หุ้นกลุ่มหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ ที่แทบไม่เคยสร้างความผิดหวังให้แก่นักลงทุนระยะยาวเลยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็คือ หุ้นค้าปลีกสมัยใหม่ ที่เรียกว่า Modern Trade เพราะหุ้นในกลุ่มนี้ แทบทุกตัวให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจทั้งในด้านของเงินปันผล และราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องมาตลอด ที่สำคัญ แม้ในยามที่ตลาดหุ้นเกิดวิกฤติ หุ้นส่วนใหญ่มีราคาตกลงมาก หุ้นกลุ่มค้าปลีกก็ไม่ได้ตกลงมากนัก และเมื่อภาวะวิกฤติผ่านไป ราคาก็กลับมาที่เดิมและปรับตัวสูงขึ้นไปอีก
ถ้าจะพูดไป หุ้นค้าปลีกช่วงเร็วๆ นี้ เป็นทั้งหุ้น Defensive หรือหุ้นที่ทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้าย และเป็นหุ้น Growth หรือหุ้นที่เติบโต อยู่ในตัวเดียวกัน หุ้นหลายตัวในกลุ่ม ก็ให้ปันผลสูงและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็น Dividend Stock หรือ "หุ้นปันผล" ที่จ่ายปันผลงดงามทุกไตรมาส และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้หุ้นกลุ่ม Modern Trade ส่วนใหญ่มีราคาสูงเมื่อเทียบกับกำไรของบริษัท หรือมี PE สูงมากโดยเฉพาะในช่วงหลังๆ
ก่อนที่ผมจะพูดว่า ทำไมหุ้นค้าปลีกสมัยใหม่จึงได้ราคาที่สูงกว่าหุ้นในกลุ่มอื่นๆ ผมอยากจะทำความเข้าใจก่อนว่า หุ้นที่อยู่ในข่าย Modern Trade คือ หุ้นกลุ่มไหน เพราะหลายคนอาจบอกว่า นี่คือ หุ้นกลุ่มพาณิชย์ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะหุ้นค้าปลีกสมัยใหม่ในนิยามของผม ต้องเป็นหุ้นของบริษัทที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนทั่วไปทั้งประเทศ การขายจะขายผ่านเครือข่ายร้านสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศ ราคาสินค้าที่ขายมักเท่ากัน ไม่ว่าจะขายในร้านหรู ในกรุงเทพฯ หรือร้านค้าต่างจังหวัด ตัวสินค้าก็มีความหลากหลายและใกล้เคียงกันในแต่ละสาขา ระบบการทำงานของสาขาทั้งหมดจะต่อถึงกันผ่านสำนักงานใหญ่ ข้อมูลการขายสินค้า จะเป็นระบบรวมศูนย์ ที่ทำให้การบริหารงานขาย มักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเทียบกับร้านค้าแบบ "ดั้งเดิม" ที่มักจะมีร้านเพียงร้านเดียว หรือมีสาขาน้อยมาก
หุ้นค้าปลีกสมัยใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในหุ้นกลุ่มพาณิชย์ เริ่มตั้งแต่ หุ้น BIGC ซึ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาถูกที่เรียกว่า Discount Store แบบที่เป็นร้านค้าขนาดใหญ่ ขายสินค้าที่ต้องกินต้องใช้ประจำวัน และสินค้าราคาถูกอื่นๆ หุ้นCPALL เจ้าของร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่ขายสินค้าปริมาณเล็กๆ น้อยๆ เน้นความสะดวกเพราะอยู่ใกล้ชุมชน หุ้น HMPRO ซึ่งขายสินค้าปรับปรุงและตกแต่งบ้าน หุ้น GLOBAL ซึ่งขายวัสดุก่อสร้าง หุ้น IT ซึ่งขายสินค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไฮเทค หุ้น MAKRO ขายสินค้าให้กับร้านค้าโชห่วยและกิจการอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร หรือโรงแรม หุ้น ROBINS ทำห้างสรรพสินค้าโรบินสัน นอกจากนี้ ยังมีหุ้นที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มพาณิชย์ เช่น หุ้น SE-ED ซึ่งเป็นร้านขายหนังสือ หุ้น JMART ขายโทรศัพท์มือถือ และยังมีหุ้นที่อาจจะเรียกว่าเป็น Modern Trade ได้เหมือนกันแต่ขายเฉพาะสินค้าจากโรงงาน หรือบริษัทของตนเองเป็นหลัก อย่างหุ้น DCC ซึ่งขายกระเบื้องก่อสร้าง หุ้น JUBILY ขายเครื่องประดับเพชร และหุ้น BGT ซึ่งขายเสื้อผ้า เป็นต้น
จุดเด่นของกิจการค้าปลีกสมัยใหม่นั้น มีหลายประการ เริ่มตั้งแต่ ข้อแรก คือ มักเป็นกิจการที่มีความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานทั้งยอดขายและกำไร เหตุผล ก็คือ บริษัทมีการขายสินค้าให้กับคนจำนวนมาก มักจะเป็นแสนหรือล้านๆ รายการเปลี่ยนแปลงของยอดขายในแต่ละปีจะไม่มาก สินค้าที่ขายก็มักจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคน ซึ่งมักจะไม่เปลี่ยนแปลงในระยะเวลาอันสั้น บริษัทสามารถกำหนดราคาขายให้อิงกับต้นทุนของบริษัทได้ทันที เพราะเป็นกิจการที่ซื้อมา-ขายไป ทำให้กำไรของบริษัทผันแปรไปตามยอดขายเสมอ
ข้อสอง กิจการ Modern Trade มักมีความเสี่ยงในการล้มละลายต่ำเนื่องจากบริษัทขายสินค้าเป็นเงินสด แต่จ่ายค่าสินค้าเป็นเงินเชื่อหลายเดือน ทำให้บริษัทมีเงินสดมากในขณะที่มักจะมีหนี้เงินกู้น้อย หลายบริษัทไม่มีหนี้เงินกู้จากธนาคารเลยและทำให้บริษัทสามารถจ่ายปันผลให้ แก่ผู้ถือหุ้นได้สูงเมื่อเทียบกับกำไรที่ทำได้ บางบริษัทจ่ายถึง 100% และจ่ายทุกไตรมาส
ข้อสาม กิจการ Modern Trade ในตลาดหลักทรัพย์มักจะเป็นผู้นำในกลุ่มสินค้าที่ตนเองขาย เป็นกิจการที่มีขนาดใหญ่ บริษัทจึงมีความได้เปรียบคู่แข่งโดยเฉพาะ เมื่อเทียบกับร้านค้าแบบดั้งเดิม บริษัทจึงมักได้ส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บริษัทสามารถจะเติบโตไปได้เรื่อยๆ อย่างยาวนานทั้งๆ ที่ตัวอุตสาหกรรมโดยรวมอาจไม่ได้เติบโตมากนัก การเติบโตของกิจการค้าปลีกสมัยใหม่ นอกจากจะเติบโตจากร้านสาขาเดิมแล้ว ยังมักเติบโตจากการเปิดสาขาใหม่ด้วย หุ้นในกลุ่มนี้หลายๆ ตัวจึงเป็นหุ้น ที่ "เติบโต" ระยะยาว แม้อัตราการเติบโตของบางบริษัทอาจจะไม่สูงนัก
หุ้นค้าปลีก มีผลงานที่ดีและให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีมาตลอด แต่ในช่วงเร็วๆ นี้ดูเหมือนว่า จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นไปอีกหลังจากที่ไทยผ่านการเลือกตั้ง และกำลังมีรัฐบาลที่มีนโยบายในการเพิ่มรายได้ให้กับคนมีรายได้ต่ำ โดยการเพิ่มเงินเดือน และการ "ประกัน" ราคาสินค้าการเกษตรในระดับที่สูง ผลจากนโยบายนี้จะทำให้การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กับอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อยอดขายของกลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ
การลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในเวลาเดียวกัน จะช่วยลดต้นทุนของบริษัทลง จริงอยู่ที่ต้นทุนค่าแรงของบริษัทอาจจะเพิ่มขึ้น แต่บริษัทน่าจะส่งผ่านต้นทุนนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าได้ เพราะทุกบริษัทต้องจ่ายค่าแรงที่เพิ่มขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น หากเป็นไปตามภาพดังกล่าวนี้ กิจการค้าปลีกสมัยใหม่ส่วนใหญ่ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ น่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้น และนี่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มนี้ปรับตัวขึ้นในช่วงนี้
ประเด็นที่ต้องคำนึงสำหรับหุ้นในกลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ ไม่ใช่เรื่องของผลประกอบการ หรือความเข้มแข็งของตัวธุรกิจ แต่น่าจะอยู่ที่ราคาหุ้น ที่มีการปรับตัวขึ้นมามาก และทำให้หุ้นกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีราคาที่ "ไม่ถูก" แล้ว ว่าที่จริง ถ้ามองจากค่า PE และค่า PB ผมคิดว่าน่าจะเป็นหุ้นกลุ่มที่ "แพงที่สุด" ในตลาดหลักทรัพย์ อาจจะพูดได้เหมือนกันว่ามันเป็นหุ้นกลุ่มที่ "ดีที่สุด" ในตลาดหลักทรัพย์ได้เช่นกัน การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ช่วงเวลานี้ จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ในความคิดของผม หุ้นกลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ ถ้าจะลงทุนก็คงไม่ใช่แนวทางแบบ เบน เกรแฮม ที่เน้นหาหุ้นถูกเป็นหลัก แต่อาจจะเป็นแนวทางแบบ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่เน้นลงทุนหุ้นแบบ "ซูเปอร์สต็อก" คือ ลงทุนในหุ้นที่ดีสุดยอด ในราคาที่ยุติธรรม ว่าที่จริง บัฟเฟตต์ก็ซื้อหุ้นวอลมาร์ท ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อไม่นานมานี้ ในราคาที่ไม่ถูกเลย
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 19 กรกฎาคม 2554
No comments:
Post a Comment