Wednesday, September 26, 2012

ความเชื่อที่อันตรายของ VI


VI จำนวนไม่น้อยที่ผมได้พบเห็น โดยเฉพาะตามเว็บไซต์ต่างๆ มักมีศรัทธา หรือความเชื่อที่ยึดมั่นใน "แนวทาง VI" อย่างมั่นคงจน ผมรู้สึกว่า "มากเกินไป" ส่วนหนึ่งของความเชื่อนี้ อาจเป็นเพราะ "ความสำเร็จของ VI" ทั้งในระดับโลกอย่าง วอร์เร็น บัฟเฟตต์ และปีเตอร์ ลินช์ และ "เซียน VI ไทย" จำนวนมากในช่วงเร็วๆ นี้  ที่เสนอแนวทางแบบ VI อย่างกว้างขวางและภาคภูมิ จนทำให้แนวทางอื่นในเรื่องการลงทุนกลายเป็นเรื่องที่อาจไร้สาระ หรือตลกในสายตาของ VI ที่ติดตามศึกษาทฤษฎี VI อย่างเข้มข้น และมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก  
 
แน่นอน ความเชื่อเหล่านี้ เป็นสิ่งดีที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจไม่ให้เราไขว้เขวไปจากแนวทางที่ถูกต้อง แต่ถ้ายึดมั่นเกินไป บางครั้งอาจเป็นอันตรายเหมือนกัน เพราะจะไม่ยืดหยุ่น และถ้าเกิดความผิดพลาด ความเสียหายจะมากกว่าปกติ ลองดูว่าความเชื่อ หรือศรัทธาเรื่องไหนที่ผมเห็นว่าเราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
 
เรื่องแรกคือ เชื่อว่าเราสามารถคำนวณ Intrinsic Value หรือมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นได้แม่นยำ และผิดพลาดมากในระดับทศนิยม และถ้าราคาหุ้นต่ำกว่านั้นมาก ทำให้เรามี  Margin Of Safety (MOS) มากพอ เราก็จะซื้อหรือถือหุ้นไว้ไม่ว่าสถานการณ์ตลาดจะเป็นอย่างไร หลายคนพร้อม "ตีแตก" ถ้า  MOS  สูงลิ่ว
 
ประเด็นคือ มูลค่าที่แท้จริง ถ้าจะคำนวณจริงๆ ต้องมีสมมุติฐานสำคัญคือ ต้องรู้ว่ากำไรของบริษัทในอนาคตระยะยาวมากเป็นอย่างไร เงินสดหรือปันผลที่เราจะได้เท่าไร และจะโตอย่างไร นอกจากนั้น ต้องรู้ถึงต้นทุนของเงินทุนในตลาดด้วย ทั้งหมดนั้น ถ้าเปลี่ยนแปลงผิดจากที่คาดไว้ แม้เพียงเล็กน้อย มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปมากมาย  
 
หลายคนอาจใช้สูตรง่ายๆ แบบหยาบๆ เช่น ใช้ค่า PE ว่า กิจการควรมีค่า PE 15 เท่า ถ้ารู้ว่ากำไรปีนี้จะเป็นเท่าไร ก็หามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นได้ แต่นี่ไม่ใช่มูลค่าที่แท้จริงแน่ๆ ยกเว้นว่า กำไรของบริษัทปีต่อๆ ไปอีกยาวนาน ในอนาคตไม่ลดลง และค่า PE ยังเป็น 15 เท่า ไม่ใช่ 7 เท่า 
 
ในความคิดของผม มูลค่าที่แท้จริงที่เราคิดไว้ จะเป็นช่วงที่กว้างไม่ใช่เลขตัวเดียว ที่จริงผมสนใจเฉพาะหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าหุ้นที่ต่ำที่สุดที่ผมคำนวณ ได้ ส่วนมูลค่าหุ้นที่สูงที่สุด ผมแทบไม่สนใจที่จะคำนวณ เหนือสิ่งอื่นใด มูลค่าหุ้นเติบโตและลดลงได้ตามเวลาที่ผ่านไป
 
เรื่องที่สองคือ  VI จำนวนมากไม่เชื่อเรื่อง  Efficient Market หรือตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ พวกเขาคิดว่า "นายตลาด" ผิดพลาดเสมอ นายตลาดเป็นคนที่ "คุ้มดีคุ้มร้าย" ตามที่เบน เกรแฮม บอกไว้ เขาให้ราคาหุ้นที่ไม่มีเหตุผล บางครั้งก็สูงเกินพื้นฐานมาก บางครั้งก็ต่ำกว่าพื้นฐาน เราสามารถฉกฉวยประโยชน์โดยซื้อหุ้นที่มีราคา "ถูมากๆ" หรือขายหุ้นที่มีราคา "แพงมากๆ" ได้
 
ผมก็เชื่อว่าหุ้นบางตัว และตลาดหุ้นบางสถานการณ์ มีหุ้นที่มีราคาแตกต่างจากมูลค่าพื้นฐานจริงๆ โดยเฉพาะบริษัทที่ถูกละเลยไม่มีคนสนใจ และเป็นหุ้นขนาดเล็ก แต่หุ้นที่มีขนาดใหญ่ หรือหุ้นที่มีคนซื้อขายและติดตามมากๆ หรือเป็นหุ้น "ยอดนิยม" ราคาหุ้นอาจจะสะท้อนพื้นฐานได้ใกล้เคียง  
 
พูดง่ายๆ ราคาหุ้นโดยเฉลี่ยเหมาะสม จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำกำไรได้สูงมากๆ แบบง่ายๆ ได้ ดังนั้น "นายตลาด" ก็คือคนทุกคนที่มาเล่นหุ้นตัวที่เรากำลังเล่นอยู่  บางครั้งอาจจะเห็นว่าคนอื่น รู้น้อยกว่าเรา จำนวนมากเล่นหุ้นโดยไม่เคยวิเคราะห์ด้วยซ้ำไป 
 
แต่อย่าลืมว่า มีคนอื่นอีกหลายคน ที่อาจรู้มากกว่าเรา ที่สำคัญ พวกเขามี "น้ำหนัก" หรือเม็ดเงินสูงมาก ถ้าคำนวณแล้ว อาจมีฝีมือ หรือความรู้ในตัวหุ้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ถ่วงน้ำหนักแล้ว ผลคือ ที่คิดว่าเรา "แน่" นั้น ที่จริงเราเป็น "หมู" อย่าลืมว่าแม้แต่ เบน เกรแฮม ก่อนตายยังยอมรับว่า ตลาดหุ้นอเมริกาได้พัฒนาจน "มีประสิทธิภาพ" ไม่เหมือนสมัยที่เขาเสนอแนวการลงทุนแบบ VI ย้อนหลังไปหลายสิบปี
 
เรื่องที่สามคือ ความเชื่อที่ว่า ถ้าต้องการทำผลตอบแทนการลงทุนที่สูงต่อเนื่องยาวนานได้ ต้องซื้อหุ้นที่ Undervalue หรือหุ้นถูก และขายหุ้นที่ Overvalue หรือ Fair Value หรือหุ้นที่แพง หรือเต็มมูลค่า ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะทำให้ได้ผลตอบแทนปีละ 30-40% หรืออาจมากกว่านั้นได้ในระยะยาวอาจเป็นสิบๆ ปี ด้วยวิธีนี้  เราอาจถือหุ้นแต่ละตัวโดยเฉลี่ยไม่เกินหนึ่งปี   
 
การที่ได้ผลตอบแทนสูงแบบนี้ได้ เพราะหุ้นแต่ละตัว เมื่อมีราคาถูก เป็นหุ้น VI จะมีโอกาสมี  Rerate หรือการปรับราคาใหม่ คือมีช่วงที่หุ้นวิ่งขึ้นไปเร็วๆ บางทีเป็นเท่าตัว หรือหลายเท่าตัว เมื่อมีคนมาพบและ "แห่" เข้ามาซื้อ ทำให้ราคาขึ้นไปแรงมาก ทำให้หุ้นอาจไม่ Undervalue ต่อไป จึงต้องขายทำกำไรไปหาหุ้นตัวอื่น พวกเขาคิดว่า การซื้อแล้วถือไว้ยาวนาน จะไม่มีทางทำกำไรได้มาก เพราะระยะยาว แม้แต่หุ้นระดับ "ซุปเปอร์สต็อก" มักมีกำไรเติบโตไม่เกิน15-20% ต่อปี ซึ่งราคาหุ้นจะวิ่งไปตามผลกำไร คือปีละประมาณไม่เกิน 15-20%
 
เหตุที่ผมคิดว่า ความเชื่อนี้อันตรายอยู่ที่ว่า ทำให้เรามีแนวโน้มเป็น Trader หรือนักเก็งกำไรแทนจะเป็นนักลงทุน ในระยะสั้นๆ ช่วงตลาดหุ้นบูม การเทรดหุ้นอาจทำกำไรได้ดีปีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์ติดต่อกันบางที 3-4 ปี แต่ระยะยาว ถ้าช่วงตลาดไม่ได้เอื้อ การทำกำไรแบบนั้นเป็นเรื่องยาก การที่ถือหุ้นที่เป็นบริษัทยอดเยี่ยมและทำกำไรปีละ 15-20% ต่อเนื่องยาวนานจะปลอดภัยกว่า และผมเชื่อว่าโดยรวมจะให้ผลตอบแทนดีกว่า
 
สุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึงคือ ความเชื่อที่ว่า หุ้นที่มีค่า  PE และ PB  ต่ำมาก คือหุ้นที่มีราคาถูกและเป็นหุ้น VI แน่นอนโดยไม่ได้พิจารณาลึกซึ้งถึงพื้นฐานของกิจการ อันตรายของความเชื่อคือ ประการแรก ค่า B หรือมูลค่าทางบัญชีของบริษัท เป็นมูลค่าอดีตที่บริษัทลงทุนไปในรูปการซื้อทรัพย์สินเช่น โรงงาน อุปกรณ์ แต่มูลค่าที่แท้จริง หรือราคาตลาดของทรัพย์สิน อาจน้อยกว่ามาก 
 
ตัวอย่างคือมูลค่าโรงงานและเครื่องจักรสิ่งทอของบริษัทเบิร์กไชร์ของบัฟ เฟตต์ ตอนที่ต้องปิดกิจการ ราคาขายเท่ากับเศษเหล็ก ดังนั้น PB ที่ต่ำต่อเนื่องจึงอาจไม่มีความหมาย ต่อมาเมื่อค่า PE ลดลงต่ำมากเช่นกัน แต่นี่อาจเป็นเพราะกำไรในปีนั้นดีขึ้นมาก เพราะภาวะอุตสาหกรรม เช่น ราคาสินค้า หรือวัตถุดิบที่เป็นโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้น หรือลงชั่วคราวที่ทำให้กำไรของบริษัทกระโดดขึ้นเพียงปีหรือสองปี  
 
หลังจากนั้นค่า PE อาจกลับมาสูงอย่างเดิม ดังนั้น ค่า PE ที่เห็นว่าต่ำ ก็ไม่มีความหมายเช่นเดียวกัน สรุปแล้ว แม้หุ้นจะมีทั้งค่า  PE และ PB ที่ต่ำมาก ก็ไม่ได้เป็นหุ้นถูก ถ้าเราเข้าไปลงทุน และคิดว่าเรากำลังเจอหุ้นที่เป็นสุดยอด VI เราอาจขาดทุนได้มากอย่างไม่น่าเชื่อได้

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 18 กันยายน 2555

เล่นหุ้นตามกระแส


เมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว ช่วงที่ผมเรียนปริญญาเอกด้านการเงิน ที่เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น ทฤษฎีที่มาแรงที่สุดในขณะนั้น คือ Efficient Market Hypothesis หรือทฤษฎี "ตลาดที่มีประสิทธิภาพ" ซึ่งบอกว่า ราคาหุ้นที่ซื้อขายอยู่ในตลาดทุกตัว เป็นราคาที่เหมาะสมอยู่แล้ว ไม่มีตัวไหนถูกหรือแพง หุ้นตัวไหนจะขึ้นหรือลงในวันพรุ่งนี้ หรือเดือนหน้าเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้
 
ในระยะยาวแล้ว หุ้นโดยเฉลี่ยจะโตไปตามตลาด ซึ่งอาจจะให้ผลตอบแทนรวมปีละ 10% โดยเฉลี่ย ดังนั้นการใช้ข้อมูลอะไรมาวิเคราะห์พิจารณาเลือกซื้อหุ้น จึงไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะการดูข้อมูลราคา และปริมาณการซื้อขายหุ้นอย่างที่นักวิเคราะห์ทางเทคนิคใช้ เช่น แนวรับ แนวต้าน ข้อมูลกราฟราคาหุ้นย้อนหลัง 90 วัน 270 วัน หรือเส้นกราฟที่เรียกว่า Head and Shoulder ซึ่งนักวิเคราะห์บอกว่า เป็นรูปแบบที่ราคาหุ้นจะวิ่งไปเป็น 3 ช่วงที่เหมือนกับหัวไหล่ข้างซ้าย ศีรษะ  และหัวไหล่ข้างขวา พูดง่ายๆ นักวิเคราะห์ทางเทคนิค เชื่อว่าราคาหุ้นในอดีต สามารถบอกถึงทิศทางราคาหุ้นในอนาคตได้
 
นักวิชาการที่เชื่อในทฤษฎีตลาดหุ้น ที่มีประสิทธิภาพในขณะนั้น ได้ทดลองใช้ข้อมูลราคาหุ้นย้อนหลังพิสูจน์ และพบว่าราคาหุ้น เคลื่อนไหวไปอย่าง "ไร้ทิศทาง" ราคาหุ้นในวันนี้ ไม่ได้มีอะไรสัมพันธ์กับราคาหุ้นในวันก่อน เส้นกราฟราคาหุ้น ไม่มีรูปแบบ หรือแบบแผนที่แน่นอน แนวรับแนวต้านต่างๆ ไม่มีจริง ยิ่งรูปแบบที่เป็น "ไหล่ ศีรษะ ไหล่" เป็นเส้นที่เกิดจาก "จินตนาการ" เหมือนกับการดูก้อนเมฆ หรือถ้าเป็นคนไทย อาจเป็นเหมือนการหาตัวเลขจากขี้เถ้าของธูปที่ขดตัวไปมา
 
ว่าที่จริง  มีเรื่องเล่าว่าศาสตราจารย์คนหนึ่ง ลงทุนใช้คอมพิวเตอร์วาดกราฟราคาหุ้นแบบเดาสุ่มออกมา เสร็จแล้วก็หลอกให้นักศึกษาในชั้นเรียนด้านเทคนิควิเคราะห์ว่า "ราคาหุ้นจะไปทางไหน" ซึ่งนักศึกษาต่างใช้เทคนิคต่างๆ วิเคราะห์เป็นตุเป็นตะว่าหุ้นตัวนี้กำลัง "ฟอร์มตัว" อยู่ในช่วงไหนและจะไปอย่างไรทั้งๆ ที่เส้นกราฟนั้น เกิดขึ้นแบบเดาสุ่มจากคอมพิวเตอร์ และนั่นก็เป็นการ "ปิดฉาก" ของการวิเคราะห์แบบเทคนิคที่เคยเฟื่องฟูก่อนหน้านั้น
 
แต่เรื่องของการเล่นหุ้นนั้น ก็คงจะคล้ายๆ กับทฤษฎีทางสังคมอื่นๆ ที่มี "วัฏจักร" และมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เราเคยเห็นหุ้นตัวใหญ่มาแรง แล้วบางช่วงหุ้นตัวเล็กก็ให้ผลตอบแทนสูงลิ่ว บางช่วงหุ้นโตเร็วมาแรงแต่บางช่วงหุ้น Value ก็มาแรงกว่า การ "พลิกผัน" หรือเปลี่ยนแปลงนั้น เกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะในตลาดหุ้น กลยุทธ์ที่ได้ผลดีในช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อคนรู้มากเข้ากลยุทธ์ ก็จะได้ผลน้อยลง และอาจจะไม่ได้ผลอีกต่อไป คล้ายๆ กับว่า "ความสำเร็จมักจะทำลายตัวเอง" และนี่ก็นำมาสู่การกลับมาของกลยุทธ์ทางเทคนิคที่เริ่มมีการค้นพบว่า บางทีราคาหุ้นในอดีต อาจจะพอบอกถึงราคาที่หุ้นจะไปในอนาคตได้ กลยุทธ์ที่ว่าคือ การเล่นหุ้นโดยดูจาก Momentum หรือที่ผมจะใช้คำว่า "เล่นหุ้นตามกระแส"
 
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ในตลาดสหรัฐและประเทศอื่นๆ ค้นพบใหม่ว่า หุ้นที่มีราคาวิ่งขึ้นแรงๆ ในช่วงหนึ่งปี หรือหกเดือน มักจะมี  Momentum หรือมี "แรงเฉื่อย" ที่จะวิ่งต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ถึง 6 เดือน หรืออาจจะถึงหนึ่งปี ถ้าเราเล่นหุ้นเก็งกำไรสั้นๆ ก็สามารถลงทุนโดยทำเป็นพอร์ตหุ้น ที่ซื้อหุ้นที่มีราคาวิ่งแรงที่สุดในช่วงเวลาที่กล่าว เสร็จแล้วก็ขายหลังจากที่ถือไว้ในช่วงเวลาหนึ่ง ผลการศึกษาที่ให้ซื้อหุ้นที่ขึ้นแรงที่สุดช่วงปีที่ผ่านมาถือไว้ 3 เดือนให้ผลตอบแทนมากกว่าปกติ 10% ต่อปีเหนือกว่าตลาดซึ่งสูงมาก 
 
เช่นเดียวกัน  เราอาจเลือกหุ้นวิ่งแรงที่สุดรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา แล้วถือไว้ต่ออีก 6 เดือน นี่ก็ให้ผลตอบแทนที่งดงาม ถ้าถือหุ้นต่ออีก 3-5 ปี ผลตอบแทนกลับจะถดถอยลง กลยุทธ์เล่นหุ้นตามกระแส จึงไม่เหมาะกับนักลงทุนระยะยาว ว่าที่จริง มีการศึกษาว่า ถ้าเราซื้อหุ้นที่วิ่งขึ้นมาแรงติดต่อกัน 3 ปี แล้วถือยาวต่ออีก 3 ปี ผลตอบแทนที่ได้กลับเป็นลบ ทั้งหมดนี้ก็เป็นการขัดแย้งกับทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ ที่บอกว่าราคาหุ้นในอนาคตไม่สามารถคาดการณ์ได้ 
 
คำอธิบายว่าทำไมหุ้นที่ขึ้นมาแรงแล้วจึงมีโอกาสวิ่งต่อไปได้มากกว่าที่จะ นิ่งหรือลง คำตอบยังไม่ชัดเจนนัก อาจจะเป็นไปได้ว่าหุ้นที่ขึ้นแรง เป็นหุ้นที่ไม่ใคร่มีคนสนใจวิเคราะห์ติดตาม หรือมีสภาพคล่องต่ำ เวลาที่หุ้นขึ้นไปแรงๆ คนที่ถือหุ้นไว้ โดยเฉพาะรายย่อย อาจจะรีบขายออกไปก่อน ทำให้ราคาไม่ขึ้นไปแบบม้วนเดียวจบ แต่เมื่อราคาขึ้นไป คนอาจสนใจมากขึ้น และเข้ามาวิเคราะห์และอาจพบว่าพื้นฐานกิจการกำลังดีขึ้นมาก ดังนั้นจึงเข้ามาซื้อมากขึ้น และทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปอีก 
 
กระบวนการนี้อาจจะใช้เวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวหุ้นจึงวิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ แต่หลังจากนั้น คนจำนวนมาก หรือส่วนใหญ่อาจรู้ข้อมูลหมดแล้ว บางคนอาจเริ่มเห็นว่า ราคาที่ขึ้นไปสูงเกินพื้นฐานแล้ว เพราะหุ้นตัวนั้น "เก็งกำไร"  กันหนัก เขาจึงเริ่มขาย นักลงทุนคนต่อมา อาจเห็นเหมือนกัน ก็เริ่มขายในขณะที่คนที่จะซื้อเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ และนี่ทำให้การถือหุ้นที่ขึ้นมาแรงนานเกินไป โดยเฉพาะคนที่เข้ามาทีหลังขาดทุน ส่วนคนที่ออกไปก่อนในเวลาที่เหมาะสมทำกำไรได้งดงาม-ในหุ้นที่ไม่ใคร่มีคน สนใจติดตาม
 
ในตลาดหุ้นไทย ผมไม่แน่ใจว่า กลยุทธ์เล่นหุ้นตามกระแส หรือตามโมเมนตัมใช้ได้ดีแค่ไหน แม้ส่วนตัวจากการสังเกตช่วงเร็วๆ นี้ ผมรู้สึกว่าหุ้นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะหุ้นตัวเล็กที่มีสภาพคล่องต่ำมี "กระแส" ที่แรงมาก ผมไม่แน่ใจว่า ที่เป็นอย่างนั้นทั้งหมด เป็นเรื่องของกลไกตลาดตามปกติ หรือมีการ "ปั่น" กระแส ผสมโรงด้วยหรือไม่ ผมเพียงแต่รู้ว่าคนที่ "จับกระแส" ได้ถูกต้อง คือ เข้าและออกได้ถูกเวลา น่าจะทำกำไร "มโหฬาร" ขณะที่คนที่เข้าออกผิดเวลา กลับขาดทุนหนัก นอกจากนั้น ผมเองไม่แน่ใจว่า หลักเกณฑ์ที่ใช้ในตลาดหุ้นต่างประเทศจำนวนมากที่ให้ใช้หุ้นที่วิ่งแรงมาแล้ว หนึ่งปี หรือหกเดือนและขายในช่วง เดือน หรือ 6 เดือนตามลำดับ ใช้ได้กับตลาดหุ้นไทยไหม คนที่สนใจจะเล่นหุ้นตามกระแสต้องทดลองและ "เสี่ยง" กันเอง
 
อาจจะมีคำถามว่า ถ้าจะเล่นหุ้นตามกระแส แต่อยากจะลดความเสี่ยง โดยการเล่นเฉพาะหุ้นตัวใหญ่เช่นหุ้นใน Set 50 จะได้หรือไม่? คำตอบของผมก็คือ ได้แน่นอน การศึกษาในตลาดหุ้นต่างประเทศก็บอกว่า ผลตอบแทนก็จะน้อยลง หรือพูดง่ายๆ ถ้าหุ้นที่มีนักวิเคราะห์ติดตามมาก ซึ่งเป็นหุ้นตัวใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูง ราคาอาจจะวิ่งต่อไปไม่มากนักแม้ยังจะบวกอยู่
 
ที่พูดมาทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะแนะนำ หรือเชียร์ให้เล่นหุ้นตามกระแส เพราะโดยหลักการแล้ว คงไม่มีอะไรที่จะทดแทนหรือดีกว่าการวิเคราะห์หุ้นอย่างลึกซึ้ง และพิจารณาลงทุนตามหลักการแบบ VI ที่ผมเห็นว่าดี และปลอดภัยที่สุดในระยะยาว เพราะการลงทุนแบบใช้กฎเกณฑ์ที่ตายตัว อาจเปลี่ยนไปเมื่อไรก็ได้ ดังนั้นวันที่เราใช้อาจ "ล้าสมัย" ไปแล้วก็ได้ เหนือสิ่งอื่นใดคือ "ความสำเร็จแบบง่ายๆ ในตลาดหุ้น มักจะทำลายตัวเอง" 

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 11 กันยายน 2555

หุ้นขั้นเทพ


การวิเคราะห์ หุ้น มีปัจจัยที่ต้องพิจารณามากมาย ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ จึงเป็นเรื่องยากสำหรับนักลงทุนบางคน ที่อาจจะมีความรู้เชิงธุรกิจไม่มาก เพราะ อาจไม่ได้เรียนมาทางสายธุรกิจ หรือเพิ่งเข้าสู่ตลาดหุ้นเป็นนักลงทุนมือใหม่ และคงเป็นเหตุผลว่า ทำไมข้อสรุปของหุ้นแต่ละตัว จึงไม่เหมือนกันระหว่างนักลงทุนแต่ละคน  
 
หุ้นตัวหนึ่งนักลงทุนคนหนึ่ง อาจดูว่าดีมากเป็นซูเปอร์สต็อก ในขณะที่อีกคนหนึ่งมองเป็นหุ้นธรรมดาๆ หรือหุ้นตัวหนึ่งนักเล่นหุ้นคนหนึ่งบอกว่า เป็น Growth Stock หรือหุ้นโตเร็ว ขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่า เป็นหุ้นวัฏจักรที่เพียงแต่อยู่ในช่วงขาขึ้น และพร้อมจะลงในอนาคต  
 
วิธีที่จะดูว่าหุ้น หรือบริษัทที่เราสนใจ น่าจะดีหรือไม่อย่างง่ายๆ คือ หาปัจจัยที่สำคัญมากๆ มาเป็นเครื่องชี้ที่จะบอกว่าเป็นหุ้นดีหรือหุ้นแย่ ตัวอย่างเช่น ถ้าการตลาด หรือยี่ห้อของสินค้าของบริษัทนั้น แข็งแกร่งสุดยอดเหนือกว่าคู่แข่งมาก โอกาสสูงว่าหุ้นของบริษัทน่าจะดี โดยอาจจะไม่ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นมากหรือละเอียดนัก เป็นต้น
 
เครื่องชี้วัดที่สำคัญและวิเคราะห์ได้ง่ายตัวหนึ่ง ที่ผมคิดว่าน่าสนใจ และนำมาใช้ได้ในหุ้นเกือบทุกตัว คือ ตัวเลขของผลประกอบการ หรือกำไรในอดีต เพราะนี่คือผลงานที่บริษัททำได้มาแล้ว เป็น "ของจริง" ที่เกิดขึ้น และบอกไปถึงอนาคตได้ โดยเฉพาะกำไรที่เกิดขึ้น ถ้าเกิดจากผลการทำงานของบริษัทจริงๆ ไม่ได้เกิดจากภาวะแวดล้อม ที่ทำให้บริษัทกำไรดี พูดง่ายๆ บริษัทไม่ได้กำไรดี เพราะ "โชคดี" แต่บริษัทกำไรดี เพราะบริษัทมีฝีมือดี มีความสามารถเหนือคู่แข่ง
 
วิธีที่จะตัดประเด็นของ "โชค" ออกจากตัวเลขผลประกอบการ คือ การดูกำไรย้อนหลังไปหลายๆ ปี ถ้าเป็นเรื่องโชคแล้ว คงไม่เกิดติดต่อกันหลายๆ ปี น่าจะเกิดขึ้นไม่เกิน 2-3 ปี หลังจากนั้น จะกลับมาเป็นปกติ ซึ่งกำไรหลังจากนั้น จะแย่ลง และสรุปได้ว่า บริษัทคงไม่เก่งอะไรนัก ตรงกันข้าม ถ้าเรามองผลประกอบการย้อนหลังไปยาวๆ พบว่าบริษัทมีผลงาน หรือผลประกอบการที่น่าประทับใจมาตลอด  
 
ดังนั้น สรุปได้ว่า บริษัทนี้มีความสามารถในการแข่งขันสูง และแน่นอนในอนาคตต่อไป น่าจะทำกำไรได้ต่อเนื่องยาวนาน เพราะบริษัทก็เหมือนคน   ถ้าเก่งและมีความสามารถ อย่างไรก็ทำเงินได้ต่อไปในอนาคต
 
ข้อมูลผลกำไรย้อนหลัง ที่ผมคิดว่าน่าจะเพียงพอ ที่จะพิสูจน์ได้ว่า บริษัทดีจริงหรือไม่ น่าจะไม่น้อยกว่า 7-10 ปีขึ้นไป เพราะนอกจากจะตัดประเด็นเรื่องโชคของบริษัทแล้ว ยังตัดประเด็นเรื่องวัฏจักรของธุรกิจที่มีเวลาขึ้นลงไม่เกิน 3-5 ปีด้วย   
 
ถ้าจะหาปัจจัยสำคัญบางตัว ที่จะบอกว่าบริษัท หรือหุ้นดีหรือไม่ ผมคิดว่า ข้อมูลผลกำไรย้อนหลัง 7-10 ปี เป็นตัวสำคัญมากตัวหนึ่ง และข้อเสนอของผม คือ ถ้าบริษัทไหน มีกำไรสม่ำเสมอ และ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราตั้งแต่ 10% ต่อปีขึ้นไปมาตลอด โดยที่บริษัท ไม่ต้องเรียกเงินจากผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเลย ถือว่าบริษัทนั้น หรือ หุ้นตัวนั้น เป็นหุ้นที่ดีเยี่ยม โดยไม่ต้องไปดูปัจจัยอื่นมากมาย ถ้าจะใช้คำหรูๆ แบบที่วัยรุ่นใช้กับดาราชายที่หน้าตาดีมาก ว่า "หล่อขั้นเทพ" ผมก็อยากจะเรียกหุ้นที่มีผลประกอบการดังกล่าวว่าเป็น "หุ้นขั้นเทพ"
 
นอกจากตัวเลขผลกำไรแล้ว ปันผลก็เป็นตัวเลขหนึ่งที่สำคัญ ถ้าบริษัทจ่ายปันผลออกมาน้อย กำไรในอนาคตต้องมากขึ้นอยู่แล้ว ถ้าบริษัทจ่ายปันผลในแต่ละปีในอัตราสูงเช่นเกิน 50% ของกำไรแต่ละปีด้วย นี่เป็นตัวเสริมให้เป็นหุ้นเทพมากขึ้น ถ้าจ่ายปันผลต่ำ ความเป็นหุ้นขั้นเทพก็ลดลง
 
ความเป็นเทพมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการเติบโตของกำไรเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมา ถ้ากำไรโตปีละถึง 15%  ขึ้นไป อาจเรียกว่าเป็นหุ้นเทพมาก แต่ถ้ากำไรโตต่ำกว่า 10%  แบบนี้ อาจเรียกว่า เทพธรรมดา หรือไม่เทพเลย ถ้ากำไรโตน้อยมากเพียงแค่ 4-5% เป็นต้น  
 
เช่นเดียวกัน ความสม่ำเสมอของกำไรในแต่ละปี ก็เป็นตัวบอกความเป็นเทพมากหรือน้อยได้ บริษัทที่มีกำไรแทบจะเพิ่มขึ้นทางเดียวปีต่อปี ไตรมาสต่อไตรมาส แบบนี้ก็เทพมาก แต่บริษัทที่มีกำไรสลับขึ้นลง และโดยเฉพาะที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงท้ายๆ แบบนี้ความเป็นเทพก็ด้อยลง
 
หุ้นเทพ โดยปกติราคาจะวิ่งขึ้นเสมอและต่อเนื่องยาวนาน ตราบที่แนวโน้ม กำไรยังโตขึ้นใกล้เคียงกับอดีต การถือหุ้นเทพ บางครั้งถือยาวเป็น 5 ปี 10 ปีได้ โดยไม่ต้องทำอะไร ในช่วงสั้นๆ แน่นอน หุ้นเทพอาจมีราคาสูง หรือต่ำจนดูเหมือนกับว่า Overvalue หรือ Undervalue แต่ไม่ควรมีปฏิกิริยาอะไรนัก ยกเว้นจะเกินไปมาก เหตุผล คือ ในที่สุดจะ "กลับมา" คือหุ้นก็ จะขึ้นต่อไปตามผลประกอบการ 
 
ผมเองเคยพบนักลงทุนหลายคนที่พยายาม "เล่นสั้นๆ" ในหุ้นเทพ นั่นคือ เขาจะขายเมื่อหุ้นขึ้นไปแรง เสร็จก็กลับเข้าไปเก็บ เมื่อหุ้นเทพปรับตัวลงมา  ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ผมไม่แน่ใจว่าสุดท้ายคุ้มค่าไหม เพราะบางครั้งต้องกลับไปซื้อในราคาแพงขึ้น เพราะหุ้นไม่ตกกลับลงมาตามที่คาด บางคนที่ "ขายหมู" ไปแล้วก็ไม่กลับมาซื้ออีก และทำให้พลาด "กำไร" มหาศาลที่ตามมาอีกหลายๆ  ปี
 
ข้อจำกัดของการลงทุนในหุ้นเทพ มีพอสมควร เหตุผลหนึ่งคือหุ้นเทพ มักจะไม่ถูก นั่นทำให้ VI จำนวนมากหลีกเลี่ยงที่จะลงทุน พวกเขามักจะดูว่ากำไรที่โตขึ้นต่อปีของหุ้นขั้นเทพ "ไม่ใคร่สูง" เช่น "แค่ 15%" แต่ค่า PE ของหุ้นอาจจะสูงถึง 20 เท่า หรือมากกว่า ดังนั้น ค่า PEG หรือค่า PE เมื่อเทียบกับการเติบโตนั้นสูงกว่า 1 เท่า  
 
ตาม "ตำรา" ต้องบอกว่า ไม่คุ้มที่จะลงทุน ประเด็นนี้ผมคิดว่าค่า  PEG อาจจะใช้ไม่ได้กับเรื่องของหุ้นเทพ และส่วนใหญ่ที่ใช้กันก็มักจะมอง Growth หรือการเติบโตของกำไรไปแค่ 3-4 ปี  ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของหุ้นเทพ
 
ข้อจำกัดต่อมาของหุ้นเทพ คือ บางบริษัทเพิ่งเข้าจดทะเบียนไม่นาน จึงมีข้อมูลไม่พอ แต่ถ้าบริษัทนั้นกลายเป็นหุ้นเทพจริงๆ ในเวลาต่อมา การลงทุนในหุ้นขั้นเทพตั้งแต่ตอนต้น อาจทำกำไรได้มหาศาล เพราะราคาหุ้นในขณะนั้นอาจจะไม่สูง และนี่นำมาสู่ข้อที่ต้องระวัง ที่สำคัญการลงทุนในหุ้นเทพ คือ ต้องพิจารณาดูว่า หุ้นเทพที่เราดูอยู่กำลังอยู่ในหุ้นเทพ "ขั้นสุดท้าย" หรือเปล่า นั่นคือ  การเติบโตของกำไรของหุ้นเทพ ใกล้สิ้นสุดหรือยัง
 
ขณะที่ราคาหุ้นเทพขึ้นไปสูงมาก ถ้าเราเข้าไปลงทุนช่วงที่บริษัทเริ่มอิ่มตัว ไม่สามารถโตต่อไปได้แล้วด้วยเหตุผลต่างๆ ในที่สุด ราคาหุ้นก็อาจปรับตัวลงไปเรื่อยๆ โดยไม่กลับขึ้นมาอีก หุ้นเทพส่วนมาก มักจะมีอายุค่อนข้างยาว บางบริษัทอย่างหุ้นวอลมาร์ทในอเมริกานั้นเติบโตยาวนานหลายสิบปี 
 
การสรุปว่าหุ้นขั้นเทพตัวที่มองอยู่ "หมดยุค" แล้ว ต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยทั่วไป หุ้นขั้นเทพที่ไม่ใช่หุ้นไฮเทค ถ้าจะตกต่ำลง ก็จะใช้เวลาเป็นปีๆ  หรือหลายๆ ปี ความจำเป็นต้องรีบขายจึงไม่มี

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 4 กันยายน 2555

เล่นหุ้นตามผลประกอบการ


การเล่นหุ้น หรือการลงทุนให้ได้กำไรดีในระยะยาว สำหรับคนจำนวนมากเป็นเรื่องยาก เหตุผลก็คือ พวกเขาไม่มีความรู้ หรือความสามารถในการวิเคราะห์กิจการ  นอกจากนั้น เขาไม่รู้ว่าอะไรคือหุ้นแพง และอะไรคือหุ้นถูก เมื่อเทียบกับคุณภาพของกิจการ 
 
คนจำนวนไม่น้อยจึงชอบ "เล่นหุ้นตามข่าว" นั่นก็คือ เขาจะซื้อหรือขายหุ้น ตามข่าวที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์วันต่อวัน เช่น บริษัทประกาศจ่ายหุ้นปันผลในอัตราที่น่าสนใจ พวกเขาเข้าไปซื้อ ถือไประยะหนึ่ง อาจจะหลังได้รับปันผลแล้วก็ขาย เป็นต้น 
 
การทำแบบนี้ พวกเขาคิดว่าจะได้กำไร แต่นี่เป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้องหรือไม่ ผมไม่รู้ บริษัทไม่ได้ประกาศหุ้นปันผลทุกตัวหรือทุกปี การเล่นหุ้นตามข่าวนี้ อาจต้องรอนาน และอาจไม่มีหุ้นให้เล่นพอ แน่นอน มีข่าวอื่นๆ ให้เล่นได้ทุกวัน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีกลยุทธ์ไหนที่ชัดเจนว่า ถ้าเล่นตามข่าวแล้วจะได้กำไร ข่าวแบบเดียวกัน หุ้นตัวหนึ่งอาจได้กำไร แต่อีกตัวหนึ่งอาจขาดทุน รวมๆ แล้ว การเล่นหุ้นตามข่าววันต่อวัน ผมคิดว่าไม่คุ้ม เพราะเราต้องเสียค่าคอมมิชชั่นสูง เพราะต้องซื้อขายบ่อยมาก
 
ถ้าจะเล่นหุ้นตามข่าวแบบได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ และเป็นระบบ ผมคิดว่า กลยุทธ์ที่น่าสนใจ และมีการศึกษาทางวิชาการว่า ทำเงินได้จริง ก็คือ การเล่นหุ้น ตาม "ผลประกอบการ" วิธีการ คือ เราจะซื้อหรือขายหุ้นในวันที่มีการประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส ถ้าหุ้นตัวไหนมีผลประกอบการดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้มาก เราก็ซื้อ ถ้าหุ้นตัวไหนมีผลประกอบการณ์แย่กว่าที่ประมาณการมาก เราก็ขาย หรือขายชอร์ต
 
หุ้นที่มีผลประกอบการดีกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก ราคาจะปรับตัวขึ้นไปมากกว่าตลาดโดยรวมช่วงหนึ่งไตรมาส หรือหนึ่งปีข้างหน้า จริงอยู่ ในวันแรกที่มีการประกาศผล ราคามักจะวิ่งขึ้นไปแล้ว เราต้องซื้อแพงขึ้นกว่าวันก่อนหน้าไม่น้อย เช่น อาจจะขึ้นไป 2-3% แต่ราคายังขึ้นไปได้อีก โดยเฉพาะหนึ่งไตรมาสข้างหน้า หุ้นอาจขึ้นไปต่อได้อีก 7-8% ถึงซื้อแพงขึ้นในวันแรกที่ประกาศงบ ก็ยังคุ้มมาก
 
ในทางตรงกันข้าม หุ้นที่ประกาศผลประกอบการที่แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์มาก มักมีราคาลดลงทันทีในวันประกาศ เช่น ตกไป 3-4% เราควรขายทันทีอย่ารอให้ "กระเด้ง" ขึ้นมา เพราะเป็นไปได้ว่า ถ้ารอไปเรื่อยๆ จนครบหนึ่งไตรมาส ราคาอาจตกลงอีก 7-8% ถ้ามีหุ้นต้องขาย แต่ถ้าไม่มีหุ้น อาจจะพิจารณาขายชอร์ตเซล ซึ่งจะทำให้ได้กำไร เมื่อราคาหุ้นตกลงไปต่อตามที่คาด
 
ทั้งสองกรณีที่กล่าวนั้น ตั้งสมมุติฐานว่า ภาวะตลาดหุ้น "ปกติ" คือ ดัชนีหุ้นไม่ได้ขึ้นหรือลงอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าตลาดหุ้นลงหนักช่วงไตรมาสที่ตามมา เป็นไปได้ว่าแม้หุ้นที่ประกาศผลกำไรสูงกว่าที่คาดการณ์มากอาจตกลงมาได้ ถ้าจะให้เราได้กำไรแน่นอน ไม่ว่าภาวะตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร ควรต้องทั้งซื้อหุ้นที่กำไรสูงกว่าคาด และขายชอร์ตหุ้นที่ทำกำไร แย่กว่าที่คาดในเม็ดเงินที่เท่าๆ กัน ซึ่งจะทำให้พอร์ตเรา "เป็นกลาง" กับภาวะตลาดหุ้น นั่นก็คือ ตลาดหุ้นจะขึ้นหรือตลาดหุ้นจะตก เราก็ได้กำไร ถ้าแนวทางการเล่นหุ้นตามผลประกอบการนี้เป็นจริง
 
คำถามอาจเกิดขึ้นว่า อะไรคือผลประกอบการที่คาดของตลาด คำตอบที่ดีที่สุด คือ ข้อมูล  Analyst Consensus หรือค่าเฉลี่ยการคาดการณ์กำไรของบริษัทโดยนักวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ทุกแห่ง ซึ่งจะเผยแพร่ในบทวิเคราะห์หุ้นอยู่แล้ว ถ้าหุ้นตัวไหนไม่มีข้อมูล ต้องคิดเอง เช่น ดูแนวโน้มการเติบโตของกำไรในอดีตว่าโตเท่าไรแล้วเอามาคาดว่า ผลประกอบการที่จะออกมาจะโตเท่าเดิม ถ้าบริษัทประกาศงบออกมาโตกว่าที่คาดมาก ก็ซื้อ และถ้าแย่กว่าที่คาดมาก ก็ขาย แต่การใช้คาดการณ์แบบนี้ ความถูกต้องอาจไม่ดีนัก
 
ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของการเล่นหุ้น ตามผลประกอบการ คือ หุ้นจำนวนมากโดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก มักจะมีนักวิเคราะห์ติดตาม และทำบทวิเคราะห์น้อยหรือไม่มีเลย เราต้องจำกัดหุ้นที่จะเล่นไว้เฉพาะในกลุ่ม ที่ค่อนข้างใหญ่และมีสภาพคล่องที่สูง นี่อาจจะไม่ใช่ข้อเสีย แม้เราอาจพลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทน "มโหฬาร" หลายๆ ตัวไป เพราะความเสี่ยงของเราในการเล่นหุ้นก็น่าจะต่ำลง
 
จำนวนหุ้นที่เราต้องซื้อลงทุน ผมคิดว่า ควรจะต้องมากพอสมควร เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง เพราะนี่เป็นเรื่องสถิติ ไม่ใช่ว่าการซื้อหุ้นที่มีผลประกอบการที่ดีกว่าที่คาดมากทุกตัวจะได้กำไร การศึกษาเพียงแต่บอกว่าโดยเฉลี่ยแล้ว จะได้กำไร โดยส่วนตัวผมคิดว่าอย่างน้อย ต้องมีหุ้นไม่น้อยกว่า 10 ตัว นี่ก็นำมาสู่ประเด็นว่า เราจะเลือกหุ้นที่มีผลประกอบการดีกว่าที่คาดการณ์ตั้งแต่กี่เปอร์เซ็นต์ขึ้น ไป    
 
อีกประเด็นหนึ่ง ต้องพิจารณา คือ การขายชอร์ตหุ้นว่าเราจะทำแค่ไหน เพราะ การชอร์ต โดยตัวเอง เป็นความเสี่ยงค่อนข้างสูง คนส่วนใหญ่ อาจไม่เหมาะที่จะทำ ดังนั้น พอร์ตเล่นหุ้นตามผลประกอบการของเรา จึงอาจไม่สมบูรณ์ และไม่การันตี ว่า ต้องได้กำไรร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร เพียงแต่เป็นพอร์ตที่น่าจะมีโอกาสทำกำไรได้สูงกว่าปกติโดยที่เราไม่จำเป็น ต้องเป็น "เซียน" และไม่ต้องทำงานหนัก
 
สุดท้าย คือ คำถามสำคัญที่ว่า พฤติกรรมของหุ้นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นจริงหรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาเหมือนอย่างกลยุทธ์ทำกำไร หุ้นแบบอื่นๆ ซึ่งมาแล้วก็ไปตามแฟชั่นหรือตามช่วงเวลา คำตอบ คือ การศึกษาในตลาดหุ้นอเมริกาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลจริง แต่เมืองไทยไม่แน่ใจว่ามีใครทำการศึกษาไว้บ้างหรือไม่ การคาดการผลประกอบการโดยนักวิเคราะห์ เพิ่งมีไม่นาน ในตลาดหุ้นไทยต้องบอกว่า ต้อง "ดูกันต่อไป" และเราอาจเป็นคนลองทำดูก่อนก็อาจจะได้ผลดีก็ได้
 
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ราคาหุ้นไม่สนองตอบต่อการประกาศผลประกอบการอย่าง เต็มที่และทันที นี่คือ สิ่งที่นักวิชาการ ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน โดยทฤษฎีแล้ว  ถ้าตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพ ราคาหุ้นต้องสะท้อนรับข่าวผลประกอบการทั้งหมดทันที นั่นคือ ราคาหุ้นต้องวิ่งขึ้นไปตามผลประกอบการที่ดีขึ้น ถ้าดีกว่าประมาณการมาก  ราคาหุ้นก็ต้องขึ้นไปมากตั้งแต่วันแรก คนที่เข้าไปซื้อหุ้น หลังประกาศงบแล้ว ไม่ควรได้กำไรมากกว่าปกติ   
 
คำตอบที่มีคนเสนอขึ้นมา คือ หุ้นพวกนี้อาจมีความเสี่ยงมากขึ้น เมื่อประกาศงบที่ดีมากออกมา กล่าวคือ อนาคตกำไรจะไม่โตเท่าเดิม การเล่นหุ้นแบบนี้ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น นักวิชาการบางคนเสนอว่า อาจเป็นเรื่อง การ "ย่อยข้อมูล" ที่ต้องใช้เวลาของนักลงทุน นั่นคือ การประกาศงบวันแรก นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นสถาบันยังไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไร จะซื้อหรือขาย ทำให้ราคาหุ้นไม่สะท้อนข้อมูลทั้งหมด หลังจากนั้น พวกเขาจึงเข้ามาซื้อ ซึ่งทำให้ราคาค่อยๆ ปรับตัวขึ้นไปเป็นเวลาหนึ่งไตรมาส หรือเป็นปี ไม่ว่าเหตุผลคืออะไร นี่คือ การเล่นหุ้นตามข่าวที่น่าสนใจแบบหนึ่ง

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 28 สิงหาคม 2555

สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์

เมื่อคนมีอายุ มากขึ้น อาจจะตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป พวกเขามีแนวโน้ม "มองไปข้างหลัง" นั่นคือ แทนที่จะ "มองไปข้างหน้า" คิดถึงอนาคตที่ "สดใส"
เมื่อคนมีอายุมากขึ้น อาจจะตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป พวกเขามีแนวโน้ม "มองไปข้างหลัง" นั่นคือ แทนที่จะ "มองไปข้างหน้า" คิดถึงอนาคตที่ "สดใส" ที่จะเกิดขึ้น หรืออนาคตที่เขาจะสร้างมันให้กับตัวเอง คิดถึงความร่ำรวยและชื่อเสียง คิดถึงชีวิตครอบครัวและลูกที่เขาจะมีหรือลูกที่จะเติบโตขึ้น คนอายุมากกลับนึกถึง วันเก่าๆ ที่พวกเขาผ่านมา คิดถึง "ความสุข" ที่ได้เคยสัมผัส คิดถึงเรื่องราวความประทับใจต่างๆ ที่ได้ประสบมา พวกเขามักจะรู้สึกว่า สิ่งเก่าๆ เหล่านั้น เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และที่สำคัญ ก็คือ ให้ความสุขด้านจิตใจมากกว่าสิ่งใหม่ๆ แม้จะไม่มีความสะดวกสบายเทียบเท่า ดังนั้น คนที่มีอายุมากจำนวนมากจึงพยายาม "ปฏิเสธ" แนวความคิดและวิถีชีวิตแบบคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นหนุ่มสาว อาการแบบนี้ เกิดขึ้นได้แม้กับคนที่เคยมีความคิดก้าวหน้ามากที่สุด และประสบความสำเร็จสูงมากในยามที่เขายังเป็นหนุ่มสาว   

พูดอีกแบบหนึ่ง คือ พวกเขาติดยึดกับ "อดีตที่รุ่งเรือง" และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับปัจจุบัน และอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปมากได้ พวกเขากลายเป็นคนที่ "ล้าสมัย" เป็น "สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์" อย่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาสมัย 14 ตุลา 16 เคยพูดไว้ถึงสถานะของตัวเอง เมื่อออกจากป่าเข้ามอบตัวกับรัฐบาลปี 2522

ที่จริงช่วงที่อาจารย์ เสกสรรค์ พูดนั้น เขายังหนุ่มมาก แต่ดูเหมือนเขาจะยอมรับว่า แนวความคิดและความเชื่อทางการเมืองที่มีมาแต่เดิม ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นขณะนั้น จีนกับโซเวียตรัสเซียเกิดความขัดแย้งกันรุนแรง ส่งผลให้แนวทางการต่อสู้ของนักศึกษาที่เข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลไทยผิดทางไปหมด และใช้ไม่ได้อีกต่อไป พวกเขาจึงออกจากป่าเพื่อหาหนทางใหม่ บางคนกลายเป็นสิ่งชำรุดที่ "ไม่สามารถแก้ไขได้" ตลอดกาล

ผมเกริ่นเรื่องแนวความคิดทางการเมือง เพราะการติดยึดกับอดีต และจำคำประทับใจที่ได้ฟังช่วงวัยหนุ่มได้ นี่เป็นอาการของคนสูงอายุอย่างที่พูด ผมตระหนักอยู่เสมอว่า ความ "ล้าสมัย" ของผม พร้อมที่จะเกิดได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะปัจจุบันที่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลง เร็วจนไม่น่าเชื่อ สิ่งที่ผมจำได้เมื่อยังเป็นเด็กหรือคนหนุ่มนั้น เดี๋ยวนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น และเราต้องยอมรับ เราไม่สามารถฝืนกระแสได้  ต้องยอมรับว่าสิ่งที่คนแก่ หรือคนมีอายุทำนั้น มักจะกลายเป็นอดีตไม่ช้าก็เร็ว สิ่งใดที่คนหนุ่มสาว หรือเด็กคิด และทำ แตกต่างจากคนสูงวัย จึงกลายเป็นอนาคต ถ้าเราจะพูดถึง "กระแส" หรือแนวโน้ม หรือทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ทางหนึ่ง คือ การดูว่าคนหนุ่มสาว หรือเด็กคิดหรือทำอย่างไร

ลองมาดูว่า อะไรคือความแตกต่างระหว่างที่ผมยังเป็นหนุ่ม กับปัจจุบันที่คนหนุ่มสาวกำลังทำ จะเห็นการเคลื่อนไหว หรือการเปลี่ยนแปลงที่กำลังดำเนินไป เริ่มตั้งแต่ด้านสังคม สิ่งที่ผมเห็นว่าเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากที่สุด คือ ความเสมอภาคระหว่างหญิงกับชาย เรื่องการ "รักนวลสงวนตัว" ในสมัยที่ผมยังเป็นวัยรุ่นสำคัญมาก เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เดี๋ยวนี้แทบไม่พูดกันแล้ว เช่นเดียวกับการที่ผู้ชายเป็น "ช้างเท้าหน้า" เป็นผู้นำครอบครัว เดี๋ยวนี้ลดดีกรีลงมาก เรื่องที่สอง คือ การเมือง ที่ผมเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้ามาเป็นเวลานาน แต่ระยะหลังๆ นี้ สิบปีที่ผ่านมา ตอนนี้เห็นชัดว่า ทิศทางเปลี่ยนไปเป็นระบบเสรีประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยแบบทุนนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ 

เหตุผลของผม คือ คนสูงอายุ ค่อนข้างยึดหลักจารีตนิยมมาก แต่คนหนุ่มสาววันนี้ มีแนวความคิด "เสรี" มากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาไม่สนใจ หรือไม่ได้ยึดแนวความคิดเรื่อง "อาวุโส" หรือนิยมชมชอบเรื่อง "ชาติกำเนิด" หรือตำแหน่งทางสังคม มากเหมือนในสมัยก่อน พวกเขาสนใจเรื่องว่าใครมีเงิน หรือมีความสามารถส่วนตัวมากกว่ากันว่า ที่จริงเงินกลายเป็นเครื่องวัดความเป็น "ไฮโซ" ในปัจจุบันไปแล้ว คือ แนวทางของสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่นั่นเอง

ด้านเศรษฐกิจ คนไทยไม่ได้พึ่งพิงภาคเกษตรกรรมแบบที่ผมเห็นในสมัยที่เป็นหนุ่ม คนหนุ่มสาวสมัยนี้ อยู่ตามโรงงานและสถานที่ให้บริการต่างๆ มีแต่คนแก่ที่ยังทำไร่ทำนาในชนบท นับวัน คือ ประเทศไทยจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมและบริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คำพูดที่ว่า ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และปีนี้เศรษฐกิจดี เพราะข้าวหรือพืชผลการเกษตรดี จะมีความเป็นจริงน้อยลงไปเรื่อยๆ  

ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญ ที่ผมจะพูดถึง คือ ธุรกิจหรือบริษัทหรือหุ้นที่จะลงทุน เพราะนี่เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะชี้ว่า เราจะประสบความสำเร็จในการลงทุนแค่ไหน สิ่งที่ต้องวิเคราะห์และพิจารณา คือ บริษัทเรา เป็นบริษัทแห่งอนาคต หรือมีอนาคตที่สดใส หรือเป็นบริษัทที่กำลังจะกลายเป็น "สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์" นั่นคือ ต้องพิจารณาดูบริษัททำธุรกิจอะไร ขายสินค้าหรือให้บริการอะไร สินค้าหรือบริการมีโอกาสที่จะ "ล้าสมัย" และล้มหายตายจากไปจากตลาดหรือไม่   

นอกจากนั้น เราต้องดูว่า ผู้บริหารบริษัทที่เราลงทุน อาจจะกลายเป็น "สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์" หรือไม่ นั่นคือ ผู้บริหารอาจจะไม่ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นภัยคุกคาม หรือตระหนักแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การที่ผู้บริหารมีอายุมากเกินไป เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง จริงอยู่ คนแก่บางคนมีความคิดที่ทันสมัย แต่นี่อาจเป็นข้อยกเว้นที่เราต้องดูให้ดี

ในอดีตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก มักจะเป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้ความเสี่ยงเนื่องจากการล้าสมัยมีไม่มาก ปัจจัยนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่ แต่ยุคปัจจุบันผมคิดว่า นี่คือ ความเสี่ยง ที่ลืมคิดไม่ได้ ลองนึกดูสินค้าที่ล้าสมัยรวดเร็วจนบริษัทตั้งตัวไม่ทันพบว่ามีมากมาย ตัวอย่างเช่น กล้องถ่ายรูปรุ่นที่ต้องใช้ฟิล์มที่ถูกทำให้ล้าสมัยภายในไม่กี่ปี หลังจากอยู่มาเป็นร้อยปี หรือด้านการบินที่สายการบินโลว์คอสท์ มาแย่งชิงการนำจากสายการบินแบบเดิม และเร็วๆ นี้ที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล PC ที่โดนโน้ตบุ๊คแย่งตลาดและทำให้ล้าสมัย และต่อมาช่วงนี้ดูเหมือนว่า แทบเล็ต กำลังจะเข้ามาทำให้โน้ตบุคอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก นี่ยังไม่ต้องพูดถึง สมาร์ทโฟน ที่กำลังเข้ามาทำให้อะไรก็ตามที่ "อยู่กับที่" กลายเป็นสิ่งล้าสมัย ถ้าพูดไปต้องใช้หน้ากระดาษอีกมาก แต่ข้อสรุปก็เหมือนกันคือ ความ "ล้าสมัย" มีโอกาสเกิดขึ้นกับธุรกิจต่างๆ ได้มากมาย แม้แต่บริษัทที่โดดเด่นมากๆ

ผมคงไม่ต้องพูดว่า ชีวิตเราคือทรัพย์สินที่มีค่ามากสุด ดังนั้นต้องรักษาไว้ให้มีความ "ทันสมัย" อยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าต้องทำตัวให้ทันสมัย จิตใจและความคิดต่างหาก ที่ต้องตระหนักรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่า อะไรกำลังเกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะที่อยู่รอบตัวเรา นักลงทุนนั้น ชีวิตจะรุ่งเรือง หรือตกต่ำปัจจัยสำคัญอยู่ที่การรู้จักเลือก ทั้งเลือกหุ้น หรือกิจการที่จะลงทุน และเส้นทางการดำเนินชีวิตของตนเอง คำพูดปิดท้ายของผม คือคำพูดเท่ๆ อีกครั้งว่า เราต้องเลือก "ข้างที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์"  

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 21 สิงหาคม 2555