Saturday, November 9, 2013

Inter Brand

การเติบโตขึ้นของการบริโภคของคนไทยเห็นได้ชัดเจนช่วงหลายปีที่ผ่านมา เหตุเพราะว่ารายได้ของคนชั้นกลางและชั้นกลาง-ล่างที่เป็น “มนุษย์เงินเดือน” นั้นเพิ่มขึ้นรวดเร็ว อานิสงส์จากแรงงานในประเทศไทยขาดแคลนอย่างหนัก สิ่งนี้ส่งผลบริษัทที่ขายสินค้าหรือบริการให้กับผู้บริโภคเติบโตเฟื่องฟูขึ้นรวดเร็ว

บริษัทที่ขายสินค้าและบริการให้ผู้บริโภคที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างมียอดขาย และกำไรเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มักจะเป็นบริษัทที่ใหญ่ และมีส่วนแบ่งการตลาดสูง สิ่งนี้ส่งผลให้นักลงทุนหันมาสนใจลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้มากขึ้น และทำให้ราคาหุ้นและมูลค่าตลาดของหุ้นสูงขึ้นมาก หุ้นกลุ่มผู้บริโภคที่นักลงทุนไม่ใคร่สนใจในอดีตกลายเป็นหุ้นยอดนิยม จากหุ้นที่มีราคาถูกค่า PE ต่ำ ก็กลายเป็นหุ้นมีราคาแพงและค่า PE สูงลิ่ว เทรนด์หรือแนวโน้มแบบนี้จะไปต่อไหม? ความเสี่ยงคืออะไร?

ย้อนหลังไป อาจจะไม่ถึงหนึ่งหรือสองปี สิ่งที่ได้ “สัมผัส” อยู่บ่อย ๆ อาจจะเนื่องจากคนใกล้ชิดชอบก็คือเรื่องของเสื้อผ้า และเครื่องแต่งตัวที่เป็นแฟชั่นราคาย่อมเยาหรือไม่แพง คิดว่านี่เป็นธุรกิจที่ดีโดยเฉพาะถ้ากิจการนั้นได้เปรียบคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านต้นทุนหรือยี่ห้อ หรือด้านของการเป็นช่องทางขายที่เป็นจุดหมายของคนซื้อ

ในตอนนั้นจึงสรุปว่ากิจการขายเสื้อผ้าที่เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ คงได้เปรียบและน่าจะเติบโตไปได้ดีนั่นคือกลุ่มหนึ่ง กลุ่มสองคือกิจการขายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมียี่ห้อและราคาไม่แพงน่าจะไปได้ดี และสามศูนย์การค้าที่เป็น “ศูนย์กลาง” จำหน่ายเสื้อผ้าที่เป็นแฟชั่นราคาไม่แพงคงทำได้ดี ว่าที่จริงเคยรับรู้มาว่าอัตราค่าเช่าสำหรับร้านค้าในศูนย์เช่นที่อยู่แถวประตูน้ำนั้น มีราคาแพงมากจนไม่น่าเชื่อ

และแล้ววันหนึ่งที่ศูนย์การค้าพารากอน ซึ่งผมมักจะไปจ่ายตลาดเป็นประจำก็พบกับความประหลาดใจมาก ที่เห็นว่ามีร้านขายเสื้อผ้าขนาดใหญ่มากเปิดขึ้นในจุดที่คนเดินผ่านมากที่สุด ร้านนั้นคือ H&M ซึ่งเป็นร้านที่เห็นเป็นประจำเวลาเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศที่ค่อนข้างเจริญอย่างในอังกฤษหรือฮ่องกง

ว่าที่จริงเป็นร้านขายเสื้อผ้าที่คนใกล้ชิดผม ต้องแวะเข้าไปซื้อเสื้อผ้าเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เนื่องจากเป็นร้านที่ขายเสื้อผ้าที่มีแบบสวยงามทันสมัยออกแบบโดยนักออกแบบมีชื่อระดับโลกแต่ขายในราคาปกติ ทุกครั้งที่เข้าร้านก็จะได้เสื้อผ้ามาหลายตัว เพราะสินค้ามีมากมายและหลากหลาย ความประหลาดใจนั้นไม่ใช่เพราะร้าน H&M มาเปิดที่เมืองไทย แต่เป็นเพราะได้เห็นคนจำนวนมาก เข้าคิวรอเข้าไปจับจ่ายในร้านที่เต็มไปด้วยผู้คน ที่แทบจะแย่งกันซื้อราวกับว่าของนั้นแจกฟรี

เดี๋ยวนี้ร้าน H&M ที่พารากอนไม่ได้แน่นเหมือนตอนเปิดร้านใหม่ ๆ แต่ก็น่าจะยังขายดีมาก และความสำเร็จนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่ H&M เริ่มไปเปิดร้านที่สองหรือร้านที่เท่าไรผมไม่ทราบ แต่ก็เห็นร้าน H&M เปิดใหม่ที่ศูนย์การค้าเทอร์มินัล 21 ที่เป็นแหล่งขายสินค้าแนวแฟชั่น ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหตุผลที่ H&M ประสบความสำเร็จมากนั้น ช่วงแรกผมคิดว่ามันอาจจะเป็นเรื่องเฉพาะตัว เป็นเรื่องของ H&M เอง แต่แล้วก็เริ่มได้รับรู้ว่า ห้าง Uniqlo เครือข่ายขายเสื้อผ้าชั้นนำจากญี่ปุ่น ซึ่งมีร้านอยู่ที่พารากอน และอาจจะที่ห้างชั้นนำอื่นๆ ด้วยนั้นก็ขายได้ดีมาก

ภาพของ Uniqlo เองนั้น อาจจะไม่ได้เน้นทางด้านแฟชั่นมากเท่า H&M แต่เป็นเสื้อผ้าที่มีคุณภาพดีมาก และที่สำคัญก็คือ มีราคาถูกมากไม่ได้ต่างจากแบรนด์ที่เป็นของไทยเลย อาจจะถูกกว่าด้วยซ้ำถ้าเป็นยี่ห้อระดับสูงของไทย ข้อสรุปจึงกลายเป็นว่า ตลาดเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของไทย ได้เข้าสู่การแข่งขันในระดับสากลเช่นเดียวกับตลาดในอังกฤษหรือฮ่องกงแล้ว และสภาพการแข่งขันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แบรนด์เป็นสากลหรือ International Brand ที่เข้ามาทำตลาดหรือขายสินค้าหรือบริการในไทยนั้นมีมานานและมีมากมาย ในอดีตส่วนใหญ่แล้วมักจะเข้ามาจับตลาด “ระดับบน” ก่อน แต่เมื่อคนไทยที่เป็น Mass หรือคนกลุ่มใหญ่ รวยขึ้นหรือมีเงินมากขึ้นถึงจุดหนึ่ง เขาก็เริ่มเข้ามาบริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ

คู่แข่งที่เป็นกิจการคนไทยหรือแบรนด์ไทย ค่อยๆ ปรับตัวจนบางทีไม่เห็นว่ามันได้กระทบกับใครบ้าง เช่น อาหารจานด่วนเช่นพวกไก่ทอดหรือแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้น แต่กรณีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายนี้ คิดว่ามันมาเร็วมากและคงกระทบกิจการต่าง ๆ ที่เป็นของคนไทยไม่น้อย เชื่อว่าร้านเครือข่ายขายเสื้อผ้าไทยตอนนี้ คงเริ่มรับรู้ถึงการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกรุงเทพที่เป็นจุดอินเตอร์แบรนด์เริ่มบุก

ต่อไปเชื่อว่าในหัวเมืองใหญ่ก็จะตามมา เสื้อผ้ามียี่ห้อเป็นแบรนด์ไทยนั้นคิดว่าจะยิ่งลำบากขึ้นอีก เนื่องจากภาพพจน์ด้อยกว่าแถมราคาอาจแพงกว่า สุดท้ายแม้แต่ศูนย์การค้าปลีก-ส่งเสื้อผ้าแนวแฟชั่น คิดว่าความนิยมจะลดลงเรื่อย ๆ เหตุผลเพราะคนนิยมเรื่องแฟชั่นราคาถูกนั้น เริ่มจะหันมาซื้อสินค้าอินเตอร์แบรนด์ที่มีราคาไม่ต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ นี่สังเกตจากคนใกล้ชิดที่ไปซื้อสินค้าน้อยลงมาก

ถ้าเราถือหุ้นของกิจการที่ขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคเป็นหลัก และไม่ใช่เป็นยี่ห้อของต่างประเทศ บริษัทเราเป็นผู้นำหรืออยู่ในกลุ่มผู้นำที่ประสบความสำเร็จ มียอดขายและรายได้เติบโตดี อานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงของการเป็นสังคมผู้บริโภค และหุ้นมีราคาปรับตัวขึ้นสูง และหุ้นไม่ถูกหรือกลายเป็นหุ้นที่แพงมีค่า PE ที่สูงไปแล้ว เราก็ต้องคิดไปถึงอนาคตด้วยว่าหุ้นตัวนั้นมีโอกาสที่จะต้องประสบกับการแข่งขันจาก Inter Brand มากน้อยแค่ไหน

และที่สำคัญยิ่งกว่าคือบริษัทของเราจะสู้ได้หรือไม่และเพราะเหตุใด? โดยทั่วไปต้องวิเคราะห์ปัจจัยการแข่งขันในอุตสาหกรรมหรือในธุรกิจว่าอะไรเป็นตัวสำคัญและเรามีแค่ไหนเทียบกับอินเตอร์แบรนด์ หัวใจอยู่ที่สองเรื่องนั่นก็คือ Economy of Scale หรือต้นทุนว่าใครได้เปรียบ กับเรื่องของยี่ห้อของสินค้าว่าใครโดดเด่นกว่าและสินค้านั้นคนคำนึงถึงยี่ห้อมากน้อยแค่ไหนด้วย

ผลิตภัณฑ์หรือบริการต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องของการบริโภคและอินเตอร์แบรนด์เข้ามาแข่งขันหรือเกี่ยวข้องด้วยหรืออาจจะเข้าในอนาคตนั้นมีมากมาย ลองนึกคร่าว ๆ ก็รวมถึง เฟอร์นิเจอร์ อาหาร มือถือ เครื่องสำอาง ค้าปลีก ผู้ให้บริการการสื่อสาร แบงก์และบริการทางการเงิน และอื่น ๆ อีกมาก

ผลิตภัณฑ์ไหนที่มีกำไรต่อยอดขายดีหรือมีมาร์จินสูงและมีตลาดขนาดใหญ่ มักจะมีโอกาสที่อินเตอร์แบรนด์จะเข้ามามากกว่า ความเข้มแข็งของบริษัทในประเทศก็มีส่วนสำคัญ ที่จะเป็นตัวตัดสินว่าอินเตอร์แบรนด์อยากเข้ามาหรือไม่ เพราะเขาเองรู้ว่าการเข้ามาแข่งกับบริษัทที่ใหญ่โดดเด่น และอยู่ในบ้านตนเองนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

กฎของสงครามที่ว่าผู้รุกต้องมีทรัพยากรเป็น 2 เท่า จึงจะเอาชนะฝ่ายรับได้นั้นยังเป็นจริง ทั้งหมดนี้ต้องรู้ไว้ เพราะในฐานะที่เป็นเจ้าของบริษัท เราไม่อยากจะต้องสู้กับอินเตอร์แบรนด์ถ้าไม่จำเป็น เพราะไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ เราอาจจะเสียหายอยู่ดี และกรณีแพ้อาจกลายเป็นหายนะ ดังนั้น การวิเคราะห์เรื่องอินเตอร์แบรนด์ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับหุ้นที่ขายสินค้าให้ผู้บริโภค

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556

แววเซียน

คนที่มีความสามารถพิเศษ มี "พรสวรรค์" และประสบความสำเร็จในการงานสูง มักมีประวัติตอนเด็กจนถึงประมาณอายุ 20 ปีหรือตอนจบปริญญาตรี ที่บ่งบอกได้ว่า เขาจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในงานบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความชอบ คุณสมบัติทางร่างกายและสมอง และทักษะของเขา เช่น ไทเกอร์ วู้ด นักกอล์ฟมือหนึ่งของโลก เขาจับไม้กอล์ฟและชอบตีกอล์ฟตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ถือไม้แทบไม่ไหว แน่นอนว่าพ่อของเขา ตั้งใจฝึกเขาตั้งแต่ยังเล็กมากและนั่นอาจทำให้เขาชอบ แต่ร่างกายและสมองของเขา ก็คงต้องมีส่วนอยู่ไม่น้อยที่ทำให้เขาตีได้ดี หลายๆ อย่างคงประกอบกันทำให้ ไทเกอร์ วู้ด กลายเป็นยอดนักกอล์ฟในตำนานคนหนึ่ง

สตีป จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งและสร้างผลิตภัณฑ์แอปเปิลคอมพิวเตอร์ ถือว่าเป็นตำนานของนักประดิษฐ์มือต้นๆ ในวัยที่ยังเป็นเด็กวัยรุ่น เขาน่าจะเป็นนักคิดและมีจินตนาการสูง ผมไม่รู้จักประวัติของเขามากนัก แต่ทราบว่าเขาเคยเดินทางไปแสวงหาความหมายของชีวิตในเอเชียและหันมานับถือศาสนาพุทธ เขาเคยเรียนการออกแบบตัวอักษรแบบต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เขาหมกมุ่นเล่นและคลุกคลีกับคอมพิวเตอร์ ช่วงที่อุปกรณ์ชนิดนี้เพิ่งถือกำเนิดขึ้นบนโลก กรณีนี้ "สถานการณ์" และ "โอกาสที่ได้สัมผัส" มีส่วนสำคัญที่ทำให้จ็อบส์ กลายเป็นอัจฉริยะทางด้าน IT และกลายเป็นตำนานนักประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ที่คนทั้งโลกต่างต้องการใช้อย่าง "แอปเปิล"

เรื่องการลงทุนนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครเหนือไปกว่า วอร์เร็น บัฟเฟตต์ อัจฉริยภาพของเขา ไม่ได้เกิดเมื่อเขาเรียนจบ ทำงาน และเริ่มลงทุน ดูประวัติของบัฟเฟตต์ตั้งแต่เด็กจนถึงเรียนจบปริญญาตรีและโท พบว่า "แวว" ของความเป็น "เซียน" ของบัฟเฟตต์ เริ่มตั้งแต่เขายังเป็นเด็กชั้นอนุบาล และพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุด

ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ บัฟเฟตต์เริ่มรู้จักเร่ขายโค้ก โดยซื้อโค้กมาเป็นแพ็คๆ ละ 6 ขวดในราคา 25 เซ็นต์ แต่ขายในราคาขวดละ 5 เซ็นต์ ซึ่งทำให้เขาได้เงิน 30 เซ็นต์ ได้กำไร 5 เซ็นต์ หรือกำไร 16% ของยอดขาย ความสนใจที่จะ "หาเงิน" วนเวียนอยู่กับเขาตลอดเวลา เพราะแค่อายุ 11 ขวบ ก็เริ่มซื้อหุ้นตัวแรก คือหุ้นบุริมสิทธิของบริษัท Cities Service โดยที่เขาซื้อร่วมกับพี่สาว 6 หุ้น ในราคาหุ้นละ 38 ดอลลาร์ พอซื้อแล้วราคาก็ตกเหลือ 27 ดอลลาร์ ทำให้พี่สาวเขากังวลและถามเขาทุกวันว่า จะเป็นอย่างไร พอหุ้น Cities Service ปรับตัวขึ้นเป็น 40 ดอลลาร์ เขาขายไป และแทบจะทันทีหลังจากนั้น หุ้นปรับตัวขึ้นไปจนถึง 200 ดอลลาร์ สอนบทเรียนให้บัฟเฟตต์รู้ว่า ไม่ควรรีบขายหุ้นเพราะกลัวว่าหุ้นจะตก

เหตุผลที่บัฟเฟตต์ซื้อหุ้นตั้งแต่เด็ก ไม่ได้กล่าวถึง แต่ผมเชื่อว่า เป็นเพราะพ่อของบัฟเฟตต์ เป็นเจ้าของและทำธุรกิจเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น บัฟเฟตต์คงคุ้นเคยกับหุ้นตั้งแต่เด็ก เขาคงรู้ว่าหุ้นนั้นมีราคาขึ้นลง และเป็นหนทาง หรือเครื่องมือทำเงินให้เขาได้ เขาจึงเข้าไปลองดู ความต้องการที่จะหาเงินของบัฟเฟตต์ หรือแรงขับที่จะสร้างความร่ำรวยของบัฟเฟตต์เป็นที่ประจักษ์ เมื่อเขาอายุ 13 ขวบ ก็ประกาศว่า จะเป็นเศรษฐีเงินล้านเมื่ออายุ 30 ปี และถ้าไม่เป็นอย่างนั้นเขาจะไป "กระโดดตึกที่สูงที่สุดในเมืองโอมาฮา"

บัฟเฟตต์เริ่มทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ตั้งแต่อายุ 13 ขวบ เขาขยายสมาชิกและเส้นทางส่งหนังสือพิมพ์ไปจนมีสมาชิกถึง 500 รายต่อวัน พออายุ 15 ขวบ ก็ทำเงินได้ถึงสัปดาห์ละ 175 ดอลลาร์ เท่ากับเงินเดือนของผู้ใหญ่อายุ 25 ปี

การลงทุนเพื่อหาเงิน หรือทำกำไรของบัฟเฟตต์ ดูเหมือนจะไม่จำกัดว่าเป็นอะไร เมื่อเขาอายุ 14 ขวบ และคงมีเงินเก็บอยู่พอสมควร เขซื้อฟาร์มขนาด 40 เอเคอร์ หรือ 100 ไร่ ในราคา 1,200 ดอลลาร์ เพื่อเก็งกำไร พออายุ 17 ปี บัฟเฟตต์กำลังเรียนปีสุดท้ายของชั้นมัธยม เขาเริ่ม "ทำธุรกิจ" นั่นคือ เขาซื้อเครื่องเล่นพินบอลเก่า ในราคาเครื่องละ 25 ดอลลาร์ ไปวางไว้ที่ร้านตัดผม เพื่อให้ลูกค้าหยอดเหรียญเล่น ภายในเวลาไม่กี่เดือน เขามีเครื่องเล่นวางถึง 3 จุด ซึ่งเขาขายธุรกิจนี้ให้กับนายทหารผ่านศึกคนหนึ่งในปีเดียวกันที่ราคา 1,200 ดอลลาร์ ในเวลานั้น บัฟเฟตต์มีเงินไม่ต่ำกว่า 5,000 ดอลลาร์ โดยเฉพาะจากการทำงานส่งหนังสือพิมพ์ ดูเหมือนว่าเขาจะมีความสุขกับการหาเงินมาก จนไม่อยากเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่พ่อเขากดดันให้เขาเรียน และบัฟเฟตต์ ก็ได้รับการตอบรับให้เรียนที่วาร์ตัน ซึ่งเป็นคณะบัญชีและการเงินของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียอันโด่งดัง

บัฟเฟตต์ เป็นเด็กที่มีความสามารถ และเชี่ยวชาญตัวเลขและคณิตศาสตร์ และการที่สามารถเข้าเรียนที่วาร์ตันได้ แสดงว่าเขา "หัวดี" ทีเดียว เพียงแต่ไม่ชอบเรียน เขาบ่นว่าเขา "รู้ดีกว่าอาจารย์" และนั่นอาจเป็นสาเหตุ ทำให้เขาย้ายมหาวิทยาลัยกลับไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเนบราสกาที่บ้านเกิดในปี 3 และเรียนจบใน 3 ปีครึ่ง เวลานั้นเขาอายุเพียง 20 ปี และมีเงินเก็บถึงเกือบหนึ่งหมื่นดอลลาร์ ซึ่งถือว่ามากทีเดียว

จุดเปลี่ยนชีวิตจริงๆ ของบัฟเฟตต์ อาจอยู่ที่การเรียนปริญญาโท ซึ่งเขาสมัครคณะบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ของโลก แต่ได้รับการปฏิเสธ เขาจึงสมัครและได้รับการตอบรับ ให้เข้าเรียนที่โคลัมเบีย มหาวิทยาลัยที่โดดเด่นพอๆ กันเมื่อเขารู้ว่า เบน เกรแฮม อาจารย์และนักลงทุนที่มีชื่อเสียงด้านวิเคราะห์หลักทรัพย์สอนอยู่ที่นั่น และนี่ก็เป็นสัญญาณอีกอย่างหนึ่งว่า บัฟเฟตต์ คงเรียนดีมาก จึงเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำแบบนี้ได้

เมื่อเรียนจบ บัฟเฟตต์เสนอตัวทำงานให้กับเบน เกรแฮม โดยไม่รับเงินเดือน เพื่อที่จะได้เรียนรู้กับอาจารย์ในทางปฏิบัติ แม้บัฟเฟตต์จะเป็นนักเรียนเกรด A+ คนเดียวของเกรแฮม แต่เขากลับไม่รับบัฟเฟตต์ เพราะเขาต้องการให้คนยิวซึ่งด้อยโอกาสได้งานนั้น ทำให้บัฟเฟตต์เดินทางกลับบ้านไปทำงานในบริษัทโบรกเกอร์ของพ่อ สองปีต่อมา เบน เกรแฮม จึงเสนองานให้ บัฟเฟตต์ ซึ่งเขาตอบรับทันที และได้ทำงานเป็นเวลาสองปีก่อนที่เกรแฮมจะเกษียณปิดบริษัท บัฟเฟตต์ ซึ่งอายุ 26 ปี มีเงินถึง 140,000 ดอลลาร์ จึงกลับโอมาฮาและตั้งกองทุนบริหารหุ้นให้กับญาติและคนรู้จัก และเริ่มตำนานการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกจนถึงปัจจุบัน

ประเด็นของเรื่องทั้งหมดที่ผมต้องการนำเสนอคือ "เส้นทางชีวิต" ของคนโดยทั่วไป สาระสำคัญ คือ เป็นเส้นที่มีความต่อเนื่องไม่ขาดตอน คล้ายๆ กับระบบอนาล็อก ที่ไม่ใช่การเปลี่ยนแบบ 0 หรือ 1 แต่ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ ชีวิตของคน เริ่มต้นตั้งแต่เกิดและค่อยๆ เติบโตขึ้นจนเป็นผู้ใหญ่ ความสามารถต่างๆ มีมาตั้งแต่เกิด ความสนใจความชอบค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโต

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ประกอบเข้าด้วยกัน ทำให้คนๆ หนึ่ง ค่อยๆ พัฒนาไปในทิศทางที่ชัดเจนที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่เด็ก น้อยคนที่จะมีชีวิตที่หักเหไปจากสาระสำคัญเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่แล้วคนเราถ้าจะหักเหในรายละเอียด เช่น สาระสำคัญคือ คนๆ หนึ่ง เส้นทางคือ ความร่ำรวย แต่รายละเอียด อาจเป็นว่าคนๆ นั้น ควรจะรวยจากการทำงานด้วยแรงงาน แต่แล้วชีวิต "ผกผัน" กลายเป็นรวยจากการลงทุน

ด้วยตรรกะแบบนี้ ผมจึงสรุปว่า คนแทบทุกคนมี "แวว" ตั้งแต่เด็กแล้วว่า เขาจะเป็นอย่างไรเมื่อเขาโตขึ้น เป็นสิ่งที่ยากมากที่คนจะ "เปลี่ยนไป" เมื่อเป็นผู้ใหญ่ เซียนมักจะต้องมีพื้นฐานเป็นเซียนเสมอ

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2556

บิดาแห่งตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ

หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้คือ Eugene Fama ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น บิดาแห่งตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ จากการเป็นผู้บุกเบิกแนวความคิดของ ตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพที่เป็นความคิดที่ทรงพลังยิ่งตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษปี 1970 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

แนวคิดหลักของทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพคือ ตลาดหุ้นประกอบด้วยนักลงทุนมีความรู้ มีเหตุผล มีข้อมูลเต็มเปี่ยม และลงมือซื้อขายหุ้นอย่างรวดเร็วทันที เมื่อมีข่าวสารกระทบพื้นฐานกิจการ กระบวนการนี้ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเข้าสู่มูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงเสมอ ทำให้ไม่มีใครสามารถจะซื้อขายหุ้นทำกำไรได้เหนือกว่าปกติต่อเนื่องยาวนานได้

พูดง่ายๆคือทฤษฎีตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพ บอกว่าราคาหุ้นทุกตัวในตลาดมีราคาเหมาะสม-โดยเฉลี่ย ดังนั้นจะทำกำไรจากการลงทุนในหุ้นโดยการวิเคราะห์หุ้น หาซื้อหุ้นมีราคาถูกและขายหุ้นแพง หรือหาจังหวะเข้าซื้อขายหุ้น ไม่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะใช้เทคนิคอะไร รวมถึงหลักการแบบ VI ที่เชื่อถือกันว่าทำให้สามารถทำกำไรมากกว่าปกติได้

การจะพิสูจน์ทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ ฟามายังแบ่งแยกระดับประสิทธิภาพตลาดออกเป็น 3 ระดับ คือ หนึ่ง ประสิทธิภาพระดับอ่อน หรือ Weak Form ซึ่งบอกว่า การใช้ข้อมูลเฉพาะด้านของราคาหุ้นมาคาดการณ์ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลงในอนาคต ไม่สามารถทำได้ เพราะราคาหุ้นขึ้นลงวันต่อวันหรือแม้แต่นาทีต่อนาที ไม่มีรูปแบบแน่นอน

ราคาหุ้นขยับขึ้นลงเหมือน คนเดินสุ่ม หรือ Random Walk ไม่มีแบบแผน เหตุผลคือ ข้อมูลเข้ามากระทบหุ้นเป็นข้อมูล เดินสุ่ม เหมือนกัน ไม่มีใครคาดการณ์มาก่อนได้ ดังนั้น ราคาจึงผันผวนไปตามข้อมูลผันผวนคาดเดาไม่ได้ในระยะสั้น

ถ้าตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพอ่อนจริง การใช้ การวิเคราะห์ทางเทคนิค เพื่อหา แนวรับแนวต้าน หรือ ราคาเป้าหมาย ของหุ้นหรือดัชนี หรือการกำหนดจุดซื้อหรือขาย เป็นเรื่องไม่สามารถทำได้ พูดง่ายๆ ถ้าซื้อขายหุ้นตามสัญญาณทางเทคนิค ไม่มีทางทำกำไรได้ ถ้าทำไปเรื่อยๆ โอกาสจะขาดทุนสูงมาก เพราะค่าคอมมิชชั่นจะกินหมด

ประสิทธิภาพของ ตลาดระดับสองคือ ประสิทธิภาพระดับกลาง หรือ Semi-Strong Form ฟามาบอกว่า ตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพเนื่องจากมีนักลงทุนอาชีพหรือนักลงทุนที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ตัวเลขข้อมูลต่างๆ ที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะจำนวนมาก พวกเขาเหล่านี้จะซื้อขายหุ้นทันทีที่มีข่าวหรือมีการแจ้งข้อมูลออกสู่สาธารณะ ทำให้ราคาหุ้นวิ่งเข้าสู่มูลค่าเหมาะสมทันทีที่มีข่าวหรือข้อมูล หรือทันทีที่ตลาดหุ้นเปิดทำการซื้อขาย

ดังนั้น การนำข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว มาทำการซื้อขายหุ้นจึงไม่มีประโยชน์ ถ้าพูดกันในวงการหุ้น เรียกว่าข่าวถูก Discount ไปแล้ว หรือราคาหุ้นถูกตอบสนองหมดแล้ว ราคาหุ้นหลังจากนั้นจะไม่เกี่ยวกับข่าวเดิมอีกต่อไป

ถ้าประสิทธิภาพของตลาดระดับกลางเป็นความจริง การวิเคราะห์หุ้นโดยใช้ข้อมูลสาธารณะ เช่น ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม หรือข้อมูลผลประกอบการและฐานะการเงิน รวมถึงความเข้มแข็งทางด้านการตลาดหรืออื่นๆ ของบริษัทจะไม่เป็นประโยชน์ เพราะข้อมูลเหล่านี้นักลงทุนคนอื่นจำนวนมาก รู้อยู่แล้ว

ถ้าหุ้นดีเขาซื้อกันไปแล้ว ซึ่งทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาสูง เหมาะสมกับพื้นฐานบริษัทอยู่แล้ว การเข้าไปซื้อจึงไม่สามารถทำกำไร เกินกว่าปกติ ได้ พูดง่ายๆ หุ้นดีราคาแพง หุ้นแย่ราคาถูก ไม่มีหุ้นดีราคาถูกหรอก เพราะถ้าราคาถูก คนเข้าไปซื้อ ราคาต้องปรับตัวขึ้นจนแพงอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าทฤษฎีนี้เป็นจริง การวิเคราะห์หุ้นไม่ว่าจะใช้เทคนิคไหน รวมถึงหลักการแบบ Value Investment ก็ไม่สามารถเอาชนะตลาดได้ต่อเนื่อง

สุดท้ายคือ ประสิทธิภาพระดับสูงของตลาด หรือ Strong Form ซึ่งบอกว่า ไม่มีข้อมูลอะไร รวมถึง ข้อมูลภายใน ที่ยังไม่ได้เปิดเผยกับตลาด แต่รู้กันเฉพาะผู้บริหารหรือคนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้สอบบัญชีหรือหน่วยงานรัฐ ที่จะสามารถนำมาใช้ซื้อขายหุ้นทำกำไรได้เกินกว่าปกติ เหตุผลคือไม่มีใครสามารถ ผูกขาด ข้อมูลได้

คนที่รู้ข้อมูลภายในอาจมีหลายคน พวกเขาแย่งกันซื้อขายหุ้นก่อนข่าวจะออก ราคาหุ้นสะท้อนไปก่อนที่คนใดคนหนึ่งจะลงมือทำ ดังนั้น การใช้ข้อมูลภายในไม่สามารถทำให้ทำกำไรเกินกว่าปกติไปได้

การพิสูจน์ความถูกต้องของตลาดที่มีประสิทธิภาพนั้น ฟามาบอกว่าทำได้ยากมาก ข้อแรกก็คือ เราจะต้องหาว่าหุ้นแต่ละตัวนั้น ควรจะมีผลตอบแทนที่เหมาะสมเท่าไรเสียก่อน ถึงจะบอกได้ว่าได้กำไร เกินกว่าปกติ หรือไม่ การหาว่าหุ้นแต่ละตัวควรจะมีราคาเหมาะสมหรือให้ผลตอบแทนเหมาะสม จำเป็นต้องมีโมเดลหรือสูตรที่จะคิด หลังจากได้โมเดลนี้แล้วถึงจะสามารถเปรียบเทียบได้ว่าสามารถใช้ข้อมูลหรือเทคนิคอะไรที่ทำให้สามารถทำกำไรได้เกินจากนั้นหรือไม่

ถ้าพบว่า ไม่มีเทคนิคอะไรที่ทำผลตอบเกินกว่าปกติต่อเนื่องยาวนานเลย แสดงว่าตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพสูง ถ้าใช้ข้อมูลสาธารณะประเมินมูลค่าหุ้นแบบ VI แล้วสามารถทำกำไรได้มากกว่าปกติ แสดงว่าตลาดยังไม่มีประสิทธิภาพในระดับกลาง ถ้าสามารถใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค ซึ่งใช้แต่ข้อมูลด้านราคาหุ้นอย่างเดียวแล้วสามารถทำกำไรได้มากกว่าปกติได้ แสดงว่าตลาดหุ้นไม่มีประสิทธิภาพเลย

หลังจากบทความของ ฟามา ออกมาแล้ว นักวิชาการก็สามารถพัฒนาโมเดลที่บอกว่า หุ้นแต่ละตัวควรจะมีมูลค่าหรือให้ผลตอบแทนเท่าไรต่อปี นำโดย มาร์โควิตซ์และชาร์ป ซึ่งบอกว่า ผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่เหมาะสมแต่ละตัว ขึ้นอยู่กับ ความเสี่ยง หรือค่า เบต้า ถ้าหุ้นตัวนั้นเสี่ยงมากหรือ เบต้าสูง ผลตอบแทนเหมาะสมจะต้องมาก ถ้าเสี่ยงน้อย ผลตอบแทนน้อย ถ้าไม่เสี่ยงเลยได้ผลตอบแทนเท่ากับพันธบัตรรัฐบาล และนี่กลายเป็น ทฤษฎีทางการเงินสมัยใหม่ ที่นักศึกษาทางการเงินทุกคนต้องเรียน และทั้งมาร์โควิตซ์และชาร์ป ต่างก็ได้รับรางวัลโนเบลทั้งคู่ก่อนหน้านี้

การพิสูจน์ตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพหรือไม่ เป็นเรื่องถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายเป็น ดรามา มาตลอดจนถึงทุกวันนี้ เช่น พบว่าการลงทุนแบบ VI ที่ซื้อหุ้นถูกค่า PE ต่ำสามารถทำกำไรเกินกว่าปกติได้ แต่ยังมีข้อถกเถียงอยู่ดีว่า โมเดลของชาร์ปอาจไม่ถูกต้อง เพราะผลตอบแทนอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องความเสี่ยงหรือเบต้าอย่างเดียว

ว่าที่จริง ฟามาเองก็เคยเสนอการศึกษาที่มีชื่อเสียงว่า มีปัจจัยอื่นที่กำหนดผลตอบแทนของหุ้นด้วยนอกจากความเสี่ยง และถ้าใช้โมเดลใหม่นั้นอาจพบว่าผลตอบแทนที่เกินกว่าปกตินั้น เป็นผลตอบแทนเกิดจากปัจจัยอื่นที่ได้รับการชดเชย เช่น ความเสี่ยงที่บริษัทจะล้มละลายเป็นต้น ขณะที่เบต้าเป็นความเสี่ยงของความผันผวนราคาหุ้น

ในฐานะของ VI ผมคิดว่าเราต้องมีเหตุผลและไม่ควรมีอคติ เชื่อว่าตลาดโดยรวมแล้วน่าจะต้องมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับนักลงทุนหรือคนที่เล่น อยู่ ดังนั้น อย่าไปคิดว่า เรารู้แต่ตลาดไม่รู้ โดยเฉพาะยามที่มีนักลงทุนมืออาชีพและ VI มากมายในตลาดปัจจุบัน การวิเคราะห์ดูแบบง่ายๆ แล้วสรุปว่าหุ้นถูกหรือหุ้นแพงนั้น ผมคิดว่าในช่วงเร็วๆ นี้ทำเงินได้ยาก

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556

หุ้นน่ากลัว

การลงทุนในตลาดหุ้นมานานมาก ได้เห็นเหตุการณ์และพฤติกรรมต่างๆ ของผู้บริหารจำนวนมากในตลาด ทำให้ผมพบความ “ไม่โปร่งใส”ในการบริหารงานบริษัทจำนวนมาก บางเรื่องเป็น “ความจำเป็น” ทางธุรกิจ บางเรื่องเป็นการกระทำของผู้บริหารที่เอาเปรียบหรือโกงบริษัท บริษัทที่มีอาการหรือพฤติกรรมเหล่านี้มักจะมีลักษณะหรือโครงสร้างของการทำธุรกิจที่ “เอื้ออำนวย” ให้เกิดการโกงได้ง่าย

การโกงนั้นบางทีทำให้บริษัทถึงกับล้มละลาย แต่ส่วนใหญ่แล้วทำให้ผลประกอบการไม่ดีหรือลุ่มๆ ดอนๆ ดังนั้น สำหรับผมแล้ว การลงทุนในหุ้นเหล่านี้จึงเป็นเรื่อง “น่ากลัว” ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ถ้าหุ้นไม่ถูกจริงหรือมีประเด็นน่าสนใจจริงๆ แล้ว ผมจะไม่ลงทุน และต่อไปนี้คือบางส่วนของหุ้นที่ผมคิดว่า “น่ากลัว”

หุ้นกลุ่มแรก คือหุ้นของบริษัทที่รับงานจากหน่วยงานของรัฐ เช่น งานรับเหมาก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เหตุผลก็เพราะว่างานเหล่านี้มักจะต้องมี “รายจ่ายพิเศษ” ที่คาดการณ์ไม่ได้ รายจ่ายนี้คือรายจ่ายบริษัทต้องจ่ายเพื่อให้ “ได้งานและเพื่อที่จะสามารถส่งมอบงานอย่างไม่ติดขัด” จริงอยู่บริษัทมักจะรวมค่าใช้จ่ายนี้ไว้แล้วเวลาเสนอราคา แต่การเปลี่ยนแปลงระหว่างที่กำลังทำงานเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้บริษัทขาดทุนได้

นอกจากนั้น บริษัทมีรายจ่ายพิเศษที่ต้องจ่ายออกไปให้คนอื่นโดย“ไม่มีใบเสร็จ”อยู่แล้ว การที่บริษัทจะจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้ผู้บริหารหรือคนที่ทำเรื่องจ่ายจึงเป็นเรื่องง่ายและตรวจสอบไม่ได้ ผลคือกำไรบริษัทอาจไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่ารายจ่ายพิเศษจะมีมากน้อยแค่ไหน และนี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายบริษัทที่มียอดขายมากมาย แต่กลับไม่มีกำไรอยู่บ่อย ๆ

หุ้นกลุ่มที่สองที่ “น่ากลัว” คือบริษัทที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์ผ่านดีลเลอร์รายใหญ่ ๆ หรือตัวแทนที่ผู้บริหารเป็นเจ้าของ ประเด็นก็คือ ผลิตภัณฑ์ของบริษัท มักมียอดขายสูงมาก แต่มีมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายต่ำ

หากผู้บริหารต้องการทำกำไรให้ตนเองสูงสุด เขาสามารถลดราคาขายให้ดีลเลอร์ที่เป็นบริษัทส่วนตัว อาจเป็นเปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อย แต่เขาจะได้เงินมาก และนั่นทำให้บริษัทเสียหาย กำไรน้อยลงหรือไม่ได้กำไรเลย ดังนั้น การลงทุนในหุ้นแบบนี้ นักลงทุนจึงคาดผลประกอบการได้ยาก และมีโอกาสเสียหายหนัก ถ้าเจ้าของหรือผู้บริหารไม่โปร่งใส

หุ้นกลุ่มที่สามที่รู้สึกไม่สบายใจ และกลัวว่าผู้บริหารอาจจะไม่โปร่งใส คือบริษัทที่ซื้อกิจการหรือทรัพย์สินขนาดใหญ่ จากบริษัทหรือคนที่ “ตรวจสอบไม่ได้” หรือเป็นคนที่ไม่น่าเชื่อถือพอ ประเด็นคือ ราคาที่จ่ายไปอาจจะสูงเกินไปมาก หรือกิจการมีคุณสมบัติแย่หรือกำลังย่ำแย่ลง

แต่เหตุผลที่ซื้อราคาแพงนั้น อาจเป็นเพราะซื้อแล้วมี “เงินทอน” ให้กับผู้บริหารจากคนที่ขาย ซึ่งตรวจสอบไม่ได้ เนื่องจากเป็นบริษัทเอกชนหรือเป็นบุคคลธรรมดา กรณีแบบนี้ในที่สุดแล้ว บริษัทจะเสียหายเนื่องจากกิจการหรือทรัพย์สินที่ซื้อมา ไม่สร้างผลตอบแทนที่ดีคุ้มค่ากับเงินที่บริษัทจ่ายไป

หุ้นกลุ่มที่สี่ที่รู้สึกกลัวตลอดเวลา ถ้าต้องถือหุ้นไว้ คือหุ้นของบริษัทมีลูกหนี้มาก เมื่อเทียบกับยอดขายหรือขนาดทรัพย์สินหรือขนาดของเงินทุนของบริษัท โดยเฉพาะถ้าลูกหนี้นั้นไม่ได้เป็นบริษัทหรือกิจการที่มีขนาดใหญ่มีเรทติ้งดีมาก เหตุผลคือ ลูกหนี้นั้นอาจจะเบี้ยวหนี้หรือกลายเป็นหนี้เสียและทำให้บริษัทเสียหายหนัก บางครั้งอาจจะล้มละลายได้

การที่ลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสีย อาจมีได้หลายสาเหตุซึ่งรวมถึงภาวะทางเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมตกต่ำลงอย่างหนัก หรือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้บางรายที่เป็นลูกค้ารายใหญ่มาก หรือในกรณีเลวร้ายสุด คือเป็นลูกหนี้ที่เป็นกิจการของผู้บริหาร ที่ตั้งขึ้นเพื่อจะ“โกงบริษัท”ตั้งแต่แรกก็เป็นไปได้

หุ้นกลุ่มที่ห้าที่ไม่ใช่เรื่องของการโกง แต่เป็นบริษัทที่มีหนี้มาก ขณะที่กิจการมีความไม่แน่นอนของผลประกอบการสูง เนื่องจากเป็นกิจการที่ขายสินค้าเป็นวัฏจักร หรือสินค้ามีความเป็นโภคภัณฑ์สูง ประเด็นคือยามเกิดความยากลำบากขึ้น บริษัทอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทำให้บริษัทมีปัญหาทางการเงินหนัก บางทีอาจถึงกับล้มละลายได้ หรือกรณีอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นมาก ผลกำไรบริษัทอาจถูกกระทบอย่างมีนัยสำคัญได้

หุ้นกลุ่มที่หกที่บ่อยครั้งคนในวงการนักเล่นหุ้นชอบมาก เพราะเป็นหุ้นกลุ่มที่อาจจะให้ผลตอบแทนในระยะสั้นหวือหวา แต่สำหรับผมที่เน้นลงทุนในพื้นฐานและเป็นการลงทุนระยะยาวแล้ว กลับเป็นหุ้นที่น่ากลัว เนื่องจากไม่ใคร่เชื่อว่าเป็นสิ่งดี หลายครั้งรู้สึกด้วยว่าเป็น “เกมปั่นหุ้น” ที่อาจจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวได้มาก และทำให้คนที่รู้ขายทำกำไรไปก่อน แล้วทิ้งให้คนที่มาทีหลัง หรือคนไม่รู้รับความเสี่ยงไป และนี่คือหุ้นบริษัทที่มี “วิศวกรรมการเงิน” หรือการ “ปรับโครงสร้าง” ใหญ่ ๆ ของบริษัทตลอดเวลา โดยที่ผลิตภัณฑ์หรือการดำเนินการหลักของบริษัทไม่ได้เปลี่ยนอะไรที่สำคัญและไม่ใช่ธุรกิจดีเลิศอะไรนัก

บริษัทน่ากลัวในกลุ่มที่หก เช่น บริษัทที่เปลี่ยนแปลงหรือมีธุรกิจใหม่ ที่มีนัยสำคัญสูงอยู่เรื่อยๆ บางทีนอกจากธุรกิจใหม่ ชื่อของบริษัทถูกเปลี่ยนไปตามแนวของธุรกิจใหม่ จนจำไม่ได้ว่าเดิมบริษัทชื่ออะไร ความน่ากลัวอยู่ที่ธุรกิจใหม่นั้น อาจไม่ดีทำให้ผลประกอบการเลวลง เนื่องจากบริษัทอาจไม่มีความสามารถหรือประสบการณ์พอในการทำงาน เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าของเดิมบริษัททำไม่ได้ดีอยู่แล้ว ของใหม่จะทำได้เหนือกว่าคู่แข่งได้อย่างไร!

นอกจากเรื่องของการเปลี่ยนธุรกิจไปเรื่อยๆ แล้ว บริษัท “ใช้เครื่องมือทางการเงิน” พร่ำเพรื่อ โดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ เป็นสิ่งที่มักกลัว เช่น การแตกพาร์จาก 1 บาทเหลือ 25 สตางค์ เพื่อ “เพิ่มสภาพคล่อง” ของหุ้น ทั้งที่ราคาหุ้นไม่ถึง 10 บาทอยู่แล้ว หรือการออกวอร์แรนท์แจกให้ผู้ถือหุ้นมากมายหลายชุดต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนวอร์แรนท์มีสัดส่วนอาจเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งบริษัท แบบนี้ถือว่าไม่สมเหตุผล

ประเด็นคือผมคิดว่าผู้บริหารเน้นการ “บริหารหุ้น” มากกว่าบริหารกิจการ ดังนั้นการเข้าไปซื้อหุ้นมีคนบริหารนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะอาจเข้าไปซื้อที่ราคาแพงเกินไปมากได้

หุ้นกลุ่มสุดท้ายที่จะพูดถึง คือหุ้นที่ “กินก่อน จ่ายทีหลัง” เช่น สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กิจการธุรกิจ สถาบันการเงินปล่อยกู้เพื่อซื้อสินค้าหรือบริการแบบเงินผ่อน บริษัทประกันภัย เป็นต้น บริษัทเหล่านี้เมื่อขายบริการหรือผลิตภัณฑ์ตน พวกเขาจะกำไรทันทีในระยะสั้น แต่ต้นทุนที่จะเกิดในอนาคตยังไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับลูกค้าหรือเหตุการณ์ในอนาคตว่าบริษัทจะได้รับเงินคืนหรือไม่

แต่โดยธรรมชาติของคนคือ เราอยาก “กินก่อน” อนาคตไม่แน่นอนอย่าไปคิดมาก เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าลูกค้าเสีย เจ้านายอาจลืมไปแล้วว่าใครเป็นคนทำ ดังนั้น สำหรับธุรกิจแบบนี้เป็นสิ่งน่ากลัว เพราะอาจคิดว่าบริษัทกำลังโต กำลังดีขึ้น ทั้งที่อาจจะไม่จริงเพราะในที่สุดบริษัทอาจต้อง “จ่ายหนักทีหลัง” นั่นคือบริษัทเสียหายอย่างหนัก

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหุ้นที่น่ากลัว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะลงทุนไม่ได้ เพียงแต่ว่าเราจะต้อง Discount หรือลดมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นลง นั่นคือหุ้นจะต้องมีราคาต่ำพอที่จะคุ้มสำหรับการลงทุน

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ผมอยากมีลูกมากๆ ซัก 6 คนถ้าเป็นไปได้ เขาจะได้เลี้ยงเราในยามแก่เฒ่า ถ้ามีลูกน้อยแล้วเขาเกิดตายไปด้วยเราจะลำบาก

ดูซิอันตรายเวลาขับมอเตอร์ไซค์บนท้องถนน หรือบางทีอาจจะเป็นโรคตายก่อนวัยอันควร มีลูกมากก็มีความสุข

นั่นเป็นคำพูดของไกด์หนุ่มเวียดนามอายุ 24-25 ปี ที่พูดไทยคล่องแคล่ว เขาเป็นชายหนุ่มดูทันสมัย แต่งตัวและทำผมแบบวัยรุ่นสไตล์เด็กแนวของไทย เขาเป็นคนนำทางร่วมไปกับกลุ่มนักลงทุนไทยที่ไปท่องเที่ยว และชมตลาดหุ้นโฮจิมินห์ ของเวียดนาม และพบปะกับบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ซึ่งจัดโดยมันนีแชนเนล ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผมเป็นสมาชิกคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสไปด้วย และต่อไปนี้คือข้อสังเกตของผมเกี่ยวกับตลาดหุ้นเวียดนามและอนาคตของการลงทุนในประเทศนั้น

ความน่าทึ่งของเวียดนาม สำหรับผมคือ ประเทศนี้กำลังมีวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจคล้ายๆ กับไทย เมื่อสมัยที่ผมยังเป็นวัยรุ่นเป็นเวลา 40 ปีมาแล้ว เพียงแต่อาจจะแรงกว่ามาก เพราะเวียดนาม ขณะนี้มีประชากรกว่า 90 ล้านคน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังเป็นหนุ่มสาวอายุพอๆ กับไกด์หนุ่ม ประเด็นคือ ประชากรของเวียดนามในอนาคต จะเพิ่มขึ้นไปอีกมากทีเดียว อนุมานจากความคิดและความต้องการของไกด์ที่อยากมีลูกมาก และยังมองว่าการมีลูกมาก เป็นเสมือนการลงทุนอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้ตนเองสบายในยามแก่เฒ่า ซึ่งเป็นความคิดของคนในยุคพ่อแม่ผม การมีประชากรที่เป็นคนอายุน้อยมากมายในปัจจุบันและต่อไปอีกในอนาคต ถือเป็นแต้มต่อที่สำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียและที่อื่นๆ ทั่วโลก

ผมถามเขาว่ารับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูไหวหรือ? รัฐบาลให้เรียนฟรีหรือเปล่า? คำตอบก็คือ ทุกอย่างคนเวียดนามต้องออกเอง การเรียนโดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยแพงมาก น่าจะมีคนเวียดนามเพียง 10-15% ที่เรียนถึงระดับวิทยาลัย ผมนึกดูแล้วก็คล้ายๆ กับเมืองไทยหลายสิบปีก่อนที่ ไม่มีอะไรฟรีหรือที่รัฐบาลออกให้ แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่มีลูกไม่น้อยกว่า 5-6 คน ก็เลี้ยงดูและให้การศึกษาตามอัตภาพ ลูกคนที่เรียนดีบางคน ได้รับการศึกษาถึงระดับวิทยาลัย ส่วนคนที่ ไม่ได้เรียน ก็ออกไปทำงานเป็นช่าง เป็นคนงานโรงงาน และอื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้ความรู้ระดับมหาวิทยาลัย

งานของคนเหล่านี้ แม้จะไม่ได้ทำรายได้มากเพราะค่าแรงต่ำ แต่ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ อานิสงส์จากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีนไต้หวัน และนั่นช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตมาโดยตลอด และบังเอิญ นี่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวียดนามที่นักลงทุนใหญ่ในปัจจุบันก็คือ ไต้หวันและญี่ปุ่น

คนเวียดนามในเวลานี้ ต้องถือว่ายังยากจนเหมือนเมืองไทย 40 ปีก่อน พวกเขายังบริโภคสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันเป็นหลัก แม้โฮจิมินห์จะมีร้านแบรนด์เนมหรูจากต่างประเทศที่ดังๆ เกือบทุกยี่ห้อ แต่จำนวนร้านมีไม่มาก และคนที่เข้าร้าน ส่วนใหญ่ เป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเวียดนาม และคนที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศหยิบมือเดียว สินค้าที่ต้องใช้เงินมากเช่น บ้านจัดสรร หรือรถยนต์ที่มีราคาขายพอๆ กับเมืองไทย ยังคงมียอดขายน้อยกว่าเมืองไทยมาก เหตุผลนอกจากความมั่งคั่งแล้วคือ ระบบการซื้อเงินผ่อนยังไม่เกิดขึ้น คนชั้นกลางต้องค่อยๆ เก็บสะสมเงินจนได้เป็นล้านบาทขึ้นไปถึงจะมีปัญญาซื้อบ้านหรือรถได้ ซึ่งนี่ทำให้การบริโภคน้อยลงไปมากเทียบกับเศรษฐกิจที่มีระบบนี้ เรื่องสินค้าเงินผ่อนนี่ก็เช่นกัน

ก่อนหน้าที่เมืองไทยจะมีระบบนี้แพร่หลาย ผมจำได้ว่าการซื้อบ้าน หรือการมีรถยนต์ เป็นเรื่อง ไกลเกินเอื้อม ในช่วงที่ผมเพิ่งทำงานหลังจบปริญญาตรีใหม่ๆ สิ่งที่คนเวียดนามมีกำลังซื้อค่อนข้างมากขณะนี้คือมอเตอร์ไซค์ ที่มีอยู่เต็มท้องถนนและทำให้รถยนต์ต้องแล่นช้ากว่าปกติมาก ชั่วโมงละ 20 กิโลเมตรในเมือง และ 30-40 ก.ม. นอกเมือง ทำให้ประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ต่ำมาก การเดินทาง 100 ก.ม. ออกไปยังเมืองท่า หรือเมืองตากอากาศใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง

ปัญหาที่ฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจโตได้เร็วไปกว่าปีละ 6-7% ที่เป็นอยู่นั้น ในความเห็นของผม อยู่ที่ระบบความคิด และการปกครองของรัฐบาล ที่ติดอยู่กับระบบสังคมนิยมที่รัฐควบคุมอยู่พอสมควร ความไม่แน่นอนของแนวทางการควบคุมระบบการเงินซึ่งทำให้ตลาดการเงินไม่มีเสถียรภาพ เห็นได้จากเงินเฟ้อที่สูงลิ่ว 7-8% ต่อปี และอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินด่องกับเงินดอลลาร์ผันผวนมาก และลดลงมาต่อเนื่องหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นหรือตราสารการเงินขาดทุน ทั้งๆ ที่ราคาหุ้นอาจสูงขึ้นในแง่ของเงินด่อง

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจเวียดนาม ก็ยังร้อนแรงในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา และแล้ว ระเบิด ขึ้นในช่วงปีสองปีนี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลงอย่างหนัก เศรษฐกิจมหภาคดูไม่ดี เพราะขาดดุลการค้าสูงและเงินทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์ต่ำ เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวลงอย่างแรง ดัชนีหุ้นลดลงมามาก สำหรับคนเวียดนาม ดูเหมือนนี่จะเป็นวิกฤติ แต่สำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุน อาจเป็นโอกาสที่หาได้ไม่ง่ายนัก

ประการแรกคือ เงินเฟ้อดูเหมือนจะลดลงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้มากขึ้น อานิสงส์จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีเสถียรภาพขึ้น ซึ่งต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อค่าเงินด่องลดลงมามาก จะลดกันลงไปได้อีกแค่ไหน! เช่นเดียวกัน ดัชนีหุ้นลดลงมามาก และคนเล่นหุ้นในเวียดนาม ซึ่งมีจำนวนเป็นล้านคน และมากกว่านักลงทุนรายย่อยในบ้านเรา ต่าง เลิกเล่น เพราะขาดทุนหนัก ที่จริง Market Cap. หรือมูลค่าตลาดหุ้นของโฮจิมินห์ลดลงเหลือน้อยมาก ประมาณ 400,000 ล้านบาท หรือ 3-4% ของตลาดหลักทรัพย์ไทย

ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจเวียดนาม เท่ากับ 30-40% ของไทย โอกาสที่ตลาดหุ้นเวียดนามจะโตขึ้นจึงน่าจะมีมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นคือเมื่อเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นจากภาวะ วิกฤติ เล็กๆ ในช่วงนี้ ระยะยาวคือ เมื่อเศรษฐกิจเวียดนามมีการพัฒนาขึ้นตามศักยภาพที่ควรเป็นของประเทศ ที่มีทรัพยากรมากประกอบกับการที่มีประชากรสูง คนเวียดนามเอง จากการสำรวจขององค์กรระหว่างประเทศพบว่า เป็นคนที่มีระดับ IQ สูงระดับต้นๆ ของเอเชีย เมื่อระบบการปกครองและบริหารเศรษฐกิจของประเทศลงตัวแล้ว ประเทศควรจะก้าวหน้าและเติบโตต่อไปได้มาก แน่นอน มูลค่าของบริษัทจดทะเบียนต้องสูงขึ้นตาม

ผมคิดว่า ตลาดหุ้นโฮจิมินห์ น่าสนใจมาก ด้วยเหตุผลที่กล่าวแล้ว อุปสรรคการลงทุนก็ยังมีอยู่มาก ข้อแรกคือ ความน่าเชื่อถือของการบริหารงานของบริษัทรวมถึงระบบบัญชีต่างๆ ที่อาจจะยังไม่ได้มาตรฐาน ว่าที่จริง ก.ล.ต. เวียดนามเพิ่งตั้งขึ้น เข้าใจว่าปีที่แล้วนี่เอง อีกข้อหนึ่งคือ บริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะถือหุ้นและควบคุมโดยรัฐที่มีผลประกอบการดี ดูเหมือนว่า จะถูกต่างชาติซื้อจนเต็มเพดาน ถ้าเราต้องการ ต้องซื้อเป็นล็อต และจ่ายราคาพรีเมียมอย่างน้อย 20% และราคาหุ้นก็ไม่ถูก สุดท้ายคือ ข้อจำกัดของแบงก์ชาติของไทย ที่ไม่อนุญาตให้คนไทยเอาเงินออกไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม อาจดูว่า อันตราย สำหรับประเด็นหลังนี้ ผมก็รู้สึกประหลาดใจมากว่า ทำไมเจ้าหน้าที่จึงต้องห่วงแทนผมซึ่งเป็นเจ้าของเงิน?


บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556

ภาษาเปลี่ยนโลก

ผมอยู่มาจนถึงปัจจุบัน 60 ปีเข้าไปแล้ว สิ่งที่รู้สึกว่าเป็น จุดด้อย ที่สำคัญของตนเอง และไม่สามารถปรับขึ้นได้จนเท่ากับหรือใกล้เคียงกับ เจ้าของ คือ ภาษาอังกฤษ

ปัญหาคือในช่วงวัยเด็กและวัยหนุ่มนั้น ผมไม่มีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษดีพอ และไม่รู้ว่าภาษาอังกฤษเป็นวิชาสำคัญมาก และสำคัญยิ่งกว่าวิชาคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ที่คิดว่าเป็นวิชาคนเก่ง ที่ต้องอาศัยตรรกะและความคิดระดับสุดยอด

ภาษาอังกฤษเริ่มสำคัญในตอนที่ผมเริ่มเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ที่ต้องอ่านตำราวิชาการจากต่างประเทศ ความสำคัญเป็นเรื่องการทำความเข้าใจทฤษฎีและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ในกรณีของผมคือเรื่องทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และบริหารธุรกิจ ความสามารถของผมในด้านเหล่านี้เป็นเรื่องการอ่านและการเขียนเท่านั้น ซึ่งยังช้าและด้อยกว่าเจ้าของภาษาอยู่ไม่น้อย

ส่วนภาษาอังกฤษในสาขาความรู้อื่น ๆ และเรื่องทั่วไปนั้น ความสามารถต้องบอกว่าต่ำกว่าเจ้าของภาษามาก ระดับความเร็วในการอ่านนั้นคิดว่าอาจจะทำได้เพียงครึ่งหนึ่งของเจ้าของภาษา ที่มีศักยภาพในระดับเดียวกัน ส่วนการฟังและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดนั้น ความสามารถของผมยิ่งห่างจากเจ้าของภาษาสุดกู่อันเป็นผลจากขาดโอกาสเรียนรู้ช่วงต้นของชีวิต ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะด้านการพูด

ความสำคัญของภาษาอังกฤษ อยู่ที่ว่าเป็นภาษา สากล และเป็นภาษาของประเทศยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ติดต่อกันมาน่าจะเกือบ 200 ปี การติดต่อทางการทูต การค้าและสังคมทั่วโลก ซึ่งรวมถึงระบบอินเทอร์เน็ตต่างใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ เช่นเดียวกับกิจกรรมบันเทิงชั้นนำระดับโลก เช่นภาพยนตร์และละครเวทีต่างก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก

ด้วยเหตุที่โลกของนั้นอยู่ในกระแสของโลกาภิวัตน์ ที่ขอบเขตของดินแดน กำลังลดความสำคัญลงเรื่อยๆ และประชาชนสามารถจะเดินทางหรือติดต่อกับคนอื่นได้ทั่วโลกด้วยต้นทุนต่ำลงมาก ภาษา กลาง ที่ทุกคนต้องใช้จึงสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับคนก้าวหน้าที่สุดในแต่ละสังคม ภาษาอังกฤษจึงกลายเป็นภาษาที่คิดว่า จำเป็น อย่างยิ่งยวด และถ้าจะให้ทำนายขั้นนี้คือหากคุณจะเป็นคนชั้นนำอย่างที่เรียกว่า อิลิท ในยุคต่อไป คุณจำเป็นต้องรู้สามารถใช้อังกฤษได้ดีมาก ไม่ใช่แค่ 40-50% ของเจ้าของภาษาอย่างที่ผมเป็น

ทุกวันนี้ ผมรู้สึกว่าอ่านหนังสือดีๆ ซึ่งส่วนมากคือหนังสือภาษาอังกฤษได้ ไม่ทัน กับหนังสือที่ออกใหม่และวางบนแผง ไม่ต้องพูดถึงหนังสือคลาสสิกเก่า ๆ ที่ยังมีอีกมากมายในหัวข้อความรู้ที่สนใจ เหตุผลสำคัญคืออ่านได้ไม่เร็วพอ หนังสือหลายเล่มกองอยู่บนโต๊ะทำงาน และบางเล่มอาจจะถูกอ่านเพียงสั้นๆ แล้วทิ้งไว้เนื่องจากคุณภาพไม่ดีพอ หรือไม่ตรงกับความสนใจจริง ๆ

หนังสือที่ช่วย เปลี่ยนโลก ของผมนั่นคือทำให้ผมรู้จักโลกดีขึ้นมาก เข้าใจชีวิต สังคม และรัฐชาติต่างๆ ในโลกนั้น มักอิงอยู่กับเรื่องของทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน ที่พูดถึงพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายรวมถึงมนุษย์ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของ มนุษยชาติ และประวัติศาสตร์ของอารยธรรมและประเทศต่างๆ นั้น ทำให้เห็นวิวัฒนาการของคนและสังคมและรู้ว่าอนาคตน่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ประวัติศาสตร์ของสงครามและการทำลายล้าง อย่างเช่นเรื่องของสงครามโลก และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนั้น สอนให้ตระหนักเรื่องความเสี่ยงเช่นเดียวกับการเรียนรู้ว่าทำไมฝ่ายหนึ่งจึงชนะและฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้ อาจเป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่สิ่งมีชีวิตต่างต้องต่อสู้แข่งขันเพื่อเอาตัวรอด ทั้งหมดจะช่วยให้รู้ว่าอนาคตของประเทศไทยหรือสังคมไทย จะเป็นอย่างไรเพื่อที่ว่าจะได้ตัดสินใจในประเด็นต่างๆ ได้ถูกต้อง

สำหรับผมแล้วการลงทุนเป็นหนึ่งในนั้น และหนังสือดีๆ ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ส่วนมากมักเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนหนังสือภาษาไทยนั้น หลายเล่มก็เขียนได้ดี อย่างไรก็ตาม หนังสือบางเล่มเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หรือการเมือง บางทีมี ความลำเอียง ทำให้เราไม่ได้ความจริง ที่จะชี้นำอนาคตได้

ความสามารถทางภาษาอังกฤษที่ดีนั้น คิดว่าน่าจะทำให้ชีวิตของเราได้สัมผัสกับความรื่นรมย์ ระดับโลก เช่น การดูละครเพลงบอร์ดเวย์ ซึ่งต้องอาศัยภาษาอังกฤษที่ดีมาก หรือการชมภาพยนตร์โดยไม่ต้องอ่านซับไตเติ้ลมากนัก คนที่ชอบอ่านวรรณกรรม ความสามารถอ่านภาษาอังกฤษ น่าจะช่วยเปิดโลกให้กว้างขึ้นสำหรับความบันเทิงสุนทรีไม่จำกัดเฉพาะภาษาไทยเท่านั้น จริงอยู่ปัจจุบันนั้นหนังสือแปลแพร่หลายขึ้นมาก แต่คิดว่าการอ่านจากต้นฉบับน่าจะมีอรรถรสกว่าไม่น้อย

การเขียน ฟัง และพูด ภาษาอังกฤษได้ดีนั้น คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้การอ่าน โดยเฉพาะคนที่ยังต้องทำงาน ในตำแหน่งที่สูงของทุกองค์กรในปัจจุบันและเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคต ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องการฟัง พูดและเขียนได้อย่างดี จะสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนคนที่ภาษาอังกฤษแย่นั้น แทบไม่มีโอกาสก้าวหน้าอย่างโดดเด่นได้ เหตุผลเพราะเมื่อองค์กรใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับคนต่างประเทศ ที่ต่างใช้ภาษาอังกฤษติดต่อสื่อสาร

โดยส่วนตัวจากประสบการณ์ทำงานกับองค์กรใหญ่มาหลายแห่ง พบว่าภาษาอังกฤษไม่ดีของตนเอง โดยเฉพาะการฟัง พูด และเขียน นั้น น่าจะเป็นตัวถ่วงความก้าวหน้าในหน้าที่การงานไม่น้อย ทั้งที่เวลานั้นประเทศไทยยังไม่ได้เปิดมากเหมือนวันนี้

การตระหนักความสำคัญของภาษาอังกฤษมานาน เป็นเหตุผลที่ผมส่งลูกเรียนในโรงเรียนอินเตอร์มาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ซึ่งจะทำให้เขาได้ภาษาอังกฤษเท่ากับหรือใกล้เคียงเจ้าของภาษา เป็น การลงทุน ที่สำคัญและใช้เงินมากเมื่อเทียบกับรายได้ในช่วงนั้นเมื่อเกือบ 20 ปีมาแล้ว ผลของการสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้เกือบเหมือนเจ้าของภาษา ทำให้ลูกสามารถเดินทางติดต่อชาวต่างชาติได้อย่างสบายใจ และมีความสุขจากสิ่งบันเทิงระดับโลกโดยไม่มีอุปสรรคด้านภาษา

ลูกผมไปเรียนในสถาบันชั้นนำระดับโลกได้ ในขณะที่ผมต้องเรียนในสถาบันการศึกษาธรรมดามากๆ ในสหรัฐ ส่วนหนึ่งเพราะภาษาอังกฤษไม่ดี เขามีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติหลายชาติขณะศึกษาในกรุงลอนดอน หลังจากจบการศึกษาแล้วยังติดต่อกันตลอดเวลา และเมื่อมีโอกาสมาเยี่ยมเยียนกัน เมื่อคนหนึ่งแต่งงานเพื่อนๆ ก็ยังไปร่วมพิธีเหมือนกับเพื่อนที่อยู่ประเทศเดียวกัน

ผมคิดว่าภาษาอังกฤษนั้น เปลี่ยนโลก ของลูกจากสิ่งที่ผมทำ ภาษาอังกฤษ เปลี่ยนโลก ของผมแต่ก็ยังไปได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากไม่มีโอกาสยามเด็ก ผม ดิ้นรน ไปเรียนต่างประเทศ หลังทำงานได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยมีเหตุผลลึกจริงๆ อยู่ที่การได้เรียนรู้และอยู่ในสังคมของคนพูดภาษาอังกฤษ สี่ปีของการศึกษานั้น สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ได้รับคือความสามารถอ่านและศึกษาเรื่องการเงินและการลงทุนแบบ VI ในภายหลัง เช่นเดียวกัน

ผมยังสามารถอ่านและเสพสิ่งอื่นๆ ที่สำคัญและเป็นความบันเทิงของชีวิตแม้ว่าจะไม่เต็มร้อย สำหรับคนที่ยังไม่เก่งภาษาอังกฤษ การ ลงทุน เรียนรู้มันอย่างทุ่มเทนั้นจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่า ยิ่งเรียนอายุน้อยก็ยิ่งได้ผลดีเท่านั้น


บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556

Fund Flow

ตัวเลขที่นักเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ติดตามมากที่สุดตัวหนึ่ง นอกจากดัชนีหุ้น คือ ข้อมูลการซื้อขายหุ้นของต่างชาติประจำวัน ซึ่งนักวิเคราะห์หุ้น ก็มักจะคอยดูว่าต่างชาติกำลังขาย หรือกำลังซื้อหุ้นสุทธิอยู่ และอาจจะนำไปพยากรณ์ว่า วันพรุ่งนี้หุ้นจะขึ้นหรือหุ้นจะลง เหตุผลคือ คนที่อยู่ในวงการหุ้นแทบทุกคนต่าง เชื่อว่า ถ้าต่างชาติซื้อ หุ้นก็จะขึ้น และถ้าพวกเขาขายหุ้นก็จะลง อิทธิพลของต่างชาติค่อนข้างสูง เพราะพวกเขามักเข้ามาซื้อหรือขายพร้อมๆ กันในหุ้นตัวใหญ่ ที่มีผลต่อดัชนีสูง

ถ้ารู้ว่าพวกเขาจะเข้ามาซื้อ หุ้นก็จะขึ้น นักลงทุนไทยก็จะเข้าไปซื้อด้วย เพื่อ "เกาะกระแส" การลงทุนของต่างชาติ ตรงกันข้าม ถ้า "ฝรั่ง" ขายเราก็ต้อง "โกย" แต่ประเด็นคือ เราจะเล่นหุ้น หรือลงทุนตาม "Fund Flow" หรือการเข้ามาซื้อขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติได้หรือไม่? และต่อไปนี้คือความเห็นของผมเกี่ยวกับเรื่องของ Fund Flow ซึ่งไม่จำกัดอยู่ที่การไหลเข้าตลาดหุ้นของ "เงินฝรั่ง" หรือ "เงินไทย"

ข้อสังเกตเรื่องแรกคือ ผมไม่แน่ใจว่า การซื้อหรือขายหุ้นสุทธิของต่างชาติประจำวัน ถ้าดูตามสถิติแล้ว มีผลต่อดัชนีหุ้นไทยจริงๆ หรือไม่ ผมเคยศึกษาเรื่องนี้นานมาแล้ว ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ยังเล็ก และยังไม่เป็นที่นิยมของคนไทยมากนัก ย้อนหลังไปน่าจะไม่ต่ำกว่า 20 ปี ครั้งนั้นผมจำได้ว่า ตัวเลขออกมาชัดเจน โดยบอกได้ว่า ถ้าต่างชาติซื้อสุทธิ 1,000 ล้านบาท ดัชนีขึ้นไป 7 จุด

แต่ช่วงหลัง ถ้าจะให้เดา คิดว่าไม่มีผลแล้วในยามที่คนไทย โดยเฉพาะนักลงทุนส่วนบุคคลซื้อขายหุ้นในปริมาณที่มากล้น บางช่วงที่ต่างชาติซื้อสุทธิในปริมาณที่มากเป็น 2-3,000 ล้านบาทต่อวันขึ้นไป เราอาจเห็นดัชนีปรับตัวขึ้นโดดเด่นเป็นเลขสองหลัก แต่ถ้าพวกเขาซื้อหรือขายสุทธิเพียงเล็กน้อยไม่เกิน 5-600 ล้านบาทต่อวัน

ผลที่มีต่อดัชนีอาจจะไม่ชัด ถ้าเป็นแบบนี้ การซื้อขายหุ้นสุทธิของต่างชาติ จึงอาจจะไม่มีผลอะไรเลย ยกเว้นเป็นการซื้อ หรือขายสุทธิในปริมาณที่มากกว่าปกติ เช่น เกินหนึ่งพันล้านบาทต่อวันขึ้นไป

ประเด็นที่สองคือ ถ้าต่างชาติซื้อสุทธิมาก และหุ้นจะขึ้นเป็นเรื่องจริง เราอาจไม่สามารถทำเงินจากการซื้อขายหุ้นได้ ถ้าเราไม่ได้ซื้อหุ้นไว้ก่อน การที่เราจะเข้าไปซื้อหุ้นหลังจากที่เห็นข้อมูลการซื้อขายหุ้นประจำวันแล้ว กลับจะเป็นการเข้าไปซื้อหุ้นในราคาที่สูงขึ้นไปแล้ว ผลคือ เราอาจขาดทุนได้ การซื้อขายหุ้นโดยอิงกับข้อมูลการซื้อขายหุ้นของต่างชาติประจำวัน จึงไม่มีประโยชน์ ถ้าเราไม่รู้ว่า เขายังจะซื้อหุ้นสุทธิ หรือขายหุ้นสุทธิมากๆ อีกหรือเปล่าในวันพรุ่งนี้หรือวันต่อๆ ไป

ข้อถกเถียงของคนที่เชื่อในการเล่นหุ้นตาม Fund Flow ของต่างชาติ คือ เราสามารถคาดการณ์ "การเคลื่อนย้ายของเงินต่างชาติ" ได้ และการเคลื่อนย้ายนี้ จะมาเป็นระลอก ไม่ใช่มาวันเดียวจบ ถ้าเราเห็นเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาซื้อหรือขายหุ้นหนักๆ ติดต่อกันหลายวัน เราน่าจะบอกได้ว่า แนวโน้มจะยังเป็นเช่นนั้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง และการเล่นหุ้นตามกระแสเงินไหลเข้าออกของต่างชาติ จะทำให้เราทำกำไรได้

เหตุผลในเชิงการเงินและเศรษฐกิจประกอบอีกมาก เช่นช่วงนี้พูดถึง "การผ่อนคลายเชิงปริมาณ" ของสหรัฐหรือ QE ว่าจะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายของกระแสเงินกันอย่างไร ผมคิดว่าการพยากรณ์ Fund Flow เป็นเรื่องยาก แม้จะพยากรณ์ได้ถูกต้อง แต่อาจจะไม่มีประโยชน์ ถ้าคนอื่นหรือคนส่วนใหญ่พยากรณ์ได้ถูกต้อง

ตัวอย่างเช่น QE ทุกคนรู้ว่า ในที่สุดธนาคารกลางสหรัฐ ต้องลดอยู่ดี แต่วันที่ประกาศลด เงินลงทุนต่างชาติที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยอาจไม่ได้ไหลออกก็ได้ เหตุผลเพราะนักลงทุนที่กลัวเรื่องนี้ ต่างถอนตัวออกไปหมดก่อนหน้านี้แล้ว เพราะเขาคาดว่าการทำ QE ต้องลดลงในที่สุด เขาจึง "หนี" ก่อน

สิ่งที่ผมสนใจเกี่ยวกับเรื่อง "Fund Flow" จริงๆ อยู่ที่กระแสเงินที่ไหลเข้าตลาดหุ้นในระยะยาว โดยเฉพาะคนในประเทศ เหตุผลเพราะว่า การเคลื่อนย้ายเงินจากสถาบันการเงิน หรือจากที่ไหนก็ตาม เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ในขณะที่จำนวนหุ้นจดทะเบียนเพิ่มขึ้นน้อยมาก จะเป็นพลังที่สำคัญในการผลักดันราคาหุ้นให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องยาวนาน พูดง่ายๆ ความต้องการหรือ Demand ของหุ้นมีมาก แต่ Supply หรือจำนวนหุ้นที่มีไว้ขายมีน้อย หุ้นก็ขึ้น

ในช่วงเวลาหนึ่งของประเทศใดประเทศหนึ่ง อาจจะมีช่วงเวลาที่คนในประเทศมีเงินสดมากกว่าปกติ ขณะที่มีภาระค่าใช้จ่ายน้อยกว่าปกติ ทำให้คนหรือประเทศมีเงินเหลือมาก ส่งผลให้ดอกเบี้ยต่ำลงมาก ดังนั้นเงินบางส่วนก็ถูกผันไปลงทุนในตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ผลคือราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น กระบวนการนี้อาจเกิดขึ้นนาน เนื่องจากเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสังคมที่ไม่ใช่เรื่องชั่วคราว ผมกำลังบอกว่าอายุของประชากร ซึ่งสัมพันธ์กับรายได้ และรายจ่ายของคนในประเทศ อาจมีส่วนสำคัญต่อ Fund Flow ที่ไหลเข้าออกจากตลาดหุ้นมาก จนทำให้ดัชนีมีทิศทาง และแนวโน้มทางใดทางหนึ่งต่อเนื่องยาวนาน

ถ้าเราลองคิดถึงว่าคนๆ หนึ่ง ช่วงเวลาในชีวิตของเขาที่เริ่มทำงาน แต่งงาน มีลูก เงินที่เขาหาได้ มักถูกใช้จ่ายไปแทบจะไม่เหลือสำหรับคนที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมาก แต่เมื่อลูกๆ โตและทำงานได้แล้ว อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เขามีอายุ 45-60 ปี เขาจะมีเงินเหลือมากทีเดียวเพราะไม่ต้องเลี้ยงดูลูก และไม่ต้องผ่อนบ้านที่ผ่อนไปจนหมดแล้ว เขาก็ต้องเริ่มเก็บและ "ลงทุน" เพื่อการเกษียณที่จะตามมา

เงินนี้บางส่วน "ไหล" เข้าตลาดหุ้น ประเด็นคือ ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่ง มีการเกิดเด็กใหม่ลดลง และทำให้สังคมประกอบไปด้วยคนที่มีอายุ 45-60 ปีมากขึ้น จะส่งผลเงินไหลเข้าตลาดหุ้นมากเป็นพิเศษ และการไหลต่อเนื่อง 10-15 ปี จนกว่าคนจะแก่ และเลิกทำงาน ทำให้มีเงินน้อยลง และอาจเริ่มไหลออกจากตลาดหุ้นเรื่อยๆ

อาการเงินไหลเข้าตลาดหุ้นยาวนาน และทำให้ดัชนีหุ้นขึ้นเป็นสิบปีขึ้นไป หลังจากนั้นหุ้นก็โตช้าลงยาวนาน ซึ่งเคยเกิดขึ้นในตลาดหุ้นนิวยอร์กช่วงทศวรรษ ปี 1991-2000 ที่หุ้นปรับตัวขึ้นจาก 2600 จุดเป็น 10450 จุด หรือ 4 เท่าในเวลา 10 ปี คิดเป็นการเพิ่มขึ้นปีละ 15% แบบทบต้น ซึ่งเป็น"ประวัติการณ์" ครั้งหนึ่ง แต่หลังจากนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลา 13 ปี ดัชนีดาวโจนส์ขึ้นมาอยู่ที่เพียง 15450 จุดหรือขึ้นมาแค่ 50% คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นเพียงปีละ 3%

ตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ต้นปี 2544 ดัชนีอยู่ที่ 270 จุด จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 13 ปี ได้ปรับขึ้นเป็น 1500 จุด หรือ 5.5 เท่า คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 14.5% นับเป็นการเติบโตต่อเนื่องยาวนาน และสอดคล้องกับอายุของประชากรที่ดูเหมือนว่ากำลังมีรายได้สูง ลูกโต และกำลังใกล้เกษียณดังที่กล่าวไว้

อนาคตตลาดหุ้นไทย ถ้าเชื่อในทฤษฎีดังกล่าว ประกอบกับการที่คนไทยกำลังเข้าสู่สังคมคนสูงอายุในเวลาอาจจะ 10-20 ปีข้างหน้า ผมคิดว่าในที่สุดผลตอบแทนการลงทุนจะลดลงไปยาวนาน แต่ระหว่างนี้ กระแสเงินจากคนไทย น่าจะยังไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไม่น้อย และจะทำให้ตลาดหุ้นไทยดีต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง 5-10 ปี แต่หลังจากนั้น เราอาจต้องไปลงทุนในตลาดอื่นที่คนยังหนุ่ม และเพิ่มขึ้นเร็วอย่างในประเทศ AEC ส่วนใหญ่ เพื่อจะให้ได้ผลตอบแทนที่ดีต่อไป

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556