การเล่นหุ้น
หรือการลงทุนให้ได้กำไรดีในระยะยาว สำหรับคนจำนวนมากเป็นเรื่องยาก เหตุผลก็คือ
พวกเขาไม่มีความรู้ หรือความสามารถในการวิเคราะห์กิจการ
นอกจากนั้น เขาไม่รู้ว่าอะไรคือหุ้นแพง และอะไรคือหุ้นถูก
เมื่อเทียบกับคุณภาพของกิจการ
คนจำนวนไม่น้อยจึงชอบ
"เล่นหุ้นตามข่าว" นั่นก็คือ เขาจะซื้อหรือขายหุ้น ตามข่าวที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์วันต่อวัน
เช่น บริษัทประกาศจ่ายหุ้นปันผลในอัตราที่น่าสนใจ พวกเขาเข้าไปซื้อ ถือไประยะหนึ่ง
อาจจะหลังได้รับปันผลแล้วก็ขาย เป็นต้น
การทำแบบนี้
พวกเขาคิดว่าจะได้กำไร แต่นี่เป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้องหรือไม่ ผมไม่รู้
บริษัทไม่ได้ประกาศหุ้นปันผลทุกตัวหรือทุกปี การเล่นหุ้นตามข่าวนี้ อาจต้องรอนาน
และอาจไม่มีหุ้นให้เล่นพอ แน่นอน มีข่าวอื่นๆ ให้เล่นได้ทุกวัน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีกลยุทธ์ไหนที่ชัดเจนว่า
ถ้าเล่นตามข่าวแล้วจะได้กำไร ข่าวแบบเดียวกัน หุ้นตัวหนึ่งอาจได้กำไร แต่อีกตัวหนึ่งอาจขาดทุน
รวมๆ แล้ว การเล่นหุ้นตามข่าววันต่อวัน ผมคิดว่าไม่คุ้ม
เพราะเราต้องเสียค่าคอมมิชชั่นสูง เพราะต้องซื้อขายบ่อยมาก
ถ้าจะเล่นหุ้นตามข่าวแบบได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ
และเป็นระบบ ผมคิดว่า กลยุทธ์ที่น่าสนใจ และมีการศึกษาทางวิชาการว่า ทำเงินได้จริง
ก็คือ การเล่นหุ้น ตาม "ผลประกอบการ" วิธีการ คือ เราจะซื้อหรือขายหุ้นในวันที่มีการประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส
ถ้าหุ้นตัวไหนมีผลประกอบการดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้มาก เราก็ซื้อ ถ้าหุ้นตัวไหนมีผลประกอบการณ์แย่กว่าที่ประมาณการมาก
เราก็ขาย หรือขายชอร์ต
หุ้นที่มีผลประกอบการดีกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก
ราคาจะปรับตัวขึ้นไปมากกว่าตลาดโดยรวมช่วงหนึ่งไตรมาส หรือหนึ่งปีข้างหน้า จริงอยู่
ในวันแรกที่มีการประกาศผล ราคามักจะวิ่งขึ้นไปแล้ว เราต้องซื้อแพงขึ้นกว่าวันก่อนหน้าไม่น้อย
เช่น อาจจะขึ้นไป 2-3%
แต่ราคายังขึ้นไปได้อีก โดยเฉพาะหนึ่งไตรมาสข้างหน้า หุ้นอาจขึ้นไปต่อได้อีก
7-8% ถึงซื้อแพงขึ้นในวันแรกที่ประกาศงบ ก็ยังคุ้มมาก
ในทางตรงกันข้าม หุ้นที่ประกาศผลประกอบการที่แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์มาก
มักมีราคาลดลงทันทีในวันประกาศ เช่น ตกไป 3-4% เราควรขายทันทีอย่ารอให้
"กระเด้ง" ขึ้นมา เพราะเป็นไปได้ว่า ถ้ารอไปเรื่อยๆ
จนครบหนึ่งไตรมาส ราคาอาจตกลงอีก 7-8% ถ้ามีหุ้นต้องขาย
แต่ถ้าไม่มีหุ้น อาจจะพิจารณาขายชอร์ตเซล ซึ่งจะทำให้ได้กำไร เมื่อราคาหุ้นตกลงไปต่อตามที่คาด
ทั้งสองกรณีที่กล่าวนั้น
ตั้งสมมุติฐานว่า ภาวะตลาดหุ้น "ปกติ" คือ ดัชนีหุ้นไม่ได้ขึ้นหรือลงอย่างมีนัยสำคัญ
ถ้าตลาดหุ้นลงหนักช่วงไตรมาสที่ตามมา เป็นไปได้ว่าแม้หุ้นที่ประกาศผลกำไรสูงกว่าที่คาดการณ์มากอาจตกลงมาได้
ถ้าจะให้เราได้กำไรแน่นอน ไม่ว่าภาวะตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร ควรต้องทั้งซื้อหุ้นที่กำไรสูงกว่าคาด
และขายชอร์ตหุ้นที่ทำกำไร แย่กว่าที่คาดในเม็ดเงินที่เท่าๆ กัน
ซึ่งจะทำให้พอร์ตเรา "เป็นกลาง" กับภาวะตลาดหุ้น นั่นก็คือ
ตลาดหุ้นจะขึ้นหรือตลาดหุ้นจะตก เราก็ได้กำไร ถ้าแนวทางการเล่นหุ้นตามผลประกอบการนี้เป็นจริง
คำถามอาจเกิดขึ้นว่า
อะไรคือผลประกอบการที่คาดของตลาด คำตอบที่ดีที่สุด คือ ข้อมูล Analyst Consensus หรือค่าเฉลี่ยการคาดการณ์กำไรของบริษัทโดยนักวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ทุกแห่ง
ซึ่งจะเผยแพร่ในบทวิเคราะห์หุ้นอยู่แล้ว ถ้าหุ้นตัวไหนไม่มีข้อมูล ต้องคิดเอง เช่น
ดูแนวโน้มการเติบโตของกำไรในอดีตว่าโตเท่าไรแล้วเอามาคาดว่า ผลประกอบการที่จะออกมาจะโตเท่าเดิม
ถ้าบริษัทประกาศงบออกมาโตกว่าที่คาดมาก ก็ซื้อ และถ้าแย่กว่าที่คาดมาก ก็ขาย
แต่การใช้คาดการณ์แบบนี้ ความถูกต้องอาจไม่ดีนัก
ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของการเล่นหุ้น
ตามผลประกอบการ คือ หุ้นจำนวนมากโดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก มักจะมีนักวิเคราะห์ติดตาม และทำบทวิเคราะห์น้อยหรือไม่มีเลย
เราต้องจำกัดหุ้นที่จะเล่นไว้เฉพาะในกลุ่ม ที่ค่อนข้างใหญ่และมีสภาพคล่องที่สูง
นี่อาจจะไม่ใช่ข้อเสีย แม้เราอาจพลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทน "มโหฬาร" หลายๆ
ตัวไป เพราะความเสี่ยงของเราในการเล่นหุ้นก็น่าจะต่ำลง
จำนวนหุ้นที่เราต้องซื้อลงทุน
ผมคิดว่า ควรจะต้องมากพอสมควร เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง
เพราะนี่เป็นเรื่องสถิติ ไม่ใช่ว่าการซื้อหุ้นที่มีผลประกอบการที่ดีกว่าที่คาดมากทุกตัวจะได้กำไร
การศึกษาเพียงแต่บอกว่าโดยเฉลี่ยแล้ว จะได้กำไร โดยส่วนตัวผมคิดว่าอย่างน้อย
ต้องมีหุ้นไม่น้อยกว่า 10
ตัว นี่ก็นำมาสู่ประเด็นว่า เราจะเลือกหุ้นที่มีผลประกอบการดีกว่าที่คาดการณ์ตั้งแต่กี่เปอร์เซ็นต์ขึ้น
ไป
อีกประเด็นหนึ่ง
ต้องพิจารณา คือ การขายชอร์ตหุ้นว่าเราจะทำแค่ไหน เพราะ การชอร์ต โดยตัวเอง
เป็นความเสี่ยงค่อนข้างสูง คนส่วนใหญ่ อาจไม่เหมาะที่จะทำ ดังนั้น
พอร์ตเล่นหุ้นตามผลประกอบการของเรา จึงอาจไม่สมบูรณ์ และไม่การันตี ว่า ต้องได้กำไรร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร
เพียงแต่เป็นพอร์ตที่น่าจะมีโอกาสทำกำไรได้สูงกว่าปกติโดยที่เราไม่จำเป็น ต้องเป็น
"เซียน" และไม่ต้องทำงานหนัก
สุดท้าย คือ
คำถามสำคัญที่ว่า พฤติกรรมของหุ้นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นจริงหรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาเหมือนอย่างกลยุทธ์ทำกำไร
หุ้นแบบอื่นๆ ซึ่งมาแล้วก็ไปตามแฟชั่นหรือตามช่วงเวลา คำตอบ คือ การศึกษาในตลาดหุ้นอเมริกาตลอด
30 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลจริง แต่เมืองไทยไม่แน่ใจว่ามีใครทำการศึกษาไว้บ้างหรือไม่
การคาดการผลประกอบการโดยนักวิเคราะห์ เพิ่งมีไม่นาน ในตลาดหุ้นไทยต้องบอกว่า ต้อง "ดูกันต่อไป"
และเราอาจเป็นคนลองทำดูก่อนก็อาจจะได้ผลดีก็ได้
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ราคาหุ้นไม่สนองตอบต่อการประกาศผลประกอบการอย่าง
เต็มที่และทันที นี่คือ สิ่งที่นักวิชาการ ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน โดยทฤษฎีแล้ว ถ้าตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพ
ราคาหุ้นต้องสะท้อนรับข่าวผลประกอบการทั้งหมดทันที นั่นคือ ราคาหุ้นต้องวิ่งขึ้นไปตามผลประกอบการที่ดีขึ้น
ถ้าดีกว่าประมาณการมาก ราคาหุ้นก็ต้องขึ้นไปมากตั้งแต่วันแรก
คนที่เข้าไปซื้อหุ้น หลังประกาศงบแล้ว ไม่ควรได้กำไรมากกว่าปกติ
คำตอบที่มีคนเสนอขึ้นมา
คือ หุ้นพวกนี้อาจมีความเสี่ยงมากขึ้น เมื่อประกาศงบที่ดีมากออกมา กล่าวคือ
อนาคตกำไรจะไม่โตเท่าเดิม การเล่นหุ้นแบบนี้ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
นักวิชาการบางคนเสนอว่า อาจเป็นเรื่อง การ "ย่อยข้อมูล" ที่ต้องใช้เวลาของนักลงทุน
นั่นคือ การประกาศงบวันแรก นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นสถาบันยังไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไร
จะซื้อหรือขาย ทำให้ราคาหุ้นไม่สะท้อนข้อมูลทั้งหมด หลังจากนั้น พวกเขาจึงเข้ามาซื้อ
ซึ่งทำให้ราคาค่อยๆ ปรับตัวขึ้นไปเป็นเวลาหนึ่งไตรมาส หรือเป็นปี
ไม่ว่าเหตุผลคืออะไร นี่คือ การเล่นหุ้นตามข่าวที่น่าสนใจแบบหนึ่ง
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 28 สิงหาคม 2555
No comments:
Post a Comment