Wednesday, July 20, 2011

ข้อมูลที่ลำเอียง

เวลาที่รับข้อมูล เข้ามา สิ่งที่ Value Investor จะต้องพิจารณาก่อนที่จะนำไปใช้หรือนำไปวิเคราะห์ต่อก็คือ ข้อมูลนั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง.ถ้าไม่ถูกต้อง น่าจะมากหรือน้อยเกินไป ดีเกินไปหรือแย่เกินไป วิธีที่จะดูหลักการสำคัญ คือ ดูว่าคนให้ข้อมูล "รู้จริง" หรือมีข้อมูลจริงไหม สิ่งที่สำคัญมากอีกข้อหนึ่ง คือ คนที่ให้ข้อมูลมี "แรงจูงใจ" อะไรในการที่ให้ข้อมูล

เวลาที่มีนักเศรษฐศาสตร์มาบอกหรือพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจ ถ้าเขามาจากหน่วยงานที่มีนักเศรษฐศาสตร์ ที่มักจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก และหน่วยงานนั้นไม่ได้อิงกับการเมืองในทางใดทางหนึ่ง ในกรณีแบบนี้ พวกเขาจะมีทั้งความรู้ ข้อมูล และไม่มีความ "ลำเอียง" ในการให้ความเห็นหรือพยากรณ์ ข้อมูลที่เราได้น่าจะเป็นข้อมูลที่เรานำไปใช้ได้อย่างสบายใจ พึงระลึกเสมอว่า การพยากรณ์เป็นศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งที่สุดในโลก ก็มักทำนายผิดอยู่บ่อยๆ ดังนั้นเวลาที่เราอ่านหรือฟังคำพยากรณ์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ผมคิดว่าอย่าไปเชื่ออย่างปักใจว่ามันจะถูกต้อง แม้แหล่งข้อมูลหรือคนที่ให้ข้อมูลจะเป็นน่าเชื่อถือมากๆ

นักเศรษฐศาสตร์หรือหน่วยงานที่อิงกับการเมืองในทางใดทางหนึ่ง อาจจะให้ความเห็นหรือพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจโดยมีความ "ลำเอียง" ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ความลำเอียงที่ว่านั้น มักจะออกมาในด้านที่ดีกว่าความเป็นจริง เหตุผลก็คือ ฝ่ายการเมือง อยากจะให้ภาพเศรษฐกิจที่ดีๆ เพราะนั่นคือ "ผลงาน" ของเขาในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ เวลาดูหรืออ่านข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจากหน่วยงานรัฐ เราจึงควรจะดูว่ามาจากหน่วยงานไหน ในแวดวงของนักเศรษฐศาสตร์กันเอง บางทีก็พูดกันว่า ถ้ามาจากหน่วยงานนี้ ตัวเลขมักจะดูมองโลกในแง่ดีกว่าอีกหน่วยงานหนึ่งเสมอจนแทบจะเป็น "ธรรมเนียม"

ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียน มักจะให้ข้อมูลและคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทด้านที่ดีกว่าความเป็นจริง เสมอ เริ่มตั้งแต่ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ผมพบว่าแทบไม่มีบริษัทไหนบอกว่าตนเองฝีมือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ว่าที่จริงแทบทุกบริษัทจะบอกว่าตนเองเป็นบริษัทระดับต้นๆ ของอุตสาหกรรม บางบริษัทบอกว่าตนเองเป็นบริษัทที่เด่นมากในการผลิต หรือการดำเนินงานที่คู่แข่งไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ พวกเขาอาจจะไม่ได้โกหก แต่มักจะลำเอียงทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ด้วยท่าทีที่มั่นอกมั่นใจ และด้วยความรู้ที่มีมากกว่าคนฟัง หรือนักวิเคราะห์ของผู้บริหาร ทำให้คนฟังมักจะเชื่ออย่างสนิทใจว่ามันเป็นเรื่องจริง เหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ ข้อมูลผลประกอบการที่ "ดีๆ" ในช่วงที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ ที่แสดงให้คนฟังเห็น มักจะเป็นเครื่องยืนยันว่าสิ่งที่ผู้บริหารพูด เป็นความจริงอย่างแน่นอน

ภาพในอนาคตบริษัทที่ผู้บริหารแถลงออกมา มักจะยิ่งสดใสกว่าความเป็นจริง ผู้บริหารมีแรงจูงใจวาดภาพบริษัทให้ดูดี เพราะเขามีแรงจูงใจหลายๆ อย่าง เช่น เขาอยากจะเป็นผู้บริหารที่มีความสามารถได้รับการยกย่อง หรือผู้บริหารที่เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอยากให้คนมาซื้อหุ้น ทำให้ราคาขึ้นไป และเขาจะขายได้ราคาสูงเป็นต้น

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประเมินว่าผู้บริหารพูด "เวอร์" หรือลำเอียงมากไปแค่ไหน เหตุผลเพราะเราไม่ได้อยู่ในธุรกิจ หรือไม่สามารถหาข้อมูลได้มากพอที่จะตัดสิน นักวิเคราะห์หรือนักลงทุนบางคนใช้วิธีดูผลงานที่ผ่านมาเทียบกับสิ่งที่ผู้ บริหารเคยพูดไว้ว่าตรงหรือใกล้เคียงไหม ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิธีที่พอใช้ได้ บางบริษัทอาจไม่มีข้อมูลที่ยาวพอ ทำให้เราใช้ข้อมูลนี้ได้ยาก วิธีที่น่าจะดีกว่าก็คือ ผมจะมองไปถึง "โครงสร้างของอุตสาหกรรม" ว่า บริษัททำธุรกิจอะไร ปัจจัยการแข่งขันในอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร บริษัทอยู่ในตำแหน่งไหน? ได้เปรียบหรือเสียเปรียบคู่แข่งขันอื่น และการได้เปรียบ เป็นการได้เปรียบชั่วคราวหรือถาวร สุดท้ายยังต้องดูอีกว่าในอนาคต 3-4 ปีขึ้นไป จะมีผู้เล่นรายใหม่ๆ มาแข่งขันด้วยหรือไม่

สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นตัวบอกว่า "คำคุย" ของผู้บริหารจะเป็นจริงหรือไม่ พูดง่ายๆ ในการวิเคราะห์ว่า ผู้บริหารลำเอียงไปมากน้อยแค่ไหน ผมพยายามตัดประเด็นเรื่องฝีมือของผู้บริหารออก แล้วดูตัวอุตสาหกรรม และตำแหน่งของบริษัทในอุตสาหกรรมเป็นหลัก ถ้าตำแหน่งของบริษัทแย่หรือเสียเปรียบ แต่ผู้บริหารบอกว่าบริษัทของตนจะเอาชนะ และแย่งชิงธุรกิจได้มากกว่าคู่แข่งมากด้วยเพราะฝีมือของผู้บริหารหรือ พนักงาน ผมไม่มั่นใจเลยว่าเขาจะทำได้

โบรกเกอร์และนักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ เราต้องรู้ว่าเขามีความลำเอียง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ที่จะให้เราซื้อๆ ขายๆ หุ้นมากกว่าปกติ เขามักจะชอบแนะนำหุ้นที่กำลังมีราคา และปริมาณการซื้อขายหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ดังนั้นการให้ความเห็นเกี่ยวกับหุ้น จึงมักเป็นการแนะนำให้ซื้อหุ้นที่กำลังร้อนแรง และราคาอาจสูงเกินพื้นฐานไปแล้ว แต่ในความเห็นของเขา กลับเห็นว่าหุ้นยังต่ำกว่าพื้นฐานและน่าลงทุนทั้งๆ ที่ก่อนหน้าที่หุ้นจะร้อนและราคาหุ้นยังต่ำอยู่ พวกเขาไม่เคยพูดถึงเลยว่าเป็นหุ้นที่น่าสนใจ

ข้อเตือนใจของผมสำหรับเรื่องนี้ ก็คือ ราคา หรือมูลค่าพื้นฐานของหุ้นที่เกิดจากการคำนวณของนักวิเคราะห์ ส่วนใหญ่เป็น "มูลค่าในจินตนาการ" หมายความว่า คุณอาจให้ค่าเท่าไรก็ได้จากราคาเช่น 10 บาท ถึง 40 บาท ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะตั้งสมมติฐานอย่างไร หรือให้คุณค่ากับบริษัทมากน้อยแค่ไหน ในยามที่ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นร้อนแรง คุณจะให้ราคา 40 บาท คนก็เชื่อ แต่ในยามที่หุ้นตัวนั้นเงียบเหงา บางทีคุณบอกว่า 10 บาท คนก็ยังบอกว่าไม่น่าสนใจ

เรื่องความลำเอียงในตลาดหุ้น ผมคิดว่ายังมีอีกมาก สิ่งที่เราควรเข้าใจคือ ตลาดหุ้น เป็นที่อยู่ของคนที่มักจะมองโลกด้านบวกสูงกว่าคนปกติ เป็นที่อยู่ของคนที่มีความหวังหรือความฝันที่สูงกว่าคนทั่วไป พวกเขาฝันจะรวยอย่างรวดเร็ว หรือทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ไม่ว่าเมื่อวานตลาดหุ้นจะเลวร้ายแค่ไหน ก่อน 10 โมงเช้าที่ตลาดเปิด คนเล่นหุ้นก็มักจะมีความหวังเสมอ การมองโลกที่สดใสกว่าปกติ ผมคิดว่าทำให้คนในตลาดหุ้นส่วนใหญ่มี "ความลำเอียง" ที่จะมองการลงทุนหรือการซื้อขายหุ้นในแง่ที่ดีกว่าความเป็นจริง ถ้าลองถามคนที่ลงทุนเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ว่า เขาคิดจะได้รับผลตอบแทน "ปีนี้" กี่เปอร์เซ็นต์ ผมเชื่อว่าคำตอบเฉลี่ยคงเป็นอย่างน้อย 20-30% ขึ้นไป ทั้งๆ ที่ผลตอบแทนต่อปีในอดีตของตลาดหุ้นเท่ากับ 10% เท่านั้น

ในฐานะของ Value Investor เราต้องพยายาม "ฉีก" ตนเองออกจาก "ตลาด" ความหมายก็คือ ต้องเข้าใจเรื่อง "ความลำเอียง" ทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากเหตุจูงใจต่างๆ และธรรมชาติบางอย่างของคนโดยเฉพาะที่อยู่ในตลาดหุ้น การอ่านหรือฟังข้อมูล เราต้องรู้ "เบื้องหลัง" หรือ "วาระซ่อนเร้น" ที่อาจจะมีอยู่ เพื่อที่ว่าเราจะได้นำข้อมูลที่ได้รับมา "ปรับ" ให้ถูกต้องใกล้เคียงขึ้น การรับข้อมูลโดยไม่พิจารณาเพิ่มเติม เป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง เพราะบางครั้งอาจจะหมายถึงการถูก "หลอก" ให้สำคัญผิดใน "พื้นฐาน" ของบริษัท ซึ่งทำให้การตัดสินใจของเราผิดพลาด และเกิดความเสียหายร้ายแรงได้

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 5 กรกฎาคม 2554

No comments:

Post a Comment