เมื่อผมยังเป็นเด็ก
คนที่เป็น "ชนชั้นนำ" หรือที่เรียกกันว่า Elite ในภาษาอังกฤษนั้น
ที่สูงที่สุดน่าจะอยู่ในแวดวงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงนายทหารชั้นสูงที่
มี "นามสกุล" ที่เก่าแก่เป็นที่รู้จักกันในสังคม
พวกเขามีทรัพย์สมบัติมากกว่าคนทั่วไปมากโดยเฉพาะที่ดินในทำเลทองของกรุงเทพ
ลูกหลานของพวกเขามักเล่าเรียนในโรงเรียนชั้นนำของประเทศ
และถ้าเป็นเด็กผู้ชายจะย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำในต่างประเทศ เมื่ออายุอาจ
12-15 ปี
หลังจากนั้นอาจเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่มีชื่อเสียง
ระดับโลก หลังจากนั้น หลายคนก็กลับมารับราชการ
และอาจจะเล่นการเมืองจนมีตำแหน่งใหญ่โตมีชื่อเสียง
นั่นคืออีลิทชั้นสูงที่สุด ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก
อีลิทระดับรองลงมาที่มีจำนวนมากกว่าและ "มาแรงกว่า" คือ
กลุ่มเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ที่เริ่มสะสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จากการที่เศรษฐกิจของไทยเติบโตรวดเร็ว คนกลุ่มนี้มักเป็นคน "รุ่นที่สอง"
ของชาวจีนอพยพที่เข้ามาริเริ่มธุรกิจ ที่ยังมีไม่มากนักในเมืองไทย
พวกเขาเริ่มเรียนรู้ที่จะ "สร้างสถานะ" ทางสังคมด้านต่างๆ
โดยอิงกับธุรกิจและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่อยู่ในกลุ่มอีลิทชั้นสูงและพวก
เดียวกัน
ลูกหลานของอีลิทในกลุ่มนี้มักเล่าเรียนในโรงเรียนเอกชนชั้นนำของประเทศเฉพาะ
อย่างยิ่งโรงเรียนในเครือคาทอลิกซึ่งมีประมาณ 7-8
แห่งทั้งโรงเรียนชายและหญิง ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้
มักรับนักเรียนจากพ่อแม่ที่เคยเป็นศิษย์เก่า
ทำให้ภาพของโรงเรียนกลายเป็นโรงเรียนของอีลิทไปด้วย
เด็กเหล่านี้เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย
ก็มักจะเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ บางคนที่สอบเอนทร๊านซ์ไม่ติด
ก็เดินทางไปเรียนต่อในต่างประเทศที่เจริญแล้ว โดยเฉพาะอเมริกาและอังกฤษ
เวลาผ่านไปพร้อมๆ กับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมหาศาล
ระบบการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ข้าราชการที่เคยมีบทบาทและบารมีสูงส่งถูกลดบทบาทลงเรื่อยๆ
ขณะที่นักการเมืองที่มักจะมาจากประชาชนธรรมดา กลับมีอำนาจมากขึ้นและมากขึ้น
ด้านนักธุรกิจ พวกเขาก็เติบโตและร่ำรวยขึ้นมากกว่า "เศรษฐีและผู้ดีเก่า"
เทียบกันไม่ได้
เหล่านี้ทำให้อีลิทที่เป็นชนชั้นนำรุ่นแรกที่กล่าวถึงลดสถานะลง
ว่าที่จริงถ้ามีแต่ "นามสกุลเก่า" แต่ไม่ได้ร่ำรวยมากแล้ว
ความเป็นอีลิทอาจถือได้ว่าหมดไปแล้ว "อีลิทรุ่นใหม่"
ที่มักประกอบด้วยเจ้าของธุรกิจ "สมัยใหม่" ที่มีขนาดใหญ่ในวันนี้ไม่ได้มี
"นามสกุลเก่า" พวกเขามีนามสกุลยาวที่อาจตั้งขึ้นมานาน 2-3 ชั่วอายุคน
ครอบครัวไม่มีประวัติที่เกี่ยวข้องกับงานราชการและไม่สนใจที่จะทำราชการ
ยกเว้นว่าอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐในฐานะของนักการเมืองสำหรับบางคน
ลูกของคนที่เป็นอีลิทรุ่นใหม่ ผมคิดว่า
พวกเขาเริ่มเรียนในโรงเรียนอินเตอร์มากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ
หลายคนอาจส่งลูกไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่เด็ก
แต่การส่งลูกเข้าโรงเรียนคาทอลิกอย่างที่เป็นอยู่ก่อนหน้านี้ น่าจะค่อยๆ
ลดลง การมีลูกเรียนในโรงเรียนแบบไทย ในไม่ช้าผมคิดว่า
จะไม่ใช่หนทางของอีลิทรุ่นใหม่อีกต่อไป คนที่ร่ำรวยมากๆ
และถือเป็นอีลิทในวันนี้ที่ผมเห็น
ดูเหมือนจะส่งลูกเข้าโรงเรียนอินเตอร์ที่เปิดขึ้นมามากมาย
บางคนก็ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ในโรงเรียนอินเตอร์ที่ "แพงและโดดเด่น"
บางแห่ง เวลานี้เต็มไปด้วยเด็กที่พ่อแม่มีฐานะร่ำรวยมหาศาล
และอาจต้องการให้ลูกได้อยู่ในบรรยากาศและเพื่อนที่มีพ่อแม่เป็นอีลิท
เราพอจะคาดได้ว่า เด็กเหล่านี้จะกลายเป็นอีลิทในอนาคต
จะเป็นคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก พวกเขาจะ "โกอินเตอร์"
โดยใช้ภาษาอังกฤษที่ใช้กันแพร่หลายเพิ่มขึ้นทั่วโลก
ภาษาจีนที่อาจจะมีคนคิดว่า เราต้องรู้เพื่อสื่อสารติดต่อกับคนจีน
ที่มีกว่าพันล้านคน และธุรกิจของจีนที่กำลังเติบโตขึ้นมหาศาล
และคงเป็นอันดับหนึ่งของโลกในที่สุดนั้น ผมไม่คิดว่า
อีลิทรุ่นใหม่จะสนใจเรียนรู้มากนัก เหตุผลคือ การติดต่อกับธุรกิจจีน
โดยเฉพาะที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ สามารถติดต่อเป็นภาษาอังกฤษได้
เพราะคนจีนต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษ การที่อีลิทรุ่นใหม่จะเรียนรู้ภาษาจีน
จึงไม่น่าจะ "คุ้มค่า"
พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมหวนนึกถึงเพื่อนนักเรียนร่วมสมัยของผมที่เรียนภาษา
ฝรั่งเศสและสเปน ที่ป่านนี้อาจจะมีโอกาสใช้ให้เป็นประโยชน์น้อยมาก
เช่นเดียวกับภาษาญี่ปุ่น
ที่ผมคิดว่าไม่น่าจะทำเงินหรือเป็นประโยชน์มากนัก เหตุผลที่ภาษาอื่นๆ
มีการพูดในระดับสากลน้อยลง ผมคิดว่า เพราะเป็นภาษาที่ "ชนะ"
ซึ่งจะได้เปรียบมากขึ้น ก็คล้ายๆ
เครือข่ายสังคมที่ถ้ามีคนเข้ามาร่วมมากขึ้น ก็ทำให้คนใหม่ๆ
อยากเข้ามาร่วมมากขึ้น และทำลายเครือข่ายที่เล็กกว่าในที่สุด
ด้วยเหตุผลแบบนี้ ผมจึงคิดว่า การเรียนภาษาจีนอาจไม่คุ้ม
และถ้าจะให้เลือกว่าเราใช้ภาษาอังกฤษที่ดีมากภาษาเดียว
กับการที่ใช้ได้สองภาษาแบบงูๆ ปลาๆ ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนรู้เท่ากัน
ผมเลือกที่จะขอใช้ภาษาอังกฤษดีกว่า
อีลิทรุ่นใหม่ ไม่ได้เหมือนอีลิทรุ่นเก่าในด้านสังคม
พวกเขาไม่จำเป็นต้องมี "หัวโขน"
หรือตำแหน่งหน้าที่การงานที่อยู่ในระดับสูงกว่าตามสายบังคับบัญชา
คนไม่สนใจว่า คุณจะเป็นหัวหน้ากอง เป็นอธิบดี เป็นทูต
เช่นเดียวกับตำแหน่งทางบริษัท หรือองค์กรทางธุรกิจว่า คุณเป็นผู้จัดการฝ่าย
เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ หรือตำแหน่งอะไรในบริษัท ชื่อเสียงหรือความ "ดัง"
หรือความสามารถที่เป็นที่ยอมรับ จะเป็นสิ่งที่อีลิทแสวงหา
นี่คงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่ง
ที่ทำให้ลูกหลานอีลิทช่วงเวลานี้ต่างอยากเป็นดารา นักร้อง พิธีกร
แม้แต่ลูกหลานนักการเมืองใหญ่ที่โด่งดัง หรือนักธุรกิจใหญ่มากๆ หลายคน
เลือกที่จะเป็นดารา พิธีกร หรือเป็นนักเขียน แทนที่จะทำงานตามรอยพ่อแม่
แม้งานนั้นอาจจะไม่ใช่งานถาวรที่จะทำต่อไปตลอด ในอีกด้านหนึ่ง
อีลิทรุ่นใหม่หลายคนก็เข้ามาเกี่ยวข้องมีความสัมพันธ์กับดารา
ซึ่งทำให้ตนเองกลายเป็นคนดังไปด้วย ว่าที่จริง ดาราระดับ "ซูเปอร์สตาร์"
ของไทยขณะนี้ผมคิดว่า พวกเขามีสถานะเป็นอิลิทกลุ่มหนึ่งของสังคมไทยแล้ว
เมื่อดูจากฐานะการเงินและชื่อเสียงของพวกเขา
ผมคงจะจบเรื่องอีลิทรุ่นใหม่ไปไม่ได้ ถ้าไม่พูดว่า นักลงทุนโดยเฉพาะแบบ
VI ที่ประสบความสำเร็จสูง
และหรือมีพอร์ตการลงทุนที่ใหญ่โตด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
น่าจะกลายเป็นอีลิทอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ใหม่ที่สุด และใหม่กว่ากลุ่มดาราแน่นอน
พวกเขาหลายๆ คนมาจากครอบครัวที่ร่ำรวย ทำธุรกิจ และมีสถานะดี
บางทีอาจจะเป็นอีลิทอยู่แล้ว แต่การเป็นนักลงทุน
เป็นอีกสถานะหนึ่งที่สังคมน่าจะเริ่มยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ พูดง่ายๆ
คนไม่คิดว่าการร่ำรวยจากการลงทุนนั้น เป็นเรื่องการพนัน
หรือเป็นเรื่องของคนขี้เกียจไม่ทำงาน ที่สำคัญ
เป็นสถานะที่คนทั่วไปไขว่คว้าได้
มีบทเรียนที่คนเรียนรู้และใช้เพื่อที่จะไปถึงสถานะที่เป็นอีลิทในสังคม
และถ้าจะว่าไป นี่คือเส้นทางที่จะทำให้คนเปลี่ยนสถานะได้
โดยที่เขาไม่ต้องทำสิ่งที่เป็นการฉ้อฉล หรือเอาเปรียบคนอื่น เพราะการลงทุน
โดยเฉพาะที่เป็นแบบ VI เป็นเกมหรือการทำงานที่แฟร์ที่สุดอย่างหนึ่ง
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 15 มกราคม 2556
No comments:
Post a Comment