Wednesday, August 15, 2012

โอกาสทอง

ในการลงทุนนั้น ผมมักจะมีรายการของหุ้นบางตัวหรือบางกลุ่มอยู่ใน "หัว" ที่ผมจะคอยติดตามเป็นระยะๆ หุ้นเหล่านี้เป็นหุ้นที่ผมยังไม่ซื้อด้วยสาเหตุต่างๆ แต่โดยรวมแล้วมันยังไม่เป็นหุ้นคุณค่าที่น่าสนใจหรือมันยังไม่ถึงเวลาที่จะซื้อ

อย่างไรก็ตาม  หุ้นเหล่านี้ในบางช่วงเวลาหรือบางโอกาส มันอาจจะกลายเป็นหุ้นที่น่าสนใจมากและอาจจะทำเงินให้เรามหาศาล  เรียกว่าเป็น "โอกาสทอง"  ได้  ลองมาดูกันว่ามีหุ้นกลุ่มไหนหรือแบบไหนที่น่าจับตามอง  และช่วงไหนจะเป็นโอกาสทองที่เราจะเข้าไปซื้อ

กลุ่มแรกที่ผมชอบติดตามแม้ว่าในระยะหลังๆ  ความสนใจของผมจะน้อยลงบ้าง ก็คือ "หุ้นตัวจิ๋ว"  นี่คือ บริษัทที่มี  Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งบริษัทเล็กมาก  ส่วนใหญ่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท  หุ้นบางตัวมีมูลค่าแค่ 200-300 ล้านบาทก็มี การมองหุ้นเหล่านี้ ผมไม่ได้มองเฉพาะว่ามันเล็ก แต่ผมจะมองแล้วเปรียบเทียบกับตัวธุรกิจด้วยว่าเป็นอย่างไร มัน "สมศักดิ์ศรี"  ไหม  ธุรกิจมันควรจะมีค่ามากกว่านั้นหรือไม่  นอกจากมูลค่าหุ้นแล้ว   ผมก็มักจะดูด้วยว่ามันมีหนี้เงินกู้มากน้อยแค่ไหนและธุรกิจมีความเสี่ยงที่ จะล้มละลายมากน้อยแค่ไหน ถ้าไปเจอว่าหุ้นมันถูกเกินไปแต่ดูไปแล้วธุรกิจก็ยังมีปัญหา เช่น หนี้ยังสูงเกินไป แบบนี้เราก็ต้องรอว่าเขาจะมีการปรับโครงสร้างการเงินที่เหมาะสมได้หรือไม่ ถ้าวันไหนมันชัดเจนแล้ว เราจึงพิจารณาซื้อหุ้น  เมื่อซื้อแล้ว  ถ้าหุ้นขึ้นเราก็ไม่ควรรีบขาย เพราะหุ้นตัวเล็กนั้น  โอกาสที่จะขึ้นไปสูงขนาดเป็นเท่าๆ  ตัวก็เป็นไปได้ไม่ยาก ปัญหาของหุ้นที่มีขนาดเล็กมากนั้น ก็คือ บางทีเวลาเราต้องการซื้อหุ้นจำนวนมาก เรามักจะทำไม่ได้เพราะราคาหุ้นจะวิ่งขึ้นไปมากและทำให้มันกลายเป็นหุ้นที่ ไม่ถูกอีกต่อไป  ดังนั้น สำหรับคนที่มีพอร์ตหุ้นขนาดใหญ่  การเล่นหุ้นตัวเล็กก็ทำได้จำกัด

หุ้นกลุ่มที่สองที่ผมมักจะจับตามองเป็นระยะ ก็คือ  หุ้นวัฏจักร  ที่อยู่ในช่วง "ขาลง"   ตัวอย่างเช่น หุ้นเรือ ผมจะเฝ้ามองว่ามันกำลังลงไปถึงจุดไหน  โดยทั่วไปผมอยากจะเห็นว่าธุรกิจนั้นได้ตกต่ำลงไปถึงจุดต่ำสุดซึ่งก็คือเมื่อ ผลการดำเนินงานประจำปีของบริษัททุกรายหรือเกือบทุกรายขาดทุน  ถ้าจะให้ดี ก็คือ  ขาดทุนมากๆ  จนแทบเอาตัวไม่รอด  แต่เหตุการณ์แบบนี้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น  และนั่นก็จะทำให้ผมเฝ้าดูหรือติดตามหุ้น "ฟรี"  ไม่ได้อะไรเลย   คนที่ชำนาญหรืออยู่ใกล้ชิดอุตสาหกรรมเรืออาจจะทำกำไรได้โดยการติดตามอัตรา ค่าระวางเรือ  และสามารถทำกำไรจากหุ้นได้โดยไม่ต้องรอผลประกอบการ    แต่เนื่องจากผมเองไม่มีความรู้ในเรื่องนี้  ดังนั้น  ผมจึงต้องยอมให้มันผ่านไป   เหนือสิ่งอื่นใด  ผมไม่ได้เดือดร้อนถ้าไม่ได้กำไรจากธุรกิจเดินเรือ  แต่ถ้าจะลงทุน  ผมอยากจะได้กำไรมากๆ  โดยการรอจนกว่าโอกาสทองจะเกิด  ถ้ามันไม่เกิดก็  "ช่างมัน"

หุ้นกลุ่มที่สาม ก็คือ  กลุ่ม  Fallen Angel  หรือ "นางฟ้าตกสวรรค์"  นี่คือ หุ้นที่เคยโดดเด่นมาก  แต่แล้วก็เกิดเหตุบางอย่างที่ทำให้ผลประกอบการแย่ลงมาก   ราคาหุ้นก็มักจะตกตาม  บางทีมากยิ่งกว่าผลประกอบการ  ประเด็น ก็คือ  เราต้องพยายามศึกษาให้รู้ว่าเหตุที่ว่านั้นคืออะไรและบริษัทจะแก้ไขได้หรือ ไม่  ถ้าไม่มั่นใจว่าเรารู้สาเหตุหรือไม่มั่นใจว่าบริษัทจะแก้ไขได้หรือไม่  เราก็รอ  และเฝ้าจับตาไปเรื่อยๆ  ว่าสาเหตุที่ทำให้ผลประกอบการตกต่ำลงมันใกล้จะหมดไปหรือยัง  ถ้าดูแล้วชัดเจนว่าบริษัทกำลังฟื้นตัวขึ้นและจะกลับมาโดดเด่นได้เหมือนเดิม  การลงทุนในหุ้นนางฟ้าตกสวรรค์ก็มักจะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำและผลตอบแทนนั้น จะต่อเนื่องไปได้  อาจจะหลายๆ  ปีโดยไม่ต้องรีบขายหุ้น
ว่าที่จริง  นี่ก็คือ การลงทุนในสไตล์ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ แนวหนึ่ง  นั่นก็คือ  การซื้อหุ้น Super Stock  ในเวลาที่มันมีปัญหาเฉพาะที่สามารถแก้ไขได้  แต่ในกรณีนี้  บัฟเฟตต์จะต้องมั่นใจว่ามันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งเดียวและแก้ไขได้แน่ นอน  ดังนั้น  เขาอาจจะไม่รอเป็นปี ๆ  แต่จะซื้อหุ้นทันทีที่มันตกลงมามากๆ

หุ้นกลุ่มที่สี่ ก็คือ "หุ้นที่มีทรัพย์สินมาก"  นี่ก็คือ หุ้นที่มีทรัพย์สินสุทธิมากเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดของหุ้น  ตัวแทนที่ดีและดูง่ายของหุ้นที่มีทรัพย์สินมากก็คือ  ค่า  PB  หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีของบริษัท  ยกตัวอย่างเช่น  ในสภาวะตลาดหุ้นในช่วงนี้  ค่าเฉลี่ยของค่า PB ทั้งตลาดก็คือประมาณ 2 เท่าเศษๆ  แต่หุ้นบางตัวที่เราเห็นนั้น  มีค่าเพียง 0.8 เท่า  และเรายังรู้สึกอีกว่าทรัพย์สินจริงๆ ของบริษัทที่ยังไม่ได้ปรับให้เป็นราคาตลาดนั้นยิ่งสูงกว่ามูลค่าทางบัญชี ด้วย
แบบนี้  เราก็อาจจะจับตามองว่าหุ้นตัวนี้อาจจะถูกเกินไปเมื่อมองจากทรัพย์สิน  สาเหตุอาจจะเป็นอะไรที่ทำให้ราคาหุ้นไม่ไปไหน   กำไรอาจจะต่ำเห็นได้จากค่า ROE  หรือกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ต่ำกว่าปกติเช่นต่ำกว่า 10%  เป็นต้น  และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น    ถ้ามันเกิดขึ้นเพราะการแข่งขันที่รุนแรงกว่าปกติ  เราคงต้องเฝ้าดูว่าเมื่อไรสิ่งนั้นจึงหมดไป  ถ้ามันเป็นเพราะการควบคุมทางด้านราคาจากภาครัฐ  เราก็อาจจะต้องรอว่าเมื่อไรราคาจะได้รับการปรับขึ้น   ดังนั้น  สิ่งที่เราจะต้องทำ ก็คือ  เฝ้ารอ  "โอกาสทอง"  ดังกล่าว  และเมื่อมันเกิดขึ้น  เราก็เข้าไปซื้อหุ้นและทำกำไรงามจากมัน

หุ้นกลุ่มสุดท้ายที่ผมจะพูดถึง ก็คือ  "หุ้นโตเร็วที่คนยังไม่ตระหนัก"  นี่คือ หุ้นที่มีคุณสมบัติตามชื่อ  คือ เป็นหุ้นที่โตเร็ว  อาจจะถึงปีละ 15% โดยเฉลี่ยในระยะอย่างน้อย 5 ปีข้างหน้า  อย่างไรก็ตาม  นักลงทุนยังไม่รู้หรือไม่ตระหนักว่ามันกำลังจะโต  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะมันเพิ่งจะเริ่มเติบโตอย่างจริงจังหลังจากที่  "บ่มเพาะตัว"  มาได้ระยะหนึ่ง  หรือไม่อย่างนั้น  บริษัทก็อาจจะโตเฉพาะทางด้านของยอดขายแต่กำไรอาจจะยังไม่มาเนื่องจากอยู่ใน ช่วงของการสร้างยอดขายที่จะทำให้กิจการถึงจุดที่จะมี Economies of Scale  คือ มีขนาดใหญ่พอที่จะเริ่มทำกำไรได้  ดังนั้น  คนจึงอาจจะไม่ทันสังเกตว่าบริษัทนั้นโตเร็ว

ด้วยเหตุดังกล่าว  ราคาของหุ้นก็ไม่ดีนัก  ค่า PE ก็อาจจะไม่สูง  ถ้าเราค้นพบและซื้อหุ้นแบบนี้ไว้  ในเวลาต่อมาเมื่อบริษัทเริ่มมีกำไรเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  และคาดได้ว่ากำไรนั้นจะเติบโตต่อไปอีกหลายๆ  ปี  คนก็จะปรับเปลี่ยนมุมมองต่อหุ้นและเข้ามาซื้อ  ซึ่งจะดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นสอดคล้องกับกำไรที่เพิ่มและสอดคล้องกับค่า PE ที่สูงขึ้น  เท่ากับว่าราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้นเป็น  "สองเด้ง"   คนที่ซื้อหุ้นเหล่านี้ไว้จะต้องไม่รีบขายทำกำไร  เพราะราคาหุ้นของบริษัทที่โตเร็วนั้น  มักจะปรับตัวขึ้นค่อนข้างยาวนานตามการเติบโตของบริษัท

โอกาสทองในหุ้นทั้งห้ากลุ่มดังที่กล่าวมานั้น  แน่นอน  ไม่ใช่มาได้ง่ายๆ  บ่อยครั้ง  เหตุการณ์ต่างๆ  ที่เราเฝ้าจับตามองนั้น  มันก็มาจริงๆ  หลังจากเวลาผ่านไปหลายเดือนหรือหลายปี   แต่ในระหว่างที่รอนั้น  ราคาหุ้นก็อาจจะปรับตัวขึ้นมาเรื่อยๆ  ซึ่งก็ทำให้ความน่าสนใจของหุ้นลดลงเรื่อยๆ  อย่าลืมว่า กิจการที่ดีขึ้นนั้นก็อาจจะไม่ทำให้หุ้นกลายเป็นหุ้น Value ได้  ถ้าราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นมาเท่าๆ  กันหรือมากกว่า   โดยประสบการณ์ของผม  ถ้าในแต่ละปีเราสามารถหาหุ้นที่เราเจอ  "โอกาสทอง"  ได้สักหนึ่งตัว   เราก็โชคดีมากแล้ว  เพราะนี่คือ หุ้นที่สามารถที่จะสร้างความแตกต่างให้กับพอร์ตของเราได้

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 14 สิงหาคม 2555

เงินคือพระเจ้า

ถ้าให้ผมจัดลำดับ แนวความคิด หรือสิ่งประดิษฐ์สำคัญที่สุดในโลก ที่ทำให้โลกนี้เจริญก้าวหน้ามาได้ถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่าหนึ่งในนั้น คือ "เงิน" ดังนั้น คำพูดที่ว่า "เงินคือพระเจ้า" น่าจะมีความเป็นจริงอย่างยิ่ง นี่เป็นเรื่องที่พูดโดยรวม เป็นการพูดระหว่างเงินกับมนุษยชาติ ถ้าไม่มีเงิน มนุษยชาติก็ยังล้าหลัง และเราทุกคนที่อ่านบทความนี้ ก็จะลำบากกว่าที่เป็นอยู่นี้มาก ตัวผมเอง ก็คงต้อง "อดมื้อกินมื้อ" เพราะความสามารถที่จะไป "ทำมาหากิน" ดูจะน้อยกว่าคนอื่น ผมน่าจะทำเก่ง หรือทำเป็นเฉพาะอย่าง ส่วนอย่างอื่นรวมถึงอาหาร ผมต้อง "ซื้อมากิน" และการซื้อ ต้องใช้เงินเป็นหลัก  สำหรับผมแล้ว "เงินคือพระเจ้า" แน่นอน

ก่อนที่จะมีเงินเกิดขึ้นในโลก มนุษย์มีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน นี่เป็นเรื่องจำเป็น เพราะทำให้คนแต่ละคน สร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่าง ซึ่งทำให้เขามีประสิทธิภาพสูงขึ้น  แทนที่คนสองคนต่างก็ปลูกข้าวและผลไม้เพื่อเอาไว้กิน ก็ให้คนหนึ่งปลูกข้าวและอีกคนหนึ่งปลูกผลไม้ แล้วเอาข้าวครึ่งหนึ่งมาแลกกับผลไม้ครึ่งหนึ่ง แบบนี้ทั้งคู่จะได้ข้าวและผลไม้มากขึ้น เพราะแต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญในการปลูกมากกว่าต่างคนต่างปลูก การแลกเปลี่ยนสินค้า มนุษย์เราทำมานานเป็นหมื่นปี นับจากที่เราเริ่มเป็นเกษตรกร และน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่เกิดมนุษย์ขึ้นในโลกด้วยซ้ำ เพียงแต่เมื่อมนุษย์ตั้งถิ่นฐานแล้ว การแลกเปลี่ยนก็เกิดขึ้นมากมาย เพราะเราสามารถผลิตอาหารได้มากเกินกว่าการบริโภคส่วนตัว จึงต้องนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าอย่างอื่นจากคนที่หันไปทำอาชีพอื่น สังคมของการแลกเปลี่ยนดำรงอยู่เป็นพันๆ ปี

การเกิดขึ้นของเงิน น่าจะมาจากความต้องการในการแลกเปลี่ยนสินค้า ที่เป็นรายการเล็กๆ ที่ทำให้การใช้สินค้ามาแลกกันไม่สะดวก ดังนั้น ก้อนโลหะ ที่หายาก จึงเริ่มถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนเมื่อประมาณ 6,000 ปีมาแล้ว  ซึ่งเกิดขึ้นในย่านตะวันออกกลาง เช่น อียิปต์ ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมแรกๆ ของโลก ต่อมาช่วง 2,500-2,700 ปีที่ผ่านมา โลหะ เช่น บรอนซ์ เงิน และทองถูกนำมาใช้เป็นเงิน โดยการขึ้นรูปเป็นแบบต่างๆ เช่น ทำเป็นรูปมีด หรือพลั่ว ในจีน และเป็นเหรียญ ในตุรกี เป็นต้น โดยแต่ละแบบมีค่าแตกต่างกัน แม้แต่ในไทย เมื่อ 200 ปี  เรา ใช้เงินพดด้วง ซึ่งจะมีคุณลักษณะคล้ายๆ กัน ในการเป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนสินค้า

เงินที่เป็นกระดาษ หรือ "แบงก์" เพิ่งจะเกิดขึ้นไม่เกิน 1,000 ปี ในจีนตามที่มาร์โคโปโลได้เขียนบันทึกไว้ เมื่อเขาเดินทางมาเมืองจีน ดูเหมือนว่าเงินกระดาษที่ว่านั้น ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก คงคล้ายๆ กับเงิน "กงเต๊ก" ค่าที่ว่าคุณภาพของกระดาษคงจะแย่มากจนมันขาดวิ่นได้ง่ายๆ เมื่อใช้ผ่านไปไม่กี่มือ ส่วนเงินกระดาษยุคใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ซึ่งก็คือ "ใบรับฝากทอง" ที่คนเอามาใช้แลกสินค้าแทนทองและโลหะต่างๆ และนี่คือ สิ่งเดียวที่ผมรู้จัก และใช้เมื่อผมยังเป็นเด็ก

บัตรเครดิตเป็นนวัตกรรมของเงินที่สำคัญ โดยเฉพาะซื้อขายแลกเปลี่ยนของผู้คนข้ามประเทศและทั่วโลก แนวความคิดบัตรเครดิต เริ่มในสหรัฐอเมริกา โดยคนที่ออกบัตรแรกๆ คือ ธุรกิจที่เห็นผลประโยชน์ที่จะให้เครดิตแก่ลูกค้าที่มาซื้อของ นั่นคือ  ลูกค้าจะชอบ และกลับมาซื้อของอีก เพราะ "ซื้อเชื่อ" ได้ ต่อมามีร้านค้ามากขึ้น ที่เข้ามาร่วมเป็น "ชมรม" โดยการรับบัตรเครดิตของบริษัทอื่นๆ เมื่อลูกค้ามาซื้อของที่ร้าน แนวความคิดและการเริ่มใช้บัตรเครดิต เพิ่งจะเริ่มไม่เกิน 100 ปีมานี้เอง แต่บัตรเครดิตที่เป็นทางการ หรือเป็นบัตรที่ใช้ได้ทั่วไปอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ เพิ่งเริ่มเมื่อปี 1950 หรือประมาณ 60 ปีมานี้เอง โดยบริษัท ไดเนอร์สคลับ ต่อมาบริษัทอเมริกันเอ็กซ์เพรส ได้ออกบัตรเครดิตที่ใช้ได้ทั่วโลกในปี 1958 และนี่คือ บริษัทที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์  ได้ซื้อหุ้นจำนวนมากแบบ "ตีแตก" ในช่วงต้นๆ ของชีวิตการลงทุนของเขา

ถ้าจะพูดถึงบทบาทของเงิน นอกจากจะเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญมากอีกสองสามเรื่อง  เรื่องแรก คือ เป็นเครื่องมือเก็บสินค้า หรือข้าวของต่างๆ ที่เราทำได้มากเกินกว่าที่เราจะใช้ได้หมด นั่นคือ เราแปลงเป็นเงินแล้วเก็บรักษา และลงทุนให้งอกเงยขึ้น เพื่อในอนาคต เมื่อเราไม่มีแรงที่จะทำงาน หรือทำมาหากิน ก็เอาเงินที่เราเก็บไว้ มาใช้ซื้อสินค้าที่เราต้องการได้ นอกจากนั้น เงินจะเป็นตัวบอกถึงความมั่งคั่งที่เรามี ทำให้รู้ว่า เรามีศักยภาพที่จะใช้สินค้าต่างๆ ได้เท่าไร ซึ่งจะช่วยบอกให้รู้ว่าเรา มี "อิสรภาพ" ในการอยู่ได้ตลอดชีวิต โดยไม่ต้องทำมาหากินได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องแบบนี้ ในสังคมที่ไม่มีเงิน หรือมีเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น สังคมที่ยังใช้แลกเปลี่ยนสินค้า หรือใช้เงินที่เป็นเหรียญโลหะอยู่ จะไม่สามารถทำได้ ลองนึกถึงมนุษย์ยุคหิน ที่ยังต้องหาของป่าล่าสัตว์อยู่ว่า จะเป็นอย่างไร ถ้าคุณเกิดมาไม่แข็งแรง หรือคุณเจ็บป่วย หรือแก่ตัวลงไม่สามารถหากินได้?

เงินทำให้คนทำงานหนัก เพื่อเก็บสะสมสิ่งที่จะต้องใช้ในวันข้างหน้าไว้ เงินทำให้คนทำงานที่มีประโยชน์ หรือมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือ เงินทำให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำสิ่งที่มนุษย์ต้องการ และสร้างความก้าวหน้าให้แก่มนุษยชาติ   เพราะงานเหล่านั้น "ทำเงิน" มากกว่างานอื่น  แน่นอน  งานบางอย่าง อาจไม่ได้สร้างคุณค่าแต่ก็ทำเงินได้มาก เพราะเป็นเรื่องของการหลอกลวงและเอาเปรียบคนอื่น งานบางอย่างดูเหมือนว่าจะทำได้อย่างสบายๆ แต่ได้เงินมาก ขณะที่งานบางอย่างต้องทำอย่าง "อาบเหงื่อต่างน้ำ" แต่คนทำกลับได้เงินน้อยแทบไม่พอกิน ความแตกต่างกันของความมั่งคั่งที่เกิดจากการทำงานบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีนักในสังคม โดยเฉพาะการคิดว่าคนที่มีเงินมาก มี "ความโลภ" มีเงินแล้วไม่รู้จักพอ หรือเห็นเงิน เป็น "พระเจ้า" หรือต้องทำทุกอย่างเพื่อเงิน เป็น "ทาส" ของเงิน แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ทุกคนต้องพึ่งเงิน อยากมีเงินมากขึ้น

ในฐานะของคนที่เคยเป็นคนที่แทบจะไม่มีเงินเลย และกลายเป็นคนที่มีเงินเหลือเกินพอ และในฐานะของคนที่เคยทำงานแบบอาบเหงื่อต่างน้ำ แต่ได้เงินน้อยมาก และกลายเป็นคนที่ทำงานอย่างที่ดูเหมือนว่าแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ได้เงินมากมาย ผมอยากบอกว่า เงินนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น ที่จริงช่วย "นำทาง" ให้รู้ว่าเราควรทำอะไรได้มากมาย การทำอะไรโดยไม่คิดถึงเงินเลย ผมคิดว่าไม่ยั่งยืน แต่ก็เช่นเดียวกัน การทำอะไรคิดถึงแต่เรื่องเงินอย่างเดียว ผมคิดว่าก็ไม่ยั่งยืน และจะนำไปสู่หายนะได้

สิ่งสำคัญที่สุดในประเด็นของเรื่องเงิน คือ อย่าไปคิดว่าเงินกับความสุขเป็นเรื่องเดียวกัน เงินจะซื้อความสุขได้ถึงจุดหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นแล้ว เงินที่มากเกินก็ไม่สามารถซื้อความสุขเพิ่มขึ้นได้ ที่จริงอาจกลายเป็นความทุกข์ได้ ถ้าเราหมกมุ่นกับมันมากเกินไป ดังนั้น เวลาคิดถึงเงิน คิดถึงว่ามันคือ "พระเจ้า" แต่เราจะต้อง "บูชา" อย่างถูกต้อง

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 7 สิงหาคม 2555

คุณค่าของความคลั่งไคล้


ผมอยู่ในวงการหุ้น และตลาดหุ้นมานาน สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็น คือ หุ้นบริษัทที่ผลิตและขาย หรือให้บริการสินค้า ที่ลูกค้าบางส่วนมีความนิยมสูงมาก หรือสูงขนาดที่เรียกว่า "คลั่งไคล้" หรือ "เสพติด" มักจะมีราคาดี คือ มีค่า PE สูง และเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงต่อเนื่องยาวนาน ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจน้อย เมื่อเทียบกับหุ้นทั่วๆ ไป ลักษณะของบริษัท หรือสินค้าเหล่านี้ คือ มี "สาวก" ที่เหนียวแน่น 

พวกเขามีความต้องการสินค้าของบริษัทสูง พวกเขาอยากใช้สินค้าของบริษัทด้วยเหตุผลต่างๆ โดยเฉพาะเหตุผลทางด้านจิตใจมากกว่าสินค้าของบริษัทอื่น ที่ขายสินค้าแบบเดียวกัน ความคลั่งไคล้ของสินค้าของบริษัทนั้น แสดงออกให้เห็นเวลาที่พวกเขาไปซื้อของ ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไร แต่เวลาเราเห็น เรามักจะรู้สึกได้ ลองมาดูกันว่าสินค้าประเภทไหนบ้างที่คน "คลั่งไคล้"

ก่อนอื่นผมอยากจะเริ่มจากผู้หญิงกับเด็ก เพราะนี่คือ ยอด "นักช้อป" และสินค้าที่พวกเขา คลั่งไคล้ คือ สินค้าแฟชั่นที่สวยงาม และแสดงสถานะที่เริ่ดหรูและ "มีระดับ" ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น กระเป๋าถือของหลุยส์วิตตอง เสื้อผ้าของร้านที่มีชื่อเสียงออกแบบโดยนักออกแบบชื่อดัง ผู้หญิงจำนวนมากที่มีรายได้ค่อนข้างสูง ต่างก็เรียกหาที่จะต้องมีไว้ครอบครอง บางครั้งแม้จะต้องเข้าคิวและ "ยื้อแย่ง" เพื่อจะได้คอลเลคชั่นใหม่ที่เพิ่งออกมาก็ยอม  
ส่วนเด็ก อาการความคลั่งไคล้ อาจไม่ติดยึดกับบริษัทมากเท่าตัวสินค้า และการสังเกตต้องติดตามเป็นระยะ เพราะมักเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สินค้าที่พวกเขาคลั่งไคล้ อาจเป็นตุ๊กตารุ่นใหม่ รองเท้ากีฬาบางแบบ เกมคอมพิวเตอร์  และอาจเป็นร้านค้า หรือร้านอาหารที่เด็กร้องขอที่จะเข้าไปใช้บริการ จนเราสังเกตได้ การติดตามหาสินค้า หรือบริษัทเหล่านี้ การสังเกตและใช้ "ความรู้สึก" จะช่วยให้เราได้พบหุ้นก่อนคนอื่น

ถัดจากผู้หญิงและเด็ก คือ ผู้ชาย ซึ่งความคลั่งไคล้อาจไม่สูงเท่า แต่พวกเขา "ติด" อะไรหลายๆ อย่าง สินค้าแรกที่โดดเด่นมาก คือ บุหรี่ นี่คือ สุดยอดของสินค้าที่ทำเงิน "มโหฬาร" แม้กำลังถูก "ต่อต้าน" โดยภาครัฐและสังคมทั่วโลก สินค้าที่คนบางคนอาจจะติดแต่คนส่วนมากอาจแค่ "คลั่งไคล้" เล็กน้อย คือ เหล้าเบียร์และสินค้าที่มีแอลกอฮอล์ นี่เป็นสินค้าที่คนดื่มอาจจะติดรสชาติของสินค้าบางยี่ห้อ ที่ทำให้มีค่าสูงกว่าปกติ เช่นครั้งหนึ่งยี่ห้อจอห์นนี่วอล์คเกอร์ก็ค่อนข้างดังมากในย่านเอเชีย แต่เดี๋ยวนี้ผมก็ไม่ทราบว่าเป็นยี่ห้อไหน 

บางที เหล้าวอดก้ายี่ห้อ Grey Goose อาจกำลังเป็นที่คลั่งไคล้ของคนมีระดับก็เป็นได้ เพราะผมเคยเห็นมีการกล่าวถึงในนิยาย หรือบทความ หรือข่าวงานเลี้ยงในวงสังคมอยู่บ้างว่า เป็นเหล้าที่มีระดับ "สุดยอด" นอกจากเหล้าเบียร์แล้ว ผู้ชายอาจมีแนวโน้มที่ชอบ หรือคลั่งไคล้การพนันและในเรื่องของการ "แข่งขัน" เช่น การชมและพนันการแข่งขันกีฬาต่างๆ เป็นต้น

กลุ่มสุดท้าย คือ คนทั่วไป โดยเฉพาะวัยรุ่นจนถึงอายุใกล้เกษียณ ความคลั่งไคล้ระยะหลังๆ หนีไม่พ้นเรื่องเทคโนโลยีโดยเฉพาะที่เป็นการติดต่อไร้สาย ดูเหมือนจะสังเกตได้ง่ายมาก เช่น สินค้าตระกูล ไอโฟน และไอแพด ความคลั่งไคล้ เกิดทั่วโลกและเกิดใกล้ตัว จึงไม่มีใครไม่รู้ แต่คนที่ตัดสินใจซื้อหุ้นก่อนที่งบการเงินของบริษัทแอ๊ปเปิ้ลจะออก สามารถทำกำไรได้มหาศาล และ หุ้นของบริษัทที่มีสินค้าที่คนคลั่งไคล้ทั่วโลกนี้ กลายเป็นหุ้นที่มูลค่าสูงที่สุดในโลก หลังจากที่ผลิตสินค้าที่คนคลั่งไคล้ติดต่อกันมานานเพียงสิบกว่าปี 

พูดถึงเรื่องโทรศัพท์ น่าจะยังคงจำได้ว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา บีบี เป็นโทรศัพท์ที่คนคลั่งไคล้กันทั่วโลกเช่นกัน เห็นได้จากดาราไทย ที่ใช้กันเกือบทุกคน และช่วงนั้น  บริษัทที่ผลิตบีบีมีค่าสูงมาก แต่หลังจากที่กระแสของบีบีตก มูลค่าหุ้นก็ตกลง และบริษัทอาจกำลังมีปัญหาทางการเงิน ไหนๆ ก็พูดแล้ว ซัมซุงมีแทบเล็ตที่คนเริ่ม "คลั่งไคล้" อยู่เหมือนกัน เห็นได้จากยอดขายที่สูงลิ่ว ทำให้ซัมซุงที่ผลิตมันกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาดหุ้นเกาหลี ขณะนี้

ความคลั่งไคล้ ไม่จำเป็นต้องเกิดในระดับนานาชาติ หรือแม้แต่ทั่วประเทศ อาจจะเป็นสินค้าของบริษัทเล็กๆ ระดับท้องถิ่น ข้อสำคัญ คือ ต้องเห็นว่าสินค้านั้น มีกลุ่มคนที่ "คลั่งไคล้" และยอมจ่ายเงินซื้อ อาจสูงกว่าสินค้าแบบเดียวกัน เพื่อจะได้สินค้ามาใช้หรือมากิน  ตัวอย่างเช่น ช็อกโกแลตของ See’s Candy ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านขายขนมหวาน และช็อกโกแลตที่บัฟเฟตต์ซื้อมาเป็นบริษัทแรกๆ  ซึ่งบัฟเฟตต์ยอมจ่ายเงินซื้อหุ้นที่ "ไม่ถูก" และมีค่า PE สูงกว่าที่เขาเคยซื้อ

เหตุผล คือ ช็อกโกแลตของ See’s มีราคาแพงมาก ดังนั้น คนที่ซื้อ โดยเฉพาะที่เป็นผู้หญิง น่าจะต้องติด หรือคลั่งไคล้สินค้าของบริษัท จึงได้ยอมซื้อมาตลอด  เหนือสิ่งอื่นใด ขนมหวานเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่คนมักจะคลั่งไคล้ ผมยังจำได้ถึงครั้งหนึ่งที่ มีโดนัทยี่ห้อหนึ่งจากมาเลเซีย มาเปิดขายในเมืองไทย แล้วคนเข้าคิวซื้อกันยาวเหยียด ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน คนก็เลิกเห่อและร้านที่ขายก็ปิดตัวลง 

หลังจากนั้นไม่กี่ปี ก็มี โดนัทยี่ห้อใหม่อีกยี่ห้อหนึ่งจากอเมริกา ที่เข้ามา และทำให้คนคลั่งไคล้ต่อ อาจจะถึงวันนี้ ความคลั่งไคล้ที่จบลงง่ายๆ อาจจะไม่ให้คุณค่าอะไรมากนัก ดังนั้น เราต้องพยายามมองให้ออกว่าสินค้านั้นจะอยู่ทนได้แค่ไหน

คุณค่าของความคลั่งไคล้ จะมากหรือน้อยต้องขึ้นอยู่กับระดับความคลั่งไคล้ว่า มีมากหรือน้อยแค่ไหน ถ้ามากระดับที่เรียกว่า "เสพติด" เลย ก็มีค่ามากขึ้น นอกจากนั้น ระยะเวลาที่คนจะคลั่งไคล้ น่าจะยาวแค่ไหน ถ้ายาวมาก หรือ เกือบจะ "ถาวร" อย่างกรณีของ หลุยส์วิตตอง คุณค่าก็มากขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นที่อาจทำให้คนคลั่งไคล้เพียงชั่ว ครู่ชั่วยาม สุดท้ายคือ จำนวนคนที่คลั่งไคล้ ถ้ามีมากทั่วประเทศ หรือทั่วโลก คุณค่าก็มากขึ้นตามจำนวนคน 

คุณค่าของความคลั่งไคล้จะมาก หรือน้อย สะท้อนออกมาจาก Profit Margin หรือ กำไรต่อยอดขาย ที่จะสูงกว่า เมื่อเทียบกับบริษัทธรรมดาที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน แต่คุณค่าที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ตลาดจะให้ราคาหุ้นที่แพงกว่าบริษัทธรรมดามาก วัดจากค่า PE ของหุ้นที่มีคนคลั่งไคล้ในผลิตภัณฑ์จะสูงกว่าบริษัทธรรมดามาก  บางทีอาจจะสูงกว่าเท่าตัว เช่น ถ้า PE ของบริษัทที่ไม่มีอะไรโดดเด่นเท่ากับ 10 เท่า บริษัทที่มีคนคลั่งไคล้ในสินค้าสูง และต่อเนื่องยาวนานอาจมีค่า PE สูงถึง 20 เท่า

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบอกได้ว่าสินค้าไหน หรือร้านไหนมีคนคลั่งไคล้ช่วงต้นๆ ที่จะทำให้เรามีโอกาสซื้อหุ้นก่อน เหตุผลคือ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครทำเครื่องวัด หรือทำแบบสอบถาม เพื่อทำวิจัยในสถานการณ์แบบนั้น เป็นหน้าที่ของเราต้องใช้ SENSE หรือความรู้สึก เมื่อประสบกับคนที่ใช้สินค้าหรือบริการ อีกทางหนึ่งที่จะทำเงินกับบริษัทเหล่านั้น คือ บางสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นตกต่ำ หรือบางช่วงที่บริษัทเหล่านั้นมีปัญหา ทำให้หุ้นตกมาก แต่เราดูแล้วว่า สินค้าของบริษัทยังได้รับความนิยมขนาดคลั่งไคล้อยู่ต่อไปได้ ก็เข้าซื้อหุ้นแล้วรอให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ และนี่ก็คือวิธีทำเงินจากหุ้นที่คนคลั่งไคล้ในผลิตภัณฑ์

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 31 กรกฎาคม 2555

ศึกชิงปาก


คนที่ชอบเดินห้างช่วงหลังๆ นี้ จะพบว่าศูนย์การค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะคอมมูนิตี้มอลล์ จะมีภัตตาคาร หรือร้านอาหารจำนวนมากกว่าปกติ แม้แต่ห้างเก่าๆ เดี๋ยวนี้เวลาปรับเปลี่ยนร้านค้าภายในศูนย์ มักจะดัดแปลงให้เป็นร้านอาหารมากขึ้น ผมคิดว่าเหตุผล คือ ภัตตาคารมีลูกค้ามากขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าบางอย่างที่บางทีขายไม่ออก คนเช่าสู้ราคาค่าเช่าไม่ไหว ขณะที่การขายอาหารมาร์จินสูง กำไรดีถ้าขายได้ เหนือสิ่งอื่นใด คือ มีผู้ประกอบการที่พร้อมจะลองเสี่ยงเปิดร้านดูถ้ามีห้องว่างในศูนย์การค้า ถ้าประสบความสำเร็จ กำไรอาจจะเป็นกอบเป็นกำ ถ้าล้มเหลว ความเสียหายก็ไม่มาก 
  
ดังนั้น ร้านอาหารในศูนย์การค้า จึงมีมากขึ้น แม้จำนวนคนที่กินอาหารในภัตตาคารในศูนย์การค้า จะเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน เนื่องจากการขยายตัวของศูนย์การค้า แต่ลึกๆ แล้วผมคิดว่า จำนวนร้านอาหารน่าจะเพิ่มมากกว่า ดังนั้น สงคราม หรือ "ศึกชิงปาก" จึงน่าจะก็กำลังเกิดขึ้น

ธุรกิจภัตตาคาร ผมคิดว่ากำลังเติบโต และน่าจะเติบโตต่อไปเป็น Growth Business เหตุผล คือ คนไทยมีรายได้มากขึ้น ขณะที่จำนวนสมาชิกในครอบครัวกลับลดลงมาก ทำให้การทำอาหารกินเองในครอบครัว เป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่า หรือคุ้มค่าน้อยลงเรื่อยๆ คนจึงเลือกที่จะกินข้าวนอกบ้านมากขึ้น และแน่นอนว่าในโอกาสพิเศษ ซึ่งน่าจะรวมถึงวันที่เงินเดือนออก คนจึงเข้าภัตตาคารเพื่อหาอาหารดีๆ กินมากขึ้น กระบวนการนี้จะดำเนินต่อไปอีกนาน ดังนั้น ถ้าใครสามารถยึดครองอุตสาหกรรมนี้ได้  เขาก็คงจะรวยมหาศาล แต่ความเป็นจริง คือ ธุรกิจขายอาหารแบบภัตตาคารนี้มีผู้เล่นจำนวนมาก และความหลากหลายของอาหาร ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะมีใครมีความโดดเด่น จนสามารถยึดครองส่วนแบ่งทางการตลาดได้มาก จนครอบงำธุรกิจได้ ลองมาดูกันว่ามีอาหารแบบไหนบ้างและการแข่งขันเป็นอย่างไร

Sector หรืออาหารกลุ่มแรกที่ผมคิดว่ายัง เติบโตดี คือ อาหาร "จานด่วน" นี่คือ อาหารของคนรุ่นใหม่ ที่อายุยังน้อย และรายได้ก็ไม่สูงนักแต่เป็นกลุ่มที่เติบโตขึ้นรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อค่าแรงของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นรวดเร็ว อาหารจานด่วนที่โดดเด่นที่สุดน่าจะเป็นจำพวก "ไก่" ทั้งหลายโดยเฉพาะไก่ทอดที่รสชาติคุ้นปากคนไทยนั้น ผมคิดว่า เติบโตได้ดีที่สุด รองลงมา คือ อาหารจำพวกแฮมเบอร์เกอร์และแซนด์วิช และสุดท้าย คือ พิซซ่า ซึ่งผมก็ไม่ค่อยแน่ใจนักว่านี่เป็นอาหารจานด่วนจริง ๆ หรือไม่  เพราะดูเหมือนว่าการเสิร์ฟจะใช้เวลาไม่น้อยเหมือนกัน อาหาร Fast Food เหล่านี้ นอกจากจะโตจากการที่คนไปนั่งกินที่ร้านแล้ว ในระยะหลัง การส่งถึงที่หรือแบบที่สั่งมากินที่บ้านหรือในที่ทำงานก็เพิ่มมากขึ้นอย่าง มีนัยสำคัญมากๆ 

อาหารจานด่วน เป็นอาหารที่ต้องใช้อุปกรณ์ในการทำอาหารที่ทันสมัยราคาแพง ต้องมีระบบจัดการทันสมัย ทำให้การลงทุนเป็นความเสี่ยงที่บริษัทขนาดเล็กไม่สามารถรับได้ ผลคือ บริษัทที่เริ่มทำก่อน โดยเฉพาะที่มีฐานจากต่างประเทศ และสินค้าติดตลาดแล้ว สามารถยึดครองตลาดไปได้มาก จนรายใหม่เกิดได้ยาก ดังนั้น คำทำนายของผม คือ บริษัทร้านขายอาหารจานด่วนที่ประสบความสำเร็จแล้ว จะมีรายได้และกำไรดีขึ้นเรื่อยๆ โดยที่อานิสงส์อีกอย่างหนึ่ง คือ แผนกดิลิเวอรี่ที่บริษัทไม่ต้องเสียค่าเช่าร้านที่น่าจะทำให้บริษัทมีกำไร มากขึ้น

กลุ่มอาหารที่เป็นภัตตาคารและส่วนใหญ่ คนนั่งกินที่ร้าน มีความหลากหลายมาก ลองมาแยกกลุ่มประเภทอาหารดู เริ่มตั้งแต่กลุ่มแรก คือ กลุ่มอาหารที่ต้อง "ทำเอง" นี่คือ พวกร้าน สุกี้ ซึ่งแน่นอน ที่โดดเด่นที่สุดคือร้าน MK สุกี้ ซึ่งเป็นเสมือนเจ้าตำรับที่ทำให้การกินสุกี้ของไทย เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ไม่มีประเทศไหนเหมือน นอกจากสุกี้แล้ว ยังมี ร้านประเภทหม้อไฟและอาหารปิ้งย่าง อาหารในกลุ่มนี้ ผมคิดว่าผู้เล่นที่จะมีกำไรดี ต้องเป็นร้านที่มีเครือข่ายใหญ่พอที่จะมีโรงงานที่เตรียมอาหารที่เป็นวัตถุ ดิบขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้ควบคุมคุณภาพ และลดต้นทุนต่อหน่วยลงได้มาก ส่วนร้านที่มีเครือข่ายน้อย การทำกำไรอาจจะไม่ง่ายนัก เพราะต้นทุนอาหารที่เป็นเนื้อ ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอาหารกลุ่มอื่น

อาหารกลุ่มต่อมาที่ มีคนกินมาก และแข่งขันกันรุนแรง คือ อาหารญี่ปุ่น นี่คือ อาหารที่มีราคาแพงขึ้น และมักจะจับลูกค้าที่มีรายได้สูงขึ้น โดยเครือข่ายร้านที่โดดเด่นที่สุดน่าจะเป็นร้าน ฟูจิ ที่ผมคิดว่าน่าจะทำกำไรได้ดี เพราะระดับราคาของอาหารที่ตั้งไว้สูงและจับตลาดบน ประกอบกับการที่มีเครือข่ายมาก น่าจะทำให้มี Economy of Scale ซึ่งทำให้ต้นทุนเตรียมอาหารลดลง ขณะที่คู่แข่ง โดยเฉพาะที่มีร้านเครือข่ายน้อยน่าจะเสียเปรียบพอสมควร  นอกจากอาหารญี่ปุ่นที่มีราคาสูงและจับตลาดบนแล้ว ระยะหลัง เริ่มมีร้านอาหารญี่ปุ่น ที่เข้ามาจับตลาดลูกค้าระดับกลาง หรือต่ำลงมามากขึ้น โดยร้านที่โดดเด่นน่าจะเป็น ยาโยอิ ที่มีการขยายเครือข่ายรวดเร็ว ถ้าทำได้ถึงจุดที่มีความคุ้มค่าในเชิงปริมาณแล้ว จะทำกำไรได้ดีเช่นกัน

ถัดจากอาหารญี่ปุ่นแล้ว แน่นอนว่าคือ อาหารไทย นี่คือ Sector ที่น่าจะ "หิน" พอสมควร เพราะอาหารไทย ดูเหมือนจะใช้เวลาในการทำ และขึ้นอยู่กับฝีมือของกุ๊กที่ร้านมากกว่าอาหารอื่น การควบคุมคุณภาพค่อนข้างยาก ผมเองเคยผัดผักรับประทานสมัยที่เรียนอยู่เมืองนอกแล้ว พบว่า แค่เรื่องของการใช้ไฟว่า ควรจะแรงแค่ไหน และผัดนานเท่าไร ถึงจะได้ผักที่กำลังพอดีน่ากินก็เหนื่อยแล้ว ดังนั้น การทำเป็นเครือข่ายให้ประสบความสำเร็จ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก 
   
นอกจากความยากในการควบคุมคุณภาพแล้ว อาหารไทย ยังมีจุดอ่อนที่ว่าคนไทยรับประทานได้ที่บ้าน และตามร้านข้างบ้านที่มีราคาถูก การตั้งราคาให้แพงก็ทำไม่ได้มาก นี่ประกอบกับต้นทุนในการทำอาหารที่ค่อนข้างสูง เพราะใช้แรงงานมาก จึงทำให้การทำร้านอาหารไทย ที่จะทำกำไรได้ดีเป็นเรื่องยากพอสมควร ถ้าจะให้ผมให้คะแนนแล้ว ร้านที่น่าจะเป็นผู้นำที่โดดเด่น และทำกำไรได้ คือ ร้าน S&P แต่นอกจากนั้นแล้ว ผมยังไม่เห็นมีใครที่จะทำเครือข่ายร้านอาหารไทยมาแข่งด้วยเป็นเรื่องเป็นราว

ร้านบะหมี่หรือร้านอาหารนานาชาติอื่นๆ ผมคิดว่าส่วนใหญ่ มักจะมีสาขาเครือข่ายน้อย เพราะความนิยมของคนไทยอาจยังไม่มากพอ ประกอบกับการที่ยังไม่มีใคร ที่มีความโดดเด่นพอที่จะยึดส่วนแบ่งการตลาดที่สูง จนทำให้ตนเองมี Economy of Scale ดังนั้น การทำกำไรจึงไม่น่าจะมาก และถ้าให้ผมเดา ร้านอาหารจำนวนมากที่ไม่มีเครือข่ายขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ตามศูนย์การค้า อาจจะขาดทุน เพราะค่าเช่าสถานที่ที่สูงลิ่ว เราก็มีคนที่พร้อมจะเข้ามาลองใหม่อยู่เสมอ ทำให้ธุรกิจทำร้านอาหารไม่เคยตาย แต่สำหรับผมแล้ว ธุรกิจภัตตาคารที่จะรุ่งเรืองมีกำไรนั้น  Key Word มีคำเดียว  คือ "Economy of Scale" ความหมาย คือ ร้านที่จะทำกำไรได้ดีที่สุด คือ ร้านที่ได้รับความนิยมสูงและมีเครือข่ายมากที่สุด

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 24 กรกฎาคม 2555

ค้นฟ้าคว้าดาว


กระบวนการที่ยาก สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการลงทุนแบบ VI คือ การค้นหาหุ้นที่จะลงทุน เหตุผล คือ มีหุ้นบริษัทจดทะเบียนกว่า 500 บริษัท
ทำธุรกิจหลากหลายมากมาย  บริษัทเหล่านี้อยู่ใน  “ช่วงชีวิต”  ต่างๆ  เช่น  กำลังเริ่มต้น  เติบโต  เติบโตเร็ว  อิ่มตัว  ตกต่ำ  ซึ่งเราไม่รู้  นอกจากนั้น  ราคาหุ้นของแต่ละบริษัทก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาทำให้ความน่าสนใจของหุ้น เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาเช่นกัน  ดังนั้น  การมองหาหุ้นที่จะเข้าไปศึกษาและลงทุนจึงเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา  ต่อไปนี้คือวิธีการหาหุ้นที่  VI รวมถึงผมมักจะใช้
 

วิธีแรกน่าจะง่ายที่สุด คือ  การติดตามบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์  โดยเฉพาะโบรกเกอร์หลาย ๆ  แห่งที่จะมีการนำเสนอหุ้นที่  “น่าสนใจ”  เป็นหุ้นที่เขาแนะนำให้ซื้อหรือบางครั้งแนะนำให้ซื้อ  “อย่างแรง”  วิธีนี้มีข้อดี คือ  เราไม่ต้องไปหาให้เสียเวลา  หุ้นถูกเสิร์ฟให้เราถึงที่  แต่ข้อเสียคือ  เขามักจะวิเคราะห์แนะนำเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ขึ้นมีสภาพคล่องซื้อขายมากพอ  ซึ่งอาจมีหุ้นเพียง 200-300 ตัวเท่านั้นที่โบรกเกอร์ครอบคลุม  ประเด็น คือ  หุ้นที่เขาแนะนำให้ซื้อ บ่อยครั้งมีราคาและปริมาณการซื้อขายปรับตัวขึ้นมาแล้ว   ดังนั้น  ความน่าสนใจจะลดลงเพราะราคาหุ้นแพงขึ้น  ในบางกรณี  โดยเฉพาะหุ้นที่มีขนาดเล็กลงมาหน่อยสภาพคล่องมีไม่มากนั้น   ราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาสูงลิ่วแล้วก่อนที่เขาจะแนะนำ  ดังนั้น  การหาหุ้นจากวิธีการนี้   จะต้องระวังว่ามันอาจจะไม่ถูกในแง่ของ VI  การเข้าไปซื้ออาจเป็นการ  “เก็งกำไรได้
 

วิธีที่สอง  สำหรับคนขยันมีเวลา  เช่น  คนที่  “ลงทุนเป็นอาชีพ”  อาจติดตามเข้าร่วมฟังรายการ  “บริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน”  หรือที่เรียกว่า  “Opportunity Day”  จัดที่ตลาดหลักทรัพย์เป็นประจำเกือบทั้งปี  นี่คือ รายการที่ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนจำนวนมาก  มาบรรยายและให้ข้อมูลรวมทั้งตอบคำถามเกี่ยวกับบริษัทแก่นักลงทุน  รายการนี้จึงเป็นช่องทางที่จะได้ข้อมูลค่อนข้างลึกเกี่ยวกับบริษัทรวมถึง หลายๆ กรณี  ได้พบผู้บริหารสูงสุดของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งบางคนบอกว่าจะได้ดู  “โหงวเฮ้ง”  ว่าน่าจะเป็นคนมีความสามารถไว้ใจได้แค่ไหน  และนั่นคือข้อดีของการไปหา  ศึกษา  และวิเคราะห์หุ้นจากงาน  “ออปเดย์”   อย่างไรก็ตาม  ข้อเสียอาจมีเหมือนกัน คือ การไปฟังบริษัทมากๆ นั้น  บางทีก็ทำให้เคลิ้ม”  ได้เหมือนกัน  บริษัทอาจจะให้แต่ภาพที่ดี  และพยายามพูดให้เชื่อว่าเขาดีกว่าปกติ  เราที่มีความรู้น้อยกว่าก็จะคล้อยตามโดยไม่ได้ไปหาข้อมูลจากแหล่งอื่นเพิ่ม ทำให้เราวิเคราะห์ผิดพลาดได้
 

ช่องทางที่สามในการหาหุ้น คือ  การใช้  “ตะแกรงร่อนหุ้น”  นี่คือ การใช้ข้อมูลเชิงปริมาณในการคัดเลือกหุ้นที่มีผลประกอบการและงบการเงิน  อัตราส่วนการเงิน  อัตราส่วนที่แสดงความถูกความแพงของหุ้น  มาเป็นตัวคัดกรองเพื่อที่จะศึกษาตัวหุ้นที่มีคุณสมบัติที่เราต้องการ  เช่น  บางคนจัดเรียงหุ้นที่มีค่า  PE  ต่ำสุดจนถึงหุ้นมีค่า PE สูงที่สุด  จากนั้นคัดเลือกเฉพาะหุ้นมีค่า  PE  ต่ำสุดไม่เกิน 20 ตัวเพื่อนำมาศึกษาต่อเป็นต้น  หรือบางคนอาจจะมองบริษัทมีผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงสุดเป็นตะแกรงที่ จะคัดกรองหุ้น  เป็นต้น   ข้อดีของแนวทางนี้ คือ  มันทำได้อย่างรวดเร็วและค่อนข้างจะทั่วถึง เราจะไม่พลาดหุ้นที่มีคุณสมบัติที่น่าสนใจเลยเพราะมันทำโดยคอมพิวเตอร์   และหลังจากนั้นเราค่อยมาดูข้อมูลเป็นรายตัวว่าเราสนใจตัวไหนเป็นพิเศษ   ส่วนข้อเสีย ก็คือ ข้อมูลเป็นเชิงปริมาณนั้น  มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและมันไม่ได้บอกว่าอนาคตจะเป็นแบบนั้นต่อไปหรือ ไม่   และบางทีมันหลอก”  ให้เราเข้าใจผิดในคุณสมบัติเชิงคุณภาพได้   ความยุ่งยากอีกอย่างหนึ่ง คือ  หลายๆ  คนรวมถึงผมด้วย  ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะเขียนหรือรันโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบนี้ได้
 

ช่องทางที่สี่ในการหาหุ้นลงทุน คือ  การติดตามอ่านข่าวสารในหน้าข่าวธุรกิจและข่าวอื่น ที่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนและอาจมีผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนอย่างมีนัย สำคัญ  ผมหมายรวมถึงการดูฟังจากสื่อทุกชนิด   เพียงแต่การอ่านมักให้ข้อมูลที่มากเร็วกว่าช่องทางอื่น   นี่คือการ  “อ่านเพื่อหาหุ้น”  ไม่ใช่การอ่านผ่านๆ   ความแตกต่างคือ  เมื่ออ่านแล้วต้องคิดต่อว่าหุ้นกลุ่มไหนหรือตัวไหนจะได้ประโยชน์และตัวไหนจะ เสียประโยชน์  บริษัทไหนจะชนะและบริษัทไหนจะแพ้ในระยะยาว  เทรนด์ของธุรกิจไหนจะมาและอุตสาหกรรมไหนจะตกต่ำลง   การหาหุ้นจากช่องทางนี้  เป็นการหาหุ้นที่ใช้เวลามากแต่ก็จำเป็น  เพราะนอกจากเป็นเรื่องของการหาหุ้นลงทุนใหม่ๆ แล้ว  ยังเป็นเรื่องการติดตามข้อมูลของหุ้นตัวเดิมที่ยังอยู่ในพอร์ตด้วยว่าควรถือ ต่อหรือขายทิ้ง
 

ช่องทางที่ห้า คือ  การหาหุ้นโดยการถามหรือติดตามความเคลื่อนไหวของ  “เซียนหุ้น”  หรือบางทีเรียกว่า  “CI”  หรือ  “เล่นหุ้นตามเซียน”  นี่คือ วิธีการหาหุ้นที่ง่ายและอาจจะให้ผลดี  เพราะอย่างน้อยเขาก็คิดว่า  ถ้าเซียนซื้อหรือถือหุ้นไว้  หุ้นน่าจะดี  เพราะเซียนนั้นคงต้องวิเคราะห์กันมาเป็นอย่างดีแล้ว  เหนือสิ่งอื่นใด  เขาคิดว่าคงจะมีคนอื่นที่ซื้อหุ้นตามเซียนเหมือนกัน  เพราะฉะนั้น  หุ้นจะมีแรงซื้อมากและอาจทำให้หุ้นวิ่งขึ้นได้เร็วและแรงกว่าปกติ    อย่างไรก็ตาม  ข้อเสียของการหาหุ้นแบบนี้ ก็คือ  บ่อยครั้งเราไม่รู้ว่าเซียนนั้นซื้อหุ้นไว้ตั้งแต่เมื่อไร  ต้นทุนของหุ้นที่ซื้อเป็นเท่าไร  และเขาจะขายเมื่อไร  ดังนั้น  ในบางครั้ง  เราอาจจะซื้อในราคาที่เกินกว่าพื้นฐานและเซียนที่ซื้อหรือถือไว้กำลังขาย  ผลคือ  เราอาจจะขาดทุนได้   เหนือสิ่งอื่นใด คือ  บ่อยครั้ง  เซียนก็อาจจะผิดได้  หรือบางทีเซียนที่เรากำลังตามอยู่นั้น  อาจจะกำลัง  “โฆษณา”  หุ้นของตนเพื่อให้หุ้นเป็นที่น่าสนใจและมีราคาดีขึ้นก็ได้
 

ช่องทางที่หกของการหาหุ้น คือ  การ  “เดินตามห้าง”  นี่ก็คือ การสังเกตและ  “สัมผัส”  ความเป็นไปของธุรกิจจริงๆ ใน  “สนาม”  ไม่ใช่ดูจากรายงานในหน้ากระดาษหรือบนจอคอมพิวเตอร์   คำว่าเดินตามห้างนั้น  รวมไปถึงสถานที่ทุกแห่งที่เราเข้าหรือผ่านไปเพื่อทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  เช่น  ไปซื้อหรือใช้บริการต่างๆ   ข้อดีของการหาหุ้นแบบนี้ก็คือ  เราจะได้ข้อมูลที่หาไม่ได้จากงบการเงินนั่นคือ  ความแข็งแกร่ง  ความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง  และแนวโน้มของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของการเติบโตของกิจการและตัวหุ้น  ข้อควรระวังสำหรับการหาหุ้นแนวทางนี้ ก็คือ   อย่าใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นเครื่องตัดสินสินค้าหรือตัวบริษัท  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราไม่ใช่ลูกค้าเป้าหมายของเขา
 

สุดท้าย คือ  การดูข้อมูลจากกิจกรรมการซื้อขายของตัวหุ้นเอง  เช่น  การซื้อหรือขายของผู้บริหารบริษัท  หรือปริมาณการซื้อขายของหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของตัวหุ้น  นี่อาจจะเป็นสิ่งที่บอกว่า  คนที่  “รู้เรื่องดีกำลังทำอะไรอยู่  ข้อมูลชิ้นนี้อาจกระตุ้นให้เราศึกษาตัวหุ้นเพิ่มเติมได้  อย่างไรก็ตามเช่นเดียวกับข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริหารหรือเซียนหุ้นรายใหญ่  เราต้องระวังว่าอาจเป็นข้อมูลถูกปล่อยออกมาเพื่อจะ ลวง”  ให้นักลงทุนหลงได้
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 17 กรกฎาคม 2555

Tuesday, August 14, 2012

ปัญหาทางความคิด


คนที่เริ่มศึกษาเรื่องหุ้น ช่วงแรกๆ เขาจะรู้จักกับแนวความคิดแบบหนึ่ง ที่เขาเชื่อว่า เป็นแนวทางที่ถูกต้องและจะพาให้เขาประสบความ สำเร็จในการลงทุน ต่อมาเมื่อเขาได้ฟัง ได้อ่าน และศึกษาเพิ่มขึ้น เขาอาจพบว่ายังมีแนวความคิด หรือทฤษฎีอื่นที่น่าสนใจ และช่วยให้ผลงานการลงทุนของเขาดีขึ้น แม้ทฤษฎี หรือแนวความคิดใหม่นี้ อาจไม่ตรง หรือแย้งกับสิ่งที่เขาเข้าใจมาในอดีต หลักการไหนกันแน่ ที่เขาควรเชื่อและปฏิบัติตาม  แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ลองมาดูกันว่า มีแนวความคิดอะไรที่ดูเหมือนจะแย้งกันสุดขั้ว
 
ความคิดข้อแรกที่ดูมีปัญหา คือ การถือหุ้น สั้นไม่เสี่ยง การถือหุ้นยาว คือ ความเสี่ยง เหตุผล คือ ในระยะยาวเราคาดการณ์อะไรไม่ได้ จึงเป็นความเสี่ยง และนี่คือ ความคิดของนักเล่นหุ้นที่เน้นแนวเทคนิค แต่อีกด้านหนึ่ง คนที่เป็น Value Investor  ที่ซื้อหุ้นเหมือนกับการลงทุนทำธุรกิจ กลับมองว่า การถือหุ้นสั้นมีความเสี่ยง เพราะระยะสั้นตลาดหุ้นอาจผันผวนจากปัจจัยด้านมหภาค เช่น เรื่องเศรษฐกิจและตลาดหุ้น แต่ในระยะยาว ถ้ากิจการเราวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีว่า จะเติบโตและกำไรเพิ่มขึ้น ในที่สุดแล้ว ราคาหุ้นก็จะเพิ่มขึ้นตาม ดังนั้น ในระยะยาวโอกาสที่จะขาดทุนก็จะน้อยมาก ดังนั้น ถือหุ้นสั้น เสี่ยง ถือยาว ไม่เสี่ยง
 

ความคิดข้อสอง ที่หลายครั้งเราได้ยินว่า การลงทุน หรือการเล่นหุ้น อย่าไปซื้อตอนหุ้นกำลังลง ต้องซื้อตอนหุ้นกำลังขึ้น นักเล่นหุ้น "รายใหญ่" ที่ใช้สไตล์การเล่น "แรงและเร็ว" บางคนถึงกับบอกเลยว่า ถ้าซื้อแล้วหุ้นไม่ขึ้น ต้องขายทันที ถ้าซื้อแล้วหุ้นวิ่ง ก็จะซื้อเพิ่มขึ้นไปอีก เรียกว่า  Average Up คือ ซื้อถัวเฉลี่ยในราคาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลับกัน เรามักจะได้ยินว่านักลงทุน โดยเฉพาะที่เป็นระยะยาวควรจะซื้อหุ้นแบบ  Average Down คือ ซื้อหุ้นเมื่อราคาลดลง ยิ่งลดลงก็ยิ่งซื้อเพื่อ "ลดต้นทุน" ต่อหุ้นลง นอกจากนี้ เราก็ยังมี ทฤษฎี  Dollar Cost Average ที่บอกให้ซื้อหุ้นเฉลี่ยไปเรื่อยๆ ด้วยเม็ดเงินเท่ากันทุกเดือน หรือทุกปีโดยไม่ต้องสนใจหุ้นจะขึ้นหรือลง ข้อดี คือ ถ้าเดือนไหนหุ้นขึ้นเราซื้อหุ้นได้น้อยหน่อย ช่วงไหนหุ้นลง เราซื้อหุ้นได้มากหน่อยดังนั้น ต้นทุนเฉลี่ยต่อหุ้นก็จะลดลง
 

ความคิดข้อที่สาม คือ วิธีที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีและเร็วที่สุด คือ ซื้อหุ้นที่ถูก และขายเมื่อราคาขึ้นมา "เต็มมูลค่า" นี่คือ แนวทางของ VI ส่วนใหญ่มักจะวิเคราะห์หา "มูลค่าที่แท้จริง" อย่าง "ละเอียดถี่ถ้วน" และซื้อขายหุ้นค่อนข้างบ่อย เพื่อสร้างผลตอบแทน "อย่างรวดเร็ว" ขณะที่อีกแนวความคิดหนึ่ง คือ ซื้อหุ้นกิจการที่ดีมาก และถือไว้ยาวนานตราบที่ยังดีอยู่ นี่คือแบบที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ใช้ แต่  VI จำนวนมาก ก็ไม่เชื่อว่าวิธีนี้จะสร้างผลตอบแทนที่ดีมากๆ ได้ เหตุผล คือ ในระยะยาวแล้ว เป็นเรื่องยากที่บริษัทจะโตได้เกินปีละ 15-20% ดังนั้น ถือหุ้นแบบนี้ในระยะยาวพอร์ตจะโตได้มากก็ปีละ 15-20% สู้ซื้อหุ้นที่ถูกและขายภายในเวลาไม่กี่เดือน เมื่อได้กำไร 15-20% ก็ไปซื้อหุ้นถูกตัวใหม่ที่จะได้กำไรอีก 15-20%  ถ้าทำแบบนี้ได้ปีละ 3-4 ครั้งก็จะได้ผลตอบแทนปีละไม่ต่ำกว่า 40-50% เป็นอย่างน้อย
 

ความคิดข้อที่สี่ คือ การลงทุน เราควรต้อง กระจายความเสี่ยง โดยการถือครองหุ้นหลายๆ ตัว และแต่ละตัวอาจไม่เกิน  5-10% ของพอร์ตโดยรวม การทำแบบนี้จะทำให้ความเสี่ยงลดลง ตรงกันข้าม เรามีแนวความคิดการลงทุนแบบ Focus  หรือเน้นลงทุนในหุ้นน้อยตัวแบบ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งช่วงแรกๆ  ของการลงทุน บางครั้งเขาถือหุ้นตัวเดียวเกิน 30-40% ของพอร์ตก็เคยมี การลงทุนแบบนี้จะทำให้ผลตอบแทนสูงขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญแต่ก็มีความเสี่ยง สูง คนที่สนับสนุนแนวความคิดนี้ มักจะบอกว่า เขาศึกษาตัวหุ้นนี้มาเป็นอย่างดี เขาไม่คิดว่าเป็นความเสี่ยง ในประเด็นเรื่องกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงโดยการถือครองหุ้นนี้ ในหมู่นักลงทุนไทย ซึ่งรวมถึง “VI” จำนวนมาก พวกเขาลงทุนยิ่งกว่าคำว่า Focus นั่นคือ หลายคนถือหุ้นตัวเดียวคิดเป็น  50%  หรือบางคนถือหุ้นตัวเดียว 100% และบางครั้งถือเกิน 100% นั่นคือ ใช้มาร์จินซื้อหุ้นเพิ่มด้วย
 

ความคิดที่ห้า คือ ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้น หรือ ภาพของเศรษฐกิจมหภาค มีความสำคัญต่อการลงทุน ถ้าภาพไม่ดี เราต้องออกจากตลาด เราไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ในตลาดตลอดเวลา ว่าที่จริง ปีปีหนึ่งอาจจะเล่นเพียง 2-3 รอบ หรือบางปีอาจไม่เล่นเลยก็ได้ ตรงกันข้าม อีกความคิดหนึ่ง คือ เศรษฐกิจ หรือตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร เราไม่ต้องสนใจ สนใจเฉพาะว่า กิจการที่เราลงทุนเป็นอย่างไร ถ้าดีอยู่เราก็ซื้อหรือถือไว้ เพราะเราลงทุนกับบริษัท เราไม่ได้ลงทุนในดัชนีหรือลงทุนซื้อหุ้นทั้งตลาด โดยทั่วไปแล้ว เราจะอยู่ในตลาดตลอดเวลา และบางคนแทบจะถือหุ้น 100% ไม่ถือเงินสดเลยด้วยซ้ำ
 

ความคิดที่หก คือ แนวคิด กลยุทธ์ และข้อมูลทางเทคนิค กับวิธีการลงทุนแบบ VI เอามาใช้ประกอบกันได้ หลายๆ คนมีความคิดว่าเขาหาหุ้นแบบ VI แต่จังหวะซื้อหรือขาย ดูจากข้อมูลทางเทคนิค เพราะเชื่อว่าวิธีนี้ จะทำให้ทำผลตอบแทนได้สูงกว่าการใช้หลักการแบบ VI อย่างเดียว ส่วนอีกแนวทางหนึ่งมักมาจากพวก "VI พันธุ์แท้" ที่มองว่า หลักการทางเทคนิค ไม่มีประโยชน์ และบ่อยครั้งขัดแย้งกับหลักการ "พื้นฐาน" ของกิจการ การนำมาใช้ หรือใช้ร่วมกับวิธีการของ VI ไม่ถูกต้อง และอาจทำให้เกิดความเสียหายได้
 

ความคิดที่เจ็ด คือ แนวความคิดที่ว่าสไตล์และวิธีการลงทุนที่ถูกต้อง ย่อมต้องขึ้นอยู่กับตัวนักลงทุนด้วย นั่นแปลว่า หลักการที่บัฟเฟตต์ใช้ และประสบความสำเร็จอย่างสูง เราจะเอามาใช้ตรงๆ ไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่บัฟเฟตต์ เราไม่มีความสามารถและมีอีคิว เหมือนบัฟเฟตต์ เราไม่ได้มีพอร์ตใหญ่เหมือนบัฟเฟตต์ และสุดท้าย คือ เราไม่ได้อยู่ในอเมริกา สิ่งที่เราควรทำก็คือ ดูว่า "จริต" เราเป็นอย่างไร และเลือกหลักการลงทุนที่ "ถูกกับจริตเรา" มากที่สุด ในอีกด้านหนึ่ง มีความคิดว่า ต้องปรับตัวเรา หรือสอนให้ตัวเราเรียนรู้หลักการ และวิธีการลงทุนที่ถูกต้องที่สุด ถ้าจริตเราไม่เหมาะสมกับหลัก หรือวิธีการลงทุนที่ถูกต้อง ต้องแก้ไข  มิฉะนั้น จะไม่ประสบความสำเร็จ เหนือสิ่งอื่นใดคือ หุ้นนั้นไม่รู้หรอกว่าใครเป็นเจ้าของ ไม่เปลี่ยนตามเรา เราต้องเปลี่ยนแปลงตามมัน
 

เขียนถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มสับสน และไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง และจะเชื่อด้านไหนในแต่ละเรื่องแต่ละประเด็น ส่วนตัวผมเอง คิดว่า ด้านไหนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ขึ้นอยู่กับความเชื่อ หรือแนวความคิดพื้นฐานของเรา ถ้าเราเป็น "VI พันธุ์แท้" เรามีแนวโน้มจะเชื่อด้านหนึ่งแต่ถ้าเราเป็น "นักเก็งกำไร" เรามีแนวโน้มเชื่อไปอีกด้านหนึ่ง และผมเชื่อว่าแนวทางนั้น อาจดีกับความคิดพื้นฐานดังกล่าว สิ่งที่ผมแนะนำ คือ เวลาเราศึกษา ต้องดูว่าเหตุผลที่เขาใช้คืออะไร ความคิดนั้นมาจากหลักการอะไร ถ้ามาจากแนวคิดพื้นฐานที่เราใช้ นั่นคือ ความคิดที่ถูกต้อง และควรจะยึดถือ อย่าวอกแวก การลงทุนประกอบไปด้วยหลักการต่างๆ มากมาย ถ้าไม่สอดคล้องกัน ก็จะเหมือนเครื่องจักรที่เดินไม่ราบรื่นแน่นอน

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 10 กรกฎาคม 2555

อาบเหงื่อต่างน้ำ


หุ้นของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรม หรือธุรกิจบางอย่าง ถ้าเราลงทุนซื้อไว้ก็จะพบว่า ราคาหุ้นไม่ไปไหน และอาจตกต่ำอยู่นานมาก หุ้นบางตัวอาจให้ปันผล อยู่บ้าง แต่ปันผลก็มักจะไม่ปรับตัวขึ้น หุ้นหลายตัว มีปันผล แต่กระท่อนกระแท่น เพราะกำไรของบริษัทมีบ้างไม่มีบ้าง  
 

หุ้นหลายตัวแทบจะไม่มีปันผลเลย มีแต่ข่าวว่ายอดขายจะดีขึ้น และความหวังว่ากำไรจะมาแล้ว อนาคตกำลังจะ "สดใส" และหุ้นบางตัว หรือบางกลุ่ม ในบางช่วงบางตอนอาจเป็น 2-3 ไตรมาส หรือ 2-3 ปี ก็แสดง "อภินิหาร" วิ่งขึ้นไปเป็นเท่าๆ ตัว พร้อมๆ กับปริมาณการซื้อขายที่คึกคักเต็มที่ และผู้คนกล่าวขวัญกันมาก  
 

หลังจากนั้น เมื่อภาวะทางอุตสาหกรรมกลับมาเป็นปกติ หุ้นก็ตกกลับลงมา และหงอยเหงาไปอีกนาน หุ้นต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเราถือไว้ลงทุนระยะยาวหวังผลตอบแทนที่ดีแล้ว ผมก็อยากจะเปรียบเทียบเหมือนกับคนที่ต้องทำงานหาเงินว่า เป็นงานที่ "อาบเหงื่อต่างน้ำ" หากินยากเหลือเกิน ลองดูกันว่ามีหุ้นกลุ่มไหนบ้าง
 

หุ้นกลุ่มแรกก็คือ หุ้นเหล็ก หรือหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล็ก นี่คือหุ้นกลุ่มที่ "หนัก" ที่สุดในสายตาของผม เพราะตั้งแต่ผมเริ่มเข้าตลาดหุ้น กลุ่มนี้เป็นหุ้นที่มี "เวลาดีๆ" คือช่วงที่หุ้นขึ้นน้อยเหลือเกิน เมื่อมันขึ้นไป คนที่เข้าไปเล่น บางทียังตั้งหลักไม่ทัน ก็ลงมาซะแล้ว ทำให้คนเล่นขาดทุนกันมากมายและก็เลิกเล่นไปอีกนาน จนลืมบทเรียนที่เจ็บปวด เพื่อที่จะกลับมาเล่นอีก เมื่อมีข่าวราคาเหล็ก "กำลังขึ้น" และกำไรของบริษัทจะ "มโหฬาร" เป็นวัฏจักรกันแบบนี้มาช้านาน
 

ปัญหาของอุตสาหกรรมเหล็ก คือ เป็นโภคภัณฑ์ที่มี Supply หรือมีวัตถุดิบและโรงงานเหลือเฟือในโลก ซึ่งทำให้ตัดราคากันสมบูรณ์ ทำให้กำไรของผู้ผลิตมีน้อยมาก นานๆ ครั้ง จะขาดแคลนบ้าง เพราะความต้องการใช้เติบโตขึ้นมากะทันหัน ทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับยอดขายที่ค่อนข้างมากและสต็อกสินค้าที่มักจะสูง นี่ทำให้เกิด "กำไรจากสต็อก" สินค้ามากแต่บริษัทไม่ได้มีเงินสดจากกำไรนั้นที่จะเอาแบ่งปันกันมากมาย ผลคือ นักลงทุนที่เล่นหุ้นอาจจะเข้ามาซื้อเก็งกำไร ทำให้ราคาหุ้นกระโดดขึ้น 
 

ราคาเหล็ก มักจะสูงอยู่ได้ไม่นาน เมื่อราคาเหล็กปรับตัวขึ้น ผู้ผลิตทั่วโลกต่างก็เร่งผลิตเหล็กออกมาขาย ทำให้ราคาปรับตัวลงมา ซึ่งทำให้บริษัทเหล็กขาดทุนจากสต็อกที่มีอยู่ นักลงทุนที่รู้ก่อนก็จะขายหุ้น ทำให้หุ้นตกลงมา วงจรของหุ้นเหล็กคือ หุ้นมักจะมีช่วงเวลาที่ดีสั้นมาก แต่มีเวลาที่ "เลวร้าย" ยาวมาก
 

ใกล้เคียงกับหุ้นเหล็ก คือ หุ้นเรือ เพราะหุ้นขนส่งทางเรือ มีลักษณะเป็น "โภคภัณฑ์" ที่แข่งขันกันทั่วโลกเหมือนกัน แต่ว่าเรือ มี Supply จำกัดมากกว่าเหล็ก ในยามที่โลกขาดแคลนเรือ ราคาค่าขนส่งก็วิ่งขึ้นไปมาก ทำให้กำไรของบริษัทเรือเติบโตขึ้น "มโหฬาร" แต่การต่อเรือใหม่ ใช้เวลามากกว่าการผลิตเหล็กเพิ่ม

ดังนั้น หุ้นเรือจึงมีเวลาที่ดียาวนานกว่าหุ้นเหล็ก ขณะที่หุ้นเหล็กอาจจะดีได้เพียง 2-3 ไตรมาส หุ้นเรืออาจจะดีได้ถึง 2-3 ปี เพราะเรือว่าจะต่อเสร็จแต่ละลำต้องใช้เวลาเป็นปีๆ เวลาที่ "เลวร้าย" ของหุ้นเรือนั้น มักจะยาวกว่า "เวลาที่ดี" มาก ถ้าจะถามว่าอะไรเป็นเครื่องสังเกตว่า เวลาที่เลวร้ายกำลังจะผ่านไป คำตอบของผมก็คือ ต้องรอจนกว่าบริษัทจะ "ขาดทุน" เพราะตราบใดที่บริษัทยังกำไร ผมคิดว่านั่นยังไม่ใช่เวลาที่เลวร้ายที่สุด
 

ต่อจากธุรกิจเรือแล้ว ผมคิดว่าธุรกิจการบิน ก็มีคุณสมบัติคล้ายๆ กันในแง่ที่ว่า มีการแข่งขันกันดุเดือดและแข่งกัน "ทั่วโลก" เหมือนกันเพราะเครื่องบิน "บินได้" ดังนั้น Supply จึงมีมากมาย ซึ่งทำให้การทำมาหากิน ยากลำบาก ต้อง "อาบเหงื่อต่างน้ำ" ว่าที่จริง บัฟเฟตต์ ก็เคยขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นสายการบินมาแล้ว และบอกว่า เป็นธุรกิจที่ยากลำบากจริงๆ โดยเฉพาะในอเมริกาที่การบิน มีการแข่งกันอย่างสมบูรณ์
 

อีกธุรกิจหนึ่งในตลาดหุ้นไทย ที่ผมติดตามดูแล้ว รู้สึกว่าคนที่ลงทุนจะ "เหนื่อย" เหลือเกิน คือ งานรับเหมาก่อสร้างงานอิฐ หิน ปูน ทราย หรือเรียกว่างาน CIVIL เช่น การก่อสร้างอาคาร ถนนหนทาง สะพาน ทางด่วน และสาธารณูปโภคอื่นๆ อีกมาก นี่คืองานที่บริษัทต้องประมูลแข่งที่ราคาต่ำที่สุด เพื่อที่จะได้งาน 
 

นอกจากนั้น ผู้จ้างยังมักจะเป็นหน่วยงานราชการที่มีกฎระเบียบมากมาย การที่จะได้งาน และส่งมอบงานจะต้องมี "ต้นทุน" ต่างๆ มากมายที่เราไม่รู้ แม้จะมีงานในมือมหาศาล แต่กำไรของบริษัทรับเหมาก่อสร้างมักจะ "กระท่อนกระแท่น" ซึ่งทำให้ราคาหุ้น "กระท่อนกระแท่น" ตาม นานๆ ครั้งจะมี "ข่าวดี" ที่บริษัทอาจได้รับงานใหญ่และทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไป แต่อยู่ได้ไม่นานเมื่อผลประกอบการปรากฏ หุ้นก็ตกลงไปที่เก่า และจะหงอยเหงาต่อไปอีกนาน การซื้อหุ้นรับเหมาสำหรับหลายๆ คนก็เป็นการ "อาบเหงื่อต่างน้ำ" อีกกลุ่มหนึ่ง
 

หุ้นสิ่งทอ หุ้นการเกษตร และหุ้นที่อยู่ในภาวะอุตสาหกรรม "ตะวันตกดิน" บางอย่าง การลงทุนแม้บางบริษัทยังจ่ายปันผลค่อนข้างดี แต่หุ้นมักจะไม่ไปไหน ลงทุนแล้วก็ "เหนื่อย" หรือ "เบื่อ" บางบริษัทต้อง "อาบเหงื่อต่างน้ำ" เหมือนกัน
 

หุ้นอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่มีคุณลักษณะคล้ายกัน คือ หุ้นที่ต้องอิงกับคนที่มีทักษะเฉพาะ และมีเงินเดือนสูง และเป็นงานที่ต้องแข่งขันด้านราคาอาจจะโดยการประมูล ตัวอย่างเช่น หุ้น บริษัทที่ปรึกษาและรับงานทำระบบไอที หุ้นบริษัทโฆษณา หุ้นรับจัดงานอีเวนท์ หุ้นกิจการเหล่านี้ มักเดินหน้าไปไม่ไกล แม้บริษัทจะมีกำไรพอใช้ได้ และจ่ายปันผลพอสมควร 
 

เหตุผลเพราะว่า การขยายงานน่าจะโตไปได้ไม่มาก เพราะข้อจำกัดด้านบุคลากร และด้านของความต้องการของลูกค้า การที่งานต้องพึ่งพิงคนที่มีความสามารถเฉพาะตัวมาก ทำให้การรักษาบุคลากรทำได้ยาก เหนือสิ่งอื่นใดคือ ลูกจ้างที่เก่งมากๆ อาจออกไปตั้งกิจการเองได้ไม่ยาก เพราะธุรกิจไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนมาก การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ จึงหวังรวยยาก แม้จะไม่ถึงกับเหนื่อยหนักเท่ากับธุรกิจอื่นๆ
 

ที่เขียนมาทั้งหมด มิได้หมายความว่า เราไม่ควรลงทุนซื้อหุ้นเหล่านั้นเลย ในบางครั้งบางช่วงเวลา หุ้นเหล่านั้น ก็ให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นมาก เพียงแต่จำเป็นต้องรู้ว่าเวลานั้น คือเวลาไหน เช่นเดียวกัน เราต้องรู้ด้วยว่า หุ้นเหล่านั้นอาจมี "เวลาที่ดี" จำกัด  ขณะเดียวกัน เวลาที่ "แย่" หรือเวลาที่ "เลวร้าย" กลับยาวกว่ามาก อย่าให้สถานการณ์ช่วงสั้นๆ ทำให้เราไขว้เขวกับธรรมชาติของธุรกิจ เพราะจะทำให้เราพลาดและเจ็บหนัก
 

อย่าลืมว่านี่คือ ธุรกิจที่ต้อง "อาบเหงื่อต่างน้ำ" ไม่ใช่ธุรกิจที่ "หากินง่าย" อย่างหลายๆ ธุรกิจที่ไตรมาสแล้ว ไตรมาสเล่า ปีแล้ว ปีเล่า ผลการดำเนินงานเติบโตไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับราคาหุ้นที่จะตามกันไปต่อเนื่องยาวนาน
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 3 กรกฎาคม 2555