ในการลงทุนทำธุรกิจโดยทั่วไปนั้น เราต้องมีเงินส่วนตัวหรือเงินจากหุ้นส่วนมาร่วมกันลงทุน นอกจากเงินที่เป็น “ส่วนของเจ้าของ” แล้ว ธุรกิจส่วนใหญ่ก็ยังมักจะ “กู้เงิน” หรือยืมเงินคนอื่นมาใช้ในการลงทุนด้วย ในเรื่องของธุรกิจแล้ว เงินที่กู้มามักจะมีมากกว่าเงินในส่วนของเจ้าของเองด้วยซ้ำ ดังนั้น เงินกู้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ถ้าขาดเงินกู้ โครงการหรือธุรกิจก็เดินไม่ได้ หรือไม่อย่างนั้น เราก็ต้องลดขนาดของธุรกิจลง การลดขนาดของธุรกิจลงก็ทำให้กำไรลดน้อยลง ผลตอบแทนการลงทุนของเราก็น้อยลง การลงทุนก็อาจจะไม่คุ้มค่า สรุปอย่างง่ายก็คือ เรากู้เงินมาใช้ก็เพื่อที่จะเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนของเรา
แต่การกู้เงินมาใช้นั้นมีความเสี่ยง เพราะเงินกู้นั้นต้องมีกำหนดเวลาใช้คืนและต้องมีดอกเบี้ยที่จะต้องจ่าย บางทีทุกเดือน ถ้าบริหารกระแสเงินสดไม่ดี และ/หรือ ธุรกิจเกิดประสบปัญหาขาดทุน เราอาจจะถูกฟ้องล้มละลาย เงินส่วนของเราก็สูญไปด้วย หรือในกรณีที่ไม่เลวร้ายเกินไปนัก เราอาจจะไม่ถึงกับล้มละลาย แต่ธุรกิจทำกำไรได้น้อยในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่า แบบนี้แทนที่เราจะได้กำไรบ้างถ้าเราไม่ได้กู้เงิน เราก็อาจจะไม่มีกำไรเลยหรือขาดทุนได้ ดังนั้น การที่เราจะกู้เงินหรือไม่จึงอยู่ที่การชั่งน้ำหนักว่า ระหว่างผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้เพิ่มขึ้น กับความเสี่ยงที่ว่าเราอาจจะล้มละลายหรือผลตอบแทนน้อยลงหรือขาดทุน เราจะเลือกอย่างไหน?
สำหรับ “นักธุรกิจ” แล้ว ส่วนใหญ่มักจะเลือกการกู้เงิน เพราะการลงทุนทำธุรกิจมักจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนสูง บางทีเกินกำลังเงินส่วนตัวที่มีอยู่ นอกจากนั้น นักธุรกิจมักมองว่าผลตอบแทนที่จะได้จากธุรกิจนั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ดังนั้น การกู้เงินจะทำให้ได้กำไรเพิ่มขึ้น ส่วนความเสี่ยงที่จะล้มละลาย เขามักจะให้ความใส่ใจน้อยกว่า เขาคงคิดว่าเขาเข้าใจและรู้จักธุรกิจดีพอ เหนือสิ่งอื่นใด เขาเป็นคน “คุมธุรกิจ” นั้นเอง แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เขาอาจจะคิดว่า ถ้าเลวร้ายมากและธุรกิจต้องล้มละลาย เขาก็แค่เสียเงินส่วนตัวที่ลงทุนไปเท่านั้นและก็อาจจะเป็นเงินที่ไม่มาก และหลังจากล้มละลายเพียง 3-4 ปีเขาก็ “หลุด” จากการล้มละลายและกลับมาลองใหม่ได้อีก แต่ถ้าเขาโชคดี ธุรกิจประสบความสำเร็จงดงาม กำไรของเขาจะมหาศาลและมากกว่าการไม่กู้เงินหลายเท่า ดังนั้น สำหรับนักธุรกิจบางคนแล้ว เขาต้องการกู้เงินมาลงทุนให้มากที่สุด เขารู้ว่านี่เป็น “เกม” ที่เขาได้เปรียบ คือ ถ้าเขาชนะ เขาได้ 10 ถ้าแพ้ อย่างมากเขาก็เสีย 1 คนที่รับความเสี่ยงมากจริง ๆ ก็คือคนให้กู้ ซึ่งก็คือสถาบันการเงินที่เชื่อเขา
การลงทุนในหุ้นสำหรับผมก็คือ การลงทุนคล้ายกับการทำธุรกิจเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างจริง ๆ สำหรับผมก็คือ ผมสามารถค่อย ๆ ทยอยลงทุนทีละน้อยไปเรื่อย ๆ เมื่อมีเงินเพิ่มเติมขึ้นมาจากแหล่งไหนก็ตาม อีกความแตกต่างหนึ่งก็คือ การกู้เงินมาใช้ซื้อหุ้นลงทุนนั้น สถาบันการเงินอื่นมักไม่ให้กู้ จะมีก็แต่โบรกเกอร์ที่เราเป็นลูกค้าอยู่ที่จะให้กู้ที่เรียกกันว่าการซื้อหุ้นด้วย “มาร์จิน” แต่โบรกเกอร์นั้นก็ให้กู้แบบมีข้อจำกัด นั่นคือ เราไม่สามารถกู้ได้เกินหนึ่งเท่าของเงินส่วนตัวที่เราเอามาลงทุน และที่สำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ เราจะกู้ได้เฉพาะเพื่อที่จะลงทุนซื้อหุ้นที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายสูง เราไม่สามารถจะซื้อหุ้นของกิจการที่ดีแต่หุ้นไม่มีสภาพคล่องพอได้
ด้วยข้อจำกัดในการกู้ดังกล่าว ประกอบกับการที่ผมค่อนข้างที่จะเน้นความปลอดภัยในการลงทุนเป็นพิเศษเนื่องจากเราไม่อยู่ในฐานะที่เสี่ยงต่อความสูญเสียที่รุนแรงได้ ผมจึงเลือกที่จะลงทุนโดยไม่กู้เลยตั้งแต่แรกที่ผมเริ่มลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ของเงินส่วนตัวของผมเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ผมรู้สึกว่า ผมไม่จำเป็นที่จะต้อง “เร่ง” ผลตอบแทนการลงทุนไปมากกว่านั้น ว่าที่จริง การลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ของเงินเก็บทั้งหมดนั้น ถ้ามันให้ผลตอบแทนที่พอสมควรเช่นปีละ 10% เงินมันก็โตเร็วมากอยู่แล้ว พูดโดยสรุปก็คือ การลงทุนโดยการกู้หรือที่เรียกว่าซื้อขายหุ้นด้วยมาร์จิน ไม่เคยอยู่ในความคิดผมเลยมากกว่าสิบปีนับตั้งแต่ประมาณปี 2538 หรือ 2539
ประมาณเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน 2551 หรือปลายปีที่แล้ว วิกฤติเศรษฐกิจก็ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเดือนเดียวดัชนีตกลงมาเข้าใจว่าเกือบ 30% หุ้นจำนวนมากมีราคาตกต่ำลงอย่างไม่น่าเชื่อ หลายบริษัททำกิจการที่ผมมั่นใจว่าจะต้องอยู่ต่อไปในประเทศไทยและจะกลับมาทำกำไรได้เท่าเดิมและมากกว่าเมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป แต่ราคาหุ้นของบริษัทนั้นตกต่ำเกินความเป็นจริง โอกาสในการลงทุนเกิดขึ้นแต่ผมกลับไม่มีเงินสดเลยเพราะผมถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ผมไม่อยากขายหุ้นตัวอื่นที่อยู่ในพอร์ตเพราะหุ้นเหล่านั้นก็มีราคาต่ำเกินไปเหมือนกัน ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจ “กู้” โดยการเปิดพอร์ตการซื้อขายหุ้นด้วยมาร์จินเป็นครั้งแรก
การกู้เงินซื้อหุ้นของผมนั้น ผมคิดไว้ว่า ข้อหนึ่ง มันไม่ควรมากกว่า 10-20% ของมูลค่าพอร์ต ข้อสอง หุ้นที่ซื้อจะต้องเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องที่ดีที่เราสามารถขายทิ้งได้อย่างรวดเร็วถ้าจำเป็นแต่ที่สำคัญเท่า ๆ กันก็คือ ข้อสาม หุ้นจะต้องมีราคาต่ำมากและกำไรของบริษัทไม่ได้อยู่ในภาวะสูงผิดปกติ ตรงกันข้าม มันควรที่จะมีกำไรลดลงไปมากแต่ทุกอย่างกำลังดีขึ้นในเวลาไม่นานนัก และสุดท้าย เราต้องมี Exit Strategy หรือ “ทางออกจากหนี้” ซึ่ง สำหรับผมก็คือ การนำเงินปันผลที่จะได้มาจากพอร์ตโดยรวมมาลดหนี้ การทยอยขายหุ้นที่ซื้อมาเมื่อมันมีราคาเพิ่มขึ้น และถ้าจำเป็น อาจต้องขายหุ้นตัวอื่นเพื่อมาล้างหนี้
ผมโชคดีที่การตัดสินใจถูกต้อง เพราะหลังจากนั้น ราคาหุ้นที่ซื้อมาปรับตัวขึ้นมาก และแม้ว่าหนี้ก็ยังคงอยู่แต่พอร์ตก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาก ความเสี่ยงจากการกู้ไม่สูงนัก อย่างไรก็ตาม ผมตระหนักอยู่เสมอว่า หนี้นั้นเป็นสิ่งที่อันตราย เราต้องมองป้าย “ทางออก” อยู่เสมอ และถ้าไม่มั่นใจจริง ๆ ก็ “อย่าลอง” จะดีกว่า
บทความนี้ลงในบล็อกดร.นิเวศน์เมื่อ 29 มิ.ย.2552
No comments:
Post a Comment