หุ้นของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรม หรือธุรกิจบางอย่าง ถ้าเราลงทุนซื้อไว้ก็จะพบว่า ราคาหุ้นไม่ไปไหน และอาจตกต่ำอยู่นานมาก
หุ้นหลายตัวแทบจะไม่มีปันผลเลย มีแต่ข่าวว่ายอดขายจะดีขึ้น และความหวังว่ากำไรจะมาแล้ว อนาคตกำลังจะ "สดใส" และหุ้นบางตัว หรือบางกลุ่ม ในบางช่วงบางตอนอาจเป็น 2-3 ไตรมาส หรือ 2-3 ปี ก็แสดง "อภินิหาร" วิ่งขึ้นไปเป็นเท่าๆ ตัว พร้อมๆ กับปริมาณการซื้อขายที่คึกคักเต็มที่ และผู้คนกล่าวขวัญกันมาก
หลังจากนั้น เมื่อภาวะทางอุตสาหกรรมกลับมาเป็นปกติ หุ้นก็ตกกลับลงมา และหงอยเหงาไปอีกนาน หุ้นต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเราถือไว้ลงทุนระยะยาวหวังผลตอบแทนที่ดีแล้ว ผมก็อยากจะเปรียบเทียบเหมือนกับคนที่ต้องทำงานหาเงินว่า เป็นงานที่ "อาบเหงื่อต่างน้ำ" หากินยากเหลือเกิน ลองดูกันว่ามีหุ้นกลุ่มไหนบ้าง
หุ้นกลุ่มแรกก็คือ หุ้นเหล็ก หรือหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล็ก นี่คือหุ้นกลุ่มที่ "หนัก" ที่สุดในสายตาของผม เพราะตั้งแต่ผมเริ่มเข้าตลาดหุ้น กลุ่มนี้เป็นหุ้นที่มี "เวลาดีๆ" คือช่วงที่หุ้นขึ้นน้อยเหลือเกิน เมื่อมันขึ้นไป คนที่เข้าไปเล่น บางทียังตั้งหลักไม่ทัน ก็ลงมาซะแล้ว ทำให้คนเล่นขาดทุนกันมากมายและก็เลิกเล่นไปอีกนาน จนลืมบทเรียนที่เจ็บปวด เพื่อที่จะกลับมาเล่นอีก เมื่อมีข่าวราคาเหล็ก "กำลังขึ้น" และกำไรของบริษัทจะ "มโหฬาร" เป็นวัฏจักรกันแบบนี้มาช้านาน
ปัญหาของอุตสาหกรรมเหล็ก คือ เป็นโภคภัณฑ์ที่มี Supply หรือมีวัตถุดิบและโรงงานเหลือเฟือในโลก ซึ่งทำให้ตัดราคากันสมบูรณ์ ทำให้กำไรของผู้ผลิตมีน้อยมาก นานๆ ครั้ง จะขาดแคลนบ้าง เพราะความต้องการใช้เติบโตขึ้นมากะทันหัน ทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับยอดขายที่ค่อนข้างมากและสต็อกสินค้าที่มักจะสูง นี่ทำให้เกิด "กำไรจากสต็อก" สินค้ามากแต่บริษัทไม่ได้มีเงินสดจากกำไรนั้นที่จะเอาแบ่งปันกันมากมาย ผลคือ นักลงทุนที่เล่นหุ้นอาจจะเข้ามาซื้อเก็งกำไร ทำให้ราคาหุ้นกระโดดขึ้น
ราคาเหล็ก มักจะสูงอยู่ได้ไม่นาน เมื่อราคาเหล็กปรับตัวขึ้น ผู้ผลิตทั่วโลกต่างก็เร่งผลิตเหล็กออกมาขาย ทำให้ราคาปรับตัวลงมา ซึ่งทำให้บริษัทเหล็กขาดทุนจากสต็อกที่มีอยู่ นักลงทุนที่รู้ก่อนก็จะขายหุ้น ทำให้หุ้นตกลงมา วงจรของหุ้นเหล็กคือ หุ้นมักจะมีช่วงเวลาที่ดีสั้นมาก แต่มีเวลาที่ "เลวร้าย" ยาวมาก
ใกล้เคียงกับหุ้นเหล็ก คือ หุ้นเรือ เพราะหุ้นขนส่งทางเรือ มีลักษณะเป็น "โภคภัณฑ์" ที่แข่งขันกันทั่วโลกเหมือนกัน แต่ว่าเรือ มี Supply จำกัดมากกว่าเหล็ก ในยามที่โลกขาดแคลนเรือ ราคาค่าขนส่งก็วิ่งขึ้นไปมาก ทำให้กำไรของบริษัทเรือเติบโตขึ้น "มโหฬาร" แต่การต่อเรือใหม่ ใช้เวลามากกว่าการผลิตเหล็กเพิ่ม
ดังนั้น หุ้นเรือจึงมีเวลาที่ดียาวนานกว่าหุ้นเหล็ก ขณะที่หุ้นเหล็กอาจจะดีได้เพียง 2-3 ไตรมาส หุ้นเรืออาจจะดีได้ถึง 2-3 ปี เพราะเรือว่าจะต่อเสร็จแต่ละลำต้องใช้เวลาเป็นปีๆ เวลาที่ "เลวร้าย" ของหุ้นเรือนั้น มักจะยาวกว่า "เวลาที่ดี" มาก ถ้าจะถามว่าอะไรเป็นเครื่องสังเกตว่า เวลาที่เลวร้ายกำลังจะผ่านไป คำตอบของผมก็คือ ต้องรอจนกว่าบริษัทจะ "ขาดทุน" เพราะตราบใดที่บริษัทยังกำไร ผมคิดว่านั่นยังไม่ใช่เวลาที่เลวร้ายที่สุด
ต่อจากธุรกิจเรือแล้ว ผมคิดว่าธุรกิจการบิน ก็มีคุณสมบัติคล้ายๆ กันในแง่ที่ว่า มีการแข่งขันกันดุเดือดและแข่งกัน "ทั่วโลก" เหมือนกันเพราะเครื่องบิน "บินได้" ดังนั้น Supply จึงมีมากมาย ซึ่งทำให้การทำมาหากิน ยากลำบาก ต้อง "อาบเหงื่อต่างน้ำ" ว่าที่จริง บัฟเฟตต์ ก็เคยขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นสายการบินมาแล้ว และบอกว่า เป็นธุรกิจที่ยากลำบากจริงๆ โดยเฉพาะในอเมริกาที่การบิน มีการแข่งกันอย่างสมบูรณ์
อีกธุรกิจหนึ่งในตลาดหุ้นไทย ที่ผมติดตามดูแล้ว รู้สึกว่าคนที่ลงทุนจะ "เหนื่อย" เหลือเกิน คือ งานรับเหมาก่อสร้างงานอิฐ หิน ปูน ทราย หรือเรียกว่างาน CIVIL เช่น การก่อสร้างอาคาร ถนนหนทาง สะพาน ทางด่วน และสาธารณูปโภคอื่นๆ อีกมาก นี่คืองานที่บริษัทต้องประมูลแข่งที่ราคาต่ำที่สุด เพื่อที่จะได้งาน
นอกจากนั้น ผู้จ้างยังมักจะเป็นหน่วยงานราชการที่มีกฎระเบียบมากมาย การที่จะได้งาน และส่งมอบงานจะต้องมี "ต้นทุน" ต่างๆ มากมายที่เราไม่รู้ แม้จะมีงานในมือมหาศาล แต่กำไรของบริษัทรับเหมาก่อสร้างมักจะ "กระท่อนกระแท่น" ซึ่งทำให้ราคาหุ้น "กระท่อนกระแท่น" ตาม นานๆ ครั้งจะมี "ข่าวดี" ที่บริษัทอาจได้รับงานใหญ่และทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไป แต่อยู่ได้ไม่นานเมื่อผลประกอบการปรากฏ หุ้นก็ตกลงไปที่เก่า และจะหงอยเหงาต่อไปอีกนาน การซื้อหุ้นรับเหมาสำหรับหลายๆ คนก็เป็นการ "อาบเหงื่อต่างน้ำ" อีกกลุ่มหนึ่ง
หุ้นสิ่งทอ หุ้นการเกษตร และหุ้นที่อยู่ในภาวะอุตสาหกรรม "ตะวันตกดิน" บางอย่าง การลงทุนแม้บางบริษัทยังจ่ายปันผลค่อนข้างดี แต่หุ้นมักจะไม่ไปไหน ลงทุนแล้วก็ "เหนื่อย" หรือ "เบื่อ" บางบริษัทต้อง "อาบเหงื่อต่างน้ำ" เหมือนกัน
หุ้นอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่มีคุณลักษณะคล้ายกัน คือ หุ้นที่ต้องอิงกับคนที่มีทักษะเฉพาะ และมีเงินเดือนสูง และเป็นงานที่ต้องแข่งขันด้านราคาอาจจะโดยการประมูล ตัวอย่างเช่น หุ้น บริษัทที่ปรึกษาและรับงานทำระบบไอที หุ้นบริษัทโฆษณา หุ้นรับจัดงานอีเวนท์ หุ้นกิจการเหล่านี้ มักเดินหน้าไปไม่ไกล แม้บริษัทจะมีกำไรพอใช้ได้ และจ่ายปันผลพอสมควร
เหตุผลเพราะว่า การขยายงานน่าจะโตไปได้ไม่มาก เพราะข้อจำกัดด้านบุคลากร และด้านของความต้องการของลูกค้า การที่งานต้องพึ่งพิงคนที่มีความสามารถเฉพาะตัวมาก ทำให้การรักษาบุคลากรทำได้ยาก เหนือสิ่งอื่นใดคือ ลูกจ้างที่เก่งมากๆ อาจออกไปตั้งกิจการเองได้ไม่ยาก เพราะธุรกิจไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนมาก การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ จึงหวังรวยยาก แม้จะไม่ถึงกับเหนื่อยหนักเท่ากับธุรกิจอื่นๆ
ที่เขียนมาทั้งหมด มิได้หมายความว่า เราไม่ควรลงทุนซื้อหุ้นเหล่านั้นเลย ในบางครั้งบางช่วงเวลา หุ้นเหล่านั้น ก็ให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นมาก เพียงแต่จำเป็นต้องรู้ว่าเวลานั้น คือเวลาไหน เช่นเดียวกัน เราต้องรู้ด้วยว่า หุ้นเหล่านั้นอาจมี "เวลาที่ดี" จำกัด ขณะเดียวกัน เวลาที่ "แย่" หรือเวลาที่ "เลวร้าย" กลับยาวกว่ามาก อย่าให้สถานการณ์ช่วงสั้นๆ ทำให้เราไขว้เขวกับธรรมชาติของธุรกิจ เพราะจะทำให้เราพลาดและเจ็บหนัก
อย่าลืมว่านี่คือ ธุรกิจที่ต้อง "อาบเหงื่อต่างน้ำ" ไม่ใช่ธุรกิจที่ "หากินง่าย" อย่างหลายๆ ธุรกิจที่ไตรมาสแล้ว ไตรมาสเล่า ปีแล้ว ปีเล่า ผลการดำเนินงานเติบโตไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับราคาหุ้นที่จะตามกันไปต่อเนื่องยาวนาน
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ
3 กรกฎาคม 2555
No comments:
Post a Comment