Wednesday, February 20, 2013

ถนนทุกสาย..มุ่งสู่ตลาดหุ้น


ตั้งแต่ต้นปี 2556 ถึงวันนี้เป็นเวลาแค่เดือนครึ่ง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับขึ้นแล้วเกือบ 10%
และนี่เกิดขึ้นหลังจาก ที่ตลาดปีที่แล้วปรับขึ้นถึง 36% มูลค่าตลาดของหุ้นไทยในขณะนี้ประมาณ 13 ล้านล้านบาท สูงกว่ามูลค่าผลผลิตรวมต่อปีหรือGDP ประเทศไปแล้ว ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นนั้น “มหาศาล” อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ถ้านับจากสิ้นปี 2551 หรือเพียงประมาณ 4 ปีเศษ ๆ ที่ดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ประมาณ 450 จุด มูลค่าตลาดของหุ้นเพิ่มขึ้นแล้วน่าจะประมาณ 9 ล้านล้านบาท และถ้าคิดว่าคนไทยเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นประมาณ 70% ในบริษัทจดทะเบียน ความมั่งคั่งของคนไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 6.3 ล้านล้านบาท และถ้าคิดต่อไปอีกว่าในส่วนของคนไทย ผู้ถือหุ้นไม่ใช่รัฐหรือนักลงทุนเป็น “ชาวบ้าน” ทั่ว ๆ ไปถือหุ้นประมาณ 70% จะพบว่าคนไทยที่ถือหุ้นหรือเล่นหุ้นอยู่ช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ มั่งคั่งเพิ่มขึ้นประมาณ 4.4 ล้านล้านบาท
ในเม็ดเงิน 4.4 ล้านล้านบาทที่เพิ่มขึ้นมาใน “กระเป๋า” ของคนไทยที่มีหุ้นหรือถือหุ้นช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น ผมไม่รู้ว่ามีคนไทยกี่คนที่ได้รับประโยชน์ส่วนนี้ แต่ก็คงเป็นแค่หลักไม่เกิน 2-3 ล้านคน เฉลี่ยแล้วได้รับกันไปคนละประมาณ 2 ล้านบาท ถ้าจะพูดอย่างหยาบ ๆ แต่คนจำนวนมากที่ถือหุ้นผ่านกองทุนรวมหุ้น โดยเฉพาะของกองทุนบำเหน็จบำนาญของราชการหรือ กบข. น่าจะได้เงินไปน้อยกว่านี้มาก

คนกลุ่มต่อมาที่จะได้ประโยชน์จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นพอสมควรก็คือ คนที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF และกองทุนเพื่อการเกษียณหรือ RMF ที่ลงทุนในหุ้นมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว กลุ่มต่อมาที่น่าจะได้รับเม็ดเงินไปค่อนข้างมากก็คือ คน “เล่นหุ้น” ที่อยู่ในตลาดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผลตอบแทนน่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 200% เช่นลงทุนไป 1 ล้านบาทก็น่าจะได้เงินเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ล้านบาทกลายเป็น 3 ล้านบาท ในช่วง 4 ปีเศษที่ผ่านมา

กลุ่มคนที่ได้เงินไปเต็ม ๆ คือน่าจะ“ร่ำรวย”จากตลาดหุ้นปรับขึ้นรอบนี้คือ นักลงทุนที่ “มุ่งมั่น” ซึ่งบางคนเป็น “นักลงทุนอาชีพ” นั่นคือไม่ได้ทำงานประจำอื่น แต่ลงทุนเป็นหลักช่วง 4 ปีที่ผ่านมา คนเหล่านี้มักจะลงทุนเงินเกือบทั้งหมดที่มี และหลายคนกู้เงินและหรือใช้มาร์จินในการลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัวหรือ มากกว่านั้น เข้ามาซื้อหุ้นขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

คนที่ได้เงินมากจริง ๆ ในหมู่คนกลุ่มนี้ก็คือคนที่เรียกตัวเองว่า “Value Investor” คือพวกเขาซื้อขายหุ้นโดยเน้นการเลือกหุ้น โดยอิงกับพื้นฐานของกิจการเป็นหลัก แม้ว่าจังหวะซื้อขายอาจจะแตกต่างกัน พวกเขาอาจจะมีจำนวนน้อยกว่าคน “เล่นหุ้น” ที่ซื้อขายรายวัน แต่เม็ดเงินของพวกเขานั้นมากกว่ามาก อาจจะเรียกได้ว่ารายใหญ่หรือ “ขาใหญ่” ในตลาดหุ้นช่วงเวลานี้คือ VI ผลตอบแทนของพวกเขาช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้สูงมาก การได้ผลตอบแทนเป็น 10 เท่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับ VI ที่มุ่งมั่น และผมเชื่อว่ามีบางคนโดยเฉพาะที่เริ่มต้นด้วยเงินจำนวนน้อย สามารถได้เป็นร้อยเท่า คือลงทุน 1 ล้านบาทภายใน 4 ปี กลายเป็น 100 ล้านบาท

ความร่ำรวยของ VI ผู้มุ่งมั่น ซึ่งนาทีนี้อาจมีเป็นพันๆ คนเข้าไปแล้ว และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าเริ่มจะมีผลกระทบกับการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่มีราคาแพง เช่น บ้านและรถยนต์ VI กลายเป็นกลุ่มที่เข้าไปซื้อคอนโดหรูบางโครงการอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกัน รถยนต์หรูราคาแพงมาก ผมคิดว่ามาจากเงินในตลาดหุ้นของนักลงทุนผู้มุ่งมั่นเหล่านี้ไม่น้อย โดยกรณีคอนโด คิดว่า VI ที่ซื้อหลายคนมองเป็นเรื่องการลงทุนด้วย ส่วนกรณีรถหรู ดูเหมือนจะเป็น “รางวัลชีวิต” สำหรับ VI ที่ประสบความสำเร็จสูง เหนือสิ่งอื่นใดคือ VI หลายคนได้เงินมามากเสียจนราคาของรถ เป็นรายจ่ายเพียง “เล็กน้อย” ที่เขาอยากจะหาความสุขบ้าง

กลุ่มคนที่รวยจากตลาดหุ้นมากที่สุดคือ เจ้าของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ราคาหุ้นได้ปรับขึ้นมาก ไม่ใช่เฉพาะกิจการที่มีผลประกอบการดีเท่านั้นที่มีราคาหุ้นขึ้นไป หุ้นเกือบทุกตัวปรับขึ้นสูงมาก บางบริษัทมี Market Cap. หรือมูลค่าตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นไปเป็น 10 เท่าตัวช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บางบริษัทหุ้นขึ้นไปร้อยเท่าน่าจะมี เจ้าของบริษัทหลายแห่งน่าจะมีเงินเพิ่มขึ้นช่วง 4 ปีนี้เป็นพันๆ ล้านบาท หลายบริษัทเป็นหมื่นล้านบาท และบางบริษัทเป็นแสนล้านบาท แม้แต่บริษัทที่ไม่ได้มีกำไรเพิ่มขึ้นเลย บางทีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปเท่าตัวมีเงินเพิ่มขึ้นอีกหลายพันล้านบาท

ที่โดดเด่นยิ่งกว่านั้นคือบริษัทเพิ่งเข้ามาจดทะเบียนในตลาดเป็นครั้งแรก หรือหุ้น IPO ซึ่งทำให้เจ้าของได้เงินเพิ่มขึ้นมาก บางคน “มโหฬาร” จากบริษัทเดิมที่ทำกำไร “กระท่อนกระแท่น” และถ้าคิดจากเงินลงทุนที่ลงไปอาจหลักหลายสิบหรือร้อยล้านบาท เมื่อเข้าตลาดหุ้น มูลค่ากลายเป็นพันล้านบาท บางบริษัทเป็นหมื่นล้านบาทในชั่วเวลาข้ามคืน จากเจ้าของธุรกิจที่ “พออยู่ได้” เช่นเดียวกับเพื่อนนักธุรกิจระดับเล็กด้วยกัน พวกเขากลายเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีเมื่อหุ้นเข้าตลาดและราคาวิ่งขึ้นสิบเท่าหรือ ร้อยเท่าจากเม็ดเงินที่เขาลงไป

นักลงทุนกลุ่มสุดท้ายที่จะพูดถึงคือ นักลงทุนต่างชาติ พวกเขามีจำนวนไม่มาก แต่ได้เม็ดเงินมหาศาล ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเขาได้เงินไป 2.7 ล้านล้านบาท แน่นอน กองทุนที่เป็นสถาบันขนาดใหญ่คือคนที่ได้เงินส่วนใหญ่ไป แต่ถ้าคิดเป็นผลตอบแทนแล้ว กองทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงมากคือพวกเฮดจ์ฟันด์หรือ Private Fund ที่รับเงินจากคนที่มีเงินมาก ๆ เข้ามาลงทุนในไทยและในเอเชียที่เป็นตลาดเกิดใหม่ ซึ่งผลตอบแทนที่ได้ช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา กำไรต่อปีที่พวกเขาได้รับจากตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะต่ำกว่า 30% ช่วง 4 ปี นั้นเงิน 1 ดอลลาร์น่าจะได้ผลกำไรกว่า 2 เหรียญหรือ 200% ซึ่งเป็นอัตราที่นักลงทุนต่างชาติแทบจะหาที่ไหนในโลกไม่ได้

และทั้งหมดนั้นทำให้ผู้คนจำนวนมากในไทยที่มีเงินสดเหลืออยู่ในธนาคาร จำนวนมาก รวมถึงคนที่ยังไม่ค่อยมีเงินแต่หวังจะ “รวย” หรือสะสมเงิน “เพื่ออนาคต” ต่าง “มุ่งหน้าสู่ตลาดหุ้น” พวกเขาส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เพียงพอที่จะลงทุนหรือเลือกหุ้นที่ถูกต้อง พวกเขารู้เพียงแต่ว่าตลาดหุ้นนั้นกำลังปรับขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าบางวันจะตกลงบ้าง แต่ชั่วไม่กี่วันก็ดีดกลับมาและสูงกว่าเดิม

การซื้อขายหุ้นดูไม่ยากอะไรนัก บางคนอาจคิดว่าใช้วิธีถามจากเพื่อนที่ “มีความสามารถ” หรือเล่นอยู่และได้กำไรมามาก ผลกำไรนั้นอยู่ที่ “ปลายนิ้ว” พวกเขาไม่คิดถึงเรื่องขาดทุนเท่าไร เพราะอาจจะยังไม่เห็นใครเล่นแล้วขาดทุนเลยในช่วงหลายๆปี มีแต่รวยขึ้นเรื่อย ๆ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เขาก็ไม่ได้ลงทุนมากมายอะไรเทียบกับความมั่งคั่งที่มีอยู่ การที่จะแบ่งเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยน้อยนิดมาลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูง นั้นดูเหมือนว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ไม่มีทางผิดพลาด เขาลองมาแล้วเพียงแค่ 2 เดือน ตอนนี้ได้ไปแล้ว 10 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับการฝากเงิน 5 ปี ดังนั้น ขณะนี้เขาอยากลงทุนเพิ่ม เขาได้รับคำบอกเล่าจากผู้เชี่ยวชาญในตลาดผ่านสื่อมากมาย ทุกคนบอกว่าตลาดหุ้นยังไม่แพงและดัชนีจะไปถึง 1700 จุดในสิ้นปีนี้ เขาไม่เข้าใจหรอกว่ามันคือขึ้นไปแค่ไหน เขาคิดเพียงแต่ว่า ตลาดหุ้นคือที่ที่จะทำเงินได้เร็วมาก ดังนั้น เขาจึงเข้ามา ถนนทุกสาย..กำลังมุ่งสู่ตลาดหุ้น

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2556 

The New Middle Class


เมื่อเร็ว ๆ นี้ดูเหมือนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ “ยิ่งใหญ่” เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาพร้อม ๆ กันทั่วโลก นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ คนมีรายได้ “น้อย” คิดหรือทำตัวคล้าย ๆ กับ “ชนชั้นกลาง” โดยเฉพาะในการประท้วง เรียกร้องสิทธิทางการเมือง และต่อสู้เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในอดีตหรือโดยปกติ จะเป็นเรื่องของคนชั้นกลางที่มีรายได้ประมาณ 10,000 ดอลลาร์ หรือ 300,000 บาทต่อปีขึ้นไป ที่มีความมั่นคงในชีวิต และไม่ต้องคำนึงถึงปากท้องประจำวันที่จะคิดและทำ
ส่วนคนมีรายได้น้อยกว่านั้น ในอดีตพวกเขามักขาดการศึกษา การเรียนรู้ และข้อมูล ที่มีราคาแพงและพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยต้นทุนต่ำพอ แต่ปัจจุบัน การพัฒนาและการกระจายตัวของอินเทอร์เน็ตมีราคาถูก รวมถึงทีวีผ่านดาวเทียม โทรศัพท์มือถือ และข้อมูลมีอยู่ในเว็บไซต์ต่างๆ ที่คนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ได้ฟรี สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้คนมีรายได้ “น้อย” สามารถเรียนรู้ ใช้ชีวิตหรือคิดและทำแบบชนชั้นกลางทำ และนี่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการ “ปฏิวัติประชาธิปไตย” ที่เกิดขึ้นในประเทศย่านแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ที่เรียกกันว่า “อาหรับสปริง” การประท้วงต่อต้านคอร์รัปชัน และการเรียกร้องสิทธิทางสังคมต่าง ๆ ในอินเดียและจีน และแน่นอน การประท้วงเรียกร้องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในไทยช่วงที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้ โดยเฉพาะของ “คนเสื้อแดง”

คำที่ใช้เรียกคนมีรายได้ “น้อย” ที่ทำตัวคล้ายคนชั้นกลางนั้น ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Virtual middle class” หรือ “ชนชั้นกลางเสมือนจริง” ในเมืองไทยนั้น นักวิชาการบางคนเรียกว่า “คนชั้นกลางระดับล่าง” ชนชั้นกลางเสมือนจริงในประเทศอย่างอินเดียหรือจีนนั้น มองกันว่ามีหลายร้อยล้านคนหรือพอๆ กับคนชั้นกลางในสองประเทศนั้น

ในไทยเองคนชั้นกลางระดับล่างนั้นน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคนหรือน่าจะเท่าๆ หรือมากกว่าคนชั้นกลางจริงๆ ด้วยซ้ำ ดังนั้นอิทธิพลหรือผลกระทบที่จะเกิดจากความคิดและการกระทำของพวกเขาจึงมี มหาศาล แทบจะ “เปลี่ยนโลก” หรือ “ปฏิวัติ” แนวทางการดำเนินชีวิต สังคมและการเมืองของประเทศ
ส่วนประเด็นทางเศรษฐกิจที่เราสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากมันมีผลต่อการลงทุนของเรานั้น เรื่องแรกคือคนชั้นกลางระดับล่างหรือผมอยากจะเรียกว่า “คนชั้นกลางรุ่นใหม่” ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนที่ทำงาน “นอกระบบ” นั่นคือ พวกเขาไม่ได้ทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีระบบของการบริหารงานบุคคลเป็นมาตรฐาน มีสวัสดิการที่ดี ตรงกันข้าม คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้น มักเป็นพ่อค้าแม่ขายตามตลาด เป็นคนขับรถรับจ้าง เป็นพนักงานบริการ เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอี ที่ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย หรือเป็นเกษตรกร “มืออาชีพ” พูดถึงรายได้ พวกเขามักจะมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000-20,000 บาท หรือปีละไม่เกิน 180,000-240,000 บาท อย่างไรก็ตามรายได้ของพวกเขามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นรวดเร็ว อานิสงส์จากแรงงานขาดแคลนอย่างหนัก และการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล

คนชั้นกลางรุ่นใหม่ของไทยนั้น กำลังบริโภคหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างที่คนชั้นกลางทำ ปรากฏการณ์ของ “รถยนต์คันแรก” ที่มียอดขายมหาศาลนั้น เกิดขึ้นเพราะมันมีราคาเพียงไม่กี่แสน และสามารถผ่อนได้ด้วยเงินไม่กี่พันต่อเดือน ซึ่งทำให้คนชั้นกลางรุ่นใหม่สามารถซื้อได้ เช่นเดียวกัน คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้นนิยมซื้อคอนโดมีราคาที่พวกเขาสามารถผ่อนได้ จากเดิมที่บ้านเป็นความฝันเฉพาะของคนชั้นกลาง นี่ไม่ต้องพูดถึงการผ่อนมอเตอร์ไซค์หรือเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มี ราคาไม่สูง แต่เป็นเครื่องอำนวยความสะดวก หรือเป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิงสำหรับชีวิตแบบคนชั้นกลางทั่วไป

การซื้อสินค้าของคนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้น กำลังเหมือนกับคนชั้นกลางนั่นคือ พวกเขาเข้าห้างค้าปลีกสมัยใหม่ พวกเขาอยากได้สินค้าและบริการที่ดี “ในราคาที่ย่อมเยา” ค่าที่ว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากและโตขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องคุ้มค่าสำหรับธุรกิจที่จะขายให้กับพวกเขา เช่นเดียวกัน คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้น กินอาหารในภัตตาคารมากขึ้นมาก อาหารที่ขายในภัตตาคารตามห้างนั้น เนื่องจากปริมาณการขายสูงทำให้มีการ “ประหยัดจากขนาด” ส่งผลให้ราคาต่อมื้อไม่แพงและคนชั้นกลางรุ่นใหม่สามารถกินได้ อาจจะเดือนละหลายครั้ง หรืออย่างน้อยในวันเงินเดือนออก

คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้นมักเป็น “เสรีชน” แบบเดียวกับคนชั้นกลาง พวกเขาไม่ต้องการ “พึ่งพิง” ใครอย่างที่ “คนจน” ในอดีตของไทยต้องทำกับคนที่ร่ำรวยหรือมีสถานะในสังคมที่สูงกว่า เดี๋ยวนี้เราต้อง “ง้อ” ลูกจ้างที่มาทำงานกับเราในที่ทำงานหรือที่บ้าน ความ “เสมอภาค” ของคนในสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนได้จากละครทีวีหลังข่าวที่หนังแนว “แรงเงา” ที่ตัวเอกฝ่ายหญิงนั้นใช้วิธีต่อสู้แบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” กับคนที่ “สูงกว่าทางสังคม” ได้รับความนิยมล้นหลาม

ในขณะที่หนังแบบ “บ้านทรายทอง” ที่นางเอกยอมเป็น “เบี้ยล่าง” คนที่ “สูงกว่าทางสังคม” เพื่อที่จะใช้ “ความดี” เอาชนะใจพวกเขานั้น ผมเชื่อว่าจะลดความนิยมลงไปเรื่อย ๆ และแม้ว่าจะยังมีคนชื่นชอบอยู่ บทละครก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับค่านิยมของ “คนรุ่นใหม่” ที่ดูแล้วอาจจะรู้สึกว่าความคิดและการกระทำของนางเอก “ไม่มีเหตุผล”

ลัทธิ “บริโภคนิยม” ที่เป็นเรื่องของคนชั้นกลางในอดีตนั้น แน่นอน ขณะนี้เป็นเรื่องที่คนชั้นกลางรุ่นใหม่รับเข้าไปอย่างเต็มที่ ราคาของสินค้าที่เคยแพงและคนชั้นกลางรุ่นใหม่ไม่สามารถซื้อหาหรือใช้ได้นั้น ปัจจุบันพวกเขาสามารถใช้มัน ผ่านระบบการ “ผ่อนส่ง” ที่มีประสิทธิภาพสูง ดังนั้น พวกเขามีหนี้สินพอกพูนซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะ “ไม่แคร์” พวกเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ การอดออมเพื่อเก็บเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเจ็บ ไข้ได้ป่วยนั้น มีความจำเป็นน้อยลงไปมากหลังจากที่รัฐได้เข้ามาดูแลผ่านโครงการสวัสดิการ สังคมที่เรียกว่า “ประชานิยม” หลายอย่างโดยเฉพาะรายการ “30 บาทรักษาทุกโรค”

ในฐานะของ VI นั้น ความเข้าใจในพฤติกรรมของคนชั้นกลางรุ่นใหม่ผมคิดว่ามีความสำคัญยิ่ง เหตุผลก็คือ พวกเขาเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่ใหญ่มาก บริษัทที่สามารถหรือมีโมเดลธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของพวกเขาจะ สามารถสร้างรายได้และเติบโตไปได้มาก หัวใจก็คือการออกแบบสินค้าและบริการที่มีราคาถูกและ “คุ้มค่า” นอกจากนั้น มันต้องมีคุณภาพที่ดีและให้ความรู้สึกที่ทำให้ผู้ใช้มี “ศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจ” เมื่อได้ใช้หรือบริโภคมัน นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์จะต้องสอดคล้องกับ “ไลฟ์สไตล์” หรือแนวทางการใช้ชีวิตของพวกเขา นั่นก็คือ ต้องมีความสะดวกสบายและบริการที่ดี ทั้งหมดนี้จะทำได้ก็จะต้องมีปริมาณธุรกิจที่ใหญ่หรือมากพอที่จะทำให้เกิด Economies of Scale หรือใหญ่พอที่จะทำให้ต้นทุนลดลงมากจนคนชั้นกลางรุ่นใหม่สามารถบริโภคได้ “เป็นประจำ” และถ้าเราสามารถค้นพบบริษัทแบบนี้ การลงทุนก็น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2556 

Stocks Mania

สถานการณ์หรือภาวะ ตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ทำให้นึกถึงเรื่อง “เก็งกำไรกันอย่างบ้าคลั่ง” ในตลาดของทรัพย์สินต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราวในที่ต่าง ๆ ทั่วโลกและในไทยช่วงที่ผ่านมาหลายสิบปี เท่าที่ผมยังจำความได้ และแน่นอนต้องนึกถึงประวัติของการเก็งกำไรระดับโลกที่ได้จารึกไว้และเล่าขาน ต่อเนื่องกันมานานคือเรื่องการเก็งกำไรอย่าง “บ้าคลั่ง” ในหัวดอกทิวลิปที่เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ช่วงปี ค.ศ. 1634-1637 ซึ่งเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Tulip Mania”


เล่ากันว่าช่วงนั้นผู้คน “ขายบ้านขายช่อง” เพื่อจะนำเงินมาซื้อหัวทิวลิปมีลวดลายสวยงาม ที่เกิดขึ้นจากการ“ติดเชื้อไวรัส” หรือจะเกิดจากอะไรก็ตามที่ทำให้มันแปลกตาและหายาก ทำให้คน “อยากเล่น” เพื่อที่จะ “ขายต่อ” ให้คนอื่นที่จะเข้ามา“บิดราคา”เพื่อจะซื้อและ “ขายต่อ” ให้กับคนอื่นไปเรื่อย ๆ ผ่าน “ตลาดล่วงหน้า” ที่เป็น “สัญญากระดาษ”

ว่ากันว่าช่วงที่ราคาหัวทิวลิปขึ้นสูงสุดนั้น ทิวลิปที่ “สวยจริง ๆ” จะมีราคาเท่ากับรายได้ของช่างชำนาญงานถึง 10 ปี คนที่เล่นเก็งกำไรหัวทิวลิปนั้นมีตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงคนร่ำรวย คนชั้นสูงและขุนนางที่ “ทนไม่ไหว”กับการเห็นคนอื่น “รวยเอาๆ อย่างง่ายๆ” โดยการเข้าไปซื้อหัวทิวลิปในตลาด
แน่นอนราคาของหัวทิวลิป ที่ขึ้นไปจน “เกินพื้นฐาน” มากๆ นั้น ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้และตกลงมา จนแทบจะไม่มีค่าหรือเท่ากับพื้นฐานของมัน ว่าที่จริงมูลค่าที่แท้จริงของทิวลิป ถ้าไม่คิดถึงสีสันลวดลายของมันที่เป็นเรื่องของจิตใจแล้ว มันก็คือดอกไม้ธรรมดาๆ ที่มีค่าน้อยมาก การที่คนให้คุณค่ามันมากมายนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือ คุณค่าของการ “เก็งกำไร” คือซื้อเพื่อหวังจะขายต่อในราคาสูงขึ้น แต่ตัวของมันสร้างรายได้หรือทำเงินน้อยมาก

หลังจากกรณี “ฟองสบู่ดอกทิวลิป” โลกและประเทศไทยเองก็มีประวัติศาสตร์ของการเก็งกำไรมาเรื่อย ๆ ราวกับว่าคนไม่ได้รับรู้เหตุการณ์ในครั้งนั้น หรือถ้าจะอธิบายอีกทางหนึ่งคือ คนไม่ได้สนใจว่า “จุดสุดท้าย” จะเป็นอย่างไร พวกเขาอาจจะเพียงแต่คิดว่าในระหว่างที่ราคากำลังขึ้นอย่าง “บ้าคลั่ง” นั้น โอกาสทำเงินนั้นสูงลิ่ว “ยิ่งรอก็ยิ่งเสียโอกาส” ดังนั้นเขาจึงเข้าไปเล่น เหนือสิ่งอื่นใด ฟองสบู่แต่ละครั้งมักจะอยู่นานเป็นปีๆ

ในไทยเองนั้น ยังจำได้ว่าช่วงที่ผมเริ่มทำงานใหม่ ๆ ซึ่งประมาณเกือบ 40 ปีมาแล้ว ผมจำไม่ได้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่อยู่ๆ คนไทยเริ่มสนใจและเริ่มซื้อขายหินสวยงามชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “โป่งข่าม” นี่คือหินมีสีและลวดลายแปลกๆ ในแต่ละเม็ดไม่ซ้ำกัน ขนาดของแต่ละเม็ดแตกต่างกันไปตามธรรมชาติของหิน เมื่อได้มาแล้วคนก็จะนำไปเจียระไน เพื่อนำไปทำหัวแหวนและเครื่องประดับอื่นๆ เพื่ออวดกันในหมู่เพื่อนฝูง

เมื่อความนิยมในสังคมมีมากขึ้น การซื้อขายเปลี่ยนมือก็ตามมา หนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ก็เริ่มตีพิมพ์เรื่องราวและความสวยงามของหินชนิดนี้ และแล้วเรื่องราว “ปาฏิหาริย์” ก็ตามมา บ้างว่าเมื่อสวมใส่โป่งขามแล้วทำให้โชคดี บ้างอ้างว่ามี “พลัง” ในตัวทำให้โรคภัยบางอย่างของผู้สวมใส่ เช่นอาการหืดหอบหาย ผู้หญิงบางคนบอกว่าใส่โป่งข่ามแล้วทำให้ใบหน้า “มีน้ำมีนวลขึ้น” ราคาของโป่งข่ามพุ่งขึ้นไปสูงมาก บางเม็ดอาจจะขึ้นไปเป็นหมื่นหรือเท่าไรจำไม่ได้เนื่องจากไม่ได้เข้าไป “เล่น” เลย แต่หลังจากนั้นความนิยมลดลงเรื่อยๆ จนแทบไม่มีราคา เดี๋ยวนี้ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักแล้วว่าโป่งข่ามนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร

เมื่อราวซัก 10 ปีที่ผ่านมา เราคงจำกันได้ว่าคนไทยเริ่ม “บ้า” จตุคาม ที่เป็นเหรียญเข้าใจว่ามีคนจัดทำขึ้นเพื่อเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” เริ่มต้นจากนครศรีธรรมราชถ้าผมจำไม่ผิด ต่อมาก็มีคนจัดทำมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าเป็นช่องทางที่วัดหรือหน่วยงาน จะหารายได้มาทำนุบำรุงองค์กรของตน เมื่อทำกันมากขึ้นเริ่มมีเรื่องราว “ปาฏิหาริย์”ตามมา

บางคนเริ่มสนใจความ “งดงาม” ของจตุคาม ที่ออกกันมามากขึ้นเรื่อย ๆ หลายคนแขวนจตุคาม “เต็มคอ” กลายเป็นแฟชั่นและเช่นเคยสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์เริ่มจับเรื่องนี้มาเล่น ราคาของจตุคามบางรุ่นถูก “ไล่ราคา” ขึ้นไป ผมไม่แน่ใจว่ารุ่นที่แพงมากๆ เป็นเท่าไร แต่ราคาระดับแสนบาทน่าจะมีอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามการเล่นจตุคามตกลงรวดเร็ว ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะ Supply หรือของใหม่นั้นออกมาได้เร็ว และมากอย่างไม่มีข้อจำกัด เดี๋ยวนี้คนเลิกหมดแล้ว และผมเชื่อว่าจตุคามที่เคยโด่งดังคงมีราคาน้อยมาก
ความ “บ้าคลั่ง” ของการเก็งกำไรมีผลกระทบ “ระดับชาติ” ของไทย คือการเล่น “แชร์แม่ชม้อย” ซึ่งเป็น “แชร์ลูกโซ่” กองแรกๆ ของไทยเมื่อประมาณซัก 35 ปีก่อน นั่นคือ “เจ้ามือ” เสนอการลงทุนในอะไรบางอย่างที่กำลัง “ร้อนแรง” เช่น น้ำมันในกรณีแม่ชม้อย คนที่เข้ามาเล่นจะต้องจ่ายเงินค่าแชร์ เช่น ซื้อน้ำมันหนึ่งคันรถ อาจจะเท่ากับ 10,000 บาท หลังจากนั้นแต่ละเดือน เขาจะได้เงินปันผลตอบแทนเช่น 1,000 บาททุกเดือน

แน่นอน เงินไม่ได้นำไปลงทุนซื้อน้ำมัน แต่นำไปจ่ายเป็นปันผลให้กับคนที่ลงทุนมาก่อน ตราบใดที่ยังมีคนใหม่มาลงทุนเพิ่ม คนเก่าที่ลงทุนไว้ก็จะได้ผลตอบแทนดีเยี่ยมเดือนละ 10% ไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้คนที่ยังไม่ได้ลงทุนเห็น และอยากเข้ามาลงทุน เพราะเป็นหนทางทำเงินได้ง่ายๆ บางคนอาจจะ “ขายบ้าน” มาลงทุน เพราะ “ถ้าอยู่ได้ถึงปี เงินได้คืนมาหมดแล้ว” ซึ่งเชื่อว่ามีหลายคนเข้ามาตั้งแต่แรกๆ และอยู่ได้เกินปีแต่น่าเสียดายที่เขาไม่ได้เงินคืนเลย เพราะเมื่อได้ปันผลมา เขาก็ “โลภ” แทนที่จะเก็บไว้ กลับนำไปลงทุนต่อ ซึ่งทำให้ต้องหมดตัวเมื่อแชร์ “ล้ม”

สุดท้ายเรื่องความ “บ้าคลั่ง” ของการเก็งกำไรที่แทบทุกประเทศต้องเคยประสบ ถ้าตลาดหุ้นไม่ได้เพิ่งเกิด คือการเก็งกำไรหุ้นรุนแรงจนกลายเป็น “ฟองสบู่” แน่นอนประวัติศาสตร์ได้จารึกเรื่อง “ฟองสบู่เซ้าท์ซี” และฟองสบู่ปี 1929 ในตลาดสหรัฐ ที่มีผลกระทบกว้างขวางทั่วโลกและกระทบไปถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เมื่อ “ฟองสบู่แตก” ราคาหุ้นตกลงมาเหลือราว 10% แต่ความบ้าคลั่งหรือฟองสบู่ขนาดย่อมนั้นเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่ละครั้งมักทิ้งเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 15-20 ปีขึ้นไป ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับภาพรวมของประเทศอาจมีน้อย

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่อยู่ในตลาดแล้ว บ่อยครั้งเป็น “หายนะ” เกือบทุกครั้งที่เกิดขึ้น แทบจะไม่มี “สัญญาณเตือน” หรือมีก็ “ไม่มีใครเชื่อ” เหตุเพราะ “ฟองสบู่” มักเกิดขึ้นจากสถานการณ์ดีเยี่ยม โดยทั่วไปมักเริ่มต้นจากเศรษฐกิจกำลังเติบโตดี เศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่พื้นฐานใหม่ เช่น “การเปิดเสรีทางการเงิน” “การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” “การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจใหม่” หรือไม่หลายเรื่องประกอบกัน ที่ทำให้คนเห็นว่า หุ้นมีแต่ขึ้นไปเรื่อยๆ และยังไม่เห็นว่าจะมีอะไร ทำให้ราคาที่สูงลิ่วนั้นคงอยู่ไม่ได้ ต่อเมื่อหุ้นตกลงแล้ว คนถึงได้รู้ว่าราคาที่เห็นเป็น “ฟองสบู่”

ก่อนจบบทความนี้ คงต้องออกตัวก่อนว่าไม่ได้หมายความว่าตลาดหุ้นไทยเวลานี้เป็นฟองสบู่แล้ว เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ เพียงแต่รู้สึกว่าช่วงเวลานี้ คนไทยไม่น้อยสนใจลงทุนในหุ้นกันมากอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ดังนั้นถ้าจะบอกว่าช่วงนี้เป็นช่วง “Stocks Mania” หรือคนกำลังคลั่งไคล้ในหุ้นคงไม่ผิดจากความจริงมากนัก

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2556

ชีวิตที่เรียบง่าย


วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกคนหนึ่งติดต่อกันมานาน เขายังเป็นผู้บริหารของ เบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์ บริษัทจดทะเบียนติดอันดับต้นๆของอเมริกาและของโลก ดูจากโปรไฟล์แบบนี้คนก็ต้องคิดว่าชีวิตของเขาในแต่ละวันคงจะยุ่งเหยิงมาก จนหาเวลาที่เป็นส่วนตัวได้ยาก แต่เปล่าเลย ในแต่ละวันเขาเดินทางไปทำงานอย่างสบายๆ ขับรถเองออกจากบ้านถึงที่ทำงานก็กินเวลาไม่กี่นาที เวลาทำงานของเขา ส่วนใหญ่คือการนั่งอ่านหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นเรื่องของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ เช่นหนังสือรายงานประจำปี หรือไม่ก็อาจจะเป็นข้อเสนอขายหุ้นหรือกิจการให้เบิร์กไชร์ เวลาอีกส่วนหนึ่งก็คือการพูดคุยทางโทรศัพท์ที่น่าจะรวมถึงการสั่งซื้อหรือ ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็ไม่ได้บ่อยหรือใช้เวลามากนัก


ที่น่าทึ่งคือ เขาไม่นั่งดูจอคอมพิวเตอร์เพื่อติดตามราคาหุ้นหรือทำงานกับคอมพิวเตอร์เลย ว่าที่จริงเขาไม่มีคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงาน พูดกันว่าเขาไม่ใช้โทรศัพท์มือถือด้วย แต่เรื่องนี้ผมไม่แน่ใจว่าจริงไหม ครั้งหนึ่ง ลูกชายของ นางแคทเธอรีน เกรแฮม เจ้าของบริษัทวอชิงตันโพสต์ที่บัฟเฟตต์ร่วมถือหุ้นและสนิทสนมด้วย ต้องการมาพบบัฟเฟตต์และขอนัดเวลา บัฟเฟตต์ตอบว่า “มาได้เลย ผมไม่มีตารางเวลานัด”

บัฟเฟตต์ไม่อยู่ในที่ทำงานจนดึกดื่น เขากลับบ้านตามเวลาปกติ ช่วงหัวค่ำเขาอาจจะนั่งดูทีวีพร้อมข้าวโพดคั่ว บางวันเล่นบริดจ์ผ่านอินเทอร์เน็ตกับคู่ขา ลูกของบัฟเฟตต์เคยเล่าว่า ในช่วงวัยเด็กไม่เคยเห็นพ่อทำงานบ้านอะไรเลย วันๆ เอาแต่อ่านหนังสือ เวลาที่บัฟเฟตต์กินอาหารนอกบ้าน เขามักจะไปกินร้านเดิมๆ และอาหารน่าจะ“เดิม ๆ” เขาบอกว่า “ไม่รู้จะเสี่ยงไปทำไม อาหารร้านนี้อร่อยอยู่แล้ว”
เวลาที่บัฟเฟตต์เดินทางโดยเครื่องบิน เขาไปเองโดยไม่มีคนติดตาม ครั้งหนึ่งมีเรื่องเล่าว่ามีคนไปเจอบัฟเฟตต์ในสนามบิน อาจจะในร้านแม็คโดนัลด์ เขาเข้าไปทักและพูดทำนองว่า “คุณคือ วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือเปล่า” ซึ่งบัฟเฟตต์ตอบว่า “ใช่” แต่เขากลับอุทานว่า “เป็นไปไม่ได้” เขาคงคิดว่าบัฟเฟตต์ที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้จะมาเดินลากกระเป๋าแบบนี้ได้อย่างไร

ข้อสรุปคือ ชีวิตของวอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นชีวิตเรียบง่ายที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสถานะของเขาในสังคม และนั่นนอกจากเป็นเพราะอาชีพนักลงทุน ไม่จำเป็นที่จะต้องมีความซับซ้อนที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ ชีวิตเรียบง่ายเป็นสิ่งที่เขาเลือก ครั้งหนึ่งเขาได้รับเชิญให้ไปร่วมรับประทานอาหารกับประธานาธิบดีของสหรัฐ ซึ่งทางสังคมถือว่ามีเกียรติอย่างสูงและทุกคนแสวงหา แต่บัฟเฟตต์ปฏิเสธ เขาคงคิดว่า “ไม่รู้ไปทำไม”

ผมเคยผ่านชีวิตของการเป็นผู้บริหารของธุรกิจมานาน แม้จะไม่เคยเป็นผู้บริหารสูงสุดแต่ก็เป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทค่อนข้าง ใหญ่เกี่ยวข้องกับสังคมในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากลาออกมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวประมาณสิบปีแล้วก็พบความแตกต่างระหว่าง การเป็นพนักงานหรือผู้บริหารธุรกิจกับการเป็นนักลงทุนในด้านของการใช้ชีวิต และสังคมอย่างชัดเจน

ข้อแรก ชีวิตการเป็นผู้บริหารโดยเฉพาะในงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับสังคมหรือราชการ นั้น เป็นชีวิตมีความเครียดสูงมาก ประเด็นคือ การที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกน้องและเจ้านายจำนวนมาก ทำให้ชีวิตเรา “ซับซ้อน” มาก แต่ละวันมีเรื่องที่ต้องคิดและตัดสินใจแตกต่างกันออกไป เรื่องส่วนใหญ่ไม่สำคัญอะไรนักต่อความสำเร็จขององค์กร แต่การตัดสินใจอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกใจคนอื่นจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้ง ต่อหน้าและลับหลัง ทำให้เราเครียด เรื่องที่สำคัญมากจริง ๆ บางครั้งหรือบ่อยครั้ง เราไม่สามารถทำตามที่คิดได้ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องอาศัย “เสียงส่วนใหญ่” ที่คิดไปอีกทางหนึ่งหรือมี “แรงจูงใจ” บางอย่างทำให้ตัดสินใจไปอย่างนั้น ประเด็นสำคัญคือ แม้จะคิดและตัดสินใจตรงกันข้าม แต่เราต้อง “รับผิดชอบ” กับการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่นั้น และนี่ทำให้เกิดความเครียด เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดในอนาคต เราอาจต้องรับผิดไปด้วย

ในเมืองไทยประเด็นที่ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นคือ กฎเกณฑ์และระบบกฎหมายและความยุติธรรมยังไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร ดังนั้น ถ้าอยู่ในธุรกิจหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับสังคมหรือรัฐมาก เช่น บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือธุรกิจการเงินอย่างที่ผมเคยทำ “ความเสี่ยง” ของผู้บริหารจะเพิ่มขึ้นทวีคูณ ประเด็นคือ ในระบบของบ้านเรา การ “กล่าวโทษ” ทำได้ง่าย และความผิด อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องทุจริตหรือความผิดพลาดของการตัดสินใจ แต่เป็นเรื่องทำผิด “กฎระเบียบ” ที่สุดจะ “ซับซ้อน” ซึ่งนั่นเพียงพอจะทำให้คุณต้องตกเข้าไปสู่ “วังวน” ของปัญหาที่จะทำให้ชีวิตเครียดไปอีกนานถ้าถูกกล่าวโทษ

ข้อสอง การเป็นพนักงานหรือผู้บริหารขององค์กรที่ใหญ่โต ทำให้เรามีสถานะทางสังคมสูงกว่าคนที่เป็นนักลงทุนในสายตาของคนทั่วไป นี่เป็นเรื่องค่อนข้างจะชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทย ที่ยังยึดถือเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าค่อนข้างมาก แม้ค่อยๆลดลงช่วงหลังนี้ การมี “หัวโขน” นั้น แม้ทำให้คนที่ “สวม” อยู่ รู้สึกดี แต่มันทำให้ชีวิตเราซับซ้อนขึ้น

เราถูกทำให้ต้องคิดคำนึงถึงการ “วางตัว” ให้เหมาะสมกับ “ชั้น” หรือสถานะที่อยู่อย่างเคร่งครัด จะทำตัว “มอซอ” หรือไม่ไปเคารพนบนอบ “ผู้ใหญ่” ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ไม่ได้ แม้แต่ชีวิตส่วนตัว ก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรแบบสบาย ๆ ที่ดูแล้วอาจจะทำให้ “เสียลุค” ทำให้คน “ขาดความนับถือ” ได้ นอกจากนั้น การเป็น “คนสำคัญ” ยังหมายความว่าคุณจะต้องมีหรือทำกิจกรรม “เพื่อสังคม” หรือต้อง “เข้าสังคม” กับคนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในระดับเดียวกันเป็นประจำ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องทำให้ชีวิตค่อนข้างจะเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนมีพื้นฐานนิสัยค่อนข้างเป็นแบบ “เสรีชน”

ชีวิตคนทำงานหรือเป็นผู้บริหารในองค์กรขนาดใหญ่ ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงการมีชีวิตที่ซับซ้อนไปได้ยาก และหลายคนอาจจะชอบมัน ว่าที่จริงการมีชีวิตเรียบง่ายอาจจะไม่เหมาะกับคนที่ทำงานในองค์กรด้วยซ้ำ แต่ชีวิตของนักลงทุน ผมคิดว่าเราต้องการความเรียบง่ายมากกว่า เหตุผลคือ ความเรียบง่ายนั้น มักทำให้เราได้สัมผัสกับคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนทั่วไป ที่เป็นลูกค้าของบริษัทจดทะเบียนทั้งหลายได้มากกว่าความซับซ้อน ว่าที่จริง ปีเตอร์ ลินช์ เคยพูดไว้ว่า “ถ้าคุณเป็นคนขับรถสิบล้อ คุณจะได้เปรียบในการลงทุน” ส่วนตัวผมเอง สมัยที่ยังเป็นผู้บริหารบริษัท ยังไม่ค่อยรู้สึกถึงความจำเป็นของการมีร้านสะดวกซื้อมากนัก เหตุผลเพราะมีคนคอยจัดการเรื่องกาแฟและใบเสร็จค่าน้ำไฟรวมถึงเรื่องจิปาถะ ต่าง ๆ แต่หลังจากออกมาเป็นนักลงทุนต้องทำทุกอย่างเหมือนกับคนทั่วไป ถึงได้ค้นพบว่านี่คือสิ่งที่คนเกือบทั้งประเทศต้องการแทบจะขาดไม่ได้

ชีวิตที่เรียบง่ายนั้น ไม่ได้ช่วยแต่เรื่องของการลงทุน ส่วนตัวผม สามารถลดความเครียดลงได้น่าจะ 80%-90% จากการเลิกทำงานที่ซับซ้อนความเครียดสูงลง การพูดเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าผมคิดว่าเราควรลาออกจากงานมาลงทุนเต็มตัว เพื่อใช้ชีวิตเรียบง่าย ผมเพียงแต่ต้องการบอกว่า การทำชีวิตให้เรียบง่าย เป็นสิ่งที่ดีทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น การลงทุนเป็นช่องทางหนึ่ง ที่อาจทำให้เราสามารถเลือกใช้ชีวิตที่เรียบง่ายได้

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 29 มกราคม 2556

หลักที่คนไม่ทำตาม


วอร์เรน บัฟเฟตต์เคยพูดหลักการของเขาไว้ว่า "มีคนเอาไปกล่าวอ้างมากมาย แต่น้อยคนที่จะทำตาม" คงเป็นเรื่องดูดี ดูเท่  สำหรับคนที่อ้างคำพูดของ บัฟเฟตต์ แต่ลึกๆ แล้ว เขาคงไม่เชื่อหลักการของบัฟเฟตต์ จะทำกำไรได้ดีเท่ากับแนวคิดและวิธีการของเขาเอง เขาอาจเชื่อสิ่งที่บัฟเฟตต์ทำ ว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับบัฟเฟตต์ หรือเป็นสิ่งที่ดีในตลาดหุ้นอย่างตลาดหุ้นนิวยอร์ค หรืออาจเป็นสิ่งที่ดีสำหรับนักลงทุนบางคน ที่มีเงินมากมหาศาลอย่างบัฟเฟตต์ แต่ไม่ใช่สำหรับเขาที่มีพอร์ตเล็กนิดเดียว หรือในตลาดหุ้นไทยที่บริษัทส่วนมากเป็นบริษัทขนาดเล็ก และถ้าเป็นบริษัทใหญ่คุณภาพไม่โดดเด่นเหมือนอย่างในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เขาก็ไม่ทำตามสิ่งที่บัฟเฟตต์สอนในหลายเรื่อง


ว่าที่จริงในหลายหลักการที่บัฟเฟตต์พูดถึง เขากลับทำตรงกันข้าม ข้ออ้างของเขา คือ วิธีการลงทุนที่ดีที่สุด คือวิธีที่ถูกกับ "จริต" หรือสไตล์ หรือความชำนาญของตัวเอง "อย่าไปตีกอล์ฟตามวงของไทเกอร์วู้ด แต่ตีตามวงสวิงเหมาะกับร่างกายหรือความสามารถของตนเอง" เขาอาจพูดแบบนี้ ผมคงไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ว่านั่นเป็นความคิดถูกหรือไม่ แต่อยากจะลองลิสต์ดูรายการที่ VI ไทยจำนวนไม่น้อยคิดและทำที่ดูเหมือนจะไม่ใช่แนวคิดของบัฟเฟตต์เลย

เรื่องแรกคือบัฟเฟตต์บอกว่า การซื้อหุ้นของบริษัทดีเยี่ยมในราคายุติธรรม ดีกว่าการซื้อหุ้นของบริษัทธรรมดาราคาถูกมาก แต่ VI น้อยคนที่จะซื้อหุ้นของบริษัทดีมาก เพราะเขามักคิดว่า "แพง" เสมอ เมื่อเทียบกับอีกบริษัทหนึ่ง ที่กำลังมองอยู่ที่มีราคา "ถูกมาก" หลายคนอาจคิดหรือบอกว่า เขาคิดว่าการซื้อบริษัทที่ดีมาก บางทีอาจให้ผลตอบแทนที่ใช้ได้อยู่ แต่เมื่อเทียบกับบริษัทที่ "ถูกมาก" แล้ว ก็ให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่า ขณะที่ความเสี่ยงที่ราคาจะตกลงมามากกว่าเพราะราคา"สูง" สำหรับเขาแล้ว การซื้อบริษัทระดับรองลงมา ที่มีราคาหุ้นต่ำกว่ามากจึงคุ้มค่ากว่า

เรื่องที่สองคือ ระยะเวลาลงทุนในหุ้นแต่ละตัว เรื่องนี้บัฟเฟตต์พูดไว้มากในหลายๆ โอกาส เริ่มตั้งแต่การโค้ดคำพูดของ ฟิลิปส์ ฟิสเชอร์ ที่ว่า ถ้าคุณซื้อหุ้นดีเยี่ยมในราคายุติธรรมได้แล้ว เวลาจะขายหุ้นคือ "ไม่มีวันขาย" หรือถือตลอดไป หรืออีกครั้งหนึ่งบัฟเฟตต์ได้พูดถึงพฤติกรรมการซื้อขายหุ้นของคนในตลาดหลัก ทรัพย์ว่า “นานมาแล้ว เซอร์ไอแซ็ค นิวตัน ได้ค้นพบทฤษฎีของการเคลื่อนไหวของวัตถุสามข้อซึ่งเป็นงานของอัจฉริยะ แต่ความเป็นอัจฉริยะของเขานั้นไม่ได้ส่งมาถึงเรื่องการลงทุน เขาขาดทุนอย่างหนักจากเหตุการณ์ฟองสบู่เซ้าธ์ซี ซึ่งทำให้เขาออกมาพูดว่า ‘ผมสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของดวงดาวแต่ไม่สามารถวัดความบ้าคลั่งของ มนุษย์’ ถ้าเซอร์ไอแซ็คนิวตันไม่ชอกช้ำจากการสูญเสียครั้งนั้นเกินไป เขาคงสามารถค้นพบกฎข้อที่สี่ของการเคลื่อนไหวนั่นคือ ‘สำหรับนักลงทุนโดยรวมแล้ว ผลตอบแทนจะลดลงเมื่อการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น’ ”

VI ไทยส่วนใหญ่ที่ผมเห็นนั้น ลงทุนในหุ้นแต่ละตัวค่อนข้างสั้นมาก น่าจะไม่เกิน 3-4 เดือน คนที่ลงทุนยาวหน่อยก็อาจจะถึงปี แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่เกินปีหรือสองปี จริงอยู่ นี่ก็อาจจะยาวแล้วเมื่อเทียบกับนักเล่นหุ้นทั่วไปที่อาจจะเล่นกันเป็นรายวัน แต่ถ้าจะบอกว่ามันเป็นการลงทุนที่เน้นในเรื่องของพื้นฐานหรือผลประกอบระยะ ยาวของธุรกิจตามหลักการแบบ VI แล้ว ผมคิดว่าไม่ใช่ มันอาจจะเป็นเพียงการ “เล่นเก็งกำไรจากผลประกอบการระยะสั้น” มากกว่า

เรื่องที่สามคือ เรื่องของหุ้น Turnaround หรือหุ้นที่กำลัง “ฟื้นตัว” ซึ่งก็เป็นกลุ่มหุ้นที่กำลังร้อนแรงมากในช่วงนี้ เนื่องจากมันเป็นกลุ่มหุ้นที่มีราคากระโดดขึ้นไปมหาศาลเป็นหลายเท่าตัวใน เวลาอันสั้น บางตัวขึ้นไปถึง 10 เท่าภายในเวลาปีเดียวก็มี บัฟเฟตต์พูดสั้น ๆ ว่า “Turnarounds seldom turnaround” แปลว่าหุ้น “ฟื้นตัว” นั้น น้อยครั้งที่จะ “ฟื้น” ถ้าจะขยายความก็คือ หุ้นกลุ่มนี้มักจะ “ตาย” มากกว่ารอด
แต่สำหรับ VI ไทย โดยเฉพาะในช่วงนี้ หุ้น “ฟื้นตัว” มีเพียบ แทบจะพูดกันว่าตัวไหนจะ “ฟื้นตัว” รายต่อไป ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นมาอย่างโดดเด่นตัวแล้วตัวเล่าพร้อม ๆ กับกำไรของบริษัทที่กำลังกลับมา ไม่ว่าจะมาจาก “กิจการใหม่” หรือการ “ปรับโครงสร้างการเงินใหม่” เป็นตัวยืนยันว่ามันกำลัง “ฟื้น” เพราะฉะนั้น ราคาจะต้องวิ่งแรง ดังนั้น การเข้าไปซื้อลงทุนก่อนก็จะทำเงินได้มหาศาล “หลายๆ เด้ง” ดังนั้น หุ้นก็วิ่งขึ้นไปไม่ว่าความจริงของธุรกิจจะเป็นอย่างไร ถ้าจะพูดแบบคมๆ แบบ “วัดรอยบัฟเฟตต์” เราก็อาจจะพูดว่าในตลาดหุ้นไทยนั้น “Turnarounds always turnaround” แปลว่า “หุ้นฟื้นตัวนั้น ยังไงก็ต้องฟื้น” ถ้ามีคนเชื่อและทำให้มันฟื้น

เรื่องที่สี่ที่น่าจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ ในการลงทุนนั้น สิ่งหนึ่งที่บัฟเฟตต์พูดตลอดก็คือเรื่องความซื่อสัตย์ของผู้บริหาร เขาบอกว่า “ครั้งหนึ่งมีคนบางคนพูดว่าในการจ้างคนมาทำงานนั้น คุณมองหาคุณสมบัติสามประการคือ ความซื่อสัตย์ ความฉลาดเฉลียว และความขยันหมั่นเพียร และถ้าเขาไม่มีคุณสมบัติข้อแรก คุณสมบัติอีกสองข้อจะฆ่าคุณ ลองคิดดู มันเป็นเรื่องจริง ถ้าคุณจ้างคนที่ไม่มีคุณสมบัติข้อแรก คุณก็อยากที่จะให้เขาโง่และขี้เกียจ” เขายังเคยบอกว่าเขาไม่ต้องการลงทุนกับคนที่ไม่ซื่อสัตย์และไม่เคยประสบความ สำเร็จในการลงทุนกับผู้บริหารที่ไว้ใจไม่ได้และมีประวัติที่น่าสงสัย
สำหรับ VI ไทยนั้น ผมคิดว่าส่วนใหญ่ก็น่าจะยึดกับหลักการนี้ อย่างน้อยเวลาพูด แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าเวลาเจอกับหุ้นที่ผู้บริหารอาจจะมี “ประวัติ” ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ใคร่ “โปร่งใส” แต่เวลานี้หุ้นดูเหมือนว่ามีราคาถูกมากหรือหุ้นอาจจะกำลัง “ฟื้นตัว” เขาจะยังสามารถยึดอยู่กับหลักการ “ไม่เกี่ยวข้อง” ได้หรือเปล่า VI หลายคนอาจจะเปลี่ยนใจหรือไม่ก็อาจจะอ้างว่าพฤติกรรมที่ถูกกล่าวขวัญอาจจะไม่ ชัดเจน บางทีก็อาจจะดูว่าผู้บริหารอื่นก็ทำกัน มากบ้างน้อยบ้างเป็นเรื่อง “ปกติ”

ที่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ต่อให้ไม่น่าไว้วางใจยังไงก็ตาม กำไรหรือผลประกอบการที่กำลังเกิดขึ้นนั้น มันก็อาจจะคุ้มค่าอยู่ดี กล่าวโดยสรุปก็คือ เขาพร้อมจะ “หรี่ตาข้างหนึ่ง” และเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นที่ผู้บริหารอาจจะออก “สีเทา” เพราะเขาคิดว่า โอกาสทำเงินนั้นสูงลิ่ว ว่าที่จริงการที่ผู้บริหารเป็นแบบนี้ ในใจเขากลับคิดว่าจะทำให้ราคาหุ้นมักจะวิ่งได้แรง และเร็วยิ่งกว่าที่ผู้บริหารยึดแต่ธรรมาภิบาลเป็นไหน ๆ เพราะผู้บริหารที่ขาดธรรมาภิบาลนั้น มักจะเข้ามาร่วม “เล่นหุ้น” ด้วย

ทั้งหมดเป็นบางส่วนของคำพูดหรือหลักการที่คนชอบพูด แต่ไม่ใคร่จะปฏิบัติโดยอ้างเหตุยกเว้นและความไม่เหมาะสมกับสภาพและสถานการณ์ ของตลาด การที่คนปฏิบัติในทางตรงข้ามนั้น แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีเหตุผล ตรงกันข้าม เขาอาจจะมีประสบการณ์ที่ดี จากการทำแบบนั้น พูดง่ายๆ สามารถทำกำไรได้มากกว่าจากการทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่บัฟเฟตต์สอน อย่างไรก็ตาม ข้อเตือนใจของผมคือ ผลการลงทุนที่ดีในช่วงเวลาหนึ่งนั้น อาจจะไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ว่าหลักการถูกต้อง มันต้องอาศัยเวลาที่ยาวนาน หลักการของบัฟเฟตต์หรือของ “เซียน” ระดับโลกนั้น ส่วนใหญ่ถูกทดสอบมายาวนานว่าได้ผลดีและผมเชื่อว่าไม่ใคร่ขึ้นอยู่กับ สถานการณ์หรือตลาดแต่ละแห่ง

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 22 มกราคม 2556

The New Elite

เมื่อผมยังเป็นเด็ก คนที่เป็น "ชนชั้นนำ" หรือที่เรียกกันว่า Elite ในภาษาอังกฤษนั้น ที่สูงที่สุดน่าจะอยู่ในแวดวงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงนายทหารชั้นสูงที่ มี "นามสกุล" ที่เก่าแก่เป็นที่รู้จักกันในสังคม พวกเขามีทรัพย์สมบัติมากกว่าคนทั่วไปมากโดยเฉพาะที่ดินในทำเลทองของกรุงเทพ ลูกหลานของพวกเขามักเล่าเรียนในโรงเรียนชั้นนำของประเทศ และถ้าเป็นเด็กผู้ชายจะย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำในต่างประเทศ เมื่ออายุอาจ 12-15 ปี หลังจากนั้นอาจเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่มีชื่อเสียง ระดับโลก หลังจากนั้น หลายคนก็กลับมารับราชการ และอาจจะเล่นการเมืองจนมีตำแหน่งใหญ่โตมีชื่อเสียง นั่นคืออีลิทชั้นสูงที่สุด ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก


อีลิทระดับรองลงมาที่มีจำนวนมากกว่าและ "มาแรงกว่า" คือ กลุ่มเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ที่เริ่มสะสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการที่เศรษฐกิจของไทยเติบโตรวดเร็ว คนกลุ่มนี้มักเป็นคน "รุ่นที่สอง" ของชาวจีนอพยพที่เข้ามาริเริ่มธุรกิจ ที่ยังมีไม่มากนักในเมืองไทย พวกเขาเริ่มเรียนรู้ที่จะ "สร้างสถานะ" ทางสังคมด้านต่างๆ โดยอิงกับธุรกิจและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่อยู่ในกลุ่มอีลิทชั้นสูงและพวก เดียวกัน ลูกหลานของอีลิทในกลุ่มนี้มักเล่าเรียนในโรงเรียนเอกชนชั้นนำของประเทศเฉพาะ อย่างยิ่งโรงเรียนในเครือคาทอลิกซึ่งมีประมาณ 7-8 แห่งทั้งโรงเรียนชายและหญิง ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ มักรับนักเรียนจากพ่อแม่ที่เคยเป็นศิษย์เก่า ทำให้ภาพของโรงเรียนกลายเป็นโรงเรียนของอีลิทไปด้วย เด็กเหล่านี้เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ก็มักจะเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ บางคนที่สอบเอนทร๊านซ์ไม่ติด ก็เดินทางไปเรียนต่อในต่างประเทศที่เจริญแล้ว โดยเฉพาะอเมริกาและอังกฤษ

เวลาผ่านไปพร้อมๆ กับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมหาศาล ระบบการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ข้าราชการที่เคยมีบทบาทและบารมีสูงส่งถูกลดบทบาทลงเรื่อยๆ ขณะที่นักการเมืองที่มักจะมาจากประชาชนธรรมดา กลับมีอำนาจมากขึ้นและมากขึ้น ด้านนักธุรกิจ พวกเขาก็เติบโตและร่ำรวยขึ้นมากกว่า "เศรษฐีและผู้ดีเก่า" เทียบกันไม่ได้ เหล่านี้ทำให้อีลิทที่เป็นชนชั้นนำรุ่นแรกที่กล่าวถึงลดสถานะลง ว่าที่จริงถ้ามีแต่ "นามสกุลเก่า" แต่ไม่ได้ร่ำรวยมากแล้ว ความเป็นอีลิทอาจถือได้ว่าหมดไปแล้ว "อีลิทรุ่นใหม่" ที่มักประกอบด้วยเจ้าของธุรกิจ "สมัยใหม่" ที่มีขนาดใหญ่ในวันนี้ไม่ได้มี "นามสกุลเก่า" พวกเขามีนามสกุลยาวที่อาจตั้งขึ้นมานาน 2-3 ชั่วอายุคน ครอบครัวไม่มีประวัติที่เกี่ยวข้องกับงานราชการและไม่สนใจที่จะทำราชการ ยกเว้นว่าอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐในฐานะของนักการเมืองสำหรับบางคน

ลูกของคนที่เป็นอีลิทรุ่นใหม่ ผมคิดว่า พวกเขาเริ่มเรียนในโรงเรียนอินเตอร์มากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนอาจส่งลูกไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่เด็ก แต่การส่งลูกเข้าโรงเรียนคาทอลิกอย่างที่เป็นอยู่ก่อนหน้านี้ น่าจะค่อยๆ ลดลง การมีลูกเรียนในโรงเรียนแบบไทย ในไม่ช้าผมคิดว่า จะไม่ใช่หนทางของอีลิทรุ่นใหม่อีกต่อไป คนที่ร่ำรวยมากๆ และถือเป็นอีลิทในวันนี้ที่ผมเห็น ดูเหมือนจะส่งลูกเข้าโรงเรียนอินเตอร์ที่เปิดขึ้นมามากมาย บางคนก็ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ในโรงเรียนอินเตอร์ที่ "แพงและโดดเด่น" บางแห่ง เวลานี้เต็มไปด้วยเด็กที่พ่อแม่มีฐานะร่ำรวยมหาศาล และอาจต้องการให้ลูกได้อยู่ในบรรยากาศและเพื่อนที่มีพ่อแม่เป็นอีลิท เราพอจะคาดได้ว่า เด็กเหล่านี้จะกลายเป็นอีลิทในอนาคต จะเป็นคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก พวกเขาจะ "โกอินเตอร์" โดยใช้ภาษาอังกฤษที่ใช้กันแพร่หลายเพิ่มขึ้นทั่วโลก

ภาษาจีนที่อาจจะมีคนคิดว่า เราต้องรู้เพื่อสื่อสารติดต่อกับคนจีน ที่มีกว่าพันล้านคน และธุรกิจของจีนที่กำลังเติบโตขึ้นมหาศาล และคงเป็นอันดับหนึ่งของโลกในที่สุดนั้น ผมไม่คิดว่า อีลิทรุ่นใหม่จะสนใจเรียนรู้มากนัก เหตุผลคือ การติดต่อกับธุรกิจจีน โดยเฉพาะที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ สามารถติดต่อเป็นภาษาอังกฤษได้ เพราะคนจีนต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษ การที่อีลิทรุ่นใหม่จะเรียนรู้ภาษาจีน จึงไม่น่าจะ "คุ้มค่า" พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมหวนนึกถึงเพื่อนนักเรียนร่วมสมัยของผมที่เรียนภาษา ฝรั่งเศสและสเปน ที่ป่านนี้อาจจะมีโอกาสใช้ให้เป็นประโยชน์น้อยมาก

เช่นเดียวกับภาษาญี่ปุ่น ที่ผมคิดว่าไม่น่าจะทำเงินหรือเป็นประโยชน์มากนัก เหตุผลที่ภาษาอื่นๆ มีการพูดในระดับสากลน้อยลง ผมคิดว่า เพราะเป็นภาษาที่ "ชนะ" ซึ่งจะได้เปรียบมากขึ้น ก็คล้ายๆ เครือข่ายสังคมที่ถ้ามีคนเข้ามาร่วมมากขึ้น ก็ทำให้คนใหม่ๆ อยากเข้ามาร่วมมากขึ้น และทำลายเครือข่ายที่เล็กกว่าในที่สุด ด้วยเหตุผลแบบนี้ ผมจึงคิดว่า การเรียนภาษาจีนอาจไม่คุ้ม และถ้าจะให้เลือกว่าเราใช้ภาษาอังกฤษที่ดีมากภาษาเดียว กับการที่ใช้ได้สองภาษาแบบงูๆ ปลาๆ ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนรู้เท่ากัน ผมเลือกที่จะขอใช้ภาษาอังกฤษดีกว่า

อีลิทรุ่นใหม่ ไม่ได้เหมือนอีลิทรุ่นเก่าในด้านสังคม พวกเขาไม่จำเป็นต้องมี "หัวโขน" หรือตำแหน่งหน้าที่การงานที่อยู่ในระดับสูงกว่าตามสายบังคับบัญชา คนไม่สนใจว่า คุณจะเป็นหัวหน้ากอง เป็นอธิบดี เป็นทูต เช่นเดียวกับตำแหน่งทางบริษัท หรือองค์กรทางธุรกิจว่า คุณเป็นผู้จัดการฝ่าย เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ หรือตำแหน่งอะไรในบริษัท ชื่อเสียงหรือความ "ดัง" หรือความสามารถที่เป็นที่ยอมรับ จะเป็นสิ่งที่อีลิทแสวงหา นี่คงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ลูกหลานอีลิทช่วงเวลานี้ต่างอยากเป็นดารา นักร้อง พิธีกร แม้แต่ลูกหลานนักการเมืองใหญ่ที่โด่งดัง หรือนักธุรกิจใหญ่มากๆ หลายคน เลือกที่จะเป็นดารา พิธีกร หรือเป็นนักเขียน แทนที่จะทำงานตามรอยพ่อแม่ แม้งานนั้นอาจจะไม่ใช่งานถาวรที่จะทำต่อไปตลอด ในอีกด้านหนึ่ง อีลิทรุ่นใหม่หลายคนก็เข้ามาเกี่ยวข้องมีความสัมพันธ์กับดารา ซึ่งทำให้ตนเองกลายเป็นคนดังไปด้วย ว่าที่จริง ดาราระดับ "ซูเปอร์สตาร์" ของไทยขณะนี้ผมคิดว่า พวกเขามีสถานะเป็นอิลิทกลุ่มหนึ่งของสังคมไทยแล้ว เมื่อดูจากฐานะการเงินและชื่อเสียงของพวกเขา

ผมคงจะจบเรื่องอีลิทรุ่นใหม่ไปไม่ได้ ถ้าไม่พูดว่า นักลงทุนโดยเฉพาะแบบ VI ที่ประสบความสำเร็จสูง และหรือมีพอร์ตการลงทุนที่ใหญ่โตด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม น่าจะกลายเป็นอีลิทอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ใหม่ที่สุด และใหม่กว่ากลุ่มดาราแน่นอน พวกเขาหลายๆ คนมาจากครอบครัวที่ร่ำรวย ทำธุรกิจ และมีสถานะดี บางทีอาจจะเป็นอีลิทอยู่แล้ว แต่การเป็นนักลงทุน เป็นอีกสถานะหนึ่งที่สังคมน่าจะเริ่มยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ พูดง่ายๆ คนไม่คิดว่าการร่ำรวยจากการลงทุนนั้น เป็นเรื่องการพนัน หรือเป็นเรื่องของคนขี้เกียจไม่ทำงาน ที่สำคัญ เป็นสถานะที่คนทั่วไปไขว่คว้าได้ มีบทเรียนที่คนเรียนรู้และใช้เพื่อที่จะไปถึงสถานะที่เป็นอีลิทในสังคม และถ้าจะว่าไป นี่คือเส้นทางที่จะทำให้คนเปลี่ยนสถานะได้ โดยที่เขาไม่ต้องทำสิ่งที่เป็นการฉ้อฉล หรือเอาเปรียบคนอื่น เพราะการลงทุน โดยเฉพาะที่เป็นแบบ VI เป็นเกมหรือการทำงานที่แฟร์ที่สุดอย่างหนึ่ง

  บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 15 มกราคม 2556


สัญญาณบวก-ลบในตลาดหุ้น

ในเรื่องของเศรษฐศาสตร์และการเงินนั้น  การมองหา “สัญญาณ”   หรือ  Indicator ที่จะสามารถบอกให้เรารู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปเป็นเรื่องที่สำคัญ มาก  เหตุผลก็เพราะว่า  ถ้าสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นบวก  เราก็สามารถวางแผนหรือกำหนดนโยบายในการจัดสรรทรัพยากรให้รองรับกับสิ่งนั้น  หาก สัญญาณบอกว่าอนาคตจะเป็นลบ  เราก็จะได้เตรียมการแก้ไขไม่ให้มันเลวร้ายลงมากนัก  นั่นก็เป็นเรื่องของนักเศรษฐศาสตร์  แต่ในด้านของนักลงทุนหรือคนเล่นหุ้น  พวกเขามองหา “สัญญาณ” เพื่อที่จะบอกว่าเขาควรที่จะทำอย่างไรหรือมีกลยุทธ์อย่างไรในการลงทุน  พูดง่าย ๆ  ก็คือ  ควรจะซื้อหรือขายหุ้นตัวไหน  สัญญาณในตลาดหุ้นนั้นมีมากมายที่คนเชื่อกันว่าสามารถบอกอนาคตของหุ้นหรือ ตลาดหุ้นได้แม่นยำ  อย่างไรก็ตาม  ความเป็นจริงก็คือ  น่าจะมีสัญญาณน้อยมากที่จะสามารถบอกอนาคตได้อย่างแม่นยำ  และที่สำคัญก็คือ  โอกาสที่อนาคตจะไม่เป็นไปตามที่คาดก็มีอยู่เสมอ  ไม่มีอะไรที่แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์  เพราะมิฉะนั้น  คนที่เล่นหุ้นตามสัญญาณก็รวยกันหมดแล้ว  ซึ่งตามทฤษฎีก็เป็นไปไม่ได้    แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  เราก็ยังอยากจะดูสัญญาณอยู่ดี  มันคงเป็นสัญชาติญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์  มาดูกันว่ามีสัญญาณอะไรในตลาดหุ้นที่นักลงทุนสนใจดูกัน

   สัญญาณตัวแรกที่นักเล่นหุ้นจับตาดูกันทุกวันก็คือ  ดัชนีดาวโจนส์    นักลงทุนเชื่อกันว่าถ้าดัชนีดาวโจนส์ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์คเมื่อคืนก่อนปรับ ตัวขึ้นแรง  ตลาดหุ้นไทยในวันนี้ก็จะปรับตัวขึ้นตาม  แต่ถ้าดัชนีดาวโจนส์ตกลงมาอย่างแรง  คืนนั้นนักเล่นหุ้นบางคนก็อาจจะ  “นอนไม่หลับ”  เนื่องจากกังวลว่าหุ้นที่ตนเองถืออยู่มากคงจะตกลงมาแรง  บางทีเขาอาจจะคิดว่า  “ทำไมเราไม่ขายไปก่อนวะ”  ราวกับว่าเขารู้ว่าดาวโจนส์กำลังปรับตัวลงมาอย่างหนัก   อย่างไรก็ตาม  สัญญาณดัชนีดาวโจนส์นั้น  ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก   เพราะในนาทีแรกที่ตลาดหุ้นไทยเปิด  ราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้น  หรือตกหนักลงไปทันที  เราไม่มีโอกาสที่จะซื้อหรือขายหนีก่อน  ดังนั้น  ดัชนีดาวโจนส์จึงเป็นอะไรที่นักวิเคราะห์ใช้ในการอธิบายสาเหตุว่าทำไมหุ้น จึงขึ้นหรือตกอย่างแรงถ้าไม่มีสาเหตุอย่างอื่น  มากกว่าที่จะเป็นสัญญาณทำเงิน

   สัญญาณตัวที่สองที่นักเล่นหุ้นติดตามกันมากก็คือ  กลุ่มผู้ซื้อ-ขาย สุทธิในตลาดหุ้นประจำวัน  ซึ่งก็จะแบ่งออกเป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบัน  หรือคือกลุ่มที่เป็นกองทุนต่าง ๆ  เช่น  กองทุนรวม  กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเป็นต้น  กลุ่มนี้โดยธรรมชาติก็เป็นนักลงทุนที่ลงทุนระยะยาวกว่ากลุ่มอื่น และก็เป็นกลุ่มที่มีการซื้อขายน้อยที่สุด  กลุ่มที่สองคือกลุ่มโบรกเกอร์ที่เข้ามาเล่นหุ้นโดยใช้เงินของบริษัทเอง  นี่เป็นกลุ่มที่มีการซื้อขายค่อนข้างเร็วและน่าจะมีการเก็งกำไรสูง  ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าไม่เสียค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขาย  กลุ่มที่สามคือกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่มีปริมาณการซื้อขายมากเป็นอันดับ สองในตลาดหุ้นไทย   และเป็นกลุ่มที่นักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นจับตามองมากที่สุด  เหตุผลก็คือ  นักลงทุนเชื่อว่าถ้า  “ฝรั่ง”  ซื้อสุทธิ  มาก ๆ  แนวโน้มก็คือ  ตลาดหุ้นจะขึ้น  ตรงกันข้าม  ถ้าฝรั่งขายหนัก ๆ  เรา  “ถอยดีกว่า”  เพราะนักลงทุนเชื่อในเรื่องของ  “Fund Flow”  นั่นคือ  เงินต่างชาตินั้นมีมาก  และพวกเขาจะเข้ามาซื้อหุ้นตัวใหญ่ ๆ  ทำให้ดัชนีและตลาดโดยรวมปรับตัวขึ้นอย่างแรงและเร็ว  สุดท้ายก็คือ  กลุ่มนักลงทุน  “รายย่อย”  ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเรียกว่า “นักลงทุนส่วนบุคคล” มากกว่า  เพราะในปัจจุบันนี้  จำนวนมากเป็น  “นักลงทุนรายใหญ่”  ซึ่งทำให้ปริมาณการซื้อขายของกลุ่มสูงที่สุดและมักจะมากกว่า 50% ของตลาดโดยรวม  ประเด็นก็คือ  อิทธิพลของ  “ฝรั่ง”  นั้น  ผมคิดว่าลดลงเมื่อเทียบกับในสมัยก่อนที่ตลาดหุ้นไทยมีแต่นักลงทุนรายย่อย จริง ๆ  ที่เล่นเก็งกำไร  กับต่างชาติที่รอบรู้กว่า  แต่ปัจจุบันไม่ใช่

   สัญญาณตัวที่สามคือ  การซื้อ-ขายหุ้นของผู้บริหาร  ถ้าเชื่อตามที่ ปีเตอร์ ลินช์ พูดก็คือ  การขายหุ้นของผู้บริหารนั้น  ไม่ได้หมายความว่าบริษัทคงจะมีผลประกอบการที่ไม่ดีหรือหุ้นจะแพงเกินไปแล้ว เสมอไป   ผู้บริหารอาจจะมีภาระหรือความจำเป็นต้องใช้เงินก็ได้  อย่างไรก็ตาม  ถ้าเราพบว่าผู้บริหารหลาย ๆ  คนต่างก็ขายหุ้นพร้อมหรือใกล้เคียงกันในจำนวนมาก  แบบนี้ก็อาจจะต้องคิดเหมือนกันว่ามันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ผู้บริหาร ต่างก็ต้องการใช้เงินพร้อมกัน  ในกรณีอย่างนี้เราคงต้องวิเคราะห์และพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่ามันเป็น “สัญญาณลบ”  ที่ทำให้เราขายหุ้นหรือไม่   ตรงกันข้าม  ปีเตอร์ ลินช์ บอกว่า  เหตุผลในการซื้อหุ้นของผู้บริหารนั้นมีเพียงประการเดียวนั่นคือ  เขาคิดว่าหุ้นมีราคาถูกคุ้มค่าและเขาสามารถทำกำไรได้จากการลงทุน  ดังนั้น  ผู้บริหารซื้อหุ้นจึงเป็นสัญญาณบวก   อย่างไรก็ตาม  ในกรณีของตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะที่ผู้บริหารกับเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นรายเดียวกัน  การซื้อหุ้นของผู้บริหารก็อาจจะไม่ใช่สัญญาณบวกก็ได้  เหตุผลก็คือ  มันอาจจะเป็นการ  “ส่งสัญญาณลวง”  ให้นักเล่นหุ้นหรือนักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นเพื่อให้ราคาหุ้นวิ่งสูงขึ้นไป หรือพยุงราคาหุ้นไว้เพื่อให้ตนเองสามารถขายหุ้นได้สะดวก  เพราะในกรณีแบบนี้  หุ้นที่เขาซื้อนั้น  เป็นเพียงส่วนน้อยของหุ้นที่เขามี  ไม่มีเหตุผลที่เขาจะต้องทำกำไรจากหุ้นในส่วนที่เขาซื้อเข้ามาเพิ่มจำนวน เพียงเล็กน้อย

   สัญญาณตัวสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  รายการซื้อขายหุ้นรายการใหญ่แบบจับคู่หรือการซื้อขายหุ้นแบบ  Big Lot  นี่คือการที่ผู้ถือหุ้นที่มีหุ้นจำนวนมากตกลงขายหุ้นให้กับนักลงทุนรายใหญ่ ที่ต้องการซื้อหุ้นเป็นจำนวนมาก  โดยปกติก็คือ  คนที่ขายจะมีเพียงรายเดียวหรือไม่กี่รายที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันเช่นอยู่ใน ครอบครัวเดียวกันหรือกลุ่มบริษัทเดียวกัน  ส่วนคนที่ซื้อนั้น  บางครั้งก็มีรายเดียวหรือไม่กี่รายที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มักจะเป็น สถาบันที่ต้องการได้หุ้นจำนวนมาก  แต่บางครั้ง  โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการขายหุ้นก้อนโตมหาศาลหลาย ๆ  พันหรือเป็นหมื่นล้านบาทขึ้นไปก็จะมีผู้ซื้อรายใหญ่จำนวนมากเป็นสิบ ๆ  รายหรือเป็นร้อยรายที่ต่างก็เข้ามาแสดงความจำนงซื้อหุ้นผ่านโบรกเกอร์ที่จะ ทำหน้าที่ในการขายหุ้นให้กับคนที่ต้องการขาย   การซื้อ-ขายหุ้นแบบ Big Lot นี้  มักทำกันแบบ “Over Night” หรือทำแบบ  “ข้ามคืน”  ในช่วงที่ตลาดหุ้นปิดแล้ว  ซึ่งการตกลงทุกอย่างจะทำภายในคืนนั้นและมา “จับคู่” ซื้อขายหุ้นกันในเช้าวันรุ่งขึ้น  โดยทั่วไปราคา ซื้อ-ขาย มักจะต่ำกว่าราคาปิดของวันก่อนเล็กน้อยประมาณ 3-5% ในกรณีที่เป็นรายการที่ไม่ใหญ่มาก  แต่ในกรณีที่เป็นรายการใหญ่มาก บางทีอาจจะต่ำกว่า 10% ก็มี

   สัญญาณจากการขายแบบ Big Lot นั้น  แม้ว่าในหลาย ๆ  กรณีผู้ขายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้บริหาร  แต่ก็ไม่ได้เป็นสัญญาณลบเสมอไป  อย่าลืมว่าการขายของเขานั้นอาจจะมาจากเรื่องของการต้องการใช้เงินหรือเป็น การลดพอร์ตเพื่อกระจายความเสี่ยงก็ได้  ไม่ใช่แปลว่าหุ้นจะไม่ดี  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  คนที่ซื้อเองนั้นก็เป็นนักลงทุนรายใหญ่และส่วนใหญ่เป็นสถาบัน  ดังนั้น  ถ้าหุ้นไม่ดีหรือไม่คุ้มค่าพวกเขาก็คงไม่ซื้อ   สิ่งที่จะเป็นลบที่เห็นได้ชัดเจนจากการทำ Big Lot ก็คือ  ราคาหุ้นที่ซื้อขายนั้นจะต่ำกว่าราคาหุ้นบนกระดาน  ดังนั้น  คนที่ซื้อบางรายอาจจะรีบ “ทำกำไร”  ทันทีโดยการขายหุ้นที่ได้มาในตลาด  และนี่ทำให้ราคาหุ้นในวันแรกที่ทำ Big Lot มักจะตกลงมาใกล้เคียงกับราคาที่มีการตกลงซื้อขายกัน    อย่างไรก็ตาม  หลังจากวันแรกไปแล้ว  ราคาหุ้นก็มักจะกลับมาซื้อขายกันตามพื้นฐานที่ควรจะเป็น  ดังนั้น  ข้อสรุปของผมก็คือ  การขาย Big Lot ในระยะสั้นอาจจะเป็นลบเล็กน้อย  แต่ในระยะยาวแล้วก็ไม่มีผลอะไร  ว่าที่จริงในบางกรณีกลับเป็นบวก  เหตุผลก็เพราะว่าหุ้นตัวนั้นอาจจะเป็นที่นิยมมากขึ้นเนื่องจากมีนักลงทุน สถาบันเข้าลงทุนมากขึ้น  สภาพคล่องดีขึ้น  ทำให้ราคาหุ้นดีขึ้น

   และทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงสัญญาณส่วนหนึ่งที่คนในตลาดหุ้นชอบติดตามและบ่อย ครั้ง Take Action  หรือตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง  แต่สำหรับ VI แล้ว  เรื่องเหล่านี้  เรามักจะติดตามเหมือนกัน  แต่ส่วนใหญ่แล้วเราก็ไม่ควรจะทำอะไรยกเว้นแต่มันมีเหตุผลที่น่าจะทำหลังจาก ที่ได้ศึกษาอย่างถี่ถ้วนแล้วเท่านั้น

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 8 มกราคม 2556

หุ้นตัวเรา

หุ้นกับคน มีอะไรเหมือนกันอยู่มาก ที่จริงบริษัทก็คือองค์กร ที่ประกอบไปด้วยคนหลายคนมารวมกันเพื่อทำธุรกิจ บริษัทเล็กอาจมีคนไม่กี่คน บริษัทเล็กที่สุดอาจจะมี เพียงคนเดียว และคนคนหนึ่ง อาจจะเหมือนกับบริษัทเล็กที่สุดที่ "ดำเนินธุรกิจ" และมีรายได้ และมีค่าใช้จ่าย บริษัทที่มีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย ก็คือบริษัทที่มีกำไร ซึ่งในที่สุดก็จ่ายปันผลที่เป็นเงินสด ให้กับเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น คนที่มีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายที่ "จำเป็น" ในชีวิตประจำวันก็จะมีเงินเหลือ ซึ่งอาจจะถือว่าเป็น "กำไร" ที่ในที่สุดเจ้าตัวก็เอาไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้ เหมือนกับ"ปันผล" ให้ตัวเอง ดังนั้นบริษัทหรือคนก็เหมือนกันตรงที่ต่างก็สามารถสร้างเงินสดให้กับเจ้าของ ได้เรื่อยๆ


บริษัทหรือหุ้นที่มีกำไร และจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอต่อเนื่องยาวนาน และเพิ่มหรือโตขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นหุ้นที่ดีเติบโตและจะมีคุณค่ามาก เราสามารถคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงได้ เช่น ถ้ากำไรปีละ 1 บาทต่อหุ้น เราอาจบอกว่ามีค่าหุ้นละ 25 บาท หรือเรียกว่ามีค่า PE 25 เท่า ถ้าคนๆ หนึ่ง มีรายได้หลังหักค่ากินอยู่ และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีวิตแล้ว เขามีเงินเหลือปีละหนึ่งแสนบาท เราอาจตีว่าคนๆ นี้มีมูลค่าคิดเป็นเงิน 2.5 ล้านบาท ถ้าเราให้ค่า PE เขาเท่ากับ 25 เท่า แต่มูลค่านี้ไม่สามารถซื้อขายได้ เพราะคนไม่สามารถซื้อขายได้ คนที่เป็นเจ้าของคนๆ นี้ ก็คือตัวเขาเอง และไม่สามารถเอาไปขายให้ใครได้

ความจริงที่ว่า ตัวเราเหมือนกับทรัพย์สินที่สร้างรายได้ และที่จริงสามารถคำนวณได้ว่ามีค่าเท่าไร ทำให้คิดว่าการวางแผนทางการเงินที่นักวิชาการ หรือนักวางแผนทางการเงินกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เหตุผลเพราะว่าเราทุกคนจะมี "หุ้น" อีกตัวหนึ่ง ที่ติดอยู่กับตัวเราเสมอ และขายไม่ได้ หุ้นตัวนี้อาจมีค่ามากเมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่น หรือทรัพย์สินอย่างอื่น อาจมีค่าคิดเป็นเม็ดเงิน หรือความมั่งคั่งมากมหาศาล หรืออาจมีค่าไม่มาก เมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่น เราอาจจะไม่รู้ เพราะไม่เคยคิดถึงเลย

บางทีเราอาจไม่ตระหนักว่ามีอยู่ หรือแม้แต่ว่าเรารู้แล้วว่าเรามี "หุ้นตัวเรา" อยู่ เพราะเราอ่านบทความนี้ แต่ก็เป็นหุ้นที่ไม่มีราคาซื้อขาย สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ลองคิดว่ามูลค่า "หุ้นตัวเรา" เท่ากับเท่าไร แล้วเราจะทำอะไรกับมัน เราจะ"จัดพอร์ต" หุ้นตัวอื่นหรือทรัพย์สินอื่นอย่างไร?

ก่อนที่จะพูดถึงการจัดพอร์ตหรือการลงทุนหุ้นตัวอื่น อยากพูดถึง "หุ้นตัวเรา" ก่อน หุ้นตัวเรา มีลักษณะหรือพฤติกรรมคล้ายๆ หุ้นทั่วไป ในแง่ที่ว่า อาจจัดกลุ่มตามคุณลักษณะของการทำรายได้ หรือกำไรเป็น 6 กลุ่มแบบปีเตอร์ลินช์ คือ บางคนอาจมีรายได้สม่ำเสมอ แต่เพิ่มขึ้นช้าๆ เช่น พนักงานกินเงินเดือนที่ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น พวกเขาอยู่ที่เดิมมานานและไม่อยาก "เสี่ยง" คิดหรือทำอะไรใหม่ๆ แบบนี้เรียกว่าเป็น "หุ้นโตช้า"

คนกลุ่มที่สองคือ คนอายุยังน้อยที่มีความรู้และความสามารถสูง ทำงานขยันขันแข็ง และกำลังก้าวหน้าในงานที่ทำรวดเร็ว และในที่สุดก็กลายเป็นผู้บริหาร หรือผู้เชี่ยวชาญที่จะทำเงิน หรือมีเงินเดือนสูงมากขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้เรียกว่า "หุ้นเติบโต" คนกลุ่มที่สามคือคนที่อาจก้าวหน้าไปถึงจุดสูงสุดในชีวิต "ลูกจ้าง" ของเขาแล้ว พวกเขาเป็นที่ยอมรับของนายจ้าง มีเงินเดือนที่ดี มีความมั่นคงในหน้าที่การงานสูง แต่การก้าวหน้ามากขึ้นรวดเร็วเป็นไปไม่ได้แล้ว แบบนี้เรียกว่า "หุ้นแข็งแกร่ง"

คนกลุ่มที่ทำงานอิสระ เช่น อาจเป็นดารานักแสดง นักเขียน ขายประกัน เป็นฟรีแล้นซ์ หรือผู้รับเหมาก่อสร้าง มักจะมีรายได้ไม่แน่นอน ขึ้นๆ ลงๆ แบบนี้อาจเรียกว่าเป็น "หุ้นวัฏจักร" คนบางคนอาจอยู่ในช่วงที่กำลัง "ตกต่ำ" เพราะป่วยไข้ ความนิยมตก มีปัญหาที่ทำให้รายได้หดหายไป แต่จะฟื้นตัวและกลับมามีรายได้ใหม่ แบบนี้เรียกว่า "หุ้นฟื้นตัว" สุดท้ายคือ คนที่มีทรัพย์สินมาก แต่ยังไม่ได้ใช้ หรือยังใช้ไม่ได้ เช่น พ่อแม่มีทรัพย์สมบัติมาก แบบนี้อาจจะเรียกว่า "หุ้นมีทรัพย์สินมาก" และทั้งหมดนี้คือ การวิเคราะห์ว่า "หุ้นตัวเรา" เป็นหุ้นแบบไหน

เราเป็นเจ้าของและผู้บริหาร "หุ้นตัวเรา" เราสามารถจะจัดการ "กิจการ" ให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ในระดับหนึ่ง เราสามารถ เพิ่มคุณค่าหรือมูลค่าให้กับหุ้นตัวเรา ว่าที่จริง หลายๆ กรณี อาจเป็นเรื่องดีกว่าที่เราจะให้เวลา หรือใช้เวลาในการ "ปรับปรุง" หุ้นตัวเรา แทนที่จะใช้เวลาไปหาหุ้นตัวอื่นที่เราคิดว่ามีคุณค่ามาก การทำให้หุ้นตัวเรามี "ความสามารถแข่งขันสูงขึ้น" ผมคิดว่าจะเป็นการสร้าง VALUE ที่สูงกว่าการใช้เวลาในการเลือกหุ้นตัวอื่นๆ โดยเฉพาะช่วงที่เรายังมีอายุน้อย เพราะทำให้รายได้ในอนาคตหุ้นตัวเราสูงขึ้นมาก

การจัดพอร์ตที่เราจะต้องคำนึงถึง "หุ้นตัวเรา" อยู่เสมอ เราจะพบว่า เราทุกคน ไม่มีใครที่ "ไม่มีเงินเลย" หรือพูดให้ถูกต้องขึ้นคือ ไม่มีทรัพย์สมบัติเลย เพราะความเป็นจริงคือ เรามีหุ้นหนึ่งตัวอยู่ในพอร์ตแล้ว คือ "หุ้นตัวเรา" ซึ่งสำหรับหลายๆ คนแล้ว มีค่ามากทีเดียวโดยเฉพาะในช่วงที่เขายังไม่ได้ทำงาน และไม่มีรายได้ หรือเงินจากทางบ้าน หรือเพิ่งจะเริ่มทำงานมีเงินเก็บค่อนข้างน้อย ซึ่งหุ้นตัวเรานี้แหละที่จะเป็น "เรือธง" ที่จะสร้างพอร์ตลงทุนของเราให้เติบโตขึ้นจนเรามี "อิสรภาพทางการเงิน" ในที่สุด ความหมายของผมคือ หุ้นตัวเราจะเป็นหุ้นที่ "จ่ายปันผล" ให้กับเราตลอดเวลาทุกปี ซึ่งเราสามารถนำปันผลที่ว่านั้น มาลงทุนซื้อหุ้นตัวอื่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับที่บางครั้ง เราก็นำมันมาลงทุนในหุ้นตัวเราเพิ่ม เช่น ใช้เงินไปเรียน MBA เพื่อที่จะกลับมาสร้างรายได้ให้กับตนเองเพิ่มขึ้น

เมื่อเรามีอายุมากขึ้น "หุ้นตัวเรา" ส่วนใหญ่จะมีค่าน้อยลง เมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่นที่เราอาจจะลงทุนไว้มากขึ้นเรื่อยๆ สมมุติว่าเราเกษียณและไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ลงทุนในหุ้นเลย มูลค่าหุ้นตัวเราน่าจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์ เราอาศัยเงินเก็บเลี้ยงตัวเองไปเรื่อยๆ แต่คนที่ยังลงทุนในหุ้น ผมคิดว่ามูลค่าของ "หุ้นตัวเรา" น่าจะมากอยู่ มาจากความสามารถในการลงทุน ที่อาจยังสูงไม่น้อยกว่าสมัยที่ยังหนุ่ม ความสามารถในการลงทุน ช่วยทำให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ถ้าคิดเป็นเม็ดเงิน อาจยังมาก นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ผมเอง ไม่แนะนำให้คนที่อายุมากเกษียณแล้ว ขายหุ้นทิ้งหมด ผมรู้สึกว่านั่นเท่ากับเป็นการทำให้ "หุ้นตัวเรา" หมดค่าไปด้วย

เป็นหน้าที่ของคนทุกคนที่จะต้องเข้าใจเรื่อง "หุ้นตัวเรา" เขาจะต้องรู้จักการจัดการและประเมินว่า ต้องลงทุนจัดพอร์ตอย่างไร โดยคำนึงถึงหุ้นตัวเราว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากของพอร์ตลงทุนเสมอ บางช่วงเวลา เขาอาจต้องคิดถึงการประกันสุขภาพหรือประกันชีวิต เพื่อให้มั่นใจว่าหุ้นตัวสำคัญของเขา ยังมีค่าอยู่ในยามที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน คนบางคนที่คิดจะลาออกจากงานมาลงทุนอย่างเดียว ต้องคำนึงถึงว่า จะเป็นการทำลายมูลค่าของ "หุ้นตัวเรา" หรือไม่แม้ว่าการลงทุนเต็มเวลาอาจจะให้ผลตอบแทนการลงทุนดีขึ้น แต่นั่นก็ไม่แน่เสมอไป คิดแล้วเป็นเม็ดเงินเท่าไร? คุ้มหรือไม่? บางที เราอาจจะต้องคำนึงถึงพอร์ตโดยรวมที่รวม "หุ้นตัวเรา" ที่เราประเมินมูลค่าไว้แล้ว เพื่อที่จะดูว่า ตกลงเราจะตัดสินใจอย่างไร มองในฐานะของ VI

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 25 ธันวาคม 2555 

ความเข้มแข็งของประเทศ

เมื่อถึงเวลาที่นัก ลงทุนจะต้องออกไปลงทุนในต่างประเทศเช่นในปัจจุบัน สิ่งที่เราจะต้องรู้ก็คือ ประเทศไหนจะแข็งแกร่ง รุ่งเรืองเฟื่องฟู ประเทศไหนอ่อนแอและจะ ลำบากไปอีกนาน เพราะถ้าเราไม่รู้ เราก็อาจจะเข้าไปลงทุน “ผิดประเทศ” ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผลตอบแทนการลงทุนย่ำแย่ จริงอยู่ ในฐานะที่เป็น VI เราไม่ได้ลงทุนในประเทศ เราลงทุนในตัวหุ้น แต่ความเป็นจริงก็คือ ในยามที่ประเทศกำลังลำบากหรืออยู่ในช่วงตกต่ำนั้น ก็ยากที่บริษัทจะสามารถสร้างผลงานโดดเด่นมาก ๆ เมื่อเทียบกับอีกบริษัทหนึ่งที่โดดเด่นเช่นเดียวกันแต่อยู่ในประเทศที่กำลัง เฟื่องฟู ด้วยเหตุผลนี้ การวิเคราะห์ประเทศจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องรู้ หรือกำลังจำเป็นต้องรู้ อาจจะเนื่องจากเราเห็นว่า Value ของหุ้นในประเทศไทยนั้น “เหลือน้อยลง” เมื่อเทียบกับหุ้นในต่างประเทศ หรือไม่ก็อาจจะเพราะว่าเราอยากกระจายความเสี่ยงการลงทุนโดยการแบ่งเงินบาง ส่วนไปลงทุนในต่างประเทศบ้าง


การวิเคราะห์ความเข้มแข็งของประเทศนั้น ไม่ใช่การคาดการณ์ว่าปีนี้หรือปีหน้าประเทศนั้นจะเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นการวิเคราะห์กำลังหรือพลังอำนาจโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจของประเทศในการ แข่งขันกับประเทศอื่น นี่เป็นเรื่องของโครงสร้างระยะยาวที่ไม่ใช่สิ่งที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง ได้ง่าย และพลังอำนาจนี้จะเป็นตัวที่กำหนดว่าประเทศจะรุ่งเรืองหรือตกต่ำไปอีกนานพอ สมควรหรือตลอดไป
พลังอำนาจของประเทศนั้น คิดว่าน่าจะมาจากปัจจัยหลัก ๆ 4-5 เรื่องก็คือ หนึ่ง คุณภาพของคนในประเทศ ว่ามีความรู้หรือมีการศึกษาดีแค่ไหน IQ ของคนเป็นอย่างไร สอง คือจำนวนของคนว่ามีมากน้อยแค่ไหน สาม คือกฎเกณฑ์หรือกฎหมายว่าเอื้ออำนวยต่อการจูงใจให้คนทำงาน ทำธุรกิจ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ มากน้อยแค่ไหน สี่ คือทรัพยากรที่ประเทศมีอยู่ รวมถึงพลังงาน แร่ธาตุ และแน่นอน พื้นแผ่นดินที่ใช้ประโยชน์โดยเฉพาะในทางเกษตรกรรมได้ ห้า คือวัฒนธรรมและความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนในชาติว่า มีความเข้มแข็งมากน้อยเพียงใด ซึ่งรวมไปถึงประวัติศาสตร์ที่เป็นมาด้วย และคงไม่ต้องบอกว่า ศาสนาและค่านิยม รวมถึง “จิตวิญญาณ” ของการเป็นผู้ประกอบการหรือการ “เสี่ยงภัย” ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

จากแนวทางการวิเคราะห์ข้างต้น ลองมาดูกันว่าระหว่างสหรัฐกับกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจและกำลังอำนาจใกล้เคียงกัน ใครแข็งแกร่งกว่าและน่าจะมีอนาคตรุ่งเรืองกว่า ซึ่งคำตอบคืออเมริกา ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

เรื่องแรกคือ กลุ่มยูโรโซนนั้น มีรัฐบาลที่กระจัดกระจายนับเป็นสิบๆประเทศและมีภาษาใช้กันหลายภาษา ขณะที่อเมริกานั้นเป็นหนึ่งเดียวและมีภาษาเดียว ดังนั้น นโยบายและการบริหารงานของอเมริกานั้นมีเอกภาพสูงกว่ามาก ทำให้การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของอเมริกาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่า และนี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 ที่เริ่มในอเมริกา อเมริกากลับฟื้นตัวได้ดีกว่ายุโรปมาก

เรื่องที่สองคือคนของอเมริกานั้น แม้ว่าในด้านของคุณภาพหรือ IQ คงไม่ต่างจากยุโรป และจำนวนของคนก็อาจจะไม่ต่างกัน แต่คนอเมริกันนั้นน่าจะมีอายุเฉลี่ยต่ำกว่าและที่สำคัญ จำนวนคนยังเพิ่มขึ้นเนื่องจากการอพยพของคนเข้าประเทศ นี่เป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอเมริกาดีกว่า ยุโรปมาตลอดและน่าจะต่อเนื่องไปอีกนานพอสมควร

เรื่องที่สามคือ การศึกษา ที่อเมริกาได้เปรียบในแง่ที่มีมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกจำนวนมากกระจายกัน ทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นสถาบันที่สร้างคนระดับสุดยอดของโลกแล้ว ยังเป็นแหล่งที่ดึงดูดมันสมองชั้นยอดทั่วโลกให้ทำงานและอาศัยอยู่ในสหรัฐ ด้วย

เรื่องที่สี่คือวัฒนธรรมของการเป็นผู้บุกเบิกและผู้ประกอบการของคน อเมริกันนั้นสูงกว่ายุโรป นี่อาจจะเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ชาติอเมริกาเองที่เกิดขึ้นจาก “นักบุกเบิก” ดังนั้น อเมริกาจึงเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมใหม่ ๆ และมีบริษัทข้ามชาติที่ยิ่งใหญ่จำนวนมาก

เรื่องที่ห้าก็คือ อเมริกามีตลาดการเงินที่มีสภาพคล่องสูงและมีประสิทธิภาพมาก ที่สำคัญก็คือ เงินอเมริกันนั้นเป็นเงินที่ใช้ในการค้าและการลงทุนทั่วโลก นี่เป็นความได้เปรียบในแง่ที่ว่าอเมริกาสามารถส่งออกปัญหาทางการเงินไปให้คน อื่นมาช่วยรับได้

เรื่องที่หกก็คือ เรื่องของทรัพยากร อเมริกามีที่ดินกว้างใหญ่ไพศาลที่สามารถทำการเกษตรได้เมื่อเทียบกับประชากร นอกจากนั้น การค้นพบวิธีการนำ Shale Gas หรือก๊าซธรรมชาติใต้หินดินดานขึ้นมาใช้ ทำให้อเมริกาซึ่งมีก๊าซชนิดนี้มากเป็นอันดับต้นของโลก อยู่ในฐานะได้เปรียบยุโรปที่มีข้อจำกัดในการขุดเจาะพลังงานแหล่งนี้ ว่ากันว่า ภายในปี 2020 อเมริกาจะกลับมาเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เรื่องสุดท้ายเป็นจุดอ่อนของอเมริกาคือ เรื่องสุขภาพของคน ปัญหาของอเมริกาคือ คนอเมริกันนั้นน่าจะอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินมากที่สุดในโลก นี่เป็นผลจากการอยู่ดีกินดีมากเกินและมีวัฒนธรรมการกินที่ “รีบด่วน” ทำให้คนถึงหนึ่งในสามของประเทศมีน้ำหนักเกิน และอยากจะเสริมว่า เกินไปมาก และก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ คนอเมริกันวันนี้ใช้จ่ายเงินกับสุขภาพสูงมากและน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่าง รวดเร็ว ว่ากันว่าเงินที่รัฐบาลต้องใช้จ่ายในการประกันหรือดูแลสุขภาพของประชาชนใน ไม่ช้าจะมากจนรับไม่ไหว บางคนคิดว่านี่จะเป็นวิกฤติที่ใหญ่มากในอนาคต นอกจากนั้น การที่คนมีน้ำหนักเกินและสุขภาพแย่ก็ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงจนแข่ง ขันกับประเทศอื่นไม่ได้

กล่าวโดยสรุปแล้ว อนาคตของอเมริกานั้นน่าจะโดดเด่นกว่ายุโรปมาก และการลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกันน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่ายุโรปในระยะยาว อย่างไรก็ตาม คำถามคงตามมาว่านอกจากอเมริกาและยุโรปแล้ว เอเชียแต่ละประเทศเป็นอย่างไร มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร? ถ้าจะตอบคำถามนี้คงต้องเป็นเรื่องที่ยาวมาก ไล่ตั้งแต่การเปรียบเทียบระหว่างอินเดียกับจีน หรือถ้าจะดีกว่าก็ต้องเปรียบเทียบระหว่าง อเมริกากับจีนที่กำลังแข่งกันเป็นผู้นำโลกว่าใครเข้มแข็งกว่ากัน หรือถ้าจะลดระดับของประเทศลงมาหน่อยก็ต้องเปรียบเทียบระหว่างเวียดนามกับไทย หรือเวียดนามกับพม่า หรือแม้แต่ไทยกับพม่า สุดท้ายถ้ามีเวลามากจริง ๆ ก็ต้องดูกันทั้งอาเซียนที่กำลังรวมเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น ซึ่งผมคงทำไม่ได้ในบทความเดียว ว่าที่จริงนอกจากเนื้อที่ไม่พอแล้วผมก็คงทำไม่ได้เนื่องจากข้อจำกัดทางด้าน ความรู้ด้วย
ประเทศไทยนั้นแน่นอนว่า ผมต้องพอจะรู้บ้างว่าเรามีจุดอ่อนหรือจุดแข็งอย่างไรเทียบกับเพื่อนบ้านหรือ เทียบกับโลก เช่นเดียวกัน VI ทั้งหลายควรจะต้องรู้ แต่ใครจะวิเคราะห์ได้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นสำคัญคือ การวิเคราะห์อะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวเราเองนั้น บ่อยครั้ง “ความลำเอียง” ก็เกิดขึ้นได้ และทำให้เราวิเคราะห์ผิด ประสบการณ์ของผมก็คือ ในช่วงเวลาไม่ต่ำกว่า 15 ปีที่ผมเป็น VI ที่มุ่งมั่น ความคิดของผมที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุดคือ ความ “ไม่ลำเอียง” ในการคิดหรือมองในทุกเรื่อง

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 18 ธันวาคม 2555