ในเรื่องของเศรษฐศาสตร์และการเงินนั้น การมองหา “สัญญาณ” หรือ
Indicator
ที่จะสามารถบอกให้เรารู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปเป็นเรื่องที่สำคัญ
มาก เหตุผลก็เพราะว่า ถ้าสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นบวก
เราก็สามารถวางแผนหรือกำหนดนโยบายในการจัดสรรทรัพยากรให้รองรับกับสิ่งนั้น หาก
สัญญาณบอกว่าอนาคตจะเป็นลบ
เราก็จะได้เตรียมการแก้ไขไม่ให้มันเลวร้ายลงมากนัก
นั่นก็เป็นเรื่องของนักเศรษฐศาสตร์ แต่ในด้านของนักลงทุนหรือคนเล่นหุ้น
พวกเขามองหา “สัญญาณ”
เพื่อที่จะบอกว่าเขาควรที่จะทำอย่างไรหรือมีกลยุทธ์อย่างไรในการลงทุน
พูดง่าย ๆ ก็คือ ควรจะซื้อหรือขายหุ้นตัวไหน
สัญญาณในตลาดหุ้นนั้นมีมากมายที่คนเชื่อกันว่าสามารถบอกอนาคตของหุ้นหรือ
ตลาดหุ้นได้แม่นยำ อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงก็คือ
น่าจะมีสัญญาณน้อยมากที่จะสามารถบอกอนาคตได้อย่างแม่นยำ และที่สำคัญก็คือ
โอกาสที่อนาคตจะไม่เป็นไปตามที่คาดก็มีอยู่เสมอ
ไม่มีอะไรที่แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมิฉะนั้น
คนที่เล่นหุ้นตามสัญญาณก็รวยกันหมดแล้ว ซึ่งตามทฤษฎีก็เป็นไปไม่ได้
แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เราก็ยังอยากจะดูสัญญาณอยู่ดี
มันคงเป็นสัญชาติญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์
มาดูกันว่ามีสัญญาณอะไรในตลาดหุ้นที่นักลงทุนสนใจดูกัน
สัญญาณตัวแรกที่นักเล่นหุ้นจับตาดูกันทุกวันก็คือ ดัชนีดาวโจนส์
นักลงทุนเชื่อกันว่าถ้าดัชนีดาวโจนส์ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์คเมื่อคืนก่อนปรับ
ตัวขึ้นแรง ตลาดหุ้นไทยในวันนี้ก็จะปรับตัวขึ้นตาม
แต่ถ้าดัชนีดาวโจนส์ตกลงมาอย่างแรง คืนนั้นนักเล่นหุ้นบางคนก็อาจจะ
“นอนไม่หลับ” เนื่องจากกังวลว่าหุ้นที่ตนเองถืออยู่มากคงจะตกลงมาแรง
บางทีเขาอาจจะคิดว่า “ทำไมเราไม่ขายไปก่อนวะ”
ราวกับว่าเขารู้ว่าดาวโจนส์กำลังปรับตัวลงมาอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม
สัญญาณดัชนีดาวโจนส์นั้น ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก
เพราะในนาทีแรกที่ตลาดหุ้นไทยเปิด ราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้น
หรือตกหนักลงไปทันที เราไม่มีโอกาสที่จะซื้อหรือขายหนีก่อน ดังนั้น
ดัชนีดาวโจนส์จึงเป็นอะไรที่นักวิเคราะห์ใช้ในการอธิบายสาเหตุว่าทำไมหุ้น
จึงขึ้นหรือตกอย่างแรงถ้าไม่มีสาเหตุอย่างอื่น
มากกว่าที่จะเป็นสัญญาณทำเงิน
สัญญาณตัวที่สองที่นักเล่นหุ้นติดตามกันมากก็คือ กลุ่มผู้ซื้อ-ขาย
สุทธิในตลาดหุ้นประจำวัน ซึ่งก็จะแบ่งออกเป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบัน
หรือคือกลุ่มที่เป็นกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเป็นต้น
กลุ่มนี้โดยธรรมชาติก็เป็นนักลงทุนที่ลงทุนระยะยาวกว่ากลุ่มอื่น
และก็เป็นกลุ่มที่มีการซื้อขายน้อยที่สุด
กลุ่มที่สองคือกลุ่มโบรกเกอร์ที่เข้ามาเล่นหุ้นโดยใช้เงินของบริษัทเอง
นี่เป็นกลุ่มที่มีการซื้อขายค่อนข้างเร็วและน่าจะมีการเก็งกำไรสูง
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าไม่เสียค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขาย
กลุ่มที่สามคือกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่มีปริมาณการซื้อขายมากเป็นอันดับ
สองในตลาดหุ้นไทย
และเป็นกลุ่มที่นักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นจับตามองมากที่สุด เหตุผลก็คือ
นักลงทุนเชื่อว่าถ้า “ฝรั่ง” ซื้อสุทธิ มาก ๆ แนวโน้มก็คือ
ตลาดหุ้นจะขึ้น ตรงกันข้าม ถ้าฝรั่งขายหนัก ๆ เรา “ถอยดีกว่า”
เพราะนักลงทุนเชื่อในเรื่องของ “Fund Flow” นั่นคือ
เงินต่างชาตินั้นมีมาก และพวกเขาจะเข้ามาซื้อหุ้นตัวใหญ่ ๆ
ทำให้ดัชนีและตลาดโดยรวมปรับตัวขึ้นอย่างแรงและเร็ว สุดท้ายก็คือ
กลุ่มนักลงทุน “รายย่อย” ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเรียกว่า “นักลงทุนส่วนบุคคล”
มากกว่า เพราะในปัจจุบันนี้ จำนวนมากเป็น “นักลงทุนรายใหญ่”
ซึ่งทำให้ปริมาณการซื้อขายของกลุ่มสูงที่สุดและมักจะมากกว่า 50%
ของตลาดโดยรวม ประเด็นก็คือ อิทธิพลของ “ฝรั่ง” นั้น
ผมคิดว่าลดลงเมื่อเทียบกับในสมัยก่อนที่ตลาดหุ้นไทยมีแต่นักลงทุนรายย่อย
จริง ๆ ที่เล่นเก็งกำไร กับต่างชาติที่รอบรู้กว่า แต่ปัจจุบันไม่ใช่
สัญญาณตัวที่สามคือ การซื้อ-ขายหุ้นของผู้บริหาร ถ้าเชื่อตามที่
ปีเตอร์ ลินช์ พูดก็คือ การขายหุ้นของผู้บริหารนั้น
ไม่ได้หมายความว่าบริษัทคงจะมีผลประกอบการที่ไม่ดีหรือหุ้นจะแพงเกินไปแล้ว
เสมอไป ผู้บริหารอาจจะมีภาระหรือความจำเป็นต้องใช้เงินก็ได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราพบว่าผู้บริหารหลาย ๆ
คนต่างก็ขายหุ้นพร้อมหรือใกล้เคียงกันในจำนวนมาก
แบบนี้ก็อาจจะต้องคิดเหมือนกันว่ามันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ผู้บริหาร
ต่างก็ต้องการใช้เงินพร้อมกัน
ในกรณีอย่างนี้เราคงต้องวิเคราะห์และพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่ามันเป็น
“สัญญาณลบ” ที่ทำให้เราขายหุ้นหรือไม่ ตรงกันข้าม ปีเตอร์ ลินช์ บอกว่า
เหตุผลในการซื้อหุ้นของผู้บริหารนั้นมีเพียงประการเดียวนั่นคือ
เขาคิดว่าหุ้นมีราคาถูกคุ้มค่าและเขาสามารถทำกำไรได้จากการลงทุน ดังนั้น
ผู้บริหารซื้อหุ้นจึงเป็นสัญญาณบวก อย่างไรก็ตาม
ในกรณีของตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะที่ผู้บริหารกับเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่
เป็นรายเดียวกัน การซื้อหุ้นของผู้บริหารก็อาจจะไม่ใช่สัญญาณบวกก็ได้
เหตุผลก็คือ มันอาจจะเป็นการ “ส่งสัญญาณลวง”
ให้นักเล่นหุ้นหรือนักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นเพื่อให้ราคาหุ้นวิ่งสูงขึ้นไป
หรือพยุงราคาหุ้นไว้เพื่อให้ตนเองสามารถขายหุ้นได้สะดวก เพราะในกรณีแบบนี้
หุ้นที่เขาซื้อนั้น เป็นเพียงส่วนน้อยของหุ้นที่เขามี
ไม่มีเหตุผลที่เขาจะต้องทำกำไรจากหุ้นในส่วนที่เขาซื้อเข้ามาเพิ่มจำนวน
เพียงเล็กน้อย
สัญญาณตัวสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ
รายการซื้อขายหุ้นรายการใหญ่แบบจับคู่หรือการซื้อขายหุ้นแบบ Big Lot
นี่คือการที่ผู้ถือหุ้นที่มีหุ้นจำนวนมากตกลงขายหุ้นให้กับนักลงทุนรายใหญ่
ที่ต้องการซื้อหุ้นเป็นจำนวนมาก โดยปกติก็คือ
คนที่ขายจะมีเพียงรายเดียวหรือไม่กี่รายที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันเช่นอยู่ใน
ครอบครัวเดียวกันหรือกลุ่มบริษัทเดียวกัน ส่วนคนที่ซื้อนั้น
บางครั้งก็มีรายเดียวหรือไม่กี่รายที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มักจะเป็น
สถาบันที่ต้องการได้หุ้นจำนวนมาก แต่บางครั้ง
โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการขายหุ้นก้อนโตมหาศาลหลาย ๆ
พันหรือเป็นหมื่นล้านบาทขึ้นไปก็จะมีผู้ซื้อรายใหญ่จำนวนมากเป็นสิบ ๆ
รายหรือเป็นร้อยรายที่ต่างก็เข้ามาแสดงความจำนงซื้อหุ้นผ่านโบรกเกอร์ที่จะ
ทำหน้าที่ในการขายหุ้นให้กับคนที่ต้องการขาย การซื้อ-ขายหุ้นแบบ Big Lot
นี้ มักทำกันแบบ “Over Night” หรือทำแบบ “ข้ามคืน”
ในช่วงที่ตลาดหุ้นปิดแล้ว ซึ่งการตกลงทุกอย่างจะทำภายในคืนนั้นและมา
“จับคู่” ซื้อขายหุ้นกันในเช้าวันรุ่งขึ้น โดยทั่วไปราคา ซื้อ-ขาย
มักจะต่ำกว่าราคาปิดของวันก่อนเล็กน้อยประมาณ 3-5%
ในกรณีที่เป็นรายการที่ไม่ใหญ่มาก แต่ในกรณีที่เป็นรายการใหญ่มาก
บางทีอาจจะต่ำกว่า 10% ก็มี
สัญญาณจากการขายแบบ Big Lot นั้น แม้ว่าในหลาย ๆ
กรณีผู้ขายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้บริหาร
แต่ก็ไม่ได้เป็นสัญญาณลบเสมอไป
อย่าลืมว่าการขายของเขานั้นอาจจะมาจากเรื่องของการต้องการใช้เงินหรือเป็น
การลดพอร์ตเพื่อกระจายความเสี่ยงก็ได้ ไม่ใช่แปลว่าหุ้นจะไม่ดี
เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ
คนที่ซื้อเองนั้นก็เป็นนักลงทุนรายใหญ่และส่วนใหญ่เป็นสถาบัน ดังนั้น
ถ้าหุ้นไม่ดีหรือไม่คุ้มค่าพวกเขาก็คงไม่ซื้อ
สิ่งที่จะเป็นลบที่เห็นได้ชัดเจนจากการทำ Big Lot ก็คือ
ราคาหุ้นที่ซื้อขายนั้นจะต่ำกว่าราคาหุ้นบนกระดาน ดังนั้น
คนที่ซื้อบางรายอาจจะรีบ “ทำกำไร” ทันทีโดยการขายหุ้นที่ได้มาในตลาด
และนี่ทำให้ราคาหุ้นในวันแรกที่ทำ Big Lot
มักจะตกลงมาใกล้เคียงกับราคาที่มีการตกลงซื้อขายกัน อย่างไรก็ตาม
หลังจากวันแรกไปแล้ว
ราคาหุ้นก็มักจะกลับมาซื้อขายกันตามพื้นฐานที่ควรจะเป็น ดังนั้น
ข้อสรุปของผมก็คือ การขาย Big Lot ในระยะสั้นอาจจะเป็นลบเล็กน้อย
แต่ในระยะยาวแล้วก็ไม่มีผลอะไร ว่าที่จริงในบางกรณีกลับเป็นบวก
เหตุผลก็เพราะว่าหุ้นตัวนั้นอาจจะเป็นที่นิยมมากขึ้นเนื่องจากมีนักลงทุน
สถาบันเข้าลงทุนมากขึ้น สภาพคล่องดีขึ้น ทำให้ราคาหุ้นดีขึ้น
และทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงสัญญาณส่วนหนึ่งที่คนในตลาดหุ้นชอบติดตามและบ่อย
ครั้ง Take Action หรือตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง แต่สำหรับ VI แล้ว
เรื่องเหล่านี้ เรามักจะติดตามเหมือนกัน
แต่ส่วนใหญ่แล้วเราก็ไม่ควรจะทำอะไรยกเว้นแต่มันมีเหตุผลที่น่าจะทำหลังจาก
ที่ได้ศึกษาอย่างถี่ถ้วนแล้วเท่านั้น
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 8 มกราคม 2556
No comments:
Post a Comment