ผมเองไม่ใช่ "คอบอล" ที่จะยอมอดหลับอดนอน เพื่อดูการแข่งขันนัดสำคัญอย่างฟุตบอลยูโรที่กำลังเล่นอยู่ระยะนี้
ผมคิดว่าเกมและกติกาเกี่ยวกับฟุตบอล สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนในตลาดหุ้นได้ อย่างน้อยก็สองเรื่องดังต่อไปนี้
ข้อแรก คือ เรื่องการพนันบอล หรือ "แทงบอล"
กับเจ้ามือที่เป็นบริษัทรับพนันบอลชั้นนำที่อยู่ในต่างประเทศ
ผมไม่เคยเล่นพนันบอล แต่รู้ว่า เราสามารถเล่นพนันว่า
ทีมไหนจะชนะเลิศได้ถ้วยรางวัลหลังจากจบการแข่งขัน ในการพนัน แน่นอน
"เซียน" หรือคนที่ติดตามการแข่งขันฟุตบอลมาตลอด จะรู้ว่าทีมไหนที่เก่ง
หรือมีฝีเท้าดี และมีโอกาสที่จะได้แชมป์มากกว่าทีมอื่น
ดังนั้น โอกาสที่เขาจะทายถูกก็จะสูงกว่าคนที่ไม่รู้อะไรมากนักอย่างผม
ดังนั้น ถ้าเขาแทงทีมที่โดดเด่นสัก 3-4 ทีม โอกาสจะถูกก็คงมีสูงพอสมควร
เมื่อเทียบกับการที่ผมจะแทง เซียนบอลที่ว่า
อาจจะไม่ได้กำไรจากการเล่นพนันบอล เหตุผลเพราะการแทงบอล เขามี
"อัตราต่อรอง" สำหรับแต่ละทีมที่เข้าแข่งขัน อัตราต่อรองนี้
ทำให้การแทงทีมที่เราคิดว่าเป็นทีมที่เก่งกาจ เป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าได้
ตัวอย่างเช่น ถ้าทีม A เป็นทีม "เต็งหนึ่ง" ที่คนในวงการบอลมองว่า
มีฝีเท้าดีเยี่ยม อัตราการต่อรองจะต่ำ เช่น ถ้าแทงว่าทีม A จะชนะด้วยเงิน 1
บาท และทีม A ชนะจริง เราอาจจะได้เงินรางวัลเพียง 2 บาท แต่ถ้าทีม B เป็น
ทีม "รองบ่อน" โอกาสชนะน้อย อัตราการต่อรองจะสูง เช่น แทง 1 บาท ถ้าทีม B
ชนะจริง เราอาจได้ถึง 10 บาท
ในการตั้งอัตราการต่อรอง ผมคิดว่าบริษัทรับพนันคงมี "ผู้เชี่ยวชาญ"
ในการตั้งที่จะทำให้บริษัทได้กำไรเมื่อจบการแข่งขัน แต่ผู้เชี่ยวชาญที่ว่า
นอกจากจะ มี "เซียนบอล" แล้ว ที่สำคัญยิ่งกว่า ก็คือ "นักคณิตศาสตร์"
ที่คอยคำนวณว่ามีใครแทงบอลทีมไหนเท่าไร
และบริษัทจะต้องจ่ายเท่าไรถ้าทีมนั้นชนะ
และบริษัทจะได้เงินเท่าไรจากคนที่แทงผิด ประเด็นสำคัญ คือ
เขาต้องทำให้รายได้จากคนที่แทงผิดสูงกว่ารางวัลที่ต้องจ่ายให้กับคนแทงถูก
แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น เขาจะไปปรับอัตราการต่อรองใหม่จนสุดท้ายแล้ว
ไม่ว่าทีมไหนจะได้ถ้วยรางวัล บริษัทจะกำไรเสมอ
หุ้นมีลักษณะคล้ายๆ กับการพนันบอลเหมือนกันใน แง่ "เซียนหุ้น"
อาจรู้ว่า บริษัทไหนดีเยี่ยม หรือมีกำไรเติบโตโดดเด่น แต่หุ้นมี
"อัตราต่อรอง" เช่นเดียวกัน นั่นคือ ถ้ากิจการดีเยี่ยม ราคาหุ้น อาจ "แพง"
มาก นั่นคือ ค่า PE อาจสูงกว่าปกติมาก จนทำให้ไม่คุ้มลงทุน
ราคาหุ้นที่แพง หรืออัตราการต่อรองที่ต่ำ
ในเรื่องหุ้นไม่มีใครมาเป็นผู้กำหนด แต่เกิดจากคนในตลาดหุ้นเองมาซื้อๆ ขายๆ
ทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ถ้าจะพูดอีกทางหนึ่ง คือ
อัตราการต่อรองของหุ้น กำหนดโดยคนที่เข้ามาเล่นหุ้นเองทุกคนในตลาด
และถ้าคนเหล่านี้ สามารถกำหนดอัตราการต่อรองได้ถูกต้อง นั่นคือ ถ้าบริษัทดี
ราคาหุ้นก็แพง หรือ PE สูง บริษัทไม่โดดเด่น ราคาหุ้นก็ถูก หรือ PE ต่ำ
โดยนัยนี้ การซื้อ หรือ "แทง" หุ้นตัวที่มีผลประกอบการดี
อาจไม่คุ้มค่าก็ได้
ข้อสรุปของทั้งเรื่องบอลและเรื่องหุ้น ก็คือ อย่าสักแต่ดูว่าทีม
หรือหุ้นจะเป็นทีม หรือหุ้นของบริษัทที่มีผลประกอบการโดดเด่นเท่านั้น
ต้องคิดถึงอัตราต่อรอง หรือราคาหุ้นด้วยว่าเป็นอย่างไร ถ้าไม่เหมาะสม เช่น
อัตราต่อรองต่ำ หรือราคาหุ้นแพงเกินไป ก็ไม่คุ้ม
และเราอาจขาดทุนได้ถ้าเข้าไปเล่น
ข้อที่สอง คือ กติกาการนับคะแนน ที่ตอบแทนให้กับผลการเล่น
เรื่องฟุตบอล ทีมที่แพ้จะได้ 0 คะแนน ทีมที่เสมอจะได้ 1 คะแนน
ขณะที่คนชนะจะได้ 3 คะแนน แปลว่าชนะ 1 ครั้งได้คะแนนเท่ากับเสมอ 3 ครั้ง
เป็นการบอกว่าการเสมอ มีประโยชน์น้อย คุณต้องพยายามเอาชนะให้ได้
เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ เรื่องของหุ้น ผมคิดว่า ก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน
คือ เราต้องพยายามเลือกบริษัทที่จะ "ชนะ" ซึ่งจะ ได้ "คะแนน" สูงกว่าบริษัท
ที่ "เสมอ" มาก และแน่นอน เราต้องหลีกเลี่ยงบริษัทที่จะ "แพ้"
ความหมายของการชนะ คือ บริษัทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดขึ้นเรื่อยๆ
บริษัทมีความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง
และบริษัทมีส่วนแบ่งมากที่สุด และทิ้งห่างอันดับสองมากขึ้นเรื่อยๆ
อนาคตของบริษัทสดใสขึ้นมากกว่าคู่แข่ง ส่วนบริษัทที่แพ้
ก็เป็นอะไรที่อยู่ตรงกันข้าม เมื่อเวลาผ่านไปนาน บริษัทที่แพ้อาจจะสูญหายไป
หรือหมดศักยภาพในการแข่งขันและอยู่ๆ ไปอย่างนั้นเอง
ประเด็นคือ บริษัท ที่ "เสมอ" นี่คือ บริษัทที่ไม่ชนะและก็ไม่แพ้
บริษัทสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ยอดเยี่ยมและ "ทรหด" ผลัดกันแพ้และชนะ
แต่ก็ไม่มีใครทิ้งห่างใคร ฝีมือและความสามารถในการแข่งขันพอๆ กันตลอดเวลา
ขนาดของกิจการก็ไม่ทิ้งห่างจนทำให้แข่งขันกันไม่ได้
ตัวอย่างที่พอจะมองเห็นได้ เช่น ธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารขนาดใหญ่
3-4 แห่ง สามารถแข่งขันกันได้ และมีขนาดใกล้เคียงกันมานานหลายสิบปี
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทสร้างบ้านขายที่มีการเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งทาง
การตลาดสลับไปมาในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา และยังไม่รู้ว่าใครจะชนะจริงๆ
ในอนาคต เป็นต้น
บริษัท ที่ "ชนะ" ในทางธุรกิจ จะได้ผลตอบแทนมหาศาล จริงๆ
ผมคิดว่าอาจ มากกว่า "3 คะแนน" เมื่อเทียบกับบริษัท ที่ "เสมอ"
ความหมายของผม คือ ถ้าบริษัทชนะ
พวกเขามักจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงกว่าอันดับสองมาก อาจเป็นเท่าตัว
กำไรของบริษัทมักจะมากกว่าอันดับสองเกิน 2 เท่า
มูลค่าตลาดของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จะสูงกว่าอันดับ 2 หลายเท่า ส่วน ผู้
"แพ้" มักจะแทบล้มหายตายจาก หรือไม่มีกำไร ประเด็น คือ บริษัท ที่ "เสมอ"
ซึ่งมักจะอยู่ในอุตสาหกรรมบางประเภท ส่วนใหญ่จะมีกำไรตามอัตภาพ
แต่ความเสี่ยงของการประกอบการจะสูง
เพราะการแข่งขันที่เข้มข้นที่เกิดตลอดเวลา ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัท
แค่รักษาไว้ก็ยากแล้ว และจะใกล้เคียงกับคู่แข่ง มูลค่าตลาดของหุ้นในตลาด
ก็เพิ่มขึ้นช้าๆ และมีโอกาสปรับลงได้ตลอดเวลาขึ้นกับสถานการณ์ขณะนั้น การ
"เสมอ" ในทางธุรกิจ ก็เป็นได้แค่บริษัทที่ดี แต่ไม่ใช่ซูเปอร์สต็อก
นักลงทุนที่จะทำกำไรได้งดงาม ได้ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องยาวนาน
ต้องพยายามหาให้ได้ก่อนคนอื่นว่า หุ้นตัวใด "กำลัง" จะชนะ เพราะนั่นคือ
ช่วงเวลาที่หุ้นกำลังจะเริ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องรู้ว่าหุ้นตัวใดชนะแล้ว
แต่ ยัง "ชนะเพิ่มขึ้น" ซึ่งสัญญาณที่สำคัญ คือ
การที่ยอดขายและกำไรยังเติบโตแข็งแกร่ง พร้อมๆ
กับความได้เปรียบของการแข่งขันที่ยังเพิ่มขึ้นโดยที่ "ภัยคุกคาม"
ที่จริงจัง ยังมองไม่เห็น การลงทุนในหุ้น ที่ "เสมอ"
บางทีก็ไม่เลวนักถ้าราคาหุ้นต่ำ
อาจจะเนื่องจากสถานการณ์ชั่วคราวเช่นเรื่องภาวะตลาด หรือเศรษฐกิจที่ไม่ดี
หุ้นที่พึงละ เลี่ยง แม้ราคาจะต่ำมากคือ หุ้น ที่ "แพ้" เพราะระยะยาว
ยากที่จะทำกำไรให้กับเราได้
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 26 มิถุนายน 2555
No comments:
Post a Comment