เมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว
ช่วงที่ผมเรียนปริญญาเอกด้านการเงิน ที่เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น
ทฤษฎีที่มาแรงที่สุดในขณะนั้น คือ Efficient Market Hypothesis หรือทฤษฎี "ตลาดที่มีประสิทธิภาพ" ซึ่งบอกว่า ราคาหุ้นที่ซื้อขายอยู่ในตลาดทุกตัว
เป็นราคาที่เหมาะสมอยู่แล้ว ไม่มีตัวไหนถูกหรือแพง
หุ้นตัวไหนจะขึ้นหรือลงในวันพรุ่งนี้ หรือเดือนหน้าเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้
ในระยะยาวแล้ว
หุ้นโดยเฉลี่ยจะโตไปตามตลาด ซึ่งอาจจะให้ผลตอบแทนรวมปีละ 10% โดยเฉลี่ย
ดังนั้นการใช้ข้อมูลอะไรมาวิเคราะห์พิจารณาเลือกซื้อหุ้น จึงไม่มีประโยชน์
โดยเฉพาะการดูข้อมูลราคา และปริมาณการซื้อขายหุ้นอย่างที่นักวิเคราะห์ทางเทคนิคใช้
เช่น แนวรับ แนวต้าน ข้อมูลกราฟราคาหุ้นย้อนหลัง 90 วัน 270
วัน หรือเส้นกราฟที่เรียกว่า Head and Shoulder ซึ่งนักวิเคราะห์บอกว่า เป็นรูปแบบที่ราคาหุ้นจะวิ่งไปเป็น 3 ช่วงที่เหมือนกับหัวไหล่ข้างซ้าย ศีรษะ และหัวไหล่ข้างขวา
พูดง่ายๆ นักวิเคราะห์ทางเทคนิค เชื่อว่าราคาหุ้นในอดีต
สามารถบอกถึงทิศทางราคาหุ้นในอนาคตได้
นักวิชาการที่เชื่อในทฤษฎีตลาดหุ้น
ที่มีประสิทธิภาพในขณะนั้น ได้ทดลองใช้ข้อมูลราคาหุ้นย้อนหลังพิสูจน์
และพบว่าราคาหุ้น เคลื่อนไหวไปอย่าง "ไร้ทิศทาง" ราคาหุ้นในวันนี้ ไม่ได้มีอะไรสัมพันธ์กับราคาหุ้นในวันก่อน
เส้นกราฟราคาหุ้น ไม่มีรูปแบบ หรือแบบแผนที่แน่นอน แนวรับแนวต้านต่างๆ ไม่มีจริง
ยิ่งรูปแบบที่เป็น "ไหล่ ศีรษะ ไหล่" เป็นเส้นที่เกิดจาก "จินตนาการ"
เหมือนกับการดูก้อนเมฆ หรือถ้าเป็นคนไทย
อาจเป็นเหมือนการหาตัวเลขจากขี้เถ้าของธูปที่ขดตัวไปมา
ว่าที่จริง มีเรื่องเล่าว่าศาสตราจารย์คนหนึ่ง
ลงทุนใช้คอมพิวเตอร์วาดกราฟราคาหุ้นแบบเดาสุ่มออกมา เสร็จแล้วก็หลอกให้นักศึกษาในชั้นเรียนด้านเทคนิควิเคราะห์ว่า
"ราคาหุ้นจะไปทางไหน" ซึ่งนักศึกษาต่างใช้เทคนิคต่างๆ วิเคราะห์เป็นตุเป็นตะว่าหุ้นตัวนี้กำลัง
"ฟอร์มตัว" อยู่ในช่วงไหนและจะไปอย่างไรทั้งๆ ที่เส้นกราฟนั้น เกิดขึ้นแบบเดาสุ่มจากคอมพิวเตอร์
และนั่นก็เป็นการ "ปิดฉาก" ของการวิเคราะห์แบบเทคนิคที่เคยเฟื่องฟูก่อนหน้านั้น
แต่เรื่องของการเล่นหุ้นนั้น
ก็คงจะคล้ายๆ กับทฤษฎีทางสังคมอื่นๆ ที่มี "วัฏจักร" และมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
เราเคยเห็นหุ้นตัวใหญ่มาแรง แล้วบางช่วงหุ้นตัวเล็กก็ให้ผลตอบแทนสูงลิ่ว บางช่วงหุ้นโตเร็วมาแรงแต่บางช่วงหุ้น
Value ก็มาแรงกว่า การ "พลิกผัน" หรือเปลี่ยนแปลงนั้น
เกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะในตลาดหุ้น กลยุทธ์ที่ได้ผลดีในช่วงเวลาหนึ่ง
เมื่อคนรู้มากเข้ากลยุทธ์ ก็จะได้ผลน้อยลง และอาจจะไม่ได้ผลอีกต่อไป คล้ายๆ กับว่า
"ความสำเร็จมักจะทำลายตัวเอง" และนี่ก็นำมาสู่การกลับมาของกลยุทธ์ทางเทคนิคที่เริ่มมีการค้นพบว่า
บางทีราคาหุ้นในอดีต อาจจะพอบอกถึงราคาที่หุ้นจะไปในอนาคตได้ กลยุทธ์ที่ว่าคือ
การเล่นหุ้นโดยดูจาก Momentum หรือที่ผมจะใช้คำว่า
"เล่นหุ้นตามกระแส"
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
ในตลาดสหรัฐและประเทศอื่นๆ ค้นพบใหม่ว่า หุ้นที่มีราคาวิ่งขึ้นแรงๆ ในช่วงหนึ่งปี
หรือหกเดือน มักจะมี Momentum หรือมี "แรงเฉื่อย" ที่จะวิ่งต่อไปอีกอย่างน้อย
3 ถึง 6 เดือน หรืออาจจะถึงหนึ่งปี
ถ้าเราเล่นหุ้นเก็งกำไรสั้นๆ ก็สามารถลงทุนโดยทำเป็นพอร์ตหุ้น ที่ซื้อหุ้นที่มีราคาวิ่งแรงที่สุดในช่วงเวลาที่กล่าว
เสร็จแล้วก็ขายหลังจากที่ถือไว้ในช่วงเวลาหนึ่ง ผลการศึกษาที่ให้ซื้อหุ้นที่ขึ้นแรงที่สุดช่วงปีที่ผ่านมาถือไว้
3 เดือนให้ผลตอบแทนมากกว่าปกติ 10% ต่อปีเหนือกว่าตลาดซึ่งสูงมาก
เช่นเดียวกัน เราอาจเลือกหุ้นวิ่งแรงที่สุดรอบ
6 เดือนที่ผ่านมา แล้วถือไว้ต่ออีก 6 เดือน
นี่ก็ให้ผลตอบแทนที่งดงาม ถ้าถือหุ้นต่ออีก 3-5 ปี
ผลตอบแทนกลับจะถดถอยลง กลยุทธ์เล่นหุ้นตามกระแส จึงไม่เหมาะกับนักลงทุนระยะยาว
ว่าที่จริง มีการศึกษาว่า ถ้าเราซื้อหุ้นที่วิ่งขึ้นมาแรงติดต่อกัน 3 ปี แล้วถือยาวต่ออีก 3 ปี ผลตอบแทนที่ได้กลับเป็นลบ ทั้งหมดนี้ก็เป็นการขัดแย้งกับทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ
ที่บอกว่าราคาหุ้นในอนาคตไม่สามารถคาดการณ์ได้
คำอธิบายว่าทำไมหุ้นที่ขึ้นมาแรงแล้วจึงมีโอกาสวิ่งต่อไปได้มากกว่าที่จะ
นิ่งหรือลง คำตอบยังไม่ชัดเจนนัก อาจจะเป็นไปได้ว่าหุ้นที่ขึ้นแรง เป็นหุ้นที่ไม่ใคร่มีคนสนใจวิเคราะห์ติดตาม
หรือมีสภาพคล่องต่ำ เวลาที่หุ้นขึ้นไปแรงๆ คนที่ถือหุ้นไว้ โดยเฉพาะรายย่อย อาจจะรีบขายออกไปก่อน
ทำให้ราคาไม่ขึ้นไปแบบม้วนเดียวจบ แต่เมื่อราคาขึ้นไป คนอาจสนใจมากขึ้น และเข้ามาวิเคราะห์และอาจพบว่าพื้นฐานกิจการกำลังดีขึ้นมาก
ดังนั้นจึงเข้ามาซื้อมากขึ้น และทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปอีก
กระบวนการนี้อาจจะใช้เวลา
3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวหุ้นจึงวิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
แต่หลังจากนั้น คนจำนวนมาก หรือส่วนใหญ่อาจรู้ข้อมูลหมดแล้ว บางคนอาจเริ่มเห็นว่า ราคาที่ขึ้นไปสูงเกินพื้นฐานแล้ว
เพราะหุ้นตัวนั้น "เก็งกำไร" กันหนัก เขาจึงเริ่มขาย
นักลงทุนคนต่อมา อาจเห็นเหมือนกัน ก็เริ่มขายในขณะที่คนที่จะซื้อเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ
และนี่ทำให้การถือหุ้นที่ขึ้นมาแรงนานเกินไป โดยเฉพาะคนที่เข้ามาทีหลังขาดทุน ส่วนคนที่ออกไปก่อนในเวลาที่เหมาะสมทำกำไรได้งดงาม-ในหุ้นที่ไม่ใคร่มีคน
สนใจติดตาม
ในตลาดหุ้นไทย
ผมไม่แน่ใจว่า กลยุทธ์เล่นหุ้นตามกระแส หรือตามโมเมนตัมใช้ได้ดีแค่ไหน
แม้ส่วนตัวจากการสังเกตช่วงเร็วๆ นี้ ผมรู้สึกว่าหุ้นจำนวนไม่น้อย
โดยเฉพาะหุ้นตัวเล็กที่มีสภาพคล่องต่ำมี "กระแส" ที่แรงมาก
ผมไม่แน่ใจว่า ที่เป็นอย่างนั้นทั้งหมด เป็นเรื่องของกลไกตลาดตามปกติ หรือมีการ "ปั่น"
กระแส ผสมโรงด้วยหรือไม่ ผมเพียงแต่รู้ว่าคนที่ "จับกระแส" ได้ถูกต้อง
คือ เข้าและออกได้ถูกเวลา น่าจะทำกำไร "มโหฬาร" ขณะที่คนที่เข้าออกผิดเวลา
กลับขาดทุนหนัก นอกจากนั้น ผมเองไม่แน่ใจว่า หลักเกณฑ์ที่ใช้ในตลาดหุ้นต่างประเทศจำนวนมากที่ให้ใช้หุ้นที่วิ่งแรงมาแล้ว
หนึ่งปี หรือหกเดือนและขายในช่วง 3 เดือน หรือ 6
เดือนตามลำดับ ใช้ได้กับตลาดหุ้นไทยไหม
คนที่สนใจจะเล่นหุ้นตามกระแสต้องทดลองและ "เสี่ยง" กันเอง
อาจจะมีคำถามว่า
ถ้าจะเล่นหุ้นตามกระแส แต่อยากจะลดความเสี่ยง โดยการเล่นเฉพาะหุ้นตัวใหญ่เช่นหุ้นใน
Set 50 จะได้หรือไม่? คำตอบของผมก็คือ ได้แน่นอน
การศึกษาในตลาดหุ้นต่างประเทศก็บอกว่า ผลตอบแทนก็จะน้อยลง หรือพูดง่ายๆ
ถ้าหุ้นที่มีนักวิเคราะห์ติดตามมาก ซึ่งเป็นหุ้นตัวใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูง ราคาอาจจะวิ่งต่อไปไม่มากนักแม้ยังจะบวกอยู่
ที่พูดมาทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะแนะนำ
หรือเชียร์ให้เล่นหุ้นตามกระแส เพราะโดยหลักการแล้ว คงไม่มีอะไรที่จะทดแทนหรือดีกว่าการวิเคราะห์หุ้นอย่างลึกซึ้ง
และพิจารณาลงทุนตามหลักการแบบ VI ที่ผมเห็นว่าดี และปลอดภัยที่สุดในระยะยาว เพราะการลงทุนแบบใช้กฎเกณฑ์ที่ตายตัว
อาจเปลี่ยนไปเมื่อไรก็ได้ ดังนั้นวันที่เราใช้อาจ "ล้าสมัย" ไปแล้วก็ได้
เหนือสิ่งอื่นใดคือ "ความสำเร็จแบบง่ายๆ ในตลาดหุ้น
มักจะทำลายตัวเอง"
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 11 กันยายน 2555
No comments:
Post a Comment