หนังสือการลงทุนที่ขายดีและมีจำนวนมากที่สุด คือ หนังสือ "แนว VI" หรือแนวเน้นคุณค่า เพราะนี่คือแนวการลงทุนที่กำลังได้รับความนิยมสูง เพราะเป็นวิธีการลงทุนที่มีเหตุมีผลอธิบายให้เข้าใจได้ตามหลัก "วิทยาศาสตร์" แต่ที่สำคัญ คือ เป็นแนวการลงทุนที่ใช้ โดยนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ "สูงที่สุด" ของโลก อย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์ นี่คือวิธีการลงทุนที่ Value Investor ของไทยจำนวนมากใช้แล้วประสบความสำเร็จ สร้างผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ จนหลายคนกลายเป็นเศรษฐีและบางคน เขียนเป็นหนังสือเผยแพร่วิธีการที่ตนเองใช้แล้วประสบความสำเร็จ
กลุ่มหนังสือแนว VI กลุ่มแรกเป็นหนังสือแปล ที่มักจะเรียบเรียงจากหนังสือที่มีชื่อเสียงขายดีระดับโลก เน้นหลักการและวิธีการลงทุนของนักลงทุนมืออาชีพ และยังมีหนังสือที่เขียนโดยนักวิชาการที่ศึกษาการลงทุน และส่วนมากอาจเกี่ยวข้องกับการลงทุน เช่น หนังสือของ เบน เกรแฮม และฟิลิปส์ ฟิสเชอร์ เป็นต้น หนังสือเหล่านี้ ส่วนใหญ่ให้ความรู้ และหลักการที่ผมคิดว่าเป็นมาตรฐานสูง ได้รับการพิสูจน์มาช้านานในระดับโลก ซึ่งบ่อยครั้งเจ้าตัวไม่ได้เขียนเอง ดังนั้นการวิเคราะห์ตีความจึงอาจจะผิดเพี้ยนไปได้ และทำให้คนอ่านเข้าใจผิดได้เหมือนกัน และหนังสือแปลอาจทำให้ความสละสลวย และความราบรื่นของภาษาลดลง เช่นเดียวกัน สภาพแวดล้อมที่แตกต่าง รวมถึงตัวหุ้นที่อาจกล่าวถึงเป็นสิ่ง "ไกลตัว" ทำให้ความ "น่าอ่าน" ลดลง หนังสือแปลนั้น มักมีการ "คัดสรร" มาหลายชั้น ดังนั้น ความ"เสียหาย" หรือ "เสียเวลา" จากการอ่านน่าจะมีไม่มาก
หนังสือ "แนว VI" ที่เขียนขึ้นเอง โดยนักเขียนไทยเริ่มมีมากขึ้น ความที่เขียนโดยคนไทย และเขียนโดยอิงและใช้ข้อมูลในตลาดหุ้นไทย ทำให้หนังสือน่าสนใจ และเราก็คิดว่า นี่คือหนังสือที่บอกวิธีและน่าจะใช้ได้กับหุ้นไทยมากกว่าหนังสือแปลที่อิง หุ้นและตลาดต่างประเทศเป็นหลัก นี่คือจุดแข็ง นักเขียนไทยส่วนใหญ่มักเป็น "นักเขียน" ดังนั้นสิ่งที่เขียนจึงจะมาจากการศึกษา "ศาสตร์ด้านการลงทุน" มากกว่าเป็นเรื่องประสบการณ์จริงในการลงทุน แต่ปัญหาใหญ่คือ ไม่มี "ศาสตร์" ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การเขียนเรื่องการลงทุนจำนวนไม่น้อย จึงมักใช้หลักการซึ่งเป็นที่ยอมรับหลายๆ อย่าง ผสมผสานกับจินตนาการของผู้เขียน ถ้าเราอ่านโดยคิดว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้องและเราเชื่อ ความคิดเราจะผิดไปโดยไม่รู้ตัว
แม้แต่นักเขียนที่เป็นนักลงทุนที่ "ประสบความสำเร็จสูง" (รวมถึงผมด้วย) ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้สิ่งที่เขียนถูกต้อง เหตุผลคือ ความสำเร็จที่เกิดขึ้น อาจ "ฟลุ้ค" หรือเป็นเรื่องที่ "รับความเสี่ยงมากกว่าปกติ" นั่นคือ วิธีการหรือกลยุทธ์ที่อ้างว่าสร้างผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม อาจจะดีเพราะเป็นช่วงเวลาที่ตลาด หรือหุ้นบางประเภทเหมาะสมกับกลยุทธ์แบบนั้น แต่ถ้านำไปใช้ในอีกสถานการณ์หนึ่งผลตอบแทนอาจจะไม่ดีก็ได้ เช่น หุ้น "VI" อาจให้ผลตอบแทนสูงช่วงที่ผ่านมา 10 ปี แต่ในอนาคต 10 ปีข้างหน้าอาจให้ผลตอบแทนต่ำ ตลาดหุ้นที่ก่อตั้งมายาวนานอย่างในอเมริกาก็พบว่าบางช่วง หุ้น "VI" ให้ผลตอบแทนย่ำแย่เมื่อเทียบกับหุ้นแบบอื่น ดังนั้นการอ่านหนังสือที่เขียนโดยนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นไทย จริงๆ ก็ไม่จำเป็นที่เราต้องเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ เขาสำเร็จจริงหรือไม่ ทำมานานแค่ไหน มีโอกาสแค่ไหนที่ความบังเอิญ หรือรับความเสี่ยงสูงเกินไป เป็นต้น
หนังสือกลยุทธ์การลงทุนอีกกลุ่ม หนึ่งที่วางขายกันมาก คือแนว "เทคนิค" นี่คือหนังสือที่บอกว่า จะใช้จังหวะเข้าซื้อขายหุ้นตอนไหน ซึ่งจะบอกจังหวะ "เข้าตลาด" นั่นคือเข้าไปซื้อหุ้นในตลาด โดยดูจากดัชนีและปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดโดยรวม และจังหวะเข้าซื้อหุ้นเป็นรายตัวโดยดูจาก "สัญญาณ" เกี่ยวกับตัวหุ้นโดยเฉพาะราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นตัวนั้นที่ผ่านมา
ปัญหาของหนังสือแนวเทคนิคคือ มักเขียนจาก "สิ่งที่ผ่านมาแล้ว" ที่สอดคล้องกับความคิดและวิธีการของตน เพื่อสรุปแนวทางของตนถูกต้อง ส่วนที่ไม่ตรงนั้นไม่ถูกกล่าวถึง ดังนั้นถ้าเรานำวิธีการนั้นไปใช้กับหุ้นตัวใหม่ หรือในสถานการณ์ใหม่ เราอาจจะผิดได้ง่ายๆ แม้แต่หลักการที่มีการแปลมาจากหนังสือต่างประเทศ "ไม่นิ่ง" นั่นคือ ช่วงเวลาหนึ่งวิธีหนึ่งอาจใช้ได้ผล แต่เมื่อเวลาผ่านไป วิธีนั้นก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป หนังสือเกี่ยวประเภทนี้ ผมคิดว่าคนอ่านต้องเข้าใจ อาจไม่ใช่ของจริง และมีวงจรชีวิตสั้น
หนังสือแนวสุดท้ายที่เขียนกันมาก คือ "การบริหารเงินส่วนบุคคล" หนังสือแนวนี้ พูดถึงการออมเงินและจัดสรรเงินลงทุนตามหลักวิชาการ ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การกระจายความเสี่ยงของการลงทุน โดยการกระจายการลงทุนไปในหลายๆ ทรัพย์สินเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทน นี่คือหนังสือที่ไม่ได้เน้น "นักลงทุนผู้มุ่งมั่น" ที่อยากจะรวยจากการลงทุน แต่เน้นคนชั้นกลางธรรมดาที่ต้องการผลตอบแทนที่ดีขึ้น กับเงินที่เก็บออมเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณ หนังสือแนวนี้จะเป็นประโยชน์ โดยเข้าใจถึงการบริหารเงินที่เน้นความปลอดภัยและใช้ชีวิตที่ไม่เครียดกับการ ลงทุน
ข้อสรุปสุดท้ายของผม คือ การอ่านหนังสือการลงทุน เราต้องเลือกอ่านอย่าง "ชาญฉลาด" ถ้าเลือกผิด หรือไม่เข้าใจข้อจำกัด เราอาจเสียเวลา หรือถ้าเลวร้ายก็จะได้ความรู้ที่ผิด ซึ่งจะเป็นอันตรายกับการลงทุน การเลือกหนังสือลงทุน ผมคิดว่า ต้องทำเหมือนกับการเลือกหุ้นลงทุน คือเลือกหนังสือให้ถูก ถ้าทำได้ ความสำเร็จก็เกินครึ่งไปแล้ว
No comments:
Post a Comment