ถ้าให้ผมจัดลำดับ แนวความคิด หรือสิ่งประดิษฐ์สำคัญที่สุดในโลก
ที่ทำให้โลกนี้เจริญก้าวหน้ามาได้ถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่าหนึ่งในนั้น คือ
"เงิน" ดังนั้น คำพูดที่ว่า "เงินคือพระเจ้า"
น่าจะมีความเป็นจริงอย่างยิ่ง นี่เป็นเรื่องที่พูดโดยรวม
เป็นการพูดระหว่างเงินกับมนุษยชาติ ถ้าไม่มีเงิน มนุษยชาติก็ยังล้าหลัง
และเราทุกคนที่อ่านบทความนี้ ก็จะลำบากกว่าที่เป็นอยู่นี้มาก ตัวผมเอง
ก็คงต้อง "อดมื้อกินมื้อ" เพราะความสามารถที่จะไป "ทำมาหากิน"
ดูจะน้อยกว่าคนอื่น ผมน่าจะทำเก่ง หรือทำเป็นเฉพาะอย่าง
ส่วนอย่างอื่นรวมถึงอาหาร ผมต้อง "ซื้อมากิน" และการซื้อ
ต้องใช้เงินเป็นหลัก สำหรับผมแล้ว "เงินคือพระเจ้า" แน่นอน
ก่อนที่จะมีเงินเกิดขึ้นในโลก มนุษย์มีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน
นี่เป็นเรื่องจำเป็น เพราะทำให้คนแต่ละคน สร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่าง
ซึ่งทำให้เขามีประสิทธิภาพสูงขึ้น
แทนที่คนสองคนต่างก็ปลูกข้าวและผลไม้เพื่อเอาไว้กิน
ก็ให้คนหนึ่งปลูกข้าวและอีกคนหนึ่งปลูกผลไม้
แล้วเอาข้าวครึ่งหนึ่งมาแลกกับผลไม้ครึ่งหนึ่ง
แบบนี้ทั้งคู่จะได้ข้าวและผลไม้มากขึ้น
เพราะแต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญในการปลูกมากกว่าต่างคนต่างปลูก
การแลกเปลี่ยนสินค้า มนุษย์เราทำมานานเป็นหมื่นปี
นับจากที่เราเริ่มเป็นเกษตรกร
และน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่เกิดมนุษย์ขึ้นในโลกด้วยซ้ำ
เพียงแต่เมื่อมนุษย์ตั้งถิ่นฐานแล้ว การแลกเปลี่ยนก็เกิดขึ้นมากมาย
เพราะเราสามารถผลิตอาหารได้มากเกินกว่าการบริโภคส่วนตัว
จึงต้องนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าอย่างอื่นจากคนที่หันไปทำอาชีพอื่น
สังคมของการแลกเปลี่ยนดำรงอยู่เป็นพันๆ ปี
การเกิดขึ้นของเงิน น่าจะมาจากความต้องการในการแลกเปลี่ยนสินค้า
ที่เป็นรายการเล็กๆ ที่ทำให้การใช้สินค้ามาแลกกันไม่สะดวก ดังนั้น
ก้อนโลหะ ที่หายาก จึงเริ่มถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนเมื่อประมาณ
6,000 ปีมาแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นในย่านตะวันออกกลาง เช่น อียิปต์
ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมแรกๆ ของโลก ต่อมาช่วง 2,500-2,700 ปีที่ผ่านมา โลหะ
เช่น บรอนซ์ เงิน และทองถูกนำมาใช้เป็นเงิน โดยการขึ้นรูปเป็นแบบต่างๆ
เช่น ทำเป็นรูปมีด หรือพลั่ว ในจีน และเป็นเหรียญ ในตุรกี เป็นต้น
โดยแต่ละแบบมีค่าแตกต่างกัน แม้แต่ในไทย เมื่อ 200 ปี เรา ใช้เงินพดด้วง
ซึ่งจะมีคุณลักษณะคล้ายๆ กัน ในการเป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนสินค้า
เงินที่เป็นกระดาษ หรือ "แบงก์" เพิ่งจะเกิดขึ้นไม่เกิน 1,000 ปี
ในจีนตามที่มาร์โคโปโลได้เขียนบันทึกไว้ เมื่อเขาเดินทางมาเมืองจีน
ดูเหมือนว่าเงินกระดาษที่ว่านั้น ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก คงคล้ายๆ
กับเงิน "กงเต๊ก" ค่าที่ว่าคุณภาพของกระดาษคงจะแย่มากจนมันขาดวิ่นได้ง่ายๆ
เมื่อใช้ผ่านไปไม่กี่มือ ส่วนเงินกระดาษยุคใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน
ซึ่งก็คือ "ใบรับฝากทอง" ที่คนเอามาใช้แลกสินค้าแทนทองและโลหะต่างๆ
และนี่คือ สิ่งเดียวที่ผมรู้จัก และใช้เมื่อผมยังเป็นเด็ก
บัตรเครดิตเป็นนวัตกรรมของเงินที่สำคัญ
โดยเฉพาะซื้อขายแลกเปลี่ยนของผู้คนข้ามประเทศและทั่วโลก
แนวความคิดบัตรเครดิต เริ่มในสหรัฐอเมริกา โดยคนที่ออกบัตรแรกๆ คือ
ธุรกิจที่เห็นผลประโยชน์ที่จะให้เครดิตแก่ลูกค้าที่มาซื้อของ นั่นคือ
ลูกค้าจะชอบ และกลับมาซื้อของอีก เพราะ "ซื้อเชื่อ" ได้
ต่อมามีร้านค้ามากขึ้น ที่เข้ามาร่วมเป็น "ชมรม"
โดยการรับบัตรเครดิตของบริษัทอื่นๆ เมื่อลูกค้ามาซื้อของที่ร้าน
แนวความคิดและการเริ่มใช้บัตรเครดิต เพิ่งจะเริ่มไม่เกิน 100 ปีมานี้เอง
แต่บัตรเครดิตที่เป็นทางการ
หรือเป็นบัตรที่ใช้ได้ทั่วไปอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้
เพิ่งเริ่มเมื่อปี 1950 หรือประมาณ 60 ปีมานี้เอง โดยบริษัท ไดเนอร์สคลับ
ต่อมาบริษัทอเมริกันเอ็กซ์เพรส ได้ออกบัตรเครดิตที่ใช้ได้ทั่วโลกในปี 1958
และนี่คือ บริษัทที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้ซื้อหุ้นจำนวนมากแบบ "ตีแตก"
ในช่วงต้นๆ ของชีวิตการลงทุนของเขา
ถ้าจะพูดถึงบทบาทของเงิน
นอกจากจะเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันแล้ว
ยังมีบทบาทสำคัญมากอีกสองสามเรื่อง เรื่องแรก คือ
เป็นเครื่องมือเก็บสินค้า หรือข้าวของต่างๆ
ที่เราทำได้มากเกินกว่าที่เราจะใช้ได้หมด นั่นคือ
เราแปลงเป็นเงินแล้วเก็บรักษา และลงทุนให้งอกเงยขึ้น เพื่อในอนาคต
เมื่อเราไม่มีแรงที่จะทำงาน หรือทำมาหากิน ก็เอาเงินที่เราเก็บไว้
มาใช้ซื้อสินค้าที่เราต้องการได้ นอกจากนั้น
เงินจะเป็นตัวบอกถึงความมั่งคั่งที่เรามี ทำให้รู้ว่า
เรามีศักยภาพที่จะใช้สินค้าต่างๆ ได้เท่าไร ซึ่งจะช่วยบอกให้รู้ว่าเรา มี
"อิสรภาพ" ในการอยู่ได้ตลอดชีวิต โดยไม่ต้องทำมาหากินได้หรือไม่
ซึ่งเรื่องแบบนี้ ในสังคมที่ไม่มีเงิน หรือมีเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น
สังคมที่ยังใช้แลกเปลี่ยนสินค้า หรือใช้เงินที่เป็นเหรียญโลหะอยู่
จะไม่สามารถทำได้ ลองนึกถึงมนุษย์ยุคหิน
ที่ยังต้องหาของป่าล่าสัตว์อยู่ว่า จะเป็นอย่างไร ถ้าคุณเกิดมาไม่แข็งแรง
หรือคุณเจ็บป่วย หรือแก่ตัวลงไม่สามารถหากินได้?
เงินทำให้คนทำงานหนัก เพื่อเก็บสะสมสิ่งที่จะต้องใช้ในวันข้างหน้าไว้
เงินทำให้คนทำงานที่มีประโยชน์ หรือมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
ที่สำคัญที่สุดคือ
เงินทำให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำสิ่งที่มนุษย์ต้องการ
และสร้างความก้าวหน้าให้แก่มนุษยชาติ เพราะงานเหล่านั้น "ทำเงิน"
มากกว่างานอื่น แน่นอน งานบางอย่าง
อาจไม่ได้สร้างคุณค่าแต่ก็ทำเงินได้มาก
เพราะเป็นเรื่องของการหลอกลวงและเอาเปรียบคนอื่น
งานบางอย่างดูเหมือนว่าจะทำได้อย่างสบายๆ แต่ได้เงินมาก
ขณะที่งานบางอย่างต้องทำอย่าง "อาบเหงื่อต่างน้ำ"
แต่คนทำกลับได้เงินน้อยแทบไม่พอกิน
ความแตกต่างกันของความมั่งคั่งที่เกิดจากการทำงานบ่อยครั้ง
ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีนักในสังคม โดยเฉพาะการคิดว่าคนที่มีเงินมาก
มี "ความโลภ" มีเงินแล้วไม่รู้จักพอ หรือเห็นเงิน เป็น "พระเจ้า"
หรือต้องทำทุกอย่างเพื่อเงิน เป็น "ทาส" ของเงิน แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร
ทุกคนต้องพึ่งเงิน อยากมีเงินมากขึ้น
ในฐานะของคนที่เคยเป็นคนที่แทบจะไม่มีเงินเลย
และกลายเป็นคนที่มีเงินเหลือเกินพอ
และในฐานะของคนที่เคยทำงานแบบอาบเหงื่อต่างน้ำ แต่ได้เงินน้อยมาก
และกลายเป็นคนที่ทำงานอย่างที่ดูเหมือนว่าแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย
แต่ได้เงินมากมาย ผมอยากบอกว่า เงินนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น
ที่จริงช่วย "นำทาง" ให้รู้ว่าเราควรทำอะไรได้มากมาย
การทำอะไรโดยไม่คิดถึงเงินเลย ผมคิดว่าไม่ยั่งยืน แต่ก็เช่นเดียวกัน
การทำอะไรคิดถึงแต่เรื่องเงินอย่างเดียว ผมคิดว่าก็ไม่ยั่งยืน
และจะนำไปสู่หายนะได้
สิ่งสำคัญที่สุดในประเด็นของเรื่องเงิน คือ
อย่าไปคิดว่าเงินกับความสุขเป็นเรื่องเดียวกัน
เงินจะซื้อความสุขได้ถึงจุดหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นแล้ว
เงินที่มากเกินก็ไม่สามารถซื้อความสุขเพิ่มขึ้นได้
ที่จริงอาจกลายเป็นความทุกข์ได้ ถ้าเราหมกมุ่นกับมันมากเกินไป ดังนั้น
เวลาคิดถึงเงิน คิดถึงว่ามันคือ "พระเจ้า" แต่เราจะต้อง "บูชา"
อย่างถูกต้อง
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 7 สิงหาคม 2555
No comments:
Post a Comment