Wednesday, February 20, 2013
ชีวิตที่เรียบง่าย
วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกคนหนึ่งติดต่อกันมานาน เขายังเป็นผู้บริหารของ เบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์ บริษัทจดทะเบียนติดอันดับต้นๆของอเมริกาและของโลก ดูจากโปรไฟล์แบบนี้คนก็ต้องคิดว่าชีวิตของเขาในแต่ละวันคงจะยุ่งเหยิงมาก จนหาเวลาที่เป็นส่วนตัวได้ยาก แต่เปล่าเลย ในแต่ละวันเขาเดินทางไปทำงานอย่างสบายๆ ขับรถเองออกจากบ้านถึงที่ทำงานก็กินเวลาไม่กี่นาที เวลาทำงานของเขา ส่วนใหญ่คือการนั่งอ่านหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นเรื่องของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ เช่นหนังสือรายงานประจำปี หรือไม่ก็อาจจะเป็นข้อเสนอขายหุ้นหรือกิจการให้เบิร์กไชร์ เวลาอีกส่วนหนึ่งก็คือการพูดคุยทางโทรศัพท์ที่น่าจะรวมถึงการสั่งซื้อหรือ ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็ไม่ได้บ่อยหรือใช้เวลามากนัก
ที่น่าทึ่งคือ เขาไม่นั่งดูจอคอมพิวเตอร์เพื่อติดตามราคาหุ้นหรือทำงานกับคอมพิวเตอร์เลย ว่าที่จริงเขาไม่มีคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงาน พูดกันว่าเขาไม่ใช้โทรศัพท์มือถือด้วย แต่เรื่องนี้ผมไม่แน่ใจว่าจริงไหม ครั้งหนึ่ง ลูกชายของ นางแคทเธอรีน เกรแฮม เจ้าของบริษัทวอชิงตันโพสต์ที่บัฟเฟตต์ร่วมถือหุ้นและสนิทสนมด้วย ต้องการมาพบบัฟเฟตต์และขอนัดเวลา บัฟเฟตต์ตอบว่า “มาได้เลย ผมไม่มีตารางเวลานัด”
บัฟเฟตต์ไม่อยู่ในที่ทำงานจนดึกดื่น เขากลับบ้านตามเวลาปกติ ช่วงหัวค่ำเขาอาจจะนั่งดูทีวีพร้อมข้าวโพดคั่ว บางวันเล่นบริดจ์ผ่านอินเทอร์เน็ตกับคู่ขา ลูกของบัฟเฟตต์เคยเล่าว่า ในช่วงวัยเด็กไม่เคยเห็นพ่อทำงานบ้านอะไรเลย วันๆ เอาแต่อ่านหนังสือ เวลาที่บัฟเฟตต์กินอาหารนอกบ้าน เขามักจะไปกินร้านเดิมๆ และอาหารน่าจะ“เดิม ๆ” เขาบอกว่า “ไม่รู้จะเสี่ยงไปทำไม อาหารร้านนี้อร่อยอยู่แล้ว”
เวลาที่บัฟเฟตต์เดินทางโดยเครื่องบิน เขาไปเองโดยไม่มีคนติดตาม ครั้งหนึ่งมีเรื่องเล่าว่ามีคนไปเจอบัฟเฟตต์ในสนามบิน อาจจะในร้านแม็คโดนัลด์ เขาเข้าไปทักและพูดทำนองว่า “คุณคือ วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือเปล่า” ซึ่งบัฟเฟตต์ตอบว่า “ใช่” แต่เขากลับอุทานว่า “เป็นไปไม่ได้” เขาคงคิดว่าบัฟเฟตต์ที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้จะมาเดินลากกระเป๋าแบบนี้ได้อย่างไร
ข้อสรุปคือ ชีวิตของวอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นชีวิตเรียบง่ายที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสถานะของเขาในสังคม และนั่นนอกจากเป็นเพราะอาชีพนักลงทุน ไม่จำเป็นที่จะต้องมีความซับซ้อนที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ ชีวิตเรียบง่ายเป็นสิ่งที่เขาเลือก ครั้งหนึ่งเขาได้รับเชิญให้ไปร่วมรับประทานอาหารกับประธานาธิบดีของสหรัฐ ซึ่งทางสังคมถือว่ามีเกียรติอย่างสูงและทุกคนแสวงหา แต่บัฟเฟตต์ปฏิเสธ เขาคงคิดว่า “ไม่รู้ไปทำไม”
ผมเคยผ่านชีวิตของการเป็นผู้บริหารของธุรกิจมานาน แม้จะไม่เคยเป็นผู้บริหารสูงสุดแต่ก็เป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทค่อนข้าง ใหญ่เกี่ยวข้องกับสังคมในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากลาออกมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวประมาณสิบปีแล้วก็พบความแตกต่างระหว่าง การเป็นพนักงานหรือผู้บริหารธุรกิจกับการเป็นนักลงทุนในด้านของการใช้ชีวิต และสังคมอย่างชัดเจน
ข้อแรก ชีวิตการเป็นผู้บริหารโดยเฉพาะในงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับสังคมหรือราชการ นั้น เป็นชีวิตมีความเครียดสูงมาก ประเด็นคือ การที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกน้องและเจ้านายจำนวนมาก ทำให้ชีวิตเรา “ซับซ้อน” มาก แต่ละวันมีเรื่องที่ต้องคิดและตัดสินใจแตกต่างกันออกไป เรื่องส่วนใหญ่ไม่สำคัญอะไรนักต่อความสำเร็จขององค์กร แต่การตัดสินใจอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกใจคนอื่นจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้ง ต่อหน้าและลับหลัง ทำให้เราเครียด เรื่องที่สำคัญมากจริง ๆ บางครั้งหรือบ่อยครั้ง เราไม่สามารถทำตามที่คิดได้ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องอาศัย “เสียงส่วนใหญ่” ที่คิดไปอีกทางหนึ่งหรือมี “แรงจูงใจ” บางอย่างทำให้ตัดสินใจไปอย่างนั้น ประเด็นสำคัญคือ แม้จะคิดและตัดสินใจตรงกันข้าม แต่เราต้อง “รับผิดชอบ” กับการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่นั้น และนี่ทำให้เกิดความเครียด เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดในอนาคต เราอาจต้องรับผิดไปด้วย
ในเมืองไทยประเด็นที่ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นคือ กฎเกณฑ์และระบบกฎหมายและความยุติธรรมยังไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร ดังนั้น ถ้าอยู่ในธุรกิจหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับสังคมหรือรัฐมาก เช่น บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือธุรกิจการเงินอย่างที่ผมเคยทำ “ความเสี่ยง” ของผู้บริหารจะเพิ่มขึ้นทวีคูณ ประเด็นคือ ในระบบของบ้านเรา การ “กล่าวโทษ” ทำได้ง่าย และความผิด อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องทุจริตหรือความผิดพลาดของการตัดสินใจ แต่เป็นเรื่องทำผิด “กฎระเบียบ” ที่สุดจะ “ซับซ้อน” ซึ่งนั่นเพียงพอจะทำให้คุณต้องตกเข้าไปสู่ “วังวน” ของปัญหาที่จะทำให้ชีวิตเครียดไปอีกนานถ้าถูกกล่าวโทษ
ข้อสอง การเป็นพนักงานหรือผู้บริหารขององค์กรที่ใหญ่โต ทำให้เรามีสถานะทางสังคมสูงกว่าคนที่เป็นนักลงทุนในสายตาของคนทั่วไป นี่เป็นเรื่องค่อนข้างจะชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทย ที่ยังยึดถือเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าค่อนข้างมาก แม้ค่อยๆลดลงช่วงหลังนี้ การมี “หัวโขน” นั้น แม้ทำให้คนที่ “สวม” อยู่ รู้สึกดี แต่มันทำให้ชีวิตเราซับซ้อนขึ้น
เราถูกทำให้ต้องคิดคำนึงถึงการ “วางตัว” ให้เหมาะสมกับ “ชั้น” หรือสถานะที่อยู่อย่างเคร่งครัด จะทำตัว “มอซอ” หรือไม่ไปเคารพนบนอบ “ผู้ใหญ่” ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ไม่ได้ แม้แต่ชีวิตส่วนตัว ก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรแบบสบาย ๆ ที่ดูแล้วอาจจะทำให้ “เสียลุค” ทำให้คน “ขาดความนับถือ” ได้ นอกจากนั้น การเป็น “คนสำคัญ” ยังหมายความว่าคุณจะต้องมีหรือทำกิจกรรม “เพื่อสังคม” หรือต้อง “เข้าสังคม” กับคนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในระดับเดียวกันเป็นประจำ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องทำให้ชีวิตค่อนข้างจะเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนมีพื้นฐานนิสัยค่อนข้างเป็นแบบ “เสรีชน”
ชีวิตคนทำงานหรือเป็นผู้บริหารในองค์กรขนาดใหญ่ ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงการมีชีวิตที่ซับซ้อนไปได้ยาก และหลายคนอาจจะชอบมัน ว่าที่จริงการมีชีวิตเรียบง่ายอาจจะไม่เหมาะกับคนที่ทำงานในองค์กรด้วยซ้ำ แต่ชีวิตของนักลงทุน ผมคิดว่าเราต้องการความเรียบง่ายมากกว่า เหตุผลคือ ความเรียบง่ายนั้น มักทำให้เราได้สัมผัสกับคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนทั่วไป ที่เป็นลูกค้าของบริษัทจดทะเบียนทั้งหลายได้มากกว่าความซับซ้อน ว่าที่จริง ปีเตอร์ ลินช์ เคยพูดไว้ว่า “ถ้าคุณเป็นคนขับรถสิบล้อ คุณจะได้เปรียบในการลงทุน” ส่วนตัวผมเอง สมัยที่ยังเป็นผู้บริหารบริษัท ยังไม่ค่อยรู้สึกถึงความจำเป็นของการมีร้านสะดวกซื้อมากนัก เหตุผลเพราะมีคนคอยจัดการเรื่องกาแฟและใบเสร็จค่าน้ำไฟรวมถึงเรื่องจิปาถะ ต่าง ๆ แต่หลังจากออกมาเป็นนักลงทุนต้องทำทุกอย่างเหมือนกับคนทั่วไป ถึงได้ค้นพบว่านี่คือสิ่งที่คนเกือบทั้งประเทศต้องการแทบจะขาดไม่ได้
ชีวิตที่เรียบง่ายนั้น ไม่ได้ช่วยแต่เรื่องของการลงทุน ส่วนตัวผม สามารถลดความเครียดลงได้น่าจะ 80%-90% จากการเลิกทำงานที่ซับซ้อนความเครียดสูงลง การพูดเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าผมคิดว่าเราควรลาออกจากงานมาลงทุนเต็มตัว เพื่อใช้ชีวิตเรียบง่าย ผมเพียงแต่ต้องการบอกว่า การทำชีวิตให้เรียบง่าย เป็นสิ่งที่ดีทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น การลงทุนเป็นช่องทางหนึ่ง ที่อาจทำให้เราสามารถเลือกใช้ชีวิตที่เรียบง่ายได้
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 29 มกราคม 2556
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment