สอง บริษัทเล็กๆ มักมีกำไรโตแบบ “ก้าวกระโดด” ซึ่งมีสาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมดีขึ้นและอื่นๆ อีกมากมายรวมถึงบริษัทเหล่านั้นมีขนาดเล็ก กำไรที่เคยมีมักน้อยหรือมีฐานต่ำ ดังนั้นเวลากำไรดีขึ้น เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะสูง บางบริษัทจึงโตได้เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นไปนั้นกลับสูงลิ่วยิ่งกว่ามาก ผลคือ หุ้นตัวเล็กๆ มีค่า PE สูงมาก ค่า PE 30-40 เท่าจึงเป็นเรื่องปกติสำหรับหุ้นกลุ่มนี้
สาม หุ้นจำนวนไม่น้อย กำไรของบริษัทไม่ได้โดดเด่นนัก บางบริษัทอยู่ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมโตยากหรือแข่งขันหนัก การหวังให้กำไรเติบโตจึงทำได้ยาก ดังนั้น พวกเขาจะหาอะไรมาเป็นตัว “ขับเคลื่อนหุ้น” ที่มักพร้อมจะวิ่งอยู่แล้วถ้ามีอะไรมากระตุ้นในภาวะแบบนี้?
กลยุทธ์ที่จะใช้ขับเคลื่อนราคาหุ้นที่ “ทรงพลัง” มากอย่างหนึ่ง ในภาวะตลาดหุ้น “กระทิงดุ” คือทำธุรกิจที่กำลังร้อนแรง เป็นธุรกิจแห่งอนาคต เป็นธุรกิจใหม่มีศักยภาพเติบโตสูงมาก และเป็นธุรกิจที่บริษัทเองอาจทำอยู่แล้ว หรือเป็นธุรกิจเกี่ยวข้องที่บริษัทอ้างว่าสามารถทำได้และมีความรู้ความสามารถเพียงพอ
ถ้าจะให้เรียกแบบให้เห็นภาพอยากจะเรียกว่าเป็น “ธุรกิจในฝัน” ซึ่งความหมายอาจจะออกได้เป็นสองแนวทางคือ หนึ่ง มันเป็นธุรกิจ “ในฝัน” เพราะว่ามันเป็นธุรกิจที่คนทั่วไปรู้สึกว่ามีศักยภาพที่จะโตและทำกำไรได้มากมายซึ่งจะทำให้หุ้นมีมูลค่าสูงมาก เพราะนอกจากกำไรหรือค่า E เพิ่มขึ้นแล้ว ค่า PE ของหุ้นจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ ผลคือ ราคาหุ้นจะวิ่งขึ้นไปหลายเท่าอย่างง่ายดาย และอีกความหมายหนึ่งคือ มันเป็นธุรกิจ “ในฝัน” เพราะเป็นธุรกิจสามารถ “สร้างฝัน” ให้กับคนทำหรือนักลงทุนก่อนที่ “ผลลัพธ์” จะเกิดขึ้นจริงอีกนาน ระหว่างนี้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปได้มาก บางทีเป็นหลายเท่าตัว เพียงพอจะทำให้ใครต่อใครรวยไปได้มากมายอยู่แล้ว
มาดูกันว่าหุ้นบูมช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้มี “ธุรกิจในฝัน” อะไรที่บริษัทจดทะเบียนนำมาใช้ในการขับเคลื่อนหุ้นบ้าง เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นที่ราคาน้ำมันกำลังพุ่งขึ้นแรงคือ ถ่านหิน ซึ่งพูดกันว่าเป็นพลังงานแห่งอนาคตที่มีมากมาย และจะมาแทนที่น้ำมันดิบที่กำลังหมดไป หุ้นที่ทำเกี่ยวกับถ่านหินอยู่แล้วหรือคนที่มีธุรกิจใกล้เคียงต่างเตรียมตัว “ลุย” ทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไม่น้อย น่าเสียดายความฝันเรื่องถ่านหินค่อนข้างสั้น นักเล่นหุ้นที่เข้าไปเก็งกำไรกับธุรกิจเกี่ยวกับถ่านหินบางคนถอนตัวไม่ทันจึงน่าจะเจ็บตัวไป
แต่เรื่องของพลังงานทดแทนนั้นไม่หมดลงไป ธุรกิจเกี่ยวกับเอทธานอลที่ทำจากผลิตผลการเกษตรก็เกิดขึ้น รวมถึงไบโอดีเซลเช่นน้ำมันที่ทำจากปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ความฝันเรื่องเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ไปไกลนัก ราคาหุ้นไม่ได้เคลื่อนไหวขึ้นไปมากนัก เหตุผลคงเป็นการสนับสนุนจากรัฐค่อนข้างน้อยมาก เนื่องจากไม่มีหน่วยงานรัฐที่จะมารับซื้อผลิตผลเป็นเรื่องเป็นราวในราคาที่ทำกำไรได้ ผลคือ มันกลายเป็น “ฝันร้าย” ในเวลาอันสั้น คนที่ทำกำไรจากฝันนี้น่าจะมีน้อยมาก
เรื่องของพลังงานทดแทนที่เป็นธุรกิจ “ในฝัน” จริงๆ น่าจะเป็นโซลาร์เซลหรือการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงแดด และพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลม ส่วนหนึ่งที่สำคัญทำให้ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจ “ในฝัน” คือรัฐบาลมาช่วย “สร้างฝัน” ให้กับบริษัทและนักลงทุน การไฟฟ้าจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับผู้ผลิตและขายไฟทุกหน่วยไฟฟ้า ที่จ่ายเข้ามาในระบบของการไฟฟ้า ซึ่งทำให้การทำธุรกิจนี้ไม่ขาดทุนและมีผลตอบแทนเหมาะสม
บริษัทที่ลงทุนได้ผลตอบแทนคุ้มค่าของเงินที่ลงทุนไปเช่น อาจจะปีละ 10% แต่นี่ก็คงจะไม่ใช่อะไรที่จะทำให้นักลงทุนจริงๆ ตื่นเต้น เพราะผลตอบแทน 10% ต่อปี เป็นผลตอบแทนที่คนลงเงินจะต้องได้อยู่แล้ว ประเด็นอยู่ที่รัฐ ยินดีจะจ่ายค่าชดเชยช่วงซัก 8-9 ปีแรกมากผิดปกติ ที่จะทำให้บริษัทกำไรมาก ๆ และหลังจากนั้นบริษัทก็จะไม่ได้รับการชดเชยเลย
พูดง่าย ๆ บริษัทจะกำไรมากผิดปกติ 8 ปีแรก หลังจากนั้นจะ “ขาดทุน” และนี่คือความฝันที่ “คนเล่นหุ้น” อยากได้ คือกำไรของบริษัทช่วงเวลาถึงแปดปีจะดูดีมาก บริษัทจะเป็นบริษัทที่กำไรดีและ “โตเร็ว” รวมทั้งมีผลประกอบการ “สม่ำเสมอ” และมีกระแสเงินสดดีมากเนื่องจากการไฟฟ้าจะจ่ายเงินสดให้ตลอดเวลา โดยที่บริษัทไม่ต้องลงทุนเพิ่ม มองหยาบ ๆ อาจจะกลายเป็น “ซูเปอร์สต็อก” ดังนั้น ราคาหุ้นมีโอกาสจะ “พุ่งทะลุฟ้า” เพราะไม่มีคนสนใจว่าอีก 8-9 ปีที่กำไรอาจจะหายไปนั้นบริษัทจะทำอย่างไร คนเล่นหุ้นนั้น มีน้อยคนที่จะมองเกินปีสองปี แม้แต่นักลงทุนระยะยาวบางคนก็มองไม่เกิน 3-4 ปี ดังนั้น นี่คือฝันที่แท้จริงโดยเฉพาะในยามหุ้นบูม
ธุรกิจ “ในฝัน” ล่าสุดที่กำลังขับเคลื่อนราคาหุ้นหลายตัวในกลุ่มเกี่ยวข้องกับบันเทิง สิ่งพิมพ์ สื่อสาร และอื่นๆ คือ ทีวีดาวเทียม ทีวีและทีวีดิจิทัล โทรศัพท์ระบบ 3G และอาจจะ 4G ซึ่งเป็นผลจาก กสทช. จะเปิดให้ประมูลใบอนุญาตประกอบการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจที่กล่าวถึงทั้งหมดจะทำให้บริษัทที่เข้าไปประมูลสามารถจะสร้างรายได้เพิ่มทวีคูณ โดยที่รายจ่ายอาจไม่สูงนัก เนื่องจากบริษัทอาจมีอุปกรณ์ และหรือมี Content หรือเนื้อหาอยู่แล้ว บริษัทเพียงแต่อาจจะต้องเพิ่มคน ในการนำเสนอบ้างก็สามารถให้บริการหรือเข้าสู่ธุรกิจที่มี “กำไรสูงลิ่ว” เหล่านี้ได้
นักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างก็มองถึงอัตราค่าโฆษณาที่เป็นอยู่ว่าผู้ให้บริการรายใหม่คงจะได้ส่วนแบ่งไปไม่น้อย และนั่นจะทำให้กำไรของบริษัทก้าวกระโดด พวกเขาอาจจะลืมไปว่าตัวเลขที่ใช้นั้นคือตัวเลขอัตราค่าโฆษณาในภาวะ “ผูกขาด” ซึ่งอาจจะแตกต่างจากอัตราในภาวะที่มีการแข่งขันแบบ “เชือดคอ” ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ดูเหมือนคนจะไม่สนใจความจริง เขาสนใจความฝัน ดังนั้น ราคาหุ้นบริษัทต่าง ๆ ที่ประกาศจะเข้ามาทำธุรกิจต่างวิ่งกันอุตลุด
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ไม่ได้หมายความว่าบริษัทที่ “ล่าฝัน” ทั้งหลาย ในที่สุดจะพบกับความจริงที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่เชื่อว่าบริษัทจำนวนมากซึ่งน่าจะเป็นส่วนใหญ่จะล้มเหลวไม่ได้กำไรมากอย่างที่ฝันในธุรกิจใหม่ ๆ ที่ร้อนแรงที่เข้าไปทำ ประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นที่พัฒนาทั้งหลายก็เป็นอย่างนั้น จะมีบางบริษัทที่ทำธุรกิจ “ในฝัน” และประสบความสำเร็จสูงจนกลายเป็นบริษัทที่โดดเด่นและยิ่งใหญ่ และหุ้นของบริษัทดีดตัวขึ้นไปมากในช่วงของ “ความฝัน” จะยังเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ทำให้คนที่เข้าไปซื้อและถือไว้ยาวนานรวยไป ส่วนบริษัทที่ล้มเหลวไม่สามารถทำได้ตามที่ฝันไว้ หุ้นบริษัทที่ปรับตัวขึ้นไปมากจะตกต่ำลงมามากจนกลายเป็น “ฝันร้าย” ของนักลงทุน
สำหรับผมไม่ค่อยถนัดและไม่อยากเสี่ยงทำนาย “ฝัน” ดังนั้นส่วนใหญ่แล้วจะหลีกเลี่ยง “หุ้นล่าฝัน” ที่มักมีมากช่วงตลาดกระทิงอย่างที่เป็นอยู่ช่วงนี้
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2556
No comments:
Post a Comment