Monday, December 12, 2011

สภาพคล่องของหุ้น

ปัจจัยสำคัญอย่าง หนึ่งของการลงทุนที่ดูเหมือนว่า Value Investor "พันธุ์แท้" จำนวนมากอาจจะไม่พูดถึงเลย ก็คือ สภาพคล่องในการซื้อขายของหุ้น .เหตุผลก็อาจจะเป็นเพราะ นี่คือปัจจัยที่ “ไม่เกี่ยวกับพื้นฐาน” ของกิจการ หนังสือเกี่ยวกับการลงทุนแบบ VI มีน้อยมากที่จะกล่าวถึง สภาพคล่องของหุ้น คนที่สนใจเรื่องสภาพคล่องของหุ้นมากที่สุดน่าจะเป็น นักวิเคราะห์ทางเทคนิคที่มองว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นในแต่ละวันนั้น ถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญสุดยอดที่จะบอกว่าราคาหุ้นจะไปทางไหนในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม หุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น ก็เป็นหุ้นที่นักเทคนิคหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงหรือวิเคราะห์ ว่าที่จริงนักเทคนิคนั้นมองว่าหุ้นประเภทนี้ใช้หลักการทางเทคนิคไม่ได้ด้วย ซ้ำ อย่างไรก็ตาม ในฐานะของ VI ความเข้าใจในเรื่องของสภาพคล่องน่าจะมีประโยชน์พอสมควร และต่อไปนี้ เป็นมุมมองของผมต่อเรื่องสภาพคล่องของหุ้น

ประเด็นแรก ก็คือ สภาพคล่องของหุ้นนั้นมองได้เป็นสองมิติ นั่นคือ มิติแรก มองจากนักลงทุนที่จะซื้อขายหุ้นหรือพูดง่ายๆ มองจากตัวเราเองว่าเรามีเงินลงทุนเท่าไรและจะซื้อหุ้นแต่ละตัวในวงเงิน เท่าไร ตัวอย่างเช่น พอร์ตของเรามีอยู่ 10 ล้านบาท และเราจะไม่ลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกิน 2-3 ล้านบาท แบบนี้ เราก็จะต้องดูว่าหุ้นที่เราสนใจจะลงทุนนั้นมีการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันประมาณ เท่าไร ถ้าพบว่าหุ้นตัวนั้นมีการซื้อขายประมาณวันละเพียงหนึ่งแสนบาท นั่นก็แปลว่าเราอาจจะต้องใช้เวลาในการขายหุ้นให้หมดถึง 20-30 วัน ถ้าเราลงทุนในหุ้นตัวนั้น 2-3 ล้านบาท และสมมติว่าไม่มีคนอื่นขายเลยนอกจากเรา ในสถานการณ์แบบนี้ ก็ต้องถือว่าหุ้นมีสภาพคล่องต่ำเกินไป การซื้อหุ้นอาจจะอันตรายถ้าเราคาดการณ์ผิดและจำเป็นต้องขายทิ้ง เพราะในการขายหุ้นจำนวนมากเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวัน จะทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลงมากอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การซื้อหุ้นแบบนี้เราจะต้องมั่นใจมากว่าราคามันต่ำกว่ามูลค่ามากและเราพร้อม ที่จะถือมันไว้ตลอดไป หรืออย่างน้อยก็ต้องถือได้ 3-5 ปีขึ้นไป นอกจากนั้น ในระหว่างที่ถือหุ้นอยู่ มันควรจะมีปันผลให้เราอย่างน้อย 4-5% ต่อปีโดยไม่ลดลงและมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

มิติที่สองเกี่ยวกับสภาพคล่อง ก็คือ ปริมาณการซื้อขายของหุ้นเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท นี่เป็นการวัดอย่างคร่าวๆ ว่าคนที่เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทนั้น ซื้อแล้วถือไว้นานแค่ไหนโดยเฉลี่ย ตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทมีมูลค่าหุ้นทั้งบริษัทหรือเรียกว่า Market Cap . เท่ากับ 1,000 ล้านบาท และหุ้นของบริษัทมีการซื้อขายในตลาดหุ้นเฉลี่ยวันละ 10 ล้านบาท นี่ก็แปลว่าคนที่ซื้อและถือหุ้นของบริษัทไว้นั้น เขาจะทยอยขายหุ้นและใช้เวลาขายหมดภายใน 100 วัน หรือประมาณ 3 เดือนกว่าๆ หรือพูดอีกแบบหนึ่ง ก็คือ คนที่ลงทุนในบริษัทนี้ โดยเฉลี่ยแล้วลงทุนเพียง 3 เดือนเศษๆ ก็ขายทิ้งแล้ว ไม่ได้เป็นนักลงทุนระยะยาวที่เน้นที่ผลประกอบการและรอกินปันผลที่บริษัทอาจ จะจ่ายปีละครั้ง

คำถามที่อาจจะตามมา ก็คือ คนที่ลงทุนถือหุ้นนั้น ต้องถือไว้นานเท่าไรจึงจะถือว่าเป็นนักลงทุนระยะยาว คำตอบนั้น ก็คือ มันเป็นเรื่องอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนบอกว่า 3 เดือนถือว่ายาว แต่บางคนบอกว่า 3 ปี ถึงจะเรียกว่ายาว อย่างไรก็ตาม เราสามารถพูดโดยเปรียบเทียบได้ เพราะเรามีค่าเฉลี่ยระยะเวลาของการถือหุ้นของบริษัททุกแห่งในตลาดหลักทรัพย์ ในแต่ละปีหรือในแต่ละช่วงเวลา ยกตัวอย่างเช่น มูลค่าหุ้นทั้งหมดในตลาดในช่วงนี้ คือ 8.5 ล้านล้านบาท ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันโดยเฉลี่ยประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จะใช้เวลาขายหุ้นหมดเท่ากับประมาณ 340 วันทำการ หรือคิดเป็นประมาณ 1 ปีกับ 4 เดือน ดังนั้น เราก็สามารถพูดได้ว่า หุ้นตัวไหนที่มีการซื้อขายหุ้นที่ทำให้คนถือหุ้นเฉลี่ยน้อยกว่า 1 ปี 4 เดือน ก็ถือว่าหุ้นตัวนั้นมีผู้ถือที่เป็นนักลงทุนระยะสั้นกว่าค่าเฉลี่ย และหุ้นที่มีการซื้อขายน้อยและทำให้คนถือหุ้นเฉลี่ยเกิน 1 ปี 4 เดือน ถือว่าผู้ถือหุ้นถือหุ้นลงทุนนานกว่าค่าเฉลี่ย

ประเด็นของการถือหุ้นสั้นหรือถือหุ้นยาวของนักลงทุนในหุ้นแต่ละตัว ก็คือ มันเป็นการบอกถึง "ดีกรี" หรืออัตราในการ "เก็งกำไร" ของนักลงทุนในหุ้นแต่ละตัว นั่นก็คือ หุ้นที่มีสภาพคล่องสูงมาก วัดจากปริมาณการซื้อขายต่อวันเทียบกับมูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัท เช่น หุ้นบางตัวที่มีการซื้อขายต่อวันเท่ากับ 100 ล้านบาท ในขณะที่ Market Cap. เท่ากับ 1,000 ล้านบาท ซึ่งแปลว่าผู้ถือหุ้นถือหุ้นลงทุนเพียง 10 วันโดยเฉลี่ยก็ขายทิ้งแล้ว แบบนี้ก็ถือว่าหุ้นตัวนี้เป็นหุ้นที่มีการเก็งกำไรร้อนแรง ตรงกันข้าม หุ้นบางตัวนั้น ผู้ถือหุ้นถือไว้โดยเฉลี่ยถึง 3 ปี แบบนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็นหุ้นที่ไม่มีการเก็งกำไรหรืออาจจะบอกว่าเป็นหุ้นที่คนไม่ สนใจที่จะซื้อขายเนื่องด้วยเหตุผลต่างๆ

เป็นเรื่องยากที่จะขีดเส้นว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้น "เก็งกำไร" และหุ้นตัวไหนไม่มีอาการอย่างนั้น ส่วนตัวผมเอง กำหนดว่า หุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 1% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดถือว่าเข้าข่ายเป็น "หุ้นเก็งกำไร" ยิ่งมากกว่านั้นก็ยิ่งมีการเก็งกำไรสูงเท่านั้น และยิ่งหุ้นมีการเก็งกำไรสูงเท่าไร ราคาหุ้นก็มีแนวโน้มที่จะสูงเกินกว่าราคาที่ควรจะเป็น ดังนั้น โอกาสที่หุ้นเก็งกำไรสูงจะเป็นหุ้น Value จึงมีน้อย ผมจึงมักหลีกเลี่ยงและถ้ามีก็จะขายทิ้ง หุ้นที่เข้าข่ายเก็งกำไรสูงลิ่วกลุ่มหนึ่ง ก็คือ หุ้นที่เพิ่งเข้าซื้อขายหุ้นใหม่ในตลาดหลังจากการทำ IPO ซึ่งมักจะมีปริมาณการซื้อขายสูงมาก ดังนั้น ผมจึงมักหลีกเลี่ยงที่จะลงทุน และถ้าผมได้จองซื้อหุ้นไว้ผมก็มักจะขายทิ้งค่อนข้างเร็ว ถ้าผมสนใจหุ้นเหล่านี้ ผมจะรอจนปริมาณการซื้อขายหุ้นลดลงจนต่ำกว่า 1% ต่อวันซึ่งเป็นจุดที่ผมคิดว่าหุ้นไม่มีการเก็งกำไรมากจนเกินไป

กลับมาที่สภาพคล่องของหุ้นเมื่อเทียบกับขนาดของพอร์ตหรือการลงทุนของเรา ในอดีตที่ผมเริ่มลงทุนใหม่ๆ นั้น ปัญหามีน้อยมาก ผมสามารถลงทุนได้ในหุ้นเกือบทุกตัว เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนที่ยังน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป การลงทุนในหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำมากก็ทำได้ยากลำบากขึ้น เนื่องจากผมไม่สามารถลงทุนเป็นเม็ดเงินมากเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายต่อ วันของหุ้นได้ การลงทุนด้วยเงินที่น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับพอร์ตโดยรวมนั้น ทำให้เราจะต้องหาหุ้นลงทุนจำนวนมากตัวซึ่งจะทำให้พอร์ตของเราไม่ Focus หรือไม่มีจุดเน้นกลายเป็น "เบี้ยหัวแตก" และทำให้ผลตอบแทนของเราต่ำลง เนื่องจากเราจะไม่เอาใจใส่กับมันเท่าที่ควร ดังนั้น ในระยะหลังๆ ผมก็มักจะหลีกเลี่ยงถ้าหุ้นมีสภาพคล่องน้อยเกินไป และนี่ก็เกิดขึ้นเฉพาะในหุ้นตัวเล็กๆ ทั้งหลายซึ่งบางครั้งเป็นหุ้นที่ดีและเป็นหุ้น Value หุ้นเหล่านี้บางตัวอาจจะให้ผลตอบแทนได้เป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลาอันสั้นได้ และนั่นก็เป็นข้อได้เปรียบของ VI ที่ยังมีพอร์ตไม่ใหญ่นักเมื่อเทียบกับนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะสถาบันการลงทุนเช่นกองทุนรวมที่มีข้อจำกัดมากกว่า และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พอร์ตเล็กนั้นโตวัยกว่าพอร์ตใหญ่เมื่อ องค์ประกอบอย่างอื่นเช่นความสามารถในการลงทุนและการกล้ารับความเสี่ยงของนัก ลงทุนเท่ากัน


บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 13 ธันวาคม 2554

หวยนายกฯ ปู

กิจกรรม “ทางการเงิน” ที่คึกคักที่สุด “ตลอดกาล” ของคนไทยที่เรียกกันว่า “รากหญ้า” ก็คือ การเล่นหวยและลอตเตอรี่.สมัยที่ผมเรียนจบปริญญา ตรีใหม่ๆ และไปทำงานเป็นวิศวกรโรงงานในต่างจังหวัดกว่า 30 ปีมาแล้วนั้น ทุกครั้งที่มีการออกหวย คนที่ถูกรางวัลก็จะดีใจจนไม่เป็นอันทำงาน ส่วนคนจำนวนมากที่ “ถูกกิน” ก็จะเสียใจจนไม่เป็นอันทำงานเหมือนกัน สรุปแล้วในวันหวยออกนั้น ประสิทธิภาพการทำงานของคนงานจะตกลงไปอย่างเห็นได้ชัด ผมเองไม่ได้เล่นหวย แต่เพื่อนวิศวกรบางคนนั้นซื้อลอตเตอรี่เป็นประจำ เหตุผลของเขาก็คือ อย่างน้อยก็ทำให้มีความหวังว่าจะรวยได้แม้จะมีโอกาสเพียงน้อยนิด ถ้าไม่ซื้อแล้วจะรวยได้อย่างไร? คิดดูแล้วก็จริง ในสมัยก่อนนั้น การเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนไม่มีทางรวย ไม่เหมือนสมัยนี้ที่เรามีตลาดหุ้นที่เป็น “หนทางรวย” อีกทางหนึ่งของคนกินเงินเดือน นอกเหนือไปจากลอตเตอรี่

ในอดีตนั้น ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเกจิอาจารย์สำคัญ ทางศาสนา ก็จะมีการเก็งเลขเด็ดเพื่อไป “แทงหวย” กัน หลายครั้งหวยก็ออก “ตรง” จนน่าทึ่ง บางครั้งเลขที่ออกก็อาจจะ “สลับ” ตัวกันบ้าง คนจำนวนมากเชื่อว่า “พระอาจารย์ให้หวย” บางครั้งก็ให้ตรงๆ บางครั้งเราก็ต้อง “ตีความ” แต่ประเด็นสำคัญก็คือท่านคงรู้หรือมีอิทธิพลต่อเลขที่จะออกในงวดหน้าจริงๆ และถ้าเราอ่านใจท่านได้ถูกต้อง โอกาสถูกรางวัลก็มีสูง

ในช่วงนี้หวยนั้นรู้สึกว่าจะมาลงที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย เหตุการณ์ก็คือ เริ่มมีคนสังเกตเห็นว่าหมายเลขที่ออกนั้น “ตรง” กับตัวเลขหลายอย่างเกี่ยวกับนายกฯ ปูอย่างไม่น่าเชื่อ เริ่มตั้งแต่หมายเลขทะเบียนรถของนายกฯ ลำดับของการเป็นนายกฯ ของไทย อาจจะมีเรื่องของบ้านเลขที่ของบ้านนายกฯ วันเกิดนายกฯ และล่าสุดหลังจากที่เลขออกมา “ถูก” หลายงวด อะไรที่เกี่ยวกับนายกฯ ปูและมีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ห้องพักฟื้นในโรงพยาบาลที่นายกฯ ป่วยและต้องเข้าใช้บริการก็กลายเป็นตัวเลขที่คนเอาไปแทงกันมากจนราคาของสลาก ที่มีเลขท้ายตรงกันปรับตัวสูงขึ้นเป็นสองร้อยบาทต่อใบเป็นต้น

ผมคงไม่ต้องพูดย้ำว่าหมายเลขที่ออกกับตัวเลขที่ติดอยู่หรือเกี่ยวข้องกับ นายกฯ ปูนั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน หมายเลขที่ออกจากกองสลากนั้น เป็นหมายเลขที่เรียกว่า Random หรือออกโดยไม่มีรูปแบบอิงกับอะไรทั้งสิ้น ดังนั้นไม่มีใครสามารถกำหนดหรือคาดเดาได้ การที่ตัวเลขไปตรงกับหมายเลขบางตัวที่เกี่ยวกับนายกฯ ปูนั้นเป็นเรื่องบังเอิญเท่านั้น หรือบางทีมันก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันเป็นเรื่องที่เราไปหาตัวเลขที่เกี่ยวกับนายกฯ ปูที่มันตรงกับรางวัลเลขท้ายหลังจากที่เลขมัน “ออกมาแล้ว” ตัวอย่างเช่น เลขที่ออกคือ 28 คนก็พยายามไปหาว่ามีตัวเลขไหนที่เกี่ยวข้องก็พบว่านายกฯ ปูเป็นนายกฯ คนที่ 28 แล้วก็ไปสรุปว่าเลขออกมาตรงทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่มีใครพูดถึง เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ นายกฯ ปูนั้น มีตัวเลขที่เกี่ยวข้องจำนวนมากเผลอๆ ถ้านับจริงๆ อาจจะเป็น 100 หมายเลข เอาเฉพาะรถยนต์ก็มีน่าจะเกือบ 10 คัน ที่มีหมายเลขทะเบียนรถติดอยู่ วันที่เกี่ยวข้องเช่นวันเกิดตัวเองและคนในครอบครัว วันรับตำแหน่ง ต่างๆ ก็น่าจะมีเป็น 10 วัน เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งทำให้รางวัลเลขท้ายสองตัวที่ออกอย่างไรเสียก็ต้องตรงกับหมายเลขใดหมาย เลขหนึ่ง ดังนั้น เรื่อง “นายกฯ ปูให้หวย” จึงไม่ใช่เรื่องจริงและไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์แต่เป็นเรื่องของความบังเอิญและ เป็นเรื่องของการเล่นข่าวเท่านั้น

เทคนิคในการทำเรื่องบังเอิญหรือเรื่องที่ไม่ได้มีเหตุมีผลที่สัมพันธ์กัน ให้เป็นเรื่อง “มหัศจรรย์” หรือน่าทึ่งแบบเรื่องหวยที่กล่าวถึงยังมีอีกมาก หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของ เทคนิคหรือวิธีในการ “สร้างความสำเร็จ” ซึ่งผมเคยอ่านมามากมายแต่หลายเรื่องผมคิดว่ามันไม่น่าจะจริงแต่เป็นเรื่อง ของ “ความลำเอียง” ที่เรามักจะนับเฉพาะคนที่สำเร็จแต่ไม่นับคนที่ล้มเหลวจากเทคนิค ตัวอย่างเรื่องที่ผมเคยอ่านพบนั้นบอกว่าถ้าคุณอยากได้อะไรหรืออยากรวยแค่ไหน นั้น คุณแค่คิดว่าอยากได้ ไม่ต้องใช้ความพยายามหรือหาวิธี หลังจากนั้นสิ่งที่คุณต้องการก็จะมาภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน เสร็จแล้วก็จะมีคนมาบอกว่าเขาทำได้จริงๆ โดยวิธีนี้ ประเด็นไม่ใช่ว่าเขาโกหก แต่อาจจะเป็นว่าคนที่คิดมีเป็นหมื่นเป็นแสนคน คนที่ทำได้อาจจะมีเพียง 1 หรือ 2 คน ที่มาบอกว่าเทคนิคใช้ได้ ส่วนคนเป็นหมื่นที่ทำไม่ได้นั้นไม่ได้มาบอก ดังนั้น ถ้าวิเคราะห์จริงๆ ก็น่าจะเป็นว่าคนที่คิดแล้วได้เงินจริงๆ นั้น เขาได้มาโดยบังเอิญไม่เกี่ยวกับเทคนิค ส่วนเทคนิคนั้นใช้ไม่ได้เลย


กลับ มาที่เรื่องของการลงทุนในหุ้น เทคนิคการลงทุนนั้นมีผู้คิดและนำเสนอมากมายนับไม่ถ้วน จำนวนมากอ้างว่าเป็นเทคนิค “มหัศจรรย์” สามารถทำเงินเป็นร้อยเป็นพันล้านบาทได้ คนที่ใช้นั้นอาจจะมีจำนวนมากหรือน้อยเท่าใดก็ยากที่จะนับ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร คนที่ใช้แล้วไม่ได้ผลหรือขาดทุนจะไม่ออกมาพูดอธิบายอะไรเลย บางทีเขาอาจจะคิดว่าเทคนิคนั้นถูกต้องแต่การใช้ของเขานั้นผิดหรือความรู้ของ เขาไม่เพียงพอ ดังนั้นเขาไม่ประสบความสำเร็จ คนที่ประสบความสำเร็จและอยากพูดนั้น มักจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ทำผลตอบแทนได้สูงมากในเวลาอันสั้น ภาพที่เขาฉายออกไปอาจทำให้ดูเหมือนกับว่าเทคนิคที่ใช้นั้นมหัศจรรย์ แต่ความเป็นจริงอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือเป็นเหตุผลอื่น หรืออาจจะเป็นเรื่องของเทคนิคที่บังเอิญเหมาะกับสถานการณ์ในขณะนั้น การนำเทคนิคไปใช้สำหรับคนอื่นและเวลาอื่น อาจจะไม่ได้ผล ว่าที่จริงเป็นเรื่องยากมากที่จะพิสูจน์ว่ามีเทคนิคอะไรที่สามารถจะทำแล้ว ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ในเรื่องของการลงทุนในหุ้น

ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ โลกเรานี้มีสิ่งที่ไม่มีคุณค่าหรือเป็น “อวิชา” ที่ถูกนำมา “ขาย” ให้เป็นสิ่ง “มหัศจรรย์” ทั้งโดยคนที่หลอกลวงและคนที่เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่ามันเป็นสิ่งที่วิเศษ หลายสิ่งนั้นไม่ได้มีต้นทุนอะไรและก็ไม่ได้ทำให้ “คนซื้อ” เดือดร้อนหรือเสียหายนี่ก็คงไม่เป็นปัญหานัก แต่หลายอย่างมี “ต้นทุน” ที่สูงมาก เช่น เราซื้อหุ้นด้วยเทคนิคที่เราคิดว่าดีแต่จริง ๆ ใช้ไม่ได้ซึ่งทำให้เราขาดทุนหนัก เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่เราได้ยินว่ามี “สิ่งมหัศจรรย์ใหม่” เราควรที่จะพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจริงไหม? จากประสบการณ์ของผมพบว่า เกือบทั้งหมดไม่ใช่เรื่องจริง

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 6 ธันวาคม 2554

หนังสือการลงทุน

สองสามปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ ต้องถือว่าเป็นยุคทองของการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้น สูงลิ่วเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ .ผลจากความเฟื่องฟูของ ตลาดทำให้นักลงทุนสามารถทำกำไรจากตลาดหุ้นมหาศาล บางคนกลายเป็นคนร่ำรวย หรือเป็น "เศรษฐี" จากการซื้อขายหุ้น หลายคนอายุยังน้อยและไม่ได้ลงทุนมานานนัก หุ้นกลายเป็น "สิ่งมหัศจรรย์" ที่ทำให้คนรวยได้ง่ายดาย โดยไม่ต้องทำงานหนัก "ฮีโร่" นักลงทุนเกิดขึ้นคนแล้วคนเล่า เช่นเดียวกับ "อัจฉริยะ" ด้านการลงทุน ทั้งหมดนี้ดึงดูดให้ผู้คนจำนวนมาก หันมาสนใจการลงทุนในหุ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และสิ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ "หนังสือการลงทุน" ที่ออกมามากมาย และมียอดขายติดอันดับหนังสือขายดี บางช่วงและบางร้าน ว่ากันว่าจำนวนหนังสือขายดี 20 อันดับ เป็นหนังสือการลงทุนถึง 4-5 เล่ม ลองมาดูว่าหนังสือเหล่านี้เป็นอย่างไร


หนังสือการลงทุนที่ขายดีและมีจำนวนมากที่สุด คือ หนังสือ "แนว VI" หรือแนวเน้นคุณค่า เพราะนี่คือแนวการลงทุนที่กำลังได้รับความนิยมสูง เพราะเป็นวิธีการลงทุนที่มีเหตุมีผลอธิบายให้เข้าใจได้ตามหลัก "วิทยาศาสตร์" แต่ที่สำคัญ คือ เป็นแนวการลงทุนที่ใช้ โดยนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ "สูงที่สุด" ของโลก อย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์ นี่คือวิธีการลงทุนที่ Value Investor ของไทยจำนวนมากใช้แล้วประสบความสำเร็จ สร้างผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ จนหลายคนกลายเป็นเศรษฐีและบางคน เขียนเป็นหนังสือเผยแพร่วิธีการที่ตนเองใช้แล้วประสบความสำเร็จ


กลุ่มหนังสือแนว VI กลุ่มแรกเป็นหนังสือแปล ที่มักจะเรียบเรียงจากหนังสือที่มีชื่อเสียงขายดีระดับโลก เน้นหลักการและวิธีการลงทุนของนักลงทุนมืออาชีพ และยังมีหนังสือที่เขียนโดยนักวิชาการที่ศึกษาการลงทุน และส่วนมากอาจเกี่ยวข้องกับการลงทุน เช่น หนังสือของ เบน เกรแฮม และฟิลิปส์ ฟิสเชอร์ เป็นต้น หนังสือเหล่านี้ ส่วนใหญ่ให้ความรู้ และหลักการที่ผมคิดว่าเป็นมาตรฐานสูง ได้รับการพิสูจน์มาช้านานในระดับโลก ซึ่งบ่อยครั้งเจ้าตัวไม่ได้เขียนเอง ดังนั้นการวิเคราะห์ตีความจึงอาจจะผิดเพี้ยนไปได้ และทำให้คนอ่านเข้าใจผิดได้เหมือนกัน และหนังสือแปลอาจทำให้ความสละสลวย และความราบรื่นของภาษาลดลง เช่นเดียวกัน สภาพแวดล้อมที่แตกต่าง รวมถึงตัวหุ้นที่อาจกล่าวถึงเป็นสิ่ง "ไกลตัว" ทำให้ความ "น่าอ่าน" ลดลง หนังสือแปลนั้น มักมีการ "คัดสรร" มาหลายชั้น ดังนั้น ความ"เสียหาย" หรือ "เสียเวลา" จากการอ่านน่าจะมีไม่มาก


หนังสือ "แนว VI" ที่เขียนขึ้นเอง โดยนักเขียนไทยเริ่มมีมากขึ้น ความที่เขียนโดยคนไทย และเขียนโดยอิงและใช้ข้อมูลในตลาดหุ้นไทย ทำให้หนังสือน่าสนใจ และเราก็คิดว่า นี่คือหนังสือที่บอกวิธีและน่าจะใช้ได้กับหุ้นไทยมากกว่าหนังสือแปลที่อิง หุ้นและตลาดต่างประเทศเป็นหลัก นี่คือจุดแข็ง นักเขียนไทยส่วนใหญ่มักเป็น "นักเขียน" ดังนั้นสิ่งที่เขียนจึงจะมาจากการศึกษา "ศาสตร์ด้านการลงทุน" มากกว่าเป็นเรื่องประสบการณ์จริงในการลงทุน แต่ปัญหาใหญ่คือ ไม่มี "ศาสตร์" ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การเขียนเรื่องการลงทุนจำนวนไม่น้อย จึงมักใช้หลักการซึ่งเป็นที่ยอมรับหลายๆ อย่าง ผสมผสานกับจินตนาการของผู้เขียน ถ้าเราอ่านโดยคิดว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้องและเราเชื่อ ความคิดเราจะผิดไปโดยไม่รู้ตัว


แม้แต่นักเขียนที่เป็นนักลงทุนที่ "ประสบความสำเร็จสูง" (รวมถึงผมด้วย) ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้สิ่งที่เขียนถูกต้อง เหตุผลคือ ความสำเร็จที่เกิดขึ้น อาจ "ฟลุ้ค" หรือเป็นเรื่องที่ "รับความเสี่ยงมากกว่าปกติ" นั่นคือ วิธีการหรือกลยุทธ์ที่อ้างว่าสร้างผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม อาจจะดีเพราะเป็นช่วงเวลาที่ตลาด หรือหุ้นบางประเภทเหมาะสมกับกลยุทธ์แบบนั้น แต่ถ้านำไปใช้ในอีกสถานการณ์หนึ่งผลตอบแทนอาจจะไม่ดีก็ได้ เช่น หุ้น "VI" อาจให้ผลตอบแทนสูงช่วงที่ผ่านมา 10 ปี แต่ในอนาคต 10 ปีข้างหน้าอาจให้ผลตอบแทนต่ำ ตลาดหุ้นที่ก่อตั้งมายาวนานอย่างในอเมริกาก็พบว่าบางช่วง หุ้น "VI" ให้ผลตอบแทนย่ำแย่เมื่อเทียบกับหุ้นแบบอื่น ดังนั้นการอ่านหนังสือที่เขียนโดยนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นไทย จริงๆ ก็ไม่จำเป็นที่เราต้องเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ เขาสำเร็จจริงหรือไม่ ทำมานานแค่ไหน มีโอกาสแค่ไหนที่ความบังเอิญ หรือรับความเสี่ยงสูงเกินไป เป็นต้น
หนังสือกลยุทธ์การลงทุนอีกกลุ่ม หนึ่งที่วางขายกันมาก คือแนว "เทคนิค" นี่คือหนังสือที่บอกว่า จะใช้จังหวะเข้าซื้อขายหุ้นตอนไหน ซึ่งจะบอกจังหวะ "เข้าตลาด" นั่นคือเข้าไปซื้อหุ้นในตลาด โดยดูจากดัชนีและปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดโดยรวม และจังหวะเข้าซื้อหุ้นเป็นรายตัวโดยดูจาก "สัญญาณ" เกี่ยวกับตัวหุ้นโดยเฉพาะราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นตัวนั้นที่ผ่านมา


ปัญหาของหนังสือแนวเทคนิคคือ มักเขียนจาก "สิ่งที่ผ่านมาแล้ว" ที่สอดคล้องกับความคิดและวิธีการของตน เพื่อสรุปแนวทางของตนถูกต้อง ส่วนที่ไม่ตรงนั้นไม่ถูกกล่าวถึง ดังนั้นถ้าเรานำวิธีการนั้นไปใช้กับหุ้นตัวใหม่ หรือในสถานการณ์ใหม่ เราอาจจะผิดได้ง่ายๆ แม้แต่หลักการที่มีการแปลมาจากหนังสือต่างประเทศ "ไม่นิ่ง" นั่นคือ ช่วงเวลาหนึ่งวิธีหนึ่งอาจใช้ได้ผล แต่เมื่อเวลาผ่านไป วิธีนั้นก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป หนังสือเกี่ยวประเภทนี้ ผมคิดว่าคนอ่านต้องเข้าใจ อาจไม่ใช่ของจริง และมีวงจรชีวิตสั้น


หนังสือแนวสุดท้ายที่เขียนกันมาก คือ "การบริหารเงินส่วนบุคคล" หนังสือแนวนี้ พูดถึงการออมเงินและจัดสรรเงินลงทุนตามหลักวิชาการ ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การกระจายความเสี่ยงของการลงทุน โดยการกระจายการลงทุนไปในหลายๆ ทรัพย์สินเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทน นี่คือหนังสือที่ไม่ได้เน้น "นักลงทุนผู้มุ่งมั่น" ที่อยากจะรวยจากการลงทุน แต่เน้นคนชั้นกลางธรรมดาที่ต้องการผลตอบแทนที่ดีขึ้น กับเงินที่เก็บออมเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณ หนังสือแนวนี้จะเป็นประโยชน์ โดยเข้าใจถึงการบริหารเงินที่เน้นความปลอดภัยและใช้ชีวิตที่ไม่เครียดกับการ ลงทุน


ข้อสรุปสุดท้ายของผม คือ การอ่านหนังสือการลงทุน เราต้องเลือกอ่านอย่าง "ชาญฉลาด" ถ้าเลือกผิด หรือไม่เข้าใจข้อจำกัด เราอาจเสียเวลา หรือถ้าเลวร้ายก็จะได้ความรู้ที่ผิด ซึ่งจะเป็นอันตรายกับการลงทุน การเลือกหนังสือลงทุน ผมคิดว่า ต้องทำเหมือนกับการเลือกหุ้นลงทุน คือเลือกหนังสือให้ถูก ถ้าทำได้ ความสำเร็จก็เกินครึ่งไปแล้ว

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2554

คิดแบบ VI

สิ่งสำคัญที่สุดของการลงทุน คือ ความคิด ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอะไร ที่ความสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับความคิดมากเท่ากับ การลงทุน คำพูดที่ว่า "คิดแล้วรวย" เป็นความจริงที่สุดในเรื่องการลงทุนเมื่อเราคิดถูก แต่ถ้าคิดผิด นอกจากจะไม่รวยแล้ว เราก็จะจนลงด้วย ดังนั้น หากจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ต้องคิดให้ถูก แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ควรรู้ว่าคิดอย่างไรหรือคิดแบบไหน ข้อเสนอของผมคือ ถ้าจะรวยจากตลาดหุ้นแบบ Value Investor ควรจะคิดแบบ VI ซึ่งมีวิธีคิดดังนี้

ข้อแรก สำคัญมาก คือ ความคิดของเราต้องไม่ลำเอียง เพราะถ้าเราลำเอียงแล้ว เราจะคิดผิดได้ง่าย ความลำเอียงมักเกิดขึ้นจากความรู้สึกชอบ หรือเกลียด ที่มีต่อสิ่งที่เราคิด เกิดจากการเลี้ยงดูอบรม และยังอาจเกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้คิดเอง แต่ถูกชักนำโดยคนอื่นที่มีความคิดที่ลำเอียง

ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราเป็นคนที่มีฐานะค่อนข้างดี มักจะใช้สินค้าที่มีคุณภาพสูง มีบริการดี ดังนั้นจึงมักจะเข้าห้างที่เน้นขายสินค้าในระดับเดียวกัน เรารู้สึกพอใจกับสินค้าและบริการ แม้ราคาจะสูงขึ้นบ้าง สรุปว่าห้างนี้ "ดี" แต่บางครั้ง เราไปห้างที่ขายสินค้าให้กับคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเรา เราก็พบว่าสินค้าที่ต้องการมี "ไม่ค่อยครบ" คุณภาพก็ "ดูไม่ดีไ บริการก็ "ไม่ประทับใจ" เรารู้สึกว่าห้างนี้ "ไม่ดี" ถ้าไม่จำเป็นคงไม่มาใช้บริการ และใจก็คงคิดว่า คนอื่นจะคิดเหมือนเรา เราลืมไป หรืออาจไม่ทันคิดว่า ราคาสินค้านั้น อาจถูกกว่าร้านที่เราใช้ประจำ แต่ถึงจะรู้ ก็ "ไม่น่าสนใจ" คนอื่นคงไม่สนใจเหมือนกัน ว่าที่จริง เวลาที่คุยกับคนอื่นที่เป็นเพื่อนกัน เขามีความเห็นคล้ายๆ กันว่าห้างแรกดีแต่ห้างหลังห่วย สิ่งนี้ยืนยันกับเราว่า ความคิดของเราเกี่ยวกับสถานะของห้างทั้งสองแห่งถูกต้อง แต่เราลืมคิดไปว่า คนที่เราคุยด้วย มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมคล้ายๆ กับเรา เขาเองก็ลำเอียง ถ้าไปคุยกับคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเรา อาจจะได้อีกภาพหนึ่งที่ตรงกันข้าม นั่นคือ "ห้างหลังดีกว่าห้างแรก" น้อยครั้งที่เราจะได้คุยกับคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ต่างกับเรามากถ้าคุณไม่ตั้งใจจริงๆ

คิดแบบ VI ข้อสอง ผมคิดว่าต้อง คิดยาว และหลายชั้น มองทะลุให้เห็น "พื้นฐาน" จริงๆ เหตุผลคือ สิ่งที่เห็นชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นผล หรือเป็นเรื่องปลายทาง หรือบางทีเป็น "ยอดของภูเขาน้ำแข็ง" ที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำทะเล ถ้าวิเคราะห์เฉพาะสิ่งที่เห็น จะไม่เข้าใจพลัง หรือปัจจัยสำคัญที่กำหนดให้เป็นอย่างนั้น การวิเคราะห์ย้อนหลังจนถึงพื้นฐานสำคัญอย่างเดียวไม่พอ ต้องวิเคราะห์ต่อไปข้างหน้า หรือมองไปในอนาคตด้วยว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าพื้นฐานไม่แน่น อนาคตคงไม่แน่นอน ตรงกันข้าม ถ้าพื้นฐานใหญ่มาก อนาคตคงยากที่จะเปลี่ยนได้ง่าย ลองนึกภาพดูว่า ถ้าเห็นก้อนน้ำแข็งอยู่เหนือน้ำ อาจเป็นก้อนน้ำแข็งที่ไม่มีฐานเลยและพร้อมจะล่องลอยไปมา หรืออาจเป็นปลายภูเขาน้ำแข็งที่ไม่มีทางเคลื่อนไปไหนได้เลยก็ได้

การคิดยาวและหลายชั้น จะทำให้รู้ว่า การเติบโตและผลประกอบการของบริษัทในระยะยาวจะเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้เราตัดสินใจได้ว่าหุ้นของบริษัทคุ้มค่าไหม เมื่อเทียบกับราคาหุ้นที่เห็นด้วยความมั่นใจที่สูง เพราะมีพื้นฐานแข็งแกร่งและใหญ่โตรองรับ ตรงกันข้าม ถ้าวิเคราะห์พบสิ่งที่เราเห็น แม้ดูยิ่งใหญ่ แต่พื้นฐานจริงๆ ง่อนแง่น อนาคตยากที่จะทำนาย แบบนี้การลงทุนก็เสี่ยง การให้มูลค่าก็ต้องไม่สูง และเราต้องเข้าใจถ้าจะซื้อหุ้น ก็อาจเป็นเรื่อง "เก็งกำไร"

คิดแบบ VI ข้อสาม คือ คิดเรื่องการแข่งขัน นี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะธุรกิจทุกประเภท โดยเนื้อหาจริงๆ แล้ว คือการแข่งขัน "ผู้ชนะ" มักจะร่ำรวยมั่งคั่งและเติบโตขึ้น "ผู้แพ้" จนลง หรือล้มหายตายจากไป ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจ แทบทุกอย่างที่มีชีวิตในโลกนี้ต่างต้องแข่งขัน หรือต่อสู้เอาตัวรอดและเติบโตขึ้น คนบางคนหรือบางธุรกิจอาจบอกว่า "ไม่ต้องหรือไม่ได้แข่งขันกับใคร" นี่เป็นคำพูดที่มีความเป็นจริงน้อยมาก เขาอาจไม่ตระหนักว่า กำลังแข่งขัน เพราะไม่มีคู่แข่งให้เห็นชัดเจน เช่น ดารานักแสดง ในชีวิตอาจดูเหมือนไม่ได้แข่งประกวดกับใคร แต่จริงๆ แล้วทุกคนแข่งขันกันหนักมากในการที่จะ "แย่งชิงคนดู"

การวิเคราะห์โดยใช้โมเดลการแข่งขัน จะทำให้เรารู้และเข้าใจธุรกิจและชีวิตที่ดีขึ้นมาก ประเด็นสำคัญ คือ ทำให้รู้ว่าใครเฟื่องฟูและใครตกต่ำในอนาคต หัวใจคือ คนที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง เพราะมีความ "ได้เปรียบ ก็จะเติบโต ส่วนคนที่เสียเปรียบก็ถดถอย หน้าที่ของเรา คือ วิเคราะห์หรือค้นหาว่า อะไรทำให้การแข่งขันแต่ละเรื่องเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ได้เปรียบและสิ่งนั้นเป็นเรื่องที่คงทนถาวรแค่ไหน เช่น ถ้าเป็นการแข่งขันของดารานักแสดง ปัจจัยสำคัญ คือ ความสวย หรือความหล่อและรูปร่างที่สูงเพรียวได้สัดส่วน หรือถ้าเป็นธุรกิจ ก็คือ ขนาด นั่นคือ บริษัทขนาดใหญ่กว่าคู่แข่งมาก จะได้เปรียบค่อนข้างมาก เป็นต้น

คิดแบบ VI ข้อสุดท้ายที่ผมจะพูด คือ การคิดโดยตัดอารมณ์ร่วมหรืออารมณ์หมู่ ที่ขยายความรุนแรงของปัญหา หรือทำให้ภาพดูสดใสเกินจริง ที่ชัดเจนที่สุด คือวิกฤติทั้งหลาย เช่น วิกฤติเศรษฐกิจ การเมือง และวิกฤติภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้น สิ่งๆ เหล่านี้ ช่วงที่กำลังเกิดขึ้น คนมักจะกล่าวถึง และวิจารณ์กัน ซึ่งส่วนมากจะมองภาพที่เลวร้ายสุดๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็มักจะพบว่า ผลกระทบนั้นไม่ได้รุนแรงเท่ากับที่พูด หรือคาดกัน ลองนึกย้อนหลังตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่เราสงสัยกันตอนนั้นว่า ประเทศไทยจะรอดหรือไม่ ไล่มาจนถึงปัญหาทางการเมืองที่รุนแรง จนคนคิดว่าเมืองไทยจะหมดอนาคตไม่มีใครมาลงทุน การปิดสนามบินที่คนพูดกันว่าความเสียหายหลายแสนล้านบาท

ทุกอย่างที่พูดถึง นับถึงวันนี้ผมมองว่า เราผ่านมาได้โดยที่ความเสียหายต่ำกว่าที่เคยกลัวกัน ล่าสุดขณะนี้ที่คนบอกว่าความเสียหายจะมโหฬาร จนทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงค่อนข้างมาก ซึ่งก็คงจะต้องดูกันต่อไปว่าเป็นจริงแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่า VI ไม่ควรคิดตามคนหมู่มากที่กำลังอยู่ในอารมณ์ร่วมที่รุนแรง ตรงกันข้าม เราควรคิดว่าในสถานการณ์แบบนี้ อาจเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นจากการที่คนกลัวเกินเหตุ ทำให้หุ้นมีราคาตกลงมามากเกินกว่าความเสียหายก็ได้

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2554