Friday, June 29, 2012

กฎของชีวิต-กฎของการลงทุน

ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง “กฎของชีวิต” (The Rules of Life) เขียนโดย Richard Templar แล้วก็นึกไปถึงเรื่องของการลงทุน
เพราะกฎหลาย ๆ  ข้อนั้น   ผมคิดว่ามันนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนได้เป็นอย่างดี  ลองมาดูกันทีละข้อ

ข้อแรกที่ผมคิดว่านักลงทุนควรนำมาใช้ก็คือ  “รู้ว่าอะไรสำคัญและอะไรไม่สำคัญ”   ผมคงไม่พูดในเรื่องอื่น ๆ  ของชีวิต  แต่ในเรื่องของการลงทุนแล้ว  นี่คือสิ่งที่จะทำให้เราชนะหรือแพ้ได้  ยกตัวอย่างเช่น  เราคิดว่าการอยู่รอดของเศรษฐกิจกรีซนั้นสำคัญต่อการทำกำไรหรือผลประกอบการ ระยะยาวของบริษัทหรือหุ้นที่เราลงทุนอยู่ไหม?  ถ้าเราคิดว่าไม่  ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปกังวลว่ากรีซจะแก้ปัญหาของตนเองได้หรือไม่  ในความเป็นจริง  สิ่งที่สำคัญในเรื่องของการลงทุน  ก็เช่นเดียวกับในเรื่องของชีวิต  คือมันมีอยู่ไม่มาก  และเราก็ควรจะต้องรู้  อย่าสนใจหรือทุ่มเทกับสิ่งที่ไม่สำคัญมากนัก

ข้อสอง   “ถ้าคุณจะกระโดดลงคลอง  ก็ขอให้แน่ใจว่าคุณรู้ว่าน้ำนั้นลึกเท่าไร”  นี่ก็เป็นเรื่องของการรู้ว่าความเสี่ยงของชีวิตและในกรณีของเราก็คือ  การลงทุน  เป็นอย่างไร  ตัวอย่างเช่น  ถ้าเราซื้อหุ้นตัวเดียวด้วยเงินทั้งหมดและใช้มาร์จินด้วยโดยที่เราคิดว่า หุ้นตัวนั้นดีเยี่ยมและถูกมากและมันจะทำให้เรารวยไปเลย  เราก็อาจจะพลาดและเกิดหายนะได้  ดังนั้น  ในการลงทุนทุกครั้งและตลอดเวลา  เราจะต้องรู้ว่า  “น้ำนั้น  ลึกแค่ไหน”  ประเด็นก็คือ  เราจะเสี่ยงอะไรก็ตาม  ตรวจสอบและวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนที่สุด  ดูว่าถ้าพลาดร้ายแรง  เราจะยังอยู่รอดได้และไม่เสียหายมากเกินไป

ข้อสาม  ซึ่งผมจะรวมกฎสามข้อเข้าด้วยกันก็คือ  “มีระบบความเชื่อของตนเอง”    “มีความมั่นคงและยึดมั่นในสิ่งที่ทำ”  และ  “มีศรัทธาต่อสิ่งนั้น”  นี่คือกฎที่จะทำให้เราไม่วอกแวก   และความคิดและการกระทำของเราจะเป็นระบบที่ถูกต้องและสอดคล้องกันในระยะยาว  แต่สิ่งที่ผมอยากจะกล่าวเพิ่มเติมก็คือ  ระบบความเชื่อของเรานั้นจะต้องเป็นระบบที่ถูกต้องที่มีการพิสูจน์มาช้านาน  ตัวอย่างเช่น  ถ้าเรามีความเชื่อว่าการลงทุนในหุ้นนั้น  ก็คือการเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งของธุรกิจ  วิธีที่จะชนะในระยะยาวก็คือ  การถือหุ้นหรือบริษัทที่ดีเยี่ยมในราคาที่ยุติธรรมให้ยาวที่สุด  เราก็จะต้องเชื่อและทำแบบนั้น  อย่ากลับไปกลับมาโดยการขายไปอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดสถานการณ์บางอย่างที่เรา อาจจะกลัวเกินเหตุหรือคิดว่าราคาหุ้นอาจจะสูงเกินไปแล้วชั่วคราว

บางคนอาจจะสงสัยว่า  “ระบบที่ถูกต้อง”  ที่ผมพูดถึงในข้อสามนั้น  มีเพียงระบบเดียวหรือ?  และใครจะเป็นคนบอกว่าระบบความคิดไหนเป็นระบบที่ดีและถูกต้องที่สุด  คำตอบของผมก็คือ  คงไม่มีใครบอกได้  มีระบบมากมายที่มีคนคิดและเสนอขึ้นมา  เราเองจะต้องเป็นคนเลือกที่จะเชื่อ  บางคนอาจจะบอกว่าวิธีการลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนสูงที่สุดก็คือการซื้อหุ้นใน ยามที่มันมีราคาถูกและขายเมื่อมันมีราคายุติธรรมหรือแพงแล้ว  การคิดถึงหุ้นเราไม่ควรคิดว่าเราเป็นเจ้าของธุรกิจเพราะเราไม่ได้มีอำนาจ อะไรเลยในการควบคุมกิจการ  นี่ก็เป็นระบบความเชื่ออีกแบบหนึ่งซึ่งผมก็บอกไม่ได้ว่าดีกว่าแบบแรกหรือ ไม่  บางทีมันอาจจะดีกว่าในบางตลาดหุ้นและแย่กว่าในบางแห่ง  ประเด็นของผมก็คือ  ถ้าคุณเชื่อแบบไหน  คุณก็ควรจะทำแบบสม่ำเสมอและสอดคล้องกันทุกอย่าง- ด้วยความศรัทธา   อย่างเริ่มต้นซื้อหุ้นด้วยความคิดหนึ่งแต่ขายหุ้นด้วยความคิดอีกชุดหนึ่ง ซึ่งอยู่ตรงกันข้าม

ข้อสี่  “อยู่ข้างเทพ  อย่าอยู่ข้างมาร”  นี่ก็เป็นกฎที่น่าจะมีคำถามตามมาว่า  ข้างไหนคือเทพและข้างไหนคือมาร?  คำตอบก็คือ  เราก็ต้องเป็นคนที่คิดและเลือก  ว่าที่จริง  คงไม่มีใครเลือกที่จะเป็นมารหรืออยู่ข้างมาร  เขาคิดว่าฝั่งที่เขาเลือกคือเทพ  สำหรับผมแล้ว  ผมคิดว่านักลงทุนนั้นจะต้องเลือกข้าง  “ผู้ชนะ”  ซึ่งก็คือ  ข้างเทพ  เพราะผู้ชนะนั้นจะเป็นคน  “เขียนประวัติศาสตร์”  และแน่นอน  เขาจะต้องเขียนว่าเขาเป็นฝ่ายเทพ  ความหมายของผมก็คือ  ในการลงทุน  เราควรเลือกบริษัทที่อยู่ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงของการเติบโต  เป็นธุรกิจที่กำลังมี  “กระแส”  หรือมี  “ลมพัดมาทางข้างหลัง”  เป็นอุตสาหกรรม “เทพ”  นอกจากนั้น  เราควรเลือกบริษัทที่กำลังเป็น  “ผู้ชนะ”  เป็นบริษัท “เทพ”   วิธีที่เราจะเลือกได้ถูกต้องนั้น  นอกจากการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง  ซึ่งบ่อยครั้งจะต้องมองไปถึง  “กระแสระดับโลก”  ที่อาจจะมาก่อนแล้ว    เรายังต้องพยายามตัดอคติและความรู้สึกส่วนตัวที่มีออกให้มากที่สุด  เพราะนั่นมักทำให้เรามีความลำเอียงจนทำให้วิเคราะห์ผิดไปได้

ข้อห้า  “คุณจะไม่มีวันเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างได้”  ว่าที่จริงผมคิดว่าคนเราอาจจะเข้าใจอย่างลึกซึ้งเฉพาะในบางเรื่องเท่านั้น  เรื่องส่วนใหญ่นั้นเราไม่ค่อยจะเข้าใจหรอกแต่เราอาจจะคิดว่าเราเข้าใจ  กฎข้อนี้เพื่อที่จะเตือนใจเราให้รู้ว่ายังมีเรื่องที่เราไม่เข้าใจอีกมาก  และถ้าเราไม่เข้าใจแต่เราตัดสินใจลงทุน  เราก็อาจจะพบกับความผิดหวังได้ง่าย ๆ  วิธีการของผมก็คือ  ถ้าเรายังไม่ค่อยจะเข้าใจหุ้นตัวไหน  ก็อย่าไปลงทุนหรืออย่าลงทุนมาก  ถ้าเราลงทุนก็จะต้องรู้ว่ามันคือการ  “เก็งกำไร”  และโอกาสเสียก็มีไม่น้อย   โดยส่วนตัวผมแล้ว  ผมจะพยายามทำความเข้าใจในเรื่องของโลกในวงกว้าง  ทั้งเรื่องการเมือง  เศรษฐกิจ  สังคม  วิทยาศาสตร์  ปรัชญา  และอื่น ๆ  อีกร้อยแปด  ผมพยายามที่จะเข้าใจ  “ภาพใหญ่”  ของสิ่งเหล่านี้  ในขณะที่ถ้าเป็นเรื่องที่ผมสนใจเป็นพิเศษ  เช่น  การลงทุน  ผมก็จะพยายามศึกษาให้มากเพื่อที่จะได้  “รู้จริง”  โชคดีที่ว่า  ในการลงทุนนั้น   การมีความรู้ในเรื่องของโลกอย่างกว้าง  สามารถที่จะช่วยทำให้การลงทุนดีขึ้นมาก

ข้อหก  “รักษาคุณธรรมและจริยธรรมให้สูงเข้าไว้”  นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับชีวิตเช่นเดียวกับการลงทุน   เป็นเรื่องธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตซึ่งรวมถึงคนจะต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด  บางครั้งก็เกิดการ  “แย่งชิง”  ทรัพยากรกัน   การที่เราจะมีชีวิตที่ดีได้  เราต้องยึดถือคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีตลอดเวลาเพราะนี่คือ  “กติกา”  ที่คนส่วนใหญ่ยอมรับและยกย่อง  ถ้าเราทำผิดเราจะไม่ได้รับความเชื่อถือไปนานหรือตลอดไป   และนั่นจะทำให้ชีวิตในอนาคตของเราตกต่ำลงและยากที่จะแก้ไขได้  ในเรื่องของการลงทุนนั้น  ก็เช่นเดียวกัน  อย่าใช้วิธีการที่ไม่มีคุณธรรมในการลงทุนหรือเล่นหุ้นแม้ว่ามันจะทำให้เรา ได้กำไรเร็วและมาก  อะไรคือคุณธรรมในการลงทุนนี่ก็เป็นประเด็นอยู่เหมือนกัน  แน่นอน  การทำผิดกฎหมายไม่ว่าจะถูกจับได้หรือไม่ก็ต้องถือว่าไม่มีคุณธรรมแน่นอน  แต่การกระทำอย่างอื่นที่ทำให้นักลงทุนคนอื่นเสียหายโดยที่เราได้ประโยชน์   ตัวอย่างเช่น  เราแนะนำให้เขาซื้อหุ้นตัวหนึ่งแต่ในเวลาเดียวกันเราขาย  แล้วหลังจากนั้นราคาหุ้นก็ตกต่ำลงมามากเนื่องจากข้อมูลที่เรารู้อยู่ก่อน แล้ว   แบบนี้ก็อาจจะถือว่าเราไม่ได้มีคุณธรรมที่สูงพอ  แม้จะยอมรับกันว่า  ในเรื่องของการลงทุน  ทุกคนต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง

สุดท้าย   สำหรับคนที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนจนทำให้มีเงินมากพอที่จะใช้ชีวิตแบบ เศรษฐี  หรือแม้แต่คนที่มุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่งคั่งอย่างรวดเร็วจากการลงทุนก็ คือ  “รู้ว่าความสุขที่แท้จริงมาจากไหน”  เรื่องนี้ผมขอตอบเองว่า   เงินนั้นก่อให้เกิดความสุขได้ถึงระดับหนึ่งเท่านั้น  เงินที่มากขึ้นจากนั้นจะสร้างความสุขเพิ่มขึ้นได้น้อยลงและน้อยลงเรื่อย ๆ   ดังนั้น  การมุ่งที่จะหาความสุขจากเงินมากเกินไปรังแต่จะก่อให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา แทน  เพราะความสุขที่แท้จริงนั้น  ผมว่าอยู่ในใจเสียมากกว่า

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 5 มิถุนายน 2555

No comments:

Post a Comment