ผมเพิ่งย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านที่ปลูกใหม่บนพื้นที่บ้านเดิมในซอยรางน้ำเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา แต่ถูกขโมยงัดแงะเข้าบ้านถึง 2 ครั้ง ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา โจรไม่เคยเข้าบ้านเลย วิเคราะห์แล้วผมคิดว่าสาเหตุคือ หนึ่ง บ้านหลังเก่า เป็นบ้านชั้นเดียวและใช้วัสดุพื้นๆ ไม่มีการตกแต่งอะไรเลย โจรจึงคิดว่าไม่มีของอะไรให้ขโมย แต่บ้านหลังใหม่นี้สวยงาม เจ้าของคงมีเงิน และมีทรัพย์สินมีค่าที่จะลักได้ ข้อสอง กำแพงบ้านยังไม่ได้ติดเหล็กแหลมและหน้าต่างบ้านก็ไม่ได้ติดเหล็กดัด ดังนั้น เป็นการง่ายที่จะปีนเข้าไปและงัดหน้าต่างกระจกเข้าบ้าน โชคยังดี ผมติดสัญญาณป้องกันขโมยไว้ ดังนั้น โจรจึงไม่สามารถลักของมีค่าไปได้ทั้งสองครั้ง
แต่ผมก็คิดต่อไปว่า เอาเข้าจริงๆ เราก็ไม่มีของมีค่าอะไรที่ควรแก่การขโมย อย่างมากก็เครื่องเสียงราคาไม่เกิน 3-4 พันบาท ซึ่งไปขายต่อก็อาจจะได้แค่ 1-2 พันบาท สิ่งที่กลัวไม่ใช่ของ แต่เป็นเรื่องความปลอดภัยชีวิตคนในบ้าน ความคิดต่อมาของผมคือ นี่คือ "สัจธรรม" หรือเปล่าที่ว่าเมืองไทยเต็มไปด้วย อาชญากรรมและไม่มีทางลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โดยความบังเอิญ ผมอ่านพบว่า อาชญากรรมในประเทศพัฒนาแล้ว เดิมย้อนหลังไป 20-30 ปี ก็มีความคิดแทบจะเป็น "สัจธรรม" ว่า มีแต่จะเพิ่มขึ้นนั้น บัดนี้ก็เป็นที่แน่ชัดว่าไม่เป็นความจริง เพราะสถิติอาชญากรรมในประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกมีการลดลงต่อเนื่องมา 20 ปีแล้ว รวมถึงปีที่เศรษฐกิจตกต่ำคนตกงานเกือบ 20% อย่างในปัจจุบัน คนไทยที่ยังคิดว่าเมืองนิวยอร์กโดยเฉพาะบางย่าน เป็นเขตอันตรายที่เดินแทบไม่ได้ แสดงว่าเขาคงไม่ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ เพราะนิวยอร์กเดี๋ยวนี้ปลอดภัยมาก เช่น สถิติรถหายเคยสูงถึงปีละเกือบ 150,000 คันเมื่อ 20 ปีก่อน เดี๋ยวนี้เหลือแค่ปีละ 10,000 คัน
สถิติอาชญากรรมรุนแรงอื่นๆ ก็ลดลงเหลือแค่ 20-30% จากอดีต อาชญากรรมบางอย่างแทบจะสูญพันธุ์ ที่ดูเหมือนว่าน่าจะยังมีอยู่บ้างน่าจะเป็นเรื่องล้วงกระเป๋า โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวบางเมือง หรือการลักของในห้างร้าน นอกนั้นก็เป็นการโกง หรือต้มตุ๋นที่ไม่ได้มีอาการความรุนแรงต่อร่างกาย
สาเหตุที่อาชญากรรมลดลงต่อเนื่องมีการวิเคราะห์กันมาก ที่โดดเด่นและน่าจะมีผลจริงๆ ในระดับหนึ่ง เช่น ข้อแรก คนในประเทศพัฒนาแล้วแก่ตัวลง คนที่ก่ออาชญากรรมมักจะมีอายุระหว่าง 16- 24 ปี ดังนั้นอาชญากรรมจึงมีน้อยลง สถิติในเมืองใหญ่บางแห่งที่มีคนอายุระดับนั้นมากขึ้น ก็ไม่แสดงว่าอาชญากรรมเพิ่มขึ้น ดังนั้น เรื่องอายุคนจึงเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งเท่านั้น
เหตุผลต่อมาคือ กฎหมายอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ในสหรัฐในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งทำให้เด็กที่เกิดโดยแม่ที่ยากจนและไม่เป็นที่ต้องการลดลง นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อาชญากรรมที่อาจเกิดจากเด็กกลุ่มนี้ลดลง แต่ก็คงไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง เพราะบางประเทศ เช่น อังกฤษอนุญาตให้ทำแท้งได้ก่อนหน้านั้นนาน แต่สถิติอาชญากรรมยังลดลงต่อเนื่อง
เหตุผลประการที่สาม ที่พูดกันคือ เลิกใช้สารตะกั่วในน้ำมันเบนซิน เพราะมีความเชื่อกันว่า สารตะกั่วทำให้คนก้าวร้าวก่ออาชญากรรมง่าย แต่ก็คงเหมือนกับกรณีอื่นๆ ที่ว่าถ้ามันเลิกใช้มานานแล้ว สถิติก็ไม่น่าจะลดลงต่อไปอีก เหตุผลข้อที่สี่ ผมไม่แน่ใจว่าจะใช้ได้ไหม เพราะเด็กรุ่นใหม่ ไม่ค่อยก้าวร้าว มีนิสัยดีขึ้น และจำนวนคนที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ทั้งที่อายุกว่า 30 ปีแล้วโดยเฉพาะในยุโรปสูงขึ้นมาก สถิติของคนที่ถูกจับเพราะก่ออาชญากรรมเป็นครั้งแรกในอังกฤษลดลงถึง 44%
ดูเหมือนว่า เหตุผลที่น่าจะมีน้ำหนักที่สุดที่ทำให้อาชญากรรมลดลง คือ โอกาสหรือความคุ้มค่าของการก่ออาชญากรรม นั่นคือ ในอดีต สินค้าที่เป็นทรัพย์สินต่างๆ มักมีราคาแพง เฉพาะคนที่มีรายได้สูงพอเท่านั้น ที่มีปัญญาซื้อมาใช้ เช่น รถยนต์ เครื่องเล่นวีดิโอ หรือเครื่องเสียง เครื่องประดับต่างๆ ซึ่งทำให้คนอยากขโมย แต่ต่อมาสิ่งเหล่านั้น ดูเหมือนจะถูกลงเรื่อยๆ เทียบกับรายได้ของคน
ดังนั้น อาจดูไม่ค่อยคุ้มนักที่จะทำ ประกอบกับเหตุผลสำคัญคือ เทคโนโลยีป้องกันและตามจับโจร มีการพัฒนาขึ้นก้าวกระโดด และต้นทุนถูกมาก เช่น กล้อง CCTV และระบบสัญญาณกันขโมยตามบ้านและห้างร้าน สิ่งนี้ทำให้อาชญากรรมลดลง เพราะผลตอบแทนที่จะได้รับถ้าทำสำเร็จลดลง โอกาสที่จะถูกจับได้ ทั้งช่วงที่ก่ออาชญากรรมและหลังจากการกระทำแล้วสูงขึ้นมาก พูดง่ายๆ Low Return แต่ High Risk หรือผลตอบแทนต่ำแต่ความเสี่ยงสูง ดังนั้นเขาก็ไม่อยากทำ
ในไทยผมไม่มีสถิติการเกิดอาชญากรรม แต่ถ้าดูแนวโน้มจากประเทศพัฒนาแล้ว น่าจะต้องค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะการจี้ปล้นและการลักขโมย สถิติที่ดูแล้วไม่น่าลดลงในช่วงเร็วๆ นี้ คือ ยาเสพติดที่ดูเหมือนว่า ผลตอบแทนจะสูงมาก ซึ่งทำให้อาชญากรอยากหรือกล้าเสี่ยง เช่นเดียวกัน อาชญากรรมเกี่ยวกับการหลอกลวงด้านการเงิน โดยเฉพาะผ่านอินเทอร์เน็ตจะสูงขึ้น เพราะผลตอบแทนสูง และระบบการป้องกันและตามจับยังไม่ได้พัฒนามากนัก
การหลอกลวงโดยอ้างอิงความเชื่อ และอิทธิปาฏิหาริย์ เพื่อให้คนหลงเชื่อ และจ่ายเงินให้แก่อาชญากร น่าจะยังคงดำเนินต่อไปไม่ลดลง เหตุผลเพราะไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิผลพอในการป้องกันและตามจับ พูดถึงเรื่องเหล่านี้แล้ว ทำให้นึกถึงการลงทุนในตลาดหุ้น ที่ผมคิดว่าอาจมีการประกอบอาชญากรรมอยู่ไม่น้อยโดยที่เราไม่รู้หรือทำอะไรไม่ได้ด้วย เหตุผลเพราะผลตอบแทนสูงลิ่ว แต่ความเสี่ยงกลับไม่มาก บทลงโทษก็ไม่สูง
ผมไม่รู้ว่าสถิติการเกิดอาชญากรรมของไทยลดลงหรือยังใน พ.ศ.นี้ อาจยังเพิ่มอยู่ แต่ในที่สุดก็น่าจะลดลง เพราะผมไม่เห็นว่า เราจะแตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วตรงไหน ยกเว้นรายได้ที่ในที่สุด เราน่าจะตามไปทันเขาในวันนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่คนไทยเชื่อคือ การคอร์รัปชันในวงราชการไม่มีลดมีแต่เพิ่มขึ้น ผมไม่รู้ว่านี่เป็นเรื่องจริงไหม แต่สิ่งที่ผมคิดคือ มีความเป็นไปได้ว่าการคอร์รัปชันในที่สุด น่าจะค่อยๆ ลดลง ว่าที่จริงประเทศที่เจริญแล้ว แม้แต่ในอเมริกาครั้งหนึ่ง ก็มีการคอร์รัปชันกันมาก ประเทศในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และโดยเฉพาะฮ่องกง ในสมัยก่อนก็มีการคอร์รัปชันมาก แต่เมื่อประเทศเจริญขึ้น และสร้างระบบที่ป้องกันและต่อต้าน การคอร์รัปชันก็ลดลงมาก เรียกว่าเป็น "อุตสาหกรรมตะวันตกดิน" ไปเลย
พูดแบบนี้หลายคนอาจ มีความเห็นแย้งอย่างแรง เขาอาจคิดว่า ในระบบการเมืองและนักการเมืองแบบไทย การคอร์รัปชัน มีแต่จะมากขึ้นจนประเทศอาจ "ล้มละลาย" หรือ "สิ้นชาติ" ผมไม่รู้ว่าการคอร์รัปชันของไทยจะลดลงได้อย่างไร เพียงแต่รู้ว่าอะไรที่ "Impossible" หรือที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เช่น การลดลงของอาชญากรรม ก็เป็นไปแล้ว การคอร์รัปชัน ว่าที่จริงก็เป็นอาชญากรรมอีกแบบหนึ่ง เมื่อถึงเวลา ก็ควรต้องค่อยๆ ลดลง
พูดถึงตรงนี้ผมก็นึกว่า ตกลงเกี่ยวข้องกับการลงทุนไหม? บอกตรงๆ ยังนึกไม่ใคร่ออก เรื่องหนึ่งที่จะอ้างได้คือ บทความเรื่องนี้อาจสอนให้รู้ว่า อุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ทุกคนเชื่อกันขนาดเป็น "สัจธรรม" ว่าต้องไปเพียงทางเดียว อาจจะเปลี่ยนกลับทางได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่มีอะไร Impossible ทั้งด้านดีและร้าย
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2556
No comments:
Post a Comment