Friday, June 29, 2012

ศึกชิงตา

ธุรกิจที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในช่วงนี้ ก็คือ ธุรกิจสื่อสารมวลชน
ต้นเหตุสำคัญ ก็คือ  การเกิดขึ้นของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ประกอบกับการพัฒนาทางด้านของเทคโนโลยีการสื่อสารและคอมพิวเตอร์ที่ทำให้ สามารถขยายช่องทางของการสื่อสารออกไปมหาศาล  ทำให้ต้นทุนของการสื่อสารต่ำลงไปมากในขณะที่คุณภาพของภาพและเสียงกลับสูง ขึ้นมาก

การเกิดขึ้นของ กสทช. และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้  “การผูกขาด”  ของสื่อที่มีมานานในประเทศไทยหมดหรือเกือบหมดไป  ในอนาคตอีกไม่นานเราจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะในด้านของ โทรทัศน์ที่จะมีสถานีหรือช่องทีวีใหม่เป็นร้อย ๆ  ช่อง  ที่ส่งถึงผู้ชมได้ทั่วประเทศ  ผ่านเครื่องมือสื่อสารต่างๆ  ตั้งแต่ระบบดั้งเดิมที่เป็นเสาอากาศ  ดาวเทียม  สายเคเบิล  และทางอินเทอร์เน็ต   แต่ละช่องมีต้นทุนในการดำเนินการที่ต่ำมาก  ดังนั้น  การแข่งขันที่จะ “แย่งผู้ชม”  จะรุนแรงมาก  โดยที่กลยุทธ์สำคัญที่สุดในการดึงดูดคนดู ก็คือ  การใช้  Content หรือเนื้อหาหรือข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับผู้เข้ามาชม  การแข่งขันเพื่อที่จะเอาชนะคู่แข่งในเกมที่น่าตื่นตาตื่นใจในครั้งนี้ผมอยาก จะเรียก ว่า  “ศึกชิงตา”  นั่นก็คือ  ผู้ให้บริการทั้งหลายต่างก็ต้องพยายามยึด  “สายตา”  ของคนในประเทศให้มาดูรายการ หรือ Content ของตนเองให้มากที่สุด  เพราะจำนวนคนดูจะเป็น  “รายได้”  ที่กิจการจะได้รับที่จะมาจากการโฆษณา  ค่าบริการ  และอื่นๆ 

ประเด็นที่จะต้องตระหนักมากที่สุด ก็คือ  ในขณะที่มีบริษัทและช่องทางใหม่ๆ  เพิ่มขึ้นมากมายที่จะเข้ามาช่วงชิง  “ตา”  แต่จำนวน “ตา”  นั้น  กลับมีจำนวน  “เท่าเดิม”   ความหมาย ก็คือ  คนไทยนั้น  ไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นน้อยมาก  เวลาที่จะใช้ตาเพื่อที่จะ “ดู”  ก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากนักแม้จะมีคนบอกว่าเด็กรุ่นใหม่ใช้สายตามากกว่าคน รุ่นก่อน  ดังนั้น  ถ้าเราคิดว่าจำนวน “ตา”  หรือเวลาที่ใช้ในการ  “ดู” ก็คือ “รายได้”  ที่ผู้ให้บริการจะได้รับ   ข้อสรุปของเรา ก็คือ  รายได้จาก  “ศึกชิงตา”  ก็จะมีเท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับของเดิม   แต่ผู้ให้บริการกลับมีเพิ่มขึ้นซึ่งจะต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก   ผลก็คือ  ถ้ามองในแง่ของอุตสาหกรรมโดยรวมแล้ว  ก็น่าจะเป็นว่า  กำไรของอุตสาหกรรมจะลดลง  ถ้ามองในรายละเอียดต่อไปก็น่าจะเป็นว่า  ผู้เล่นที่มีอยู่เดิมที่อยู่ในสภาวะผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด   น่าจะมีกำไรน้อยลงเพราะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา “แย่ง”  หรือแบ่ง  “ลูกตา”  หรือลูกค้าไปบ้าง  ส่วนรายใหม่ที่เข้ามานั้น  รายที่ประสบความสำเร็จสูงก็อาจจะได้กำไร  แต่หลายรายที่น่าจะมีจำนวนมากกว่าก็จะขาดทุน  มันเป็นศึกที่น่าจะคล้ายกับสงครามที่คู่ต่อสู้ส่วนใหญ่  “เสียหาย”  และมีผู้ได้ประโยชน์จริงๆ  น้อยมาก

ผู้ให้บริการรายใหญ่เดิมนั้น   สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ก็คือ  จำนวนผู้ชมและ/หรือเวลาชมน่าจะค่อยๆ  ลดลง  เหตุผลก็คือ  Content หรือเนื้อหาที่ดึงดูดมวลชนจำนวนมากนั้นจะดึงดูดคนได้น้อยลงเนื่องจากจะมีผู้ ดูบางส่วนที่มีความสนใจใน Content อื่นมากกว่าแต่ในอดีตพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น   แต่เมื่อมีทางเลือกอื่นพวกเขาก็จะไป  ตัวอย่างง่ายที่สุดก็เช่น  คนที่ชอบชมละครหลังข่าว  ถ้ามีละครหลายเรื่องมากขึ้นมาเสนอในเวลาเดียวกัน  โอกาสก็เป็นไปได้ที่พวกเขาบางคนจะไปชมเรื่องอื่น   เช่นเดียวกัน   รายการข่าวนั้น  คนที่เคยชมข่าวช่วงไพร์มไทม์เป็นประจำ  เมื่อเขามีทางเลือกอื่น  เขาอาจจะไปชมในช่องที่เป็นช่องข่าว  ที่นำเสนอแต่ข่าวตลอดทั้งวัน  ที่พวกเขาสะดวกที่จะรับชมได้ตลอดเวลา   เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม  ผู้ให้บริการรายใหญ่นั้น  สิ่งที่พวกเขายังมีอยู่และรายเล็กและรายใหม่ไม่มี ก็คือ  จำนวนหรือปริมาณคนดูที่มีจำนวนมากที่ทำให้ผู้ขายสินค้าที่ต้องการ  “โฆษณาในวงกว้าง” จำเป็นต้องใช้บริการ  ดังนั้น  สิ่งที่รายใหญ่สามารถทำได้ ก็คือ   การเพิ่มราคาค่าโฆษณา  ซึ่งทำให้กิจการสามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำ เนื่องจากต้นทุนการผลิตและส่งรายการยังเท่าเดิม  ประเด็นสำคัญก็คือ  สถานีจะต้องรักษาคุณภาพหรือ Content ของรายการให้สามารถดึงดูดมวลชนจำนวนมากให้ได้ต่อเนื่องยาวนาน   ในช่วงแรกๆ  นั้นผมคิดว่าปัญหายังไม่มาก  แต่เมื่อเวลาผ่านไป  ผมเชื่อว่าผู้ชมก็จะค่อยๆ  กระจายความสนใจในรายการหลากหลายขึ้นเรื่อยๆ  เมื่อพวกเขาพบทางเลือกใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น  ผลก็คือ  ผลประกอบการของทีวีช่องใหญ่ๆ  น่าจะค่อยๆ  ปรับตัวลดลงและอาจจะกลายเป็น  “ตะวันตกดิน” ได้

ทีวีช่องใหม่ๆ  ที่กำลังเกิดขึ้นมากมายนั้น  จุดขายก็คือ  แย่งชิงผู้ชมที่มีความสนใจเฉพาะอย่าง  เช่น  ชิง  “ตาของวัยรุ่น”   เช่น  ทำสถานีเพลงที่โดดเด่น  บางสถานีอาจจะเน้น “ตาของผู้ใหญ่” ที่สนใจปัญหาของบ้านเมือง  จึงทำสถานีข่าว  บางสถานีอาจจะเน้น  “ตาของเด็ก”  จึงทำช่องการ์ตูน  สถานีเหล่านี้ก็มักจะได้ผู้ชมจำนวนไม่มากซึ่งทำให้รายได้ที่ได้รับไม่สูง นัก   อย่างไรก็ตาม  ต้นทุนของการผลิตและออกอากาศก็อาจจะไม่สูงนักโดยเฉพาะบริษัทที่มี  Content หรือเนื้อหาที่บริษัททำขึ้นเพื่อขายในช่องทางอื่นอยู่แล้ว  ประเด็นที่เราอาจจะยังไม่รู้จนกว่าจะได้ทำจริง ๆ  ก็คือ  รายได้นั้นสูงกว่ารายจ่ายหรือไม่  ถ้าสูงกว่าก็มีกำไร  แต่ถ้าต่ำกว่าก็ขาดทุน  แต่ไม่ว่าในกรณีใด  ความแน่นอนของผลประกอบก็อาจจะไม่สูงนัก  เหตุผล ก็คือ  ธุรกิจนี้จะมีการแข่งขันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก 

การเกิดขึ้นของช่องทีวีจำนวนมากนั้น  ทำให้บริษัทที่ให้บริการด้านโทรคมนาคมมีลูกค้าและมีรายได้มากขึ้นชัดเจน  ผู้ให้บริการในด้านนี้มักจะต้องเป็นรายใหญ่พอสมควรและต้องลงทุนค่อนข้างมาก  ดังนั้น  คู่แข่งที่จะเข้ามาใหม่จะค่อนข้างยากและต้องใช้เวลา  ตัวอย่างก็คือ  ผู้ให้บริการดาวเทียมสื่อสารและอินเทอร์เน็ต  เป็นต้น  ดังนั้น  ผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้น่าจะดีขึ้น  อย่างน้อยในช่วงแรกๆ  ที่ผู้ให้บริการรายใหม่ยังไม่สามารถเข้ามาให้บริการได้ทัน

ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งกำลังจะมีการเปิดประมูลและให้บริการระบบ 3 G เป็นคู่แข่งรายใหม่ที่น่ากลัวมากใน  “ศึกชิงตา”  เหตุผล ก็คือ  ในปัจจุบันนี้คนจำนวนมากใช้สายตาอยู่กับแทบเล็ตและสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานมาก ในแต่ละวัน  เวลาที่ใช้กับการสื่อสารเพื่อการสังคมหรือ Social Media นั้น  น่าจะเข้ามาแย่งชิง  “ตา”  จากบริษัทที่ให้บริการทีวีไปไม่น้อย  และนี่จะลดรายได้ของทีวีแต่ไปเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทให้บริการโทรศัพท์มือ ถือ

ผมคิดว่ายังมีสิ่งอื่น ๆ  อีกมากที่พยายาม “แย่งชิงตา”  ที่มีอยู่จำกัดและไม่ได้เติบโตมากนัก  สิ่งต่างๆ  เหล่านั้นบางอย่างเราก็ยังไม่รู้   บางอย่างก็อาจจะยังไม่เกิด   แต่ผมมั่นใจว่ามันมีความหลากหลายมาก  ผลก็คือ  รายการหรือ Content ที่มีผู้ชมมากจริงๆ  หรือมีเรทติ้งสูงมากๆ  จะมีน้อยลงเรื่อยๆ  ลักษณะอย่างนี้จะทำให้การทำกำไรสูงมากๆ  ของช่องทีวีจะเป็นไปได้ยากขึ้นและธุรกิจทีวีในอนาคตอาจจะไม่เหมือนเดิมอีก ต่อไป

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 1 พฤษภาคม 2555

No comments:

Post a Comment