Saturday, November 9, 2013

ลงทุนระยะยาวยาก

นักลงทุนจำนวนไม่น้อย อาจจะบอกว่าตนเองนั้น “ลงทุนระยะยาว” ผู้บริหารกองทุนต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศมักบอกว่าตนเองเน้น “ลงทุนระยะยาว”

คนที่เรียกตัวเองว่าเป็น VI นั้น ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าตนเอง “ลงทุนระยะยาว”

แต่ถ้าเราไปสืบหรือได้มีโอกาสตรวจสอบการซื้อขายหุ้นของคนส่วนใหญ่ที่ลงทุนหุ้นแบบ “Active” หรือใช้เวลากับการลงทุนค่อนข้างมาก และบางคนเป็นนักลงทุนเต็มตัวหรือลงทุนเป็นอาชีพ เชื่อว่าพวกเขาส่วนใหญ่น่าจะลงทุนค่อนข้างถือหุ้นแต่ละตัวไม่เกินหนึ่งปีโดยเฉลี่ย ถ้าคิดตามมาตรฐานวิชาการก็ต้องบอกว่าพวกเขา “ลงทุนระยะสั้น” หรือเป็นนักเทรดหรือซื้อขายหุ้น มากกว่าที่จะเป็นนักลงทุนระยะยาว ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?

เริ่มต้นจากผู้บริหารกองทุนรวม ที่ขายหน่วยลงทุนให้กับประชาชนทั่วไปก่อน กองทุนเหล่านี้ต่างต้องแข่งขันกับกองทุนอื่นที่มีอยู่มากมาย พวกเขาต้องรายงานผลงานการลงทุนเป็นประจำทุกไตรมาสหรือทุกหกเดือนหรือทุกหนึ่งปี หรือว่าที่จริงคนอาจรู้ถึงผลงานการลงทุนได้แทบทุกวันผ่านมูลค่า NAV หรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยของกองทุน

ดังนั้น ผู้บริหารกองทุนจึงมีแรงกดดันที่จะต้องสร้างผลงานให้ “น่าประทับใจ” หรืออย่างน้อยก็ต้องให้ “เกาะกลุ่ม” กับผลงานของคู่แข่งหรือดัชนีตลาดที่ใช้อ้างอิงตลอดเวลา มิฉะนั้นลูกค้าผู้ถือหน่วยลงทุนอาจถอนหรือขายหน่วยลงทุนออก ทำให้กองทุนเล็กลง ส่งผลให้การประเมินผลงานของผู้จัดการกองทุนที่ต้องทำทุกปีมีปัญหา

ด้วยเหตุข้างต้นการลงทุนซื้อขายหุ้นของผู้จัดการกองทุน จึงต้องเน้นหุ้นที่จะทำผลงานได้ดีในระยะเวลาไม่นานเกินไป ซึ่งหมายความว่าต้องเป็นหุ้นที่อยู่ในกระแสที่คนกำลัง “เล่น” นอกจากนั้น เมื่อหุ้นตัวไหนมีกำไรมาก พวกเขามีความคิดอยากจะขายทำกำไร มากกว่าที่จะถือไว้ยาว ซึ่งอาจจะเกิดการปรับตัวลงในช่วงที่จะวัดผลงานได้ ผลคือกองทุนซื้อขายหุ้นค่อนข้างมาก ไม่ใช่นักลงทุนระยะยาว


กองทุนแบบเฮดจ์ฟันด์ ซึ่งมักเป็นกองทุนที่ขายให้เฉพาะกับคนมีเงินมาก และมีจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนไม่มาก ส่วนใหญ่มักเป็นกองทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นพวกเขาไม่จำเป็นต้องสร้างผลงานระยะสั้นอะไรมากนัก ที่จะทำให้พวกเขาต้องซื้อหรือขายหุ้นบ่อย อย่างไรก็ตามผลตอบแทนของผู้บริหารกองทุนกลุ่มนี้มักอิงอยู่กับผลตอบแทนเป็นรายปีของกองทุน

ด้วยเกณฑ์ข้างต้น ผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์จึงต้องสร้างผลงานในแต่ละปีให้ดี เพื่อตนเองจะได้ผลตอบแทนหรือโบนัสงาม ดังนั้นหุ้นที่มีกำไรมาก พวกเขามักจะอยาก “ล็อก” กำไรไว้ก่อน เพื่อเป็นหลักประกันว่าผลงานประจำปี จะดีพอที่จะทำให้เขาได้เงินและได้ลูกค้าเพิ่มในปีต่อๆ ไป

นอกจากนั้น ผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์เองมักจะต้องรายงานการซื้อและขายหุ้นแต่ละตัวให้ผู้ลงทุนทราบ ถ้าผู้บริหารซื้อและลงทุนระยะยาวโดยไม่ขายเพื่อจะไปซื้อหุ้นตัวใหม่เป็นเวลาหลายปี ผู้ถือหน่วยลงทุนจะรู้สึกอย่างไร? คงดูเหมือนพวกเขาไม่ใคร่ได้ทำงาน ซึ่งถ้าผลการลงทุนไม่ดีด้วย ในที่สุดคงไม่มีคนอยากนำเงินมาให้พวกเขาบริหาร ดังนั้นเฮดจ์ฟันด์ส่วนใหญ่จึงมักไม่ใช่นักลงทุนระยะยาว

นักลงทุนแนว VI ที่มุ่งมั่น คือคนลงทุนโดยอิงจากพื้นฐานกิจการนั้น พวกเขาไม่ต้องรายงานใครว่าแต่ละปีทำผลตอบแทนได้เท่าไร แต่เนื่องจากระบบสื่อสังคมสมัยใหม่ที่ทรงประสิทธิภาพมาก ทำให้พวกเขารู้หรือเข้าใจว่า “คนอื่น” กำลังทำผลตอบแทนได้มากน้อยแค่ไหน

ดังนั้นหลายคนมี “แรงกดดันทางใจ” ที่จะต้องทำผลงานให้ดีพอๆ กันหรือดีกว่า ซึ่งวิธีที่คิดว่าจะทำได้คือพยายามค้นหาหุ้นที่ยัง Undervalue มากกว่าหุ้นที่ตนเองถืออยู่ตลอดเวลา เสร็จแล้วขายหุ้นที่ถืออยู่ เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นตัวใหม่ที่ “ถูกกว่า” และมีโอกาสจะปรับตัวขึ้นได้เร็วกว่าหุ้นตัวเดิม ผลคือพวกเขาซื้อขายหุ้นค่อนข้างบ่อย

VI จำนวนมากทำผลงานลงทุนได้ยอดเยี่ยมช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังรู้สึกว่าการลงทุนถือหุ้นยาวและเติบโตไปกับผลประกอบการของบริษัทนั้น อาจดีแต่ไม่โดดเด่นแน่นอน เหตุผลคือผลประกอบการบริษัทในระยะยาวจริงๆ แล้ว แทบจะไม่สามารถโตได้ปีละเกิน 15% ซึ่งจะทำให้การถือหุ้นของบริษัทในระยะยาวจะได้ผลตอบแทนไม่เกินปีละ 15%

ตัวเลขข้างต้นสำหรับ VI ที่ประสบความสำเร็จสูงช่วงที่ผ่านมา เป็นผลตอบแทนที่แทบ“รับไม่ได้” พวกเขาคิดว่าอย่างน้อยควรทำได้อาจปีละ 25% ขึ้นไป ดังนั้นจึงไม่คิดถือหุ้นตัวเดียวยาวหลายปี ไม่ว่ากิจการดีแค่ไหน พวกเขาคิดว่าเมื่อได้กำไรจากหุ้นตัวไหนมากแล้ว และราคาหุ้นอาจไม่ถูกอีกต่อไป เขาพร้อมจะเปลี่ยนหุ้นใหม่ ผลคือแม้แต่ “VI ระดับเทพ”มีน้อยมากที่ลงทุนระยะยาว

การหานักลงทุนระยะยาวจริงๆ ได้ยากมากนั้น ยังอยู่ที่เหตุผลทางจิตวิทยา ความรู้และความเข้าใจของคน และอื่นๆ อีกหลายอย่าง ที่ทำให้คนมีแนวโน้มจะเป็น “นักลงทุนระยะสั้น” มากกว่าระยะยาว ลองมาดูข้อแรกคือคนเราโดยเฉพาะคนมีความสามารถสูงนั้น มักเป็นคนที่ Active กระตือรือร้นสูง พวกเขาต้องการ Action หรือต้องมีการ “ทำอะไรบางอย่าง” เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ

การนั่ง “กระดิกเท้า” ไม่ทำอะไร หรือคิดหรือทำอะไรชักช้าไม่ทันการนั้น เป็นสัญญาณของคนที่ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น นักลงทุนที่มุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับการลงทุนในตลาดหุ้น จึงมีแนวโน้มที่จะต้อง“ทำ”

บางคนอาจบอกว่าไม่ได้หมายความว่าต้องซื้อหรือขายหุ้น แต่เขาต้องไปศึกษาหาข้อมูลและวิเคราะห์หาหุ้นที่ถูกมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าพื้นฐานของกิจการตลอดเวลา เพื่อหาโอกาสที่งดงาม ในที่สุดเขาพบเพชรเม็ดงามเม็ดใหม่เสมอ ประเด็นคือ เขามีเงินจำกัด เขาไม่เหมือน วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่มีเงินใหม่เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ดังนั้น เขาต้องขายหุ้นตัวเดิมและไปซื้อหุ้นตัวใหม่ที่อาจไม่ดีกว่า แต่ถูกกว่า ดังนั้นเขากลายเป็นนักลงทุนระยะสั้นโดยพฤติกรรม

การเป็นนักลงทุนระยะยาวเป็นเรื่องทำยากและไม่แน่นอน คนทำต้องวิเคราะห์ข้อมูลกิจการลึกซึ้ง ต้องดูโครงสร้าง ภาวะและแนวโน้มของอุตสาหกรรมในระยะยาว เสร็จแล้วต้องดูความสามารถหรือความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทว่ายั่งยืนมากน้อยแค่ไหน ต้องดูผู้บริหารมีความสามารถไว้วางใจได้หรือไม่ และแม้ว่าจะดูอย่างดีแล้ว เขามั่นใจแค่ไหนว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อเวลาผ่านไปนานในอนาคต

ตรงกันข้าม การลงทุนระยะสั้นนั้นทำง่ายกว่ากันมาก การวิเคราะห์หุ้นอาจมองแค่ระยะเวลาไม่เกินปี บริษัทน่าจะมีผลประกอบการดีขึ้นได้ค่อนข้างแน่นอนมองจากปัจจัยหรือแนวโน้มที่เกิดขึ้น บางทีอาจรู้และได้รับคำมั่นจากผู้บริหาร ซึ่งเป็น “ข้อมูลภายใน”ว่า ทุกอย่างกำลังไปได้ดี ดังนั้นการตัดสินใจและลงมือทำจึงทำได้ง่ายด้วยความมั่นใจสูง

สุดท้าย ตลาดหุ้นที่ผันผวน ราคาหุ้นแต่ละตัวผันผวนหนักในแต่ละวันนั้น กระตุ้นให้คนเป็นนักลงทุนระยะสั้นมากกว่าระยะยาวมาก สมองคนถูกออกแบบมาให้พยายามลดความไม่แน่นอน ให้พยายาม “ลดความเสี่ยง” แม้บางทีเราอาจจะคิดว่าหุ้นลงมาอย่างไม่มีเหตุผลไม่ควรทำอะไร แต่เราก็อาจจะขายไปก่อนแล้วคิดว่าค่อยไปเก็บคืนที่ราคาต่ำกว่านั้นก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เรามีแนวโน้มเป็นนักลงทุนระยะสั้นมากกว่าระยะยาวถ้าเราไม่ฝืนมัน

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556

No comments:

Post a Comment