Monday, December 12, 2011

สภาพคล่องของหุ้น

ปัจจัยสำคัญอย่าง หนึ่งของการลงทุนที่ดูเหมือนว่า Value Investor "พันธุ์แท้" จำนวนมากอาจจะไม่พูดถึงเลย ก็คือ สภาพคล่องในการซื้อขายของหุ้น .เหตุผลก็อาจจะเป็นเพราะ นี่คือปัจจัยที่ “ไม่เกี่ยวกับพื้นฐาน” ของกิจการ หนังสือเกี่ยวกับการลงทุนแบบ VI มีน้อยมากที่จะกล่าวถึง สภาพคล่องของหุ้น คนที่สนใจเรื่องสภาพคล่องของหุ้นมากที่สุดน่าจะเป็น นักวิเคราะห์ทางเทคนิคที่มองว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นในแต่ละวันนั้น ถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญสุดยอดที่จะบอกว่าราคาหุ้นจะไปทางไหนในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม หุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น ก็เป็นหุ้นที่นักเทคนิคหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงหรือวิเคราะห์ ว่าที่จริงนักเทคนิคนั้นมองว่าหุ้นประเภทนี้ใช้หลักการทางเทคนิคไม่ได้ด้วย ซ้ำ อย่างไรก็ตาม ในฐานะของ VI ความเข้าใจในเรื่องของสภาพคล่องน่าจะมีประโยชน์พอสมควร และต่อไปนี้ เป็นมุมมองของผมต่อเรื่องสภาพคล่องของหุ้น

ประเด็นแรก ก็คือ สภาพคล่องของหุ้นนั้นมองได้เป็นสองมิติ นั่นคือ มิติแรก มองจากนักลงทุนที่จะซื้อขายหุ้นหรือพูดง่ายๆ มองจากตัวเราเองว่าเรามีเงินลงทุนเท่าไรและจะซื้อหุ้นแต่ละตัวในวงเงิน เท่าไร ตัวอย่างเช่น พอร์ตของเรามีอยู่ 10 ล้านบาท และเราจะไม่ลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกิน 2-3 ล้านบาท แบบนี้ เราก็จะต้องดูว่าหุ้นที่เราสนใจจะลงทุนนั้นมีการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันประมาณ เท่าไร ถ้าพบว่าหุ้นตัวนั้นมีการซื้อขายประมาณวันละเพียงหนึ่งแสนบาท นั่นก็แปลว่าเราอาจจะต้องใช้เวลาในการขายหุ้นให้หมดถึง 20-30 วัน ถ้าเราลงทุนในหุ้นตัวนั้น 2-3 ล้านบาท และสมมติว่าไม่มีคนอื่นขายเลยนอกจากเรา ในสถานการณ์แบบนี้ ก็ต้องถือว่าหุ้นมีสภาพคล่องต่ำเกินไป การซื้อหุ้นอาจจะอันตรายถ้าเราคาดการณ์ผิดและจำเป็นต้องขายทิ้ง เพราะในการขายหุ้นจำนวนมากเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวัน จะทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลงมากอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การซื้อหุ้นแบบนี้เราจะต้องมั่นใจมากว่าราคามันต่ำกว่ามูลค่ามากและเราพร้อม ที่จะถือมันไว้ตลอดไป หรืออย่างน้อยก็ต้องถือได้ 3-5 ปีขึ้นไป นอกจากนั้น ในระหว่างที่ถือหุ้นอยู่ มันควรจะมีปันผลให้เราอย่างน้อย 4-5% ต่อปีโดยไม่ลดลงและมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

มิติที่สองเกี่ยวกับสภาพคล่อง ก็คือ ปริมาณการซื้อขายของหุ้นเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท นี่เป็นการวัดอย่างคร่าวๆ ว่าคนที่เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทนั้น ซื้อแล้วถือไว้นานแค่ไหนโดยเฉลี่ย ตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทมีมูลค่าหุ้นทั้งบริษัทหรือเรียกว่า Market Cap . เท่ากับ 1,000 ล้านบาท และหุ้นของบริษัทมีการซื้อขายในตลาดหุ้นเฉลี่ยวันละ 10 ล้านบาท นี่ก็แปลว่าคนที่ซื้อและถือหุ้นของบริษัทไว้นั้น เขาจะทยอยขายหุ้นและใช้เวลาขายหมดภายใน 100 วัน หรือประมาณ 3 เดือนกว่าๆ หรือพูดอีกแบบหนึ่ง ก็คือ คนที่ลงทุนในบริษัทนี้ โดยเฉลี่ยแล้วลงทุนเพียง 3 เดือนเศษๆ ก็ขายทิ้งแล้ว ไม่ได้เป็นนักลงทุนระยะยาวที่เน้นที่ผลประกอบการและรอกินปันผลที่บริษัทอาจ จะจ่ายปีละครั้ง

คำถามที่อาจจะตามมา ก็คือ คนที่ลงทุนถือหุ้นนั้น ต้องถือไว้นานเท่าไรจึงจะถือว่าเป็นนักลงทุนระยะยาว คำตอบนั้น ก็คือ มันเป็นเรื่องอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนบอกว่า 3 เดือนถือว่ายาว แต่บางคนบอกว่า 3 ปี ถึงจะเรียกว่ายาว อย่างไรก็ตาม เราสามารถพูดโดยเปรียบเทียบได้ เพราะเรามีค่าเฉลี่ยระยะเวลาของการถือหุ้นของบริษัททุกแห่งในตลาดหลักทรัพย์ ในแต่ละปีหรือในแต่ละช่วงเวลา ยกตัวอย่างเช่น มูลค่าหุ้นทั้งหมดในตลาดในช่วงนี้ คือ 8.5 ล้านล้านบาท ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันโดยเฉลี่ยประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จะใช้เวลาขายหุ้นหมดเท่ากับประมาณ 340 วันทำการ หรือคิดเป็นประมาณ 1 ปีกับ 4 เดือน ดังนั้น เราก็สามารถพูดได้ว่า หุ้นตัวไหนที่มีการซื้อขายหุ้นที่ทำให้คนถือหุ้นเฉลี่ยน้อยกว่า 1 ปี 4 เดือน ก็ถือว่าหุ้นตัวนั้นมีผู้ถือที่เป็นนักลงทุนระยะสั้นกว่าค่าเฉลี่ย และหุ้นที่มีการซื้อขายน้อยและทำให้คนถือหุ้นเฉลี่ยเกิน 1 ปี 4 เดือน ถือว่าผู้ถือหุ้นถือหุ้นลงทุนนานกว่าค่าเฉลี่ย

ประเด็นของการถือหุ้นสั้นหรือถือหุ้นยาวของนักลงทุนในหุ้นแต่ละตัว ก็คือ มันเป็นการบอกถึง "ดีกรี" หรืออัตราในการ "เก็งกำไร" ของนักลงทุนในหุ้นแต่ละตัว นั่นก็คือ หุ้นที่มีสภาพคล่องสูงมาก วัดจากปริมาณการซื้อขายต่อวันเทียบกับมูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัท เช่น หุ้นบางตัวที่มีการซื้อขายต่อวันเท่ากับ 100 ล้านบาท ในขณะที่ Market Cap. เท่ากับ 1,000 ล้านบาท ซึ่งแปลว่าผู้ถือหุ้นถือหุ้นลงทุนเพียง 10 วันโดยเฉลี่ยก็ขายทิ้งแล้ว แบบนี้ก็ถือว่าหุ้นตัวนี้เป็นหุ้นที่มีการเก็งกำไรร้อนแรง ตรงกันข้าม หุ้นบางตัวนั้น ผู้ถือหุ้นถือไว้โดยเฉลี่ยถึง 3 ปี แบบนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็นหุ้นที่ไม่มีการเก็งกำไรหรืออาจจะบอกว่าเป็นหุ้นที่คนไม่ สนใจที่จะซื้อขายเนื่องด้วยเหตุผลต่างๆ

เป็นเรื่องยากที่จะขีดเส้นว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้น "เก็งกำไร" และหุ้นตัวไหนไม่มีอาการอย่างนั้น ส่วนตัวผมเอง กำหนดว่า หุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 1% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดถือว่าเข้าข่ายเป็น "หุ้นเก็งกำไร" ยิ่งมากกว่านั้นก็ยิ่งมีการเก็งกำไรสูงเท่านั้น และยิ่งหุ้นมีการเก็งกำไรสูงเท่าไร ราคาหุ้นก็มีแนวโน้มที่จะสูงเกินกว่าราคาที่ควรจะเป็น ดังนั้น โอกาสที่หุ้นเก็งกำไรสูงจะเป็นหุ้น Value จึงมีน้อย ผมจึงมักหลีกเลี่ยงและถ้ามีก็จะขายทิ้ง หุ้นที่เข้าข่ายเก็งกำไรสูงลิ่วกลุ่มหนึ่ง ก็คือ หุ้นที่เพิ่งเข้าซื้อขายหุ้นใหม่ในตลาดหลังจากการทำ IPO ซึ่งมักจะมีปริมาณการซื้อขายสูงมาก ดังนั้น ผมจึงมักหลีกเลี่ยงที่จะลงทุน และถ้าผมได้จองซื้อหุ้นไว้ผมก็มักจะขายทิ้งค่อนข้างเร็ว ถ้าผมสนใจหุ้นเหล่านี้ ผมจะรอจนปริมาณการซื้อขายหุ้นลดลงจนต่ำกว่า 1% ต่อวันซึ่งเป็นจุดที่ผมคิดว่าหุ้นไม่มีการเก็งกำไรมากจนเกินไป

กลับมาที่สภาพคล่องของหุ้นเมื่อเทียบกับขนาดของพอร์ตหรือการลงทุนของเรา ในอดีตที่ผมเริ่มลงทุนใหม่ๆ นั้น ปัญหามีน้อยมาก ผมสามารถลงทุนได้ในหุ้นเกือบทุกตัว เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนที่ยังน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป การลงทุนในหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำมากก็ทำได้ยากลำบากขึ้น เนื่องจากผมไม่สามารถลงทุนเป็นเม็ดเงินมากเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายต่อ วันของหุ้นได้ การลงทุนด้วยเงินที่น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับพอร์ตโดยรวมนั้น ทำให้เราจะต้องหาหุ้นลงทุนจำนวนมากตัวซึ่งจะทำให้พอร์ตของเราไม่ Focus หรือไม่มีจุดเน้นกลายเป็น "เบี้ยหัวแตก" และทำให้ผลตอบแทนของเราต่ำลง เนื่องจากเราจะไม่เอาใจใส่กับมันเท่าที่ควร ดังนั้น ในระยะหลังๆ ผมก็มักจะหลีกเลี่ยงถ้าหุ้นมีสภาพคล่องน้อยเกินไป และนี่ก็เกิดขึ้นเฉพาะในหุ้นตัวเล็กๆ ทั้งหลายซึ่งบางครั้งเป็นหุ้นที่ดีและเป็นหุ้น Value หุ้นเหล่านี้บางตัวอาจจะให้ผลตอบแทนได้เป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลาอันสั้นได้ และนั่นก็เป็นข้อได้เปรียบของ VI ที่ยังมีพอร์ตไม่ใหญ่นักเมื่อเทียบกับนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะสถาบันการลงทุนเช่นกองทุนรวมที่มีข้อจำกัดมากกว่า และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พอร์ตเล็กนั้นโตวัยกว่าพอร์ตใหญ่เมื่อ องค์ประกอบอย่างอื่นเช่นความสามารถในการลงทุนและการกล้ารับความเสี่ยงของนัก ลงทุนเท่ากัน


บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 13 ธันวาคม 2554

หวยนายกฯ ปู

กิจกรรม “ทางการเงิน” ที่คึกคักที่สุด “ตลอดกาล” ของคนไทยที่เรียกกันว่า “รากหญ้า” ก็คือ การเล่นหวยและลอตเตอรี่.สมัยที่ผมเรียนจบปริญญา ตรีใหม่ๆ และไปทำงานเป็นวิศวกรโรงงานในต่างจังหวัดกว่า 30 ปีมาแล้วนั้น ทุกครั้งที่มีการออกหวย คนที่ถูกรางวัลก็จะดีใจจนไม่เป็นอันทำงาน ส่วนคนจำนวนมากที่ “ถูกกิน” ก็จะเสียใจจนไม่เป็นอันทำงานเหมือนกัน สรุปแล้วในวันหวยออกนั้น ประสิทธิภาพการทำงานของคนงานจะตกลงไปอย่างเห็นได้ชัด ผมเองไม่ได้เล่นหวย แต่เพื่อนวิศวกรบางคนนั้นซื้อลอตเตอรี่เป็นประจำ เหตุผลของเขาก็คือ อย่างน้อยก็ทำให้มีความหวังว่าจะรวยได้แม้จะมีโอกาสเพียงน้อยนิด ถ้าไม่ซื้อแล้วจะรวยได้อย่างไร? คิดดูแล้วก็จริง ในสมัยก่อนนั้น การเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนไม่มีทางรวย ไม่เหมือนสมัยนี้ที่เรามีตลาดหุ้นที่เป็น “หนทางรวย” อีกทางหนึ่งของคนกินเงินเดือน นอกเหนือไปจากลอตเตอรี่

ในอดีตนั้น ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเกจิอาจารย์สำคัญ ทางศาสนา ก็จะมีการเก็งเลขเด็ดเพื่อไป “แทงหวย” กัน หลายครั้งหวยก็ออก “ตรง” จนน่าทึ่ง บางครั้งเลขที่ออกก็อาจจะ “สลับ” ตัวกันบ้าง คนจำนวนมากเชื่อว่า “พระอาจารย์ให้หวย” บางครั้งก็ให้ตรงๆ บางครั้งเราก็ต้อง “ตีความ” แต่ประเด็นสำคัญก็คือท่านคงรู้หรือมีอิทธิพลต่อเลขที่จะออกในงวดหน้าจริงๆ และถ้าเราอ่านใจท่านได้ถูกต้อง โอกาสถูกรางวัลก็มีสูง

ในช่วงนี้หวยนั้นรู้สึกว่าจะมาลงที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย เหตุการณ์ก็คือ เริ่มมีคนสังเกตเห็นว่าหมายเลขที่ออกนั้น “ตรง” กับตัวเลขหลายอย่างเกี่ยวกับนายกฯ ปูอย่างไม่น่าเชื่อ เริ่มตั้งแต่หมายเลขทะเบียนรถของนายกฯ ลำดับของการเป็นนายกฯ ของไทย อาจจะมีเรื่องของบ้านเลขที่ของบ้านนายกฯ วันเกิดนายกฯ และล่าสุดหลังจากที่เลขออกมา “ถูก” หลายงวด อะไรที่เกี่ยวกับนายกฯ ปูและมีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ห้องพักฟื้นในโรงพยาบาลที่นายกฯ ป่วยและต้องเข้าใช้บริการก็กลายเป็นตัวเลขที่คนเอาไปแทงกันมากจนราคาของสลาก ที่มีเลขท้ายตรงกันปรับตัวสูงขึ้นเป็นสองร้อยบาทต่อใบเป็นต้น

ผมคงไม่ต้องพูดย้ำว่าหมายเลขที่ออกกับตัวเลขที่ติดอยู่หรือเกี่ยวข้องกับ นายกฯ ปูนั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน หมายเลขที่ออกจากกองสลากนั้น เป็นหมายเลขที่เรียกว่า Random หรือออกโดยไม่มีรูปแบบอิงกับอะไรทั้งสิ้น ดังนั้นไม่มีใครสามารถกำหนดหรือคาดเดาได้ การที่ตัวเลขไปตรงกับหมายเลขบางตัวที่เกี่ยวกับนายกฯ ปูนั้นเป็นเรื่องบังเอิญเท่านั้น หรือบางทีมันก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันเป็นเรื่องที่เราไปหาตัวเลขที่เกี่ยวกับนายกฯ ปูที่มันตรงกับรางวัลเลขท้ายหลังจากที่เลขมัน “ออกมาแล้ว” ตัวอย่างเช่น เลขที่ออกคือ 28 คนก็พยายามไปหาว่ามีตัวเลขไหนที่เกี่ยวข้องก็พบว่านายกฯ ปูเป็นนายกฯ คนที่ 28 แล้วก็ไปสรุปว่าเลขออกมาตรงทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่มีใครพูดถึง เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ นายกฯ ปูนั้น มีตัวเลขที่เกี่ยวข้องจำนวนมากเผลอๆ ถ้านับจริงๆ อาจจะเป็น 100 หมายเลข เอาเฉพาะรถยนต์ก็มีน่าจะเกือบ 10 คัน ที่มีหมายเลขทะเบียนรถติดอยู่ วันที่เกี่ยวข้องเช่นวันเกิดตัวเองและคนในครอบครัว วันรับตำแหน่ง ต่างๆ ก็น่าจะมีเป็น 10 วัน เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งทำให้รางวัลเลขท้ายสองตัวที่ออกอย่างไรเสียก็ต้องตรงกับหมายเลขใดหมาย เลขหนึ่ง ดังนั้น เรื่อง “นายกฯ ปูให้หวย” จึงไม่ใช่เรื่องจริงและไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์แต่เป็นเรื่องของความบังเอิญและ เป็นเรื่องของการเล่นข่าวเท่านั้น

เทคนิคในการทำเรื่องบังเอิญหรือเรื่องที่ไม่ได้มีเหตุมีผลที่สัมพันธ์กัน ให้เป็นเรื่อง “มหัศจรรย์” หรือน่าทึ่งแบบเรื่องหวยที่กล่าวถึงยังมีอีกมาก หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของ เทคนิคหรือวิธีในการ “สร้างความสำเร็จ” ซึ่งผมเคยอ่านมามากมายแต่หลายเรื่องผมคิดว่ามันไม่น่าจะจริงแต่เป็นเรื่อง ของ “ความลำเอียง” ที่เรามักจะนับเฉพาะคนที่สำเร็จแต่ไม่นับคนที่ล้มเหลวจากเทคนิค ตัวอย่างเรื่องที่ผมเคยอ่านพบนั้นบอกว่าถ้าคุณอยากได้อะไรหรืออยากรวยแค่ไหน นั้น คุณแค่คิดว่าอยากได้ ไม่ต้องใช้ความพยายามหรือหาวิธี หลังจากนั้นสิ่งที่คุณต้องการก็จะมาภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน เสร็จแล้วก็จะมีคนมาบอกว่าเขาทำได้จริงๆ โดยวิธีนี้ ประเด็นไม่ใช่ว่าเขาโกหก แต่อาจจะเป็นว่าคนที่คิดมีเป็นหมื่นเป็นแสนคน คนที่ทำได้อาจจะมีเพียง 1 หรือ 2 คน ที่มาบอกว่าเทคนิคใช้ได้ ส่วนคนเป็นหมื่นที่ทำไม่ได้นั้นไม่ได้มาบอก ดังนั้น ถ้าวิเคราะห์จริงๆ ก็น่าจะเป็นว่าคนที่คิดแล้วได้เงินจริงๆ นั้น เขาได้มาโดยบังเอิญไม่เกี่ยวกับเทคนิค ส่วนเทคนิคนั้นใช้ไม่ได้เลย


กลับ มาที่เรื่องของการลงทุนในหุ้น เทคนิคการลงทุนนั้นมีผู้คิดและนำเสนอมากมายนับไม่ถ้วน จำนวนมากอ้างว่าเป็นเทคนิค “มหัศจรรย์” สามารถทำเงินเป็นร้อยเป็นพันล้านบาทได้ คนที่ใช้นั้นอาจจะมีจำนวนมากหรือน้อยเท่าใดก็ยากที่จะนับ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร คนที่ใช้แล้วไม่ได้ผลหรือขาดทุนจะไม่ออกมาพูดอธิบายอะไรเลย บางทีเขาอาจจะคิดว่าเทคนิคนั้นถูกต้องแต่การใช้ของเขานั้นผิดหรือความรู้ของ เขาไม่เพียงพอ ดังนั้นเขาไม่ประสบความสำเร็จ คนที่ประสบความสำเร็จและอยากพูดนั้น มักจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ทำผลตอบแทนได้สูงมากในเวลาอันสั้น ภาพที่เขาฉายออกไปอาจทำให้ดูเหมือนกับว่าเทคนิคที่ใช้นั้นมหัศจรรย์ แต่ความเป็นจริงอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือเป็นเหตุผลอื่น หรืออาจจะเป็นเรื่องของเทคนิคที่บังเอิญเหมาะกับสถานการณ์ในขณะนั้น การนำเทคนิคไปใช้สำหรับคนอื่นและเวลาอื่น อาจจะไม่ได้ผล ว่าที่จริงเป็นเรื่องยากมากที่จะพิสูจน์ว่ามีเทคนิคอะไรที่สามารถจะทำแล้ว ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ในเรื่องของการลงทุนในหุ้น

ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ โลกเรานี้มีสิ่งที่ไม่มีคุณค่าหรือเป็น “อวิชา” ที่ถูกนำมา “ขาย” ให้เป็นสิ่ง “มหัศจรรย์” ทั้งโดยคนที่หลอกลวงและคนที่เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่ามันเป็นสิ่งที่วิเศษ หลายสิ่งนั้นไม่ได้มีต้นทุนอะไรและก็ไม่ได้ทำให้ “คนซื้อ” เดือดร้อนหรือเสียหายนี่ก็คงไม่เป็นปัญหานัก แต่หลายอย่างมี “ต้นทุน” ที่สูงมาก เช่น เราซื้อหุ้นด้วยเทคนิคที่เราคิดว่าดีแต่จริง ๆ ใช้ไม่ได้ซึ่งทำให้เราขาดทุนหนัก เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่เราได้ยินว่ามี “สิ่งมหัศจรรย์ใหม่” เราควรที่จะพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจริงไหม? จากประสบการณ์ของผมพบว่า เกือบทั้งหมดไม่ใช่เรื่องจริง

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 6 ธันวาคม 2554

หนังสือการลงทุน

สองสามปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ ต้องถือว่าเป็นยุคทองของการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้น สูงลิ่วเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ .ผลจากความเฟื่องฟูของ ตลาดทำให้นักลงทุนสามารถทำกำไรจากตลาดหุ้นมหาศาล บางคนกลายเป็นคนร่ำรวย หรือเป็น "เศรษฐี" จากการซื้อขายหุ้น หลายคนอายุยังน้อยและไม่ได้ลงทุนมานานนัก หุ้นกลายเป็น "สิ่งมหัศจรรย์" ที่ทำให้คนรวยได้ง่ายดาย โดยไม่ต้องทำงานหนัก "ฮีโร่" นักลงทุนเกิดขึ้นคนแล้วคนเล่า เช่นเดียวกับ "อัจฉริยะ" ด้านการลงทุน ทั้งหมดนี้ดึงดูดให้ผู้คนจำนวนมาก หันมาสนใจการลงทุนในหุ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และสิ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ "หนังสือการลงทุน" ที่ออกมามากมาย และมียอดขายติดอันดับหนังสือขายดี บางช่วงและบางร้าน ว่ากันว่าจำนวนหนังสือขายดี 20 อันดับ เป็นหนังสือการลงทุนถึง 4-5 เล่ม ลองมาดูว่าหนังสือเหล่านี้เป็นอย่างไร


หนังสือการลงทุนที่ขายดีและมีจำนวนมากที่สุด คือ หนังสือ "แนว VI" หรือแนวเน้นคุณค่า เพราะนี่คือแนวการลงทุนที่กำลังได้รับความนิยมสูง เพราะเป็นวิธีการลงทุนที่มีเหตุมีผลอธิบายให้เข้าใจได้ตามหลัก "วิทยาศาสตร์" แต่ที่สำคัญ คือ เป็นแนวการลงทุนที่ใช้ โดยนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ "สูงที่สุด" ของโลก อย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์ นี่คือวิธีการลงทุนที่ Value Investor ของไทยจำนวนมากใช้แล้วประสบความสำเร็จ สร้างผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ จนหลายคนกลายเป็นเศรษฐีและบางคน เขียนเป็นหนังสือเผยแพร่วิธีการที่ตนเองใช้แล้วประสบความสำเร็จ


กลุ่มหนังสือแนว VI กลุ่มแรกเป็นหนังสือแปล ที่มักจะเรียบเรียงจากหนังสือที่มีชื่อเสียงขายดีระดับโลก เน้นหลักการและวิธีการลงทุนของนักลงทุนมืออาชีพ และยังมีหนังสือที่เขียนโดยนักวิชาการที่ศึกษาการลงทุน และส่วนมากอาจเกี่ยวข้องกับการลงทุน เช่น หนังสือของ เบน เกรแฮม และฟิลิปส์ ฟิสเชอร์ เป็นต้น หนังสือเหล่านี้ ส่วนใหญ่ให้ความรู้ และหลักการที่ผมคิดว่าเป็นมาตรฐานสูง ได้รับการพิสูจน์มาช้านานในระดับโลก ซึ่งบ่อยครั้งเจ้าตัวไม่ได้เขียนเอง ดังนั้นการวิเคราะห์ตีความจึงอาจจะผิดเพี้ยนไปได้ และทำให้คนอ่านเข้าใจผิดได้เหมือนกัน และหนังสือแปลอาจทำให้ความสละสลวย และความราบรื่นของภาษาลดลง เช่นเดียวกัน สภาพแวดล้อมที่แตกต่าง รวมถึงตัวหุ้นที่อาจกล่าวถึงเป็นสิ่ง "ไกลตัว" ทำให้ความ "น่าอ่าน" ลดลง หนังสือแปลนั้น มักมีการ "คัดสรร" มาหลายชั้น ดังนั้น ความ"เสียหาย" หรือ "เสียเวลา" จากการอ่านน่าจะมีไม่มาก


หนังสือ "แนว VI" ที่เขียนขึ้นเอง โดยนักเขียนไทยเริ่มมีมากขึ้น ความที่เขียนโดยคนไทย และเขียนโดยอิงและใช้ข้อมูลในตลาดหุ้นไทย ทำให้หนังสือน่าสนใจ และเราก็คิดว่า นี่คือหนังสือที่บอกวิธีและน่าจะใช้ได้กับหุ้นไทยมากกว่าหนังสือแปลที่อิง หุ้นและตลาดต่างประเทศเป็นหลัก นี่คือจุดแข็ง นักเขียนไทยส่วนใหญ่มักเป็น "นักเขียน" ดังนั้นสิ่งที่เขียนจึงจะมาจากการศึกษา "ศาสตร์ด้านการลงทุน" มากกว่าเป็นเรื่องประสบการณ์จริงในการลงทุน แต่ปัญหาใหญ่คือ ไม่มี "ศาสตร์" ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การเขียนเรื่องการลงทุนจำนวนไม่น้อย จึงมักใช้หลักการซึ่งเป็นที่ยอมรับหลายๆ อย่าง ผสมผสานกับจินตนาการของผู้เขียน ถ้าเราอ่านโดยคิดว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้องและเราเชื่อ ความคิดเราจะผิดไปโดยไม่รู้ตัว


แม้แต่นักเขียนที่เป็นนักลงทุนที่ "ประสบความสำเร็จสูง" (รวมถึงผมด้วย) ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้สิ่งที่เขียนถูกต้อง เหตุผลคือ ความสำเร็จที่เกิดขึ้น อาจ "ฟลุ้ค" หรือเป็นเรื่องที่ "รับความเสี่ยงมากกว่าปกติ" นั่นคือ วิธีการหรือกลยุทธ์ที่อ้างว่าสร้างผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม อาจจะดีเพราะเป็นช่วงเวลาที่ตลาด หรือหุ้นบางประเภทเหมาะสมกับกลยุทธ์แบบนั้น แต่ถ้านำไปใช้ในอีกสถานการณ์หนึ่งผลตอบแทนอาจจะไม่ดีก็ได้ เช่น หุ้น "VI" อาจให้ผลตอบแทนสูงช่วงที่ผ่านมา 10 ปี แต่ในอนาคต 10 ปีข้างหน้าอาจให้ผลตอบแทนต่ำ ตลาดหุ้นที่ก่อตั้งมายาวนานอย่างในอเมริกาก็พบว่าบางช่วง หุ้น "VI" ให้ผลตอบแทนย่ำแย่เมื่อเทียบกับหุ้นแบบอื่น ดังนั้นการอ่านหนังสือที่เขียนโดยนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นไทย จริงๆ ก็ไม่จำเป็นที่เราต้องเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ เขาสำเร็จจริงหรือไม่ ทำมานานแค่ไหน มีโอกาสแค่ไหนที่ความบังเอิญ หรือรับความเสี่ยงสูงเกินไป เป็นต้น
หนังสือกลยุทธ์การลงทุนอีกกลุ่ม หนึ่งที่วางขายกันมาก คือแนว "เทคนิค" นี่คือหนังสือที่บอกว่า จะใช้จังหวะเข้าซื้อขายหุ้นตอนไหน ซึ่งจะบอกจังหวะ "เข้าตลาด" นั่นคือเข้าไปซื้อหุ้นในตลาด โดยดูจากดัชนีและปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดโดยรวม และจังหวะเข้าซื้อหุ้นเป็นรายตัวโดยดูจาก "สัญญาณ" เกี่ยวกับตัวหุ้นโดยเฉพาะราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นตัวนั้นที่ผ่านมา


ปัญหาของหนังสือแนวเทคนิคคือ มักเขียนจาก "สิ่งที่ผ่านมาแล้ว" ที่สอดคล้องกับความคิดและวิธีการของตน เพื่อสรุปแนวทางของตนถูกต้อง ส่วนที่ไม่ตรงนั้นไม่ถูกกล่าวถึง ดังนั้นถ้าเรานำวิธีการนั้นไปใช้กับหุ้นตัวใหม่ หรือในสถานการณ์ใหม่ เราอาจจะผิดได้ง่ายๆ แม้แต่หลักการที่มีการแปลมาจากหนังสือต่างประเทศ "ไม่นิ่ง" นั่นคือ ช่วงเวลาหนึ่งวิธีหนึ่งอาจใช้ได้ผล แต่เมื่อเวลาผ่านไป วิธีนั้นก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป หนังสือเกี่ยวประเภทนี้ ผมคิดว่าคนอ่านต้องเข้าใจ อาจไม่ใช่ของจริง และมีวงจรชีวิตสั้น


หนังสือแนวสุดท้ายที่เขียนกันมาก คือ "การบริหารเงินส่วนบุคคล" หนังสือแนวนี้ พูดถึงการออมเงินและจัดสรรเงินลงทุนตามหลักวิชาการ ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การกระจายความเสี่ยงของการลงทุน โดยการกระจายการลงทุนไปในหลายๆ ทรัพย์สินเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทน นี่คือหนังสือที่ไม่ได้เน้น "นักลงทุนผู้มุ่งมั่น" ที่อยากจะรวยจากการลงทุน แต่เน้นคนชั้นกลางธรรมดาที่ต้องการผลตอบแทนที่ดีขึ้น กับเงินที่เก็บออมเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณ หนังสือแนวนี้จะเป็นประโยชน์ โดยเข้าใจถึงการบริหารเงินที่เน้นความปลอดภัยและใช้ชีวิตที่ไม่เครียดกับการ ลงทุน


ข้อสรุปสุดท้ายของผม คือ การอ่านหนังสือการลงทุน เราต้องเลือกอ่านอย่าง "ชาญฉลาด" ถ้าเลือกผิด หรือไม่เข้าใจข้อจำกัด เราอาจเสียเวลา หรือถ้าเลวร้ายก็จะได้ความรู้ที่ผิด ซึ่งจะเป็นอันตรายกับการลงทุน การเลือกหนังสือลงทุน ผมคิดว่า ต้องทำเหมือนกับการเลือกหุ้นลงทุน คือเลือกหนังสือให้ถูก ถ้าทำได้ ความสำเร็จก็เกินครึ่งไปแล้ว

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2554

คิดแบบ VI

สิ่งสำคัญที่สุดของการลงทุน คือ ความคิด ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอะไร ที่ความสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับความคิดมากเท่ากับ การลงทุน คำพูดที่ว่า "คิดแล้วรวย" เป็นความจริงที่สุดในเรื่องการลงทุนเมื่อเราคิดถูก แต่ถ้าคิดผิด นอกจากจะไม่รวยแล้ว เราก็จะจนลงด้วย ดังนั้น หากจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ต้องคิดให้ถูก แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ควรรู้ว่าคิดอย่างไรหรือคิดแบบไหน ข้อเสนอของผมคือ ถ้าจะรวยจากตลาดหุ้นแบบ Value Investor ควรจะคิดแบบ VI ซึ่งมีวิธีคิดดังนี้

ข้อแรก สำคัญมาก คือ ความคิดของเราต้องไม่ลำเอียง เพราะถ้าเราลำเอียงแล้ว เราจะคิดผิดได้ง่าย ความลำเอียงมักเกิดขึ้นจากความรู้สึกชอบ หรือเกลียด ที่มีต่อสิ่งที่เราคิด เกิดจากการเลี้ยงดูอบรม และยังอาจเกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้คิดเอง แต่ถูกชักนำโดยคนอื่นที่มีความคิดที่ลำเอียง

ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราเป็นคนที่มีฐานะค่อนข้างดี มักจะใช้สินค้าที่มีคุณภาพสูง มีบริการดี ดังนั้นจึงมักจะเข้าห้างที่เน้นขายสินค้าในระดับเดียวกัน เรารู้สึกพอใจกับสินค้าและบริการ แม้ราคาจะสูงขึ้นบ้าง สรุปว่าห้างนี้ "ดี" แต่บางครั้ง เราไปห้างที่ขายสินค้าให้กับคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเรา เราก็พบว่าสินค้าที่ต้องการมี "ไม่ค่อยครบ" คุณภาพก็ "ดูไม่ดีไ บริการก็ "ไม่ประทับใจ" เรารู้สึกว่าห้างนี้ "ไม่ดี" ถ้าไม่จำเป็นคงไม่มาใช้บริการ และใจก็คงคิดว่า คนอื่นจะคิดเหมือนเรา เราลืมไป หรืออาจไม่ทันคิดว่า ราคาสินค้านั้น อาจถูกกว่าร้านที่เราใช้ประจำ แต่ถึงจะรู้ ก็ "ไม่น่าสนใจ" คนอื่นคงไม่สนใจเหมือนกัน ว่าที่จริง เวลาที่คุยกับคนอื่นที่เป็นเพื่อนกัน เขามีความเห็นคล้ายๆ กันว่าห้างแรกดีแต่ห้างหลังห่วย สิ่งนี้ยืนยันกับเราว่า ความคิดของเราเกี่ยวกับสถานะของห้างทั้งสองแห่งถูกต้อง แต่เราลืมคิดไปว่า คนที่เราคุยด้วย มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมคล้ายๆ กับเรา เขาเองก็ลำเอียง ถ้าไปคุยกับคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเรา อาจจะได้อีกภาพหนึ่งที่ตรงกันข้าม นั่นคือ "ห้างหลังดีกว่าห้างแรก" น้อยครั้งที่เราจะได้คุยกับคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ต่างกับเรามากถ้าคุณไม่ตั้งใจจริงๆ

คิดแบบ VI ข้อสอง ผมคิดว่าต้อง คิดยาว และหลายชั้น มองทะลุให้เห็น "พื้นฐาน" จริงๆ เหตุผลคือ สิ่งที่เห็นชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นผล หรือเป็นเรื่องปลายทาง หรือบางทีเป็น "ยอดของภูเขาน้ำแข็ง" ที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำทะเล ถ้าวิเคราะห์เฉพาะสิ่งที่เห็น จะไม่เข้าใจพลัง หรือปัจจัยสำคัญที่กำหนดให้เป็นอย่างนั้น การวิเคราะห์ย้อนหลังจนถึงพื้นฐานสำคัญอย่างเดียวไม่พอ ต้องวิเคราะห์ต่อไปข้างหน้า หรือมองไปในอนาคตด้วยว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าพื้นฐานไม่แน่น อนาคตคงไม่แน่นอน ตรงกันข้าม ถ้าพื้นฐานใหญ่มาก อนาคตคงยากที่จะเปลี่ยนได้ง่าย ลองนึกภาพดูว่า ถ้าเห็นก้อนน้ำแข็งอยู่เหนือน้ำ อาจเป็นก้อนน้ำแข็งที่ไม่มีฐานเลยและพร้อมจะล่องลอยไปมา หรืออาจเป็นปลายภูเขาน้ำแข็งที่ไม่มีทางเคลื่อนไปไหนได้เลยก็ได้

การคิดยาวและหลายชั้น จะทำให้รู้ว่า การเติบโตและผลประกอบการของบริษัทในระยะยาวจะเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้เราตัดสินใจได้ว่าหุ้นของบริษัทคุ้มค่าไหม เมื่อเทียบกับราคาหุ้นที่เห็นด้วยความมั่นใจที่สูง เพราะมีพื้นฐานแข็งแกร่งและใหญ่โตรองรับ ตรงกันข้าม ถ้าวิเคราะห์พบสิ่งที่เราเห็น แม้ดูยิ่งใหญ่ แต่พื้นฐานจริงๆ ง่อนแง่น อนาคตยากที่จะทำนาย แบบนี้การลงทุนก็เสี่ยง การให้มูลค่าก็ต้องไม่สูง และเราต้องเข้าใจถ้าจะซื้อหุ้น ก็อาจเป็นเรื่อง "เก็งกำไร"

คิดแบบ VI ข้อสาม คือ คิดเรื่องการแข่งขัน นี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะธุรกิจทุกประเภท โดยเนื้อหาจริงๆ แล้ว คือการแข่งขัน "ผู้ชนะ" มักจะร่ำรวยมั่งคั่งและเติบโตขึ้น "ผู้แพ้" จนลง หรือล้มหายตายจากไป ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจ แทบทุกอย่างที่มีชีวิตในโลกนี้ต่างต้องแข่งขัน หรือต่อสู้เอาตัวรอดและเติบโตขึ้น คนบางคนหรือบางธุรกิจอาจบอกว่า "ไม่ต้องหรือไม่ได้แข่งขันกับใคร" นี่เป็นคำพูดที่มีความเป็นจริงน้อยมาก เขาอาจไม่ตระหนักว่า กำลังแข่งขัน เพราะไม่มีคู่แข่งให้เห็นชัดเจน เช่น ดารานักแสดง ในชีวิตอาจดูเหมือนไม่ได้แข่งประกวดกับใคร แต่จริงๆ แล้วทุกคนแข่งขันกันหนักมากในการที่จะ "แย่งชิงคนดู"

การวิเคราะห์โดยใช้โมเดลการแข่งขัน จะทำให้เรารู้และเข้าใจธุรกิจและชีวิตที่ดีขึ้นมาก ประเด็นสำคัญ คือ ทำให้รู้ว่าใครเฟื่องฟูและใครตกต่ำในอนาคต หัวใจคือ คนที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง เพราะมีความ "ได้เปรียบ ก็จะเติบโต ส่วนคนที่เสียเปรียบก็ถดถอย หน้าที่ของเรา คือ วิเคราะห์หรือค้นหาว่า อะไรทำให้การแข่งขันแต่ละเรื่องเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ได้เปรียบและสิ่งนั้นเป็นเรื่องที่คงทนถาวรแค่ไหน เช่น ถ้าเป็นการแข่งขันของดารานักแสดง ปัจจัยสำคัญ คือ ความสวย หรือความหล่อและรูปร่างที่สูงเพรียวได้สัดส่วน หรือถ้าเป็นธุรกิจ ก็คือ ขนาด นั่นคือ บริษัทขนาดใหญ่กว่าคู่แข่งมาก จะได้เปรียบค่อนข้างมาก เป็นต้น

คิดแบบ VI ข้อสุดท้ายที่ผมจะพูด คือ การคิดโดยตัดอารมณ์ร่วมหรืออารมณ์หมู่ ที่ขยายความรุนแรงของปัญหา หรือทำให้ภาพดูสดใสเกินจริง ที่ชัดเจนที่สุด คือวิกฤติทั้งหลาย เช่น วิกฤติเศรษฐกิจ การเมือง และวิกฤติภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้น สิ่งๆ เหล่านี้ ช่วงที่กำลังเกิดขึ้น คนมักจะกล่าวถึง และวิจารณ์กัน ซึ่งส่วนมากจะมองภาพที่เลวร้ายสุดๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็มักจะพบว่า ผลกระทบนั้นไม่ได้รุนแรงเท่ากับที่พูด หรือคาดกัน ลองนึกย้อนหลังตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่เราสงสัยกันตอนนั้นว่า ประเทศไทยจะรอดหรือไม่ ไล่มาจนถึงปัญหาทางการเมืองที่รุนแรง จนคนคิดว่าเมืองไทยจะหมดอนาคตไม่มีใครมาลงทุน การปิดสนามบินที่คนพูดกันว่าความเสียหายหลายแสนล้านบาท

ทุกอย่างที่พูดถึง นับถึงวันนี้ผมมองว่า เราผ่านมาได้โดยที่ความเสียหายต่ำกว่าที่เคยกลัวกัน ล่าสุดขณะนี้ที่คนบอกว่าความเสียหายจะมโหฬาร จนทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงค่อนข้างมาก ซึ่งก็คงจะต้องดูกันต่อไปว่าเป็นจริงแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่า VI ไม่ควรคิดตามคนหมู่มากที่กำลังอยู่ในอารมณ์ร่วมที่รุนแรง ตรงกันข้าม เราควรคิดว่าในสถานการณ์แบบนี้ อาจเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นจากการที่คนกลัวเกินเหตุ ทำให้หุ้นมีราคาตกลงมามากเกินกว่าความเสียหายก็ได้

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2554

Wednesday, November 16, 2011

ราคาของที่ดิน

ทรัพย์สินที่มีนัยสำคัญของคนส่วนใหญ่อย่างหนึ่ง ก็คือ ที่ดิน ดังนั้นเราควรมาทำความเข้าใจกับราคา และการเพิ่มขึ้นของราคาของที่ดิน ซึ่งก็คือ ผลตอบแทนจากการถือครองที่ดินนั่นเอง

ข้อเท็จจริงเรื่องแรกที่คนมักเชื่อกันคือ ราคาที่ดินแทบจะไม่เคยลดลง พูดง่ายๆ ซื้อที่ดินแล้วมักไม่ขาดทุน ยิ่งอยู่นาน ราคาก็ปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ ถ้าถามคนที่มีบ้านโดยเฉพาะที่ซื้อมานานแล้ว พวกเขาอาจจะพูดทำนองว่า "เมื่อยี่สิบปีที่แล้วซื้อที่ปลูกบ้านหลังนี้มาราคาแค่ตารางวาละ 10,000 บาท เดี๋ยวนี้วาละ 30,000 บาทแล้ว และราคาไม่เคยลดลงเลย" เป็นต้น

คำกล่าวที่ว่านี้ ผมคิดว่าเป็นความจริงมากแม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้การลงทุนซื้อที่ดินแปลงนี้ หรือที่ดินสำหรับสร้างบ้านส่วนใหญ่กลายเป็นการลงทุนที่วิเศษ เหตุผลก็คือ ถ้าคำนวณผลตอบแทนของการถือครองที่ดินพบว่า การเพิ่มขึ้นจาก 10,000 เป็น 30,000 บาทในเวลา 20 ปี ให้ผลตอบแทนทบต้นเพียงปีละ 5.65% ส่วนราคาไม่เคยลดลงเลยนั้น ผมเชื่อว่าค่อนข้างจริงแต่อาจไม่ทุกปี อย่างน้อยปี 2540 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ราคาน่าจะลดลงบ้าง เราอาจไม่รู้ว่าลดลง เพราะการซื้อขายที่ดินโดยเฉพาะที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยมีสภาพคล่องน้อย นั่นคือ ช่วงที่เกิดวิกฤติ หรือช่วงไหนก็ตาม มีการซื้อขายเปลี่ยนมือน้อย แม้จะซื้อขายบ้าง ข้อมูลไม่ได้เผยแพร่ออกไป ว่าที่จริงก็ไม่ค่อยมีใครแคร์ว่าราคาจะเป็นเท่าไร ถ้าเขาไม่ได้คิดจะขายบ้านที่ตนเองอาศัยอยู่ คนที่รู้ว่าราคาที่ดินลดลงก็คือคนที่ซื้อที่ดินที่พบว่าราคามันถูกลงไปพอ สมควรในปีนั้น

เหตุผลราคาที่ดิน "มีแต่จะขึ้น" เพราะ"พื้นฐาน" ของราคาที่ดินในภาพกว้างเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ มีแนวโน้มค่อยๆ ปรับขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจในชุมชนที่ที่ดินตั้งอยู่ ทั้งเงินเฟ้อและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอด 20 ปีและมากกว่านั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดเกือบทุกปี ดังนั้นราคาที่ดินจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามเกือบทุกปีเหมือนกัน นี่ก็พูดเรื่องพื้นฐานและราคา บางครั้งบางคราวก็มีการเก็งกำไรที่ดินเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ราคาปรับขึ้นก้าวกระโดดเช่นช่วงที่ไทยถูกมองว่าจะกลายเป็น "เสือแห่งเอเชีย" หรือปี 2537-2538 ที่ราคาที่ดินปรับขึ้นแรงมากกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หลังจากนั้นราคาชะลอตัวลง และลดลงช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ จึงทำให้ราคาที่ดินกลับมาใกล้เคียงกับพื้นฐานอีกครั้งหนึ่ง

ในภาพที่เล็กลงมา คือมองที่ดินเป็นย่าน หรือเป็นทำเล ราคาที่ดินจะผันผวนมากขึ้น แต่ก็ยังมีแนวโน้มขาขึ้น เพราะภาพใหญ่คือเรื่องเงินเฟ้อ และการเติบโตเศรษฐกิจยังเป็นขาขึ้น ปัจจัยที่ทำให้พื้นฐานที่ดินดีขึ้น และทำให้ราคาปรับขึ้นมากและรวดเร็ว คือ การมีถนนตัดผ่านที่ดินและมีรถไฟฟ้าผ่านมาใกล้กับที่ดิน ในเขตที่เป็นเมืองและตามทางหลวง ส่วนเขตนอกเมืองนั้น การมีธุรกิจและอุตสาหกรรมเข้ามาอยู่ในพื้นที่ จะช่วยดึงดูดพนักงานและผู้คนรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้ามาด้วย จึงทำให้มีความต้องการที่ดินในบริเวณนั้นมากขึ้น กรณีแบบนี้ การปรับขึ้นเร็วของที่ดินน่าจะเป็นแบบ "ครั้งเดียว" เพื่อตอบรับกับ "พื้นฐานใหม่" หลังจากนั้นการปรับขึ้นก็มักจะกลับสู่ภาวะปกติ คือปรับตัวขึ้นช้าๆ ตามภาพใหญ่

พื้นฐานที่ดิน ส่วนใหญ่อิงอยู่กับทำเลที่ตั้งที่ดิน จนมีคำพูดเป็นเหมือนไบเบิลของอสังหาริมทรัพย์ว่า ที่ดินต้องพิจารณาถึง "ทำเล ทำเล และทำเล" ผมคิดว่า ผลจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ทำให้คนมองปัจจัยน้ำท่วมเพิ่มขึ้นมาด้วย เพราะคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าน้ำท่วม ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว โอกาสที่จะเกิดขึ้นอีกมีอยู่พอสมควร ดังนั้นพื้นฐานของที่ดินหลายส่วนของประเทศอาจเปลี่ยนไป เช่นเดียวกัน ในทำเลใกล้เคียงกันที่เคยมีพื้นฐานเหมือนๆ กัน แต่หลังจากน้ำท่วมครั้งนี้ พื้นฐานอาจต่างกันไป และนี่จะสะท้อนออกมาหลังน้ำลด คือ พื้นที่บางแห่งที่น้ำท่วมสูงและน้ำค้างนาน ราคาที่ดินจะลดลง ขณะที่แห่งอื่นที่น้ำท่วมน้อยหรือไม่ท่วมเลย ราคาจะไม่ลดหรืออาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

การตกลงราคาที่ดินอันเป็นผลจากน้ำท่วม ก็ไม่เท่ากันสำหรับที่ดินแต่ละประเภท ถ้าน้ำท่วมทำให้เสียหายหนักในแง่รายได้และทรัพย์สิน เช่น ที่ดินที่ใช้ทำอุตสาหกรรม แบบนี้ต้องถือว่าพื้นฐานด้อยมาก ราคาอาจตกมาก จริงอยู่ กิจการที่ตั้งอยู่แล้ว อาจไม่ขายที่ดินย้ายโรงงาน เพราะต้นทุนการย้ายที่สูงมาก แต่รายใหม่ที่จะซื้อที่ดินต้องคิดหนัก และอาจต้องการที่ดินในราคาที่ลดลงมาก ส่วนอยู่อาศัย น้ำท่วมบ้านมักมีผลไม่เท่ากับอุตสาหกรรม และการย้ายสถานที่ ก็มีต้นทุนที่สูงมากเช่นกัน คนจึงไม่ย้ายบ้านเพื่อหนีน้ำท่วม คนที่คิดจะซื้อบ้าน หรือที่ดินใหม่ ก็พยายามหลีกเลี่ยงที่ดิน หรือโครงการจัดสรรที่อยู่ในบริเวณน้ำท่วมสูงและนาน ผลคือ ราคาที่ดินที่โดนน้ำท่วมหนักจะลดลง เพียงแต่การลดลงอาจน้อยกว่าที่ดินทำอุตสาหกรรม

การลดลงของราคาที่ดินที่ถูกน้ำท่วมหนัก โดยทฤษฎี เป็นการลงครั้งเดียว หลังจากนั้น ราคาก็จะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นตามภาพใหญ่ ในความเป็นจริง เราอาจจะไม่เห็นเลยว่า ราคาที่ดินพื้นที่น้ำท่วมใหญ่ ปรับลดลงเป็นเรื่องเป็นราว เพราะที่ดินนั้นมีสภาพคล่องต่ำ ช่วงที่ที่ดินควรจะปรับตัวลดลง มักจะซื้อขายน้อยมากโดยเฉพาะที่ดินอยู่อาศัย เพราะคนขายไม่ยอมขายลดราคา และคนซื้อก็ไม่ยอมซื้อในราคาเดิม การซื้อขายจึงไม่เกิดขึ้น สมมติราคาที่ควรจะเป็นคือลดลง 25% จากราคา 100 เหลือ 75 แต่ไม่มีการซื้อขาย จึงไม่เห็นว่าราคาลดลง ผ่านไป 5 ปี และด้วยอัตราการเพิ่มปกติตามภาพใหญ่ที่ราคาที่ดินโตปีละ 6% ราคาที่ดินจาก 75 ก็กลับขึ้นไปเป็น 100 เท่าเดิม และคนก็อาจจะบอกว่า "เห็นไหมถึงจะมีน้ำท่วมใหญ่ ราคาที่ดินก็ไม่ลง"

บางคนอาจจะอ้างน้ำท่วมไม่เป็นปัญหา ไม่ทำให้ราคาที่ดินลดลง โดยยกตัวอย่าง หาดใหญ่น้ำท่วมเป็นประจำ แต่ราคาที่ดินขึ้นเอาๆ ทุกปี แต่ความเป็นจริงควรจะพูดว่า "เพราะหาดใหญ่น้ำท่วมเป็นประจำ ราคาที่ดินจึงไม่ลดลง" เหตุผลคือ พื้นฐานของที่ดินนั้นได้ "รวมน้ำท่วมเป็นประจำไปแล้ว" ราคาที่ดินหาดใหญ่ที่ขึ้น น่าจะขึ้นตามภาพใหญ่ของหาดใหญ่ที่เศรษฐกิจโตขึ้นทุกปี หรือ สึนามิที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ใน จ.พังงา และ ภูเก็ต หลายปีก่อน เราก็เห็นราคาไม่ได้ลดลง และปัจจุบันก็เพิ่มขึ้นทุกปี นี่ก็น่าจะเป็นเพราะสึนามิ ทุกคนรู้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นอีกน้อยมาก พื้นฐานของที่ดินจึงเปลี่ยนน้อยมากจากสึนามิ ราคาจึงไม่ลงและเพิ่มขึ้นทุกปี ตามความเจริญของการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นทุกปี


บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2554

ผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่


เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ถ้าจะวิเคราะห์ผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เราควรแยกความเสียหายเป็น 2 ด้าน  นั่นคือ ความเสียหายจากทรัพย์สิน และความเสียหายจากธุรกิจ โดยเฉพาะยอดขายที่ลดลงในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งทั่วไปบริษัทมักจะเสียหายทั้ง 2 ด้าน คือทรัพย์สินเสียหาย ตามด้วยธุรกิจถดถอยลง บางบริษัททรัพย์สินเสียหายบ้าง แต่ธุรกิจไม่ได้ด้อยลง อาจดีขึ้นด้วยซ้ำ เช่นเดียวกัน บางบริษัททรัพย์สินไม่ได้เสียหาย แต่ธุรกิจด้อยลง ลองมาดูกันว่าธุรกิจแต่ละอย่างถูกกระทบอย่างไร

บริษัทที่ทำนิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตที่ถูกน้ำท่วม รุนแรง ต้องถือว่าเป็นผู้ที่เสียหายหนัก ทั้งด้านทรัพย์สินและธุรกิจ ประเด็นการเสียหายด้านทรัพย์สิน มีทั้งด้านสาธารณูปโภคของนิคม เช่น ระบบไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงเครื่องปั่นไฟที่บริษัทมักจะผลิตไฟฟ้าขายให้กับบริษัทในนิคม เครื่องทำน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย และอื่นๆ อีกมาก ความเสียหายส่วนนี้ บริษัทมักทำประกันไว้ ดังนั้นจะได้รับการชดเชยบ้าง แต่ทรัพย์สินสำคัญที่น่าจะเสียหายหนัก แต่เราอาจจะยังไม่ตระหนักก็คือ "การลดค่าของที่ดิน" เพราะกลายเป็นทำเลที่ "ไม่เหมาะสมกับการสร้างโรงงาน" เพราะอาจเกิดน้ำท่วมใหญ่ได้อีกในอนาคต ซึ่งการเสียหายแบบหลังนี้น่าจะสูงกว่าแบบแรก รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่ามันเป็นความเสียหายที่ไม่มีการทำประกันไว้

ความเสียหายทางธุรกิจของนิคมอุตสาหกรรมก็น่าจะสูงมาก เพราะลูกค้ารายใหม่ๆ ที่คิดจะซื้อที่ดินสร้างโรงงาน ก็คงหลีกเลี่ยงที่จะซื้อที่ดิน เพราะมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมซ้ำอีกในอนาคต จริงอยู่ นิคมอาจจะทำระบบกำแพงป้องกันน้ำท่วมแบบแข็งแรงน้ำไม่สามารถเข้าไปท่วมได้ แต่ก็ไม่รับประกันว่า โรงงานที่อยู่ข้างในจะเปิดดำเนินการได้ ถ้าภายนอกถูกล้อมรอบไปด้วยน้ำ และคนและวัตถุดิบต่างๆ ไม่สามารถเข้าไปได้ อีกทั้งการสร้างกำแพงป้องกันก็ต้องลงทุนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ราคาขายที่ดินถ้าไม่ลดลงก็คงไม่สามารถปรับขึ้นได้ ดูไปแล้ว ธุรกิจของนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม คงอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากไปอีกนาน อย่างมากที่ทำได้ก็คือ หาทำเลใหม่และเริ่มต้นนับหนึ่งจากทำเลนั้น ซึ่งกว่าจะเริ่มออกดอกผลก็มักต้องใช้เวลานานเมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่ต้อง ใส่ลงไป

บริษัททำบ้านจัดสรร โดยเฉพาะที่มีโครงการและที่ดินเหลืออยู่ในทำเลที่ถูกน้ำท่วมหนัก เช่น ย่านบางบัวทอง หรือบางใหญ่ ความเสียหายของทรัพย์สินในทางบัญชีอาจดูเหมือนมีน้อย นี่ก็เหมือนกับกรณีของนิคมอุตสาหกรรม นั่นคือ ไม่ได้รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากการลดค่าของที่ดินซึ่งน่าจะมีไม่น้อย ผมไม่ได้มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่เมื่อคิดถึงตัวเองที่มีที่ดินจัดสรรอยู่ในเขตน้ำท่วมรุนแรงซ้ำซากแล้ว ถ้าขายได้ครึ่งหนึ่งของราคาเดิมผมก็พอใจแล้ว กรณีของที่ดินในโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่โดนน้ำท่วมหนักครั้งนี้ ผมคิดว่าราคาจะลดลง 20-30% น่าจะเป็นไปได้

ส่วนธุรกิจบ้านจัดสรร ผมคิดว่าการขายบ้านที่อยู่ในเขตน้ำท่วมหนักครั้งนี้คงยากขึ้นมาก โดยเฉพาะช่วงปีหรือสองปีนี้ แม้แต่บ้านที่มีการวางมัดจำหรือผ่อนดาวน์ไปบ้างแล้ว น่าจะมีการทิ้งดาวน์ไม่ไปโอนมีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เหตุผลนอกจากไม่อยากมีบ้านอยู่ในทำเลที่ "ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย" แล้ว อาจจะเป็นเพราะคนที่จองซื้อไว้ อาจมองราคาบ้านคงจะลดลงมา จึงยอมทิ้งดาวน์ และถ้าอยากจะได้จริงๆ ค่อยไปซื้อใหม่น่าจะได้บ้านในราคาที่ถูกกว่า ธุรกิจของบริษัทที่มีโครงการและที่ดินอยู่ในเขตน้ำท่วมหนักอย่างมีนัยสำคัญ คงถูกกระทบค่อนข้างมากช่วง 2-3 ปีข้างหน้า วิธีการแก้ไขต้องไปทำโครงการที่อยู่ในทำเลที่ไม่ถูกน้ำท่วมรุนแรง นี่ก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้นและยังต้องใช้เวลาพัฒนาโครงการ

บริษัทที่เป็นโรงงานผลิตสินค้า เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ที่มีโรงงานหลักอยู่ในเขตน้ำท่วมรุนแรง ความเสียหายจากทรัพย์สินมีไม่น้อย แม้จะมีการประกันภัยไว้ เพราะนอกจากทรัพย์สินแล้ว โรงงานคงมีค่าใช้จ่ายที่ไม่น่าจะเคลมคืนได้เช่น  ค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรงงาน ค่าแรงคนงานที่ยังต้องจ่ายในระดับถึง 75% ของค่าแรงพื้นฐาน สินค้าและวัตถุดิบที่เสียหาย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมาก

ส่วนความเสียหายด้านธุรกิจ ผมคิดว่า คงมีไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะผู้ผลิตที่เป็นผู้ส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากความเสียหายที่ไม่สามารถขายสินค้าได้ในช่วงที่โรงงานถูกน้ำท่วมเป็น เดือนๆ แล้ว ในระยะยาว หลังจากโรงงานกลับมาดำเนินการใหม่ บริษัทอาจประสบปัญหาในการขายได้เหมือนกันในแง่ ลูกค้าเดิม อาจหันไปหาซัพพลายเออร์รายใหม่ เพราะรอไม่ไหว จริงอยู่ บริษัทน่าจะได้รับออเดอร์กลับมาบ้าง แต่ผู้ซื้อต้องกระจายความเสี่ยง โดยการสั่งซื้อจากที่อื่นมากขึ้น เพราะเขากลัวว่าถ้าเกิดปัญหาน้ำท่วมอีกในอนาคต การผลิตของเขาจะมีปัญหาอีกเช่นในปีนี้

ธุรกิจเช่นพวกผู้ค้าปลีก ความเสียหายจากทรัพย์สินมีไม่มาก เพราะเป็นแค่ร้านค้า หรือศูนย์กระจายสินค้าที่อยู่ในเขตน้ำท่วมหนัก เครื่องมือหรืออุปกรณ์มักมีราคาไม่สูง และมีประกันภัย ส่วนของธุรกิจ ความเสียหายส่วนใหญ่ มาจากยอดขายที่หายไปจากการปิดสาขาที่อยู่ในเขตน้ำท่วมหนัก เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขายรวมแล้ว ก็ยังไม่มากนัก ความเสียหายอีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่สินค้าขาด เพราะระบบจัดส่งสินค้าขัดข้อง เนื่องจากศูนย์กระจายสินค้าถูกน้ำท่วม แต่ยอดขายที่ลดลง จะเป็นเรื่องระยะสั้น เมื่อน้ำลดหรือระบบกระจายสินค้าทั้งที่เป็นศูนย์ชั่วคราวหรือศูนย์เดิมทำงาน ได้แล้ว ยอดขายก็จะกลับมาเป็นปกติ ผลกระทบระยะยาวมีน้อยมาก

สุดท้ายก็คือ บริษัทที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูบ้าน หรือสิ่งก่อสร้างหลังน้ำลด รวมถึงผู้ขายวัสดุและผู้รับเหมาก่อสร้าง บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะไม่ใคร่ถูกกระทบด้านทรัพย์สินที่เสียหายจากน้ำ ท่วมใหญ่ ด้านธุรกิจช่วงน้ำกำลังท่วม บริษัทอาจจะมียอดขายที่ลดลงบ้าง เพราะปัญหาการคมนาคม ตัวลูกค้า และคนงานที่อาจจะพะวงอยู่กับปัญหาน้ำท่วม แต่หลังจากน้ำลดลงแล้ว ธุรกิจก็จะเฟื่องฟูมากจน "ทำไม่ทัน" และมากกว่ายอดขายที่เสียไป ยอดขายหรือธุรกิจที่ดีขึ้น น่าจะดำรงอยู่อย่างน้อย 1-2 ปีขึ้นไป  และต้องถือว่า นี่คือกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากน้ำท่วมใหญ่ ขณะที่กลุ่มอื่น โดยรวมแล้วมักจะเสียหาย หรือขาดทุนหรืออย่างมากก็เสมอตัวในเหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2554

NPA

ความคิดต่อไปนี้ เกิดขึ้นเมื่อผมต้องย้ายข้าวของภายในบ้านจากที่ต่ำไปสู่ที่สูง เพราะนั่นทำให้ผมพบว่ามีสิ่งของมากมายที่ผมแทบจะไม่เคยได้ใช้ หรือใช้เพียง 2-3 ครั้ง แล้วก็ถูกเก็บเอาไว้จนผมลืมไปแล้วว่ามีอยู่ เครื่องใช้หลายอย่างนั้น ผมซื้อมาเพราะคิดว่ามันน่าใช้ มีประโยชน์ แต่หลังจากนั้นผมก็พบว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากทำจริงๆ เช่น เครื่องออกกำลังกาย เครื่องมือทำความสะอาดบ้านแบบหรูหรา เป็นต้น สิ่งของบางอย่างนั้น ผมได้รับมาจากคนอื่นเป็นของขวัญ  หรือเป็นของรางวัล  ของเหล่านั้น  ผมไม่ต้องการใช้ในขณะนั้น  จึงเก็บไว้  แล้วก็ลืมว่ามันมีตัวตนอยู่  สิ่งของทั้งหมดนั้น  ผมเรียกมันว่า NPA หรือ  non-performing asset  หรือ “ทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์” ทั้งๆ ที่มันอาจจะมีประโยชน์สำหรับคนอื่น

ลองสำรวจตัวเองแล้ว  ผมก็คิดว่าตนเองไม่ใช่คนที่ซื้อหรือเก็บของอะไรมากมายนัก  ดังนั้น  คนอื่นจำนวนมากก็น่าจะมี NPA อยู่มากโขเหมือนกันโดยเฉพาะคนที่มีบ้านใหญ่โตเก็บของได้มาก  และเมื่อยิ่งคิดไปอีกก็พบว่า  ในความเป็นจริง  ผมหรือคนจำนวนมากนั้น  ไม่ได้มี NPA เฉพาะที่เป็นของใช้ต่างๆ  ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในบ้านเท่านั้น   แต่ยังมี NPA ที่เป็นทรัพย์สินรายการใหญ่ๆ  อีกไม่น้อย  และ NPA  เหล่านั้น  น่าจะมีส่วนทำให้ความมั่งคั่งของเขาถดถอยลงเนื่องจากมัน  “ดูด”  เงินของเราให้  “จม”  ไปกับมันโดยไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์หรือรายได้กลับมา

NPA ที่เคยเป็นรายการทรัพย์สินใหญ่ของผมตัวหนึ่งก็คือ  ที่ดินแถวบางบัวทองที่ผมซื้อมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 15 ปีก่อนในช่วงวิกฤติปี 2540 ที่แปลงนั้นมีราคากว่า 5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญในขณะนั้นของผมและผมต้องก่อหนี้ถึงกว่า 3 ล้านบาทเพื่อที่จะซื้อมาและพบว่าผมไม่สามารถใช้มันได้เลยเนื่องจากอาณา บริเวณนั้นถูกน้ำท่วมตั้งแต่วันแรกที่ซื้อและท่วมต่อมาอีกเกือบทุกปี การที่จะขายทิ้งแทบเป็นไปไม่ได้ยกเว้นว่าจะขายถูกมากแบบครึ่งราคาซึ่งผมไม่ ยอมทำ  ผมปล่อยให้มันเป็น NPA มาเป็นสิบๆ ปีและนั่นคือความผิดพลาด เพราะถ้าผมขายทิ้งตั้งแต่แรกๆ แม้ในราคาเพียงครึ่งเดียวและนำเงินมาลงทุนในทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้  ป่านนี้มันคงกลายเป็นเงินก้อนโตไปแล้ว

คนที่ซื้อคอนโดมิเนียมไว้ โดยเฉพาะที่อยู่ตามสถานที่ท่องเที่ยวในต่างจังหวัด  แต่ไม่ค่อยได้ไปพัก   เช่นปีหนึ่งอาจจะใช้เพียง  4-5 วัน ในกรณีอย่างนี้เขาอาจจะไม่ตระหนักว่า  มันได้กลายเป็น NPA เรียบร้อยแล้ว เหตุผลก็เพราะว่า ด้วยเม็ดเงินลงทุนที่ต้องเสียไปเปรียบเทียบกับผลตอบแทนหรือประโยชน์ที่ได้ รับนั้น  มันไม่สัมพันธ์กันเลย ตัวอย่างเช่น ถ้าคอนโดมีราคา 2 ล้านบาทและเราสามารถสร้างผลตอบแทนได้ปีละ 10% เราก็จะได้เงินปีละ 2 แสนบาท เทียบกับการใช้คอนโดของเราประมาณ  4-5 วันต่อปี เท่ากับว่าเราเสียค่าที่พักคืนละ 4-5 หมื่นบาท ดังนั้นต้องถือว่าคอนโดที่เราซื้อมากลายเป็น NPA ไปแล้ว
       
หุ้นหลายตัวที่เราถือมานานหลายปี แต่เมื่อมองย้อนหลังกลับไป พบว่ามันให้ผลตอบแทนน้อยมาก ทั้งจากปันผลที่น้อยนิดและราคาหุ้นที่ไม่ไปไหนมานาน  เหตุผลที่เราไม่ขายทิ้งก็อาจจะเป็นเพราะว่าราคาหุ้นต่ำกว่าต้นทุนมาก เราขายไม่ลง หรือเราอาจจะมองว่าหุ้นตัวนั้นมีราคาถูกเป็นหุ้น VALUE และหวังว่าในที่สุดมันก็จะปรับตัวขึ้นมาเอง ดังนั้นเราจึงไม่ขาย ในกรณีแบบนี้ เราอาจจะกำลังถือหุ้นที่เป็น NPA หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องยิ่งขึ้นก็คือเป็น NPS  หรือ non-performing stock  ซึ่งยิ่งถือนานก็ยิ่ง “ขาดทุน”  เพราะถ้าเราขายหุ้นไปแล้วเอาเงินมาลงทุนในหุ้นอื่นที่ดีกว่า เราจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่ามากในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านไป

สุดท้ายที่ผมเห็นว่าคนจำนวนมากไม่ตระหนักก็คือ การที่เราฝากเงินไว้ในธนาคารจำนวนมากกว่าความจำเป็นเพราะเราไม่รู้เรื่องการ ลงทุนดีพอจริงอยู่ การฝากเงินนั้นแม้ว่าจะปลอดภัยแต่มันก็ให้ผลตอบแทนน้อยมาก ช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาเราได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละไม่เกิน 2-3%  ต่ำยิ่งกว่าอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นในความคิดของผม เงินฝากธนาคารในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมานั้นเป็น  NPA โดยที่คนจำนวนมากไม่รู้ตัว

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั่นก็คือ เราต่างก็มีทรัพย์สินที่เป็น NPAจำนวนมาก ดังนั้น วิธีที่จะสร้างความมั่งคั่งที่น่าจะมีประสิทธิภาพที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ การตระหนักถึง NPA ที่อาจจะอยู่ในพอร์ตของเราอย่างไม่รู้ตัว การไม่สร้างหรือซื้อทรัพย์สินที่มีโอกาสที่จะกลายเป็น NPA สูง และการแก้ไขทรัพย์สินที่เป็น NPA โดยวิธีการต่างๆ ซึ่งแน่นอน รวมถึงการขาย NPA นั้นทิ้งแม้ว่าจะได้ราคาน้อยกว่าที่เราคาดหรือคำนวณไว้มากถ้าทำได้แบบนี้   หนทางสู่ความมั่งคั่งคงจะราบเรียบขึ้นเยอะโดยที่เราอาจจะไม่ต้องใช้ความ พยายามมากเกินไป
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2554

Monday, October 24, 2011

Blitzkrieg


น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยเวลานี้ทำให้ผมนึกไปถึงสงครามโลกครั้งที่สอง เปรียบเทียบประเทศไทยก็คล้ายๆ กับฝรั่งเศสหรืออังกฤษ

ขึ้นอยู่กับว่าผลของน้ำ ท่วมสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ส่วนน้ำนั้นก็คือเยอรมนี สงครามโลกครั้งที่สองนั้นเป็นมหาสงครามระหว่างฝรั่งเศส อังกฤษและพันธมิตรอื่นๆ กับเยอรมนี ส่วนน้ำท่วมใหญ่นั้นเป็น “มหาสงคราม” ระหว่างประเทศไทยกับมวลน้ำมหาศาลที่กำลังบุกเข้าโจมตีกรุงเทพฯ

สงครามโลกครั้งที่สองเริ่มจริงๆ ในเดือนกันยายน ปี 1939 เมื่อฮิตเลอร์บุกโปแลนด์ซึ่งทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสต้องประกาศสงครามกับ เยอรมนี แต่ในความเป็นจริงการรบระหว่างสองค่ายยังไม่เกิดขึ้น คนในอังกฤษและฝรั่งเศสก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไป ยังคงฉลองคริสต์มาสกันตามปกติ แต่ในทางตรงกันข้าม  เยอรมนีนั้นกำลังเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์และฝึกซ้อมทหารอย่างขะมักเขม้นเพื่อ เตรียมบุกยึดประเทศศัตรู  ถ้าเปรียบไปก็คงเหมือนช่วงประมาณเดือนมิถุนายนปีนี้ที่น้ำเริ่มท่วมในชนบท ของไทยหลายแห่งแต่ก็ไม่ใคร่มีใครคิดว่ามันจะกลายเป็นการท่วมที่ใหญ่โตอะไร นัก ในเวลาเดียวกัน  น้ำฝนก็เริ่มตกลงมาและสะสมพลังน้ำไว้มหาศาลโดยที่ไม่มีใครตระหนัก  และเขื่อนต่างๆ ยังกักเก็บน้ำตามปกติ มหาสงครามโลกครั้งที่สองกำลังจะเริ่มแล้ว..  เช่นเดียวกับ “มหาสงครามน้ำ” ในประเทศไทย

ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม 1940 เยอรมนีก็เริ่มสงครามเปิดศึก Blitzkrieg หรือการรุกแบบ “สายฟ้าแลบ” เข้ายึดเดนมาร์ก นอร์เวย์ เบลเยียม ประเทศยุโรปที่อยู่ทางใต้หลายประเทศ และยึดฝรั่งเศสได้ในวันที่ 22 มิถุนายน 1940 ใช้เวลาเพียง 2-3 เดือน จากนั้นก็เตรียมบุกอังกฤษซึ่งมี “ป้อมปราการ” ที่เป็นช่องแคบอังกฤษขวางอยู่

Blitzkrieg นั้น เป็นกลยุทธ์การรบที่เยอรมนีใช้หน่วยรถถังแพนเซอร์ที่เคลื่อนที่เร็วและทรง พลานุภาพพร้อมๆ กับกองกำลังทหารจำนวนมหาศาลบุกเข้าโจมตีแนวป้องกันต่างๆ ของฝ่ายตรงข้ามจุดแล้วจุดเล่า ทุกแห่งนั้นไม่สามารถป้องกันได้และ “แตก” อย่างรวดเร็ว ในกรณีของฝรั่งเศส “แนวป้องกันมายิโนต์” ซึ่งสร้างอย่างยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งมากและคิดว่า “ไม่มีใครสามารถผ่านไปได้” ก็ถูก “อ้อม” และผ่านไปในที่สุด ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรสามารถต้านทานกองทัพเยอรมนีได้

ประมาณ เดือนสิงหาคม 2554 น้ำก็เริ่ม “บุก” จังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือของไทยตั้งแต่เชียงใหม่ และต่อมาที่นครสวรรค์ อยุธยา ปทุมธานี ทุกเมืองต่างก็สร้าง “เขื่อน” ป้องกันและ “ต่อสู้” กับน้ำในทุกรูปแบบแต่ก็ล้มเหลว เช่นเดียวกันนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเปรียบเสมือนเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเทียบได้ กับโรงงานผลิตอาวุธที่จำเป็นในสงคราม ต่างก็ “แตก” อย่างง่ายดายทุกที่ที่น้ำผ่าน มวลน้ำมหาศาลที่ไหลบ่ามานั้นก็คงเหมือนรถถังแพนเซอร์และกองกำลังของเยอรมนี ที่มีประสิทธิภาพสูงจนไม่มีใครสามารถทานได้ ในเวลาเพียง 2-3 เดือนน้ำก็มาจ่ออยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้สร้าง “ป้อมปราการ” เป็นแนวป้องกันที่แข็งแกร่งและหวังว่าจะ “ไม่มีมวลน้ำที่จะผ่านไปได้”

ขณะที่เขียนบทความนี้ ผมเองก็ยังไม่ทราบว่ากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในเขตชั้นในจะรอดพ้นจากภาวะน้ำท่วมหรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จ กรุงเทพฯ ก็คงจะเปรียบเหมือนฝรั่งเศสที่ถูกยึด แต่ถ้ากรุงเทพฯ รอดพ้นจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ไปได้ก็คงจะเหมือนกับอังกฤษ ที่รอดพ้นจากการยึดครองเพราะมีช่องแคบขวางอยู่ แต่สิ่งที่ทำให้อังกฤษรอด อยู่ที่กองทัพเรือและกองทัพอากาศที่มีประสิทธิภาพในการที่จะยับยั้งฝ่าย เยอรมนีไม่ให้รุกข้ามช่องแคบมาได้  เหนือสิ่งอื่นใดกำลังใจที่เข้มแข็งและความสามัคคีอันยิ่งใหญ่ของชาวอังกฤษ เป็นปัจจัยชี้ขาดทำให้อังกฤษเอาชนะฝ่ายเยอรมนีได้สำเร็จ

ความพ่ายแพ้ของเยอรมนีนั้น ถ้ามองกันในภาพใหญ่จริงๆ แล้วก็คือ  เยอรมนีมีทรัพยากรหรือกำลังไม่พอที่จะทำสงครามยืดเยื้อยาวนานได้ เช่นเดียวกัน น้ำนั้นก็มีพลังเพียงเท่าที่มันยังอยู่ในที่สูงและอยู่บนพื้นดิน ซึ่งในไม่ช้าน้ำทั้งหมดก็จะต้องไหลลงทะเลเป็นส่วนใหญ่และก็จะหมดพลังไปในที่ สุด เรารู้ว่าในที่สุดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยก็ต้องจบลงไป แต่ในขณะนี้สิ่งที่ต้องทำก็คือ ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

ในแง่ของผู้คนทั่วไป ผมดูแล้วผลกระทบก็น่าจะคล้ายกัน ในสงครามมีผู้อพยพและศูนย์ผู้ลี้ภัย น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ก็คล้ายกัน ในสงครามผู้คนต่างก็ต้องกักตุนอาหาร เช่นเดียวกัน น้ำท่วมครั้งนี้สินค้าจำนวนมากถูกกวาดจากชั้นวางของในห้าง ซึ่งรวมถึงน้ำ อาหารแห้งและอาหารกระป๋อง เราเห็นความแตกตื่นของผู้คนที่หนีการสู้รบและหนีน้ำไม่ต่างกัน แต่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเสียหายของทรัพย์สินที่มากมายมหาศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านและของใช้ภาย ในบ้านที่จะหายไปกับสงครามและสายน้ำ แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป

ในมหาสงครามโลกครั้งที่สองนั้น แน่นอน ถือเป็นวิกฤติที่ยิ่งใหญ่ แต่วิกฤตินั้นมีโอกาสอยู่เสมอโดยเฉพาะในตลาดหุ้น ตลาดหุ้นทั้งในอเมริกาและอังกฤษในช่วงของสงครามมีราคาขึ้นลงหวือหวาช่วงที่ ฝรั่งเศสและอังกฤษเพลี่ยงพล้ำ ตลาดหุ้นตกต่ำอย่างแรง แต่ในยามที่เยอรมนีปราชัย ตลาดหุ้นก็วิ่งขึ้น เช่นเดียวกัน ราคาหุ้นของบางบริษัท เช่นผู้ผลิตอาวุธและยุทธปัจจัยในอเมริกาต่างก็ได้ประโยชน์และวิ่งขึ้น ตรงกันข้ามกิจการหลายอย่างโดยเฉพาะที่เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยก็ถูกกระทบเพราะคนคง ลดการใช้ลงไปมาก

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ก็เช่นกัน บางบริษัทได้ประโยชน์แม้ว่าส่วนใหญ่จะเสียหาย อย่างไรก็ตามกรณีของน้ำท่วมนี้ เรารู้ผลลัพธ์ชัดเจนอยู่แล้วว่าในไม่ช้าน้ำก็จะลดลงหรือแพ้ไปตามธรรมชาติ ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องพิจารณาจึงมีเพียงว่าบริษัทจะได้รับความเสียหายแค่ ไหนและความเสียหายนั้นจะต่อเนื่องต่อไปอีกนานเท่าไร ภาพโดยรวมแล้วผมคิดว่าบริษัทที่น่าจะเสียหายมากที่สุดก็คือบริษัทที่ตั้ง อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมหรือมีทรัพย์สินอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมรุนแรง โดยเฉพาะบริษัทที่มีโรงงานส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่โดนน้ำท่วมหนักและบริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีที่ดินและโครงการจมอยู่ใต้น้ำ ส่วนบริษัทอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบรองลงมาก็คือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริษัทอื่นที่ถูกกระทบ รุนแรงและการผลิตหรือการดำเนินงานต้อง “สะดุด” หยุดลงชั่วคราว ส่วนบริษัทที่ได้ประโยชน์หรือเสียหายน้อยก็คือบริษัทที่อาจจะมียอดขายลดลง บ้างในช่วงนี้แต่จะกลับมาขายดีขึ้นเมื่อน้ำลด เช่น บริษัทขายวัสดุก่อสร้างหรือบริษัทที่ขายสินค้าจำเป็นทั้งหลาย แต่โอกาสจริงๆ คือ เราจะต้องพิจารณาว่าราคาหุ้นของแต่ละบริษัทที่เรากำลังพิจารณานั้นตกลงมาแค่ ไหนเมื่อเทียบกับผลกระทบที่บริษัทได้รับ
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 25 ตุลาคม 2554

ทุนเสน่หา


คนจะรวยได้ต้องมี ทุน ยิ่งมีทุนมากโอกาสมั่งคั่งก็มาก เพราะทุนคือทรัพยากรที่สร้างหรือทำเงินให้เรา คนไม่มีทุนหรือมีทุนน้อย โอกาสรวยแทบเป็นศูนย์

ดูเหมือนคนไม่มีทุน โอกาสรวยมากที่สุด ก็คือ การถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง ซึ่งก็คือโอกาสหนึ่งในหลายๆ ล้าน และถึงจะรวยก็คงรวยไม่มากไม่ถึงร้อยล้าน

ผมพูดแบบนี้อาจทำให้หลายคน มีข้อโต้แย้งอย่างแรง เพราะเศรษฐีหรือเจ้าสัวหลายคนในเมืองไทย ว่ากันว่าไม่มีทุนเลย หลายๆ คนแทบจะมีแต่ "เสื่อผืนหมอนใบ" ตอนเริ่มต้นสร้างตัว ดังนั้นจะบอกได้อย่างไรว่าคนไม่มีทุนไม่มีวันรวย?

ที่จริงนักลงทุนหลายคนในตลาดหุ้นที่มั่งคั่งร่ำรวยในวันนี้ เริ่มจากทุนน้อยมาก แต่ผมยืนยันว่า ทุนเป็นปัจจัยสำคัญ แทบจะประการเดียวที่ทำให้คนมั่งคั่ง หรือร่ำรวย เพราะทุนในความหมายของผมครอบคลุมทุนหลายแบบ อะไรที่ทำเงินได้ก็เป็นทุนทั้งสิ้น

ทุนแบบแรก คือ ทุนทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Capital เป็นทุนที่เราคุ้นเคยกัน ได้แก่ เงินทอง ที่ดินอาคาร หุ้น ทอง เครื่องเพชร และสิ่งของต่างๆ ที่เราจับต้องได้ มีมูลค่าและ/หรือราคาในตลาด คนที่มีทุนประเภทนี้มาก เช่น คนที่ได้รับมรดก หรือได้รับเป็นของขวัญจากพ่อแม่ทั้งให้เปล่า หรือให้ยืม จะมีโอกาสที่เขาสร้างเงิน หรือความมั่งคั่ง ซึ่งก็จะกลับมาเป็นทุนที่เพิ่มขึ้นอีก คนที่ใช้ทุนไม่เป็น เช่น นำทุนไปลงทุนต่อแล้วขาดทุนจนหมดตัว ดังนั้นการใช้ทุนให้เป็น หรือใช้อย่างฉลาดก็เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งไม่น้อยไปกว่าการ มีทุนเหมือนกัน

ทุนแบบที่สองคือ "ทุนมนุษย์" หรือ Human Capital นี่ก็ คือความรู้ ความสามารถและทักษะของเรา ซึ่งผมคิดว่า IQ มีส่วนสำคัญกำหนดว่าเราจะมีทุนแบบนี้มากน้อยแค่ไหน ทุนมนุษย์ เป็นทุนที่สร้างขึ้นได้ด้วยตนเอง นั่นก็คือ ถ้าเราตั้งใจเรียนหมั่นศึกษาหาความรู้ เราก็สามารถเพิ่มพูนทุนนี้ได้ ทุนมนุษย์ ในอดีตอาจจะสร้างเงินไม่ได้มากมายนักเทียบกับทุนทางเศรษฐกิจ และมักจะมีคำกล่าวเสมอว่า "การรับจ้างกินเงินเดือนไม่มีวันรวย" แต่ในโลกที่เจริญขึ้น บริษัทขนาดใหญ่ขึ้น และมีการแบ่งแยกระหว่างเจ้าของกิจการกับผู้บริหารมากขึ้น การใช้ทุนมนุษย์ หรือความสามารถ ก็ทำเงินให้ได้มหาศาลไม่แพ้คนที่มีทุนทางเศรษฐกิจ

ทุนแบบที่สามคือ "ทุนทางสังคม" หรือ Social Capital คือการใช้ Connection หรือความสัมพันธ์ทำเงิน คนที่มีทุนแบบนี้มาก คือคนที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับคนอื่นๆ หรือเป็นคนที่มีภาพพจน์ดี โดยเฉพาะกับคนที่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเองได้ ก็สามารถใช้ความสัมพันธ์นั้นทำเงิน หรือทำให้ตนเองมั่งคั่ง ได้มากกว่าคนที่มีทุนแบบนี้น้อยกว่า แน่นอนว่าคนบางคน มีทุนแบบนี้มาก แต่ถ้าไม่รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางการเงิน ก็จะไม่ร่ำรวย หรือมั่งคั่งเพิ่ม และนี่ก็เหมือนกับทุนอย่างอื่น ที่คนบางคนอาจมี แต่ทิ้งไว้เฉยๆ หรือบริหารทุนแบบผิดพลาด ประโยชน์ก็ไม่เกิดขึ้น

ทุนตัวสุดท้าย คือสิ่งที่ผมอยากเรียกว่า "ทุนเสน่หา" หรือ Erotic Capital ถ้าจะพูดแบบเท่ๆ คือทุนพวก "สวย มีเสน่ห์ และเซ็กซี่" นี่เป็นทุนที่มีบทบาท หรือสร้างเงินและความมั่งคั่งได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมยุคข่าวสารข้อมูล ทุนเสน่หาในอดีตมักถูก "กีดกัน" ไม่ให้สามารถสร้างความมั่งคั่งหรือร่ำรวยได้ ด้วยเหตุผลทางสังคมและการปกครอง ในอดีตสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก แม้แต่นักร้องหรือดาราระดับซูเปอร์สตาร์ยังต้อง "ปากกัดตีนถีบ" คนที่เรียนจบปริญญาตรีไม่มีใครยอมเป็นดารา เพราะถูกมองว่าเป็นคน "เต้นกินรำกิน" ลูกหลาน "ไฮโซ" ในสังคมไม่ยอมให้ลูกเป็นดารา หรือไปแต่งงานกับดารา แต่เดี๋ยวนี้ตรงกันข้าม ทุกคนอยากเป็นดาราหรือแฟนดารา ดาราระดับซุปตาร์ ทำเงินมหาศาลและหลายคนร่ำรวยกว่าคนที่เป็นลูกหลานไฮโซ

แน่นอน ทุนเสน่หา ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่อยู่ในแวดวงบันเทิง คนที่เกิดมาสวยหรือหล่อ ร่างกายสูงและรักษาน้ำหนักไม่ให้อ้วน เป็นคนยิ้มมีเสน่ห์ประทับใจ บางคนดู "เซ็กซี่" สำหรับเพศตรงข้าม คนแบบนี้ถือว่ามีทุนเสน่หาสูง และถ้ารู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ เช่น ไปทำงานในแวดวงที่ให้คุณค่ากับ Erotic Capital มาก เช่นงานที่เกี่ยวข้องกับคนบันเทิงหรืองานบริการ พวกเขาจะทำเงินได้มาก และแม้แต่งานอื่นทั่วๆ ไป ความ "เสน่หา" ก็ช่วยเพิ่มความสำเร็จ หรือเพิ่มเงินให้พวกเขาได้

การศึกษาในต่างประเทศพบว่า คนหน้าตาดีประเภทหล่อหรือสวย ได้เงินเดือนโดยเฉลี่ยสูงกว่าคนหน้าตาขี้เหร่ 15-20% ในอาชีพทั่วๆ ไป ยิ่งหนักกว่านั้นคือ คนสูงจะทำเงินมากกว่าคนเตี้ย 20-25% ตรงกันข้ามคนอ้วนได้เงินเดือนต่ำกว่าคนน้ำหนักปกติ 10-15% และที่น่าแปลกคือ ผลกระทบถ้าเป็นผู้ชายส่วนใหญ่จะสูงกว่าผู้หญิง

ทุนเสน่หา ในอดีตดูเหมือนว่าจะขึ้นอยู่กับ "ดวง" เสียมาก นั่นคือเกิดมาสวยหล่อและสูง แต่ปัจจุบันนี้เราเพิ่มทุนตัวนี้ได้พอสมควร เช่น การทำศัลยกรรม การลดน้ำหนัก การเข้ายิม การทำสีผิวให้ขาว และการแต่งหน้าและแต่งตัวให้ดูดี การลงทุนเพิ่มทุนเสน่หาให้กับตัวเอง จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะนี่อาจเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า    คนจำนวนมาก อาจไม่ตระหนักว่าการมีหน้าตาดี หุ่นสูงใหญ่ แต่งตัวดี จะไปเกี่ยวอะไรกับการทำงานอาชีพ เช่น ผู้บริหารที่ต้องใช้ประวัติการศึกษา ทักษะ และความสามารถในการวิเคราะห์พิจารณาตัดสินใจอย่างไร แต่ข้อเท็จจริงคือ คนที่มีทุนเสน่หาสูง มักได้รับการโปรโมตดีกว่าคนที่มีคุณสมบัติอื่นเท่าๆ กัน พวกเขามักได้เงินสูงกว่า ถูกเลือกให้เข้าทำงานมากกว่าคนที่หน้าตาและหุ่นไม่ให้ ทั้งๆ ที่งานเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวกับรูปร่างและหน้าตา

ทุนทั้งสี่แบบนั้น มีการเพิ่มและลดได้ ขึ้นอยู่กับเจ้าตัวที่จะทำ เช่น คนที่มีทุนเป็นเงินก็มักจะไปเพิ่มทุนมนุษย์ ทุนสังคม และทุนเสน่หา ซึ่งอาจกลับไปทำให้เขาเก่ง  มีสายสัมพันธ์และดูดี ซึ่งจะทำให้เขาทำเงินเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเงินที่ลงไป ตัวทุนเองก็เปลี่ยนแปลงไปได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้ เช่น ตัวทุนเสน่หา เมื่อเวลาผ่านไป ทุนนั้นจะลดลงตามธรรมชาติ ดังนั้นคนที่มีทุนตัวนี้ แต่ไม่ได้ใช้ในเวลาที่เหมาะสมอาจจะเสียโอกาสไป 

ทั้งหมดนั้น เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของทุน ซึ่งทุกคนมีแต่หลายคนอาจรู้ไม่ครบว่าตนเองมี เจ้าสัวที่รวยได้แม้เริ่มจากเสื่อผืนหมอนใบ หรือนักลงทุนที่รวยโดยเริ่มจากเงินทุนเพียงเล็กน้อย แท้จริงแล้วพวกเขาคงมีทุนมนุษย์ที่มากล้นแต่คนมองไม่เห็น แต่ถ้าเราเข้าใจทุนจริงๆ แล้ว จะไม่สงสัยเลยว่าความมั่งคั่งส่วนใหญ่มาจากทุนทั้งสิ้น 

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 18 ตุลาคม 2554

จะซื้อหรือขายหุ้น


ในช่วงที่ตลาดหุ้น ตกลงมาอย่างหนักในช่วงเวลาสั้นๆ คนที่ไม่ได้ถือหุ้นอยู่ หรือถือไว้น้อยมาก ก็มักจะถามว่า “ซื้อหุ้นได้หรือยัง?”
คนกลุ่มนี้มักจะเป็นนัก เล่นหุ้นสมัครเล่น  และเป็นคนมีเงินที่พร้อมเข้าไปเสี่ยงเก็งกำไรจากตลาดหุ้นเป็นครั้งคราว  กลยุทธ์ของเขา ก็คือ  ช้อนซื้อหุ้นในช่วงที่มันตกต่ำเพราะตลาดเกิด  “แพนิค”  นั่นคือ  นักลงทุนตกใจจากภาวะน่ากลัวทางเศรษฐกิจและเทขายหุ้นอย่างหนัก  ทำให้ดัชนีปรับตัวลงแรง  ความเชื่อของพวกเขา ก็คือ  เมื่อหุ้นตกลงมาแรง   มันก็มักจะ  “กระเด้ง”  กลับขึ้นไปอย่างแรงเช่นกัน  ดังนั้น  เขาอยากรู้ว่าดัชนีที่ตกต่ำลงมามากในระยะเวลาอันสั้นนั้น  ถึง  “พื้น” หรือยัง  ถ้าผมตอบว่า  “หุ้นมันก็ลงมามากน่าสนใจแล้ว-ถ้าถือไปสัก 2-3 ปี”  เขาก็จะเข้าไป “ช้อน” ซื้อหุ้นทันที

เกณฑ์ที่ผมใช้ในการให้คำแนะนำที่  “จำเป็น”  ต้องทำนี้ ก็คือ  ผมจะดูว่าดัชนีหุ้นได้ตกลงมามากน้อยแค่ไหน-จากต้นปี   ผมเองไม่เคยจำดัชนีสูงสุดในระหว่างปีได้และก็ไม่สนใจดูด้วยเพราะผมชอบมอง ระยะยาวมากกว่า  ถ้าผมพบว่าหุ้นได้ตกลงมามากพอสมควรนับจากต้นปี  ผมก็คิดว่าความเสี่ยงในการเข้าไปลงทุนก็น่าจะน้อยลง  อย่างไรก็ตาม  นี่จะต้องประกอบกับการดูย้อนหลังไปอย่างน้อย 2-3 ปีด้วยว่า  ดัชนีมีการปรับตัวขึ้นหรือลงมากน้อยแค่ไหน  ถ้าหุ้นติดลบมาต่อเนื่องกัน  ผมก็จะรู้สึกว่าความเสี่ยงในการเข้าไปซื้อหุ้นก็น่าจะลดลงไปอีก  แต่ถ้า 2-3 ปีนั้น  หุ้นได้ขึ้นมามากอย่างที่เป็นอยู่  ผมก็จะระวังมากขึ้น  ลึกๆ  แล้ว ผมคิดว่าถ้าสิ้นปีนี้  ดัชนีต่ำกว่าสิ้นปีที่แล้วบ้าง  ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติ  ดังนั้น  การที่ดัชนีหุ้นในช่วงนี้ต่ำกว่าเมื่อตอนต้นปีประมาณ 10%  มันก็ไม่น่าจะบอกได้ว่าหุ้นในขณะนี้มีราคาต่ำมากมายอะไรนัก แม้ว่ามันจะตกลงมากว่า 20% แล้วถ้านับจากกลางปี  เหนือสิ่งอื่นใด  สถิติหุ้นไทยนั้น  ในเวลา 10 ปี  หุ้นจะขึ้นประมาณ 6 ปี  และหุ้นจะตกประมาณ 4 ปี

นอกจากเรื่องของผลตอบแทนที่ผ่านมาทั้งปีปัจจุบันและปีย้อนหลัง 2-3 ปีแล้ว   ผมยังดูด้วยว่าดัชนีที่ตกลงมามากนั้น  ทำให้ค่า PE  ค่า PB  และผลตอบแทนจากปันผลจะเป็นเท่าไร  ถ้าค่า PE และค่าอื่นๆ  นั้น ชี้ว่าหุ้นในตลาดโดยเฉลี่ยไม่แพง  ผมก็จะถือว่าความน่าสนใจในการซื้อหุ้นน่าจะอยู่ในระดับกลางๆ

ขณะเดียวกัน เรื่องของค่าความถูกความแพงของตลาดที่วัดด้วย PE และค่าอื่นๆ  แล้ว  ผมยังต้องดูสภาวะทางเศรษฐกิจการเงินของโลกและประเทศไทยด้วยว่าจะเป็นอย่างไร ในช่วง 1-2 ปีที่จะมาถึง  ถ้าสภาวะไม่ดีและมีความเสี่ยงสูงที่จะเลวร้ายลงมากโดยเฉพาะกับเศรษฐกิจไทย   ความเสี่ยงของการลงทุนซื้อหุ้นก็จะสูงขึ้น   แต่ถ้าผมมั่นใจว่าอย่างไรเสียเศรษฐกิจไทยก็น่าจะยังดีอยู่พอสมควรแม้ว่า เศรษฐกิจต่างประเทศอาจจะไม่ดีนัก  แบบนี้  การที่หุ้นตกเพราะคนกลัวภาวะเศรษฐกิจโลก ก็อาจจะเป็นโอกาสของการเข้าไปช้อนซื้อหุ้นได้

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นก็เป็นเรื่องของคนที่ไม่ค่อยมีหุ้นอยู่ในมือและก็ มักจะไม่ใช่คนที่มุ่งมั่นหรือทุ่มเทกับการลงทุนมากนัก  แต่สำหรับคนที่ถือหุ้นอยู่มากและเอาจริงเอาจังกับการลงทุนคำถามก็มักจะกลับ กันว่าการที่หุ้นตกหนักมากนั้น  เขาควรขายหุ้นหรือเปล่า เพื่อลดการสูญเสีย  เขาควรรักษาเงินสดเอาไว้เพื่อรอกลับมาซื้อหุ้นที่จะตกต่ำและถูกลงไปอีกหรือ ไม่  พวกเขาคิดว่าสภาวการณ์เศรษฐกิจที่เลวร้ายในต่างประเทศอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทย ถดถอยลง   และนั่นจะกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนและทำให้หุ้นตกลง  ดังนั้น  แม้ว่าค่า PE ตลาดในปัจจุบันอาจจะไม่สูง  หุ้นราคาไม่แพง  แต่ในอนาคตค่า PE  ก็จะสูงขึ้นเพราะค่า E หรือกำไรจะลดลง  ถ้าเป็นแบบนี้หุ้นก็จะตกลงไปอีก  ดังนั้น  ทางออกที่ดีกว่า ก็คือ  ขายหุ้นทิ้ง  อย่างน้อยก็บางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงลง  และเมื่อหุ้นตกต่ำถึง “พื้น” แล้วค่อยคิดซื้อหุ้นคืนภายหลัง

ประเด็น ก็คือ  เป็นเรื่องยากมากที่จะคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าหุ้นที่ได้ปรับตัวลงมาอย่างหนัก แล้ว  จะตกลงต่อไป  ประสบการณ์ในทุกครั้งที่มีเหตุการณ์  “วิกฤติ”  และทำให้หุ้นตกลงมารุนแรงนั้น  ก็จะมีช่วงเวลาที่หุ้นจะ “กระเด้ง”  ขึ้นมารุนแรงเป็นช่วงๆ  และก็ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าหุ้นจะขึ้นไปเลยหรือจะตกลงไปใหม่อีก  ที่ยิ่งยากไปกว่านั้น ก็คือ  หุ้นตัวที่เราถืออยู่อาจจะมีพฤติกรรมการขึ้นลงแตกต่างจากภาวะตลาดโดยรวม ด้วย  นั่นคือ  หุ้นตัวที่ถืออยู่อาจจะแย่หรือดีกว่าตลาด  ทำให้การวิเคราะห์ภาวะตลาดได้ถูกต้องนั้น  ไม่มีประโยชน์  เช่น  ดัชนีตลาดอาจจะลงต่อ  แต่หุ้นที่เราถืออยู่บางตัวอาจจะปรับตัวขึ้นไปแล้ว  ดังนั้น  ถ้าเราขายหุ้นไปโดยหวังว่าหุ้นจะลงแล้วเราเข้าไปซื้อกลับมาก็จะเป็นการ ตัดสินใจที่ผิดพลาด

สุดท้าย  สำหรับคนที่มีหุ้นจำนวนหนึ่งและก็มีเงินสดที่พร้อมจะลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มเติม ได้  สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็คือ  เขาอาจจะอยากถามว่า  เขาควรขายหุ้นที่มีอยู่หรือซื้อหุ้นเพิ่มดี  คำถามของเขาก็คงมาจากความคิดว่าหุ้นในขณะนั้น  ถูกหรือแพง  และคำตอบ ก็คือ  เขาไม่มั่นใจ  แต่ละวันที่ผ่านไปเขาอาจจะพยายามประเมินด้วยความกระสับกระส่ายเมื่อเห็นราคา หุ้นที่เคลื่อนไหวขึ้นลงอย่างรวดเร็ว  วันหนึ่งเขาอาจจะนึกอยากขาย  แต่อีกวันหนึ่งก็คิดว่าเขาควรจะซื้อเพิ่ม  เขาอยากฟังคำแนะนำหรือความคิดเห็นของคนที่เขานับถือว่ามีความสามารถและ เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์และลงทุนในตลาดหุ้นแต่ความเห็นของแต่ละคนก็ยังไม่ สอดคล้องกัน   สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจขายเพื่อ “ลดความเครียด” โดยการขายหุ้นทิ้ง

ความเห็นของผมสำหรับคนที่ยังคิดไม่ออกหรือตัดสินใจไม่ถูกว่าจะซื้อหรือ ขายหุ้นดี  ก็คือ  เราควรอยู่เฉยๆ   เพราะการที่เราคิดไม่ออกระหว่างการซื้อหรือขาย   นั่นอาจจะแปลว่า  ราคาหุ้นอาจจะ “ก้ำกึ่ง”  มากระหว่าง  “ถูกหรือแพง”   นั่นแปลว่า หุ้นคงไม่มี  Margin of Safety หรือส่วนต่างของความปลอดภัยในกรณีที่เราจะซื้อ  ดังนั้น  การซื้อคงไม่ใช่กลยุทธ์ที่ถูกต้อง   เช่นเดียวกัน  การขายในช่วงที่ตลาดกำลังแพนิคนั้น  ตามประสบการณ์ของผม  มักเป็นการขายที่แย่หรือได้ราคาที่ต่ำที่สุด  เพราะถึงแม้ว่าตลาดยังมีแนวโน้มที่จะลงอยู่  แต่ในระยะสั้นๆ  บ่อยครั้งหุ้นมักกระเด้งกลับขึ้นมาให้เราได้ขายในราคาที่ดีกว่าวันที่หุ้นตก รุนแรงแบบคนตื่นตูม  มันจึงไม่ใช่เวลาที่ควรขาย 

สรุปแล้ว  ถ้าเรายังคิดไม่ออกว่าเราควรขายหรือซื้อหุ้น  เราก็ควรจะอยู่เฉยๆ   ในตลาดหุ้นนั้น  ไม่มีใครบังคับให้เราต้องตัดสินใจ  ยกเว้นในกรณีที่เราใช้มาร์จินในการซื้อหุ้นและหุ้นของเราถูกบังคับขายเพราะ ราคาตกลงมามาก    ซึ่งในกรณีนั้น  มันก็มักจะเป็นหายนะ  และนี่ก็เป็นอีกคำแนะนำหนึ่งของผมว่า  ในยามที่หุ้นมีความผันผวนและอาจจะมีโอกาสเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้น  อย่าใช้มาร์จิน  และถ้าเรามีเงินกู้มาร์จินอยู่  จงลดมาร์จินให้หมด

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 11 ตุลาคม 2554

คนแจวเรือ

ผมเพิ่งกลับจากการท่องเที่ยวที่อิตาลีและอังกฤษ และก็เช่นเคย ผมมีข้อสังเกตจาก สิ่งที่พบเห็น
เรื่องแรก คือ ผมเพิ่งตระหนักว่า พนักงานบริการ เช่น พนักงานเสิร์ฟอาหารตามภัตตาคารโดยเฉพาะในอิตาลี ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอายุ 30-40 ปี ที่เป็นผู้หญิงมีน้อยมาก ทำให้ผมแปลกใจ เพราะบ้านเรา หรือแถบเอเชีย มักจะเห็นผู้หญิงมากกว่า ทำให้ผมคิดว่า งานในอิตาลี หรือหลายๆ ประเทศในยุโรปคงจะหายาก งานเสิร์ฟจึงเป็นงานที่มีรายได้ดี จึงมีคนแย่งกันทำ และผู้ชายเข้ามาทำกันมาก และไม่ใช่เป็นงานชั่วคราวเพื่อรองานอื่น แต่เป็นอาชีพที่ "พ่อบ้าน" ทำกันเป็นงานประจำ ผมนึกต่อไปถึงญี่ปุ่น ผมเคยเห็นผู้ชายอายุมากทำงานเป็นคนนั่งเฝ้าสถานที่อาบน้ำร้อนของผู้หญิง

อุทาหรณ์เรื่องนี้ คือ แรงงานที่สำคัญถูกใช้ไปทำงานที่ไม่ได้เพิ่มคุณค่ามากนักทางเศรษฐกิจ อาจบ่งบอกว่า ในระยะยาว ประเทศ อาจจะไปไม่ได้ไกลมากนัก จากจุดที่เป็นอยู่ ผมเองก็ไม่รู้ว่าผู้หญิงอิตาลีหรือยุโรป ทำงานอะไรเป็นหลัก หรืออยู่มากในภาคไหนของเศรษฐกิจ

เรื่องที่สอง ก็คือ คนแจวเรือกอนโดลา ที่เมืองเวนิส เรือกอนโดลา เป็นเรือโบราณที่นักท่องเที่ยวใช้นั่งชมเมือง เป็นเรือที่ใช้คนพาย แต่สิ่งที่ผมทึ่ง ก็คือ ค่าจ้างของคนพายเรือ ในเวลาครึ่งชั่วโมงของการให้บริการ คนพายเรือคิดค่าบริการตกเป็นเงินไทย 4,000-5,000 บาท คร่าวๆ ถ้าทำ วันละ 4-5 เที่ยว โดยเฉลี่ยได้เงินวันละ 20,000 บาท เดือนหนึ่งถ้าทำสัก 20 วัน ก็จะมีรายได้ถึงเดือนละ 4 แสนบาท ถ้าเป็นคนไทยรายได้ขนาดนี้ คงต้องเป็นคนระดับซีอีโอของบริษัท ผมเชื่อว่าอาชีพนี้คงมีการสงวนไว้เฉพาะแต่คนท้องถิ่นเท่านั้นที่ทำได้

ความเชื่อของผมเรื่องนี้ คือ รายได้ของคนแจวเรือกอนโดลา ซึ่งผมดูแล้ว ไม่ได้มีทักษะพิเศษอะไร แต่ได้ผลตอบแทนสูงมาก เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานหนักเท่าๆ กันในเมืองไทย หรือประเทศแถบเอเชียส่วนใหญ่ แสดงว่า คนส่วนใหญ่ในเมืองนี้ คงได้เงินเดือนที่สูงมากเมื่อเทียบกับงานที่ทำ แต่ถ้าถามว่า ทำไมนักท่องเที่ยวยอมจ่าย คำตอบ คือ เมืองเวนิส เป็นเมืองสุดยอดที่น่าเที่ยวเมืองหนึ่งของโลก ผมหรือคนจำนวนมากจึงยอมจ่าย เพื่อโอกาสอันพิเศษสุดนี้ ถ้าเปรียบไป คนเอเชียหรือคนเมืองอื่นที่มาเที่ยวเวนิส หรืออีกหลายๆ เมืองในอิตาลี หรือในยุโรปยอมทำงานหนักและงานที่ใช้ความสามารถสูง เพื่อจะผลิตสินค้ามาให้คนเวนิสใช้เต็มที่ โดยที่คนเวนิสอาจตอบแทนด้วยการให้คนเหล่านั้นมาพักและนั่งเรือกอนโดลาที่พาย โดยคนเวนิสปีละครั้ง ดูไปแล้วไม่ใคร่ยุติธรรม แต่ผมก็ไม่รู้ว่าการแลกเปลี่ยนแบบนี้จะดำรงอยู่ไปได้นานเท่าไร

เรื่องที่สาม ที่น่าแปลกใจ คือ ห้าง สินค้าแบรนด์เนมหรูหลุยส์วิตตอง ในกรุงลอนดอน พบว่า ลูกค้าต้องเข้าคิวรอเข้าชมสินค้า เพราะเขาจำกัดจำนวนลูกค้าเข้าชมและซื้อสินค้า แต่สิ่งที่น่าทึ่ง คือ 80-90% ของคนที่อยู่ในร้านและรอคิวอยู่ เป็นคนหน้าตาแบบ เอเชีย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยว สินค้าของหลุยส์วิตตอง เราทราบดีว่าราคาสูงกว่าต้นทุนมาก เรียกว่าทำกำไรให้กับเจ้าของมหาศาล และผมเชื่อว่า ผลิตในแถบเอเชียด้วยต้นทุนต่ำมาก และขายให้คนเอเชียในราคาสูงมาก เปรียบไปแล้วเหมือนกับว่า คนเอเชียต้องทำงานหนัก เพื่อผลิตสินค้าให้คนยุโรปใช้ แล้วกลับไปขอแบ่งสินค้าบางส่วนกลับมา พร้อมกับความยินดีที่ได้สินค้ามีชื่อเอามาอวดเพื่อนที่บ้าน

พูดถึงสินค้าแบรนด์เนม ในระหว่างที่อยู่อังกฤษ ผมได้ข่าวว่าบริษัทผู้ผลิตและขายสินค้าแบรนด์ดังอย่างปราด้า ซึ่งเป็นเจ้าของยี่ห้อมิวมิว กำลังขายสินค้าดีระเบิดในเอเชีย หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าคนเอเชีย เห่อซื้อสินค้าแบรนด์เนมดังๆ แบบเดียวกับคนอังกฤษเข้าห้างไพร์มมาร์ค ซึ่งเป็นห้างขายสินค้าแฟชั่นราคาถูกคุณภาพดีกลางกรุงลอนดอน ผมฟังแล้วเกิดความรู้สึกว่า บางทีโลกเรากำลังเปลี่ยนแปลงไป คนอังกฤษและคนยุโรปกำลังหันมาซื้อสินค้าราคาถูกคุณภาพใช้ได้ ส่วนคนเอเชีย ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นมากให้กับคนยุโรปเพื่อซื้อสินค้าแบรนด์เนมเพื่อ "หน้าตา"  ผมก็ไม่รู้ว่าแนวทางธุรกิจแบบนี้ จะไปได้นานแค่ไหน ถ้าให้เดาจากคิวของลูกค้าร้านหลุยส์วิตตอง ผมคิดว่าคงไม่เร็วนักที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้

จากเหตุการณ์ 3 เรื่องนี้ ผมเองสรุปว่า ยุโรปวันนี้ น่าจะเป็นยุโรปที่กำลัง "ตกดิน" มาตรฐานความเป็นอยู่ที่ยังสูงมากวันนี้ ดูเหมือนกำลังหยุดนิ่งและค่อยๆ ลดต่ำลง คนทำงานน้อยลง คนจำนวนไม่น้อยไม่ได้ทำงาน นั่นคือ ตกงาน และไม่ได้ทำงานที่ใช้ทักษะสูงนัก จำนวนมากทำงานบริการพื้นๆ ที่คนเอเชียทำได้ดีไม่แพ้กัน

สิ่งที่ทำให้ยุโรปยังดำรงความโดดเด่น คือ ยุโรปมีประวัติศาสตร์ยาวนานและยิ่งใหญ่ มีโบราณสถานที่ทำให้คนมาท่องเที่ยว และยอมจ่ายเงินแพงมาก และยัง "ผูกขาด" เรื่อง "การเป็นผู้มีรสนิยมสูง" ผ่านสินค้าแบรนด์หรูระดับโลก สองสิ่งนี้ มีส่วนสำคัญที่ช่วยรักษาสถานะการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงของยุโรปไว้ การที่ยุโรปจะก้าวหน้าหรือโตต่อไป ดูแล้วน่ายากเหลือเกิน พื้นฐานสำคัญจริงๆ ของการมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่สูงได้จริงๆ ในโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์ ก็คือ คุณต้องทำงานหนักและเป็นงานที่มีคุณค่าสูง

พูดมาเสียยาว ถ้าจะถามว่านี่จะมีอะไรเกี่ยวกับการลงทุนหรือเปล่า? คำตอบของผม คือ คงเกี่ยวบ้างในแง่วิเคราะห์สถานการณ์ยุโรป ที่กำลังประสบกับปัญหาทางการเงินและเศรษฐกิจรุนแรงช่วงนี้ ในความคิดของผม คนยุโรป น่าจะใช้ชีวิตที่สูงกว่าความสามารถของตนมานานโดย ผ่านการกู้หนี้ หรือ "ยืมอนาคตมาใช้" แต่อนาคตที่ว่านั้น ดูเหมือนว่าจะไม่มีอยู่จริง ยุโรปจึงต้องลดมาตรฐานความเป็นอยู่ลง

นี่คือ สิ่งที่ต้องเกิดขึ้น อาจผ่านสิ่งที่เรียกว่า "วิกฤติเศรษฐกิจ" ผมพูดแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ผมกำลังทำนายว่ากรีซจะ "ไปไม่รอด" หรืออิตาลีจะต้องประสบภาวะวิกฤติเร็วๆ นี้ บางทียุโรปอาจลดมาตรฐานการดำรงชีวิตลงอย่างช้าๆ เทียบกับคนเอเชียได้ โดยไม่ต้องผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ ผมเชื่อว่า ยุโรป กำลังตกดิน และจะไม่กลับมายิ่งใหญ่อีกในชั่วอายุของเรา

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 4 ตุลาคม 2554

Wednesday, September 14, 2011

VI สายดำ

การฝึกฝนและการปฏิบัติตนเพื่อให้เป็น VI ที่มีความสามารถสูงและมี “จิตวิญญาณ” ของ VI นั้น ผมคิดว่าก็คงเหมือนกับการฝึกฝนและปฏิบัติตนในเรื่องอื่น ๆ เช่น การเป็นศิลปินนักวาดภาพเหมือนกัน นั่นคือ เขาจะต้องมีเป้าหมายที่จะต้องมุ่งไปให้ถึง ในกรณีของศิลปินนั้น การที่จะเป็นศิลปินที่โด่งดังได้นั้น เขาจะต้องมีความสามารถในการวาดภาพ การเขียนภาพและการลงสีนั้นจะต้องยอดเยี่ยม พวกเขาจะต้องสามารถควบคุมมือให้เขียนสิ่งที่ออกมาตามต้องการอย่างละเอียดลออ ที่สุดได้ นอกจากนั้น เขาจะต้องวาดภาพที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองหรือเรียกว่าเป็นสไตล์ที่ไม่ เหมือนใครมิฉะนั้นแล้วเขาก็คงเป็นได้แค่ศิลปินธรรมดา ๆ นอกจากการวาดภาพแล้ว ถ้าลองดูเรื่องของศิลปะอย่างอื่นเช่น คาราเต้ นั้น การฝึกที่จะทำให้เก่งจนได้ “สายดำ” นั้น นอกจากการฝึกฝนทางร่างกายแล้ว ผมคิดว่าเรื่องของจิตใจก็ต้องมีการฝึกเช่นกัน และถ้าคนเคยอ่านหนังสือกำลังภายในจีนก็จะพบว่า “เซียน” นั้น นอกจากการฝึกวิทยายุทธ์แล้ว พวกเขายังต้องฝึกใจและประพฤติปฏิบัติตนอีกหลายอย่างเพื่อให้สำเร็จเป็นเซียนได้

ในเรื่องของการลงทุนแบบ VI นั้น ผมคิดว่ามีประเด็นใหญ่ ๆ 3 เรื่องที่ต้องฝึกฝนเพื่อให้สำเร็จเป็น VI ที่เก่งกาจหรือเรียกให้เท่ ๆ ว่าเป็น “VI สายดำ” ประเด็นแรกก็คือ เรื่องของปรัชญาและหลักการสำคัญในการลงทุน เรื่องที่สองคือการฝึกฝนในด้านของจิตใจหรืออารมณ์เมื่อประสบกับสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่กระทบกับการลงทุน และเรื่องสุดท้ายก็คือ เรื่องของการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับการเป็น VI

ปรัชญาและหลักการการลงทุนที่สำคัญที่ผมคิดว่า VI จะต้องมุ่งไปให้ถึงก็คือ ข้อแรก เขาควรจะลงทุนเฉพาะในสิ่งที่เขารู้จักดี หรือที่บัฟเฟตต์เรียกว่าลงทุนภายใน Circle Of Competence อะไรที่เราไม่รู้ เราไม่ควรลงทุน โดยนัยนี้ เราควรจะมีหุ้นที่เราจะลงทุนได้ไม่มากนักถ้าเราไม่ใช่ “มืออาชีพ” จริง ๆ ข้อสองก็คือ ถ้าจะได้ “สายดำ” VI จะต้องมี “สไตล์” การลงทุนที่ตนเองยึดถือ การลงทุนแบบ “เล่นได้ทุกรูปแบบ” นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากทีเดียว เพราะความชำนาญและการฝึกฝนของเรานั้นมีจำกัด ไม่เหมือน ปีเตอร์ ลินช์ ที่บริหารกองทุนขนาดมโหฬารและใช้เวลากับมันสูงมาก ดังนั้น สำหรับ VI ทั่วไปแล้ว เราควรจะเลือกหาสไตล์ที่มีโอกาสชนะสูงแล้วฝึกฝนและปฏิบัติจนเก่งและยึดถือ มันเป็นหลักในการลงทุน การมีสไตล์นั้นไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถลงทุนหุ้นแนวอื่นได้ เพียงแต่พอร์ตส่วนใหญ่นั้น น่าจะเป็นการลงทุนในสไตล์ที่ตนเองใช้อยู่

นักลงทุน VI ที่จะได้สายดำนั้น ผมคิดว่าเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องฝึกฝนในด้านของการบริหารความเสี่ยงของการลง ทุน การทำอย่างนั้นได้ดีนั้น ผมคิดว่าควรเริ่มต้นจากทัศนะคติในการวิเคราะห์เพื่อเลือกหุ้นลงทุน ซึ่งผมคิดว่าควรเน้นไปที่การมอง “ด้านลบ” ก่อน “ด้านบวก” นั่นคือ เวลาคิดจะซื้อหุ้นนั้น ต้องคิดว่า “อย่าขาดทุน” มากกว่าที่จะหวังผลเลิศว่าจะได้กำไรเท่าไร นอกจากนั้น VI ควรจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของการ “หายนะ” ไว้เสมอ นี่คือความเสี่ยงที่อาจจะมีน้อยมากจนบางครั้งเราลืมที่จะคิดถึง สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ “Unthinkable” หรือสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย อาจจะเกิดขึ้นได้มากกว่าที่เราคิด แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร พอร์ตการลงทุนของเราควรที่จะพร้อมรับกับสถานการณ์อย่างนั้นได้ ซึ่งในเรื่องของความเสี่ยงนี้ เลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องใช้หลักของการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม นั่นคือ ไม่มากหรือน้อยเกินไป

ประเด็นที่สองของการที่จะเป็น VI สายดำได้นั้นก็คือเรื่องของอารมณ์และจิตใจ ผมคิดว่าเรื่องสำคัญที่สุดของการเป็น VI ก็คือ ความ “ใจเย็น” นี่คือคุณสมบัติที่สำคัญที่จะทำให้เราสามารถคิดได้อย่างมีเหตุผลไม่หุนหัน พลันแล่น ไม่ตกใจกลัวและรีบ “ทิ้งหุ้น” เวลามีเหตุการณ์รุนแรงที่กระทบกับตลาดหุ้น เช่นเดียวกับที่ไม่รีบร้อนที่จะ “แย่งซื้อหุ้น” ในยามที่ตลาดหรือหุ้นกำลังร้อนแรง นอกจากความใจเย็นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าต้องฝึกและปฏิบัติก็คือ ความศรัทธายึดมั่นต่อหลักการและแนวทางที่ถูกต้องและที่เราเลือกแล้ว นั่นก็คือ อย่าถูกทำให้ “ไขว้เขว” จากเส้นทางที่มีการพิสูจน์มายาวนานโดยกูรูระดับโลกโดยเหตุการณ์หรือ สภาวการณ์บางช่วงบางตอนที่อาจชี้ไปในอีกแนวทางหนึ่ง จงจำไว้ว่าไม่มีแนวทางไหนที่ดีและชนะตลอดเวลา ในบางช่วงเวลานั้น แม้แต่กลยุทธ์หรือวิธีการที่แย่ที่สุดในระยะยาวก็สามารถทำผลงานที่ยอดเยี่ยม กว่าวิธีอื่น ๆ ทั้งหมดได้ โดยนัยยะนี้ VI ที่จะเป็นสายดำได้นั้นจะต้องเรียนรู้และยอมรับว่า บ่อยครั้งหรือบ่อยช่วงเวลา พอร์ตของเราอาจจะแพ้คนอื่นที่อาจจะไม่ได้มีสายรัดสีอะไรเลยก็ได้ แต่ในระยะยาวแล้ว VI สายดำก็จะทำผลตอบแทนได้ดีกว่า

อีกข้อหนึ่งในเรื่องของอารมณ์จิตใจที่ควรจะต้องฝึกฝนก็คือ ต้องเรียนรู้ความผิดพลาด และเมื่อรู้แล้วต้องรีบแก้ไข อย่าไปยึดมั่นแบบหัวชนฝา นี่ไม่ใช่เรื่องที่แย้งกับคำว่าศรัทธาและไม่เปลี่ยนแปลง เพราะคำว่าผิดพลาดในที่นี้เป็นเรื่องของการวิเคราะห์ เป็นเรื่องของการปฏิบัติ เป็นเรื่องของข้อมูล หรือเป็นเรื่องของความเข้าใจในคุณสมบัติของหุ้นหรือกิจการที่ผิดพลาด ไม่ใช่เรื่องของหลักการหรือแนวทางที่เป็นเรื่องที่มีการพิสูจน์มายาวนานและ ไม่เปลี่ยนแปลงง่าย

ประเด็นสุดท้ายก็คือ การใช้ชีวิตของ VI สายดำ เรื่องนี้ผมไม่รู้ว่าการใช้ชีวิตนำไปสู่การเป็น VI สายดำหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่บังเอิญว่า VI ที่เป็นสายดำมักใช้ชีวิตแบบนี้ แต่จากการสังเกตนักลงทุนระดับเซียนหรือระดับโลกหลาย ๆ คน ผมพบว่าคนเหล่านี้มักใช้ชีวิตแบบ “พอเพียง” หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือ ใช้ชีวิตต่ำกว่าฐานะของตนเอง คนเหล่านี้มักจะไม่ได้มีความสุขจากการใช้เงินเพื่อตนเอง สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากนิสัยส่วนตัวที่ไม่ได้นิยมความหรูหราทางด้านวัตถุ พวกเขามีความสุขจากกิจกรรมง่าย ๆ ที่ไม่ต้องใช้เงิน และที่สำคัญก็คือ มีความสุขจากการลงทุนหรือหาเงินมากกว่าการใช้เงิน ถ้ามองถึงพื้นเพ หลายคนไม่ใช่คนที่ที่บ้านมีฐานะร่ำรวยมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร การใช้ชีวิตต่ำกว่าฐานะของตนเองนั้น น่าจะมีส่วนช่วยให้ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเร็วกว่าโดยเฉพาะในช่วงที่ VI ยังมีเงินน้อย ดังนั้น ถ้าฝึกนิสัยนี้ไว้ตั้งแต่เริ่มแรกที่ลงทุน ผมคิดว่าน่าจะช่วยให้เราเป็น VI สายดำเร็วขึ้น

ถ้าจะให้ผมเรียงลำดับความสำคัญของกลุ่มกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของ การลงทุนที่จะทำให้เราได้เป็น VI สายดำ ผมคงให้ความสำคัญอันดับแรกกับเรื่องของปรัชญาและหลักการลงทุน ถ้าคิดเป็นคะแนนก็คงจะได้ประมาณครึ่งหนึ่ง ในส่วนของจิตใจและอารมณ์น่าจะเป็นซัก 40% และในส่วนของการใช้ชีวิตน่าจะเป็นซัก 10% อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าปัจจัยทั้งสามอย่างนั้นมีความเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน ด้านใดด้านหนึ่งน้อยเกินไปก็จะทำให้ด้านอื่นแย่ลงไปด้วย ดังนั้น การฝึกฝนและการปฏิบัติจึงละเลยเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปไม่ได้

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 13 กันยายน 2554

ทศวรรษแห่ง VI

ผมเริ่มเป็นวิทยากรที่พูดเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้น__แบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investment มานานนับสิบปีแล้ว สิ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือ จำนวนคนที่สนใจเข้าฟังนั้น เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และแทบจะเรียกว่า “อัดแน่น” ในช่วงหลัง ๆ และแม้แต่ในช่วงปี 2551 หลังจากภาวะวิกฤติซับไพร์มในอเมริกาที่ทำให้ตลาดหุ้นตกลงมาอย่างหนัก คนฟังก็ไม่ได้ลดลงมาซักเท่าไร ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่เคยเป็นว่า เมื่อหุ้นขึ้นคนก็แห่กันมาฟังล้นห้อง แต่ในยามที่หุ้นตก ห้องสัมมนาก็แทบจะร้าง ปรากฏการณ์นี้ทำให้ผมคิดว่า สังคมของการลงทุนของคนไทยน่าจะกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างลึกซึ้ง และการเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มเกิดขึ้นหลังภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 หรือจะพูดให้ถูกต้องขึ้นไปอีกก็คือประมาณปี 2543 ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและราคาหุ้นตกต่ำถึงพื้น อะไรคือการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้?

ประการแรกก็คือ คุณสมบัติของนักลงทุนหรือคนที่เข้ามาฟังการสัมมนา ก่อนปี 2540 นั้น คนที่ฟังการสัมมนาคือ “คนเล่นหุ้น” นี่คือกลุ่มคนที่กล้าเสี่ยง กล้าได้กล้าเสีย มักจะเป็นคนที่ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม ซึ่งแน่นอน โดยสัญชาติญาณของความเป็นพ่อค้าย่อมที่จะกล้าเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่มอื่น กลุ่มต่อมาก็คือ แม่บ้านที่มีฐานะปานกลางที่มีเวลาว่างหรือไม่มีอะไรทำและเข้ามาเสี่ยงโชคใน ตลาดหุ้น บางคนก็อาจจะชอบเล่นการพนันอย่างอื่นเช่นเล่นไพ่กับขาประจำอยู่แล้ว นี่ก็เป็นกลุ่มที่ลงทุนด้วยเงินที่ไม่มากเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ ที่มักจะเป็นผู้ชายที่เล่นหุ้นอย่างเอาจริงเอาจังมากกว่า กลุ่มที่สามก็คือ กลุ่มพนักงานตามสำนักงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำงานในแวดวงการเงิน เช่นพนักงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หรือพนักงานธนาคาร ที่มีความรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้นดีกว่าคนทั่วไปและมีข้อมูลที่มากกว่า พวกเขาเล่นหุ้นเพราะเห็นโอกาส “ทำกำไรง่าย ๆ” ที่เขาพบเห็นในบางช่วงเวลา และสุดท้ายก็คือ “เซียน” หรือกลุ่ม “ขาใหญ่” ที่มีเม็ดเงินมากและมักจะทำการซื้อขายนำเพื่อ “ทำราคาหุ้น” บางคนก็ “ปั่นหุ้น” เพื่อทำกำไรมหาศาลในเวลาอันสั้น

นักลงทุนที่ผมเห็นในที่สัมมนาใน พ.ศ. นี้ ส่วนมากน่าจะเป็นคนทำงานกินเงินเดือนที่เป็นคนชั้นกลาง พวกเขากำลังอยู่ในวัยที่กำลังทำงานเก็บเงินเพื่ออนาคตและคิดว่าการลงทุนโดย เฉพาะในหุ้นนั้น เป็นหนทางที่ดีกว่าการฝากเงินหรือลงทุนอย่างอื่น พวกเขาไม่ใช่คน “ชอบความเสี่ยง” แบบผู้ประกอบการ แต่ก็พร้อมจะเสี่ยงด้วยเงินจำนวนหนึ่ง พวกเขาเชื่อว่าการลงทุนในหุ้นเป็นสิ่งที่ “คุ้มค่ากับความเสี่ยง” และเขารับมันได้ การที่ได้เรียนรู้และจากประสบการณ์สั้น ๆ ที่ผ่านมาช่วยให้พวกเขามั่นใจและเข้ามาลงทุนในหุ้น ภาพของหุ้นที่เป็นตราสาร “เก็งกำไร” นั้นเปลี่ยนไป การลงทุนในหุ้นสำหรับคนจำนวนไม่น้อยนั้น เป็นการลงทุน “ทำธุรกิจ” พวกเขารู้และคิดว่าถ้าเราเป็น “VI” หรือเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่า พวกเขาน่าจะปลอดภัยและได้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควร

กลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่อีกกลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มของเจ้าของกิจการที่มีฐานะร่ำรวยพอ สมควร บางคนก็ร่ำรวยมากระดับเศรษฐีหรือมหาเศรษฐี ซึ่งก็รวมถึงลูกที่เรียนจบและเริ่มทำงานหรือทำงานมาได้ระยะหนึ่งแล้ว คนกลุ่มนี้ ตั้งแต่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 พวกเขา “รอด” มาได้ และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากลับรุ่งเรืองและที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ มีเงินสดเหลือมากมาย พวกเขาต้องทนฝากเงินกินดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำมานาน ดังนั้น เมื่อเห็นราคาหุ้นในตลาดที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ติดต่อกันมานานหลายปี เขาก็เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น พวกเขาเริ่มเรียนรู้ว่าหุ้นก็คือธุรกิจเหมือนกับที่เขาทำอยู่ ซื้อหุ้นก็เหมือนซื้อธุรกิจ กำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้นของพวกเขาที่ผ่านมาไม่กี่ปีนั้น ดีและเร็วกว่าธุรกิจของตนเองมาก ดังนั้น ตลาดหุ้นสำหรับพวกเขาไม่ใช่ “แหล่งการพนัน” อีกต่อไป พวกเขาอาจจะเรียกและคิดว่าตนเองเป็น “VI” ไม่ได้ซื้อหุ้นมั่ว ๆ ไม่มีพื้นฐาน และนี่ก็คือกลุ่มนักลงทุนที่มีเม็ดเงินและศักยภาพมหาศาลที่สามารถขับเคลื่อน หุ้นโดยเฉพาะที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนักได้

กลุ่มสุดท้ายก็แน่นอน ยังเป็นกลุ่มเดิม ๆ ที่เป็นแม่บ้าน และผู้ประกอบการรายย่อยจริง ๆ ที่ยังเน้นการเล่นหุ้นรายวันและมักจะอยู่ตามห้องค้า กลุ่มนี้ผมเห็นน้อยลงไปมากในห้องสัมมนา สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ พวกเขาหันมาเล่นหุ้น “VI” ตามการเล่นของคนกลุ่มอื่น ๆ ประเด็นที่สำคัญสำหรับกลุ่มนักลงทุนรุ่นดั้งเดิมก็คือกลุ่มนักลงทุนที่เรียก ว่า “ขาใหญ่” นั้น ในยุคสมัยใหม่นี้ ขาใหญ่จำนวนมากได้ “ล้มหายตายจาก” ไป แต่ที่ยังอยู่และยังร่ำรวยเหมือนเดิมหรือรวยยิ่งขึ้นนั้น ส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนแปลงไป หลายคนกลายเป็น “VI เต็มตัว” หลายคนแม้ว่ายังชอบที่จะ “เล่นเร็วและไล่ราคา” แต่การทำอย่างนั้นก็มักจะทำกับหุ้นที่เป็น “VI” พวกเขายอมรับว่า VI นั้น เป็น “กระแส” ที่ไม่สามารถจะฝืนได้ การเล่นหุ้นหรือทำราคาหุ้นโดย “ไม่มีเหตุผล” ทางด้านพื้นฐานมาสนับสนุนนั้นจะสำเร็จได้ยาก

ถ้าจะพูดว่า “ถนนทุกสายมุ่งสู่ VI” ก็ไม่น่าจะเกินความเป็นจริง และนั่นทำให้หุ้น “VI” ค่อย ๆ ปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ หุ้นเหล่านี้มักเป็นหุ้นตัวเล็กหรืออย่างมากก็ระดับกลางค่อนไปทางเล็ก แต่เนื่องจากเม็ดเงินที่เข้ามาเล่นหรือซื้อหุ้นเหล่านี้ไม่ได้เล็ก นักลงทุนบางคนหรือบางกลุ่มนั้นมีพอร์ตการลงทุนที่สามารถซื้อหุ้นได้ทั้ง บริษัทอย่างง่าย ๆ ดังนั้น หุ้น “VI” จำนวนมากจึงปรับตัวขึ้น ตัวแรกปรับขึ้นไปจนราคาขึ้นไปสูง อาจจะ “เต็มมูลค่า” จึงถูกขายไป เม็ดเงินที่ได้กำไรจากการขายหุ้นของ VI ที่ “มาก่อน” ก็เข้าไปซื้อหุ้น “VI” ตัวใหม่ ทำให้ราคาหุ้นตัวใหม่ปรับขึ้นไป สิ่งนี้ชักจูงให้เม็ดเงินใหม่จากนักลงทุนรายใหม่เข้ามาซื้อ ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปอีก ในไม่ช้า หุ้น “VI” ในตลาดก็เริ่มแพงขึ้นเรื่อย ๆ จนหมดสภาพเป็นหุ้น “VI” กระบวนการทั้งหมดนั้น แทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับดัชนีตลาดเท่าไรนัก เพราะหุ้นตัวใหญ่ ๆ ที่ชี้นำดัชนีได้จริง ๆ นั้น ไม่ได้อยู่ในสายตาของเหล่านักลงทุนที่เป็น “VI” เลย ดังนั้น ผลตอบแทนที่ทำได้ของนักลงทุน VI บางคนจึงสูงกว่าดัชนีมาก และหลายครั้งก็ไม่ได้ปรับตัวตามตลาดมากนัก

ความสำเร็จของนักลงทุน VI ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ผมอยากเรียกมันว่าเป็น “ปรากฏการณ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ตลาดหุ้นมีการปรับตัวขึ้นมาสูงมากกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับ VI บางคนแล้ว พวกเขาอาจจะกำไรมากเสียจน “รวยไปเลย” VI บางคนอายุยังน้อยมากและเพิ่งเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไม่กี่ปีแต่กลับมีเงิน หลายสิบล้าน บางคนมีหลายร้อยล้านจากการลงทุน บางคนที่เริ่มต้นด้วยเงินจำนวนมากจากธุรกิจที่บ้านก็กลายเป็นเศรษฐีพันล้าน ได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่แม้จะไม่พูดถึงคนที่รวยเป็นเรื่องเป็นราว นักลงทุน “VI” รายย่อยที่เป็นคนกินเงินเดือนและต้องเก็บเงินจากเงินเดือนมาลงทุน หลาย ๆ คนก็กลายเป็นคนที่มีเงินหลายล้านบาทและรู้สึก “แตกต่าง” จากเพื่อนที่ไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นอย่างเห็นได้ชัด ข้อสรุปของผมก็คือ นี่คือยุคทองของ VI และผมอยากเรียกมันว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้นเป็น “ทศวรรษแห่ง VI”

แต่ยุคแห่งความรุ่งเรืองนั้น วันหนึ่งก็จะต้องผ่านไป ชีวิตที่ได้เงินมามากและง่ายนั้นไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไป เพราะคนใหม่ ๆ ก็จะเข้ามาทำบ้าง และในกระบวนการนั้นก็ทำให้วิธีการหาเงินแบบนั้นไร้ผล ผมไม่รู้ว่า “ทศวรรษแห่งความรุ่งเรืองของ VI” จบสิ้นแล้วหรือยัง เหตุการณ์หลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ชี้ให้เห็นว่า บางทีการเป็น “VI” แบบไม่ค่อยได้ศึกษาหรือลงแรงอย่างจริงจังนั้นแทนที่จะกำไรอาจจะขาดทุนอย่าง หนักได้ แต่ไม่ว่ายุคสมัยจะเป็นอย่างไร VI ก็ยังเป็นแนวคิดและวิธีการที่ดีเสมอตราบที่เราใช้มันอย่างถูกต้อง

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 6 กันยายน 2554

หุ้นหลายเด้ง

นักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จสูงในระยะยาวนั้น หนีไม่พ้นที่เขาจะต้องมีหุ้นที่ทำกำไรสูงมากเป็นหลาย ๆ เท่าตัวจากต้นทุนที่เขาซื้อมา ในวงการนักลงทุนเรียกว่า “หุ้นหลายเด้ง” นอกจากกำไรเป็นหลายเท่าตัวแล้ว หุ้นหลายเด้งที่ว่านั้น จะต้องมีจำนวนเป็นเม็ดเงินอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่มีเพียง 200-300 หุ้นซึ่งไม่มีความหมายต่อขนาดของพอร์ตโฟลิโอ ตรงกันข้าม หุ้นหลายเด้งนั้นจะต้องมีขนาดพอสมควรที่ทำให้ผลตอบแทนรวมของพอร์ตสูงกว่า ปกติต่อเนื่องกันหลายปี พูดง่ายๆ ถ้าตัดหุ้นตัวนี้ออก ผลตอบแทนรวมของพอร์ตอาจจะดูธรรมดามาก หรือพูดอีกทางหนึ่งก็คือ หุ้นหลายเด้งเป็นหุ้นที่สร้างความแตกต่างระหว่าง “เซียน” กับนักลงทุนธรรมดา ดังนั้น เราจึงควรมาดูกันว่าเราจะหาหุ้นหลายเด้งได้อย่างไร

ข้อแรกที่ผมคิดว่าสำคัญก็คือ หุ้นที่จะเติบโตขึ้นมาหลาย ๆ เท่าตัวได้ในระยะเวลาไม่นานเช่น ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 3-5 เท่าตัวในเวลาไม่เกิน 5 ปี โดยที่หุ้นตัวนั้นไม่ได้ถูก “ทำราคา” หรือ “ปั่น” นั้น มักจะอยู่ในหุ้น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ นั่นก็คือ หนึ่ง เป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีวัฎจักรขึ้นลงรุนแรง เช่น ธุรกิจเดินเรือ ปิโตรเคมี แร่ธาตุที่หายาก หรือสินค้าเกษตรที่ต้องใช้เวลาในการปลูกยาวนานเช่นยางพารา เป็นต้น การที่จะทำกำไรได้หลายเด้งในหุ้นกลุ่มนี้ วิธีที่ได้ผลมากที่สุดก็คือ ซื้อหุ้นในยามที่หุ้นอยู่ในช่วงที่อุตสาหกรรมตกต่ำสุดและไม่มีคนสนใจและพูด ถึงเลย และ เรารู้หรือมั่นใจว่าอุตสาหกรรมกำลังฟื้นตัวและการฟื้นตัวนั้น จะฟื้นตัวอย่างแรงด้วยเหตุผลที่ชัดเจนถูกต้อง และเมื่อสิ่งที่เราคาดไว้ถูกต้อง หุ้นปรับตัวขึ้นแล้วในรอบแรก เราจะต้องถือหุ้นต่อไปจนกว่าวัฏจักรจะเป็นขาขึ้นเต็มตัวซึ่งราคาหุ้นก็จะ ปรับตัวตามไปเรื่อย ๆ เราจะขายต่อเมื่อทุกอย่าง “ดูดีหมด” โบรกเกอร์เกือบทุกสำนักจะเชียร์หุ้นตัวนั้น นักลงทุนแทบจะทุกกลุ่มต่างก็ดูว่าเป็นหุ้น “สุดยอด” เพราะ “กำไรดีมาก” ผู้บริหาร “คาดการณ์แม่นมีวิสัยทัศน์” บริษัท “ขยายตัวต่อเนื่อง” และที่สุดยอดก็คือ “เงินสดเพียบและไม่มีหนี้เลย” เมื่อเกิดภาวการณ์แบบนี้ อย่ารอที่จะขายหุ้นทิ้ง อย่ารอให้เห็นว่าเป็นวัฏจักรขาลงแล้ว เพราะนั่นจะไม่ทันการ

หุ้นที่จะมีโอกาสเป็นหุ้นหลายเด้งกลุ่มต่อไปก็คือ “หุ้นฟื้นตัว” นี่คือหุ้นที่ประสบปัญหาการดำเนินงานจนแทบจะเอาตัวไม่รอด หลาย ๆ บริษัทต้องเข้าแผนฟื้นฟู บางบริษัทหุ้นถูกพักการซื้อขาย ราคาหุ้นจะตกต่ำมาก ดูจาก Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งบริษัทจะมีมูลค่าต่ำมากเทียบกับยอดขาย ถึงแม้ว่าบริษัทจะขาดทุนอย่างหนักและติดต่อกันมานานพอสมควรแต่กิจการก็ยัง ดำเนินต่อไปและก็ยังสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ยี่ห้อสินค้าของบริษัทเองก็ยังเป็นที่ยอมรับของลูกค้า ที่สำคัญก็คือ ทรัพย์สินของบริษัทเองเช่นโรงงานและอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ยังมีค่าและมีคนต้องการ และที่สำคัญประเด็นสุดท้ายก็คือ หนี้ของบริษัทไม่มากเกินไปเมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่มีอยู่ตามราคาตลาด การซื้อหุ้นแบบนี้ บางครั้งก็ทำได้ยากเพราะปริมาณการซื้อขายหุ้นมีน้อยมากเนื่องจากบริษัทมี ขนาดเล็กมากในแง่ของมูลค่าหุ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าบริษัทเริ่มฟื้นจริง ๆ ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นไปสูงและเร็วมาก บางครั้งปรับตัวเกินพื้นฐานไปด้วยเนื่องจากแรงเก็งกำไรของนักลงทุน ดังนั้น เราอาจจะขายทิ้งไปเมื่อหุ้นกำลัง “ร้อนจัด” ดีกว่าที่จะรอซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อฟื้นแล้วบริษัทจะกำไรดีหรือเปล่า

หุ้นกลุ่มสุดท้ายที่จะเป็นหุ้นหลายเด้งได้ก็คือ หุ้นโตเร็ว นี่คือหุ้นที่เติบโตต่อไปได้ยาวนานไม่ต่ำกว่า 5 ปี โดยที่จะโตได้เป็นสองหลักทั้งในแง่รายได้และกำไร และกำไรจะโตมากกว่ารายได้ เช่น รายได้อาจจะโต 15% ต่อปี ในขณะที่กำไรจะโตถึง 20% ต่อปี โดยเฉลี่ย ประเด็นสำคัญในการมองหาหุ้นในกลุ่มนี้ก็คือเรื่องของการวิเคราะห์คาดการณ์ การเติบโตและคุณสมบัติของตัวกิจการนั่นก็คือ บริษัทต้องเป็นบริษัทที่โตอย่างแท้จริงซึ่งก็คือ เมื่อรายได้และกำไรโตขึ้นแล้วจะต้องไม่ลดลงหรือเรียกว่า “โตอย่างถาวร” ความเสี่ยงที่รายได้และกำไรจะลดลงในอนาคตมีน้อยมาก ประการต่อมาก็คือ การโตของบริษัทนั้น ไม่ควรจะต้องมีการลงทุนในสินทรัพย์มาก ถ้าโตได้โดยที่ “แทบไม่ต้องลงทุนเลย” ก็ยิ่งดี แต่ถ้าโตโดยที่ต้องลงทุนมากก็จะเป็นการเติบโตที่ “ไม่มีประโยชน์” เพราะกิจการอาจจะไม่สามารถจ่ายปันผลให้เราได้เพิ่มเติมเนื่องจากเวลามีกำไร ก็มักจะต้องเอาเงินนั้นไปลงทุนต่อ เงินนั้นไม่มาถึงผู้ถือหุ้นเท่าไรนัก วิธีที่จะดูว่าเป็นการโตที่มีประโยชน์หรือไม่ทางหนึ่งก็คือ ดูว่าค่า ROE หรือกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทสูงแค่ไหน ถ้าต่ำกว่า 10% ผมก็คิดว่าเป็นการโตที่ไม่มีประโยชน์ ถ้าสูงกว่า 20% ผมคิดว่าเป็นการโตที่ดีมาก ข้อมูลอีกตัวหนึ่งก็คือ บริษัทที่จะโต ไม่ควรมีหนี้เงินกู้มาก ถ้าจะให้ดีไม่ควรเกิน 1 เท่าของเงินทุนของบริษัท ถ้าโตโดยไม่มีหนี้เลยก็ยิ่งดีใหญ่

การซื้อหุ้นของบริษัทที่โตเร็วนั้น ควรซื้อในยามที่ราคาหุ้นยังไม่แพง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะคนยังไม่ตระหนักว่ามันเป็นหุ้นโตเร็ว หรืออาจจะเกิดจากเหตุการณ์บางอย่างเช่นเรื่องของภาวะวิกฤติเศรษฐกิจหรือ ปัญหาบางอย่างของบริษัทที่สามารถแก้ไขได้ เมื่อซื้อแล้วและราคาหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้นไป อย่ารีบขาย ถือไปเรื่อยไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีขึ้นไป ที่จริง 5 ปีขึ้นไปยิ่งดี แต่จุดขายจริง ๆ น่าจะเป็นช่วงเวลาที่การเติบโตเริ่มชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญหรือบริษัทอาจจะ เริ่มเผชิญกับคู่แข่งที่น่ากลัว อย่างไรก็ตาม การขายหุ้นโตเร็วนั้น ความจำเป็นที่จะต้องขายอย่างรีบเร่งน่าจะน้อยกว่าหุ้นวัฏจักรหรือหุ้นฟื้น ตัวมาก เพราะหุ้นโตเร็วนั้น ราคาหุ้นเมื่อการเติบโตเริ่มช้าลงนั้น มักจะค่อย ๆ ปรับตัวลงตามอย่างช้า ๆ มากกว่าจะดิ่งลงเหมือนหุ้นกลุ่มอื่น

การเล่นหุ้นหลายเด้งนั้น แม้ว่าจะทำให้เรามีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงแต่ความเสี่ยงก็มีอยู่ไม่น้อย ประเด็นก็คือ เราอาจคาดการณ์ผิด เราไม่รู้หรือไม่เข้าใจจริง ที่สำคัญก็คือ เราไปฟังการวิเคราะห์ของคนอื่นและเราเชื่อว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นถูกต้อง โดยสิ่งที่ทำให้เราเชื่อนั้น นอกจากเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมและตัวบริษัท ก็คือ ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปอย่างแรงพร้อม ๆ กับปริมาณการซื้อขายหุ้นที่มากเกินปกติ ในลักษณะนี้ แม้ว่าสิ่งที่คาดการณ์ไว้เกี่ยวกับกิจการจะเป็นเรื่องจริง แต่เราก็จะไม่ได้หุ้นหลายเด้ง ถ้าโชคดี เราก็อาจจะได้กำไรบ้าง บางทีก็อาจจะได้สักหนึ่งเด้ง แต่ถ้าโชคร้าย เราก็อาจจะขาดทุนอย่างหนักได้เหมือนกัน คนที่จะได้กำไรหลายเด้งนั้น จะต้องเป็นคนที่ซื้อหุ้นในราคาที่ยังต่ำมาก ก่อนที่หุ้นจะเป็นข่าวหรือเป็นที่กล่าวขวัญถึง และนี่ก็คือ “เซียน” ตัวจริง

ผมคงจะจบบทความไม่ได้ถ้าไม่ได้พูดว่า เราไม่ควรคิดจะลงทุนเฉพาะหุ้นที่อาจจะกลายเป็นหุ้นหลายเด้ง เพราะการทำแบบนั้นเป็นเรื่องที่อันตรายเนื่องจากมันจะทำให้พอร์ตของเราจะมี ความเสี่ยงที่สูงเกินไป อย่าไปคิดว่าเราจะคาดการณ์ได้ถูกต้อง ว่าที่จริงเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์หรือหาหุ้นหลาย ๆ เด้งได้ถูกต้อง บ่อยครั้งเราเห็นหุ้นที่กลายเป็นหุ้นหลายเด้งแล้วเราจึงมาสรุปถึงเหตุผล แล้วเราก็คิดว่าเรารู้ตั้งแต่วันแรก ประสบการณ์ของผมก็คือ หุ้นหลายเด้งส่วนใหญ่ที่ผมได้นั้น ในวันที่ผมซื้อ ผมไม่รู้และไม่ได้คิดว่ามันจะได้กำไรถึงขนาดนั้น ผมซื้อเนื่องจากกิจการมันดีและมีราคาที่เหมาะสมที่มันน่าจะทำให้ผมได้กำไร ซักปีละ 10-15% ในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่บังเอิญมันมา “เด้ง” ทีหลัง ผมอยากเรียกว่า มันเป็นโชคดีที่เกิดจากการทำสิ่งที่ดีมากกว่า

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 30 สิงหาคม 2554

Tuesday, September 13, 2011

ทอง ทอง ทอง

ในช่วงนี้ที่หุ้นดูเหมือนจะไม่ไปไหน พันธบัตรและเงินฝากก็มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมากเพียง 3-4% ต่อปีเป็นอย่างมาก ที่ดินเองก็ไม่ขยับ ความปลอดภัยของเงินก็เริ่มมีน้อยลงเพราะภายในหนึ่งปีรัฐบาลก็จะเริ่มค้ำ ประกันเงินฝากของผู้ฝากเงินในแต่ละแบงค์ไม่เกิน 1 ล้านบาท เหนือสิ่งอื่นใด ภาวะเศรษฐกิจโลกก็ยังน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดภาวะถดถอยอย่างแรงอีกครั้ง แต่สิ่งที่ร้อนแรงมากก็คือ ทองคำ เพราะราคาทองมีการปรับตัวขึ้นมาอย่างโดดเด่นเป็น “กระทิงดุ” ราคาขึ้นวันเดียว 1,000 บาทต่อบาททองคำ แตะ 26,400 บาท เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 54 โดยที่ราคาตลาดโลกสูงถึง 1,869 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และเป็นการขึ้นต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ นับได้ถึงสิบปีแล้ว การลงทุนในทองคำดูเหมือนว่าจะเป็นการลงทุนที่ “ใช่เลย” สำหรับหลาย ๆ คน เหนือสิ่งอื่นใด ราคาทองคำ “ไม่มีลง” มันมีความปลอดภัยสูงมาก ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนเรียกมันว่า “Safe Heaven” มันเป็นสวรรค์ในยามที่เกิดวิกฤติและโกลาหลขึ้นในโลก มาดูกันว่าเราควรลงทุนในทองคำไหม?

ก่อนที่จะพูดถึงเหตุผลในแง่ของ “พื้นฐาน” มาดูสถิติผลตอบแทนของทองคำในระยะยาวที่ผ่านมาก่อน เพราะนี่จะช่วยเตือนสติเราว่า ทองคำนั้น ไม่ได้ “เปล่งแสงวับวาว” ตลอดเวลา และการเข้าไปลงทุนผิดจังหวะก็อาจจะทำให้เราเสียหายรุนแรงได้เหมือนกัน

มองย้อนหลังไปถึงประมาณปี 2520 ซึ่งผมเริ่มทำงานใหม่ ๆ และเคยซื้อทองเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต ผมจำได้ว่าทองรูปพรรณในขณะนั้นราคาบาทละน่าจะประมาณพันบาทต้น ๆ ตีเสียว่าประมาณ 1,100 บาท ถ้าผมเก็บทองชิ้นนั้นไว้ถึงวันนี้เป็นเวลา 34 ปี เท่ากับว่าเงินเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 24 เท่า นี่ดูเหมือนจะมากมโหฬาร แต่ถ้ามาคำนวณผลตอบแทนแบบทบต้นแต่ละปีก็จะพบว่าผลตอบแทนเฉลี่ยนั้นเท่ากับ ประมาณ 10% ต่อปีเท่านั้น ไม่ได้หรูหรามากแต่ก็ดีทีเดียวเมื่อเทียบกับการลงทุนอย่างอื่น เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ หุ้น ที่ผู้เชี่ยวชาญต่างก็บอกว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทน “สูงที่สุด”

การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วง 34 ปีที่ผ่านมานั้นถ้าคิดแบบง่าย ๆ ว่าดัชนีตลาดหุ้นก็คือราคาหุ้นโดยเฉลี่ยทั้งตลาดก็คือประมาณ 100 จุดหรือร้อยบาทในปี 2520 ถ้าเราลงทุนถือมาจนถึงวันนี้ที่ดัชนีตลาดเท่ากับ 1,069 จุดก็คือราคาเพิ่มขึ้นมาเป็น 1,069 บาท หรือเพิ่มขึ้นมา 10.69 เท่า เปรียบเทียบกับราคาทองคำที่ขึ้นมาถึง 24 เท่าก็น่าจะถือว่าการลงทุนในทองคำให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ามาก อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นนั้น แต่ละปียังมีปันผลที่มักจะให้ผลตอบแทนประมาณ 3-4% ซึ่งเมื่อรวมกับผลตอบแทนจากการที่ดัชนีเพิ่มขึ้นก็ทำให้หุ้นให้ผลตอบแทน เฉลี่ยแบบทบต้นประมาณ 10% ต่อปีเหมือนกัน ดังนั้น ข้อสรุปสำหรับการลงทุนที่ผ่านมา 34 ปีก็คือ ทองกับหุ้นให้ผลตอบแทนพอ ๆ กันที่ประมาณ 10% ต่อปี

แต่ผลตอบแทนของทองนั้นก็ไม่ได้สม่ำเสมอและปลอดภัยสุด ๆ อย่างที่หลายคนอาจจะคิด ในช่วงปี 2522 ถึง 2523 นั้น ราคาทองได้ปรับตัวขึ้นไปอย่างมโหฬารคือเพียงปีเดียวราคาขึ้นไปจากประมาณ 200 เหรียญต่อออนซ์ เป็นประมาณ 850 เหรียญอันเป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงเป็นสองหลักหรือกว่า 10% ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างแรงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปฏิวัติใน อิหร่านและการยึดสถานทูตของสหรัฐในอิหร่าน และการที่โซเวียตรุกเข้าไปในอัฟกานิสถาน ถ้าเราเข้าไปซื้อทองเพื่อลงทุนในปี 2523 โดยคิดว่าทองน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมเนื่องจากมันปรับตัวขึ้นเร็ว มากกว่า 300% ในปีเดียว เราก็จะพบว่าเราคิดผิดอย่างแรง เพราะหลังจากที่เหตุการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายลง ราคาทองคำก็ตกลงมาอย่างรวดเร็วเหลือเพียงประมาณ 300 เหรียญต้น ๆ ต่อออนซ์ในปี 2525 และหลังจากนั้น ราคาทองคำก็ไม่ค่อยได้ไปไหน ขยับอยู่ระหว่างประมาณ 250 ถึง 450 เหรียญเป็นเวลาเกือบ 20 ปี จนถึงปี 2544 พูดง่าย ๆ คนที่ถือทองคำอยู่ไม่ได้ผลตอบแทนเลยเป็นเวลา 20 ปี ในขณะที่หุ้นนั้น ทุกปียังมีปันผล “ปลอบใจ” แม้ว่าหุ้นอาจจะนิ่งหรือตกลงมา

ช่วงที่ดีที่สุดของทองคำและเป็นช่วงที่ “ดึง” ผลตอบแทนระยะยาวของทองคำให้สูงขึ้นจนน่าประทับใจก็คือช่วงทศวรรษหรือ 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง ตั้งแต่ปี 2544 ถึง ปัจจุบัน ราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาแทบจะตลอดเวลา จากราคาประมาณ 271 เหรียญเป็นประมาณ 1850 เหรียญต่อออนซ์ในปัจจุบัน คิดแล้วเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 583% หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 21.2% ต่อปีและน่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่าทรัพย์สินอื่นทั้งหมด และแม้แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 ราคาทองก็ตกลงมาเพียงประมาณ 30% น้อยกว่าตลาดหุ้นที่ตกลงมาเกือบ 50% และหลังจากนั้นทองก็วิ่งขึ้นมาแทบจะไม่สะดุดเลยจนถึงวันนี้

ทองจะไปทางไหนต่อ มันจะยังคงวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ หรือมันใกล้จะเป็นฟองสบู่ เป็นเรื่องที่คาดได้ยาก โดยทฤษฎีแล้ว ทองนั้นจะปรับตัวขึ้นเมื่อเกิดเหตุหรือสภาวการณ์ใหญ่ ๆ 3 ประการด้วยกันคือ เรื่องแรก เมื่อเกิดภาวะ “วิกฤติ” ทางการเงินหรือเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อสถาบันการเงินมีปัญหาสภาพคล่องรุนแรง เช่นเดียวกัน ปัญหาทางการเมืองและสงครามก็มักจะทำให้ราคาทองพุ่ง เหตุผลก็คือ ทองนั้นสามารถรักษามูลค่าของมันได้เสมอ เพราะมันเป็นที่ต้องการของคนทั้งโลก เรื่องที่สองก็คือ เมื่อเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงหรือลดค่าลง เหตุผลก็คือ ทองนั้นเป็นคล้าย ๆ กับเงินสกุลหนึ่งที่สามารถใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือเงินได้ทั้งโลกเหมือน กับเงินดอลลาร์สหรัฐเหมือนกัน ดังนั้น เมื่อเงินดอลลาร์อ่อน ทองก็มัก “แข็ง” หรือมีราคาสูงขึ้นนั่นเอง เรื่องที่สามก็คือ เมื่อเงินเฟ้อมีอัตราสูง นั่นก็คือ มีเงินหมุนเวียนในระบบมากเกินไป มากกว่าของหรือสินค้าที่มีอยู่ ดังนั้น เงินก็จะมาไล่ซื้อทองจึงทำให้ราคาทองปรับตัวสูงขึ้นเพื่อรักษาค่าของมัน

จากเหตุผล 3 ข้อข้างต้นก็จะพบว่าในช่วงที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้ ภาวะวิกฤติทางการเงินยังคงอยู่ทั้งในยุโรปและอเมริกา เช่นเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็อยู่ในช่วงที่ตกต่ำลงมาเรื่อย ๆ เนื่องจากเหตุผลหลาย ๆ อย่างรวมถึงการขาดดุลการค้าและงบประมาณที่ทำให้รัฐบาลอเมริกันเป็นหนี้สูง ขึ้นเรื่อย ๆ และสุดท้าย ภาวะเงินเฟ้อก็ดูเหมือนว่าจะสูงขึ้นมากเช่นกัน นอกจากนั้น ปริมาณของทองคำ ซึ่งในโลกนี้ดูเหมือนว่าจะมีอยู่ค่อนข้างจำกัดนั้น กลับมีความต้องการสูงขึ้น ทั้งจากประชาชนในอินเดียและจีนที่มีรายได้สูงขึ้นมาก และจากธนาคารกลางของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายโดยเฉพาะจีน อินเดีย และรวมถึงประเทศอื่น ๆ เช่นไทย ต่างก็มีเงินสำรองที่เป็นดอลลาร์สูงมากและต้องการซื้อทองเพื่อนำมาใช้เป็น ทุนสำรองเพิ่มขึ้น สาเหตุเหล่านี้ทำให้ราคาทองปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ นักเก็งกำไร และรวมถึงนักลงทุน ต่างก็เข้ามาซื้อทองคำส่งผลให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้นไปอีก คำถามก็คือ นี่เป็น “ฟองสบู่ทองคำ” หรือยัง?

ผมเองตอบไม่ได้ แต่วันหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมรู้สึกประหลาดใจมากที่คนดูแลแม่ยายผมซึ่งเราจ้างมา เธอเป็นผู้หญิงอายุเกือบ 50 ปีและไม่ได้มีความรู้อะไรเกี่ยวกับการลงทุน และเงินก็มีไม่มาก เธอบอกผมว่าเธออยากจะลงทุนซื้อทองซักบาทหนึ่งเพราะเห็นว่าราคามันขึ้นไปสูง มากเป็นกว่าสองหมื่นบาทแล้ว ผมถามว่าเธอรู้ได้อย่างไร เธอบอกว่าเห็นจากทีวี หลังจากนั้นผมก็มาคิดว่า บางทีราคาทองน่าจะใกล้เป็นฟองสบู่แล้ว ดังนั้น ใครที่คิดจะซื้อทองลงทุนก็คงต้องระวัง แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลงทุนไม่ได้เลย ผมคิดว่าการลงทุนไม่เกิน 10% ของพอร์ตการลงทุนรวมก็ไม่น่าจะเสี่ยงมากนัก เหนือสิ่งอื่นใด ทองนั้น มักจะสามารถรักษามูลค่าของมันได้ในยามที่เลวร้ายที่สุด

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 23 สิงหาคม 2554

Tuesday, August 16, 2011

Apple VS Exxon

สัปดาห์ก่อนมีข่าว เล็กๆ เกี่ยวกับหุ้นที่น่าสนใจและน่าจะเรียกได้ว่าเป็นหุ้น "สุดยอดแห่งทศวรรษ" ของโลก นั่นก็คือ หุ้นของบริษัท Apple Inc. ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ยี่ ห้อแม็ค ไอโฟน ไอแพด และอื่นๆ ที่ครองใจผู้ใช้ทั้งโลก สินค้าหลายชนิดของบริษัทนั้นเป็นที่นิยมขนาดที่คนต้อง "เข้าคิวซื้อ" และคนที่ได้ครอบครองสินค้าในมือนั้นมีความรู้สึกภาคภูมิใจและอยากจะอวดกับเพื่อนฝูง มันเป็นสินค้าที่ทำให้คนดูทันสมัยและ "มีระดับ" ในสังคม ข่าวที่ว่านั้นไม่ได้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แต่เป็นข่าวที่ว่าหุ้นของบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐนั้นมีราคาปรับตัวขึ้นจนทำให้มันมีมูลค่าสูงที่สุด และเอาชนะหุ้นของบริษัท Exxon Mobil หรือที่คนไทยรู้จักกัน ก็คือ เอสโซ่ บริษัทน้ำมันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสหรัฐและในโลกมาช้านาน

ลองมาดูกันว่าบริษัทแอ๊ปเปิ้ลมีผลประกอบการดีอย่างไร และทำไมหุ้นจึงเติบโตมาได้ขนาดนี้เทียบกับบริษัทเอสโซ่ที่ทำธุรกิจน้ำมันและ พลังงานที่ก็น่าจะโดดเด่นสุดยอดเหมือนกัน เพราะเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจที่โลกกำลังมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดในชีวิตของมนุษย์ยุคปัจจุบัน

พูดถึงมูลค่าหุ้นในตลาดของแอ๊ปเปิ้ลและเอ็กซอนนั้น ขณะนี้ ก็อยู่ที่ประมาณ 350 พันล้านดอลลาร์เท่าๆ กันหรือคิดเป็นเงินไทย ก็คือ ประมาณ 10 ล้าน ล้านบาท หรือพอๆ กับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยทั้งปี และใหญ่กว่ามูลค่ารวมของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่อยู่ที่ประมาณ 8.7 ล้านล้านบาท พูดอีกทางหนึ่ง ก็คือ หุ้นแอ๊ปเปิ้ลตัวเดียวนั้นก็ใหญ่กว่าหุ้นไทยทั้งตลาดแล้ว

ดูทางด้านทรัพย์สินว่าบริษัทมีขนาดใหญ่แค่ไหนก็ปรากฏว่าแอ๊ปเปิ้ลมีทรัพย์สินเพียง ประมาณ 100 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยก็คือ ประมาณ 3 ล้านล้านบาท แต่เนื่องจากทรัพย์สินประมาณ 8 แสนล้านบาทนั้นเป็นเงินสดที่บริษัทเก็บไว้ไม่ได้จ่ายปันผลออกมานาน ดังนั้น เอาเข้าจริงๆ แล้ว ทรัพย์สินที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินงานของบริษัทนั้นน่าจะมีเพียงประมาณ 2.2 ล้านล้านบาทเท่านั้น ส่วนของเอ็กซอนนั้น มีทรัพย์สินถึงประมาณ 300 พันล้านดอลลาร์ หรือใหญ่เป็น 3 เท่าของแอ๊ปเปิ้ล หรือคิดเป็นเงินไทย ก็คือ 9 ล้าน ล้านบาท เอ็กซอนมีเงินสดอยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาทแต่มีหนี้อยู่ประมาณ 5 แสนล้านบาท ในขณะที่แอ๊ปเปิ้ลนั้นไม่มีหนี้เลย ดังนั้น ถ้าจะพูดอย่างคร่าว ๆ ก็คือ เอ็กซอนนั้นใช้ทรัพย์สินเพื่อดำเนินงานประมาณ 4 เท่า ของแอ๊ปเปิ้ล

มองทางด้านรายได้ แอ๊ปเปิ้ลมียอดขายต่อปีประมาณ 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปี หรือเท่ากับ 3 ล้านล้านบาท ในขณะที่เอ็กซอนมียอดขายสูงกว่ามาก คือ ประมาณ 400 พันล้านหรือคิดเป็น 4 เท่าของแอ๊ปเปิ้ล หรือคิดเป็นเงินไทยถึง 12 ล้านล้านบาท มากกว่าผลผลิตมวลรวมประชาชาติของไทย พูดง่ายๆ บริษัทเอ็กซอนบริษัทเดียวขายน้ำมันทั้งปีมีมูลค่าสูงกว่าสิ่งที่คนไทยทั้งประเทศผลิตในเวลาเดียวกัน

ถ้ามองจากทรัพย์สินและยอดขายก็จะเห็นว่าบริษัทเอ็กซอนนั้นมีทรัพย์สินมากกว่าแอ๊ปเปิ้ล 4 เท่าและมีรายได้หรือยอดขายต่อปีมากกว่าแอ๊ปเปิ้ล 4 เท่าเหมือนกัน ดังนั้น เราอาจจะพูดได้ว่าถ้าเปรียบเทียบโดยขนาดของบริษัทแล้ว แอ๊ปเปิ้ลนั้นเล็กกว่าเอ็กซอนถึง 3 เท่าหรือ แอ๊ปเปิ้ลนั้นมีขนาดเพียง 1 ใน 4 ของเอ็กซอนเท่านั้น แต่มูลค่าตลาดของหุ้นของทั้งสองบริษัทกลับใหญ่เท่าๆ กัน อะไรทำให้มันเป็นอย่างนั้น หุ้นของแอ๊ปเปิ้ลมีราคา "เวอร์" เกินความเป็นจริงหรือเปล่า

ผลการดำเนินงานหรือกำไรของแอ๊ปเปิ้ลในปีที่ผ่านมาเท่ากับ 23.6 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท ในขณะที่ของเอ็กซอนเท่ากับ 37.9 พันล้านดอลลาร์หรือประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท คิดแล้วมากกว่าประมาณ 60% อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของแอ๊ปเปิ้ลดูเหมือนจะสูงกว่าของเอ็กซอนมาก เพราะอัตราส่วนกำไรต่อยอดขายของแอ๊ปเปิ้ลเท่ากับประมาณ 24% ในขณะที่ของเอ็กซอน เท่ากับประมาณ 10% เท่านั้น พูดง่ายๆ การขายสินค้าไฮเทคที่สุดทันสมัยของแอ๊ปเปิ้ลแต่ละเครื่องนั้น กำไรดีกว่าการขายน้ำมันทุกบาร์เรลที่เหมือนๆ กันทุกบริษัท

กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นซึ่งถือว่าเป็นกำไรที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับนั้นของแอ๊ปเปิ้ลสูงมากถึง 42% และถ้าหากไม่นับเงินสดที่แอ๊ปเปิ้ลมีมากเกินความจำเป็นแล้ว กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของแอ๊ปเปิ้ลจริงๆ อาจจะสูงถึง 50-60% ทีเดียว ในขณะที่ของเอ็กซอนนั้นอยู่ที่ 25% ซึ่งถ้าจะพูดไปก็สูงมากอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงสามารถพูดได้ว่ากิจการของเอ็กซอนนั้นทำกำไรได้ดีมากและของแอ๊ปเปิ้ลนั้นน่าจะ "ดีสุดยอด" ในแง่ของการทำกำไร

ในด้านของการเติบโตของกำไรนั้น การเพิ่มขึ้นของกำไรไตรมาสนี้เมื่อเปรียบเทียบกับของปีที่แล้วก็พบว่าแอ๊ปเปิ้ลโตขึ้นถึง 125% ในขณะที่เอ็กซอนโตขึ้นถึง 41% เช่นกัน เป็นการแสดงให้เห็นว่าหุ้นสองตัวนี้ต่างก็เป็น "ดารา" ทั้งคู่ เพียงแต่แอ๊ปเปิ้ลนั้นเป็น "ซูเปอร์สตาร์" ที่มาแรงจริงๆ

มาดูทางด้านของความถูกความแพงของหุ้นกันบ้าง แอ๊ปเปิ้ลนั้นมีค่า PE เท่ากับ 14.8 เท่า และค่า PB เท่ากับ 4.9 เท่า หรือถ้าเราหักเงินสดที่มากเกินออกไปซึ่งจะทำให้มูลค่าทางบัญชีหรือค่า B ลดลง ค่า PB ก็น่าจะอยู่ในหลักประมาณ 8 เท่า ในส่วนของเอ็กซอนนั้น ค่า PE เท่ากับ 9.5 เท่า ในขณะที่ค่า PB เท่ากับ 2.2 เท่า ดูไปแล้วราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทก็ไม่แพงเลยเมื่อเทียบกับหุ้นสหรัฐและแม้แต่หุ้นไทย ว่าที่จริงอาจจะเข้าข่ายเป็นหุ้น Value หรือหุ้นเน้นคุณค่าด้วยซ้ำ เหนือสิ่งอื่นใด แอ๊ปเปิ้ลนั้นน่าจะ เป็น "ราชัน" ของหุ้นไฮเทค

ส่วนเอ็กซอนนั้นก็น่าจะเป็นราชันของหุ้นพลังงาน ซึ่งทั้งสองอุตสาหกรรมต่างก็กำลังร้อนแรงและเติบโตกันทั้งคู่ แต่เหตุที่หุ้นมีราคาถูกนั้นอาจจะเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นของอเมริกาตกต่ำก็เป็นได้ และนี่ก็อาจจะเป็นช่วง เวลา "ซื้อ" สำหรับคนที่ชอบหุ้นประเภทซูเปอร์สต็อก

สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือเรื่องของการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ผ่านมาในระยะยาว ผมมองย้อนหลังไปประมาณ 8 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่หุ้นแอ๊ปเปิ้ลยังไม่ได้ไปไหนนิ่งๆ มานานนับสิบปีและเป็นช่วงที่ สตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอ คนปัจจุบันเริ่มกลับเข้ามาบริหารบริษัทใหม่หลังจากที่ถูกไล่ออกไปหลายปี ในขณะนั้นหุ้น แอ๊ปเปิ้ลมีราคาประมาณ 7 ดอลลาร์ ในเวลาเดียวกัน หุ้นเอ็กซอนมีราคาประมาณ 34 ดอลลาร์ นั่นคือ ช่วงกลางปี 2003 พอถึงกลางปี 2008 หุ้นแอ๊ปเปิ้ลขึ้นไปถึง 187 ในขณะที่เอ็กซอนขึ้นไปเป็น 95 ดอลลาร์ ในเวลา 5 ปี แอ๊ปเปิ้ลขึ้นไป 25.7 เท่าและหุ้นเอ็กซอนขึ้นไปเพียง 1.79 เท่า ในช่วงวิกฤติปลายปี 2008 หุ้นแอ๊ปเปิ้ลตกลงมาเหลือ 80 ดอลลาร์ต้นๆ หรือลดลงถึง 56% ส่วนหุ้นเอ็กซอนตกลงมาเหลือประมาณ 62 ดอลลาร์ หรือลดลง 35% แต่หลังจากนั้น จนถึงปัจจุบันหุ้นแอ๊ปเปิ้ลก็ปรับตัวขึ้นมาเป็นประมาณ 374 ดอลลาร์หรือขึ้นมา 3.5 เท่า ในขณะที่เอ็กซอนขึ้นมาเป็น 72 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นเพียง 16% และยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติ โดยสรุปแล้วในช่วงประมาณ 8 ปี หุ้นแอ๊ปเปิ้ลขึ้นมาประมาณ 52 เท่า ในขณะที่เอ็กซอนขึ้นมาประมาณ 1.1 เท่า

ข้อสรุปรวบยอดของผม ก็คือ ในช่วงเวลา 8 ปี หุ้นแอ๊ปเปิ้ลซึ่งเคยเป็นหุ้นที่ค่อนข้างเล็กมีมูลค่าตลาดประมาณ 2 แสนล้านบาท ได้เติบโตมหาศาลกลายเป็นหุ้น 10 ล้าน ล้านบาท เท่ากับหุ้นเอ็กซอนซึ่งเป็นหุ้นยักษ์ใหญ่ระดับต้นของโลก หุ้นเอ็กซอนเองนั้นเมื่อ 8 ปีก่อนก็น่าจะเป็นหุ้นระดับต้นของโลกที่มีมูลค่าถึง เกือบ 5 ล้านล้านบาท คนที่ลงทุนในหุ้นเอ็กซอนในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานั้นก็ได้ผลตอบแทนที่ไม่เลวเฉลี่ยประมาณปีละ 10% แต่ถ้าใครลงทุนและถือหุ้นแอ๊ปเปิ้ลผ่านร้อนผ่านหนาวและวิกฤติเศรษฐกิจมาถึงวันนี้ ก็อาจจะกลายเป็นเศรษฐีโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย

และนี่ก็คือ ความแตกต่างระหว่างหุ้นบลูชิพอย่างเอ็กซอน กับหุ้นซูเปอร์สต็อกอย่างหุ้นแอ๊ปเปิ้ล

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 16 สิงหาคม 2554

เปลี่ยน VS ไม่เปลี่ยน

ในการลงทุนของ "เซียน" หรือนักลงทุนที่ "มุ่งมั่น" ดูเหมือนว่า จะมีความคิดเกี่ยวกับอนาคตของกิจการ 2 แนวทาง กลุ่มของเซียนที่กล้าได้ กล้าเสีย อายุน้อยกว่า กระตือรือร้นกว่า และมีสปิริตของ "นักเก็งกำไร" มากกว่า จะชอบการลงทุนในบริษัทที่กำลังมีการ"เปลี่ยนแปลง" ในพื้นฐานที่สำคัญของกิจการ พวกเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลง จะทำให้มูลค่าที่แท้จริงของกิจการเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ และนั่นเป็นโอกาสที่เขาจะทำกำไรได้มหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว

นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอายุมากกว่า อนุรักษนิยมกว่า เป็นพวกที่เน้นความปลอดภัยสูง และมีสปิริตของ"นักลงทุน" มากกว่าการเทรดหุ้น พวกเขาชอบการลงทุนในบริษัทที่มีความแน่นอนของผลประกอบการ และชอบกิจการที่ "ไม่เปลี่ยนแปลง" ในพื้นฐานที่สำคัญของกิจการ

พวกเขาเชื่อว่ากิจการที่มีความมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงไปง่ายๆ จะทำให้เขาประเมินมูลค่าที่แท้จริงได้แม่นยำ ดังนั้นการซื้อหุ้นลงทุน จึงผิดพลาดน้อยกว่ากิจการที่มี หรือเปลี่ยนแปลงสูง คนกลุ่มนี้คิดว่า ผลตอบแทนที่จะได้จากหุ้นมากๆ อยู่ที่การเติบโตของกิจการในอนาคตจากผลิตภัณฑ์เดิมๆ ของบริษัท

พูดง่ายๆ พวกเขาเชื่อว่าราคาหุ้นจะขึ้นไปเรื่อยๆ ตามการเติบโตของยอดขายและกำไรของบริษัท ดังนั้นวิธีทำเงิน ก็คือ ซื้อหุ้นที่มีลักษณะดังกล่าวแล้วถือยาว โดยไม่ต้องทำอะไร ยกเว้นคอยติดตามผลการดำเนินงานของบริษัท การเปลี่ยนแปลงพื้นฐานที่สำคัญของกิจการ จำแนกเป็นหลายๆ กลุ่ม

กลุ่มแรก พบได้มากที่สุด จะเป็น เรื่องของบริษัทขนาดเล็ก โดยเฉพาะบริษัทที่เคยมีปัญหาในการดำเนินงานและกำลัง "ฟื้นฟู" กิจการ โดยผู้ถือหุ้นและผู้บริหารกลุ่มใหม่ การที่เป็นบริษัทขนาดเล็ก ทำให้การเปลี่ยนแปลงแบบ "พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ" ทำได้ง่าย

วิธีการ ก็คือ เพิ่มทุนโดยผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่แล้ว ประกาศเปลี่ยนธุรกิจ จากธุรกิจเดิมเป็นธุรกิจที่ "มีโอกาส" ทำกำไรได้รวดเร็ว เพราะผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่เคยทำธุรกิจนั้นอยู่ หรืออาจจะเป็นธุรกิจที่กำลัง "ร้อนแรง" และการเข้าสู่ธุรกิจทำได้ง่าย หรือถ้าเป็นบริษัทด้านบริการ อาจหันไปจับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบันเทิง หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสื่อสารแบบไร้สายและอินเทอร์เน็ต ต่างๆ เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลง "พื้นฐาน" ของกิจการ เพราะการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ หรือผลิตภัณฑ์อย่างสิ้นเชิง ถ้าว่ากันตามทฤษฎีแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จ จริงอยู่ ในระยะยาวอาจมีกำไร และทำให้บริษัทที่เคยมีปัญหาฟื้นตัวได้ แต่หากกำไรที่ทำได้ เป็น"กำไรปกติ" ที่เหมาะสมกับ "เงินลงทุน" ที่ใส่เข้าไป ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอาจเท่ากับ 10% ต่อปีในระยะยาว

ถ้าเป็นแบบนี้ มูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงของบริษัท และราคาหุ้นไม่น่าจะเพิ่มขึ้นในระยะยาว ความหมาย คือ ใส่เงินใหม่เข้าไปเท่าไร ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเท่านั้นในระยะยาว

ในระยะสั้นราคาหุ้นย่อมขึ้นอยู่กับ "ความเชื่อ" ของนักเล่นหุ้น ถ้า"สปอนเซอร์" หรือคนที่เข้ามาเปลี่ยนกิจการ โน้มน้าวให้คนเชื่อว่า บริษัททำกิจการใหม่มีกำไรได้รวดเร็ว และสูงเหมือนกับกิจการอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน คนก็จะเข้ามาซื้อหุ้น และทำให้ราคาขึ้นรวดเร็ว และคนที่เข้าไปเปลี่ยนกิจการ ก็ขายหุ้นทำกำไรได้มากและรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ

กลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของกิจการที่เป็นบริษัทใหญ่ขึ้นมา และไม่มีปัญหาการดำเนินงาน น่าจะเป็นกิจการที่มีการเปลี่ยนแปลงในวิธี หรือกลยุทธ์สำคัญในการทำธุรกิจ ส่วนหนึ่งอาจมาจากการ เทคโอเวอร์กิจการ ที่เป็นคู่แข่ง และหรือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมของตน และในกระบวนการนั้น ทำให้เกิดความได้เปรียบ เพราะขนาดหรือทำให้เกิดความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ในสายตาของลูกค้า ส่งผลให้ผลประกอบการดีขึ้นชัดเจน เมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่จ่ายไป ลักษณะนี้จะทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นมั่นคง และราคาหุ้นปรับตัวขึ้นรับกับ "พื้นฐานใหม่" คนที่เข้าไปซื้อหุ้นไว้ก่อนในราคาต่ำได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ

เช่นเดียวกัน ราคาหุ้นอาจขึ้นไปทันที เพราะนักเล่นหุ้นเชื่อว่าสิ่งที่บริษัททำจะเป็นจริง ในระยะยาวแล้ว ผลประกอบการที่ประกาศออกมา จะเป็นตัวกำหนดพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไป ดีขึ้นหรือเลวลง และราคาหุ้นจะสะท้อนพื้นฐานนั้น

คนที่ "หากิน" กับการเปลี่ยนแปลงของกิจการ บ่อยครั้งก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพื้นฐานระยะยาวจริงๆ พวกเขามองหาการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น และมีผลดีต่อผลการดำเนินงานบริษัท เช่น บริษัทหรือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ ถ้าราคาสินค้าหรือบริการกำลังปรับตัวขึ้น และเขาคิดว่าด้วยความไม่สมดุลของการผลิต และการบริโภคที่เกิดขึ้น จะทำให้ราคาโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นไปอีกมาก แบบนี้ การซื้อหุ้นไว้ก่อนก็จะทำให้ได้กำไรมหาศาล คนที่คาดการณ์ได้จริงๆ ก็หาได้ยาก โอกาสผิดพลาดมักจะมีสูง

การเล่นหุ้นที่กำลังมีการ "เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ" จึงเป็นเรื่องน่าเร้าใจ บ่อยครั้งไม่จำเป็นต้องคาดถูก หรือผิดด้วยซ้ำ เพียงแต่คาดถูกต้องว่า "คนอื่นเชื่ออย่างไร" เพราะราคาหุ้นในระยะสั้น อยู่ที่ความเชื่อไม่ใช่ความจริง ผลตอบแทนของการคาดการณ์ถูกต้องนั้นสูงมาก เช่นเดียวกัน ผลตอบแทนจากการคาดผิดก็เลวร้ายได้ไม่แพ้กัน

คนเล่นเกมนี้ ต้องเข้าใจว่า มีบางคนได้เปรียบกว่าคนอื่น อย่างน้อย "สปอนเซอร์" ก็รู้ดีกว่าคนนอก ผู้เล่นรายใหญ่ที่มีพลังการซื้อ และการชี้นำสูงได้เปรียบรายย่อยที่เป็นฝ่ายรับข้อมูลมากกว่า

กลับมาในกลุ่มคนที่หากินกับการ "ไม่เปลี่ยนแปลง" นี่คือ ยุทธศาสตร์การลงทุนที่ "น่าเบื่อ" เพราะตัวธุรกิจที่บริษัททำอยู่ มักเป็นธุรกิจที่ไม่ใคร่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือเป็นธุรกิจ "รูทีน" ทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้นมานาน ส่วนใหญ่อาจนับสิบๆ ปี

หุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่เข้าข่ายเป็นกิจการที่ "แข็งแกร่ง" หรือ "ยิ่งใหญ่" ทั้งด้านการตลาดและการเงิน เมื่อเทียบกับคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน ผลประกอบการ มักจะคาดการณ์ได้ แต่เติบโตขึ้นหลายสิบหรือร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลาสั้นๆ ตัวหุ้นเองก็มักจะไม่ปรับตัวขึ้นหรือลงหวือหวา

ดังนั้นถ้าคนชอบมีชีวิตการลงทุนมั่นคง และไม่ต้องการความกังวลใจกับการลงทุน นี่ก็เป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ และในระยะยาว ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยอาจไม่แพ้การลงทุน ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสำหรับนักลงทุนที่มีศักยภาพพอๆ กัน

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 9 สิงหาคม 2554

สุลต่านในฮาเร็ม

ลองจินตนาการดูว่า จะมีความสุขแค่ไหนถ้าเราเป็นสุลต่านที่มีความมั่งคั่งและอำนาจเด็ดขาดที่ สามารถสั่งการเรื่องใดก็ได้ในอาณาจักรของตนเอง ทุกเช้าเวลาสิบโมงตรง หญิงงาม 500 คน แต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงามจะถูกบัญชาให้เดินเรียงแถวเข้าเสนอตัว ให้สุลต่านคัดเลือก เพื่อให้เป็นนางบำเรอหรือเป็นคู่ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขแล้วแต่ที่สุลต่านจะ ต้องการ

สาวงามแต่ละคนต่างก็อวดโฉมและเสนอตัวด้วยมารยาต่างๆ เพื่อหวังจะได้รับเลือกให้เป็นคู่ของสุลต่าน การได้รับเลือกเป็นความฝันสูงสุดของทุกคน สุลต่านเองก็มีประวัติและข้อมูลเฉพาะตัวเกี่ยวกับหญิงสาว เช่น อายุ ความสูง ส่วนเว้าส่วนโค้งของร่างกาย รวมถึงอุปนิสัยและความสามารถต่างๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนสาวงามที่มากมาย ดูเหมือนว่าการเลือกสาวดูเหมือนจะยุ่งยากอยู่ไม่น้อย คำถาม ก็คือ จะเลือกไว้สักกี่คน และจะเลือกคนไหน ที่จะทำให้เกิดความสุขสูงสุด

ถ้าเป็นสุลต่านที่กำลังมีความกำหนัดสูงและไม่ทันได้คิดถึงอนาคตที่ตามมา พระองค์ก็จะรีบที่จะเลือกสาวตั้งแต่คนต้นๆ สาวที่พระองค์คิดว่ามีความงดงามหรือมีจริตกิริยาน่ารักน่าใคร่ก็จะถูกเลือก ไว้อย่างรวดเร็ว ในไม่ช้าและก่อนที่จะถึงสาวคนสุดท้าย พระองค์ก็จะได้ “นางบำเรอ” จำนวนมากมาเป็นคู่ ชีวิตหลังจากนั้น ดูเหมือนว่าจะสับสนวุ่นวาย สุลต่านไม่รู้แม้แต่ชื่อของหญิงทุกคนที่มาสัมพันธ์กับตนเองไม่ต้องพูดถึง ความ “โรแมนติก” ที่จะได้รับจากการที่ได้กอดกับผู้หญิงที่รู้และเข้าอกเข้าใจ

ไม่เป็นการดีกว่าหรือที่สุลต่านจะเลือกหญิงงามแค่สัก 7 คน อืม..สัก 6 คนก็น่าจะพอ เพราะการ “ได้พัก” สักหนึ่งวันในแต่ละสัปดาห์น่าจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าการ “มีความสุข” ทุกวันโดยไม่ได้พักเลย ดังนั้น สิ่งที่สุลต่านควรทำ ก็คือ การกำหนดตั้งแต่ต้นว่าตนต้องการผู้หญิงที่จะมาเป็นคู่ที่จะเข้าใจกันและกัน เป็นอย่างดี และมีความผูกพันที่ลึกซึ้งยาวนานพอสมควร ไม่ใช่ความสัมพันธ์อันฉาบฉวย จำนวนเพียง 6 คน ไม่ใช่สาวงามเป็นสิบๆ หรือเป็นร้อยคน

การเลือกสาวงามเพียง 6 คนจากจำนวน 500 คนนั้น ถ้าจะให้สาวงามเดินแถวเรียงเข้ามาเพื่อให้พิจารณาคงเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสน เข็ญ สาวงามแต่ละคนก็มี “จุดเด่น” และจุดด้อยกันคนละอย่างทำให้ตัดสินใจได้ยาก เหนือสิ่งอื่นใด สาวงามแต่ละคนต่างก็พยายาม “พรีเซ้นท์” ตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อหวังให้ได้รับการคัดเลือก นี่อาจจะทำให้สุลต่าน “หลง” ไปกับสาวงามบางคนที่อาจจะไม่ได้มีคุณสมบัติที่ดีเท่าที่ควร ถ้าเช่นนั้นสุลต่านจะทำอย่างไรดี

วิธีที่จะคัดสาวงามที่จะทำให้ได้คนที่สวยและดีที่สุด ก็คือ การตั้ง “เกณฑ์” เพื่อจะตัดสาวงามที่มีคุณสมบัติบางประการไม่ถึงขั้นจะเป็นเลิศออก ตัวอย่างเกณฑ์ข้อหนึ่ง ก็คือ สาวที่มีความสูงไม่ถึง 170 เซนติเมตรก็ไม่ต้องเดินเข้ามาโชว์ตัว เกณฑ์ข้ออื่น ๆ อาจจะเป็นเรื่องของส่วนโค้งส่วนเว้าหรือคุณสมบัติอื่นๆ ที่เป็นที่ต้องการของสุลต่าน ยิ่งต้องการคนน้อยเท่าไรเมื่อเทียบกับจำนวนคนทั้งหมด เกณฑ์ก็จะต้องเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น บางทีแค่ว่าตาเล็กใหญ่ไม่เท่ากันก็ต้องถูกคัดออกแล้ว ด้วยวิธีการแบบนี้ สุลต่านก็จะเหลือสาวงามจำนวนไม่มากที่จะพิจารณาคัดเลือก และนางงามเหล่านี้ต่างก็จะต้องสวยสดงดงามระดับนางงามอยู่แล้ว มิฉะนั้น ก็จะไม่สามารถผ่านเกณฑ์ที่เข้มงวดมาได้ ถึงขั้นนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากที่สุลต่านจะได้สาวในฝันมาบำเรอตนเอง

ในชีวิตจริงเราคงไม่สามารถเลือกสาวดังกล่าว ในชีวิตจริงนั้น บางคนก็สามารถเลือกคู่ได้มากกว่าคนอื่น คนที่มีทรัพย์สมบัติหรือรูปสมบัติที่ดีมากๆ ก็มักมีแนวโน้มที่จะเลือกคนอื่นประเภท “หล่อเลือกได้” “รวยเลือกได้” หรือสมัยนี้ก็อาจจะ “สวยเลือกได้” แต่สำหรับผมเองแล้ว ดูเหมือนว่าชีวิตนี้มักจะออกในแนว “ถูกเขาเลือก” ตลอดมา หลาย ๆ ครั้งผมคิดว่าผมอยู่ในสถานะที่ “เสียเปรียบ” ไม่ว่าในการทำงานหรือการใช้ชีวิต บ่อยครั้งผม “เสนอตัว” เพื่อที่จะให้เขาเลือก เช่น เสนอตัวให้เขาเลือกเป็นพนักงาน หรือเสนอตัวเพื่อให้เขาเลือกให้เราและบริษัทเราทำงานให้เขา แต่ก็มักไม่ได้รับการคัดเลือก ประเด็น ก็คือ คุณสมบัติของเราไม่ดีพอ หน้าตารูปร่างเราไม่เด่นพอ เราไม่ได้มาจากสถาบันการศึกษาที่ดีเยี่ยมระดับโลก อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกว่าโลกนี้มันไม่ยุติธรรมแต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่คิดว่ามันเป็นเรื่องของ “โชคชะตา” เราไม่ได้เกิดมาเป็น “สุลต่าน”

แต่ครั้นแล้วผมก็พบว่า ยังมีสถานที่แห่งหนึ่ง ที่ผมสามารถทำลายความ “ด้อย” ทุกอย่างที่ผมมี ในสถานที่แห่งนั้น ผมจะเป็น “สุลต่าน” ที่ผมจะเป็นฝ่ายที่เลือกได้ตามอำเภอใจ ที่นั่น ก็คือ “ตลาดหุ้น” ทุก 10 โมงเช้า จะมีหุ้นกว่า 500 ตัวเสนอตัวออกมาให้ผมเลือกว่าจะลงทุนซื้อหุ้นตัวไหนโดยที่ผมไม่ต้องแม้แต่จะ ขอร้องให้ออกมาโชว์ตัว หุ้นกว่า 500 ตัวนี้ ผมไม่มีความจำเป็นและไม่อยากที่จะมีไว้ครอบครองเกินกว่า 10-20 ตัว ว่าที่จริงหุ้นที่มีนัยสำคัญที่จะเป็น “คู่แท้” ที่ผมอยากมีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนยาวนานนั้น ผมคิดว่ามีสัก 6 ตัว ก็เพียงพอและมีความสุขแล้ว การเกี่ยวข้องกับหุ้นจำนวนมากก็คงเหมือนกับการเกี่ยวข้องกับหญิงสาวของ สุลต่าน มันไม่มีความโรแมนติกเสียเลย

วิธีการคัดเลือกหุ้นของผมก็เหมือนกับการคัดตัวหญิงสาวของสุลต่าน ผมตั้งเกณฑ์เข้มข้นว่าหุ้นประเภทไหนบ้างที่ผมไม่สนใจและจะคัดออกจากการ พิจารณา สุลต่านกำหนดว่านางงามของตนนั้นต้องสูงอย่างน้อย 170 เซนติเมตร หุ้นของผมอาจจะต้องเป็นหุ้นที่ “โต” หรือโตเร็ว หุ้นที่กิจการไม่โตหรือจะเล็กลงในอนาคตผมจะตัดออก อะไรทำนองนี้ ถ้าจะว่าไป เกณฑ์ของผมคงจะเข้มงวดมาก ผมคิดว่ามีหุ้นหลายร้อยตัวในตลาดที่ผมแทบไม่พิจารณาเลย ผมทำได้ เพราะผมคิดว่า ในตลาดหลักทรัพย์นั้น ผมเป็น “สุลต่าน” ไม่ว่าหุ้นจะ “สวย” แค่ไหน ก็ไม่มีสิทธิที่จะมาเลือกผม ผมจะเป็นคนเลือกว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อมัน เหนือสิ่งอื่นใด ผมต้องการหุ้นแค่ 5- 6 เท่านั้นที่จะทำให้ผมประสบความสำเร็จในการลงทุน

ประเด็นที่สำคัญสำหรับผม ก็คือ ผมจะต้องตระหนักตลอดเวลาว่า ผมจะไม่ถูกหุ้น “เลือก” ความหมาย ก็คือ หุ้นนั้นก็คงเหมือนหญิง 500 คนที่เสนอตัวให้สุลต่านเลือก พวกหล่อนต้องแต่งตัวดีและยั่วเย้าเพื่อให้สุลต่านหลงเพื่อจะได้รับการ เลือก หุ้นจำนวนมากในตลาดหลักทรัพย์นั้น เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับหญิงของสุลต่านที่พยายามยั่วให้คนมาซื้อ นั่นคือ ในทุกๆ วันจะมีหุ้นบางตัวมีราคาและปริมาณการซื้อขายที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างหวือหวา และนั่น “ยั่ว” ให้นักเล่นหุ้นสนใจเข้าไปร่วมซื้อขายอย่างไม่ได้พินิจพิจารณาเป็นอย่างดี พวกเขาเข้าไปซื้อเพราะหวังกำไรอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ว่าที่จริงเขา “ถูกเลือก” ให้เข้าไป “เล่น” ในสถานการณ์แบบนี้ โอกาสที่จะได้ “หุ้นงาม” นั้นมีน้อย แต่โอกาสที่จะเสียจะมีมากกว่า น่าเสียดายที่คนเล่นหุ้นรายย่อยในตลาดนั้น ส่วนใหญ่แล้ว มัก “ถูกเลือก” มากกว่าเป็น “ผู้เลือก”

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 2 สิงหาคม 2554