Wednesday, July 20, 2011

หุ้นสถาบันการเงิน

หุ้นในกลุ่มสถาบัน การเงินที่ผมจะพูดถึงนั้น ผมรวมถึงกลุ่มต่อไปนี้ คือ 1.กลุ่มที่เป็นธนาคารพาณิชย์ 2.กลุ่มที่ทำธุรกิจเช่าซื้อและลิสซิ่งก็คือบริษัทที่ปล่อยกู้ ให้กับลูกค้าเพื่อซื้อสินค้าเงินผ่อนทั้งหลาย 3.กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลัก ทรัพย์ และ 4.กลุ่มบริษัทประกันภัยและประกันชีวิต ทั้งหมดนี้ผมแทบไม่ได้ซื้อหุ้นเพื่อลงทุนเลยในระยะสิบปีที่ผ่านมา เพราะผมเห็นว่าหุ้นในกลุ่มเหล่านี้มีความเสี่ยงที่ผมไม่ใคร่สบายใจนักที่จะ ลงทุนระยะยาว และต่อไปนี้คือความคิดของผม

ก่อนที่จะพูดถึงความเสี่ยงผมอยากจะบอกว่า ที่จริงหุ้นในกลุ่มสถาบันการเงินนั้น ส่วนใหญ่มีผลประกอบการที่ดีน่าประทับใจ ถ้าดูจากกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นก็จะเห็นว่าหุ้นเหล่านี้มีผลกำไรอยู่ใน เกณฑ์ที่สูงลิ่ว เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของหุ้นในอุตสาหกรรมอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์ และเมื่อมองดูถึงความสม่ำเสมอของกำไรก็เห็นว่าบริษัทเหล่านั้น ทำได้ค่อนข้างดีพอจะบอกได้ว่าเป็นผลประกอบการที่สามารถคาดการณ์ได้

ประกอบกับการที่บริษัทเหล่านี้มีลูกค้าเป็น "ล้านๆ" คน ดังนั้นความผันผวนของรายได้ก็มักจะน้อย ข้อสรุปก็คือ โดยทั่วไปแล้ว เราสามารถหา "มูลค่าที่แท้จริง" ของกิจการ ได้ไม่ยากนักเทียบกับกิจการอื่นๆ อีกหลายอย่าง พูดง่ายๆ สามารถใช้ค่า PE และ/หรือ PB มาวัดค่าความถูก/แพงของหุ้นได้

ข้อดีของหุ้นสถาบันการเงินอีกอย่างหนึ่งก็คือ ส่วนใหญ่บริษัทเหล่านั้น มีกฎหมายและหน่วยงานของรัฐควบคุมอย่างเข้มงวด ข้อมูลต่างๆ ของบริษัทโดยเฉพาะบัญชีการเงินค่อนข้างเชื่อถือได้ เช่นเดียวกัน ผู้บริหารไม่สามารถนำเงินไป "ถลุง" ในกิจการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องได้ง่ายนัก อีกเรื่องหนึ่งก็คือ นโยบายจ่ายปันผลมักจะดีเหตุ เพราะบริษัทเหล่านี้มีเงินสดเหลือเฟือที่จะจ่ายปันผล และที่น่าสนใจสุดยอดอีกอย่างหนึ่งก็คือ หุ้นเหล่านี้ จำนวนมากมีค่า PE และ PB ไม่สูง บางบริษัทต่ำมาก ดูไปแล้วน่าจะเป็นหุ้นที่เข้าข่ายเป็นหุ้น "Value" ที่น่าซื้อลงทุนระยะยาว แต่สิ่งที่ทำให้ผมไม่สบายใจนักที่จะลงทุนในหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินก็คือ

ประการแรก หุ้นสถาบันการเงินยกเว้นบริษัทหลักทรัพย์ มีการกู้หรือรับฝากเงินจำนวนมาก อัตราการกู้ยืม กรณีธนาคารพาณิชย์สูงมาก อาจเกือบสิบเท่าของเงินในส่วนของผู้ถือหุ้น การกู้มากเป็นความเสี่ยงมหาศาล เพราะถ้าเงินที่กู้มาและนำไปปล่อยกู้หรือลงทุนต่อ เกิดเสียหายกลายเป็น NPL หรือหนี้สูญเพียงแค่ 10% แบงก์นั้นก็หมดทุนหรือล้ม จริงอยู่ที่ว่าอัตราการเกิด NPL ของแบงก์ในภาวะปกติ จะมีน้อยมากเพียง 1-2% และแบงก์ก็มักจะกันสำรองหนี้สูญทุกปีจนเพียงพอหรือเกินพอ แต่นั่นก็คือสภาวการณ์ "ปกติ" แต่ในสถานการณ์ "วิกฤติ" เช่นในปี 2540 ลูกหนี้ของแบงก์ต่าง "ล้มละลาย" เป็นลูกโซ่ และแบงก์เกือบทั้งหมดแทบเอาตัวไม่รอด หลายแห่งล้มลงไป และนี่ก็คือความเสี่ยงของหุ้นแบงก์

หุ้นของบริษัทลิสซิ่งและบริษัทที่ให้กู้สำหรับซื้อสินค้าเงินผ่อน ส่วนใหญ่กู้เงินไม่ต่ำกว่า 4-5 เท่าของเงินทุนตนเอง การปล่อยกู้ให้กับลูกค้า บริษัทมักจะคิดดอกเบี้ยสูงกว่าแบงก์มาก เพราะปล่อยกู้ให้กับคนที่มีรายได้น้อย หรือคนที่ยังไม่มีกำลังซื้อสินค้าราคาสูง เช่น รถยนต์ แต่อยากได้สินค้ามาใช้ก่อน ดังนั้นโอกาสที่ลูกหนี้จะกลายเป็นหนี้เสียสูงกว่ากรณีของแบงก์ ในกรณีที่เศรษฐกิจโดยทั่วไปดี อัตราหนี้เสียมักจะไม่สูงนัก ทำให้ผลประกอบการของบริษัทดี แต่บางช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี อาจเป็นเพราะพืชผลทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ NPL จะเกิดขึ้นจำนวนมาก ผลก็คือ บริษัทอาจขาดทุนหนัก บางแห่งอาจไปไม่รอด เพราะบริษัทในกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกถือว่า เป็นสถาบันการเงินที่มีการรับเงินฝากจากประชาชน การควบคุมจากทางการก็มีน้อย การบริหารงานภายในบริษัทอาจหละหลวมหรือมีการทุจริตได้ง่าย นี่ก็เป็นความเสี่ยงด้านบริหารงานที่เพิ่มขึ้นมาจากเรื่องภาวะทางเศรษฐกิจ

ข้อสรุปสั้นๆ ของผมสำหรับหุ้นสองกลุ่มนี้ ก็คือ "เป็นธุรกิจที่ดีจนถึงวันที่มันเจ๊ง" หากจะลงทุนในหุ้นสองกลุ่มนี้ ก็คงต้องพิจารณาและติดตามว่า จะมีโอกาสเจ๊งไหม ทั้งจากเรื่องของภาวะเศรษฐกิจและเรื่องของตัวบริษัทในด้านของการบริหารงาน ภายใน และนำมาเทียบกับราคาหุ้นที่จะเป็นตัวกำหนดผลตอบแทนที่เราจะได้จากการลงทุน

หุ้นในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ ความเสี่ยงอยู่ที่การเปิด "เสรี" ธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งจะทำให้บริษัทแต่ละแห่ง คิดค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้นได้อย่างอิสระ นี่จะทำให้รายได้หลักของโบรกเกอร์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะโบรกเกอร์บางแห่งที่มีลูกค้าและคำสั่งซื้อขายหุ้นน้อย เสนออัตราค่านายหน้าในอัตราที่ต่ำ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาซื้อขายหุ้นกับตนเอง เมื่อคู่แข่งถูก "ตัดราคา" ค่าบริการ เขาต้องเสนอราคาที่ต่ำลงเพื่อรักษาลูกค้า ผลก็คือ ราคาค่าบริการจะต่ำลงเรื่อยๆ จนอาจเข้าใกล้ศูนย์ในบางกรณี กำไรของบริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ก็จะลดลง และไม่สามารถคาดได้ว่าจะเป็นเท่าไร นอกจากเรื่องของค่าคอมมิชชั่นแล้ว อาจจะมีบริษัทหลักทรัพย์ โดยเฉพาะจากต่างประเทศ ที่จะมาเปิดให้บริการเพิ่ม ซึ่งจะทำให้เกิดการแย่งส่วนแบ่งตลาดของโบรกเกอร์เดิมอีก นี่คือความเสี่ยงสำคัญที่คาดการณ์ได้ยากสำหรับหุ้นบริษัทหลักทรัพย์

หุ้นกลุ่มสุดท้าย คือหุ้นของบริษัทประกันภัยและประกันชีวิต หุ้นกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่คือการประกันภัยรถยนต์ ส่วนน้อยและมักจะเป็นเครือของแบงก์จะมีรับประกันภัยบ้าน และอสังหาริมทรัพย์อื่น เช่น อาคาร และโรงงานต่างๆ ด้านการประกันภัยรถยนต์ การแข่งขันสูงมาก ทำให้บริษัทส่วนใหญ่มีกำไรไม่ดีนัก บางปีก็ขาดทุน โดยพื้นฐานแล้ว ไม่ถือว่าเป็นกิจการที่ดีนัก ส่วนบริษัทประกันภัยที่เป็นเครือของธนาคาร มักได้เปรียบเพราะจะได้ลูกค้าที่ถูกส่งต่อมาจากแบงก์ที่ให้เงินกู้ และบังคับให้ลูกค้าทำประกันทรัพย์สินที่นำมาจำนอง ซึ่งมักเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โอกาสในการเคลมต่ำ ผลก็คือ บริษัทเหล่านี้มักจะมีกำไรดีต่อเนื่อง หุ้นก็มักจะไม่ถูก

หุ้นบริษัทประกันชีวิตในตลาดมีน้อย แต่เป็นหุ้นที่คึกคักมากในช่วงเร็วๆ นี้สำหรับ VI หลายคน เหตุผลเพราะว่า ธุรกิจประกันชีวิตโดยเฉพาะช่วงนี้เติบโตค่อนข้างสูง การที่บริษัทเป็นบริษัทในเครือแบงก์ ทำให้ขยายธุรกิจไปได้ง่าย โดยทำผ่านพนักงานของแบงก์ที่เรียกว่า "แบงก์แอสชัวรันส์" นั่นคือ ให้พนักงานแบงก์เป็นคนช่วยขายให้กับลูกค้าที่มีเงิน การขายทำได้ง่าย เพราะมีข้อมูลของลูกค้าครบ ประกอบกับดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำมาก ทำให้การชักชวนคนทำประกันชีวิตทำได้ง่าย เพราะผลตอบแทนจากกรมธรรม์ดีกว่าการฝากเงิน หุ้นประกันชีวิตมีความเสี่ยงอยู่บ้าง เพราะต้องเอาเงินเบี้ยประกันไปลงทุน แม้มักจะลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นส่วนใหญ่ แต่ความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ เหนือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ผมยังไม่ลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ คือ ราคาหุ้นไม่ถูกเลย โดยเฉพาะเมื่อดูจากค่า PB ของหุ้น

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 28 มิถุนายน 2554

No comments:

Post a Comment