Sunday, April 28, 2013

ตลาดหุ้น AEC

ผมได้มีโอกาสเยี่ยมเยือนตลาดหุ้นสิงคโปร์และตลาดหุ้นมาเลเซียเมื่อเร็วๆ นี้กับนักลงทุน VI กลุ่มหนึ่ง โดยการจัดของ Money Channelร่วมกับโบรกเกอร์ในไทยบางแห่ง วัตถุประสงค์สำคัญคือจะได้เรียนรู้และทำความคุ้นเคยกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้านที่กำลัง “รวมเป็นตลาดเดียวกัน” นอกจากนั้นเพื่อรู้จักกับบริษัทจดทะเบียนที่น่าสนใจที่อาจสนใจลงทุน โดยการเดินทางไป ได้พบกับบริษัทหลายแห่งที่ผู้บริหารได้มาเสนอข้อมูลและตอบข้อซักถามในแนวทางคล้ายกับรายการ Opportunity Day ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดขึ้นเป็นประจำ ต่อไปนี้คือข้อสังเกตเกี่ยวกับตลาดหุ้นสองประเทศนี้ และอาจแถมข้อสังเกตอื่นที่ได้รับจากแหล่งอื่นๆ ที่เคยสัมผัสหรือพูดคุยกับคนมีประสบการณ์บ้าง

ก่อนเข้าประเด็นตลาดหุ้น อยากพูดถึงสภาพบ้านเมืองผู้คนตามที่ได้เห็น คือ ทั้งสองประเทศต่าง “เจริญ” กว่าไทย เพราะรายได้ต่อหัวคนสิงคโปร์นั้นสูงกว่าไทยถึง 10 เท่า สิงคโปร์นั้นเข้าใจว่ากลายเป็นประเทศคนมีรายได้ตัวหัวสูงสุดในโลกไปแล้ว และถ้าเปรียบเทียบน่าจะเป็น “เมืองหลวง” ของ AEC แต่มีประชากรน้อยน่าจะเพียง 3-4 ล้านคน ส่วนมาเลเซียรายได้ต่อหัวสูงเป็นสองเท่าของไทยแต่จำนวนคนยังไม่มากเกือบ 30 ล้านคนยังไม่ถึงครึ่งของไทย และจากการสังเกตราคาสินค้าซื้อขายรวมถึงบริการรู้สึกว่าราคายุติธรรม ไม่ใช่แบบยุโรปหรือประเทศนอกเอเยบางแห่ง ที่ตัวเลขรายได้ต่อหัวสูง แต่ซื้อสินค้าได้น้อยทำให้รู้สึกว่า “รวยไม่จริง” ในกรณีสิงคโปร์หรือมาเลเซีย เชื่อว่าเขารวยกว่าเราจริง

ความ “เจริญ” อีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือสภาพของบ้านเมืองโดยเฉพาะตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทางสาธารณูปโภคของสิงคโปร์และมาเลเซีย เหนือกว่าไทยมาก ข้อแรกคือถนนมีมากเป็นแนวเดียวกับอังกฤษหรือยุโรปที่มี “พรุน” ไปหมด รถทั้งหลายไม่ได้ออกมาจากซอยและเข้าสู่ถนนหลักไม่กี่เส้นที่ทำให้รถติดมากอย่างในกรุงเทพฯ ที่สำคัญคือถนนสะอาด เต็มไปด้วยต้นไม้ยืนต้นเป็นระเบียบและทำให้ไม่ใคร่ร้อนและดูสบายตา

ส่วนของอาคารต่างๆ ทั้งในสิงคโปร์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาเลเซียดูสวยงามและมี “ศิลปะ” แตกต่างจากกรุงเทพฯที่มักจะสร้างเป็นทรงสี่เหลี่ยม “ทื่อ ๆ” เน้นการใช้สอยเป็นหลัก นอกจากนั้นอาคารขนาดเล็กประเภท “ตึกแถว” ขายสินค้าจิปาถะที่เห็นกันเต็มเมืองในบ้านเรามีน้อยมาก ร้านโชห่วยหรือร้านสะดวกซื้อของเขามักจะสิงหรืออยู่ในตึกใหญ่ และมีไม่มากเหมือนอย่างไทย ทั้งหมดนี้คิดว่าเขาคง “ได้มา” จากอังกฤษที่ได้ “วางรากฐาน” ให้กับอาณานิคมสองแห่งนี้มาอย่างดี

มาเรื่องของตลาดหุ้น ความแตกต่างที่ชัดเจนจากเมืองไทยที่ผมเห็นก็คือ ตลาดสิงคโปร์และมาเลเซียดูเหมือนว่าจะถูก “ครอบงำ” โดยนักลงทุนสถาบัน ความสนใจของนักลงทุนส่วนบุคคลมีน้อย ผมไม่ได้ดูราคาและความเคลื่อนไหวของหุ้นในตลาด แต่จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของตลาด และคนเกี่ยวข้องของทั้งสองตลาดดูเหมือนว่าในตลาดหุ้นของเขาจะไม่ใคร่มีหุ้นตัวเล็กที่หวือหวาราคาปรับตัวมากมายพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่มากยิ่งกว่าหุ้นยักษ์ระดับประเทศ และนั่นทำให้การซื้อขายหุ้นของทั้งสองแห่งไม่ใคร่จะมี “สีสัน”

ช่วงไปที่สิงคโปร์นั้น หุ้นที่สร้างสีสันและกล่าวขวัญกันมากคือหุ้นของเบียร์ช้างของคนไทยที่ไปเทคโอเวอร์หุ้น F&N และในช่วงอยู่ที่มาเลเซีย เขาบอกกับเราว่าเขา “อิจฉา” ที่ตลาดหุ้นไทยมีปริมาณซื้อขายสูงและคึกคักมาก ซึ่งเป็นผลจากเรามีนักลงทุนรายย่อยหรือนักลงทุนส่วนบุคคลมาก ถ้าจะสรุปคือตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนและเก็งกำไรสูงกว่าตลาดหุ้นสิงคโปร์และมาเลเซียมาก สำหรับนักลงทุนที่ชอบเล่นหุ้นแบบ “ได้เสีย” แล้ว คิดว่าตลาดหุ้นทั้งสองแห่งนี้คงไม่น่าจะ “สนุก” นัก

พูดถึงหุ้นน่าสนใจสำหรับผมแล้ว ในตลาดหุ้นสิงคโปร์คิดว่ากิจการน่าจะเข้มแข็งแข่งขันได้ระดับโลก อย่างน้อยมีสองสามประเภท คือ สถาบันการเงินที่สิงคโปร์ถือเป็นศูนย์กลางการเงินโลก แบงก์ใหญ่สุดในสิงคโปร์ใหญ่กว่าแบงก์ใหญ่สุดในไทยหลายเท่า ราคาหุ้นไม่แพง ค่า PE อยู่ในระดับสิบเท่าต้นๆ ในขณะที่ค่า PB ก็เพียงหนึ่งเท่าต้นๆ ปันผลไม่น้อยกว่าแบงก์ไทย ถัดจากสถาบันการเงินน่าจะเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่เป็นเจ้าของตึกหรูขนาดใหญ่จำนวนมาก ในสิงคโปร์เป็นเกาะขาดแคลนที่ดินที่ราคาน่าจะปรับขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาว นอกจากนั้น หุ้นที่น่าสนใจเพราะความก้าวหน้าของสิงคโปร์ คือกิจการโรงพยาบาลที่สิงคโปร์สามารถแข่งขันไม่แพ้ใครในโลก

ส่วนมาเลเซียคิดว่ามีหุ้นอยู่กลุ่มหนึ่งที่ผมไม่ได้มีโอกาสพบผู้บริหาร คือ กิจการเกี่ยวข้องกับน้ำมันปาล์มที่มาเลเซียได้เปรียบระดับโลก น้ำมันปาล์มสามารถนำไปใช้บริโภคได้ทั้งเป็นอาหารคนและใช้เป็นไบโอดีเซลมีราคาแข่งขันกับน้ำมันประเภทอื่นได้ และด้านอาหารกับพลังงานก็เป็นอุตสาหกรรมน่าจะโตต่อเนื่องระยะยาว ที่สำคัญราคาน้ำมันปาล์มที่ตกต่ำช่วงนี้ อาจจะเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นได้

นอกจากน้ำมันปาล์มแล้ว ธุรกิจที่ทำอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวข้องกับการ “สร้างเมืองใหม่” ที่อยู่ติดกับสิงคโปร์ก็น่าสนใจ ค่าที่ว่าสิงคโปร์นั้นขาดแคลนที่ดิน ดังนั้น คนสิงคโปร์อาจจะสนใจมาซื้อที่และอสังหาริมทรัพย์ในเขตมาเลเซียที่อยู่ห่างออกไป แค่สะพานข้ามช่องแคบที่แบ่งระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซีย นอกจากนั้น หุ้นเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลของมาเลเซียน่าสนใจเช่นเดียวกับกรณีสิงคโปร์ เหตุผลนอกจากความสามารถแข่งขันแล้ว ยังอาจจะเป็นเพราะการเป็นประเทศมุสลิมทำให้สามารถดึงดูดคนไข้ชาวมุสลิมทั่วโลกที่มาจากประเทศระบบรักษาพยาบาลยังไม่ได้มาตรฐานด้วย

ปัจจัยเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจเรื่องหนึ่ง คือโครงสร้างของประชากร ขณะนี้สิงคโปร์มีปัญหามีคนเกิดน้อยลงมาก จนรัฐบาลสิงคโปร์ต้องรณรงค์ให้คนมีลูกมากขึ้น แต่ก็ไม่ใคร่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสิงคโปร์ก็ส่งเสริมให้คนมาอาศัยและเป็นประชาชนสิงคโปร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนมีเงินหรือเป็นคนมีคุณภาพสูง ตัวอย่างเช่น จิม โรเจอร์ นักลงทุนมีชื่อเสียงระดับโลกก็อพยพมาเป็นพลเมืองของสิงคโปร์ นอกจากนั้น รายชื่อคนรวยระดับโลกบางคนเริ่มเปลี่ยนสัญชาติมาเป็นสิงคโปร์ เพราะระบบภาษีเอื้ออำนวยรวมถึงมาตรฐานการดำรงชีวิตในสิงคโปร์นั้นสูงไม่แพ้ที่ใดในโลก ส่วนมาเลเซีย ประชากรมาเลเซียค่อนข้างมีอายุน้อย คนหนุ่มสาวมีจำนวนมาก ขณะเดินเล่นในมอลล์ สังเกตเห็นเด็กวัยรุ่นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายมาเลย์เดินเที่ยวเป็นกลุ่มใหญ่ ส่วนหนึ่งคนเกิดมากอาจเป็นเพราะศาสนาอิสลาม ที่อาจจะไม่นิยมการคุมกำเนิดเป็นได้ สำหรับมาเลเซียแล้ว การเติบโตของเศรษฐกิจน่าจะไปได้ยาวกว่าไทย ที่อัตราคนเกิดน้อยลงและคนแก่เพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับประชากรโดยรวม

ผมเองยังไม่มีการลงทุนในตลาดหุ้นทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ ที่จริงผมน่าจะสนใจศึกษาและลงทุนในตลาด AEC มากกว่านี้ ถ้าไม่ใช่เพราะว่าเรายังไม่ยกเว้นภาษีจากปันผลที่ได้รับจากตลาดต่างประเทศ จริงอยู่ในตลาดหุ้นไทยเราต้องเสียภาษีจากปันผลแต่สามารถจะให้หัก ณ. ที่จ่ายและไม่ต้องนำมาคิดรวมกับรายได้ปกติ ซึ่งทำให้เป็นภาระหลาย ๆ อย่าง และแม้ว่าเราจะสามารถ “เลี่ยง” ภาษีนี้ได้ทางเทคนิค แต่ผมยังไม่อยากทำ ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งรัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ซึ่งจะทำให้การลงทุนตลาดหุ้น AEC เป็นที่นิยมมากกว่านี้ นั่นจะทำให้ตลาด AEC รวมกันอย่างแท้จริง


 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 2 เมษายน 2556 

No comments:

Post a Comment