ในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์บูมมากๆ อย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้ ผมมักได้ยินหรือได้รับรู้ถึงความกระตือรือร้นและความกังวลของคนสองกลุ่มที่อยู่ในตลาดหุ้นหรือกำลังจะเข้ามาในตลาดหุ้นว่า เขาควรซื้อ หรือเข้ามาซื้อหุ้นได้หรือยัง? นี่เป็นคำถามข้อแรกโดยเฉพาะนักลงทุนมือใหม่ หรือนักลงทุนที่ไม่ได้ทุ่มเทนักกับการลงทุน แต่รู้สึกว่าการลงทุนในหุ้นช่วงนี้จะมีโอกาสทำกำไร หรือสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าการฝากเงิน
อีกคำถามหนึ่งคือ เขาควรจะขายหุ้นได้แล้วหรือยัง? โดยเฉพาะนักลงทุนมือเก่า หรือคนที่ทุ่มเทกับการลงทุน ที่อาจมองว่าราคาหุ้นในตลาดได้ปรับตัวขึ้นสูงและเร็วมาก พวกเขากลัวว่าราคาหุ้นจะสูงเกินพื้นฐาน เขาควรขายหุ้นไปก่อน หรือไม่ก่อนที่จะตกลงมา และทำให้ผลกำไร หรือความมั่งคั่งของเขาลดลงไปมาก ในการตอบคำถามของคนสองกลุ่มในสถานการณ์ หรือภาวะตลาดเดียวกัน แต่คำถามกลับเป็นตรงกันข้าม ผมอยากจะบอกดังนี้
ข้อแรก เราควรซื้อหุ้นไหม? คำตอบของผมคือ ในการซื้อหุ้น หลักการแบบ VI คือ เราต้องพอจะมีไอเดีย หรือประเมินได้ว่า "มูลค่าพื้นฐาน" ของบริษัทหรือหุ้นตัวนั้นควรเป็นเท่าไร เมื่อได้แล้ว เรามาดูว่า "ราคา" ของหุ้นตัวนั้นเป็นเท่าไร จุดที่เราจะซื้อคือ ราคาหุ้นต้องต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน และกรณีที่เราไม่มั่นใจว่า เราคำนวณ หรือประมาณมูลค่าพื้นฐานได้ถูกต้อง เพราะเรายังไม่มีความสามารถมากนัก หรือกิจการของบริษัทไม่สม่ำเสมอ เราต้องซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่ามูลค่าของบริษัทมากขึ้น โดยส่วนต่างที่ว่านี้คือ "Margin of Safety" ซึ่งต้องมีเพื่อความปลอดภัยกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น
การหา "มูลค่าพื้นฐาน" เป็นเรื่องยากมาก ในทางปฏิบัตินักวิเคราะห์จึงหาตัวเลขง่ายๆ มาใช้ ตัวเลขยอดนิยมตัวหนึ่ง คือค่า PE หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้นต่อปีของบริษัท วิธีคือ ดูว่ากำไรต่อหุ้นในปีที่ผ่านมาหรือใน 4 ไตรมาสที่ผ่านมาเป็นเท่าไร แล้วคูณด้วยตัวเลขตัวหนึ่ง เช่น 15 เท่า จะได้ "ราคาพื้นฐาน" ต่อหุ้น ตัวเลข 15 อาจมาจากค่า PE เฉลี่ยของหุ้นตัวนั้นในอดีต หรือมาจากค่า PE ของอุตสาหกรรมของหุ้นตัวนั้น หรืออาจอ้างอิงจากค่า PE ของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งอยู่ที่ 18 เท่าช่วงนี้ และนี่จะจบประเด็นว่าเราควรจะซื้อหุ้นหรือไม่
ข้อที่สอง ที่ผมอยากพูดถึงมากกว่าคือ กฎเกณฑ์ในการขายหุ้น ซึ่ง VI หลายคน อาจมองว่าควรจะเป็นเกณฑ์เดียวกับการซื้อหุ้น นั่นคือ ถ้าราคาหุ้นเกิน หรือสูงกว่ามูลค่า หรือราคาพื้นฐาน เราควรขายหุ้นทิ้ง คือถ้าคุณไม่ซื้อ ซึ่งจะทำให้คุณต้องถือ และต้องถูกขายออกไป แต่นี่ไม่ใช่วิธีการของ "VI ในตำนาน" หลายๆ คน ที่ดูเหมือนว่าการขายหุ้น อาจมีกฎเกณฑ์อีกแบบหนึ่ง และต่อไปนี้ก็คือสิ่งที่ผมรวบรวมมาเพื่อให้พิจารณา
ข้อแรกก็คือ เราควรขายหุ้นถ้าเรา "คิดผิด" ซึ่งนี่อาจจะไม่เกี่ยวกับราคา หรือมูลค่าพื้นฐานหุ้นเลยก็ได้ ตัวอย่างเช่น เราคิดว่าบริษัทนั้น เป็นกิจการที่ "โตเร็ว" ต่อมาเราพบว่ายอดขาย หรือกำไรที่เห็นนั้น ไม่ได้มาจากธุรกิจปกติ แต่เป็นยอดขายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว แบบนี้ เราอาจจะขายหุ้นทิ้งเลย หรือต้องวิเคราะห์ใหม่ ซึ่งอาจจะทำให้เราพบว่า ไม่คุ้มค่าที่จะถือไว้
ข้อสอง พื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงไป หลังจากเราถือหุ้นมาระยะหนึ่ง นี่ไม่ได้เกี่ยวกับราคาหุ้นที่จะขึ้นหรือลง แต่เป็นเรื่องพื้นฐาน หรือการดำเนินงาน หรือความเข้มแข็งของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม หรือเกิดจากคู่แข่งที่เข้มแข็งกว่าเข้ามาแย่งชิงลูกค้า และเริ่มได้เปรียบในการแข่งขัน ถ้าเป็นแบบนี้ การขายหุ้นจึงเป็นทางเลือกที่ดี แม้ต้องขายในราคาที่ลดลงไปมาก หรือขายขาดทุน
ข้อสาม มีหุ้นหรือทางเลือกอื่นที่คุ้มค่ากว่าหุ้นที่เราถือไว้ และเราไม่มีเงินสดในการลงทุน กรณีนี้อาจตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ เพื่อไปซื้อหุ้นตัวใหม่ กรณีนี้เราต้องมั่นใจมากว่าหุ้นตัวใหม่ ดีกว่าหุ้นบางตัวที่เราถือไว้จริงๆ เพราะปกติ ความเข้าใจหุ้นตัวใหม่น้อยกว่าหุ้นที่เราถืออยู่ การขายหุ้นกรณีนี้ ไม่เกี่ยวกับมูลค่าพื้นฐาน หรือราคาหุ้น นั่นคือ ยังเป็นหุ้น Value อยู่ เพียงแต่เราไปเจอหุ้นที่ดีมี Value มากกว่ามาก
ข้อสี่ หุ้นที่เราถืออยู่ มีราคาสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก นี่อาจจะเกิดขึ้นได้ในยามที่ตลาดหุ้นเป็น "กระทิงดุ" อย่างช่วงนี้ หรืออาจเกิดขึ้นได้กับหุ้นขนาดเล็กที่มีแรงเก็งกำไรเข้ามาสูงหรือ "ปั่นหุ้น" ตัวนั้น ทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเกินพื้นฐานมากอย่างไม่ต้องสงสัย กรณีแบบนี้ ควรจะขายทิ้ง และหวังว่าจะกลับเข้าไปซื้อใหม่ได้ในราคาที่ต่ำลง เมื่อตลาดตกลงมาหรือเมื่อการเก็งกำไรหรือการปั่นหุ้นนั้นหมดไป เกณฑ์ข้อนี้น่าจะเป็นข้อเดียวที่การตัดสินใจขายหุ้นนั้น อิงอยู่กับราคาหุ้นตัวนั้นในตลาด หัวใจสำคัญคือ เราต้องเห็นว่ามีสถานการณ์สองอย่างนั่นก็คือ ตลาดหลักทรัพย์ใกล้เป็นฟองสบู่ หรือไม่ก็ปริมาณการซื้อขายหุ้นตัวนั้นสูงลิ่ว มีการซื้อขายเกินวันละ 4-5% ของ Market Cap. ติดต่อกันนาน บางวันอาจจะหลายสิบเปอร์เซ็นต์
ข้อสุดท้ายคือ บางครั้งหุ้นตัวที่เราถืออยู่ อาจมีราคาเพิ่มขึ้นมาก จนมีมูลค่าสูงเกินไปในพอร์ตโฟลิโอของเรา กรณีนี้ เราอาจจะรู้สึกเสี่ยงเกินไป ถ้าเกิดอะไรขึ้น เช่น เราไม่อยากให้หุ้นตัวไหนใหญ่เกิน 30% ของพอร์ต และเกิดมีหุ้นตัวหนึ่ง ซึ่งเราอาจซื้อมาครั้งแรก 10% ของพอร์ต แต่ราคาเพิ่มขึ้นเร็วและมากกว่าหุ้นตัวอื่น จนเป็น 35% แบบนี้ เราอาจขายไป 5% ให้เหลือเพียง 30% เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปคือ การขายหุ้นอาจจะมีเกณฑ์ที่แตกต่างจากการซื้อหุ้น เหตุผลใหญ่น่าจะเกิดจากการที่ เราไม่สามารถที่จะประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นได้อย่างแม่นยำทำให้เราไม่รู้ว่าหุ้นนั้นมีราคาสูงกว่าพื้นฐานที่แท้จริงหรือไม่-ยกเว้นในบางกรณีที่ตัวเลขและสัญญาณทุกอย่างชัดเจน กรณีของวอร์เร็น บัฟเฟตต์ จะเห็นว่าเขาขายหุ้นน้อยมาก เคยมีครั้งหนึ่งที่เขาซื้อหุ้นน้ำมันแห่งชาติของจีนและขายไป เนื่องจากราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากจนเขาต้องขายไปนั่นคือการขายในกรณีข้อสี่ เขาขายหุ้นของบริษัทการบินแห่งหนึ่งไปเพราะเขา "คิดผิด" ตามข้อหนึ่ง ตั้งแต่นั้นเขาไม่เคยสนใจหุ้นการบินอีกเลยเพราะเขาคิดว่าเป็นธุรกิจที่ "ลำบากมาก" รวมถึงกิจการสิ่งทอของเบิร์กไชร์ที่เขาบอกว่าคิดผิดที่ไปซื้อ
หุ้นที่พื้นฐานเปลี่ยนไปตามข้อสองของบัฟเฟตต์ น่าจะมีเหมือนกันถ้าผมเข้าใจไม่ผิดอาจจะรวมถึงกิจการรองเท้าที่บัฟเฟตต์เคยซื้อ ในข้อสาม ดูเหมือนว่าบัฟเฟตต์จะมีเงินสดใหม่ๆ เข้ามาลงทุนตลอดเวลา เขาแทบไม่ต้องขายหุ้นเพื่อหาเงินสดมาลงทุนในหุ้นตัวใหม่เลย และในข้อสุดท้ายเรื่องของขนาดของหุ้นนั้น บัฟเฟตต์เองเคยซื้อหุ้นอเมริกันเอ็กซ์เพรสเกือบ 50% ของพอร์ต แต่ผมก็จำไม่ได้ว่าเขาต้องขายออกไปเพื่อลดขนาดของมันลงหรือไม่เมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นไปอีก หลังจากนั้น เขาก็ไม่เคยมีปัญหาว่าหุ้นตัวไหนจะใหญ่เกินไปเนื่องจากพอร์ตของเขาใหญ่โตมหาศาล ส่วนตัวผมเอง เท่าที่จำได้ก็ดูเหมือนว่าจะยึดเกณฑ์การขายหุ้น 5 ข้อดังกล่าวพอสมควรโดยเฉพาะในช่วงหลังๆ ที่เน้นลงทุนหุ้นแนว "ซูเปอร์สต็อก"
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 12 มีนาคม 2556
No comments:
Post a Comment