Wednesday, February 20, 2013

ถนนทุกสาย..มุ่งสู่ตลาดหุ้น


ตั้งแต่ต้นปี 2556 ถึงวันนี้เป็นเวลาแค่เดือนครึ่ง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับขึ้นแล้วเกือบ 10%
และนี่เกิดขึ้นหลังจาก ที่ตลาดปีที่แล้วปรับขึ้นถึง 36% มูลค่าตลาดของหุ้นไทยในขณะนี้ประมาณ 13 ล้านล้านบาท สูงกว่ามูลค่าผลผลิตรวมต่อปีหรือGDP ประเทศไปแล้ว ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นนั้น “มหาศาล” อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ถ้านับจากสิ้นปี 2551 หรือเพียงประมาณ 4 ปีเศษ ๆ ที่ดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ประมาณ 450 จุด มูลค่าตลาดของหุ้นเพิ่มขึ้นแล้วน่าจะประมาณ 9 ล้านล้านบาท และถ้าคิดว่าคนไทยเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นประมาณ 70% ในบริษัทจดทะเบียน ความมั่งคั่งของคนไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 6.3 ล้านล้านบาท และถ้าคิดต่อไปอีกว่าในส่วนของคนไทย ผู้ถือหุ้นไม่ใช่รัฐหรือนักลงทุนเป็น “ชาวบ้าน” ทั่ว ๆ ไปถือหุ้นประมาณ 70% จะพบว่าคนไทยที่ถือหุ้นหรือเล่นหุ้นอยู่ช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ มั่งคั่งเพิ่มขึ้นประมาณ 4.4 ล้านล้านบาท
ในเม็ดเงิน 4.4 ล้านล้านบาทที่เพิ่มขึ้นมาใน “กระเป๋า” ของคนไทยที่มีหุ้นหรือถือหุ้นช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น ผมไม่รู้ว่ามีคนไทยกี่คนที่ได้รับประโยชน์ส่วนนี้ แต่ก็คงเป็นแค่หลักไม่เกิน 2-3 ล้านคน เฉลี่ยแล้วได้รับกันไปคนละประมาณ 2 ล้านบาท ถ้าจะพูดอย่างหยาบ ๆ แต่คนจำนวนมากที่ถือหุ้นผ่านกองทุนรวมหุ้น โดยเฉพาะของกองทุนบำเหน็จบำนาญของราชการหรือ กบข. น่าจะได้เงินไปน้อยกว่านี้มาก

คนกลุ่มต่อมาที่จะได้ประโยชน์จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นพอสมควรก็คือ คนที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF และกองทุนเพื่อการเกษียณหรือ RMF ที่ลงทุนในหุ้นมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว กลุ่มต่อมาที่น่าจะได้รับเม็ดเงินไปค่อนข้างมากก็คือ คน “เล่นหุ้น” ที่อยู่ในตลาดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผลตอบแทนน่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 200% เช่นลงทุนไป 1 ล้านบาทก็น่าจะได้เงินเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ล้านบาทกลายเป็น 3 ล้านบาท ในช่วง 4 ปีเศษที่ผ่านมา

กลุ่มคนที่ได้เงินไปเต็ม ๆ คือน่าจะ“ร่ำรวย”จากตลาดหุ้นปรับขึ้นรอบนี้คือ นักลงทุนที่ “มุ่งมั่น” ซึ่งบางคนเป็น “นักลงทุนอาชีพ” นั่นคือไม่ได้ทำงานประจำอื่น แต่ลงทุนเป็นหลักช่วง 4 ปีที่ผ่านมา คนเหล่านี้มักจะลงทุนเงินเกือบทั้งหมดที่มี และหลายคนกู้เงินและหรือใช้มาร์จินในการลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัวหรือ มากกว่านั้น เข้ามาซื้อหุ้นขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

คนที่ได้เงินมากจริง ๆ ในหมู่คนกลุ่มนี้ก็คือคนที่เรียกตัวเองว่า “Value Investor” คือพวกเขาซื้อขายหุ้นโดยเน้นการเลือกหุ้น โดยอิงกับพื้นฐานของกิจการเป็นหลัก แม้ว่าจังหวะซื้อขายอาจจะแตกต่างกัน พวกเขาอาจจะมีจำนวนน้อยกว่าคน “เล่นหุ้น” ที่ซื้อขายรายวัน แต่เม็ดเงินของพวกเขานั้นมากกว่ามาก อาจจะเรียกได้ว่ารายใหญ่หรือ “ขาใหญ่” ในตลาดหุ้นช่วงเวลานี้คือ VI ผลตอบแทนของพวกเขาช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้สูงมาก การได้ผลตอบแทนเป็น 10 เท่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับ VI ที่มุ่งมั่น และผมเชื่อว่ามีบางคนโดยเฉพาะที่เริ่มต้นด้วยเงินจำนวนน้อย สามารถได้เป็นร้อยเท่า คือลงทุน 1 ล้านบาทภายใน 4 ปี กลายเป็น 100 ล้านบาท

ความร่ำรวยของ VI ผู้มุ่งมั่น ซึ่งนาทีนี้อาจมีเป็นพันๆ คนเข้าไปแล้ว และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าเริ่มจะมีผลกระทบกับการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่มีราคาแพง เช่น บ้านและรถยนต์ VI กลายเป็นกลุ่มที่เข้าไปซื้อคอนโดหรูบางโครงการอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกัน รถยนต์หรูราคาแพงมาก ผมคิดว่ามาจากเงินในตลาดหุ้นของนักลงทุนผู้มุ่งมั่นเหล่านี้ไม่น้อย โดยกรณีคอนโด คิดว่า VI ที่ซื้อหลายคนมองเป็นเรื่องการลงทุนด้วย ส่วนกรณีรถหรู ดูเหมือนจะเป็น “รางวัลชีวิต” สำหรับ VI ที่ประสบความสำเร็จสูง เหนือสิ่งอื่นใดคือ VI หลายคนได้เงินมามากเสียจนราคาของรถ เป็นรายจ่ายเพียง “เล็กน้อย” ที่เขาอยากจะหาความสุขบ้าง

กลุ่มคนที่รวยจากตลาดหุ้นมากที่สุดคือ เจ้าของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ราคาหุ้นได้ปรับขึ้นมาก ไม่ใช่เฉพาะกิจการที่มีผลประกอบการดีเท่านั้นที่มีราคาหุ้นขึ้นไป หุ้นเกือบทุกตัวปรับขึ้นสูงมาก บางบริษัทมี Market Cap. หรือมูลค่าตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นไปเป็น 10 เท่าตัวช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บางบริษัทหุ้นขึ้นไปร้อยเท่าน่าจะมี เจ้าของบริษัทหลายแห่งน่าจะมีเงินเพิ่มขึ้นช่วง 4 ปีนี้เป็นพันๆ ล้านบาท หลายบริษัทเป็นหมื่นล้านบาท และบางบริษัทเป็นแสนล้านบาท แม้แต่บริษัทที่ไม่ได้มีกำไรเพิ่มขึ้นเลย บางทีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปเท่าตัวมีเงินเพิ่มขึ้นอีกหลายพันล้านบาท

ที่โดดเด่นยิ่งกว่านั้นคือบริษัทเพิ่งเข้ามาจดทะเบียนในตลาดเป็นครั้งแรก หรือหุ้น IPO ซึ่งทำให้เจ้าของได้เงินเพิ่มขึ้นมาก บางคน “มโหฬาร” จากบริษัทเดิมที่ทำกำไร “กระท่อนกระแท่น” และถ้าคิดจากเงินลงทุนที่ลงไปอาจหลักหลายสิบหรือร้อยล้านบาท เมื่อเข้าตลาดหุ้น มูลค่ากลายเป็นพันล้านบาท บางบริษัทเป็นหมื่นล้านบาทในชั่วเวลาข้ามคืน จากเจ้าของธุรกิจที่ “พออยู่ได้” เช่นเดียวกับเพื่อนนักธุรกิจระดับเล็กด้วยกัน พวกเขากลายเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีเมื่อหุ้นเข้าตลาดและราคาวิ่งขึ้นสิบเท่าหรือ ร้อยเท่าจากเม็ดเงินที่เขาลงไป

นักลงทุนกลุ่มสุดท้ายที่จะพูดถึงคือ นักลงทุนต่างชาติ พวกเขามีจำนวนไม่มาก แต่ได้เม็ดเงินมหาศาล ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเขาได้เงินไป 2.7 ล้านล้านบาท แน่นอน กองทุนที่เป็นสถาบันขนาดใหญ่คือคนที่ได้เงินส่วนใหญ่ไป แต่ถ้าคิดเป็นผลตอบแทนแล้ว กองทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงมากคือพวกเฮดจ์ฟันด์หรือ Private Fund ที่รับเงินจากคนที่มีเงินมาก ๆ เข้ามาลงทุนในไทยและในเอเชียที่เป็นตลาดเกิดใหม่ ซึ่งผลตอบแทนที่ได้ช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา กำไรต่อปีที่พวกเขาได้รับจากตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะต่ำกว่า 30% ช่วง 4 ปี นั้นเงิน 1 ดอลลาร์น่าจะได้ผลกำไรกว่า 2 เหรียญหรือ 200% ซึ่งเป็นอัตราที่นักลงทุนต่างชาติแทบจะหาที่ไหนในโลกไม่ได้

และทั้งหมดนั้นทำให้ผู้คนจำนวนมากในไทยที่มีเงินสดเหลืออยู่ในธนาคาร จำนวนมาก รวมถึงคนที่ยังไม่ค่อยมีเงินแต่หวังจะ “รวย” หรือสะสมเงิน “เพื่ออนาคต” ต่าง “มุ่งหน้าสู่ตลาดหุ้น” พวกเขาส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เพียงพอที่จะลงทุนหรือเลือกหุ้นที่ถูกต้อง พวกเขารู้เพียงแต่ว่าตลาดหุ้นนั้นกำลังปรับขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าบางวันจะตกลงบ้าง แต่ชั่วไม่กี่วันก็ดีดกลับมาและสูงกว่าเดิม

การซื้อขายหุ้นดูไม่ยากอะไรนัก บางคนอาจคิดว่าใช้วิธีถามจากเพื่อนที่ “มีความสามารถ” หรือเล่นอยู่และได้กำไรมามาก ผลกำไรนั้นอยู่ที่ “ปลายนิ้ว” พวกเขาไม่คิดถึงเรื่องขาดทุนเท่าไร เพราะอาจจะยังไม่เห็นใครเล่นแล้วขาดทุนเลยในช่วงหลายๆปี มีแต่รวยขึ้นเรื่อย ๆ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เขาก็ไม่ได้ลงทุนมากมายอะไรเทียบกับความมั่งคั่งที่มีอยู่ การที่จะแบ่งเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยน้อยนิดมาลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูง นั้นดูเหมือนว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ไม่มีทางผิดพลาด เขาลองมาแล้วเพียงแค่ 2 เดือน ตอนนี้ได้ไปแล้ว 10 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับการฝากเงิน 5 ปี ดังนั้น ขณะนี้เขาอยากลงทุนเพิ่ม เขาได้รับคำบอกเล่าจากผู้เชี่ยวชาญในตลาดผ่านสื่อมากมาย ทุกคนบอกว่าตลาดหุ้นยังไม่แพงและดัชนีจะไปถึง 1700 จุดในสิ้นปีนี้ เขาไม่เข้าใจหรอกว่ามันคือขึ้นไปแค่ไหน เขาคิดเพียงแต่ว่า ตลาดหุ้นคือที่ที่จะทำเงินได้เร็วมาก ดังนั้น เขาจึงเข้ามา ถนนทุกสาย..กำลังมุ่งสู่ตลาดหุ้น

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2556 

No comments:

Post a Comment