Tuesday, February 23, 2010

GT 200 กับการเล่นหุ้น...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เรื่องราวของเครื่องตรวจจับระเบิดที่ชื่อว่า TG 200 ซึ่งมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าไม่สามารถตรวจระเบิดได้จริงแต่คนที่ใช้เองก็ยังยืนยันว่าใช้ได้ผลและจะยังใช้ต่อไปตราบที่ยังไม่มีเครื่องมืออื่นมาทดแทนนั้น ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด เพราะว่าที่จริงเรายังมีเรื่องอื่น ๆ อีกมากที่คนมีพฤติกรรมแบบเดียวกับเรื่องของ GT 200 แม้ว่ารายละเอียดจะต่างกัน

สมัยหนึ่งเมื่อโรคเอดส์เพิ่งจะโด่งดังและมีผู้คนเป็นกันมาก เราก็มียาซึ่งอ้างว่าทำจากสมุนไพรและเป็นสูตรลับซึ่งผู้ผลิตบอกว่าสามารถรักษาคนที่เป็นให้หายได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ผู้คนแห่กันไปขอซื้อมาใช้กันอย่างล้นหลาม แต่ต่อมาก็มีการพิสูจน์โดยวิชาการแพทย์มาตรฐานว่าเป็นยาที่ใช้ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ช่วงนั้นคนที่เป็นเอดส์จำนวนมากก็ยังยืนยันที่จะใช้อยู่

เรื่องยารักษาโรคเอดส์นั้นก็เป็นเพียงอีกเรื่องหนึ่งที่มาแล้วก็หายไปเช่นเดียวกับเรื่อง “ยามหัศจรรย์” ของ “ป้าเช็ง” ที่นอกจากไม่สามารถรักษาให้โรคหายแล้ว บางรายยังมีปัญหารุนแรงขนาดทำให้ตาบอดได้ อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ผมคิดว่าถ้าเปิดขายก็น่าจะยังมีคนมาซื้อไปใช้อยู่

เรื่องที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผมคิดว่าเมื่อเวลาผ่านไปมันก็คงจะล้มหายไป แต่ยังมีเรื่องทำนองแบบนี้อีกมากที่จะยังอยู่กับเราไปเรื่อย ตัวอย่างที่ชัดเจนก็น่าจะรวมถึงการ “ดูหมอ” โดยเฉพาะหมอดัง ๆ อย่างหมอดู “อีที” ที่พม่า เรื่องของความมหัศจรรย์ของเทคนิคในการสร้างพลังทางจิตใจหรือใช้ความคิดที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่หรือแก้ปัญหาที่รุนแรงบางอย่างได้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีมาอยู่เรื่อย ๆ พร้อมกับชื่อที่เปลี่ยนไป และสุดท้ายที่เกี่ยวกับหุ้นก็คือ สูตรหรือเครื่องมือในการเล่นหุ้นที่จะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำเช่น เครื่องมือ “ทางเทคนิค” หรือการวิเคราะห์ทางเท็คนิค หรือการใช้กฏเกณฑ์แน่นอนที่อิงกับข้อมูลพื้นฐานของกิจการแนว VI มาทำการซื้อหรือขายหุ้นที่เรียกว่า Mechanical Rule เพื่อทำกำไรมากกว่าปกติ เหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นและดังเป็นระยะ ๆ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ประสิทธิผลของสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์

คำถามก็คือ ทำไมคนจึงยังยืนยันที่จะใช้เครื่องมือหรืออะไรก็แล้วแต่ทั้ง ๆ ที่ไม่มีข้อพิสูจน์ว่ามันใช้ได้ผล หรือบางเรื่องมีการพิสูจน์ที่เป็นวิทยาศาสตร์แล้วว่ามันใช้ไม่ได้ผล ต่อไปนี้คือคำอธิบายของผมที่จะบอกว่า เรื่องเหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร ถ้าจะเกิดขึ้นมันมักจะต้องมีเงื่อนไขอย่างไรเพื่อที่ว่า เมื่อมันเกิดขึ้น เราจะได้ “รู้ทัน” และไม่ตกเป็นเหยื่อของมัน

ข้อแรก มันมักเป็นเรื่องที่มี “การได้เสียสูง” เช่นเป็น “ความเป็นความตาย” เรื่องของระเบิดและเรื่องของโรคเอดส์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เรื่องของหมอดูอีทีนั้นถ้าเป็นเรื่องของ “นักปฏิวัติ” ก็ชัดเจนว่าเป็นเรื่องใหญ่ได้เสียสูงสำหรับคนทำ และสุดท้ายก็เรื่องของการเล่นหุ้นซึ่งก็ “ได้เสียสูง” ในแง่เงินทอง ดังนั้น คนต้องหาทางแก้ปัญหาหรือลดความเสี่ยงในทุกทางที่ทำได้ แม้ว่าสิ่งนั้นยังไม่ได้รับการพิสูจน์หรือแม้แต่พิสูจน์แล้วแต่การพิสูจน์นั้นก็ “อาจจะผิด” ก็ได้ เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับคนไทยที่มักจะเชื่อเรื่องของไสยาศาสตร์แล้ว เขาก็มักจะคิดว่า “ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่” บางทีอาจจะมีสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ก็ได้

ข้อสอง “สิ่งมหัศจรรย์” นั้นเกิดขึ้นกับคนบางคนหรือเกิดขึ้นในบางครั้ง และแน่นอน คนเอาไปพูดต่อกันมากเป็นที่โจษจัน เช่น เครื่องสามารถชี้จุดที่อยู่บนคานหลังคาแล้วพบว่ามีระเบิดจริง ๆ หรือ คนเป็นโรคเอดส์อยู่แต่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อหลังจากกินยาไปได้ไม่นาน หรือ หุ้นวิ่งไปไกลมากหลังจากทะลุ “Golden Cross” แต่สิ่งที่ “ไม่มหัศจรรย์” ที่อาจจะมีมากกว่ามากนั้น เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครพูดถึงหรือพูดถึงน้อยมาก นั่นก็คือ คนเอาไปใช้แล้วไม่เกิดผลอะไรเลย แต่คนเหล่านั้นอาจจะคิดว่าเขาใช้มันผิดวิธี หรือยานั้นอาจจะใช้ไม่ได้กับทุกคนขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน และเหตุผลอีกร้อยแปด พูดง่าย ๆ เขาคิดว่าเขาเป็นข้อยกเว้น ในขณะที่เครื่องมือหรือยานั้นเป็นสิ่งที่ใช้ได้จริง

สุดท้าย เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมีคนได้ประโยชน์ โดยเฉพาะที่เป็นการได้เงินจากการขายสินค้าหรือเครื่องมือที่ใช้การไม่ได้จริงเหล่านั้น ในบางเรื่องก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีคนได้ประโยชน์อะไร เป็นเรื่องบอกให้ “เอาบุญ” แต่ถ้าวิเคราะห์หรือมองให้ลึกซึ้งลงไปก็จะมีคนได้ประโยชน์ทางอ้อมอยู่ไม่น้อย

ในฐานะของ VI นั้น เราจะต้องตระหนักว่าในโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองไทยนั้น เราจะพบกับสถานการณ์แบบ “TG 200” อยู่เรื่อย ๆ หน้าที่ของเราก็คือ พิจารณาอย่างลึกซึ้งด้วยเหตุผล ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้าเป็นเรื่องของเราเองนั้น จะต้องมั่นใจว่าเราจะไม่ตกเป็นเหยื่อหรือเดือดร้อนในการที่จะใช้มัน เรื่องที่เป็นรูปธรรมที่สุดในฐานะนักลงทุนนั้น แน่นอน ก็คือเรื่องของเท็คนิคที่ใช้ในการลงทุนที่มักจะมีการอ้างว่าใช้ได้ผลโดยเพียงแต่ดูเส้นอะไรบางอย่างและไม่ต้องวิเคราะห์อะไรอย่างอื่นอีก แบบนี้เราอาจจะต้องระวังว่าถ้าเราใช้มันโดยที่จริง ๆ แล้วมันใช้ไม่ได้ โอกาสก็อาจจะเหมือนกับการใช้ TG 200 ในดงระเบิด นั่นคือ เราขาดทุนไม่เป็นท่า

ในอีกด้านหนึ่ง ถึงแม้ว่าเครื่องมือมันจะใช้ไม่ได้ผล แต่เราก็อาจจะไม่เสียอะไรมากในการใช้มัน หรืออาหารเสริมบางอย่างที่อาจจะไม่ให้ผลอะไรเลยกับร่างกายแต่โทษก็ไม่มีอะไรยกเว้นว่าจะเสียเงินบ้าง แบบนี้ การใช้ก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราเสียหายหนัก ว่าที่จริง ส่วนตัวผมก็กินยาหรืออาหารเสริมหลายอย่างที่อาจจะไม่มีผลอะไรเลยแต่ก็ยังกินอยู่ เหตุผลก็คือ สุขภาพนั้น เป็นเรื่องที่มีการ “ได้เสียสูง” และผมเคยอ่านหรือพบว่าการกินยานั้น ก่อให้เกิด “สิ่งมหัศจรรย์” ขึ้นกับคนบางคน เหนือสิ่งอื่นใด ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการกินยาหรืออาหารเสริมนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียอะไรยกเว้นต้องจ่ายเงินซื้อ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับสุขภาพของผม ดังนั้นผมจึงกิน แต่สำหรับเรื่องการลงทุนแล้ว ผมไม่ยอมใช้อะไรที่ผมไม่เชื่อว่าจะใช้ได้ เพราะความเสียหายหรือต้นทุนนั้นสูงมาก

บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2553

ธรรมชาติของจิตใจ...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในการวิเคราะห์หุ้นแบบ VI นั้น เราจำเป็นต้องวิเคราะห์ธุรกิจของบริษัท ในการวิเคราะห์ธุรกิจของบริษัทนั้น เราจำเป็นต้องวิเคราะห์การแข่งขันระหว่างบริษัทกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเดียวกัน ในการวิเคราะห์การแข่งขันเราต้องวิเคราะห์ว่าบริษัทและคู่แข่งต่าง ๆ นั้นอยู่ใน “ตำแหน่งทางการตลาด หรือมี “Positioning” อย่างไร คำว่า Positioning นั้นก็คือตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ “ในจิตใจ” ของลูกค้า เช่น “รถยี่ห้อนี้เป็นรถที่หรูที่สุด” “ยาสีฟันยี่ห้อนี้แก้เสียวฟันดีที่สุด” “ผลิตภัณฑ์นี้ขายดีเป็นอันดับหนึ่ง” “ร้านเครือข่ายสรรพสินค้านี้ขายดีเป็นอันดับสอง” เป็นต้น การวิเคราะห์เรื่อง Positioning นี้ จะทำให้รู้ว่าบริษัทไหนจะชนะหรือแพ้ กลยุทธอันไหนของบริษัทจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว พูดให้ง่ายก็คือ ถ้าบริษัทหรือสินค้าของบริษัทอยู่ในตำแหน่งทางการตลาดที่ดีแล้วละก็ การแข่งขันก็จะได้เปรียบ กำไรก็มักจะต้องดี และที่สำคัญก็คือคู่แข่งจะเข้ามาแย่งตำแหน่งได้ยาก และนี่คือแนวความคิดทางการตลาดที่นำเสนอโดย แจ็ค เทร้า กูรูทางการตลาดชื่อดัง


ประเด็นที่ผมจะพูดถึงต่อไปนี้ก็คือเรื่องคำว่า “ในจิตใจ” นั่นคือ เรื่องของ Positioning นั้น เป็นเรื่องของความเชื่อ หรือความรู้สึก ที่อาจจะไม่ใช่เรื่องจริงก็ได้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ผลิตภัณฑ์ของคุณอาจจะดีที่สุดหรือปลอดภัยที่สุด แต่คนส่วนใหญ่เชื่อและรับรู้ว่าสินค้าที่ดีหรือปลอดภัยนั้นเป็นอีกตัวหนึ่ง แบบนี้สินค้าของคุณก็ไม่มีความหมาย ในการพูดถึง Positioning นั้น แจ็ค เทร้า ได้อธิบายถึง “ธรรมชาติ” ของจิตใจที่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์เรื่อง Positioning ได้อย่างเข้าใจได้ง่าย

ธรรมชาติข้อแรกของจิตใจก็คือ จิตใจนั้นมีความจำกัด นั่นคือ มันรับข้อมูลใหม่เฉพาะที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับข้อมูลปัจจุบันที่มีอยู่ ข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อเดิมนั้น จิตใจจะไม่ยอมรับ และโดยปกติ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งคนเราจะไม่สามารถจำหรือจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้เกิน 7 อย่างและนั่นเป็นที่มาว่าทำไมเราจึงมี 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก หรือสโนว์ไว้ท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ธรรมชาติข้อนี้ทำให้คนไม่สามารถจำหรือรับรู้สินค้ายี่ห้อต่าง ๆ ได้มากมายเช่นเดียวกับที่ไม่ยอมรับสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อที่มีอยู่ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าคนเชื่อว่ายาสีฟัน A นั้นแก้เสียวฟันดีที่สุด เขาจะไม่ยอมรับหรอกว่ายาสีฟัน B นั้นแก้ได้ดีกว่าแม้ว่าคุณจะโฆษณามากมายแค่ไหนก็ตาม นอกจากนั้น ถ้าถามว่าคุณจำชื่อยาสีฟันได้กี่ยี่ห้อและแต่ละยี่ห้อช่วยอะไรบ้าง คำตอบก็คือ ไม่เกิน 7

ข้อสอง จิตใจเกลียดความสับสน อะไรที่ฟังดูยุ่งยากซับซ้อนนั้นคนก็จะไม่จำ ดังนั้น นักการตลาดที่ฉลาดจะต้องทำอะไรหรือพูดอะไรที่ธรรมดาและเข้าใจง่าย สินค้าแต่ละอย่างนั้นจะต้องเสนอว่ามันทำอะไรได้หรือมีอะไรที่โดดเด่นเพียงอย่างเดียว อย่าพยายามบอกว่ามันดีทุกอย่าง เช่น รถคันนี้ปลอดภัย หรู ขับขี่สบาย และอื่น ๆ อีกมาก แบบนี้คนจะสับสน ข้อนี้หลายคนอาจจะบอกว่าไม่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ในโลกยุคใหม่หลายอย่างที่พูดถึงเรื่อง Convergent นั่นคือ ผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่มารวมกันอยู่ในเครื่องเดียวกัน เช่น คอมพิวเตอร์ที่เป็นทีวีด้วย เป็นเครื่อง Fax ด้วย และเป็นอะไรอื่น ๆ อีกมาก เช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือที่ทำได้ทุกอย่างทั้งส่ง อีเมล ดูหนัง เป็น organizer เป็นต้น ข้อนี้ แจ็ค เทร้า บอกว่าไม่จริง อย่างไรเสียผลิตภัณฑ์ที่ “ทำได้ทุกอย่าง” นั้นก็ไม่มีทางสู้ผลิตภัณฑ์ที่ “ทำงานได้ดีมากในเรื่องที่ลูกค้าต้องการ” เพียงอย่างเดียว

ข้อสาม จิตใจนั้นไม่มั่นใจ จิตใจมักจะยึดอารมณ์มากกว่าเหตุผล อย่างเรื่องการซื้อของนั้น คนเรามักจะ “ซื้อตามคนอื่น” แม้ว่าเขาจะบอกว่าเขาซื้อเพราะอะไรแต่จริง ๆ อาจจะไม่ใช่ เหตุผลก็คือ คนเรามักจะกลัวความเสี่ยงที่อาจจะจริงหรือไม่ก็ตาม ความเสี่ยงนั้น อาจเป็นเรื่องความเสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงในการใช้ผลิตภัณฑ์ ความเสี่ยงจากอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากสินค้า ความเสี่ยงทางด้านสังคมเช่นเพื่อนจะคิดอย่างไรกับเราเป็นต้น การแก้หรือการจับจุดอ่อนนี้ของคนเพื่อที่จะขายของมีหลายอย่างเช่น การใช้คนดังคนเด่นที่เป็นดาราหรือนักกีฬามารับรองผลิตภัณฑ์ การสร้างกระแสว่าคนมากมายต่างก็ใช้สินค้านี้เพราะมันมียอดขายอันดับหนึ่ง หรือใช้ความเก่าแก่ของผลิตภัณฑ์ที่มีมานับชั่วอายุคนเป็นจุดขายเป็นต้น พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมคิดไปถึงเรื่องของการซื้อหุ้นตามกันว่าคงจะเกิดขึ้นจากการที่ “จิตใจไม่มั่นใจ” อยู่เหมือนกัน

ข้อสี่ จิตใจไม่เปลี่ยน นี่เป็นธรรมชาติของคนที่มักต่อต้านการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนทัศนคติของคนเป็นเรื่องที่ยากมาก ถ้าคุณจะเปลี่ยนคุณจะต้องเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เป็นฐานที่ก่อให้เกิดความเชื่อนั้น ซึ่งในเวลาเพียง 30 วินาทีของการโฆษณานั้นทำไม่ได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือมีใครหรือบริษัทไหนพยายามที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อหรือการบริโภคของคนหรือเปลี่ยนทัศนคติอะไรของคน อย่าเชื่อว่ามันจะประสบความสำเร็จ

ข้อห้า จิตใจอาจจะสูญเสียจุดมุ่งเน้นหรือเบลอได้ นี่เป็นกรณีที่เดิมนั้นจิตใจมีความเข้าใจหรือความเชื่อชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร เช่นถ้าพูดถึงเบียร์ในสมัยก่อนทุกคนก็จะรู้ว่าเบียร์ยี่ห้อนี้มีรสชาดอย่างไร แต่ในตอนหลังมีการขยายสายผลิตภัณฑ์กลายเป็นว่าเบียร์ยี่ห้อเดิมแต่มีรสชาดหลายอย่างตั้งแต่ดีกรีต่ำไปสูงและยังมีแบบดราฟเบียร์อีกต่างหาก นี่ทำให้คนเบลอ ไม่รู้ว่าเวลาพูดถึงเบียร์ยี่ห้อนี้คุณกำลังพูดถึงแบบไหน ดังนั้น สำหรับ แจ็ค เทร้า แล้ว การขยายสายผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งต้องห้าม ยี่ห้อสินค้าเดียวต้องเป็นตัวแทนของผลิตภัณฑ์เดียว ถ้าต้องการออกสินค้ารุ่นใหม่จะต้องใช้ชื่อใหม่ มิฉะนั้นยี่ห้อเดิมจะเสียหาย การขยายสายผลิตภัณฑ์จะทำให้พวก Specialist หรือสินค้าที่เน้นคุณภาพเพียงอย่างเดียวเข้ามาแย่งตลาดจากเจ้าเดิมได้ พูดถึงเรื่องนี้แล้วผมก็คิดถึงดาราหลายคนที่เข้าไปเล่นการเมือง ซึ่งทำให้ยี่ห้อของการเป็นดาราเสียไปในขณะเดียวกันก็ไม่ประสบความสำเร็จทางการเมือง นี่ก็อาจเป็นเรื่องที่จิตใจของคน “เบลอ” ไป ไม่รู้ว่าเขาเป็นดาราหรือนักการเมือง

และทั้งหมดนั้นก็คือ ธรรมชาติของจิตใจในสายตาของกูรูการตลาดที่สรุปว่า ความเชื่อนั้นคือของจริง อย่าไปสับสนกับข้อเท็จจริง สิ่งที่ผมอยากจะเพิ่มเติมก็คือ นี่ไม่ใช่ใช้ได้เฉพาะกับการตลาด แต่มันใช้ประยุกต์ได้กับชีวิตในหลาย ๆ ด้าน

บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2553

ความเสี่ยงของกองทุนอสังหาริมทรัพย์...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

นักลงทุนที่รักความปลอดภัยแต่อยากได้ผลตอบแทนที่ดีมักจะมองหา กองทุนอสังหาริมทรัพย์ เหตุผลก็คือ กองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นเจ้าของหรือถือสิทธิ์การเช่าระยะยาวในอสังหาริมทรัพย์ที่มักจะมีรายได้อยู่แล้ว รายได้ที่ได้ก็มักเป็นรายได้ที่ค่อนข้างจะ “แน่นอน” เพราะมักเป็นรายได้ค่าเช่า “ระยะยาว” ลูกค้าที่มาเช่าก็มักจะ “อยู่ยาว” และที่สำคัญ กำไรที่อสังหาริมทรัพย์ทำได้นั้น จะส่งต่อให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนโดยไม่ต้องเสียภาษี คิดแล้วเป็นผลตอบแทนปีละประมาณ 7-8 % หรือมากกว่านั้น และนี่เป็นผลตอบแทนในปีแรก ๆ เท่านั้น อนาคตค่าเช่าอาจจะปรับเพิ่มขึ้นและผลตอบแทนก็อาจจะสูงขึ้น ฟังดูแล้วมีแต่เรื่องดี ๆ ความเสี่ยงในการลงทุนต่ำกว่าหุ้นมากขณะที่ผลตอบแทนดูเหมือนจะพอ ๆ กัน แต่ผมเองก็ยังมีข้อที่ยังไม่ค่อยแน่ใจตามประสา Value Investor ที่ไม่ยอมเชื่ออะไรง่าย ๆ และต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะกับอะไรที่ “ดีเกินไป” ข้อสังเกตและความคิดของผมก็คือ

หนึ่ง ถ้ามันดีมากจริง ๆ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทำไมเอาทรัพย์สินมาขายให้กองทุน เก็บเอาไว้ “กินเอง” ไม่ดีกว่าหรือ อย่างไรก็ตาม ข้อนี้ก็มีข้อโต้เถียงได้ว่า เจ้าของอาจจะต้องการเงินเพื่อเอาไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการใหม่และไม่อยากจะกู้เงินมากเกินไป นอกจากนั้น การขายเข้ากองทุนทำให้ไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคลซึ่งทำให้โครงการมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เหนือสิ่งอื่นใด เจ้าของก็มักจะยังตามไปถือหน่วยลงทุนประมาณ 30% ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นการลงทุนที่ดีจริง และที่เขาขายนั้นก็เพราะต้องการสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและเรื่องของการระดมเงินเป็นหลัก ไม่ใช่การขายเพื่อทำกำไรกับคนที่เข้ามาถือหน่วยลงทุน ในความเห็นของผม ผมคิดว่าข้อโต้เถียงนั้นก็มีเหตุผล อย่างไรก็ตาม มันก็อาจจะมีหลายโครงการเช่นกันที่เจ้าของโครงการนั้น ขายโครงการในราคาที่สูงเกินกว่าที่ควรเป็นให้กับคนถือหน่วยลงทุนโดยวิธีการที่ซับซ้อนและผู้บริหารกองทุนก็ “ตามไม่ทัน”

สอง เจ้าของโครงการนั้น หลังจากที่ขายโครงการเข้ากองทุนแล้ว เขาก็ยังเป็นผู้จัดการทรัพย์สินนั้นอยู่โดยมีสัญญาผูกพันยาวนาน หลาย ๆ โครงการ เจ้าของโครงการก็เป็นผู้เช่าหลักเอง ดังนั้น มันก็มีสิ่งที่เรียกว่า Conflict of Interest หรือ ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือขัดแย้งกัน นั่นคือ ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร เขาควรที่จะเรียกค่าเช่าให้สูงเพื่อให้กองทุนมีกำไรมาก แต่ในฐานะผู้เช่า เขาก็ต้องการเช่าในราคาที่ต่ำ โดยธรรมชาติ เขาก็จะต้องดูว่าผลประโยชน์ทางไหนจะมากกว่า โดยทั่วไป ผมคิดว่าผลประโยชน์ในแง่ของการเป็นผู้เช่าจะสูงกว่าผลประโยชน์ที่เป็นเจ้าของหน่วยลงทุนเพียง 30% ดังนั้น ความเสี่ยงของผู้ถือหน่วยลงทุนก็คือ หลังจากที่สัญญาเช่ารอบแรกที่มักจะต้อง “ยุติธรรม” กับกองทุน หมดลง การต่อสัญญาใหม่นั้นผมก็ไม่ใคร่แน่ใจว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิมหรือไม่

สาม สัญญาเช่ารอบแรกตอนขายโครงการให้กับกองทุนนั้น เจ้าของโครงการก็มักจะต้องทำให้มันดูดีมาก เช่น มีคนเช่าค่อนข้างเต็ม รายได้จากค่าเช่าค่อนข้างดี ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้ผลตอบแทนถึง 7-8% ขึ้นไป และถ้าโครงการทำไม่ได้ในปีแรก ๆ บ่อยครั้งเจ้าของโครงการยังมีการ “รับประกันรายได้ขั้นต่ำ” จำนวนหนึ่งเพื่อที่จะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนมั่นใจ อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 2-3 ปีว่าจะได้ผลตอบแทนอยู่บ้างถ้าโครงการทำรายได้ไม่เป็นไปตามที่คาด ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนที่มักไม่มองอะไรไกล ๆ ก็จะสบายใจและยอมควักเงินซื้อหน่วยลงทุนนั้นในราคาที่อาจจะสูงเกินไป

สี่ กองทุนอสังหาริมทรัพย์จำนวนไม่น้อยเป็นสัญญาเช่าระยะยาวหรือที่เรียกว่าเป็นการ “เซ้ง” ในช่วงที่สัญญายังอยู่ ผลตอบแทนก็มักจะค่อนข้างดี แต่เมื่อหมดสัญญาเซ้งซึ่งอาจจะอีก 15-20 ปี ทรัพย์สินนั้นก็จะต้องตกเป็นของเจ้าของที่ดินเดิม มูลค่าของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ก็หมดลงหรือเหลือน้อยมาก และแม้ว่าจะมีคำปลอบใจว่าอาจจะต่อสัญญาได้ แต่การต่อสัญญานั้นก็คงต้องจ่ายค่าเซ้งใหม่ซึ่งจะเป็นเงินมหาศาล ดังนั้น การได้ต่อสัญญาจึงมีความหมายน้อยมาก ความเสี่ยงเรื่องนี้ก็เช่นกัน เป็นเรื่องที่ยังอยู่ไกล ดังนั้น นักลงทุนหลายคนก็มักจะไม่ค่อยสนใจ แต่สำหรับ Value Investor แล้ว เราสนใจ เพราะที่ดินนั้น ถ้าเป็นของเราหรือของกองทุน ยิ่งเวลาผ่านไปมูลค่ากลับมากขึ้น แต่ถ้าเป็นสัญญาเซ้ง ยิ่งนาน มูลค่าหรือราคากลับลดลงจนเป็นศูนย์เมื่อหมดสัญญา

ห้า ในช่วงที่มีการขายโครงการเข้ากองทุนนั้น หลาย ๆ โครงการเป็นโครงการที่ค่อนข้างใหม่ ดังนั้น ความจำเป็นที่จะต้องซ่อมแซมตัวอาคารและโครงสร้างต่าง ๆ นั้นจะมีน้อยมาก นั่นทำให้กำไรของโครงการหรือกองทุนจะมีมากกว่าปกติ และดังนั้นราคาโครงการก็สามารถตั้งไว้สูงได้โดยที่ทำให้ผู้ซื้อหน่วยลงทุนยังได้ผลตอบแทนปีละ 7-8% แต่กำไรนี้จะยั่งยืนหรือไม่ก็ยังไม่แน่ใจหากว่าในเวลาต่อมาโครงการจะต้องเริ่มมีการตบแต่งหรือซ่อมแซมอาคารใหม่ อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อโต้แย้งว่า เมื่อเวลาผ่านไป ค่าเช่าก็อาจจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น กำไรก็จะยังคงเดิมหรือเพิ่มขึ้นได้ ประเด็นนี้ เรายังไม่ทราบ เพราะกองทุนอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดยังค่อนข้างใหม่ เวลาเท่านั้นที่จะบอก

หก ความเสี่ยงทางด้านการตลาด นั่นคือ จำนวนคนเช่าและราคาค่าเช่านั้น แม้ว่าบางโครงการเช่น โครงการห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียงอาจจะมีความเสี่ยงน้อย แต่หลาย ๆ โครงการก็ต้องถือว่ามีความเสี่ยงพอสมควรทีเดียว ประเด็นก็คือ โครงการที่เขาจะนำมาขายเข้ากองทุนนั้น เขาก็จะต้องเอาโครงการหรือทรัพย์สินที่มีคนเช่าเต็มหรือค่อนข้างเต็มและได้ค่าเช่าค่อนข้างจะดีอยู่แล้วมาขายซึ่งจะทำให้เขาขายได้ในราคาที่ดี แต่ใครจะไปรู้ว่าอนาคตนั้นจะดีต่อไปหรือไม่โดยเฉพาะเมื่อสัญญาเช่าหมดลง เหนือสิ่งอื่นใด นี่ก็อาจจะคล้าย ๆ กับหุ้น IPO หรือหุ้นเข้าตลาดใหม่ ๆ ที่เจ้าของ “แต่งตัว” หรือทำให้กำไรของบริษัทดูดีผิดปกติเพื่อจะได้นำมาขายให้คนอื่นในราคาที่สูงเกินพื้นฐานเหมือนกัน ดังนั้น ก่อนที่จะซื้อกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ต้องดูให้แน่ใจว่าอนาคตของทรัพย์สินจะหาคนเช่าได้แน่นอนในราคาที่ไม่ลดลง

สุดท้ายก็คือความเสี่ยงอื่น ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ว่าจะมีโอกาสที่ทรัพย์สินจะถูกรอนสิทธิหรือไม่ รวมถึงการแข่งขันทางธุรกิจจากโครงการอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตและถ้ามีจะกระทบกับทรัพย์สินของกองทุนอย่างรุนแรงได้ เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ผมพอจะนึกออก แต่ที่จริงแล้วยังอาจจะมีอะไรต่าง ๆ ที่เรายังนึกไม่ถึง อย่าลืมว่ากองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นเรื่องที่ยังค่อนข้างใหม่ ดังนั้นความเสี่ยงจึงมากกว่าหลักทรัพย์อย่างอื่น ว่าที่จริงเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีกองทุนหนึ่งที่เกิดปัญหาขึ้นมาแล้วและผมคิดว่ามันคงไม่ใช่ปัญหาสุดท้าย ข้อสรุปของผมก็คือ ถ้าจะซื้อ เราควรซื้อกองทุนอสังหาที่เราเข้าใจธุรกิจของโครงการจริง ๆ และถ้าจะให้ดีเป็นเจ้าของทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเอง ไม่ใช่สัญญาเช่าระยะยาว

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 16 มกราคม 2553

In Search of Super Stock...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Value Investor ในเมืองไทยส่วนใหญ่นั้นนับถือและยกย่อง วอเร็น บัฟเฟตต์ แต่น้อยคนที่จะทำตามวิธีการลงทุนของเขาที่เน้นการลงทุนในหุ้นของกิจการที่ดีสุดยอดในราคาที่ยุติธรรมหรือที่เรียกกันว่า Super Stock เหตุผลคงเป็นว่า ข้อแรก Value Investor ในตลาดหุ้นไทยนั้นค่อนข้างจะเน้นในเรื่องของ “ราคา” ซึ่งเป็นพื้นฐานดั้งเดิมของการลงทุนแบบ Value Investment ที่เสนอโดย เบน เกรแฮม ในขณะที่ “คุณภาพ” ของกิจการนั้น นักลงทุนคิดว่าเป็น “ตัวประกอบ” พูดง่าย ๆ ถ้าราคาหุ้น “ไม่ผ่าน” ก็ไม่ต้องดูว่าคุณภาพเป็นอย่างไร ข้อสอง เหตุที่นักลงทุนไม่ชอบลงทุนในหุ้น Super Stock นั้น เพราะไม่รู้ว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้นของกิจการที่ดีเยี่ยม ถ้าจะว่าไป หลายคนก็ยังสงสัยว่าในเมืองไทยนั้นมีหุ้นที่เรียกได้ว่าเป็น Super Stock แบบในสหรัฐอเมริกาจริง ๆ หรือเปล่า และสุดท้ายก็คือ Value Investor อาจจะคิดว่า การหาหุ้นถูกซื้อแล้วขายทำกำไรเมื่อราคาหุ้นขึ้นแล้วก็เปลี่ยนไปหาหุ้นถูกตัวใหม่น่าจะสร้างผลตอบแทนดีกว่าการซื้อหุ้น Super Stock แล้วถือยาวแบบ บัฟเฟตต์


ผมคงไม่ถกเถียงว่าการลงแนวไหนจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากัน แต่จะพยายามตอบคำถามว่าจะมองหาหุ้นที่เรียกว่า Super Stock อย่างไร และต่อไปนี้คือคุณสมบัติที่ Super Stock มักจะเป็นหรือมีอยู่

ข้อแรก Super Stock จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Durable Competitive Advantage (DCA) หรือการได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน และความได้เปรียบนี้เป็นเรื่องของโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก โดยแหล่งของความได้เปรียบใหญ่ ๆ อยู่ที่เรื่องของชื่อยี่ห้อที่โดดเด่น และเรื่องของต้นทุนสินค้าที่ต่ำกว่าเนื่องจากกิจการมีขนาดที่เหมาะสมหรือมีขนาดที่ใหญ่กว่าคู่แข่งมากโดยที่คู่แข่งไม่สามารถหรือไม่ประสงค์ที่จะเพิ่มขนาดของกิจการเพื่อให้มีต้นทุนเท่าเทียมได้ เรื่องของ DCA นี้ บ่อยครั้ง นักลงทุนอาจจะวิเคราะห์ผิด เอา “ความได้เปรียบชั่วคราว” มาเป็นความได้เปรียบที่ “ยั่งยืน”

ข้อสอง หุ้นสุดยอดนั้น จะต้องอยู่ในช่วงของ Virtuous Circle หรือ “วงจรแห่งความรุ่งเรือง” นั่นก็คือ ในกระบวนการเติบโตของบริษัทนั้น ทำให้บริษัทได้เปรียบคู่แข่งมากขึ้นไปอีก เช่นต้นทุนลดลงไปอีก ในเวลาเดียวกัน สินค้าและบริการกลับดีขึ้นและช่วยเร่งการเติบโตของยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้น เป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อย ๆ

ข้อสาม Super Stock นั้นจะต้องมีศักยภาพสูงมาก นั่นคือ ตลาดของสินค้าหรือบริการจะต้องใหญ่มาก และบริษัทอยู่ในสถานะที่จะ “ยึดครอง” ตลาดนั้นได้ พูดง่าย ๆ เราสามารถมองคร่าว ๆ ได้ว่าในอนาคตระยะยาว บริษัทน่าจะสามารถมียอดขายได้ค่อนข้างสูงกว่าปัจจุบันมาก และยอดขายนั้นจะทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ข้อสี่ การเติบโตของบริษัทที่ผ่านมานั้นน่าประทับใจเป็นเลขสองหลัก คือมากกว่า 10% เกือบทุกปี โดยที่ยอดขายไม่เคยลดลงเลยแม้ในยามที่เศรษฐกิจซบเซาหรือเกิดวิกฤติ เช่นเดียวกัน กำไรของบริษัทก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตราใกล้เคียงกับยอดขายหรือดีกว่า

ข้อห้า บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานดีมาก กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงในหลักเกิน 15-20% ต่อปี โดยที่ไม่ได้ก่อหนี้กับสถาบันการเงินมากนัก หนี้ที่มีอยู่สามารถชดใช้ได้ด้วยกำไรจากการดำเนินงานไม่เกิน 5 ปี

ข้อหก บริษัทมี Cash From Operation หรือเงินสดที่ได้จากการทำธุรกิจดีมาก และเมื่อบริษัทจะขยายงานก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนมากนักเทียบกับยอดขายหรือกำไรที่จะได้รับจากการลงทุนใหม่นั้น

ข้อเจ็ด ผู้บริหารมักจะ “เก่ง” และได้รับการกล่าวขวัญถึงมาก พนักงานของบริษัทมักจะ “ดี” และมี “ความสุข” เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นทั่ว ๆ ไป

ข้อแปด หุ้น Super Stock นั้น มักจะไม่เคยมีราคา “ถูก” ยกเว้นในบางช่วงบางตอนที่บริษัทอาจประสบปัญหาบางอย่างที่ร้ายแรงหรือในช่วงที่ตลาดหุ้นเกิดวิกฤติ ค่า PE ของ Super Stock ในระดับ 20 เท่า นั้นเป็นเรื่องธรรมดาและไม่ถือว่าแพงเมื่อเทียบกับศักยภาพของกิจการในอนาคต และนี่อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ Value Investor จำนวนมากหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นสุดยอด เพราะเขาเคยชินกับการลงทุนในหุ้นที่มี PE ไม่เกิน 10 เท่า

ทั้งหมดนั้นก็เป็นคุณสมบัติหลัก ๆ ของ Super Stock แน่นอนใน Super Stock เองก็มี“ดีกรี” ที่ไม่เท่ากัน บางบริษัทอาจจะดีกว่าอีกบริษัทหนึ่ง และที่ชัดเจนก็คือ บริษัทในประเทศไทยนั้นไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบได้กับ Super Stock ในอเมริกาซึ่งมีศักยภาพคลุมไปทั้งโลก อย่างไรก็ตาม มูลค่าของกิจการหรือ Market Cap. ของบริษัทในอเมริกาก็ใหญ่จนเทียบไม่ได้กับบริษัทไทย ดังนั้น เวลาพูดถึง Super Stock ในตลาดหุ้นไทยเราก็ต้องเข้าใจว่าเป็นบริษัทระดับไหน

Value Investor หลายคนอาจจะไม่สนใจที่จะลงทุนในหุ้น Super Stock แต่การเรียนรู้เรื่องของ “คุณสมบัติ” ของบริษัทนั้นก็เป็นประโยชน์ไม่น้อยในการที่จะช่วยเป็น “ตัวประกอบ” ในการเลือกหุ้นลงทุน นั่นก็คือ หลังจากพบหุ้นที่ “ราคาถูก” เข้าเกณฑ์ที่จะซื้อแล้ว ก็ควรดูถึงคุณสมบัติว่าบริษัทน่าจะอยู่ในระดับไหน ถ้าทำได้แบบนี้ ราคาก็จะไม่ใช่เงื่อนไขเดียวที่จะซื้อ สิ่งที่ถูกต้องมากกว่าอาจจะเป็นว่า ไม่ได้ซื้อหุ้นที่ราคาถูกที่สุด แต่เป็นราคาถูกมากเมื่อเทียบกับคุณสมบัติของบริษัท

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 31 มกราคม 2553

เล่นหุ้นหลังปีทอง...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ปี 2546 เป็น “ปีทอง” ของตลาดหุ้น เช่นเดียวกัน มันเป็น “ปีทอง” ของการลงทุนของผมด้วย เพราะผมได้ผลตอบแทนเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในปีเดียว ปี 2552 เป็นปีที่ประวัติศาสตร์ “ซ้ำรอย” คือมันเป็นปีทองของตลาดหุ้นและเป็นปีทองของผมอีกครั้งหนึ่ง แน่นอน ผมดีใจ แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในปี 2547 ซึ่งเป็นปี “หลังปีทอง” ผมก็รู้สึกกังวลกับการลงทุนในปี 2553 ซึ่งเป็นปีหลังปีทองเหมือนกัน เพราะในปี 2547 นั้น ดัชนีตลาดหุ้นตกลงไปถึงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่แย่กว่าก็คือ พอร์ตการลงทุนของผมนั้นลดลงถึงเกือบ 30% ถ้าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง ปี 2553 นี้ก็อาจจะไม่ใช่ปีที่ดีของผม และโดยความเชื่อส่วนตัวผมก็ไม่มองโลกในแง่ดีสำหรับการลงทุนในปีนี้ เพราะผมคิดว่าตลาดหุ้นในปี 2553 นั้นอาจจะไม่สดใสเหมือนปี 2552 เหตุผลนั้นมีหลายเรื่อง


เรื่องแรก อาจจะเรียกว่าเป็นเรื่องทาง “เท็คนิค” นั่นก็คือ ในปี 2552 นั้น เมื่อเริ่มต้นปีดัชนีตลาดหุ้นอยู่ในระดับต่ำมากเพียงสามร้อยกว่าจุด และถ้าเราพิจารณาว่าตลาดหุ้นนั้นตั้งมากว่า 30 ปี แต่ราคาหุ้นจากร้อยจุดขึ้นมาเป็นแค่สามร้อยกว่าจุด เท่ากับว่าราคาหุ้นขึ้นมาเฉลี่ยเพียงปีละ 3-4% แทบจะไม่คุ้มกับอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น หุ้นก็ดูเหมือนว่าจะไปได้ทางเดียวนั่นคือ “ขึ้น” และหุ้นก็ขึ้นมาจริง ๆ อย่างแรงในปี 2552 แต่เหตุการณ์ในตอนเริ่มปี 2553 นั้นไม่ได้เป็นอย่างนั้น ดัชนีหุ้นได้ขึ้นมาสูงในระยะเวลาอันสั้น โอกาสที่หุ้นจะ “หยุดพัก” หรือปรับตัวลงบ้างก็น่าจะมี ดังนั้น ความไม่แน่นอนของผลตอบแทนในปี 2553 ก็น่าจะมีสูงพอสมควร

เรื่องที่สอง ในปี 2552 ค่า PE ซึ่งบอกถึงความถูกความแพงของตลาดหุ้นนั้นค่อนข้างต่ำ อาจจะอยู่ที่ 7-8 เท่า การที่หุ้นมีราคาถูกนั้น มองในมุมของ Value Investor แล้ว การลงทุนก็เป็นเรื่องง่ายที่จะทำกำไรสูงและมีความเสี่ยงต่ำ แต่พอถึงปี 2553 ค่า PE ของตลาดหุ้นก็ปรับตัวขึ้นมาที่ประมาณ 12-13 เท่า ซึ่งในตลาดหุ้นไทยแล้วก็ไม่ถือว่าหุ้นโดยเฉลี่ยมีราคาถูกอีกต่อไป ดังนั้น การลงทุนในปี 2553 จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำกำไรแบบปี 2552

เรื่องที่สาม สถานการณ์แวดล้อมในระดับโลกในปี 2552 นั้นอยู่ในสภาพ “เลวร้ายที่สุดในช่วงหลายสิบปี” ในเมืองไทยเองนั้น นอกจากผลกระทบที่มาจากโลกแล้ว เรายังมีปัญหาการเมืองที่รุนแรงภายในประเทศด้วย ดังนั้น รัฐบาลของทุกประเทศจึงต้องทำการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงจนเหลือเกือบศูนย์เปอร์เซ็นต์ นี่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ “เลวร้าย” มาก แต่มองแบบ Value Investor ผมกลับเห็นว่านี่คือ “โอกาส” เพราะการที่ทุกสิ่งทุกอย่างแย่ที่สุดแล้ว มันก็มีทางไปทางเดียว นั่นคือ มันจะต้อง “ดีขึ้น” แต่เมื่อเริ่มปี 2553 เศรษฐกิจที่เลวร้ายก็เริ่มฟื้นตัว บางประเทศค่อนข้างแรง หลายประเทศเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อป้องกันเงินเฟ้อ โลกกำลังพูดถึงการลดการอัดฉีดเงินเข้าระบบของรัฐบาล ในขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็ยังไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะไปได้ด้วยตนเองจริง ๆ หรือยัง ความไม่แน่นอนมีอยู่ เศรษฐกิจอาจจะฟุบลงไปใหม่อย่างที่เคยเกิดขึ้นในวิกฤติครั้งก่อน ๆ ดังนั้น การเล่นหุ้นในปี 2553 จึงมีทั้งโอกาสที่หุ้นจะขึ้นและลง

สุดท้าย ก็มาถึงเรื่องของพื้นฐาน นั่นคือ กำไรของบริษัทจดทะเบียน ในตอนเริ่มปี 2552 นั้น มองย้อนกลับไปที่ผลประกอบการของปี 2551 ก็จะพบว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนตกต่ำลงโดยเฉพาะในไตรมาศสุดท้ายของปี 2551 เหตุผลก็คือ บริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีต่างก็ขาดทุนจากการที่มูลค่าของสินค้าคงคลังมีราคาลดลง เช่น น้ำมันดิบมีราคาลดลงจากที่เคยเป็น 140 เหรียญต่อบาเรลเหลือเพียง 40 กว่าเหรียญ เช่นเดียวกับราคาปิโตรเคมีหลาย ๆ อย่าง แต่ถ้ามองต่อไป ความเสี่ยงที่ราคาสินค้าจะลดลงต่อนั้นก็มีน้อยมาก ตรงกันข้าม โอกาสที่ราคาโภคภัณฑ์เหล่านั้นจะเพิ่มขึ้นมีมากกว่าและนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2552 ที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มกลับขึ้นมาเป็น 70-80 เหรียญต่อบาเรลในตอนสิ้นปี 2552 ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นมาก

แต่ปี 2553 นั้น สถานการณ์ไม่แน่นอนแล้ว เพราะราคาน้ำมันและปิโตรเคมีอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำ โอกาสที่ราคาจะขึ้นนั้นอาจจะพอ ๆ กับที่ราคาจะลง ดังนั้น กำไรของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีในปี 2553 จึงไม่แน่นอนเหมือนปี 2552 ที่ดูเหมือนว่าจะมีแต่ทางขึ้นทางเดียว ความไม่แน่นอนของกำไรของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในปี 2553 ทำให้ผมไม่มั่นใจว่าดัชนีตลาดหุ้นของไทยจะวิ่งไปทางไหน สิ่งที่ผมคิดก็คือ โอกาสที่บริษัทจะมีกำไรก้าวกระโดดอย่างในปี 2552 น่าจะน้อย

ด้วยเหตุผลทั้งหลายที่กล่าวมาทำให้ผมไม่มองโลกในแง่ดีนักสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นในปีนี้ และถ้าจะซื้อหุ้น ผมก็จะเปลี่ยน “โหมด” การลงทุนจากที่เคยเน้นหุ้นที่อาจจะ “หวือหวา” ที่ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นลงรวดเร็วในปี 2552 มาเป็นหุ้นที่ค่อนข้างมั่นคงและสามารถรักษาระดับการจ่ายปันผลในอัตราที่ดีอย่างต่อเนื่องแทน เป้าหมายสำคัญสำหรับการลงทุนในปี 2553 ของผมก็คือ พยายามรักษาความมั่งคั่งที่ได้มาอย่างรวดเร็วในปี 2552 ไว้ และไม่หวังผลเลิศในปี 2553 แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าจะขายหุ้นทิ้งแล้วถือเป็นเงินสดไว้ เพราะเงินสดนั้นให้ผลตอบแทนน้อยมากเพียง 1-2 % ในขณะที่การลงทุนในหุ้นนั้น เฉพาะปันผลก็ 3-4% เข้าไปแล้ว เหนือสิ่งอื่นใด ผมก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผมคิดไว้นั้นถูกจริงหรือเปล่า มันอาจจะมีปัจจัยอย่างอื่นที่เราคิดไม่ถึงเข้ามากระทบและกลบสิ่งที่เราคิดไว้ทั้งหมดได้ ดังนั้น ข้อสรุปของผมก็คือ Stay Calm, Stay Invest ใจเย็นและลงทุนต่อไป เพียงแต่ต้องระมัดระวังมากขึ้นและไม่หวังผลเลิศ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 23 มกราคม 2553