Sunday, January 9, 2011

ปันผลคือพื้นฐานหุ้น

หลักการหรือหัวใจของ Value Investment หรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่าก็คือ การหามูลค่าที่ควรจะเป็นหรือมูลค่า “พื้นฐาน” ของหุ้น จากนั้นก็ดูว่าราคาหุ้นในตลาดเป็นเท่าไร ถ้าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่คำนวณได้ก็ให้ซื้อ ถ้าราคาหุ้นสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานก็ให้ขาย เพราะนักลงทุนแบบ VI เชื่อว่าในที่สุดราคาหุ้นจะวิ่งเข้าหามูลค่าพื้นฐานเสมอ

คำถามสำคัญมีอยู่ 2 ข้อ นั่นคือ หนึ่ง มูลค่าพื้นฐานคืออะไร? มาจากไหน? อะไรเป็นตัวกำหนดมูลค่าพื้นฐานของหุ้น พูดง่าย ๆ คำนวณมูลค่าพื้นฐานอย่างไร? ข้อสอง เมื่อไรเล่าที่ราคาจะวิ่งเข้าหาพื้นฐาน? เป็นไปได้ไหมที่ราคาหุ้นอาจจะไม่สะท้อนพื้นฐานเป็นระยะเวลานานมาก เผลอ ๆ ตลอดไป กลายเป็นหุ้นที่อาจจะ “ถูกตลอดกาล” และถ้าเป็นอย่างนั้น VI จะได้อะไร?

คำตอบทั้งสองข้อนั้นเกี่ยวเนื่องกันนั่นคือ คำตอบของข้อแรกก็จะตอบคำถามของข้อสองได้ คำถามที่ว่ามูลค่าพื้นฐานคืออะไรนั้น ถ้าจะตอบก็คือ เป็นมูลค่าปัจจุบันของหุ้นที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะ ได้จากบริษัทตลอดไป และผลตอบแทนที่ว่านั้นก็คือ “ปันผล” ในอนาคตทั้งหมดของบริษัท

ถ้าจะพูดให้เห็นภาพที่เข้าใจได้ง่ายไม่เป็นวิชาการก็คือ “เป็นราคาหุ้นที่เรายินดีที่จะจ่ายเงินซื้อเพื่อเก็บกินปันผลไปตลอดชีวิต โดยที่เราจะไม่ขายหรือเป็นหุ้นที่เราไม่สามารถขายได้” ดังนั้น เวลาที่ผมจะซื้อหุ้น ผมจะต้องคิดว่าราคาที่ผมจ่ายนั้น ผมยินดีหรือไม่ที่จะเก็บมันไว้ตลอดชีวิตเพื่อรับปันผล ถ้าคำตอบคือ “ไม่เอา” นั่นก็แปลว่าราคานั้นสูงเกินไป อาจจะเป็นเพราะผมไม่แน่ใจว่าปันผลจะลดลง หรืออาจจะเป็นเพราะว่าผมกลัวว่าอนาคตบริษัทอาจจะเจ๊งหรือธุรกิจตกต่ำลงมาก และจ่ายปันผลน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งผมจะ “ไม่มีทางออก” แต่ถ้าคำตอบของผมก็คือ “เอา” นั่นก็แปลว่าผมมั่นใจในตัวบริษัทว่าจะยังดีต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ปันผลในอนาคตนั้นมีโอกาสสูงที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ความเสี่ยงที่ธุรกิจจะตกต่ำลงมีน้อยมาก ดังนั้น ผมยินดีซื้อและถือหุ้นตัวนั้นตลอดชีวิต

แน่นอน ในชีวิตจริง เราไม่จำเป็นที่จะต้องถือหุ้นตลอดชีวิตเพื่อเก็บกินปันผล แต่เวลาพิจารณาซื้อหุ้นโดยอิงกับ “มูลค่าพื้นฐาน” ของหุ้น เราจะต้องคิดว่าเราจะต้องเก็บหุ้นไว้ตลอดชีวิตจริง ๆ ถ้าเราคิดว่าเราสามารถขายได้ทุกนาที หรือเราสามารถขายได้ถ้า “สถานการณ์เปลี่ยน” หรือแม้แต่เราจะขายเมื่อ “บริษัทโตเต็มที่แล้ว” ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นใน 3-4 ปีข้างหน้า แบบนี้แสดงว่าเรายังไม่ได้ซื้อหุ้นโดยอิงกับมูลค่าพื้นฐานจริง ๆ เราอาจจะ “เก็งกำไร” โดยอาจจะอิงกับปัจจัยพื้นฐานบางส่วนเท่านั้น

นอกจากเรื่องของปันผลในอนาคตแล้ว ปัจจัยที่สำคัญอีกตัวหนึ่งในการคำนวณหามูลค่าพื้นฐานของหุ้นก็คือ “อัตราคิดลด” ซึ่งก็คืออัตราผลตอบแทนที่เราต้องการในการลงทุนซื้อหุ้นตัวนั้น อัตราผลตอบแทนนี้จะคล้าย ๆ กับอัตราดอกเบี้ยที่เราได้ถ้าเราเอาเงินไปฝากธนาคารหรือลงทุนซื้อพันธบัตร ซึ่งเราจะได้ผลตอบแทนที่แน่นอนเช่นปีละ 1% หรือ 3-4% ตามลำดับ แต่การลงทุนในหุ้นนั้นเราจะได้ปันผลที่มีอัตราไม่แน่นอนขึ้นกับผลกำไรของ บริษัท ดังนั้นเราจึงต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าโดยเฉลี่ยเช่นอาจจะได้ผลตอบแทน ประมาณปีละ 10%

ปัจจัยสำคัญตัวสุดท้ายที่สำคัญมากก็คือ อัตราการเติบโตหรือการเพิ่มขึ้นของเงินปันผลในอนาคต นี่คือสิ่งที่จะทำให้มูลค่าหุ้นสูงหรือต่ำอย่างมีนัยสำคัญ เพราะถ้าปันผลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราก็จะได้ผลตอบแทนมากขึ้นทุกปีหรือเกือบทุกปี ยิ่งนานปันผลก็ยิ่งเพิ่มขึ้น บางทีผ่านไป 15-20 ปี เงินปันผลแต่ละปีอาจจะเพิ่มขึ้นเท่ากับเงินค่าหุ้นที่เราจ่าย ถ้าเป็นแบบนี้มูลค่าของหุ้นก็จะมาก แต่ถ้าปันผลไม่โตเลย เคยได้เท่าไร ผ่านไป 5-10 ปีก็ยังได้ปันผลเท่าเดิม แบบนี้หุ้นก็จะมีมูลค่าน้อย

ผมคงไม่อธิบายวิธีคำนวณหามูลค่าพื้นฐานตามวิชาการซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก เกินไป แต่จะลองให้แนวคิดในการพิจารณาลงทุนซื้อหุ้นโดยใช้หลักการของ “มูลค่าพื้นฐาน” ดังที่ได้กล่าวมา โดยสมมุติว่าเราพบหุ้นตัวหนึ่งที่ทำธุรกิจโมเดิร์นเทรดหรือค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีผลประกอบการที่สม่ำเสมอและคาดการณ์ผล ประกอบการไม่ยากนัก

บริษัท ก. มีกำไรปีละ 0.40 บาทต่อหุ้น จ่ายปันผลปีละ 0.30 บาท ราคาหุ้นเท่ากับ 10 บาทต่อหุ้น เราคาดว่ากิจการของบริษัทนี้จะเติบโตขึ้นประมาณปีละ 10% ไปได้เรื่อย ๆ โดยที่บริษัทไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนเพราะฐานะทางการเงินดีมากไม่ มีหนี้สินจากสถาบันการเงินเลย ถามว่ามองโดยพื้นฐานเราควรซื้อหุ้นบริษัทนี้หรือไม่

ก่อนอื่นลองคำนวณดูว่าในปีแรกที่เราลงทุนนั้น เราจ่ายเงินค่าหุ้น 10 บาทและได้ปันผล 0.30 บาทเท่ากับว่าเราได้ปันผลปีแรก 3% ดูแล้วก็อาจจะไม่น่าจูงใจอะไร เพราะเราลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลซึ่งไม่มีความเสี่ยงเลยเรายังได้ดอกเบี้ย ประมาณ 4% แต่เนื่องจากกำไรของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นได้ปีละ 10% ซึ่งน่าจะทำให้บริษัทสามารถจ่ายปันผลได้เพิ่มขึ้นปีละ 10% เช่นกัน ดังนั้น ปีที่สองปันผลน่าจะเป็น 3.3% และปีที่สามน่าจะเป็น 3.63% ปีที่สี่เท่ากับประมาณ 3.99 หรือ 4% ซึ่งเท่ากับพันธบัตรแล้ว หลังจากนั้นอัตราก็จะสูงกว่าไปเรื่อย ๆ พอถึงปีที่ 10 ปันผลก็เท่ากับ 8.56% และเมื่อถึงปีที่ 37 ซึ่งอาจจะเป็นปีที่เราเกษียณ ปันผลที่ได้ในแต่ละปีอาจจะเป็น 10 บาทเท่ากับราคาหุ้นในวันนี้และทำให้เราเกษียณอย่างมีความสุข เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ตั้งแต่ปีที่ 4 ของการถือหุ้น เราก็ได้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนในตราสารการเงินอื่น ๆ แล้ว ดังนั้น เราจึงคิดว่า ราคาหุ้น ก. ที่ 10 บาท เป็นราคาหุ้นที่เหมาะสมกับพื้นฐานในแง่ของเราและเรายินดีที่จะซื้อมัน

คำถามต่อมาก็คือ ถ้าราคาหุ้น ก. ที่ 10 บาทซึ่งเราคิดว่าถูก แต่ถ้าถือแล้วมันไม่ขึ้นทั้งที่กำไรและปันผลของบริษัทก็ดีขึ้นตามที่คาดแต่ ราคาหุ้นกลับไม่ขึ้นซักทีเป็นเวลาหลายปี แบบนี้เราควรจะขายทิ้งไหม? คำตอบก็คือ ไม่จำเป็น จำไว้ว่าถ้าเรา “ลงทุนตามพื้นฐาน” และมั่นใจว่าสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้ถูกต้อง เราก็ถือมันไป ผลตอบแทนของเรานั้น เราต้องคิดว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยนักลงทุนคนอื่นในการมาซื้อหุ้นต่อ จากเราในราคาที่สูงขึ้น แต่มันมาจากปันผลที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของบริษัท แต่เชื่อผมเถอะครับว่า ในที่สุดแล้ว คนจะต้องเห็นว่าบริษัทดีและเข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น ผมเองเคยถือหุ้นมา 3-4 ปีโดยที่ราคาไม่ไปไหน แต่พอมันวิ่ง มันก็ขึ้น “ชดเชย” ช่วงเวลาที่มันนิ่งในเวลาอันรวดเร็ว ประเด็นสำคัญก็คือ VI ต้อง “รอเป็น” ว่าที่จริง การที่หุ้นไม่ขึ้นเลยทั้ง ๆ ที่บริษัทดีขึ้นหรือจ่ายปันผลมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น กลับเป็นโอกาสที่เราจะซื้อหุ้นเพิ่มและทำกำไรมากขึ้น


บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 11 กันยายน 2553

Jesse Livermore นักเก็งกำไรบันลือโลก

ในโลกของ Value Investor นั้น ทุกคนรู้จักและนับถือ วอเร็น บัฟเฟตต์ ว่าเป็นนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่ในโลกของนักเก็งกำไรนั้น ชื่อของ Jesse Livermore ได้รับการยอมรับว่าเป็นตำนานของนักเก็งกำไรที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งเคียงบ่าเคียง ไหล่กับคนอย่าง Bernard Baruch และ Gerald Loeb ว่าที่จริง บางคนบอกว่าเขาเป็นนักเก็งกำไรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ฉายาของเขาคือ “หมีใหญ่แห่งวอลสตรีท” เพราะเขาชอบเก็งกำไรโดยเฉพาะในช่วงตลาด “ขาลง” นั่นคือ เขาจะชอร์ตหุ้นและ/หรือสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดล่วงหน้า ชีวิตและหลักการเก็งกำไรของ ลิเวอร์มอร์นั้นน่าสนใจไม่เฉพาะแต่นักเก็งกำไร Value Investor ก็ควรจะรู้ไว้

ลิเวอร์มอร์ หรือที่คนชอบเรียกเขาว่า J.L. เกิดในครอบครัวชาวไร่ที่ยากจน เขาเรียนจบแค่มัธยมและต้องออกมาทำงานตั้งแต่อายุ 14 ปี งานแรกและน่าจะเรียกว่าเป็นงานแบบเดียวในชีวิตก็คือ เป็นเด็ก “เคาะกระดานหุ้น” หลังจากนั้นเพียงปีเดียว เขาก็เริ่ม “เล่นหุ้น” แต่เนื่องจากมีเงินน้อย เขาจึงเริ่มเล่นตาม “ห้องค้าเถื่อน” ที่รับ “แทงหุ้น” โดยอิงกับราคาหุ้นบนกระดาน เขาเล่นเก่งมากและทำกำไรจนทำให้ห้องค้าเถื่อนเกือบทุกแห่ง “แบล็กลิสต์” ไม่ให้เขาเข้าเล่นในห้องค้า ในที่สุดเขาก็เข้าสู่ตลาดหุ้นและเริ่มชีวิตของนักเก็งกำไรเต็มตัว

J.L. ทำเงินจากตลาดหุ้นได้มากและ “เจ๊ง” หมดตัวถึงสองครั้งก่อนที่จะกลายเป็น “ซุปเปอร์สตาร์” หลังเหตุการณ์วิกฤติตลาดหุ้นในปี 1907 เหตุการณ์หุ้นถล่มทลายในครั้งนั้น J.L. ได้ขายหุ้นชอร์ตไว้จำนวนมาก ยิ่งหุ้นตก เขาก็ยิ่งขายและทำให้หุ้นตกลงไปอีก การขายหุ้นชอร์ตของเขาทำได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเมื่อหุ้นตก พอร์ตเขาก็ได้กำไรซึ่งก็จะทำให้เขามีวงเงินใช้มาร์จินเพิ่มขึ้นอีก เขาขายชอร์ตมากเสียจนทำให้ J. P. Morgan ประธานบริษัทหลักทรัพย์ยักษ์ใหญ่ และเป็น “จ้าวพ่อตลาดหุ้น” ในช่วงนั้นต้องออกมาขอให้เขาหยุดขาย เพราะมิฉะนั้น ตลาดหลักทรัพย์อาจจะต้อง “ล่มสลาย” เนื่องจากสถาบันการเงินต่างก็ขาดสภาพคล่องอันเป็นผลจากการที่หุ้นตกลงมา อย่างหนัก

หลังจากเหตุการณ์วิกฤติ ตลาดหุ้นปี 1907 J.L. ก็ร่ำรวยและกลายเป็น “เซเลบ” เขาใช้ชีวิตหรูหราสุด ๆ เขาซื้อเรือยอร์ชหรูหราไว้ใช้ท่องเที่ยวและจับปลาในทะเลซึ่งเป็นงานอดิเรก ที่เขารัก เขาจีบและแต่งงานกับผู้หญิงโดยใช้ชีวิตแบบ “เพลบอย” เขาคบกับคนชั้นสูงเช่น Alfred Sloan ประธานบริษัท General Motor ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในยุคนั้น Walter Chrysler แห่งบริษัทรถยนต์ใหญ่ Chrysler และดาราตลกดังอย่าง ชาร์ลี แชบปลิน เป็นต้น

วิกฤติตลาดหุ้นปี 1929 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ J.L. ทำกำไรได้มากมายจากการชอร์ตหุ้นในตลาด เขาผ่านวิกฤติมาพร้อมกับเงินนับ 100 ล้านเหรียญ และนี่เป็นความรุ่งโรจน์ครั้งสุดท้ายของชีวิตเขา เพราะหลังจากนั้นเขาก็เริ่มตกต่ำลงเรื่อย ๆ ทั้งชีวิตการเก็งกำไรและชีวิตส่วนตัว ในชีวิตของการเก็งกำไรนั้น เขาเคยล้มละลายมา 2 ครั้งและสามารถฟื้นขึ้นมาได้ แต่ในครั้งนี้ เขา “หมดตัว” มีหนี้มากกว่าทรัพย์สิน ในชีวิตส่วนตัวนั้น เขาเคยมีภรรยาหลายคน แต่ละคนใช้เงินที่เขาได้กำไรมาอย่างฟุ่มเฟือยเช่นเดียวกับตัวเขา ภรรยาคนหนึ่งมีเรื่องขนาดยิงลูกตัวเองเกือบเสียชีวิต ตัว J.L. เองนั้น เขามีปัญหาและน่าจะเป็นโรคซึมเศร้า เขายิงตัวตายในวันที่ 28 พฤศจิกายน 1940 สิริอายุ 63 ปี

กฎและกลยุทธการเก็งกำไรของ J.L. นั้นสามารถสรุปอย่างย่อ ๆ ได้ดังต่อไปนี้

1) อย่าขาดทุน นักเก็งกำไรที่ไม่มีเงินก็เหมือนกับเจ้าของร้านที่ไม่มีสินค้าอยู่ในสต็อก ดังนั้นถ้าคุณไม่มีเงิน คุณก็จะไม่มีธุรกิจ เก็งกำไรไม่ได้ J.L. บอกว่าการซื้อหุ้นเต็มจำนวนในคราวเดียวที่ราคาเดียวนั้นอันตราย คุณควรทยอยซื้อเมื่อแน่ใจว่าสิ่งที่คิดไว้ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการซื้อ 1000 หุ้น คุณควรจะเริ่มที่ 200 หุ้น ซื้อแล้วดูว่าราคาขึ้นหรือไม่ ถ้าใช่ ทยอยซื้อเพิ่มอีก 200 หุ้น แล้วก็รอดูว่าขึ้นไหม ถ้าใช่ก็ซื้ออีก 200 หุ้น และถ้าขึ้นอีก คราวนี้ให้ซื้อไปอีก 400 หุ้นจนเต็ม 1000 หุ้น สรุปก็คือ ทยอยซื้อเมื่อราคาขึ้น ห้ามซื้อเฉลี่ยเมื่อหุ้นลง

2) กำหนดจุดตัดขาดทุน ถ้าซื้อหุ้นแล้วขาดทุน ต้องกำหนดว่าจะยอมขาดทุนได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ สำหรับเขาจะไม่ยอมให้ขาดทุนเกิน 10% เพราะเขาคิดว่าเวลาขาดทุนนั้น การจะเอาทุนคืนได้จะต้องกำไรมากกว่าเปอร์เซ็นต์ที่ขาดทุนจึงจะเสมอตัว เช่น ถ้าขาดทุน 50% กว่าจะคืนทุนก็ต้องกำไร 100% อีกอย่างก็คือ ถ้าซื้อแล้วหุ้นลงแสดงว่าสิ่งที่คุณคิดไว้คงผิด อย่าไปฝืนกระแส ตัดขาดทุนเสียแล้วไปเล่นตัวใหม่เมื่อเห็นโอกาส

3) จะต้องมีเงินสดสำรองเสมอ เงินสดนี้จะมีความสำคัญมากเมื่อถึงจุดที่โอกาสในการเก็งกำไรเปิด และเมื่อมีโอกาสดี เราก็จะต้อง “อัด” หรือลงเงินให้เต็มที่ J.L. เชื่อว่าคุณไม่จำเป็นต้องลงทุนตลอดเวลาและไม่ควรลงตลอดเวลา จะเล่นต่อเมื่อมีโอกาสเท่านั้น

4) อย่ารีบทำกำไร หรือ Let Profit Run นั่นคือ ถ้าหุ้นยังวิ่งไปเรื่อย ๆ อย่ารีบขายเสียก่อน ตรงกันข้าม ถ้าซื้อหุ้นแล้วขาดทุน หุ้นตกลงไปเร็ว อย่ารอหรือพยายามหาเหตุผลที่มันตก ต้องรีบขายทันที เขาบอกว่า “กำไรดูแลตัวมันเองได้ แต่ขาดทุนไม่เคย” อย่างไรก็ตาม การ Let Profit Run ไม่ได้แปลว่าซื้อแล้วถือแบบนักลงทุน เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องขาย

5) เมื่อได้กำไรต้องเก็บเป็นเงินสด เช่น ถ้าได้กำไรมาร้อยเหรียญ ก็ต้องเก็บเป็นเงินสดไว้ในแบ็งค์ 50 เหรียญ อย่าจมอยู่ในหุ้นหรือไปเล่นต่อทั้งหมด นี่ก็เหมือนกับเวลาเล่นไพ่ ถ้าได้กำไรก็เก็บเงินเข้ากระเป๋าเอาทุนคืนมาก่อน และนี่ก็เป็นกฏที่ J.L. บอกว่าตนเองผิดพลาดที่ไม่ได้ทำเท่าที่ควร ทำให้เงินที่ได้มามาก ๆ ในที่สุดก็เสียคืนกลับไปหมด

และทั้งหมดนั้นก็คือชีวิต และหลักการเก็งกำไรของ ลิเวอร์มอร์ แบบย่อที่สุด ในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่นั้น ชื่อของเขาดูเหมือนจะร้อนแรงและเป็นที่กล่าวขวัญถึงเสมอแม้ว่าโดยธรรมชาติ ของเขาแล้ว เขาเป็นคนที่เก็บตัวและทำตัวลึกลับ

การใช้ชีวิตและแนวความคิด ในการลงทุนของ J.L. นั้น Value Investor หลายคนอาจจะไม่เห็นด้วยและไม่เชื่อว่ามันเป็นหลักการที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การศึกษาทำความเข้าใจนั้น ผมคิดว่ามีประโยชน์ไม่น้อย เหนือสิ่งอื่นใด VI กับนักเก็งกำไรนั้น ต่างก็เล่นอยู่ในตลาดเดียวกัน บางครั้งก็เล่นหุ้นตัวเดียวกัน เส้นแบ่งระหว่างนักเก็งกำไรกับ VI นั้น บางทีก็บางมากจนในบางครั้งเราก็อาจจะไม่รู้เหมือนกันว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้น เราเก็งกำไรหรือลงทุนกันแน่


บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 4 กันยายน 2553

คำพูดอมตะ

การลงทุนนั้นเป็นศิลปะ “ชั้นสูง” อย่างหนึ่ง ดังนั้นจึงมี “คำพูด” ของกูรูมากมายที่พูดถึงการลงทุน ลองมาดูว่ามีคำพูดที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงและใช้อ้างอิงจนกลายเป็นคำพูดคลา สิกหรือเป็นคำพูดอมตะที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอะไรบ้าง
คำพูดแรกคงต้องยกให้เป็น ของเบน เกรแฮม ในฐานะที่เป็น “บิดา” ของการวิเคราะห์การลงทุนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ นั่นก็คือ “ตลาดหุ้นในระยะสั้นเป็นเสมือนเครื่องลงคะแนน แต่ในระยะยาวเป็นเสมือนเครื่องชั่ง” ความหมายก็คือ ในระยะสั้น ๆ นั้น ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจซื้อขายของนักลงทุน ถ้าคนเชื่อและลงความเห็นว่ามันจะขึ้นมากกว่าคนที่คิดว่ามันจะลง ราคาก็จะขึ้นตามการ “ลงคะแนน” ของนักลงทุน แต่ในระยะยาวแล้ว ราคาหุ้นขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทว่ามันจะมีกำไรมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีกำไรมากหรือเทียบกับว่ามีน้ำหนักมาก ตลาดก็จะให้ราคาหุ้นสูงขึ้นตามกำไรหรือน้ำหนักนั้น

คำพูดที่สองผมคงต้องยกให้ กับ วอเร็น บัฟเฟตต์ ในฐานะที่เป็นนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก บัฟเฟตต์บอกว่า “หลักการรวบยอดสำหรับนักลงทุนก็คือ การเลือกบริษัทที่ดี ในราคาที่เหมาะสม และถือมันตราบที่มันยังเป็นกิจการที่ดีอยู่” นอกจากนั้น เขายังมีคำพูดต่อเนื่องจากหลักการนี้ว่า “มันเป็นเรื่องดีกว่ามากที่จะซื้อบริษัทที่ดีเยี่ยมในราคาที่ยุติธรรม แทนที่จะซื้อบริษัทที่ดีพอควรในราคาที่ถูกมาก”

ความหมายของคำพูดแรกก็ คือ เวลาจะซื้อหุ้นนั้น นักลงทุนจะต้องดูเสียก่อนว่ามันเป็นกิจการหรือบริษัทที่ดีหรือเปล่า ถ้าไม่ดีก็ไม่ต้องไปลงทุน ถ้าดีแล้วก็ต้องดูต่อว่าราคาหุ้นในขณะนั้นเหมาะสมหรือเปล่า ถ้าราคาแพงก็อย่าซื้อ ถ้าไม่แพงหรือถูก ก็ซื้อ หลังจากนั้นก็เก็บหุ้นไว้ ไม่ต้องคิดว่าจะขายแม้ว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือตก จะขายต่อเมื่อกิจการนั้นเริ่มจะไม่ดีแล้ว ส่วนคำพูดที่สองนั้นบอกว่า การซื้อหุ้นของกิจการที่ดีในราคาที่เหมาะสมนั้นอาจจะมีสองแบบ และแบบที่ดีก็คือ ซื้อกิจการที่ดีมาก ๆ ดีกว่าซื้อกิจการที่ดีธรรมดา แม้ว่าราคาหุ้นของกิจการที่ดีมากจะแพงกว่ากิจการธรรมดา ๆ มาก

คำพูดที่สี่ผมคิดว่าต้อง ยกให้กับ จอร์จ โซรอส นักเก็งกำไรที่น่าจะประสบความสำเร็จสูงระดับต้น ๆ ของโลก เขาพูดว่า “สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าคุณถูกหรือผิด แต่สิ่งสำคัญก็คือ คุณกำไรเท่าไรเมื่อคุณถูก และคุณขาดทุนเท่าไรเมื่อคุณผิด” ความหมายก็คือ สำหรับโซรอสแล้ว เขาจะคิดผิดกี่ครั้งก็ไม่สำคัญตราบที่เขาไม่ได้ “พนัน” หรือลงทุนมาก หรือคิดผิดแต่ขาดทุนไม่มากเพราะเขา “ขายทิ้งทัน” นั่นก็คือ คุณต้องรู้ตัวเร็วว่าคุณคิดผิด แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าโอกาสชนะสูงมากคุณจะต้องกล้า “เดิมพัน” และทำกำไรมโหฬาร หรือกล้าที่จะ let profit run หรือถือทำกำไรมาก ๆ ก่อนที่จะขายได้

คำพูดที่ห้าผมยกให้กับนัก เก็งกำไร “ระดับตำนาน” อีกคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตไปนานแล้วคือ Jesse Livermore เขาพูดว่า “ตลาดหุ้นคือที่ที่อันตรายมากสำหรับคนที่ไม่ชอบทำการบ้าน คนโง่ และคนที่ชอบรวยทางลัด” นี่เป็นคำพูดของนักเก็งกำไรที่มีชีวิตขึ้น ๆ ลง ๆ พอ ๆ กับราคาหุ้นและความมั่งคั่งของเขา และเป็นคำเตือนที่มีค่ายิ่งสำหรับนักเก็งกำไรว่า การเก็งกำไรนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้คนรวยได้ในชั่วข้ามคืน การเป็นนักเก็งกำไรที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องทำงานหนักและต้อง “ฉลาด” ด้วย มิฉะนั้นคุณอาจจะเจ๊งได้ง่าย ๆ

คำพูดที่หกผมขอยกมาจาก ปีเตอร์ ลินช์ นักบริหารกองทุนรวมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก เขาพูดว่า “ราคาหุ้นกับกำไรจะไปด้วยกันเสมอ ถ้าราคาหุ้นแยกออกไปจากเส้นกำไร ไม่ช้าก็เร็วมันจะวิ่งกลับไปหาเส้นกำไรเสมอ” ความหมายของลินช์ก็คือ ในระยะยาวแล้วราคาหุ้นกับกำไรต้องไปด้วยกันเสมอ อย่ากลัวว่าหุ้นจะลงมาหากกำไรของบริษัทยังดีอยู่ ยิ่งหุ้นลงยิ่งเป็นโอกาสที่จะซื้อหุ้นเพราะไม่ช้าก็เร็วหุ้นก็จะต้องวิ่ง กลับมาตามกำไรที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเกินกำไรที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าในไม่ช้า ราคาก็อาจจะต้องปรับตัวลงมาหาเส้นกำไรเช่นกัน มองในแง่นี้เขาจะต่างจากบัฟเฟตต์ที่ลงทุนแล้วไม่ค่อยขายในขณะที่ของลินช์ นั้น มีโอกาสที่เขาจะขายหุ้นมากกว่าเพราะแม้ว่ากิจการยังดีอยู่แต่ถ้าราคาหุ้น วิ่งขึ้นไปสูงเกินไปเขาก็อาจจะขายหุ้นเหมือนกัน

คำพูดที่เจ็ดเป็นของ บัฟเฟตต์อีกครั้งคือ “จงพยายามกลัวเมื่อคนอื่นกำลังโลภ และโลภเมื่อคนอื่นกำลังกลัว” นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากในบางสถานการณ์ที่ในชีวิตการลงทุนของเราจะต้องประสบ อยู่เป็นครั้งเป็นคราวโดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดดีมากหรือยามที่เกิดวิกฤติ การกลัวเมื่อคนอื่นโลภนั้นทำยาก แต่มันอาจจะช่วยให้เรารอดจากหายนะได้ ในทางตรงกันข้าม ในยามวิกฤติที่ทุกคนกลัวและถอนตัวออกจากตลาดนั้น มันเป็นเรื่องที่ยากมากที่เราจะรู้สึกโลภ อย่างไรก็ตาม ถ้าเราทำได้ มันอาจจะทำให้เราได้กำไรมหาศาลได้

คำพูดที่แปดผมขออ้างถึง ลอร์ด เคน นักเศรษฐศาสตร์ระดับตำนานของโลกและเซียนหุ้นที่ “โลกลืม” เขากล่าวคำอมตะว่า “ในระยะยาวแล้ว ทุกคนก็ตายหมด” ความหมายก็คือ อย่ารอเวลาโดยอ้างว่าเป็นเรื่องระยะยาว ถ้าจะมีผลมันก็ต้องเห็นในเวลาอันสั้น ถ้าจะประยุกต์ใช้กับการลงทุนก็คือ ถ้าคุณลงทุนมาหลายปียังไม่เห็นมรรคผล โอกาสก็คือ วิธีหรือกลยุทธ์ที่ใช้คงผิดพลาด ต้องเปลี่ยนแปลง อย่าคิดว่าต่อไปมันจะดีโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ

สุดท้ายผมขออ้างหลักธรรม ที่คนไทยทุกคนรู้จักดีแต่อาจจะไม่ตระหนักว่ามันเกี่ยวข้องกับการลงทุนนั่นก็ คือ คำพูดที่ว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ซึ่งแปลว่า ความไม่เที่ยงแท้ ความทุกข์ และความไม่มีตัวตน นั่นก็คือ การลงทุนนั้นมีความเสี่ยงสูงไม่แน่นอนและมันอาจจะก่อให้เกิดความทุกข์ได้แสน สาหัส ดังนั้น อย่ายึดมั่นถือมั่นกับมัน ปล่อยวางเสียและเตือนตัวเสมอว่า สิ่งต่าง ๆ มันไม่เที่ยง อย่าประมาทเวลาลงทุน


บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 21 สิงหาคม 2553

ทฤษฎีเล่นหุ้นของนักลงทุน

ผมเรียนจบปริญญาเอกทางด้านการเงินในสาขาการลงทุน และได้เรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการเงินต่าง ๆ มากมาย ทฤษฎีเหล่านั้น แน่นอน ก่อนที่จะเป็นที่ยอมรับต้องได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงโดยใช้ตัวเลขทาง สถิติ แต่พอมาเป็นนักปฏิบัติ เป็นนักลงทุนจริง ๆ ผมก็พบว่า ยังมีทฤษฎีอีกมากมายที่มีการพูดกันโดยที่ไม่มีการพิสูจน์ ไม่มีการใช้สถิติ แต่เป็นเรื่องที่มาจากประสบการณ์ของคนในวงการที่พูดแล้วมีคนเห็นด้วยและ เชื่อว่าน่าจะเป็นความจริง ผมเองเห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจและอาจจะเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันจึงนำเสนอ ทฤษฎีการลงทุนซักสองเรื่องดังต่อไปนี้


ทฤษฎีแรกคือ ทฤษฎี “งานค็อกเทล” ซึ่งเสนอโดย ปีเตอร์ ลินช์ ทฤษฎีนี้บอกว่าภาวะหรือดัชนีตลาดหุ้นนั้น สามารถทำนายได้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในงานเลี้ยงแบบค็อกเทลที่ตัวเขาซึ่ง เป็นผู้บริหารกองทุนรวมจะประสบ นั่นคือ

ในช่วงที่ 1) ซึ่งมักจะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นได้ตกลงมาระยะหนึ่งแล้วและไม่มีใครคาดคิดว่า มันจะขึ้นมาได้อีก คนในงานจะไม่มีใครพูดถึงตลาดหุ้น ที่จริงถ้าพวกเขารู้ว่าลินช์เป็น “ผู้บริหารกองทุนรวม” พวกเขาก็จะพยักหน้าอย่างสุภาพแล้วก็จะรีบเดินจากไป หรือไม่อย่างนั้นก็จะเปลี่ยนเรื่องอย่างรวดเร็วไปเป็นเรื่องการแข่งฟุตบอล หรือเรื่องการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง ในไม่ช้าก็จะหันไปคุยกับหมอฟันเรื่องฟันผุมากกว่า ถ้าลินช์เจอสถานการณ์แบบนี้ ที่คนยินดีที่จะพูดกับหมอฟันมากกว่าผู้จัดการกองทุน เขาบอกว่าเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นกำลังจะขึ้นแล้ว เตรียมเก็บหุ้นได้

ช่วงที่ 2) เมื่อลินช์แนะนำตัวว่าทำมาหากินอะไรแล้ว คนหน้าใหม่จะอ้อยอิ่งอยู่กับเขานานขึ้นเล็กน้อย บางทีอาจจะนานพอที่จะพูดกับเขาว่าหุ้นนั้นมีความเสี่ยงแค่ไหนก่อนที่จะย้าย ไปพูดคุยกับหมอฟัน อย่างไรก็ตาม คนก็ยังอยากพูดคุยกับหมอฟันมากกว่า “เซียนหุ้น” ขณะนั้นหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นมาแล้วจากช่วงที่หนึ่งประมาณ 15% แต่คนก็ยังไม่ค่อยใส่ใจ ช่วงนี้หุ้นก็น่าจะยังดีอยู่

ช่วงที่ 3) ขณะนี้ดัชนีหุ้นอาจจะปรับตัวขึ้นไป 30% แล้วจากช่วงที่หนึ่ง กลุ่มคนที่สนใจจะเลิกสนใจหมอฟันและหันมาล้อม ปีเตอร์ ลินช์ คนแล้วคนเล่าจะพยายามดึงเขาออกมาอยู่ข้าง ๆ ห้องเพื่อที่จะคุยกับเขาเกี่ยวกับหุ้น แม้แต่หมอฟันก็ยังถามเขาว่าควรจะซื้อหุ้นตัวไหน ทุกคนในงานดูเหมือนจะได้ใช้เงินซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งไปแล้วและต่างก็สนทนา กันว่าเกิดอะไรขึ้น

ช่วงที่ 4) นี่ก็เป็นอีกครั้งที่ ปีเตอร์ ลินช์ จะถูกแขกในงานห้อมล้อม แต่ครั้งนี้จะเป็นคนอื่นที่จะบอกกับลินช์ว่าหุ้นตัวไหนที่เขาควรซื้อ แม้แต่หมอฟันก็ยังมี “หุ้นเด็ด” ให้เขา 3-4 ตัว และในเวลา 2-3 วันต่อมาเมื่อเขาเปิดหนังสือพิมพ์ดูก็พบว่าหุ้นที่แนะนำทุกตัวนั้นขึ้นกัน หมด ลินช์บอกว่าเมื่อเพื่อนบ้านหรือคนในงานเลี้ยงบอกว่าควรจะซื้อหุ้นตัวไหนและ เขาหวังว่าตนเองจะได้เชื่อคำแนะนำนั้น มันก็เป็นสัญญาณที่แน่ชัดว่า ตลาดหุ้นได้ขึ้นไปถึงยอดดอยและพร้อมที่จะตกแล้ว รีบขายหุ้นเสียถ้าคุณเป็นนักเล่นหุ้น

ถ้าถามว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยเราในช่วงนี้เป็นอย่างไร? ผมวิเคราะห์โดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะที่เป็นคนที่อยู่ในแวดวงการลงทุน มานานและมักได้สัมผัสกับนักลงทุนเป็นจำนวนมาก ผมคิดว่าตลาดหุ้นไทยกำลังอยู่ในช่วงที่สามช่วงท้าย ๆ นั่นก็คือ มีคนสนใจและถามเรื่องตลาดหุ้นและตัวหุ้นกับผมเป็นจำนวนมาก บางคนก็เริ่มแนะนำหุ้นให้ผมและผมพบว่าหุ้นเหล่านั้นปรับตัวขึ้นเร็วมากและผม เสียดายที่ไม่ได้ซื้อไว้ ซึ่งนี่เป็นสัญญาณของช่วงที่สี่ อย่างไรก็ตาม คนที่แนะนำผมนั้น ยังไม่ใช่ “หมอฟัน” หรือคนที่เป็นมือใหม่อย่างในทฤษฎีของ ปีเตอร์ ลินช์

ทฤษฎีที่สองผมขอเรียกว่า ทฤษฎี “ปลาใหญ่-ปลาเล็ก” นี่เป็นทฤษฎีของใครผมไม่ค่อยแน่ใจ แต่ถ้าจำไม่ผิด คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเคยพูดไว้ เขาพูดว่าการเล่นหุ้นในตลาดนั้น บางทีก็เหมือนกับการหากินของฝูงปลา ที่มักไปกันเป็นฝูง นั่นคือ ปลาตัวใหญ่จะว่ายนำ ส่วนปลาตัวเล็กจะว่ายตาม ในยามที่อาหารอุดมสมบูรณ์ ปลาทุกตัวต่างก็อิ่มหมีพีมันกันหมด แต่เมื่ออาหารร่อยหรอไปจนหมด สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ปลาใหญ่ก็จะหันกลับมากินปลาเล็กเป็นอาหารแทน

เปรียบไปก็เหมือนกับการเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ “ขาใหญ่” หรือนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดนั้น ในยามที่ภาวะตลาดดี พวกเขาก็มักจะเป็นผู้ “ซื้อนำ” ในหุ้นบางตัวที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเก็งกำไร เช่น กำลังมีผลประกอบการที่ดีเยี่ยม มีข่าวน่าตื่นเต้น และเป็นหุ้นที่มีขนาดเล็กหรือไม่ใหญ่เกินไป เป็นต้น การซื้อนำพร้อม ๆ กับการกระจายข่าวออกไปในตลาดนั้น ทำให้นักเล่นหุ้นรายย่อยจำนวนมากแห่ซื้อตาม ผลก็คือ ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นไปอย่างโดดเด่น คนที่เข้ามาลงทุนเกือบทุกคนต่างก็ “อิ่ม” หรือได้กำไรกันหมด ทุกคนมีความสุข อย่างไรก็ตาม พอถึงจุดที่ตลาดตกต่ำหรือหุ้นที่ถูกนำมาเล่นตกลงมาอย่างแรงเนื่องจากเหตุผล อะไรก็ตาม รายย่อยต่างก็ขาดทุนกันจำนวนมาก แต่รายใหญ่ซึ่งเป็นคนซื้อนำนั้น มักจะขายหุ้นทำกำไรไปก่อนแล้ว นี่เท่ากับว่า ในท้ายที่สุด นักลงทุนรายใหญ่ก็ “กิน” นักลงทุนรายย่อยหลาย ๆ คนที่ “หนี” หรือขายหุ้นไม่ทันก่อนที่มันจะตกลงมา

ถ้าถามว่าผมเชื่อในทฤษฎีทั้งสองหรือไม่? คำตอบก็คือ ผมคิดว่ามันมีส่วนที่เป็นจริงอยู่พอสมควรทีเดียว แต่ถ้าถามว่าผมจะมีปฏิกริยาอย่างไร? คำตอบสำหรับทฤษฎีของ ปีเตอร์ ลินช์ ก็เช่นเดียวกับความคิดของตัว ปีเตอร์ ลินช์ เอง นั่นก็คือ ผมไม่สนใจเรื่องภาวะตลาดหุ้น ผมคิดว่าหากหุ้นที่ผมถือนั้นเป็นกิจการที่ดีเยี่ยม มันก็มักดูแลตัวมันเองได้ไม่ว่าในภาวะตลาดไหน ส่วนในทฤษฎีที่สองนั้น ผมก็ต้องสร้าง “วินัย” ให้กับตัวเองว่า เราจะไม่เป็น “ปลาเล็ก” จริงอยู่ เราอาจจะ “อิ่มท้อง” หรือทำกำไรได้ง่าย ๆ จากการ “หากิน” หรือซื้อหุ้นตาม “ปลาใหญ่” หรือรายใหญ่ที่กำลัง “โปรโมต” หุ้น เพราะผมคิดว่าการทำแบบนี้มีความเสี่ยงพอสมควร และถ้ามันเกิดขึ้น คุณก็จะกลายเป็น “อาหาร” นั่นก็คือ เสียหายหนักจากการลงทุนได้


บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 21 สิงหาคม 2553

งานประจำของ VI

การที่จะเป็น Value Investor ที่ดีนั้นเราจะต้องทำอะไร? ถ้า VI ไม่ค่อยซื้อขายหุ้นหรือตามราคาหุ้นแล้ว วัน ๆ เขาจะทำอะไร? คำตอบของผมก็คือ งานของ VI ก็คือ การค้นหาหุ้นที่จะลงทุนและการเพิ่มความสามารถในการเลือกหุ้นและการจัดการการ ลงทุนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีโดยที่มีความเสี่ยงไม่มาก และต่อไปนี้ก็คือ งานบางอย่างที่ผมคิดว่า VI ที่มุ่งมั่นควรทำเป็นประจำ

เรื่องแรกคือ การหาความรู้เรื่องการลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นแนว Value Investment และวิธีที่ดีที่สุดก็คือ การอ่านหนังสือการลงทุนที่เขียนโดยนักวิชาการหรือนักลงทุนที่มีชื่อเสียงและ ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จในสายงานของตน หนังสือการลงทุนนั้นมีมากมายมหาศาลยากที่จะอ่านได้หมด ดังนั้น อย่างน้อยเราควรอ่านเดือนละเล่มโดยเฉลี่ย และเนื้อหาของหนังสือนั้นควรจะครอบคลุมกว้างขวางในทุกด้านของทฤษฎีและปรัชญา การลงทุน ข้อแนะนำเพิ่มเติมของผมก็คือ นอกจากหลักการของ Value Investment แล้ว อย่างน้อยเราควรจะต้องอ่านและเข้าใจทฤษฎี “ตลาดที่มีประสิทธิภาพ” หรือ Efficient Market ของนักวิชาการที่บอกว่าการลงทุนให้ได้กำไรมากกว่าปกติในระยะยาวนั้นแทบเป็น ไปไม่ได้ไม่ว่าคุณจะใช้หลักการอะไร เหตุผลก็เพราะมันจะเป็นเครื่องเตือนใจเราตลอดเวลาว่า การลงทุนเป็นเรื่องที่ “ไม่ง่าย” อย่าประมาท

งานประจำอย่างที่สองก็ยังเป็นการอ่านหนังสือ แต่ไม่ใช่หนังสือเกี่ยวกับการลงทุน เหตุผลก็คือ การลงทุนนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่น ๆ อีกมาก ว่าที่จริงควรจะพูดกลับกันนั่นก็คือ สิ่งต่าง ๆ นั้นมีผลกระทบต่อการลงทุน ดังนั้น เราควรจะมีความรอบรู้ในเรื่องต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งผมก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่ามันคืออะไร วิธีของผมก็คือ ผมจะพยายามเรียนรู้เรื่องหรือทฤษฎีหรือปรัชญาสำคัญ ๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ เช่น ทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน ประวัติศาสตร์ของโลกตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์ สงครามและการปฏิวัติครั้งใหญ่ ๆ ของโลก จิตวิทยาและสังคมวิทยาของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลกในยุคต่าง ๆ ทฤษฎีการจัดการต่าง ๆ ทั้งการตลาดการบริหารและการเงินที่เป็น “Break Through” หรือเป็นหนังสือที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการ เป็นต้น ผมพบว่ายิ่งอ่านผมก็ยิ่งสนุก แม้จะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่ามันช่วยในการตัดสินใจลงทุนตรงไหน ลองอ่านดู อย่างน้อยเดือนละเล่มเช่นกัน

งานประจำอย่างที่สามก็คือการพบปะพูดคุยกับนักลงทุนที่เป็น VI ด้วยกันอย่างน้อยซักสองสามเดือนต่อครั้ง นี่ก็เป็นการช่วยให้เราได้ข้อมูลหรือตัวหุ้นที่น่าสนใจที่เราจะกลับไป “ทำการบ้านต่อ” นั่นก็คือ ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อที่จะหาหุ้นที่ดีที่เราจะลงทุน ประเด็นสำคัญก็คือ อย่า “ลอกการบ้าน” คือซื้อหุ้นตามเพื่อนโดยที่เราไม่ได้ศึกษาเอง การพบปะกับเพื่อน VI นั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการ “มีสังคม” ด้วยโดยเฉพาะคนที่เป็น VI อาชีพที่ไม่ได้ทำงานประจำแล้ว

งานประจำอย่างที่สี่นั้นคล้าย ๆ และบ่อยครั้งปน ๆ กับงานอย่างที่สามนั่นคือ การพบปะผู้บริหารหรือเยี่ยมเยือนบริษัทจดทะเบียน นี่คือการเรียนรู้บริษัทและหุ้นที่เราสนใจลงทุนอย่างลึกซึ้งขึ้น สำหรับนักลงทุนที่ไม่มีโอกาสพบกับผู้บริหารเป็นการส่วนตัวหรือเยี่ยมบริษัท งาน Opportunity Day หรืองานผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์เป็นประจำนั้น เป็นช่องทางที่ง่ายและสะดวกในการทำงานนี้ โดยส่วนตัวผมคิดว่านักลงทุนควรใช้เวลากับเรื่องนี้อย่างน้อยสัก 2-3 เดือนต่อครั้ง

งานประจำอย่างที่ห้าก็คือ การติดตามผลการดำเนินงานประจำไตรมาศของบริษัทจดทะเบียน งานนี้เราต้องทำปีละ 4 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาวันละหลาย ๆ ชั่วโมงในช่วงเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หลังวันประกาศผลประกอบการ บ่อยครั้งที่ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ผมตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้น เพราะตัวเลขผลประกอบการเป็นสิ่งที่ “บอกอะไรบางอย่าง” เกี่ยวกับความเชื่อของเราต่อตัวบริษัท

งานประจำอย่างที่หกนั้นเป็นงานที่ต้องทำทุกวัน นั่นก็คือ การอ่านหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจ นี่คือการติดตามข่าวสารทางเศรษฐกิจ ธุรกิจและบริษัทจดทะเบียนทั่ว ๆ ไปและบางครั้งก็เกี่ยวกับหุ้นที่เราลงทุนอยู่หรือกำลังพิจารณาลงทุน ถ้าเราไม่อ่านเราจะไม่เห็นภาพว่าอะไรเกิดขึ้นในวงการธุรกิจและภาพใหญ่ของ เศรษฐกิจ ดังนั้น ถ้าเราจะเป็น VI ผมคิดว่าเราควรอ่านหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจอย่างน้อยวันละหนึ่งฉบับ

งานประจำอย่างที่เจ็ดที่ผมจะพูดถึงก็คือ การสังเกตและคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนหรือหุ้นเมื่อเราทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลาย นี่คือสิ่งที่เราควรทำให้เป็นนิสัย ทุกครั้งที่เราไปจ่ายตลาดเราควรสังเกตว่าสินค้าอะไรเป็นที่นิยม ทุกครั้งที่เราใช้สินค้าหรือบริการเราควรคิดว่ามันดีไหมเราชอบไหม บริษัทไหนเป็นเจ้าของ เราควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลงของสินค้าหรือบริการที่ อยู่ในตลาด เช่นเดียวกันเราควรสังเกตสิ่งใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมและคิดไปถึงผลกระทบของมันต่อบริษัทและหุ้นที่อยู่ใน ตลาดหลักทรัพย์ ทุกอย่างนี้ถ้าเราทำจนติดเป็นนิสัยแล้วเราจะไม่รู้สึกว่ามันเป็นงาน แต่มันเป็นเรื่องสนุกและจะทำให้เราเป็นนักลงทุนที่ดีขึ้น

งานประจำอย่างสุดท้ายที่จะต้องพูดถึงก็คือ การวิเคราะห์ การตัดสินใจและสั่งซื้อขายหุ้น และการทำรายงานพอร์ตการลงทุน นี่ถือเป็นงานการลงทุนโดยตรง แต่จริง ๆ แล้วสำหรับผมก็ไม่ได้ใช้เวลามากมายอะไรนักถ้าเราไม่ได้ซื้อขายบ่อย การวิเคราะห์หุ้นนั้นเป็นเรื่องที่บอกเป็นจำนวนครั้งที่ต้องทำยากขึ้นอยู่ กับพอร์ตของแต่ละคนและการวิเคราะห์ว่าทำละเอียดแค่ไหน ส่วนการติดตามความเคลื่อนไหวของการลงทุนนั้น ผมทำเกือบทุกวันแต่เป็นเรื่องของการเปิดดูจอคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ขณะทำงานอื่น เช่นการอ่านหนังสือ ส่วนการทำรายงานการลงทุนนั้นผมทำสัปดาห์ละครั้งเพื่อดูสถานะของพอร์ต งานนี้ใช้เวลา Update ข้อมูลเพียงไม่กี่นาทีต่อสัปดาห์ ประเด็นสำคัญของการ “ดูราคาหุ้น” นั้นก็คือ การมองหา “โอกาส” ที่อาจจะเกิดขึ้นมากกว่าที่จะเพื่อการซื้อขายเก็งกำไรในระยะเวลาสั้น ๆ

งานทั้งหมดที่กล่าวถึงนั้นดูเหมือนว่าจะมากเกินกว่าที่คนที่ยังทำงาน ประจำจะสามารถจัดการได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ดีมากในปัจจุบัน VI ที่ยังทำงานประจำก็สามารถทำงานการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงพอสมควร และถ้าเขาทำงานหนักหลังเวลางาน เขาก็อาจจะทำได้ดีไม่แพ้ VI อาชีพเช่นเดียวกัน


บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 17 สิงหาคม 2553

สัญญาณแห่งความรุ่งเรือง

ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาแต่ละไตรมาศนั้น มีประโยชน์น้อยในการพิจารณาการลงทุน เหตุผลก็เพราะมันเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้ว นักลงทุนต้องการรู้ว่าอนาคต หรือการประกาศตัวเลขในไตรมาศที่จะถึงเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรมากกว่า การที่จะรู้ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรนั้น บ่อยครั้งผมจะดูจาก “สัญญาณ” ที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ผมเห็นและสัมผัสในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นในช่วงนี้ผมรู้สึกว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยคงจะรุ่งเรืองพอสมควรที เดียว เพราะผมได้เห็นและรู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเรื่อง ต่าง ๆ ต่อไปนี้


สัญญาณแรกซึ่งผมเริ่มรู้สึกเล็กน้อยมาได้หลายเดือนแล้วก็คือ ร้านสะดวกซื้อมีคนเดินหยิบสินค้าและเข้าคิวจ่ายเงินมากขึ้น ร้านสะดวกซื้อนั้น จริง ๆ แล้วเป็นสัญญาณที่ไม่แรงหรือเป็นสัญญาณอ่อน เพราะจำนวนคนในแต่ละช่วงเวลานั้นมีไม่มาก การรอจ่ายเงินก็ไม่นาน อย่างไรก็ตาม มันเป็นสิ่งที่ผมเห็นทุกวัน บางวันเห็นมากกว่าหนึ่งครั้ง และส่วนใหญ่เห็นหลายร้าน เนื่องจากในซอยบ้านผมมีร้านสะดวกซื้อหลายร้านที่ผมต้องเดินผ่านเกือบทุกวัน การมีคนเข้าร้านสะดวกซื้อมากขึ้นเป็นสัญญาณว่าคนชั้นกลาง-ล่าง มีเงินมากขึ้นในการซื้อสินค้า เครื่องดื่มและอาหารบริโภคในชีวิตประจำวัน ดังนั้น นี่เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าน่าจะดีขึ้น

สัญญาณที่สองที่ผมเห็นก็คือ ห้างสรรพสินค้าขนาดเล็กที่ให้บริการคนใน “ท้องถิ่น” และคนชั้นกลางที่เป็นพนักงานออฟฟิสที่มาต่อรถแถว ๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยปกติผมจะเป็น “ลูกค้าประจำ” เพราะต้องเดินจากบ้านไปรับประทานอาหารเย็นสัปดาห์ละหลาย ๆ วัน หรือแม้แต่ช่วงกลางวัน บ่อยครั้งผมต้องแวะไปรับประทานอาหารและซื้อสินค้าจิปาถะ พูดง่าย ๆ นี่แทบจะเป็น “ห้องครัว” ของผม ก่อนหน้านี้ ผมสามารถเลือกร้านอาหารและไม่ต้องรอนานกว่าจะได้รับประทาน เพราะคนมีไม่มาก แต่ในช่วง2-3 เดือนที่ผ่านมา ผมเริ่มรู้สึกว่า ร้านอาหารที่มีอยู่หลายร้านต่างก็เริ่มมีคิว เมื่อสั่งอาหารแล้วก็ต้องรอนานขึ้นกว่าที่อาหารจะมาเสิร์พ นอกจากนั้น ในช่วงเกือบบ่ายสองโมงซึ่งในอดีตมักจะเป็นช่วงที่ร้านมักจะว่างก็กลายเป็น ว่าคนก็ยังเต็มร้านอยู่ นี่เป็นสัญญาณว่าคนชั้นกลางมีเงินมากขึ้น และอาหารเป็นสิ่งแรกที่พวกเขาจะใช้เงินเพิ่ม

สัญญาณที่สามที่ผมเห็นก็คือ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และหรูหรากลางเมือง นี่คือสถานที่ที่ผมจะต้องเข้าไปซื้อหาสินค้าและอาหารเพื่อที่จะรับประทาน ตลอดสัปดาห์ ดังนั้น ผมต้องเข้าไปจับจ่ายสินค้าและหา “ความบันเทิง” สัปดาห์ละครั้ง และแน่นอน ผมต้องสังเกตว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งแรกที่ผมเริ่มรู้สึกก็คือเรื่องที่จอดรถ ก่อนหน้านี้การหาที่จอดรถก็ไม่ง่ายอยู่แล้ว แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานั้น การหาที่จอดรถก็ยากขึ้นเรื่อย ๆ บางวันต้องถูกปัดให้ไปจอดรถในจุดที่อยู่ใกล้เคียงเนื่องจากที่จอดรถเต็มเกิน ไป สร้างความยุ่งยากให้กับผมที่ต้องขนอาหารจำนวนมากในแต่ละครั้ง และนี่เป็นสัญญาณว่า “คนรวย” กำลังใช้จ่ายมากขึ้น

ไม่ใช่เฉพาะห้างสรรพสินค้าหรูเท่านั้นที่ผมรู้สึกว่าคนมีรายได้สูงจะเข้า ใช้บริการมากขึ้น โรงพยาบาลเอกชนระดับสูงที่ผมใช้บริการอยู่เป็นประจำ และผมต้องไปตรวจสุขภาพทุก 2-3 เดือน ก็มีคนเข้าใช้บริการหนาตาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เดี๋ยวนี้ การใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนนั้นคงไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของความเจ็บป่วยเพียง อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่เป็น “ทางเลือก” มากขึ้น นั่นก็คือ ถ้ามีรายได้ดีขึ้น คนก็จะเลือกใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น ในขณะที่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีพวกเขาอาจจะไปโรงพยาบาลน้อยลง ดังนั้น นี่ก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่ผมเห็นในช่วงเร็ว ๆ นี้

สัญญานที่ผมเริ่มเห็นล่าสุด และผมคิดว่ามันเป็นสัญญาณที่แรงมาก มันเป็นสัญญาณที่ผมเคยเห็นเมื่อสมัยก่อนปี 2540 ที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตสูงมากก็คือ “รถป้ายแดง” ที่วิ่งอยู่ในท้องถนน ในยุคนั้น รถป้ายแดงที่วิ่งอยู่บนท้องถนนนั้นมีจำนวนมากจนเป็นที่สังเกตได้ชัดเจน หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ ยอดขายรถใหม่ก็ลดลงจนเราไม่รู้สึกว่ามีรถป้ายแดงเป็นเรื่องเป็นราวเป็นเวลา นับสิบปี จวบจนกระทั่งถึงในช่วงนี้ที่ผมรู้สึกว่ามีรถป้ายแดงมากขึ้นจนรู้สึกได้ รถป้ายแดงเป็นสัญญาณที่บอกว่าคนมีรายได้สูงและคนชั้นกลางระดับสูงมีความมั่น ใจและมีเงินหรือมีปัญญาที่จะซื้อรถมาใช้ได้มากขึ้น นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจกำลังร้อนแรง และก็คงเติบโตสูงมากอย่างที่มีการคาดกันว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจจะโตถึง เกือบ 10% ได้

สัญญานสุดท้ายที่ผมไม่ได้สัมผัสด้วยตนเองแต่ก็เริ่มมานานพอสมควรก็คือ การซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม นี่เป็นสัญญาณที่แรงมากในช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 ที่มีการซื้อขายเก็งกำไรและราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวด เร็ว แต่ในช่วงหลังนี้ อาจจะเป็นเพราะความต้องการบ้านจริง ๆ ของคนไทยอาจจะไม่สูงมากเนื่องจากการเกิดที่น้อยลงและสต็อกบ้านเก่ามีมาก ดังนั้น สัญญาณทางด้านการซื้ออสังหาริมทรัพย์จึงไม่ชัดเจนนัก อย่างไรก็ตาม การซื้อบ้านและคอนโดก็อยู่ในระดับที่ดีมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา และเป็นการแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยแข็งแรงดี คนระดับกลางและสูงมีเงินและพร้อมที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยและ ลงทุนจำนวนมาก

สัญญาณทั้งหลายที่กล่าวมาดูเหมือนว่าจะสอดคล้องและยืนยันอย่างชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ค่อนข้างจะดีมาก และน่าจะดีต่อไปอย่างน้อยอีกระยะหนึ่ง หน้าที่ของเราก็คือ หาหุ้นที่จะได้ผลดีจากภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ แน่นอน กิจการจำนวนมากหรือส่วนใหญ่น่าจะได้รับประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะต้องมีผลประกอบการดีขึ้น ส่วนตัวผมเองนั้นคิดว่า การที่เศรษฐกิจดีไม่ใช่เงื่อนไขของการเข้าลงทุน มันเป็นเพียง “โบนัส” ที่ผมจะได้จากการลงทุนในหุ้นของกิจการที่อยู่และเติบโตได้แม้ว่าเศรษฐกิจจะ ไม่ดี เพราะผมคิดว่า เศรษฐกิจปีนี้อาจจะดี แต่ปีหน้าทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนได้ สำหรับนักลงทุนระยะยาวแบบที่ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดชีวิต ไม่มีอะไรสำคัญกว่าการลงทุนในบริษัทที่ “อยู่ได้ในทุกฤดูกาล”


บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 7 สิงหาคม 2553

คนเหมือนกันทั้งโลก

ในการวิเคราะห์เรื่องการลงทุนนั้น แนวความคิดที่สำคัญมากอย่างหนึ่งที่ผมยึดถือก็คือความคิดที่ว่า “คนนั้นเหมือนกันทั้งโลก” ความแตกต่างของพฤติกรรมที่เราเห็นจากคนในแต่ละสังคมหรือแต่ละประเทศนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกิดจากความแตกต่างของรายได้ นั่นคือ สังคมที่รวยกว่าจะมีพฤติกรรมในการบริโภคและการใช้ชีวิตแตกต่างจากคนในสังคม ที่จนกว่า แต่ในสังคมที่รวยพอ ๆ กันก็จะประพฤติหรือบริโภคสิ่งที่คล้าย ๆ กัน พูดง่าย ๆ คนไม่ได้แตกต่างกันเพราะเชื้อชาติ สีผิว หรือแม้แต่วัฒนธรรม แต่คนแตกต่างกันเพราะมีรายได้ไม่เท่ากัน แต่ถ้าจะพูดให้ถูกต้องชัดเจนก็คือ แท้ที่จริงแล้ว คนเรานั้นชอบหรืออยากทำอะไรเหมือน ๆ กัน เพียงแต่คน ๆ หนึ่งอาจจะมีรายได้มากพอที่จะทำในสิ่งที่ต้องการได้ ในขณะที่คนอีกคนหนึ่งทำไม่ได้เพราะไม่มีเงิน


จากแนวความคิดดังกล่าว ทำให้เราสามารถคาดการณ์ว่า ประเทศไทยหรือสังคมไทยจะเคลื่อนไหวไปทางไหน สินค้าหรือบริการอะไรจะขายได้หรือขายดีในอนาคต วิธีการก็คือ ศึกษาจากประเทศหรือสังคมที่รวยกว่าเรา ดูว่าเคยเป็นอย่างไรและปัจจุบันเป็นอย่างไร ใช้ผลิตภัณฑ์อะไรมากน้อยแค่ไหน จากนั้นหันมาดูเมืองไทยว่า เราจะเดินตามแบบเดียวกับเขาเมื่อไร หัวใจสำคัญก็คือ ดูว่าเมื่อไรรายได้ของคนไทยจะเพิ่มขึ้นหรือราคาของสินค้าจะลดลงจนทำให้คนไทย มีปัญญาใช้สินค้านั้นได้เช่นกัน

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือเรื่องของโทรศัพท์มือถือ เมื่อราวสิบกว่าปีก่อน ถ้ายังจำกันได้ การใช้โทรศัพท์มือถือในประเทศไทยเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม คนใช้ยังมีจำนวนน้อยมาก แต่ละปีจะมีผู้ใช้รายใหม่เพียงไม่กี่แสนรายในขณะที่ประเทศในกลุ่มสแกนดิเน เวียนั้น เกือบทุกคนแม้แต่เด็กเล็กก็ใช้กันแล้ว เหตุผลของความแตกต่างก็คือ ราคาของการใช้โทรศัพท์มือถือในเมืองไทยยังแพงเกินกว่าที่คนไทยส่วนใหญ่จะ สามารถใช้ได้ แต่แล้ว ราคาค่าเครื่องและค่าบริการการใช้โทรศัพท์มือถือก็ลดลงอย่างรวดเร็วจนคนไทย ส่วนใหญ่สามารถใช้ได้ ผลก็คือ การใช้ในประเทศไทยก็พุ่งขึ้นจนปัจจุบันคนไทยเกือบทั้งหมดต่างก็ใช้โทรศัพท์ มือถือเหมือนกับประเทศเจริญแล้ว

บางคนอาจจะบอกว่า เรื่องการบริโภคหรือเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจนั้น คนอาจจะทำตามกันเมื่อมีรายได้ใกล้เคียงกัน แต่ในเรื่องของความเชื่อ รสนิยม ความคิดทางสังคมหรือการเมืองนั้น แต่ละสังคมหรือแต่ละประเทศน่าจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ ละกลุ่ม แต่ผมเองคิดว่า ความแตกต่างเหล่านั้นน่าจะเป็นในเรื่องของ “รายละเอียด” ในภาพใหญ่แล้ว ผมก็ยังคิดว่า “คนเราเหมือนกันทั้งโลก” ถ้าพวกเขามีรายได้หรือความมั่งคั่งใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศที่ร่ำรวยมากขึ้น ในทางการเมืองก็จะเป็นประเทศที่ยึดหลักเสรีประชาธิปไตย ไม่มีประเทศไหนเป็นประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการ ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ยากจนอาจจะมีระบอบการปกครองเป็นเผด็จการได้ แต่เมื่อใดที่พวกเขารวยขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่ง พวกเขาก็ต้องเป็นประเทศประชาธิปไตย เพราะหัวใจของเรื่องก็คือ มนุษย์ทุกคนในโลกต้องการมีเสรีภาพ แต่บางครั้งเขาเลือกไม่ได้เมื่อเขายังจนอยู่ แต่เมื่อรวยขึ้นแล้ว พวกเขาก็จะต้องเรียกหาและได้เสรีภาพและประชาธิปไตยในที่สุด

ผมเองชอบย้อนรำลึกถึงความหลังในสมัยที่ยังเด็ก ถึงวันนี้ผมรู้สึกทึ่งกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่ น่าเชื่อ ในสมัยก่อนนั้นผมรู้สึกว่าสังคมไทยมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสังคมอื่น ๆ โดยเฉพาะที่ไม่ใช่คนเอเซีย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะการได้รับการสอนหรือพร่ำบอกผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าประเทศไทยจะต้องเป็นหรือเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คนไทยเป็นคนที่มีค่านิยมอย่างนั้นอย่างนี้ที่ “ดี” กว่าคนอื่น แต่พอถึงวันนี้ หลังจากที่เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นมหาศาลและคนไทยเริ่มรวยขึ้นพอสมควร ผมก็เริ่มเห็นว่าคนไทยรุ่นใหม่โดยเฉพาะที่พ่อแม่มีรายได้และความมั่งคั่งสูง ขึ้นนั้น ได้เปลี่ยนค่านิยมไปมากมาย นั่นคือ พวกเขามีความคิดและค่านิยมเหมือน ๆ กับฝรั่งและชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่า ความ “เป็นไทย” นั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องในอดีตและไม่น่าที่จะมีใครสามารถ “หมุนเข็มนาฬิกา” กลับคืนไปได้ ดังนั้น สิ่งที่ผมทำก็คือ พยายาม “ปรับตัว” และ “ปรับใจ” เพื่อรับกับ “สังคมใหม่” ที่มาพร้อมกับความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของสังคมไทย และไม่ไปตัดสินว่าสิ่งเหล่านั้นดีหรือไม่ดี

ผมพูดมายืดยาวและดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับการลงทุนนัก แต่ที่จริงมันเกี่ยวกับการวิเคราะห์หาแนวโน้มในอนาคตของประเทศไทย อนาคตของเศรษฐกิจไทย และอนาคตของบริษัทไทย สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมากต่อการลงทุนระยะยาวที่เราจำเป็นต้องรู้ว่าอนาคต มันจะไปถึงจุดไหน อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ๆ นั้น บางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าจะเกิดขึ้นอาจจะยังไม่เกิดและหลายครั้งกลับเดินไป ในทิศตรงกันข้ามทำให้เราไม่มั่นใจและอาจจะคิดไปว่า “เมืองไทยไม่เหมือนที่อื่นเพราะ…” แต่ในความเห็นของผมหลังจากที่ผ่านประสบการณ์มานานพอสมควรในชีวิต ผมคิดว่า “คนเหมือนกันทั้งโลก เพราะเรามียีนส์แบบเดียวกัน” การเป็น “คนไทย” นั้น เป็นเรื่องของ “รายละเอียด” ที่ไม่สามารถจะไปเปลี่ยนโครงสร้างใหญ่ที่ธรรมชาติได้กำหนดมาแล้วสำหรับ มนุษย์ทุกคน ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ถ้าผมเห็นว่า เทรนด์หรือแนวโน้มของโลกที่เจริญแล้วไปทางไหน ไม่ช้าก็เร็ว ประเทศไทยก็จะพัฒนาไปทางนั้น ไม่มีข้อยกเว้น เราต้องมั่นใจและตัดสินใจลงทุนได้แม้ว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่อาจจะไม่เป็น เช่นนั้นหรือชี้ไปในทิศตรงกันข้าม


บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 31 กรกฎาคม 2553