สถานการณ์หรือภาวะ
ตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ทำให้นึกถึงเรื่อง “เก็งกำไรกันอย่างบ้าคลั่ง”
ในตลาดของทรัพย์สินต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราวในที่ต่าง ๆ
ทั่วโลกและในไทยช่วงที่ผ่านมาหลายสิบปี เท่าที่ผมยังจำความได้
และแน่นอนต้องนึกถึงประวัติของการเก็งกำไรระดับโลกที่ได้จารึกไว้และเล่าขาน
ต่อเนื่องกันมานานคือเรื่องการเก็งกำไรอย่าง “บ้าคลั่ง”
ในหัวดอกทิวลิปที่เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ช่วงปี ค.ศ. 1634-1637
ซึ่งเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Tulip Mania”
เล่ากันว่าช่วงนั้นผู้คน “ขายบ้านขายช่อง”
เพื่อจะนำเงินมาซื้อหัวทิวลิปมีลวดลายสวยงาม
ที่เกิดขึ้นจากการ“ติดเชื้อไวรัส”
หรือจะเกิดจากอะไรก็ตามที่ทำให้มันแปลกตาและหายาก ทำให้คน “อยากเล่น”
เพื่อที่จะ “ขายต่อ” ให้คนอื่นที่จะเข้ามา“บิดราคา”เพื่อจะซื้อและ “ขายต่อ”
ให้กับคนอื่นไปเรื่อย ๆ ผ่าน “ตลาดล่วงหน้า” ที่เป็น “สัญญากระดาษ”
ว่ากันว่าช่วงที่ราคาหัวทิวลิปขึ้นสูงสุดนั้น ทิวลิปที่ “สวยจริง ๆ”
จะมีราคาเท่ากับรายได้ของช่างชำนาญงานถึง 10 ปี
คนที่เล่นเก็งกำไรหัวทิวลิปนั้นมีตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงคนร่ำรวย
คนชั้นสูงและขุนนางที่ “ทนไม่ไหว”กับการเห็นคนอื่น “รวยเอาๆ อย่างง่ายๆ”
โดยการเข้าไปซื้อหัวทิวลิปในตลาด
แน่นอนราคาของหัวทิวลิป ที่ขึ้นไปจน “เกินพื้นฐาน” มากๆ นั้น
ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้และตกลงมา จนแทบจะไม่มีค่าหรือเท่ากับพื้นฐานของมัน
ว่าที่จริงมูลค่าที่แท้จริงของทิวลิป
ถ้าไม่คิดถึงสีสันลวดลายของมันที่เป็นเรื่องของจิตใจแล้ว
มันก็คือดอกไม้ธรรมดาๆ ที่มีค่าน้อยมาก การที่คนให้คุณค่ามันมากมายนั้น
แท้ที่จริงแล้วก็คือ คุณค่าของการ “เก็งกำไร”
คือซื้อเพื่อหวังจะขายต่อในราคาสูงขึ้น
แต่ตัวของมันสร้างรายได้หรือทำเงินน้อยมาก
หลังจากกรณี “ฟองสบู่ดอกทิวลิป”
โลกและประเทศไทยเองก็มีประวัติศาสตร์ของการเก็งกำไรมาเรื่อย ๆ
ราวกับว่าคนไม่ได้รับรู้เหตุการณ์ในครั้งนั้น
หรือถ้าจะอธิบายอีกทางหนึ่งคือ คนไม่ได้สนใจว่า “จุดสุดท้าย” จะเป็นอย่างไร
พวกเขาอาจจะเพียงแต่คิดว่าในระหว่างที่ราคากำลังขึ้นอย่าง “บ้าคลั่ง” นั้น
โอกาสทำเงินนั้นสูงลิ่ว “ยิ่งรอก็ยิ่งเสียโอกาส” ดังนั้นเขาจึงเข้าไปเล่น
เหนือสิ่งอื่นใด ฟองสบู่แต่ละครั้งมักจะอยู่นานเป็นปีๆ
ในไทยเองนั้น ยังจำได้ว่าช่วงที่ผมเริ่มทำงานใหม่ ๆ ซึ่งประมาณเกือบ 40
ปีมาแล้ว ผมจำไม่ได้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่อยู่ๆ
คนไทยเริ่มสนใจและเริ่มซื้อขายหินสวยงามชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “โป่งข่าม”
นี่คือหินมีสีและลวดลายแปลกๆ ในแต่ละเม็ดไม่ซ้ำกัน
ขนาดของแต่ละเม็ดแตกต่างกันไปตามธรรมชาติของหิน
เมื่อได้มาแล้วคนก็จะนำไปเจียระไน เพื่อนำไปทำหัวแหวนและเครื่องประดับอื่นๆ
เพื่ออวดกันในหมู่เพื่อนฝูง
เมื่อความนิยมในสังคมมีมากขึ้น การซื้อขายเปลี่ยนมือก็ตามมา
หนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ
ก็เริ่มตีพิมพ์เรื่องราวและความสวยงามของหินชนิดนี้ และแล้วเรื่องราว
“ปาฏิหาริย์” ก็ตามมา บ้างว่าเมื่อสวมใส่โป่งขามแล้วทำให้โชคดี
บ้างอ้างว่ามี “พลัง” ในตัวทำให้โรคภัยบางอย่างของผู้สวมใส่
เช่นอาการหืดหอบหาย ผู้หญิงบางคนบอกว่าใส่โป่งข่ามแล้วทำให้ใบหน้า
“มีน้ำมีนวลขึ้น” ราคาของโป่งข่ามพุ่งขึ้นไปสูงมาก
บางเม็ดอาจจะขึ้นไปเป็นหมื่นหรือเท่าไรจำไม่ได้เนื่องจากไม่ได้เข้าไป
“เล่น” เลย แต่หลังจากนั้นความนิยมลดลงเรื่อยๆ จนแทบไม่มีราคา
เดี๋ยวนี้ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักแล้วว่าโป่งข่ามนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร
เมื่อราวซัก 10 ปีที่ผ่านมา เราคงจำกันได้ว่าคนไทยเริ่ม “บ้า” จตุคาม
ที่เป็นเหรียญเข้าใจว่ามีคนจัดทำขึ้นเพื่อเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”
เริ่มต้นจากนครศรีธรรมราชถ้าผมจำไม่ผิด ต่อมาก็มีคนจัดทำมากขึ้น
ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าเป็นช่องทางที่วัดหรือหน่วยงาน
จะหารายได้มาทำนุบำรุงองค์กรของตน เมื่อทำกันมากขึ้นเริ่มมีเรื่องราว
“ปาฏิหาริย์”ตามมา
บางคนเริ่มสนใจความ “งดงาม” ของจตุคาม ที่ออกกันมามากขึ้นเรื่อย ๆ
หลายคนแขวนจตุคาม “เต็มคอ”
กลายเป็นแฟชั่นและเช่นเคยสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์เริ่มจับเรื่องนี้มาเล่น
ราคาของจตุคามบางรุ่นถูก “ไล่ราคา” ขึ้นไป ผมไม่แน่ใจว่ารุ่นที่แพงมากๆ
เป็นเท่าไร แต่ราคาระดับแสนบาทน่าจะมีอยู่บ้าง
อย่างไรก็ตามการเล่นจตุคามตกลงรวดเร็ว ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะ Supply
หรือของใหม่นั้นออกมาได้เร็ว และมากอย่างไม่มีข้อจำกัด
เดี๋ยวนี้คนเลิกหมดแล้ว และผมเชื่อว่าจตุคามที่เคยโด่งดังคงมีราคาน้อยมาก
ความ “บ้าคลั่ง” ของการเก็งกำไรมีผลกระทบ “ระดับชาติ” ของไทย คือการเล่น
“แชร์แม่ชม้อย” ซึ่งเป็น “แชร์ลูกโซ่” กองแรกๆ ของไทยเมื่อประมาณซัก 35
ปีก่อน นั่นคือ “เจ้ามือ” เสนอการลงทุนในอะไรบางอย่างที่กำลัง “ร้อนแรง”
เช่น น้ำมันในกรณีแม่ชม้อย คนที่เข้ามาเล่นจะต้องจ่ายเงินค่าแชร์ เช่น
ซื้อน้ำมันหนึ่งคันรถ อาจจะเท่ากับ 10,000 บาท หลังจากนั้นแต่ละเดือน
เขาจะได้เงินปันผลตอบแทนเช่น 1,000 บาททุกเดือน
แน่นอน เงินไม่ได้นำไปลงทุนซื้อน้ำมัน
แต่นำไปจ่ายเป็นปันผลให้กับคนที่ลงทุนมาก่อน
ตราบใดที่ยังมีคนใหม่มาลงทุนเพิ่ม
คนเก่าที่ลงทุนไว้ก็จะได้ผลตอบแทนดีเยี่ยมเดือนละ 10% ไปเรื่อยๆ
ซึ่งทำให้คนที่ยังไม่ได้ลงทุนเห็น และอยากเข้ามาลงทุน
เพราะเป็นหนทางทำเงินได้ง่ายๆ บางคนอาจจะ “ขายบ้าน” มาลงทุน เพราะ
“ถ้าอยู่ได้ถึงปี เงินได้คืนมาหมดแล้ว”
ซึ่งเชื่อว่ามีหลายคนเข้ามาตั้งแต่แรกๆ
และอยู่ได้เกินปีแต่น่าเสียดายที่เขาไม่ได้เงินคืนเลย เพราะเมื่อได้ปันผลมา
เขาก็ “โลภ” แทนที่จะเก็บไว้ กลับนำไปลงทุนต่อ
ซึ่งทำให้ต้องหมดตัวเมื่อแชร์ “ล้ม”
สุดท้ายเรื่องความ “บ้าคลั่ง”
ของการเก็งกำไรที่แทบทุกประเทศต้องเคยประสบ ถ้าตลาดหุ้นไม่ได้เพิ่งเกิด
คือการเก็งกำไรหุ้นรุนแรงจนกลายเป็น “ฟองสบู่”
แน่นอนประวัติศาสตร์ได้จารึกเรื่อง “ฟองสบู่เซ้าท์ซี” และฟองสบู่ปี 1929
ในตลาดสหรัฐ ที่มีผลกระทบกว้างขวางทั่วโลกและกระทบไปถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวม
เมื่อ “ฟองสบู่แตก” ราคาหุ้นตกลงมาเหลือราว 10%
แต่ความบ้าคลั่งหรือฟองสบู่ขนาดย่อมนั้นเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ
แต่ละครั้งมักทิ้งเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 15-20 ปีขึ้นไป
ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับภาพรวมของประเทศอาจมีน้อย
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่อยู่ในตลาดแล้ว บ่อยครั้งเป็น “หายนะ”
เกือบทุกครั้งที่เกิดขึ้น แทบจะไม่มี “สัญญาณเตือน” หรือมีก็
“ไม่มีใครเชื่อ” เหตุเพราะ “ฟองสบู่” มักเกิดขึ้นจากสถานการณ์ดีเยี่ยม
โดยทั่วไปมักเริ่มต้นจากเศรษฐกิจกำลังเติบโตดี
เศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่พื้นฐานใหม่ เช่น “การเปิดเสรีทางการเงิน”
“การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” “การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจใหม่”
หรือไม่หลายเรื่องประกอบกัน ที่ทำให้คนเห็นว่า หุ้นมีแต่ขึ้นไปเรื่อยๆ
และยังไม่เห็นว่าจะมีอะไร ทำให้ราคาที่สูงลิ่วนั้นคงอยู่ไม่ได้
ต่อเมื่อหุ้นตกลงแล้ว คนถึงได้รู้ว่าราคาที่เห็นเป็น “ฟองสบู่”
ก่อนจบบทความนี้
คงต้องออกตัวก่อนว่าไม่ได้หมายความว่าตลาดหุ้นไทยเวลานี้เป็นฟองสบู่แล้ว
เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ เพียงแต่รู้สึกว่าช่วงเวลานี้
คนไทยไม่น้อยสนใจลงทุนในหุ้นกันมากอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน
ดังนั้นถ้าจะบอกว่าช่วงนี้เป็นช่วง “Stocks Mania”
หรือคนกำลังคลั่งไคล้ในหุ้นคงไม่ผิดจากความจริงมากนัก
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2556
No comments:
Post a Comment