Wednesday, November 16, 2011

ราคาของที่ดิน

ทรัพย์สินที่มีนัยสำคัญของคนส่วนใหญ่อย่างหนึ่ง ก็คือ ที่ดิน ดังนั้นเราควรมาทำความเข้าใจกับราคา และการเพิ่มขึ้นของราคาของที่ดิน ซึ่งก็คือ ผลตอบแทนจากการถือครองที่ดินนั่นเอง

ข้อเท็จจริงเรื่องแรกที่คนมักเชื่อกันคือ ราคาที่ดินแทบจะไม่เคยลดลง พูดง่ายๆ ซื้อที่ดินแล้วมักไม่ขาดทุน ยิ่งอยู่นาน ราคาก็ปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ ถ้าถามคนที่มีบ้านโดยเฉพาะที่ซื้อมานานแล้ว พวกเขาอาจจะพูดทำนองว่า "เมื่อยี่สิบปีที่แล้วซื้อที่ปลูกบ้านหลังนี้มาราคาแค่ตารางวาละ 10,000 บาท เดี๋ยวนี้วาละ 30,000 บาทแล้ว และราคาไม่เคยลดลงเลย" เป็นต้น

คำกล่าวที่ว่านี้ ผมคิดว่าเป็นความจริงมากแม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้การลงทุนซื้อที่ดินแปลงนี้ หรือที่ดินสำหรับสร้างบ้านส่วนใหญ่กลายเป็นการลงทุนที่วิเศษ เหตุผลก็คือ ถ้าคำนวณผลตอบแทนของการถือครองที่ดินพบว่า การเพิ่มขึ้นจาก 10,000 เป็น 30,000 บาทในเวลา 20 ปี ให้ผลตอบแทนทบต้นเพียงปีละ 5.65% ส่วนราคาไม่เคยลดลงเลยนั้น ผมเชื่อว่าค่อนข้างจริงแต่อาจไม่ทุกปี อย่างน้อยปี 2540 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ราคาน่าจะลดลงบ้าง เราอาจไม่รู้ว่าลดลง เพราะการซื้อขายที่ดินโดยเฉพาะที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยมีสภาพคล่องน้อย นั่นคือ ช่วงที่เกิดวิกฤติ หรือช่วงไหนก็ตาม มีการซื้อขายเปลี่ยนมือน้อย แม้จะซื้อขายบ้าง ข้อมูลไม่ได้เผยแพร่ออกไป ว่าที่จริงก็ไม่ค่อยมีใครแคร์ว่าราคาจะเป็นเท่าไร ถ้าเขาไม่ได้คิดจะขายบ้านที่ตนเองอาศัยอยู่ คนที่รู้ว่าราคาที่ดินลดลงก็คือคนที่ซื้อที่ดินที่พบว่าราคามันถูกลงไปพอ สมควรในปีนั้น

เหตุผลราคาที่ดิน "มีแต่จะขึ้น" เพราะ"พื้นฐาน" ของราคาที่ดินในภาพกว้างเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ มีแนวโน้มค่อยๆ ปรับขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจในชุมชนที่ที่ดินตั้งอยู่ ทั้งเงินเฟ้อและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอด 20 ปีและมากกว่านั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดเกือบทุกปี ดังนั้นราคาที่ดินจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามเกือบทุกปีเหมือนกัน นี่ก็พูดเรื่องพื้นฐานและราคา บางครั้งบางคราวก็มีการเก็งกำไรที่ดินเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ราคาปรับขึ้นก้าวกระโดดเช่นช่วงที่ไทยถูกมองว่าจะกลายเป็น "เสือแห่งเอเชีย" หรือปี 2537-2538 ที่ราคาที่ดินปรับขึ้นแรงมากกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หลังจากนั้นราคาชะลอตัวลง และลดลงช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ จึงทำให้ราคาที่ดินกลับมาใกล้เคียงกับพื้นฐานอีกครั้งหนึ่ง

ในภาพที่เล็กลงมา คือมองที่ดินเป็นย่าน หรือเป็นทำเล ราคาที่ดินจะผันผวนมากขึ้น แต่ก็ยังมีแนวโน้มขาขึ้น เพราะภาพใหญ่คือเรื่องเงินเฟ้อ และการเติบโตเศรษฐกิจยังเป็นขาขึ้น ปัจจัยที่ทำให้พื้นฐานที่ดินดีขึ้น และทำให้ราคาปรับขึ้นมากและรวดเร็ว คือ การมีถนนตัดผ่านที่ดินและมีรถไฟฟ้าผ่านมาใกล้กับที่ดิน ในเขตที่เป็นเมืองและตามทางหลวง ส่วนเขตนอกเมืองนั้น การมีธุรกิจและอุตสาหกรรมเข้ามาอยู่ในพื้นที่ จะช่วยดึงดูดพนักงานและผู้คนรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้ามาด้วย จึงทำให้มีความต้องการที่ดินในบริเวณนั้นมากขึ้น กรณีแบบนี้ การปรับขึ้นเร็วของที่ดินน่าจะเป็นแบบ "ครั้งเดียว" เพื่อตอบรับกับ "พื้นฐานใหม่" หลังจากนั้นการปรับขึ้นก็มักจะกลับสู่ภาวะปกติ คือปรับตัวขึ้นช้าๆ ตามภาพใหญ่

พื้นฐานที่ดิน ส่วนใหญ่อิงอยู่กับทำเลที่ตั้งที่ดิน จนมีคำพูดเป็นเหมือนไบเบิลของอสังหาริมทรัพย์ว่า ที่ดินต้องพิจารณาถึง "ทำเล ทำเล และทำเล" ผมคิดว่า ผลจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ทำให้คนมองปัจจัยน้ำท่วมเพิ่มขึ้นมาด้วย เพราะคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าน้ำท่วม ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว โอกาสที่จะเกิดขึ้นอีกมีอยู่พอสมควร ดังนั้นพื้นฐานของที่ดินหลายส่วนของประเทศอาจเปลี่ยนไป เช่นเดียวกัน ในทำเลใกล้เคียงกันที่เคยมีพื้นฐานเหมือนๆ กัน แต่หลังจากน้ำท่วมครั้งนี้ พื้นฐานอาจต่างกันไป และนี่จะสะท้อนออกมาหลังน้ำลด คือ พื้นที่บางแห่งที่น้ำท่วมสูงและน้ำค้างนาน ราคาที่ดินจะลดลง ขณะที่แห่งอื่นที่น้ำท่วมน้อยหรือไม่ท่วมเลย ราคาจะไม่ลดหรืออาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

การตกลงราคาที่ดินอันเป็นผลจากน้ำท่วม ก็ไม่เท่ากันสำหรับที่ดินแต่ละประเภท ถ้าน้ำท่วมทำให้เสียหายหนักในแง่รายได้และทรัพย์สิน เช่น ที่ดินที่ใช้ทำอุตสาหกรรม แบบนี้ต้องถือว่าพื้นฐานด้อยมาก ราคาอาจตกมาก จริงอยู่ กิจการที่ตั้งอยู่แล้ว อาจไม่ขายที่ดินย้ายโรงงาน เพราะต้นทุนการย้ายที่สูงมาก แต่รายใหม่ที่จะซื้อที่ดินต้องคิดหนัก และอาจต้องการที่ดินในราคาที่ลดลงมาก ส่วนอยู่อาศัย น้ำท่วมบ้านมักมีผลไม่เท่ากับอุตสาหกรรม และการย้ายสถานที่ ก็มีต้นทุนที่สูงมากเช่นกัน คนจึงไม่ย้ายบ้านเพื่อหนีน้ำท่วม คนที่คิดจะซื้อบ้าน หรือที่ดินใหม่ ก็พยายามหลีกเลี่ยงที่ดิน หรือโครงการจัดสรรที่อยู่ในบริเวณน้ำท่วมสูงและนาน ผลคือ ราคาที่ดินที่โดนน้ำท่วมหนักจะลดลง เพียงแต่การลดลงอาจน้อยกว่าที่ดินทำอุตสาหกรรม

การลดลงของราคาที่ดินที่ถูกน้ำท่วมหนัก โดยทฤษฎี เป็นการลงครั้งเดียว หลังจากนั้น ราคาก็จะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นตามภาพใหญ่ ในความเป็นจริง เราอาจจะไม่เห็นเลยว่า ราคาที่ดินพื้นที่น้ำท่วมใหญ่ ปรับลดลงเป็นเรื่องเป็นราว เพราะที่ดินนั้นมีสภาพคล่องต่ำ ช่วงที่ที่ดินควรจะปรับตัวลดลง มักจะซื้อขายน้อยมากโดยเฉพาะที่ดินอยู่อาศัย เพราะคนขายไม่ยอมขายลดราคา และคนซื้อก็ไม่ยอมซื้อในราคาเดิม การซื้อขายจึงไม่เกิดขึ้น สมมติราคาที่ควรจะเป็นคือลดลง 25% จากราคา 100 เหลือ 75 แต่ไม่มีการซื้อขาย จึงไม่เห็นว่าราคาลดลง ผ่านไป 5 ปี และด้วยอัตราการเพิ่มปกติตามภาพใหญ่ที่ราคาที่ดินโตปีละ 6% ราคาที่ดินจาก 75 ก็กลับขึ้นไปเป็น 100 เท่าเดิม และคนก็อาจจะบอกว่า "เห็นไหมถึงจะมีน้ำท่วมใหญ่ ราคาที่ดินก็ไม่ลง"

บางคนอาจจะอ้างน้ำท่วมไม่เป็นปัญหา ไม่ทำให้ราคาที่ดินลดลง โดยยกตัวอย่าง หาดใหญ่น้ำท่วมเป็นประจำ แต่ราคาที่ดินขึ้นเอาๆ ทุกปี แต่ความเป็นจริงควรจะพูดว่า "เพราะหาดใหญ่น้ำท่วมเป็นประจำ ราคาที่ดินจึงไม่ลดลง" เหตุผลคือ พื้นฐานของที่ดินนั้นได้ "รวมน้ำท่วมเป็นประจำไปแล้ว" ราคาที่ดินหาดใหญ่ที่ขึ้น น่าจะขึ้นตามภาพใหญ่ของหาดใหญ่ที่เศรษฐกิจโตขึ้นทุกปี หรือ สึนามิที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ใน จ.พังงา และ ภูเก็ต หลายปีก่อน เราก็เห็นราคาไม่ได้ลดลง และปัจจุบันก็เพิ่มขึ้นทุกปี นี่ก็น่าจะเป็นเพราะสึนามิ ทุกคนรู้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นอีกน้อยมาก พื้นฐานของที่ดินจึงเปลี่ยนน้อยมากจากสึนามิ ราคาจึงไม่ลงและเพิ่มขึ้นทุกปี ตามความเจริญของการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นทุกปี


บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2554

ผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่


เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ถ้าจะวิเคราะห์ผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เราควรแยกความเสียหายเป็น 2 ด้าน  นั่นคือ ความเสียหายจากทรัพย์สิน และความเสียหายจากธุรกิจ โดยเฉพาะยอดขายที่ลดลงในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งทั่วไปบริษัทมักจะเสียหายทั้ง 2 ด้าน คือทรัพย์สินเสียหาย ตามด้วยธุรกิจถดถอยลง บางบริษัททรัพย์สินเสียหายบ้าง แต่ธุรกิจไม่ได้ด้อยลง อาจดีขึ้นด้วยซ้ำ เช่นเดียวกัน บางบริษัททรัพย์สินไม่ได้เสียหาย แต่ธุรกิจด้อยลง ลองมาดูกันว่าธุรกิจแต่ละอย่างถูกกระทบอย่างไร

บริษัทที่ทำนิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตที่ถูกน้ำท่วม รุนแรง ต้องถือว่าเป็นผู้ที่เสียหายหนัก ทั้งด้านทรัพย์สินและธุรกิจ ประเด็นการเสียหายด้านทรัพย์สิน มีทั้งด้านสาธารณูปโภคของนิคม เช่น ระบบไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงเครื่องปั่นไฟที่บริษัทมักจะผลิตไฟฟ้าขายให้กับบริษัทในนิคม เครื่องทำน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย และอื่นๆ อีกมาก ความเสียหายส่วนนี้ บริษัทมักทำประกันไว้ ดังนั้นจะได้รับการชดเชยบ้าง แต่ทรัพย์สินสำคัญที่น่าจะเสียหายหนัก แต่เราอาจจะยังไม่ตระหนักก็คือ "การลดค่าของที่ดิน" เพราะกลายเป็นทำเลที่ "ไม่เหมาะสมกับการสร้างโรงงาน" เพราะอาจเกิดน้ำท่วมใหญ่ได้อีกในอนาคต ซึ่งการเสียหายแบบหลังนี้น่าจะสูงกว่าแบบแรก รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่ามันเป็นความเสียหายที่ไม่มีการทำประกันไว้

ความเสียหายทางธุรกิจของนิคมอุตสาหกรรมก็น่าจะสูงมาก เพราะลูกค้ารายใหม่ๆ ที่คิดจะซื้อที่ดินสร้างโรงงาน ก็คงหลีกเลี่ยงที่จะซื้อที่ดิน เพราะมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมซ้ำอีกในอนาคต จริงอยู่ นิคมอาจจะทำระบบกำแพงป้องกันน้ำท่วมแบบแข็งแรงน้ำไม่สามารถเข้าไปท่วมได้ แต่ก็ไม่รับประกันว่า โรงงานที่อยู่ข้างในจะเปิดดำเนินการได้ ถ้าภายนอกถูกล้อมรอบไปด้วยน้ำ และคนและวัตถุดิบต่างๆ ไม่สามารถเข้าไปได้ อีกทั้งการสร้างกำแพงป้องกันก็ต้องลงทุนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ราคาขายที่ดินถ้าไม่ลดลงก็คงไม่สามารถปรับขึ้นได้ ดูไปแล้ว ธุรกิจของนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม คงอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากไปอีกนาน อย่างมากที่ทำได้ก็คือ หาทำเลใหม่และเริ่มต้นนับหนึ่งจากทำเลนั้น ซึ่งกว่าจะเริ่มออกดอกผลก็มักต้องใช้เวลานานเมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่ต้อง ใส่ลงไป

บริษัททำบ้านจัดสรร โดยเฉพาะที่มีโครงการและที่ดินเหลืออยู่ในทำเลที่ถูกน้ำท่วมหนัก เช่น ย่านบางบัวทอง หรือบางใหญ่ ความเสียหายของทรัพย์สินในทางบัญชีอาจดูเหมือนมีน้อย นี่ก็เหมือนกับกรณีของนิคมอุตสาหกรรม นั่นคือ ไม่ได้รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากการลดค่าของที่ดินซึ่งน่าจะมีไม่น้อย ผมไม่ได้มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่เมื่อคิดถึงตัวเองที่มีที่ดินจัดสรรอยู่ในเขตน้ำท่วมรุนแรงซ้ำซากแล้ว ถ้าขายได้ครึ่งหนึ่งของราคาเดิมผมก็พอใจแล้ว กรณีของที่ดินในโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่โดนน้ำท่วมหนักครั้งนี้ ผมคิดว่าราคาจะลดลง 20-30% น่าจะเป็นไปได้

ส่วนธุรกิจบ้านจัดสรร ผมคิดว่าการขายบ้านที่อยู่ในเขตน้ำท่วมหนักครั้งนี้คงยากขึ้นมาก โดยเฉพาะช่วงปีหรือสองปีนี้ แม้แต่บ้านที่มีการวางมัดจำหรือผ่อนดาวน์ไปบ้างแล้ว น่าจะมีการทิ้งดาวน์ไม่ไปโอนมีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เหตุผลนอกจากไม่อยากมีบ้านอยู่ในทำเลที่ "ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย" แล้ว อาจจะเป็นเพราะคนที่จองซื้อไว้ อาจมองราคาบ้านคงจะลดลงมา จึงยอมทิ้งดาวน์ และถ้าอยากจะได้จริงๆ ค่อยไปซื้อใหม่น่าจะได้บ้านในราคาที่ถูกกว่า ธุรกิจของบริษัทที่มีโครงการและที่ดินอยู่ในเขตน้ำท่วมหนักอย่างมีนัยสำคัญ คงถูกกระทบค่อนข้างมากช่วง 2-3 ปีข้างหน้า วิธีการแก้ไขต้องไปทำโครงการที่อยู่ในทำเลที่ไม่ถูกน้ำท่วมรุนแรง นี่ก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้นและยังต้องใช้เวลาพัฒนาโครงการ

บริษัทที่เป็นโรงงานผลิตสินค้า เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ที่มีโรงงานหลักอยู่ในเขตน้ำท่วมรุนแรง ความเสียหายจากทรัพย์สินมีไม่น้อย แม้จะมีการประกันภัยไว้ เพราะนอกจากทรัพย์สินแล้ว โรงงานคงมีค่าใช้จ่ายที่ไม่น่าจะเคลมคืนได้เช่น  ค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรงงาน ค่าแรงคนงานที่ยังต้องจ่ายในระดับถึง 75% ของค่าแรงพื้นฐาน สินค้าและวัตถุดิบที่เสียหาย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมาก

ส่วนความเสียหายด้านธุรกิจ ผมคิดว่า คงมีไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะผู้ผลิตที่เป็นผู้ส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากความเสียหายที่ไม่สามารถขายสินค้าได้ในช่วงที่โรงงานถูกน้ำท่วมเป็น เดือนๆ แล้ว ในระยะยาว หลังจากโรงงานกลับมาดำเนินการใหม่ บริษัทอาจประสบปัญหาในการขายได้เหมือนกันในแง่ ลูกค้าเดิม อาจหันไปหาซัพพลายเออร์รายใหม่ เพราะรอไม่ไหว จริงอยู่ บริษัทน่าจะได้รับออเดอร์กลับมาบ้าง แต่ผู้ซื้อต้องกระจายความเสี่ยง โดยการสั่งซื้อจากที่อื่นมากขึ้น เพราะเขากลัวว่าถ้าเกิดปัญหาน้ำท่วมอีกในอนาคต การผลิตของเขาจะมีปัญหาอีกเช่นในปีนี้

ธุรกิจเช่นพวกผู้ค้าปลีก ความเสียหายจากทรัพย์สินมีไม่มาก เพราะเป็นแค่ร้านค้า หรือศูนย์กระจายสินค้าที่อยู่ในเขตน้ำท่วมหนัก เครื่องมือหรืออุปกรณ์มักมีราคาไม่สูง และมีประกันภัย ส่วนของธุรกิจ ความเสียหายส่วนใหญ่ มาจากยอดขายที่หายไปจากการปิดสาขาที่อยู่ในเขตน้ำท่วมหนัก เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขายรวมแล้ว ก็ยังไม่มากนัก ความเสียหายอีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่สินค้าขาด เพราะระบบจัดส่งสินค้าขัดข้อง เนื่องจากศูนย์กระจายสินค้าถูกน้ำท่วม แต่ยอดขายที่ลดลง จะเป็นเรื่องระยะสั้น เมื่อน้ำลดหรือระบบกระจายสินค้าทั้งที่เป็นศูนย์ชั่วคราวหรือศูนย์เดิมทำงาน ได้แล้ว ยอดขายก็จะกลับมาเป็นปกติ ผลกระทบระยะยาวมีน้อยมาก

สุดท้ายก็คือ บริษัทที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูบ้าน หรือสิ่งก่อสร้างหลังน้ำลด รวมถึงผู้ขายวัสดุและผู้รับเหมาก่อสร้าง บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะไม่ใคร่ถูกกระทบด้านทรัพย์สินที่เสียหายจากน้ำ ท่วมใหญ่ ด้านธุรกิจช่วงน้ำกำลังท่วม บริษัทอาจจะมียอดขายที่ลดลงบ้าง เพราะปัญหาการคมนาคม ตัวลูกค้า และคนงานที่อาจจะพะวงอยู่กับปัญหาน้ำท่วม แต่หลังจากน้ำลดลงแล้ว ธุรกิจก็จะเฟื่องฟูมากจน "ทำไม่ทัน" และมากกว่ายอดขายที่เสียไป ยอดขายหรือธุรกิจที่ดีขึ้น น่าจะดำรงอยู่อย่างน้อย 1-2 ปีขึ้นไป  และต้องถือว่า นี่คือกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากน้ำท่วมใหญ่ ขณะที่กลุ่มอื่น โดยรวมแล้วมักจะเสียหาย หรือขาดทุนหรืออย่างมากก็เสมอตัวในเหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2554

NPA

ความคิดต่อไปนี้ เกิดขึ้นเมื่อผมต้องย้ายข้าวของภายในบ้านจากที่ต่ำไปสู่ที่สูง เพราะนั่นทำให้ผมพบว่ามีสิ่งของมากมายที่ผมแทบจะไม่เคยได้ใช้ หรือใช้เพียง 2-3 ครั้ง แล้วก็ถูกเก็บเอาไว้จนผมลืมไปแล้วว่ามีอยู่ เครื่องใช้หลายอย่างนั้น ผมซื้อมาเพราะคิดว่ามันน่าใช้ มีประโยชน์ แต่หลังจากนั้นผมก็พบว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากทำจริงๆ เช่น เครื่องออกกำลังกาย เครื่องมือทำความสะอาดบ้านแบบหรูหรา เป็นต้น สิ่งของบางอย่างนั้น ผมได้รับมาจากคนอื่นเป็นของขวัญ  หรือเป็นของรางวัล  ของเหล่านั้น  ผมไม่ต้องการใช้ในขณะนั้น  จึงเก็บไว้  แล้วก็ลืมว่ามันมีตัวตนอยู่  สิ่งของทั้งหมดนั้น  ผมเรียกมันว่า NPA หรือ  non-performing asset  หรือ “ทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์” ทั้งๆ ที่มันอาจจะมีประโยชน์สำหรับคนอื่น

ลองสำรวจตัวเองแล้ว  ผมก็คิดว่าตนเองไม่ใช่คนที่ซื้อหรือเก็บของอะไรมากมายนัก  ดังนั้น  คนอื่นจำนวนมากก็น่าจะมี NPA อยู่มากโขเหมือนกันโดยเฉพาะคนที่มีบ้านใหญ่โตเก็บของได้มาก  และเมื่อยิ่งคิดไปอีกก็พบว่า  ในความเป็นจริง  ผมหรือคนจำนวนมากนั้น  ไม่ได้มี NPA เฉพาะที่เป็นของใช้ต่างๆ  ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในบ้านเท่านั้น   แต่ยังมี NPA ที่เป็นทรัพย์สินรายการใหญ่ๆ  อีกไม่น้อย  และ NPA  เหล่านั้น  น่าจะมีส่วนทำให้ความมั่งคั่งของเขาถดถอยลงเนื่องจากมัน  “ดูด”  เงินของเราให้  “จม”  ไปกับมันโดยไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์หรือรายได้กลับมา

NPA ที่เคยเป็นรายการทรัพย์สินใหญ่ของผมตัวหนึ่งก็คือ  ที่ดินแถวบางบัวทองที่ผมซื้อมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 15 ปีก่อนในช่วงวิกฤติปี 2540 ที่แปลงนั้นมีราคากว่า 5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญในขณะนั้นของผมและผมต้องก่อหนี้ถึงกว่า 3 ล้านบาทเพื่อที่จะซื้อมาและพบว่าผมไม่สามารถใช้มันได้เลยเนื่องจากอาณา บริเวณนั้นถูกน้ำท่วมตั้งแต่วันแรกที่ซื้อและท่วมต่อมาอีกเกือบทุกปี การที่จะขายทิ้งแทบเป็นไปไม่ได้ยกเว้นว่าจะขายถูกมากแบบครึ่งราคาซึ่งผมไม่ ยอมทำ  ผมปล่อยให้มันเป็น NPA มาเป็นสิบๆ ปีและนั่นคือความผิดพลาด เพราะถ้าผมขายทิ้งตั้งแต่แรกๆ แม้ในราคาเพียงครึ่งเดียวและนำเงินมาลงทุนในทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้  ป่านนี้มันคงกลายเป็นเงินก้อนโตไปแล้ว

คนที่ซื้อคอนโดมิเนียมไว้ โดยเฉพาะที่อยู่ตามสถานที่ท่องเที่ยวในต่างจังหวัด  แต่ไม่ค่อยได้ไปพัก   เช่นปีหนึ่งอาจจะใช้เพียง  4-5 วัน ในกรณีอย่างนี้เขาอาจจะไม่ตระหนักว่า  มันได้กลายเป็น NPA เรียบร้อยแล้ว เหตุผลก็เพราะว่า ด้วยเม็ดเงินลงทุนที่ต้องเสียไปเปรียบเทียบกับผลตอบแทนหรือประโยชน์ที่ได้ รับนั้น  มันไม่สัมพันธ์กันเลย ตัวอย่างเช่น ถ้าคอนโดมีราคา 2 ล้านบาทและเราสามารถสร้างผลตอบแทนได้ปีละ 10% เราก็จะได้เงินปีละ 2 แสนบาท เทียบกับการใช้คอนโดของเราประมาณ  4-5 วันต่อปี เท่ากับว่าเราเสียค่าที่พักคืนละ 4-5 หมื่นบาท ดังนั้นต้องถือว่าคอนโดที่เราซื้อมากลายเป็น NPA ไปแล้ว
       
หุ้นหลายตัวที่เราถือมานานหลายปี แต่เมื่อมองย้อนหลังกลับไป พบว่ามันให้ผลตอบแทนน้อยมาก ทั้งจากปันผลที่น้อยนิดและราคาหุ้นที่ไม่ไปไหนมานาน  เหตุผลที่เราไม่ขายทิ้งก็อาจจะเป็นเพราะว่าราคาหุ้นต่ำกว่าต้นทุนมาก เราขายไม่ลง หรือเราอาจจะมองว่าหุ้นตัวนั้นมีราคาถูกเป็นหุ้น VALUE และหวังว่าในที่สุดมันก็จะปรับตัวขึ้นมาเอง ดังนั้นเราจึงไม่ขาย ในกรณีแบบนี้ เราอาจจะกำลังถือหุ้นที่เป็น NPA หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องยิ่งขึ้นก็คือเป็น NPS  หรือ non-performing stock  ซึ่งยิ่งถือนานก็ยิ่ง “ขาดทุน”  เพราะถ้าเราขายหุ้นไปแล้วเอาเงินมาลงทุนในหุ้นอื่นที่ดีกว่า เราจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่ามากในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านไป

สุดท้ายที่ผมเห็นว่าคนจำนวนมากไม่ตระหนักก็คือ การที่เราฝากเงินไว้ในธนาคารจำนวนมากกว่าความจำเป็นเพราะเราไม่รู้เรื่องการ ลงทุนดีพอจริงอยู่ การฝากเงินนั้นแม้ว่าจะปลอดภัยแต่มันก็ให้ผลตอบแทนน้อยมาก ช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาเราได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละไม่เกิน 2-3%  ต่ำยิ่งกว่าอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นในความคิดของผม เงินฝากธนาคารในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมานั้นเป็น  NPA โดยที่คนจำนวนมากไม่รู้ตัว

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั่นก็คือ เราต่างก็มีทรัพย์สินที่เป็น NPAจำนวนมาก ดังนั้น วิธีที่จะสร้างความมั่งคั่งที่น่าจะมีประสิทธิภาพที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ การตระหนักถึง NPA ที่อาจจะอยู่ในพอร์ตของเราอย่างไม่รู้ตัว การไม่สร้างหรือซื้อทรัพย์สินที่มีโอกาสที่จะกลายเป็น NPA สูง และการแก้ไขทรัพย์สินที่เป็น NPA โดยวิธีการต่างๆ ซึ่งแน่นอน รวมถึงการขาย NPA นั้นทิ้งแม้ว่าจะได้ราคาน้อยกว่าที่เราคาดหรือคำนวณไว้มากถ้าทำได้แบบนี้   หนทางสู่ความมั่งคั่งคงจะราบเรียบขึ้นเยอะโดยที่เราอาจจะไม่ต้องใช้ความ พยายามมากเกินไป
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2554