Tuesday, September 22, 2009

ทฤษฎี VI (1)...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Value Investment คืออะไร? นั่นเป็นคำถามที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ คำตอบที่ได้รับนั้นมักจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับ “Value Investor” แต่ละคน ส่วนใหญ่แล้วคำตอบนั้นมักจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวความคิด “แบบ VI” ผมคิดว่าไม่มีคำตอบไหนที่จะอธิบายความหมายของ VI ได้อย่างสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าแท้ที่จริงแล้ว VI นั้นเป็น “ปรัชญา” ที่อาจจะมีพื้นฐานจากแนวความคิดของ เบน เกรแฮม แต่หลังจากนั้นก็มีนักคิดและนักปฏิบัติคนอื่นที่ช่วยกันเสนอแนวความคิดเพิ่ม เติมหลากหลาย บางเรื่องก็แย้งกับแนวทางเดิมก็มี อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วก็พอจะบอกได้ว่าแนวทางแบบใดเป็นแบบ VI และแนวไหนไม่ใช่ และต่อไปนี้ก็คือความพยายามของผมที่จะรวบรวมแนวความคิดหลัก ๆ ของ VI ที่จะช่วยให้คนที่ยังสับสนว่าอะไรคือ VI และการลงทุนแบบ VI นั้นทำอย่างไร ผมอยากเรียกมันว่า “ทฤษฎี VI”

ทฤษฎี VI ของผมจะเริ่มจาก “โครงร่าง” ที่จะครอบคลุมประเด็นหลัก ๆ ของ VI ดังต่อไปนี้คือ ข้อแรก VI มองการลงทุนในหุ้นว่าคือการลงทุนในธุรกิจ พูดง่าย ๆ ซื้อหุ้นก็คือซื้อธุรกิจหรือถ้าจะให้ถูกต้องจริง ๆ ก็คือ ซื้อส่วนหนึ่งของธุรกิจ ไม่ใช่ซื้อกระดาษใบหนึ่งที่มีราคาขึ้นลงได้ ดังนั้น การวิเคราะห์หุ้นก็คือการวิเคราะห์ว่าธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร ข้อสอง ต้องหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ซึ่งก็คือการหามูลค่าของธุรกิจ นี่คือมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการที่ธุรกิจสามารถสร้างกระแสเงินสดให้เราได้ ไม่ใช่มูลค่าที่มีคนมาเสนอซื้อจากเรา ข้อสาม ซื้อหรือขายหุ้นเมื่อมีส่วนต่างระหว่างมูลค่าที่แท้จริงกับราคาหุ้นในตลาด โดยที่ส่วนต่างนั้นมีมากพอ หรือเรียกว่ามี Margin Of Safety ข้อสี่ VI นั้นจะต้องมี EQ หรืออารมณ์ที่มั่นคง ไม่ถูกชักนำโดยจิตวิทยาสังคมหรือสภาวะของตลาดหลักทรัพย์ ข้อห้า ต้องควบคุมความเสี่ยง หรือเสี่ยงในระดับที่เหมาะสม สุดท้ายก็คือ ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในมุมมองของ VI

ข้อ แรกในเรื่องของธุรกิจนั้น VI จะพยายามแยกหุ้นออกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อให้รู้ว่าคุณสมบัติทางธุรกิจของหุ้นนั้นเป็นอย่างไร การแยกแยะนั้นจะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์และคาดการณ์อนาคตของกิจการได้ อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้น

การ แบ่งกลุ่มของหุ้นที่ค่อนข้างกว้างก็คือแนวที่บัฟเฟตต์เรียกว่า กลุ่มหุ้น “ก้นบุหรี่” กับกลุ่มหุ้น “Super Company” โดยที่หุ้นก้นบุหรี่ก็คือหุ้นของบริษัทที่ไม่มีความสามารถโดดเด่นในการแข่ง ขัน ซึ่งทำให้ราคาของหุ้นอาจจะถูกมากจนอาจทำให้คุ้มค่าที่จะซื้อ ในขณะที่หุ้น Super Company นั้นเป็นหุ้นของกิจการที่มีความแข็งแกร่งมากและมี “ความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน” ซึ่งทำให้บริษัทสามารถทำกำไรดีกว่าปกติได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน หุ้นแบบหลังนี้ ถ้าเราสามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม มันก็จะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีได้เป็นเวลานาน

VI ชื่อดังอย่าง ปีเตอร์ ลินช์ เองได้เสนอการแบ่งกลุ่มบริษัทให้ละเอียดขึ้นเพื่อให้สามารถวิเคราะห์กิจการ ได้แม่นยำขึ้น เขาแบ่งกิจการออกเป็น 6 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มแรก หุ้นโตช้า ซึ่งเขาบอกว่าไม่น่าสนใจลงทุน นี่น่าจะเป็นกลุ่มที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ตะวันตกดิน” กลุ่มสอง หุ้นแข็งแกร่ง นี่คือหุ้นของกิจการขนาดใหญ่ที่เข้มแข็ง เป็นหุ้นที่นักลงทุนเรียกว่าเป็น หุ้น “Blue Chip” หุ้นเหล่านี้จะโตไม่มากแล้ว คนลงทุนควรจะเน้นว่ามันจ่ายปันผลในอัตราที่ดีจึงจะน่าสนใจที่จะซื้อลงทุน กลุ่มที่สาม คือหุ้นโตเร็ว นี่คือหุ้นที่มักจะมีขนาดเล็กลงมาแต่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นกิจการที่ยังมีความเสี่ยงและอาจจะไม่เข้มแข็งมาก แต่การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้โดยรวมมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีเพราะราคาหุ้นจะปรับ ตัวไปสูงมากและเป็นเวลานาน กลุ่มที่สี่ คือหุ้นวัฏจักร นี่คือกิจการที่มีผลประกอบการขึ้นและลงเป็นรอบ ๆ ที่ถ้าเราเข้าใจก็สามารถลงทุนซื้อและขายหุ้นในช่วงเวลาที่ถูกต้องได้ กลุ่มที่ห้า คือกลุ่มหุ้นฟื้นตัว นี่คือหุ้นของกิจการที่ประสบปัญหาหนักแต่กำลังฟื้นตัวหรือจะฟื้นตัวได้ เนื่องจากเหตุผลบางประการเช่นบริษัทมีเงินสดมาก การซื้อหุ้นแบบนี้ก็จะให้ผลตอบแทนที่ดีมากเมื่อกิจการฟื้นตัวแล้ว สุดท้าย หุ้นกลุ่มทรัพย์สินมาก นี่คือหุ้นของกิจการที่มีทรัพย์สินมากกว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทและทรัพย์สิน นั้นมีค่าจริง การลงทุนในหุ้นมีทรัพย์สินมากมักจะมีความปลอดภัยสูง

การ แบ่งกลุ่มบริษัทนั้น สำหรับ VI คงไม่มีข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับว่าเขาเข้าใจธุรกิจมากน้อยแค่ไหน ตัวอย่างที่ดูเหมือนจะเป็นข้อถกเถียงมากว่าเป็นแนวของ VI หรือไม่ก็คือในกรณีของ บิล มิลเลอร์ ซึ่งประกาศตัวว่าเป็น VI คนหนึ่ง แต่เขาลงทุนในหุ้นกลุ่มไฮเท็คมากและประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้ง ๆ ที่หุ้นไฮเท็คนั้น สำหรับ VI ส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นหุ้นในกลุ่มของ Growth Investor ซึ่งไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องของราคาถูกแพงของหุ้นซึ่งขัดกับแนวความคิดหลักของ VI ที่เน้นว่าต้องซื้อเฉพาะหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าพื้นฐานเสมอ อย่างไรก็ตาม บิล มิลเลอร์ เถียงว่า หุ้นที่เขาลงทุนนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่ได้แพงเลยเมื่อมองถึงกระแสเงินสดในอนาคตที่กิจการเหล่า นั้นจะทำได้ในอนาคตที่อาจจะไกลออกไปหน่อยแต่ก็เป็นกระแสเงินสดที่มากและน่า จะคาดการณ์ได้เมื่อคำนึงถึงธรรมชาติของธุรกิจของหุ้นไฮเท็คที่เขาซื้อเหล่า นั้น

หัวใจ สำคัญของการวิเคราะห์กิจการนั้น นอกจากการที่ต้องพยายามจัดกลุ่มแล้ว เราต้องเข้าใจว่าบริษัทนั้น “หากิน” อย่างไร อะไรเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลประกอบการของบริษัททั้งในระยะสั้นและระยะ ยาวและปัจจัยเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงได้เร็วและมากน้อยแค่ไหน การเข้าใจตัวธุรกิจเป็นเงื่อนไขสำคัญมากของการลงทุนแบบ VI และก่อนที่จะลงทุนนั้น นักลงทุนจะต้องสามารถบอกเล่าเรื่องราวสั้น ๆ ที่ครอบคลุมหัวใจสำคัญของการดำเนินงานของธุรกิจหรือ “Story” ว่าทำไมหุ้นตัวนั้นถึง “น่าลงทุน”
บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 19 ก.ย.2552

Friday, September 18, 2009

Merry-Go-Round.....ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ถ้าถามเด็กเล็กว่าของเล่นอะไรในงานวัดเป็นสิ่งที่เขาชอบที่สุด ผมเชื่อว่า “ม้าหมุน” น่าจะติดอยู่ในอันดับต้น ๆ เพราะม้าหมุนนั้นมันทำให้เด็ก “หมุน” ไปอย่างรวดเร็ว เขารู้สึกตื่นเต้น สนุกสนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรยากาศที่มี “เพื่อน” ร่วมวงเล่นกันอย่างมากมายบนม้าหมุนที่ประดิดประดอยตกแต่งอย่างสวยงามราวกับอยู่ในเมืองในเทพนิยาย นอกจากนั้น ดนตรีที่บรรเลงอย่างไพเราะรื่นเริงในยามที่เด็ก ๆ กำลังนั่งอยู่บนหลังม้าที่หมุนไปนั้น มันสร้างความสุขและความเคลิบเคลิ้มที่มักทำให้เขาจดจำไปช้านาน ถ้าจะว่าไป การนั่งม้าหมุน โดยเฉพาะที่ใหญ่และหรูหรานั้น มักทำให้คนนั่งรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในความฝันที่มีความสุขเหลือล้น และนี่น่าจะเป็นเหตุผลที่ฝรั่งเรียกของเล่นชิ้นนี้ว่า Merry-Go-Round หรือแปลแบบสนุก ๆ ว่า “ความสุขที่หมุนไปเป็นรอบ ๆ”

ผมพูดถึงม้าหมุนเพราะรู้สึกว่าบรรยากาศในตลาดหุ้นไทยเวลานี้เหมือน “ม้าหมุน” ที่คนเล่นหุ้นต่างก็ขึ้นไป “นั่ง” เล่นกันอย่างสนุกสนาน มีความสุขเหลือล้น คล้าย ๆ อยู่ในความฝัน กำไรหรือเงินนั้นหามาได้ง่าย ๆ พวกเขาโหมซื้อหุ้นตัวหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งที่มาถึง “รอบ” ของมัน ถือไว้ไม่กี่วันหรือบางทีไม่ถึงวัน ราคามันขึ้นไปอย่างแรง ขายมันทิ้ง แล้วก็มองหาหุ้นตัวใหม่ในกลุ่มใหม่ที่กำลังจะมาถึงรอบ ของมัน ไม่มีใครรู้ว่าม้าหมุนจะหยุดเมื่อไร แต่ตราบใดที่มันยังหมุนอยู่ ทุกคนก็ยัง “ตักตวงความสุข” กันอย่างเต็มที่ เหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาคิดว่าม้าหมุนเครื่องนี้ก็เพิ่งเปิดให้เข้ามาเล่นได้ไม่นาน “มันคงไม่หยุดกันง่าย ๆ ”

เริ่มตั้งแต่ตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่เริ่มแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจได้หยุดถดถอยลงแล้วและราคาน้ำมันและพลังงานเริ่มปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุด กลุ่มพลังงานซึ่งนำโดยหุ้น ปตท. และ ปตท. สผ. ก็เริ่มปรับตัวขึ้น นักลงทุนโดยเฉพาะรายใหญ่ที่เป็นนักลงทุนสถาบันมองว่า ถ้าเศรษฐกิจเริ่มมีเสถียรภาพแล้ว ในไม่ช้าก็น่าจะฟื้นตัว และเมื่อนั้นหุ้นก็จะกลับมา ในอีกด้านหนึ่ง การที่ราคาพลังงานปรับตัวขึ้นก็ทำให้บริษัทในกลุ่มนี้มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น เขาจึงกระโดด “ขึ้นม้า” หรือซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานและทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น

รอบต่อมาหรือใกล้เคียงกับกลุ่มพลังงานก็คือกลุ่มสถาบันการเงินที่นำโดยธนาคารพาณิชย์ นี่คือกลุ่มที่คนคิดว่าจะได้ประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัว เพราะถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัว ความต้องการสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ หนี้เสียจะหยุดเพิ่มและบางทีลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้จะกลับมาชำระหนี้ได้ซึ่งทำให้ต้นทุนของธนาคารลดลง ส่งผลให้กำไรเพิ่มขึ้น ดังนั้น นักลงทุน โดยเฉพาะที่เป็นสถาบันการลงทุนทั้งในและต่างประเทศจึงเข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ซึ่งนอกจากจะมี “Story” หรือเหตุผลการลงทุนที่ดีแล้ว ยังเป็นกลุ่มของหุ้นที่มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องสูงซื้อง่ายขายคล่องด้วย ทำให้หุ้นกลุ่มนี้วิ่งกันถ้วนหน้า

หุ้นกลุ่มต่อมาที่น่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หรือแม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ฟื้นตัวมากนักแต่เงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังจะ “อัด” ลงไปในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่ต้องใช้วัสดุก่อสร้างจำนวนมากก็คือ กลุ่มผู้รับเหมาและกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ดังนั้น หุ้นของกลุ่มรับเหมาและวัสดุก่อสร้างที่เคยตกต่ำมากเนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจจึงน่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น นี่คือ Story ที่ทำให้นักลงทุนกลับมาเก็บหุ้นในกลุ่มนี้และทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาก

อสังหาริมทรัพย์ที่คนกลัวกันมากว่าจะถูกกระทบมากที่สุดจากวิกฤติเศรษฐกิจนั้น เมื่อคนเริ่มตระหนักว่าเศรษฐกิจไม่ได้เลวร้ายเกินไปและกำลังฟื้นตัว ประกอบกับการที่เห็นว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในกลุ่มนั้นกลับดีขึ้นเนื่องจากการที่บริษัทเล็กต้องออกจากตลาดทำให้บริษัทขนาดใหญ่สามารถขายบ้านได้มากขึ้น ทำให้นักลงทุนกลับมาซื้อหุ้นอสังหาริมทรัพย์หลังจากเห็นงบการเงินล่าสุดที่ดีผิดคาด ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มบ้านจัดสรรปรับตัวขึ้นอย่างน่าประทับใจ

เมื่อเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ ราคาปิโตรเคมีที่เคยตกต่ำอย่างหนักก็เริ่มปรับตัวขึ้น นี่ทำให้หุ้นในกลุ่มปิโตรเคมีที่อิงอยู่กับราคาปิโตรเคมีรวมถึงค่าการกลั่นน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด และนี่ยังไม่ได้รวมถึงการที่บริษัทปิโตรเคมีในกลุ่มของ ปตท. ที่มีข่าวว่าจะรวมกันซึ่งทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ปรับตัวขึ้นรับกับ “ข่าวดี” ที่อาจจะยังไม่มีความชัดเจนนี้ด้วย

เมื่อเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจนแล้วแม้ว่าจะยังมีความเสี่ยงอยู่บ้าง หุ้นในกลุ่มที่ Sensitive หรือค่อนข้างจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจมาก ๆ อย่าง รถยนต์ และ อิเลคโทรนิค ก็เริ่มกลับมา เช่นเดียวกัน หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเดินทางที่มักจะถูกกระทบแรงมากในยามวิกฤติ ในขณะนี้ก็เริ่มเห็นสัญญาณว่าคนท่องเที่ยวเดินทางเริ่ม “จองตั๋ว” กลับมามากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น หุ้นก็วิ่งขึ้นอย่างแรงเช่นเดียวกัน

หุ้นในกลุ่มผู้บริโภคซึ่งรวมถึงกลุ่มพาณิชย์และกลุ่มสื่อสารนั้น ค่าที่ว่าในช่วงวิกฤติไม่ค่อยได้ตกลงมามากนัก การปรับตัวขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นจึงไม่แรงเหมือนหุ้นในกลุ่มอื่นที่กล่าวถึง และการปรับตัวขึ้นแรงของหุ้นในกลุ่มเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มักเป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือเฉพาะกลุ่ม ตัวอย่างเช่นการที่ทาง กทช. จะเปิดให้มีการประมูลคลื่นระบบ 3G ของบริษัทให้บริการโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังปรับตัวดีขึ้นหลังจากวิกฤติ หุ้นในกลุ่มต่าง ๆ ก็มักจะปรับตัวขึ้น โดยพฤติกรรมก็คือ มีการปรับตัวโดดเด่นกันทีละกลุ่มโดยมี Story มาหนุน Story นั้น บางทีก็จริง บางทีก็เป็นเรื่องที่ไม่เป็นเหตุผลที่เพียงพอ แต่ในยามนี้ ถ้าคนเชื่อ โดยที่อาจจะมีราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นเป็น “คำยืนยัน” หุ้นก็ขึ้นไปได้ ในสถานการณ์แบบนี้ พื้นฐานอาจจะมีความหมายน้อยกว่าภาวะตลาดและภาวะหุ้นในกลุ่ม ดังนั้น การลงทุนที่จะได้กำไรมากและเร็วในเวลานี้อาจจะไม่ใช่การซื้อหุ้นที่เน้นแต่ Value อย่างเดียว อย่างไรก็ตาม Value Investor จะต้องระวังว่าสถานการณ์อาจจะเปลี่ยนไปได้เสมอ ถ้าจะให้ปลอดภัย เราควรจะหาหุ้นที่ถ้าเกิดสถานการณ์เปลี่ยน หุ้นของเรายังมี Margin of Safety เหลือพอ

สุดท้ายจงจำไว้ว่า เวลาที่ “ม้าหมุน” หยุดนั้น มักจะเป็นเวลาที่คนกำลังรื่นเริงสุดขีด กติกา ก็คือ เวลาที่มันหยุด คนที่ยังอยู่จะต้อง “จ่ายตัง” ขอให้โชคดีและมีความสุขกับการเล่น “ม้าหมุน” ครับ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 15 ก.ย.2552

Saturday, September 12, 2009

เลือกเสี่ยง...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ชีวิตคนเรานั้นมีความเสี่ยงมากมายที่เราต้องรับ และมีความเสี่ยงอีกมากมายที่เราไม่จำเป็นต้องรับแต่เราก็เข้าไปรับ ความเสี่ยงที่ผมพูดถึงนั้นคือความเป็นไปได้หรือความน่าจะเป็นที่เราจะประสบกับความเสียหาย ความยากลำบาก ความเจ็บปวด หรือแม้แต่ความตาย พูดง่าย ๆ คือสิ่งที่เป็นลบทั้งหลายในชีวิตที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น โชคดีที่ความเสี่ยงนั้นส่วนใหญ่เราสามารถ “จัดการ” ได้ นั่นคือ เราสามารถลดความเสี่ยงได้ เราสามารถที่จะไม่ทำอะไรกับความเสี่ยงนั้น ๆ และสุดท้าย เราสามารถ เพิ่มความเสี่ยงให้มากขึ้นหรือเข้าไปรับความเสี่ยงทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็น ซึ่งในกรณีหลังนี้ฟังดูแล้วอาจจะแปลก เพราะใครจะอยากเพิ่มโอกาสที่เราจะประสบกับสิ่งที่เป็นลบหรือเลวร้าย แต่ข้อเท็จจริงก็คือ เราทำมันตลอดเวลา เนื่องจากการทำอย่างนั้นมักจะทำให้เราได้ “ผลตอบแทน”

ประเด็นที่สำคัญก็คือ เราจะจัดการอย่างไรกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพราะการจัดการกับความเสี่ยงนั้นมักจะมี “ต้นทุน” สูงบ้าง ต่ำบ้าง เช่นเดียวกัน ความเสี่ยงที่จะเกิดเรื่องที่เป็นลบหรือเลวร้ายนั้นก็มีโอกาสเกิดขึ้น มากบ้าง น้อยบ้าง และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ สิ่งที่เป็นลบหรือเลวร้ายนั้นมันเลวร้ายแค่ไหน มันทำให้เรา “ตาย” ไหม หรือเป็นแค่เรื่อง “เล็กน้อย” ที่ทำให้เราหงุดหงิดใจ ดังนั้น หัวใจของการจัดการกับความเสี่ยงแต่ละเรื่องจึงต้องพิจารณาถึงเรื่องของ 1) ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น 2) ความเสียหายที่จะตามมา 3) ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ และสุดท้ายก็คือ ต้นทุนของการจัดการกับความเสี่ยงนั้น ฟังดูแล้วหลายคนอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินไปและเขาไม่สามารถทำได้ แต่เชื่อไหมครับว่าเราทำมันตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว ว่าที่จริง ชีวิตของคนเราแทบจะทั้งชีวิตนั้นก็คือ “การบริหารความเสี่ยง” และคนที่ทำได้ดีกว่ามักจะเป็น “ผู้ชนะ”

อย่างเรื่องของสุขภาพนั้น คนหนุ่มสาวมักมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่ำ โอกาสที่จะเป็นโรคร้ายแรงถึงแก่ชีวิตก็น้อย ดังนั้นเขาก็อาจจะ “ไม่จัดการ” อะไรนัก บางคนอาจจะ “เสี่ยงเพิ่ม” โดยการกินเหล้า สูบบุหรี่ หรือทำอย่างอื่นที่อาจจะทำลายสุขภาพด้วยเพราะเขาอาจจะได้ “ผลตอบแทน” คือ ความพึงพอใจกับรสชาดหรือความรู้สึกอย่างอื่นที่ได้รับ ส่วนคนสูงอายุอย่างผมนั้น ความเสี่ยงเรื่องสุขภาพนั้นต้องบอกว่าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เราจะจัดการหรือไม่จัดการก็ได้ แต่ถ้าจัดการเราจะทำอะไรบ้างและผลที่ได้คืออะไร แน่นอนว่าในโลกปัจจุบันมีทางเลือกมากมายที่จะลดความเสี่ยงทางด้านสุขภาพลงซึ่งรวมถึงยา อาหารเพื่อสุขภาพ การตรวจสุขภาพและการออกกำลังกาย หน้าที่ของเราก็คือ เลือกว่าจะทำอะไร ซึ่งก็รวมถึงต้นทุนและผลตอบแทนที่จะได้รับ ซึ่งผมคงไม่พูดว่าทำอย่างไรที่จะดีและคุ้มค่าที่สุด แต่ประเด็นสำคัญก็คือ อย่า “ไม่ทำอะไร” เพราะการตัดสินใจไม่ทำอะไรนั้น บ่อยครั้ง เป็นทางเลือกที่แย่ที่สุด

เรื่องของการเงินและการลงทุนส่วนบุคคลนั้น เป็นเรื่องของความเสี่ยงที่คนจำนวนมากไม่อยากรับและเป็นเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะ “เลี่ยง” ได้ นั่นก็คือ อย่าไปเล่นการพนัน เล่นหวยหรือล็อตเตอรี่ ถ้าเป็นคนมีเงินหน่อยก็อย่าไปพนันบอลหรือเล่นหุ้น วิธีที่จะไม่เสี่ยงเลยก็คือ การฝากเงินไว้ในธนาคารหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาล ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงมักจะ “ไม่ทำอะไร” หรือไม่ “บริหารเงิน” เพราะเขาไม่อยากรับ “ความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น” แต่นั่นอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้อง

การเล่นหวยหรือล็อตเตอรี่ด้วยเงินจำนวนมากและเป็นประจำนั้น ถ้าเราเลือกเสี่ยงทำก็อาจจะเป็นสัญญานบอกว่าเรา “เลือกความเสี่ยง” ไม่เป็น เพราะถ้าวิเคราะห์โดยหลักทางสถิติแล้วมีโอกาสสูงมากที่เราจะขาดทุน แต่การลงทุนในหุ้นนั้น ถ้าเราเลือกที่จะลงทุนและทำอย่างถูกวิธี เราจะกำไรหรือได้ผลตอบแทนคุ้มค่า แน่นอน โอกาสที่จะขาดทุนก็มี แต่ความเสียหายถ้าเกิดขึ้นเราก็สามารถรับได้ ถ้าความสามารถในการเลือกหุ้นเรามีน้อยเราก็ยังสามารถลงในกองทุนรวมได้ ถ้าเรามีความสามารถสูง เราอาจจะเลือกลงทุนเอง การเลือกหุ้นแต่ละตัวนั้นก็เช่นเดียวกัน เราต้องวิเคราะห์และ “เลือกเสี่ยง” เฉพาะตัวที่เรามีโอกาสกำไรสูงแต่ความเสี่ยงที่จะขาดทุนต่ำ อย่าไปเสี่ยงในตัวที่เราไม่มั่นใจ

Value Investor ระดับเซียนอย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์ เวลาทำอะไรเขาวิเคราะห์เป็นเรื่องของความเสี่ยงและผลตอบแทนตลอดเวลา ว่ากันว่าเวลาตีกอล์ฟ เขาไม่ยอมพนันหรือเล่นน้อยมาก อาจจะหลุมละแค่ 10 ดอลลาร์ ถ้าแต้มต่อเขาสู้ไม่ได้ มีคนถามว่าทำไมเขากินแต่สเต็คร้านเดิมชื่อดังในเมืองเป็นประจำ เขาตอบว่า ไปที่ร้านนี้เขารู้ว่าสเต็คอร่อยแน่นอน เพราะฉนั้น เขาจะ “เสี่ยง” ไปร้านที่เขาไม่รู้จักทำไม เรื่องแบบนี้หลายคนอาจจะดูเป็นเรื่องพูดเล่น แต่ผมกลับคิดว่า นิสัยในการวิเคราะห์หา ผลตอบแทน – ความเสี่ยง คงฝังอยู่ลึกในสมองของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ทำให้เขาสามารถ “เลือกเสี่ยง” ในการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และมันอาจจะ “ล้น” ออกมาในชีวิตโดยไม่รู้ตัว

ตรงกันข้าม คนไทยจำนวนมาก เลือกเสี่ยงในสิ่งที่ไม่ค่อยจะได้ผลตอบแทนเพราะเราไม่วิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ในอีกด้านหนึ่ง หลายคนคิดว่า ชีวิตที่ปลอดภัยก็คือ “เสี่ยงให้น้อยที่สุด” แต่นี่ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ไม่ดีไปกว่ากันนัก ที่ถูกต้องก็คือ เราต้องเลือก “เสี่ยงอย่างคุ้มค่า” อย่าลืมว่า “ชีวิตคือการบริหารความเสี่ยง” และการ “รับความเสี่ยงน้อยเกินไป” นั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ “เสี่ยงมาก” ก็ได้

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 8 ก.ย.2552

Tuesday, September 1, 2009

บ้าน VI...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บ้านคือวิมานของเรา… นั่นคือเริ่มต้นของเนื้อร้องของเพลงเกี่ยวกับบ้านที่คนรุ่นเก่ามักจะจำและร้องได้ มันสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของคนต่อบ้านที่พักอาศัยว่า บ้านนั้นเป็น “ความฝัน” ที่ทุกคนอยากมี และไม่ใช่แค่อยากมี แต่อยากมีบ้านที่ใหญ่และสวยที่สุดที่เขามีปัญญาจะซื้อได้ ดังนั้น บ้านจึงมักเป็นทรัพย์สินชิ้นใหญ่ที่คนต้องทุ่มเทเงินออมรวมทั้งรายได้จำนวนมากลงไปเพื่อที่จะได้มี “บ้านในฝัน” ที่ต้องการ สำหรับคนจำนวนมาก การผ่อนบ้านเป็นรายจ่ายประจำเดือนที่สูงมากจนทำให้ไม่เหลือเงินเก็บเพื่อการลงทุนอย่างอื่นเลย แต่เขาก็มักจะไม่กังวลอะไรนัก เพราะสำหรับเขา การซื้อบ้านก็คือการลงทุนที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง และถ้าจะว่าไป บ้านนั้น ราคาแทบจะไม่เคยตกลงเลย ดังนั้น การซื้อบ้านจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด


ก่อนที่จะเป็น Value Investor ผมเองก็คิดอย่างนั้น ว่าที่จริงผมเคยซื้อบ้านหรูใหญ่โตอยู่นอกเมืองและต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่มากเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งส่วนตนในขณะนั้นเพื่อที่จะเป็นเงินดาวน์ และต้องผ่อนค่างวดให้กับสถาบันการเงินคิดเป็นรายจ่ายต่อเดือนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินเดือนของตนเอง ผมซื้อทั้ง ๆ ที่มีบ้านหลังเล็ก ๆ ของแม่ยายที่ผมอาศัยอยู่แล้วกลางใจเมืองโดยที่ไม่ต้องซื้อหรือเช่า บ้านหรูหลังนั้นผมไม่เคยได้เข้าอยู่อาศัยเลยเพราะมัน “ไม่มีความสะดวก” เลย เนื่องจากมัน “ไกล” และ “ใหญ่” เกินไป ผมปล่อยบ้านให้เช่าในราคาที่ “ไม่คุ้มค่า” อยู่หลายปี

หลังจากที่เป็น VI แล้ว ผมก็เห็นว่าบ้านหลังนั้นคงจะไม่ใช่ “วิมาน” อีกต่อไป และโอกาสที่จะย้ายเข้าไปอยู่ในระยะเวลาอันใกล้ก็คงมีน้อย ในที่สุดผมก็ขายมันไปและนำเงินมาลงทุนในหุ้น ราคาขายบ้านที่ลงทุนมานับสิบปีแทบจะไม่มีกำไร แต่เงินที่ได้รับและนำมาลงทุนในหุ้นนั้น หลังจากผ่านไป 6-7 ปีเติบโตขึ้นมาก และถ้าผมขายหุ้นและนำกลับไปซื้อบ้านในเวลานี้ ผมอาจจะซื้อบ้านแบบเดียวกันได้ 2 หลัง แต่ผมก็คงไม่ทำ ผมมีบทเรียนแล้ว ถ้าผมจะซื้อบ้านใหม่ ผมจะคิดอีกแบบหนึ่ง และต่อไปนี้คือคำแนะนำสำหรับ VI โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่กำลังคิดจะซื้อบ้าน

ข้อแรกก็คือ ถ้ายังมีบ้านอยู่ เช่นอาศัยอยู่กับพ่อแม่และไม่ได้มีปัญหาเดือดร้อนหรือหนักอกหนักใจหรืออึดอัดใจอะไร ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบหาซื้อบ้าน อย่ากลัวว่าถ้าไม่ซื้อในวันนี้แล้วราคาบ้านจะขึ้นไปสูงจนไม่มีปัญญาที่จะซื้อได้ในอนาคต เพราะราคาบ้านที่อยู่อาศัยนั้น โดยทั่วไปราคาจะปรับตัวขึ้นไปช้า โดยเฉลี่ยไม่น่าจะสูงกว่าเงินเฟ้อมากนักและไม่น่าจะเกินปีละ 3 – 4% ต่อปีโดยเฉลี่ย ในทางตรงกันข้าม การมีบ้านนั้น ทำให้รายจ่ายตามมา บ้านยิ่งใหญ่ก็ยิ่งมีรายจ่ายมาก และการมีรายจ่ายมากนั้นทำให้ความมั่งคั่งลดลง และโอกาสที่จะนำเงินไปลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าก็จะหายไป ดังนั้น ข้อแนะนำของผมก็คือ “พยายามอยู่บ้านฟรีหรือมีค่าใช้จ่ายน้อยให้ยาวนานที่สุด”

ข้อสอง ถ้าจะซื้อบ้าน หลักเกณฑ์การเลือกนั้นต้องเน้นว่า บ้านนั้นต้อง “อย่าไกล” หรือห่างจากที่ทำงานหรือสถานที่ที่คนในครอบครัวต้องเดินทางไปทุกวันมาก เพราะการเสียเวลาเดินทางทุกวันนั้น เป็นต้นทุนที่สูงมากทั้งในด้านของเงินค่าเดินทาง การเสียโอกาสในการทำงานหารายได้ และเรื่องของสุขภาพกายใจ ดังนั้น ทำเลของบ้านจึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการเลือกบ้าน และในกรณีที่เราเลือกคอนโดแทนที่จะเป็นบ้านเดี่ยว เราควรเลือกคอนโดที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินหรือบนดิน โดยที่คำว่าใกล้นั้น ควรจะไม่เกิน 500 เมตร อย่าเลือกที่ระยะทาง “แค่หนึ่งกิโลเมตรจากสถานี” เพราะถ้าเราต้องเดินทุกวัน ค่าเสียเวลาต่อเดือนหรือต่อปีจะสูงมาก

ข้อสาม ซื้อบ้านขนาดที่ “พอดีใช้” นั่นคือมีจำนวนห้องที่เหมาะสมกับสมาชิกในปัจจุบันและอนาคต เช่น ถ้ามีสามี ภรรยา และลูกอีกสองคน ก็เอาแค่ 3 ห้องนอนและอาจจะมีห้องทำงานเล็ก ๆ อีกหนึ่งห้องก็พอแล้ว การมีบ้านที่ใหญ่เกินความจำเป็นนั้น จะทำให้เราต้องลงเงินไปมากในช่วงที่ซื้อและหลังจากนั้นก็จะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลที่จะตามมาตลอดโดยที่เราอาจจะไม่ได้ผลตอบแทนอะไรเลย การมีบ้านใหญ่เกินความจำเป็นยังมักจะทำให้เราต้องจ่ายเงินซื้อของเข้าบ้านมากขึ้นโดยไม่จำเป็นด้วย นี่คือความจริงที่หลายคนอาจจะไม่ได้ตระหนัก แต่ประสบการณ์การมีบ้านเล็กนั้นทำให้ผมพบว่า เราไม่สามารถซื้อเครื่องใช้หรืออุปกรณ์หลาย ๆ อย่างได้ด้วยเหตุผลประการเดียวก็คือ “มันไม่มีที่จะวาง” ดังนั้น การมีบ้านขนาดพอดีใช้จะทำให้เราประหยัดเงินในระยะยาวอีกมาก

ข้อคิดสุดท้ายสำหรับการซื้อบ้านของผมก็คือ อย่าพยายามสร้าง “สาธารณูปโภค” เช่น สระว่ายน้ำหรือสวน ขึ้นใช้เองในบ้าน เพราะมันแพงมากและการดูแลรักษาก็ทำได้ยากและต้นทุนสูง ควรเลือกบ้านที่อยู่ใกล้สาธารณูปโภคที่เราต้องการใช้ซึ่งเป็นของรัฐหรือของคนอื่นที่เราสามารถหาซื้อได้เมื่อเราต้องการใช้จริง ด้วยเหตุนี้ บ้านที่อยู่ใกล้สวนสาธารณะที่เราสามารถพักผ่อนออกกำลังกายได้ทุกวันโดยไม่เสียเวลาเดินทางและไม่เสียเงินจึงเป็นบ้านที่มีคุณค่าสูงและเราอาจจะต้องยอมจ่ายแพงขึ้นได้ และนี่ก็เป็นการเลือกบ้านแบบ VI อีกข้อหนึ่ง

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงข้อพิจารณาบางประการที่ VI ที่กำลังคิดที่จะซื้อบ้านจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ การซื้อบ้านนั้น เป็นการตัดสินใจที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งและความสุขในระยะยาว ดังนั้น เราต้องให้เวลาในการเสาะแสวงหาและจะต้องไม่รีบร้อนถ้าเราต้องบ้านที่เป็น “วิมาน” จริง ๆ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 1 ก.ย.2552