เมื่อคนมีอายุ มากขึ้น
อาจจะตั้งแต่ 50
ปีขึ้นไป พวกเขามีแนวโน้ม "มองไปข้างหลัง" นั่นคือ แทนที่จะ
"มองไปข้างหน้า" คิดถึงอนาคตที่ "สดใส"
เมื่อคนมีอายุมากขึ้น
อาจจะตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป พวกเขามีแนวโน้ม "มองไปข้างหลัง" นั่นคือ แทนที่จะ "มองไปข้างหน้า" คิดถึงอนาคตที่
"สดใส" ที่จะเกิดขึ้น หรืออนาคตที่เขาจะสร้างมันให้กับตัวเอง คิดถึงความร่ำรวยและชื่อเสียง
คิดถึงชีวิตครอบครัวและลูกที่เขาจะมีหรือลูกที่จะเติบโตขึ้น คนอายุมากกลับนึกถึง
วันเก่าๆ ที่พวกเขาผ่านมา คิดถึง "ความสุข" ที่ได้เคยสัมผัส
คิดถึงเรื่องราวความประทับใจต่างๆ ที่ได้ประสบมา พวกเขามักจะรู้สึกว่า สิ่งเก่าๆ
เหล่านั้น เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และที่สำคัญ ก็คือ
ให้ความสุขด้านจิตใจมากกว่าสิ่งใหม่ๆ แม้จะไม่มีความสะดวกสบายเทียบเท่า ดังนั้น คนที่มีอายุมากจำนวนมากจึงพยายาม
"ปฏิเสธ" แนวความคิดและวิถีชีวิตแบบคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นหนุ่มสาว
อาการแบบนี้ เกิดขึ้นได้แม้กับคนที่เคยมีความคิดก้าวหน้ามากที่สุด และประสบความสำเร็จสูงมากในยามที่เขายังเป็นหนุ่มสาว
พูดอีกแบบหนึ่ง คือ
พวกเขาติดยึดกับ "อดีตที่รุ่งเรือง" และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับปัจจุบัน
และอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปมากได้ พวกเขากลายเป็นคนที่ "ล้าสมัย" เป็น "สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์"
อย่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาสมัย 14 ตุลา 16 เคยพูดไว้ถึงสถานะของตัวเอง
เมื่อออกจากป่าเข้ามอบตัวกับรัฐบาลปี 2522
ที่จริงช่วงที่อาจารย์
เสกสรรค์ พูดนั้น เขายังหนุ่มมาก แต่ดูเหมือนเขาจะยอมรับว่า แนวความคิดและความเชื่อทางการเมืองที่มีมาแต่เดิม
ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นขณะนั้น จีนกับโซเวียตรัสเซียเกิดความขัดแย้งกันรุนแรง
ส่งผลให้แนวทางการต่อสู้ของนักศึกษาที่เข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลไทยผิดทางไปหมด
และใช้ไม่ได้อีกต่อไป พวกเขาจึงออกจากป่าเพื่อหาหนทางใหม่
บางคนกลายเป็นสิ่งชำรุดที่ "ไม่สามารถแก้ไขได้" ตลอดกาล
ผมเกริ่นเรื่องแนวความคิดทางการเมือง
เพราะการติดยึดกับอดีต และจำคำประทับใจที่ได้ฟังช่วงวัยหนุ่มได้ นี่เป็นอาการของคนสูงอายุอย่างที่พูด
ผมตระหนักอยู่เสมอว่า ความ "ล้าสมัย" ของผม พร้อมที่จะเกิดได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะปัจจุบันที่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลง
เร็วจนไม่น่าเชื่อ สิ่งที่ผมจำได้เมื่อยังเป็นเด็กหรือคนหนุ่มนั้น เดี๋ยวนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น
และเราต้องยอมรับ เราไม่สามารถฝืนกระแสได้ ต้องยอมรับว่าสิ่งที่คนแก่
หรือคนมีอายุทำนั้น มักจะกลายเป็นอดีตไม่ช้าก็เร็ว สิ่งใดที่คนหนุ่มสาว
หรือเด็กคิด และทำ แตกต่างจากคนสูงวัย จึงกลายเป็นอนาคต ถ้าเราจะพูดถึง "กระแส"
หรือแนวโน้ม หรือทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ทางหนึ่ง คือ การดูว่าคนหนุ่มสาว หรือเด็กคิดหรือทำอย่างไร
ลองมาดูว่า
อะไรคือความแตกต่างระหว่างที่ผมยังเป็นหนุ่ม กับปัจจุบันที่คนหนุ่มสาวกำลังทำ
จะเห็นการเคลื่อนไหว หรือการเปลี่ยนแปลงที่กำลังดำเนินไป เริ่มตั้งแต่ด้านสังคม สิ่งที่ผมเห็นว่าเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากที่สุด
คือ ความเสมอภาคระหว่างหญิงกับชาย เรื่องการ "รักนวลสงวนตัว" ในสมัยที่ผมยังเป็นวัยรุ่นสำคัญมาก
เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เดี๋ยวนี้แทบไม่พูดกันแล้ว เช่นเดียวกับการที่ผู้ชายเป็น "ช้างเท้าหน้า"
เป็นผู้นำครอบครัว เดี๋ยวนี้ลดดีกรีลงมาก เรื่องที่สอง คือ การเมือง ที่ผมเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้ามาเป็นเวลานาน
แต่ระยะหลังๆ นี้ สิบปีที่ผ่านมา ตอนนี้เห็นชัดว่า
ทิศทางเปลี่ยนไปเป็นระบบเสรีประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยแบบทุนนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
เหตุผลของผม คือ
คนสูงอายุ ค่อนข้างยึดหลักจารีตนิยมมาก แต่คนหนุ่มสาววันนี้ มีแนวความคิด "เสรี"
มากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาไม่สนใจ หรือไม่ได้ยึดแนวความคิดเรื่อง "อาวุโส" หรือนิยมชมชอบเรื่อง
"ชาติกำเนิด" หรือตำแหน่งทางสังคม มากเหมือนในสมัยก่อน
พวกเขาสนใจเรื่องว่าใครมีเงิน หรือมีความสามารถส่วนตัวมากกว่ากันว่า ที่จริงเงินกลายเป็นเครื่องวัดความเป็น
"ไฮโซ" ในปัจจุบันไปแล้ว คือ แนวทางของสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่นั่นเอง
ด้านเศรษฐกิจ คนไทยไม่ได้พึ่งพิงภาคเกษตรกรรมแบบที่ผมเห็นในสมัยที่เป็นหนุ่ม
คนหนุ่มสาวสมัยนี้ อยู่ตามโรงงานและสถานที่ให้บริการต่างๆ มีแต่คนแก่ที่ยังทำไร่ทำนาในชนบท
นับวัน คือ ประเทศไทยจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมและบริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คำพูดที่ว่า
ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และปีนี้เศรษฐกิจดี เพราะข้าวหรือพืชผลการเกษตรดี
จะมีความเป็นจริงน้อยลงไปเรื่อยๆ
ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญ
ที่ผมจะพูดถึง คือ ธุรกิจหรือบริษัทหรือหุ้นที่จะลงทุน เพราะนี่เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะชี้ว่า
เราจะประสบความสำเร็จในการลงทุนแค่ไหน สิ่งที่ต้องวิเคราะห์และพิจารณา คือ บริษัทเรา
เป็นบริษัทแห่งอนาคต หรือมีอนาคตที่สดใส หรือเป็นบริษัทที่กำลังจะกลายเป็น "สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์"
นั่นคือ ต้องพิจารณาดูบริษัททำธุรกิจอะไร ขายสินค้าหรือให้บริการอะไร สินค้าหรือบริการมีโอกาสที่จะ
"ล้าสมัย" และล้มหายตายจากไปจากตลาดหรือไม่
นอกจากนั้น
เราต้องดูว่า ผู้บริหารบริษัทที่เราลงทุน อาจจะกลายเป็น "สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์"
หรือไม่ นั่นคือ ผู้บริหารอาจจะไม่ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นภัยคุกคาม หรือตระหนักแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้
การที่ผู้บริหารมีอายุมากเกินไป เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง จริงอยู่
คนแก่บางคนมีความคิดที่ทันสมัย แต่นี่อาจเป็นข้อยกเว้นที่เราต้องดูให้ดี
ในอดีตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก
มักจะเป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้ความเสี่ยงเนื่องจากการล้าสมัยมีไม่มาก ปัจจัยนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่
แต่ยุคปัจจุบันผมคิดว่า นี่คือ ความเสี่ยง ที่ลืมคิดไม่ได้ ลองนึกดูสินค้าที่ล้าสมัยรวดเร็วจนบริษัทตั้งตัวไม่ทันพบว่ามีมากมาย
ตัวอย่างเช่น กล้องถ่ายรูปรุ่นที่ต้องใช้ฟิล์มที่ถูกทำให้ล้าสมัยภายในไม่กี่ปี หลังจากอยู่มาเป็นร้อยปี
หรือด้านการบินที่สายการบินโลว์คอสท์ มาแย่งชิงการนำจากสายการบินแบบเดิม และเร็วๆ
นี้ที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล PC ที่โดนโน้ตบุ๊คแย่งตลาดและทำให้ล้าสมัย
และต่อมาช่วงนี้ดูเหมือนว่า แทบเล็ต
กำลังจะเข้ามาทำให้โน้ตบุคอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก นี่ยังไม่ต้องพูดถึง สมาร์ทโฟน
ที่กำลังเข้ามาทำให้อะไรก็ตามที่ "อยู่กับที่" กลายเป็นสิ่งล้าสมัย
ถ้าพูดไปต้องใช้หน้ากระดาษอีกมาก แต่ข้อสรุปก็เหมือนกันคือ ความ "ล้าสมัย"
มีโอกาสเกิดขึ้นกับธุรกิจต่างๆ ได้มากมาย แม้แต่บริษัทที่โดดเด่นมากๆ
ผมคงไม่ต้องพูดว่า
ชีวิตเราคือทรัพย์สินที่มีค่ามากสุด ดังนั้นต้องรักษาไว้ให้มีความ "ทันสมัย"
อยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าต้องทำตัวให้ทันสมัย จิตใจและความคิดต่างหาก ที่ต้องตระหนักรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่า
อะไรกำลังเกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะที่อยู่รอบตัวเรา นักลงทุนนั้น ชีวิตจะรุ่งเรือง หรือตกต่ำปัจจัยสำคัญอยู่ที่การรู้จักเลือก
ทั้งเลือกหุ้น หรือกิจการที่จะลงทุน และเส้นทางการดำเนินชีวิตของตนเอง
คำพูดปิดท้ายของผม คือคำพูดเท่ๆ อีกครั้งว่า เราต้องเลือก "ข้างที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์"
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 21 สิงหาคม 2555
No comments:
Post a Comment