เมื่อถึงเวลาที่นัก
ลงทุนจะต้องออกไปลงทุนในต่างประเทศเช่นในปัจจุบัน
สิ่งที่เราจะต้องรู้ก็คือ ประเทศไหนจะแข็งแกร่ง รุ่งเรืองเฟื่องฟู ประเทศไหนอ่อนแอและจะ
ลำบากไปอีกนาน เพราะถ้าเราไม่รู้ เราก็อาจจะเข้าไปลงทุน “ผิดประเทศ”
ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผลตอบแทนการลงทุนย่ำแย่ จริงอยู่ ในฐานะที่เป็น VI
เราไม่ได้ลงทุนในประเทศ เราลงทุนในตัวหุ้น แต่ความเป็นจริงก็คือ
ในยามที่ประเทศกำลังลำบากหรืออยู่ในช่วงตกต่ำนั้น
ก็ยากที่บริษัทจะสามารถสร้างผลงานโดดเด่นมาก ๆ
เมื่อเทียบกับอีกบริษัทหนึ่งที่โดดเด่นเช่นเดียวกันแต่อยู่ในประเทศที่กำลัง
เฟื่องฟู ด้วยเหตุผลนี้
การวิเคราะห์ประเทศจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องรู้
หรือกำลังจำเป็นต้องรู้ อาจจะเนื่องจากเราเห็นว่า Value
ของหุ้นในประเทศไทยนั้น “เหลือน้อยลง” เมื่อเทียบกับหุ้นในต่างประเทศ
หรือไม่ก็อาจจะเพราะว่าเราอยากกระจายความเสี่ยงการลงทุนโดยการแบ่งเงินบาง
ส่วนไปลงทุนในต่างประเทศบ้าง
การวิเคราะห์ความเข้มแข็งของประเทศนั้น
ไม่ใช่การคาดการณ์ว่าปีนี้หรือปีหน้าประเทศนั้นจะเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์
แต่เป็นการวิเคราะห์กำลังหรือพลังอำนาจโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจของประเทศในการ
แข่งขันกับประเทศอื่น
นี่เป็นเรื่องของโครงสร้างระยะยาวที่ไม่ใช่สิ่งที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง
ได้ง่าย
และพลังอำนาจนี้จะเป็นตัวที่กำหนดว่าประเทศจะรุ่งเรืองหรือตกต่ำไปอีกนานพอ
สมควรหรือตลอดไป
พลังอำนาจของประเทศนั้น คิดว่าน่าจะมาจากปัจจัยหลัก ๆ 4-5 เรื่องก็คือ
หนึ่ง คุณภาพของคนในประเทศ ว่ามีความรู้หรือมีการศึกษาดีแค่ไหน IQ
ของคนเป็นอย่างไร สอง คือจำนวนของคนว่ามีมากน้อยแค่ไหน สาม
คือกฎเกณฑ์หรือกฎหมายว่าเอื้ออำนวยต่อการจูงใจให้คนทำงาน ทำธุรกิจ
และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ มากน้อยแค่ไหน สี่ คือทรัพยากรที่ประเทศมีอยู่
รวมถึงพลังงาน แร่ธาตุ และแน่นอน
พื้นแผ่นดินที่ใช้ประโยชน์โดยเฉพาะในทางเกษตรกรรมได้ ห้า
คือวัฒนธรรมและความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนในชาติว่า
มีความเข้มแข็งมากน้อยเพียงใด ซึ่งรวมไปถึงประวัติศาสตร์ที่เป็นมาด้วย
และคงไม่ต้องบอกว่า ศาสนาและค่านิยม รวมถึง “จิตวิญญาณ”
ของการเป็นผู้ประกอบการหรือการ “เสี่ยงภัย” ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
จากแนวทางการวิเคราะห์ข้างต้น
ลองมาดูกันว่าระหว่างสหรัฐกับกลุ่มสหภาพยุโรป
ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจและกำลังอำนาจใกล้เคียงกัน
ใครแข็งแกร่งกว่าและน่าจะมีอนาคตรุ่งเรืองกว่า ซึ่งคำตอบคืออเมริกา
ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
เรื่องแรกคือ กลุ่มยูโรโซนนั้น
มีรัฐบาลที่กระจัดกระจายนับเป็นสิบๆประเทศและมีภาษาใช้กันหลายภาษา
ขณะที่อเมริกานั้นเป็นหนึ่งเดียวและมีภาษาเดียว ดังนั้น
นโยบายและการบริหารงานของอเมริกานั้นมีเอกภาพสูงกว่ามาก
ทำให้การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของอเมริกาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่า
และนี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008
ที่เริ่มในอเมริกา อเมริกากลับฟื้นตัวได้ดีกว่ายุโรปมาก
เรื่องที่สองคือคนของอเมริกานั้น แม้ว่าในด้านของคุณภาพหรือ IQ
คงไม่ต่างจากยุโรป และจำนวนของคนก็อาจจะไม่ต่างกัน
แต่คนอเมริกันนั้นน่าจะมีอายุเฉลี่ยต่ำกว่าและที่สำคัญ
จำนวนคนยังเพิ่มขึ้นเนื่องจากการอพยพของคนเข้าประเทศ
นี่เป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอเมริกาดีกว่า
ยุโรปมาตลอดและน่าจะต่อเนื่องไปอีกนานพอสมควร
เรื่องที่สามคือ การศึกษา
ที่อเมริกาได้เปรียบในแง่ที่มีมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกจำนวนมากกระจายกัน
ทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นสถาบันที่สร้างคนระดับสุดยอดของโลกแล้ว
ยังเป็นแหล่งที่ดึงดูดมันสมองชั้นยอดทั่วโลกให้ทำงานและอาศัยอยู่ในสหรัฐ
ด้วย
เรื่องที่สี่คือวัฒนธรรมของการเป็นผู้บุกเบิกและผู้ประกอบการของคน
อเมริกันนั้นสูงกว่ายุโรป
นี่อาจจะเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ชาติอเมริกาเองที่เกิดขึ้นจาก
“นักบุกเบิก” ดังนั้น อเมริกาจึงเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมใหม่ ๆ
และมีบริษัทข้ามชาติที่ยิ่งใหญ่จำนวนมาก
เรื่องที่ห้าก็คือ
อเมริกามีตลาดการเงินที่มีสภาพคล่องสูงและมีประสิทธิภาพมาก ที่สำคัญก็คือ
เงินอเมริกันนั้นเป็นเงินที่ใช้ในการค้าและการลงทุนทั่วโลก
นี่เป็นความได้เปรียบในแง่ที่ว่าอเมริกาสามารถส่งออกปัญหาทางการเงินไปให้คน
อื่นมาช่วยรับได้
เรื่องที่หกก็คือ เรื่องของทรัพยากร
อเมริกามีที่ดินกว้างใหญ่ไพศาลที่สามารถทำการเกษตรได้เมื่อเทียบกับประชากร
นอกจากนั้น การค้นพบวิธีการนำ Shale Gas
หรือก๊าซธรรมชาติใต้หินดินดานขึ้นมาใช้
ทำให้อเมริกาซึ่งมีก๊าซชนิดนี้มากเป็นอันดับต้นของโลก
อยู่ในฐานะได้เปรียบยุโรปที่มีข้อจำกัดในการขุดเจาะพลังงานแหล่งนี้
ว่ากันว่า ภายในปี 2020
อเมริกาจะกลับมาเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เรื่องสุดท้ายเป็นจุดอ่อนของอเมริกาคือ เรื่องสุขภาพของคน
ปัญหาของอเมริกาคือ
คนอเมริกันนั้นน่าจะอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินมากที่สุดในโลก
นี่เป็นผลจากการอยู่ดีกินดีมากเกินและมีวัฒนธรรมการกินที่ “รีบด่วน”
ทำให้คนถึงหนึ่งในสามของประเทศมีน้ำหนักเกิน และอยากจะเสริมว่า เกินไปมาก
และก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ
คนอเมริกันวันนี้ใช้จ่ายเงินกับสุขภาพสูงมากและน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่าง
รวดเร็ว
ว่ากันว่าเงินที่รัฐบาลต้องใช้จ่ายในการประกันหรือดูแลสุขภาพของประชาชนใน
ไม่ช้าจะมากจนรับไม่ไหว บางคนคิดว่านี่จะเป็นวิกฤติที่ใหญ่มากในอนาคต
นอกจากนั้น
การที่คนมีน้ำหนักเกินและสุขภาพแย่ก็ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงจนแข่ง
ขันกับประเทศอื่นไม่ได้
กล่าวโดยสรุปแล้ว อนาคตของอเมริกานั้นน่าจะโดดเด่นกว่ายุโรปมาก
และการลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกันน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่ายุโรปในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม คำถามคงตามมาว่านอกจากอเมริกาและยุโรปแล้ว
เอเชียแต่ละประเทศเป็นอย่างไร มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร?
ถ้าจะตอบคำถามนี้คงต้องเป็นเรื่องที่ยาวมาก
ไล่ตั้งแต่การเปรียบเทียบระหว่างอินเดียกับจีน
หรือถ้าจะดีกว่าก็ต้องเปรียบเทียบระหว่าง
อเมริกากับจีนที่กำลังแข่งกันเป็นผู้นำโลกว่าใครเข้มแข็งกว่ากัน
หรือถ้าจะลดระดับของประเทศลงมาหน่อยก็ต้องเปรียบเทียบระหว่างเวียดนามกับไทย
หรือเวียดนามกับพม่า หรือแม้แต่ไทยกับพม่า สุดท้ายถ้ามีเวลามากจริง ๆ
ก็ต้องดูกันทั้งอาเซียนที่กำลังรวมเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น
ซึ่งผมคงทำไม่ได้ในบทความเดียว
ว่าที่จริงนอกจากเนื้อที่ไม่พอแล้วผมก็คงทำไม่ได้เนื่องจากข้อจำกัดทางด้าน
ความรู้ด้วย
ประเทศไทยนั้นแน่นอนว่า
ผมต้องพอจะรู้บ้างว่าเรามีจุดอ่อนหรือจุดแข็งอย่างไรเทียบกับเพื่อนบ้านหรือ
เทียบกับโลก เช่นเดียวกัน VI ทั้งหลายควรจะต้องรู้
แต่ใครจะวิเคราะห์ได้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ประเด็นสำคัญคือ การวิเคราะห์อะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวเราเองนั้น บ่อยครั้ง
“ความลำเอียง” ก็เกิดขึ้นได้ และทำให้เราวิเคราะห์ผิด ประสบการณ์ของผมก็คือ
ในช่วงเวลาไม่ต่ำกว่า 15 ปีที่ผมเป็น VI ที่มุ่งมั่น
ความคิดของผมที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุดคือ ความ “ไม่ลำเอียง”
ในการคิดหรือมองในทุกเรื่อง
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 18 ธันวาคม 2555
No comments:
Post a Comment