์เมื่อ 5- 6 ปีก่อน แต่เป็น เรน นักร้องชาวเกาหลีที่ร้องและเต้นได้โดดเด่นมากที่สุดในช่วงเร็วๆ นี้ ใครจะไปคิดว่านักร้องหน้าตา “ตี๋ๆ” จากประเทศเล็กๆ ในเอเชียจะกลายเป็น “ไอดอล” ของคนทั้งโลกได้ ในสมัยก่อนนั้น ผมรู้สึกแต่ว่า คนที่จะ “นำ” ในเรื่องของความคิดและวัฒนธรรมระดับโลกได้จะต้องเป็นคนผิวขาวหรือไม่ก็ผิวดำ จากประเทศมหาอำนาจเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ว่าที่จริงมันคงเปลี่ยนมาได้พักใหญ่แล้ว เห็นได้จากการที่วัยรุ่นไทยสมัยนี้ “บ้าเกาหลี” อะไรที่เป็น “เกาหลี” พวกเขาจะรู้สึกนิยมชมชอบ ผมต่างหากที่ “ตามไม่ทัน” และมันคงไม่ใช่เฉพาะที่เมืองไทย แต่ขยายไปทั่วโลก อุทาหรณ์เรื่องนี้ก็คือ สังคมกำลังเป็น “สังคมโลก” ที่ทุกประเทศมีส่วนกำหนด ไม่ใช่เฉพาะแต่ประเทศมหาอำนาจหรือบางชาติพันธุ์อีกต่อไป และประเทศไทยก็หนีไม่พ้น

เรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ เรื่องของการ “ปฏิวัติประชาชน” ในกลุ่มประเทศอาหรับและแอฟริกาเหนือในช่วงนี้ นี่คือกลุ่มประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบ “เผด็จการ” ที่มีผู้นำ “ปกครอง” ประเทศมายาวนาน การปกครองที่ผ่านมายาวนานนั้นดูเหมือนว่าจะราบรื่นพอสมควรจนทำให้เราคิดว่า ประชาชนของประเทศเหล่านี้มีคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากคนที่อื่นเนื่องด้วย สาเหตุอะไรก็แล้วแต่ แต่แล้วทันใดนั้นทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนจำนวนมากลุกฮือขึ้นมาทวงสิทธิและความเสมอภาคและต้องการ “ประชาธิปไตย” และพร้อมต่อสู้แลกด้วยชีวิตจนผู้นำที่อยู่อย่างมั่นคงมานานต้องยอมแพ้และยอม ให้มีการปฏิรูปการปกครองที่จะแตกต่างจากระบอบเดิมไปมาก ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะสื่อต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสังคมที่ทรงอิทธิพลอย่างเฟซบุ๊คที่ สร้างค่านิยมใหม่ๆ ขึ้นในสังคมที่ “ถูกปิด” ด้วยอำนาจของผู้ปกครอง นอกจากนั้น มันยังช่วยรวบรวมพลังของคนเหล่านั้นให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับผู้เผด็จการได้ ผลกระทบจากเรื่องของการลุกฮือของประชาชนในประเทศตะวันออกกลางนั้น ผมคิดว่ามันเป็นสัญญาณว่า สังคมของคนทั่วโลกนั้น มีแนวโน้มที่จะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมากกว่าที่จะเป็นแนวเผด็จการ ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่ผมยังเป็นวัยรุ่นที่โลกยังไม่แน่นอนว่าจะมีแนว โน้มไปทางไหน และเผด็จการก็ยังเป็นทางที่เดินในหลายๆ ประเทศ

กล่าวโดยสรุปก็คือ สังคมไทยในวันนี้นั้น เปลี่ยนแปลงไปมากจากอดีต เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกอย่างใกล้ชิด และสังคมนั้น เปลี่ยนจากความไม่เท่าเทียมในด้านต่าง ๆ เฉพาะอย่างยิ่งในด้านของเพศและสิทธิทางการเมืองจากที่ไม่เท่าเทียมเป็นเท่า เทียมกันมากขึ้น เช่นเดียวกัน ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมต่าง ๆ ของเราก็เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของโลกมากขึ้นเรื่อยจนสิ่งที่เราทำแตกต่างจาก สังคมโลกนั้น เป็นคล้ายๆ กับเรื่องของรายละเอียดมากกว่าจะเป็นความแตกต่างโดยพื้นฐาน เช่น งานสงกรานต์นั้นอาจจะเป็นงานรื่นเริง “ทั้งเมือง” คล้ายๆ งานมาดริการ์ของประเทศอย่างบราซิลมากกว่าจะเป็นเรื่องทางศาสนาหรือประเพณี โบราณ ปัญหานั้น ไม่ใช่อยู่ที่ว่าสังคมจะเปลี่ยนหรือไม่ แต่ปัญหาก็คือ ในโลกที่คน “รุ่นเก่า” ยังมีจำนวนและอิทธิพลในสังคมอยู่มาก ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงจึงไม่ “ราบรื่น” อย่างไรก็ตาม ความไม่ราบรื่นส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร นอกจากความหงุดหงิดของคน แต่ในบางครั้ง มันก็สามารถทำให้เกิดแรงกระทบกระทั่งที่รุนแรงจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ หน้าที่ของ VI ก็คือ ติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มใหญ่ทางสังคม ดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นและมันเป็นสิ่งที่คุกคามหรือเป็นโอกาสในการลงทุน

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 2พฤษภาคม 2554

No comments:

Post a Comment