กระบวนการที่ยาก สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการลงทุนแบบ VI คือ การค้นหาหุ้นที่จะลงทุน เหตุผล คือ มีหุ้นบริษัทจดทะเบียนกว่า 500 บริษัท
ทำธุรกิจหลากหลายมากมาย บริษัทเหล่านี้อยู่ใน “ช่วงชีวิต” ต่างๆ เช่น กำลังเริ่มต้น เติบโต เติบโตเร็ว อิ่มตัว ตกต่ำ ซึ่งเราไม่รู้ นอกจากนั้น ราคาหุ้นของแต่ละบริษัทก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาทำให้ความน่าสนใจของหุ้น เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาเช่นกัน ดังนั้น การมองหาหุ้นที่จะเข้าไปศึกษาและลงทุนจึงเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา ต่อไปนี้คือวิธีการหาหุ้นที่ VI รวมถึงผมมักจะใช้
วิธีแรกน่าจะง่ายที่สุด คือ การติดตามบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ โดยเฉพาะโบรกเกอร์หลาย ๆ แห่งที่จะมีการนำเสนอหุ้นที่ “น่าสนใจ” เป็นหุ้นที่เขาแนะนำให้ซื้อหรือบางครั้งแนะนำให้ซื้อ “อย่างแรง” วิธีนี้มีข้อดี คือ เราไม่ต้องไปหาให้เสียเวลา หุ้นถูกเสิร์ฟให้เราถึงที่ แต่ข้อเสียคือ เขามักจะวิเคราะห์แนะนำเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ขึ้นมีสภาพคล่องซื้อขายมากพอ ซึ่งอาจมีหุ้นเพียง 200-300 ตัวเท่านั้นที่โบรกเกอร์ครอบคลุม ประเด็น คือ หุ้นที่เขาแนะนำให้ซื้อ บ่อยครั้งมีราคาและปริมาณการซื้อขายปรับตัวขึ้นมาแล้ว ดังนั้น ความน่าสนใจจะลดลงเพราะราคาหุ้นแพงขึ้น ในบางกรณี โดยเฉพาะหุ้นที่มีขนาดเล็กลงมาหน่อยสภาพคล่องมีไม่มากนั้น ราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาสูงลิ่วแล้วก่อนที่เขาจะแนะนำ ดังนั้น การหาหุ้นจากวิธีการนี้ จะต้องระวังว่ามันอาจจะไม่ถูกในแง่ของ VI การเข้าไปซื้ออาจเป็นการ “เก็งกำไร” ได้
วิธีที่สอง สำหรับคนขยันมีเวลา เช่น คนที่ “ลงทุนเป็นอาชีพ” อาจติดตามเข้าร่วมฟังรายการ “บริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน” หรือที่เรียกว่า “Opportunity Day” จัดที่ตลาดหลักทรัพย์เป็นประจำเกือบทั้งปี นี่คือ รายการที่ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนจำนวนมาก มาบรรยายและให้ข้อมูลรวมทั้งตอบคำถามเกี่ยวกับบริษัทแก่นักลงทุน รายการนี้จึงเป็นช่องทางที่จะได้ข้อมูลค่อนข้างลึกเกี่ยวกับบริษัทรวมถึง หลายๆ กรณี ได้พบผู้บริหารสูงสุดของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งบางคนบอกว่าจะได้ดู “โหงวเฮ้ง” ว่าน่าจะเป็นคนมีความสามารถไว้ใจได้แค่ไหน และนั่นคือข้อดีของการไปหา ศึกษา และวิเคราะห์หุ้นจากงาน “ออปเดย์” อย่างไรก็ตาม ข้อเสียอาจมีเหมือนกัน คือ การไปฟังบริษัทมากๆ นั้น บางทีก็ทำให้“เคลิ้ม” ได้เหมือนกัน บริษัทอาจจะให้แต่ภาพที่ดี และพยายามพูดให้เชื่อว่าเขาดีกว่าปกติ เราที่มีความรู้น้อยกว่าก็จะคล้อยตามโดยไม่ได้ไปหาข้อมูลจากแหล่งอื่นเพิ่ม ทำให้เราวิเคราะห์ผิดพลาดได้
ช่องทางที่สามในการหาหุ้น คือ การใช้ “ตะแกรงร่อนหุ้น” นี่คือ การใช้ข้อมูลเชิงปริมาณในการคัดเลือกหุ้นที่มีผลประกอบการและงบการเงิน อัตราส่วนการเงิน อัตราส่วนที่แสดงความถูกความแพงของหุ้น มาเป็นตัวคัดกรองเพื่อที่จะศึกษาตัวหุ้นที่มีคุณสมบัติที่เราต้องการ เช่น บางคนจัดเรียงหุ้นที่มีค่า PE ต่ำสุดจนถึงหุ้นมีค่า PE สูงที่สุด จากนั้นคัดเลือกเฉพาะหุ้นมีค่า PE ต่ำสุดไม่เกิน 20 ตัวเพื่อนำมาศึกษาต่อเป็นต้น หรือบางคนอาจจะมองบริษัทมีผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงสุดเป็นตะแกรงที่ จะคัดกรองหุ้น เป็นต้น ข้อดีของแนวทางนี้ คือ มันทำได้อย่างรวดเร็วและค่อนข้างจะทั่วถึง เราจะไม่พลาดหุ้นที่มีคุณสมบัติที่น่าสนใจเลยเพราะมันทำโดยคอมพิวเตอร์ และหลังจากนั้นเราค่อยมาดูข้อมูลเป็นรายตัวว่าเราสนใจตัวไหนเป็นพิเศษ ส่วนข้อเสีย ก็คือ ข้อมูลเป็นเชิงปริมาณนั้น มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและมันไม่ได้บอกว่าอนาคตจะเป็นแบบนั้นต่อไปหรือ ไม่ และบางทีมัน“หลอก” ให้เราเข้าใจผิดในคุณสมบัติเชิงคุณภาพได้ ความยุ่งยากอีกอย่างหนึ่ง คือ หลายๆ คนรวมถึงผมด้วย ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะเขียนหรือรันโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบนี้ได้
ช่องทางที่สี่ในการหาหุ้นลงทุน คือ การติดตามอ่านข่าวสารในหน้าข่าวธุรกิจและข่าวอื่น ที่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนและอาจมีผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนอย่างมีนัย สำคัญ ผมหมายรวมถึงการดูฟังจากสื่อทุกชนิด เพียงแต่การอ่านมักให้ข้อมูลที่มากเร็วกว่าช่องทางอื่น นี่คือการ “อ่านเพื่อหาหุ้น” ไม่ใช่การอ่านผ่านๆ ความแตกต่างคือ เมื่ออ่านแล้วต้องคิดต่อว่าหุ้นกลุ่มไหนหรือตัวไหนจะได้ประโยชน์และตัวไหนจะ เสียประโยชน์ บริษัทไหนจะชนะและบริษัทไหนจะแพ้ในระยะยาว เทรนด์ของธุรกิจไหนจะมาและอุตสาหกรรมไหนจะตกต่ำลง การหาหุ้นจากช่องทางนี้ เป็นการหาหุ้นที่ใช้เวลามากแต่ก็จำเป็น เพราะนอกจากเป็นเรื่องของการหาหุ้นลงทุนใหม่ๆ แล้ว ยังเป็นเรื่องการติดตามข้อมูลของหุ้นตัวเดิมที่ยังอยู่ในพอร์ตด้วยว่าควรถือ ต่อหรือขายทิ้ง
ช่องทางที่ห้า คือ การหาหุ้นโดยการถามหรือติดตามความเคลื่อนไหวของ “เซียนหุ้น” หรือบางทีเรียกว่า “CI” หรือ “เล่นหุ้นตามเซียน” นี่คือ วิธีการหาหุ้นที่ง่ายและอาจจะให้ผลดี เพราะอย่างน้อยเขาก็คิดว่า ถ้า “เซียน” ซื้อหรือถือหุ้นไว้ หุ้นน่าจะดี เพราะเซียนนั้นคงต้องวิเคราะห์กันมาเป็นอย่างดีแล้ว เหนือสิ่งอื่นใด เขาคิดว่าคงจะมีคนอื่นที่ซื้อหุ้นตามเซียนเหมือนกัน เพราะฉะนั้น หุ้นจะมีแรงซื้อมากและอาจทำให้หุ้นวิ่งขึ้นได้เร็วและแรงกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการหาหุ้นแบบนี้ ก็คือ บ่อยครั้งเราไม่รู้ว่าเซียนนั้นซื้อหุ้นไว้ตั้งแต่เมื่อไร ต้นทุนของหุ้นที่ซื้อเป็นเท่าไร และเขาจะขายเมื่อไร ดังนั้น ในบางครั้ง เราอาจจะซื้อในราคาที่เกินกว่าพื้นฐานและเซียนที่ซื้อหรือถือไว้กำลังขาย ผลคือ เราอาจจะขาดทุนได้ เหนือสิ่งอื่นใด คือ บ่อยครั้ง เซียนก็อาจจะผิดได้ หรือบางทีเซียนที่เรากำลังตามอยู่นั้น อาจจะกำลัง “โฆษณา” หุ้นของตนเพื่อให้หุ้นเป็นที่น่าสนใจและมีราคาดีขึ้นก็ได้
ช่องทางที่หกของการหาหุ้น คือ การ “เดินตามห้าง” นี่ก็คือ การสังเกตและ “สัมผัส” ความเป็นไปของธุรกิจจริงๆ ใน “สนาม” ไม่ใช่ดูจากรายงานในหน้ากระดาษหรือบนจอคอมพิวเตอร์ คำว่าเดินตามห้างนั้น รวมไปถึงสถานที่ทุกแห่งที่เราเข้าหรือผ่านไปเพื่อทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ไปซื้อหรือใช้บริการต่างๆ ข้อดีของการหาหุ้นแบบนี้ก็คือ เราจะได้ข้อมูลที่หาไม่ได้จากงบการเงินนั่นคือ ความแข็งแกร่ง ความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง และแนวโน้มของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของการเติบโตของกิจการและตัวหุ้น ข้อควรระวังสำหรับการหาหุ้นแนวทางนี้ ก็คือ อย่าใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นเครื่องตัดสินสินค้าหรือตัวบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราไม่ใช่ลูกค้าเป้าหมายของเขา
สุดท้าย คือ การดูข้อมูลจากกิจกรรมการซื้อขายของตัวหุ้นเอง เช่น การซื้อหรือขายของผู้บริหารบริษัท หรือปริมาณการซื้อขายของหุ้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของตัวหุ้น นี่อาจจะเป็นสิ่งที่บอกว่า คนที่ “รู้เรื่องดี” กำลังทำอะไรอยู่ ข้อมูลชิ้นนี้อาจกระตุ้นให้เราศึกษาตัวหุ้นเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตามเช่นเดียวกับข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริหารหรือเซียนหุ้นรายใหญ่ เราต้องระวังว่าอาจเป็นข้อมูลถูกปล่อยออกมาเพื่อจะ “ลวง” ให้นักลงทุนหลงได้
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ
17 กรกฎาคม 2555
No comments:
Post a Comment