Friday, June 24, 2011

ระยะเวลาลงทุน

การซื้อหุ้นลงทุนแต่ละตัว นักลงทุนแต่ละคน มักจะมีแนวคิดคร่าวๆ ว่า หุ้นตัวนั้นเขาจะ "ถือยาวหรือสั้น".แน่นอนว่า สำหรับบางคนแล้ว เขาแทบไม่คิด เพราะสำหรับเขา การซื้อหุ้นลงทุน ไม่มีคำว่ายาว นั่นเป็นเพราะเขาเป็น "นักเทรดหุ้น" หรือเล่นหุ้น "รายวัน" สิ่งที่เขาทำ ก็คือ คอยดูว่าตลาดหุ้นวันนั้นจะมีทิศทางอย่างไร หรือหุ้นตัวนั้นจะมีทิศทางอย่างไรในแต่ละนาทีหรือชั่วโมง เขาเก็งกำไรจากความผันผวนของราคาหุ้น นี่คือ นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีเม็ดเงินลงทุนไม่มากและซื้อขายหุ้นเป็น "งานอดิเรก"

นอกจากรายย่อยเหล่านี้แล้ว คนที่ซื้อขายหุ้นรวดเร็วมากยังรวมถึง "ขาใหญ่" หรือนักลงทุนที่มีเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากที่เข้าไปซื้อขายหุ้น "รายวัน" ด้วยเม็ดเงินมหาศาล คนกลุ่มนี้ นอกจากจะเก็งกำไรจากความผันผวนของราคาหุ้นแล้ว บ่อยครั้งยังเป็นคนที่ "สร้างความผันผวน" ให้กับราคาหุ้นเอง เพื่อให้ตนได้เปรียบในการเก็งกำไรจากการซื้อขายหุ้น

กลุ่มคนที่ "เล่นสั้น" ถ้าเป็นรายเล็ก ซึ่งการซื้อขายไม่สามารถมีอิทธิพลต่อราคาหุ้นได้ ในบางช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นดีเป็นกระทิง พวกเขาอาจมีกำไรบ้าง แต่ช่วงที่ตลาดหุ้นลง หรือขึ้นๆ ลงๆ พวกเขาก็มักจะขาดทุน และในระยะยาว พวกเขาแทบจะต้องขาดทุนเสมอ เหตุผลก็คือ ค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายหุ้นจะ "กิน" ผลตอบแทนที่อาจจะทำได้จากการซื้อขายหุ้นหมด ส่วนรายใหญ่ที่เก็งกำไรหุ้นระยะสั้น เช่นเดียวกัน ในช่วงที่ตลาดหุ้นดี พวกเขาอาจจะมีกำไรมหาศาล แต่ในยามที่ตลาดหุ้นแย่ หลายคนก็เสียหายหนัก ในระยะยาว คนที่ทำผลตอบแทนได้มหาศาลก็น่าจะมีจำกัด

ตัวอย่างของคนที่เล่นสั้นและประสบความสำเร็จอย่างสูง ก็คือ จอร์จ โซรอส ถ้าย้อนหลังไปยาวกว่านั้น อาจรวมถึงนักเก็งกำไรระดับโลกหลายๆ คนอย่าง เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ เบอร์นาร์ด บารูช และ เจอราลด์ เลิบ เป็นต้น แม้บางคนจะล้มเหลวช่วงท้ายๆ ของชีวิต

กลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มี Time Frame หรือช่วงเวลาการลงทุนค่อนข้างสั้น แต่ไม่ถึงกับเป็น Day Trader หรือเล่นหุ้นรายวันแต่น่าจะลงทุนในระยะเวลาเป็น "รายเดือน" หรืออาจจะหลายเดือน คนที่เล่นหุ้นแนวนี้ มักจะมอง "พื้นฐาน" ของหุ้น ประกอบกับ "โมเมนตัม" หรืออาจจะเรียกว่าเป็น "แรงส่ง" ที่เกิดจากการเก็งกำไรของนักลงทุนกลุ่มต่างๆ รวมถึงแรงส่งที่มาจาก "สตอรี่" หรือเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นของหุ้น พูดง่ายๆ พวกเขาลงทุนโดยเน้นทั้งแนวพื้นฐานและแนวเทคนิค เพื่อที่จะซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานในเวลาที่มันกำลัง "ร้อนแรง" นักลงทุนหลายคนในกลุ่มนี้มี วิลเลียม โอนีล เซียนหุ้นที่ใช้กลยุทธ์ที่มีชื่อย่อว่า "CANSLIM" เป็นไอดอล นักลงทุนในกลุ่มนี้มักจะทำผลตอบแทนได้น่าประทับใจมากในช่วงที่ตลาดหุ้น คึกคักร้อนแรงอย่างที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในยามที่ตลาดหุ้นตกต่ำลง พวกเขาก็อาจจะ "เจ็บตัว" ไม่น้อยไปกว่านักเก็งกำไรกลุ่มอื่นๆ

กลุ่มที่ลงทุนยาวเป็นปี หรืออาจจะ 2-3 ปี เป็นกลุ่มใหญ่พอสมควร ก็คือ กลุ่มที่เรียกว่าเป็น Value Investor "กระแสหลัก" นี่คือ กลุ่มที่ยึดแนวทางของ เบน เกรแฮม บิดาของการลงทุนแบบ Value Investment กลยุทธ์การลงทุนของนักลงทุนกลุ่มนี้ เน้นเรื่องราคาหุ้นว่าต้องเป็นหุ้นที่ "ถูกมาก" เป็นหุ้นที่มี Margin of Safety หรือมีส่วนเผื่อความปลอดภัยสูง พวกเขามักเป็นนักลงทุนที่อนุรักษนิยม และไม่กล้าที่จะซื้อหุ้นที่มีค่า PE สูงที่เขาเห็นว่าเป็นหุ้นที่มีราคาแพง แม้หุ้นนั้นจะเป็นบริษัทที่มีคุณสมบัติยอดเยี่ยมก็ตาม

ผลงานการลงทุนของนักลงทุนสาย เกรแฮม น่าจะไม่หวือหวามากนัก โดยเฉพาะช่วงตลาดหุ้นบูมมากๆ เพราะหุ้นที่พวกเขาซื้อ มักจะไม่ใช่หุ้นที่มีสตอรี่ หรือมีเรื่องราวให้นักเก็งกำไรเข้ามาสนใจมากนัก ผลงานระยะยาวก็มักจะดีใช้ได้ เหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ ยามที่ตลาดหุ้นไม่ดีหรือ "ไม่ไปไหน" เป็นเวลานาน นักลงทุนกลุ่มนี้น่าจะรักษาผลตอบแทนของตนเองได้ดีพอสมควรเทียบกับกลุ่มอื่นๆ

นักลงทุนกลุ่มที่มีระยะเวลาการลงทุนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับวัฏจักร หรือสถานการณ์ของตัวหุ้น หรือสภาวะเศรษฐกิจบางอย่าง อาจจะเรียกว่า "นักเล่นหุ้นตามสถานการณ์" นี่คือ นักลงทุนที่น่าจะมี Time Frame ไม่เกิน 3-4 ปี และบ่อยครั้งอาจจะน้อยกว่านั้น ไอดอลของนักลงทุนกลุ่มนี้น่าจะเป็น ปีเตอร์ ลินช์ ซึ่งมีกลยุทธ์การลงทุนที่ "เล่นหุ้นได้ทุกรูปแบบ" โดยเน้นพื้นฐานของตัวกิจการเป็นหลัก การเล่นหุ้นได้ทุกรูปแบบ เกิดจากการที่ลินช์จัดกลุ่มหุ้นทุกตัวตามคุณสมบัติของบริษัท เช่น เป็นหุ้นโตเร็ว หุ้นที่อยู่ในกิจการที่เป็นวัฏจักร หุ้นทรัพย์สินมาก และหุ้นฟื้นตัวจากวิกฤติ เป็นต้น

ผลงานการลงทุนแบบของปีเตอร์ ลินช์ ผมคิดว่า คนที่ทำได้ดี นั่นคือ ซื้อขายหุ้นได้ถูกต้องตามคุณสมบัติของบริษัท น่าจะได้กำไร หรือผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะหุ้นวัฏจักรและกลุ่มฟื้นตัว การที่จะทำเช่นนั้นได้ ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายสำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้ศึกษา หรือมีความรู้ความสามารถพอ ถ้าเป็นการเข้าไปซื้อขายหลังจากที่หุ้นปรับตัวขึ้นมามากแล้ว นักลงทุนอาจจะขาดทุนได้ และนี่ทำให้การลงทุนแบบนี้ก็มีความเสี่ยงไม่น้อย

กลุ่มสุดท้าย ก็คือ นักลงทุนที่ลงทุนยาวมาก คือ ประมาณตั้งแต่ 3-4 ปีขึ้นไป ไอดอลของกลุ่มนี้ ก็คือ ฟิลลิป ฟิสเชอร์ และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นี่คือ นักลงทุนที่เน้นลงทุนในกิจการที่ดีเยี่ยมที่สุดในประเทศ พวกเขาจะไม่ใคร่สนใจหุ้นของกิจการที่ "หาจุดเด่นไม่ค่อยได้" แม้จะมีราคาถูก หรืออาจจะมีสตอรี่ที่น่าสนใจ เป็นบริษัทที่กำลังอยู่ในวัฏจักร "ขาขึ้น" หรือแม้แต่บริษัทที่ "กำลังฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด" สิ่งที่พวกเขามองก็คือ ความสามารถการแข่งขัน หรือความได้เปรียบที่ยั่งยืนที่บริษัทมีต่อคู่แข่ง ความเข้มแข็งทางการเงิน การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมและบริษัท เหล่านี้เป็นต้น ส่วนราคาหุ้นนั้นก็สนใจว่าต้องไม่แพง แต่ราคาหุ้นที่ถูกมากนั้นไม่ใช่ประเด็นหลักในการเลือกหุ้น

นักลงทุนที่เน้นในหุ้นแบบซูเปอร์สต็อกและถือหุ้นยาวนาน น่าจะมีน้อยมาก เหตุผลก็อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นกลยุทธ์ที่ "น่าเบื่อ" นอกจากนั้น กิจการที่เป็น "ซูเปอร์" จริงๆ ในไทยและอยู่ในตลาดหุ้นอาจจะมีไม่มาก เหนือสิ่งอื่นใด การปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น ก็มักจะไม่หวือหวาในระยะเวลาอันสั้น ในช่วงเร็วๆ นี้ หุ้นซูเปอร์สต็อกก็มีผลงานค่อนข้างดี ทำให้ผลตอบแทนของนักลงทุนโดดเด่นพอสมควร โดยที่ความเสี่ยงไม่สูงนัก

เป็นเรื่องยากที่นักลงทุนคนหนึ่งจะมี Time Frame หรือกลยุทธ์แน่นอนเพียงแนวเดียว นักลงทุนที่มุ่งมั่นและมีประสบการณ์มาก มักจะมีจุดเน้นของตนเองที่พอบอกได้ว่าเขาเป็นนักลงทุนแนวไหน การเลือกตำแหน่งของตนเองผมคิดว่าจะเป็นตัวตัดสินผลงานระยะยาวของการลงทุน เพราะเป็น "ยุทธศาสตร์" ที่จะกำหนดสิ่งต่างๆ ที่เราจะเดินไป

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 21 มิถุนายน 2554

No comments:

Post a Comment