Saturday, November 9, 2013

ผลตอบแทนระยะสั้นกับยาวของหุ้น

ในการคำนวณหาผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นต่อปีที่คาดว่าจะได้แบบ VI นั้น วิธีง่ายๆ อย่างหนึ่งคือการใช้สูตรที่ว่า ผลตอบแทนการลงทุน “ระยะยาว” นั้น

จะเท่ากับอัตราปันผลตอบแทนในปีแรก บวกอัตราเติบโตของกำไรหรือปันผลของบริษัท เช่น ถ้าปีแรกที่ลงทุน คาดว่าจะได้ปันผล 3 บาทต่อหุ้น ขณะที่ราคาหุ้นเท่ากับ 100 บาท แบบนี้ก็คืออัตราปันผลปีแรกเท่ากับ 3%

ถ้าคาดว่าบริษัทนี้ “โตเร็วมาก” โดยเฉลี่ยแล้วกำไรหรือปันผลสามารถโตได้ถึง 12% ต่อปีไปเรื่อยๆ เป็นเวลาอาจจะ 20-30 ปีขึ้นไป ถ้าเป็นแบบนี้ ผลตอบแทนระยะยาวของหุ้นตัวนี้คือ ปีละ 15% ทบต้น ถือเป็นหุ้นให้ผลตอบแทนโดดเด่นมาก เป็น“ซูเปอร์สต็อก”หาได้ยาก ในตลาดหลักทรัพย์อย่างตลาดหุ้นไทยมีหุ้นหลายร้อยตัวจะมีไม่กี่ตัวที่ทำได้ และถ้าใครถือหุ้นตัวนั้นไว้ยาวนานในปริมาณมาก เขาอาจรวยไปเลย ถ้าเป็นในต่างประเทศอาจเป็นระดับหุ้นโค้กหรือวอลมาร์ท ในตลาดหุ้นไทยผมไม่ได้ศึกษาดู อาจเป็นหุ้นแบบปูนใหญ่ก็ได้

ถ้าคิดว่าตลาดหลักทรัพย์ เหมือนหุ้นตัวหนึ่ง โดยดัชนีตลาดหุ้นคือราคาหุ้น จะพบว่า “หุ้นตลาด” นั้น เมื่อเข้ามาซื้อขายในวันแรกประมาณเดือนเม.ย.2518 มีราคาเท่ากับ 100 บาทต่อหุ้น พอถึงวันที่ 23 ส.ค. 2556 คิดเป็นเวลาประมาณ 38 ปี 4 เดือน ราคาหรือดัชนีขึ้นมาเป็น 1338 บาทต่อหุ้น นี่เท่ากับว่าผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของราคาเท่ากับประมาณ 7% ต่อปีแบบทบต้น

นอกจากนั้น ผู้ถือหุ้นตลาดยังได้ปันผลแต่ละปีประมาณ 3% ดังนั้นเท่ากับว่าคนลงทุนถือ “หุ้นตลาด” ในระยะยาว ได้ผลตอบแทนประมาณปีละ 10% โดยเฉลี่ยแบบทบต้น ต้องถือว่าเป็นผลตอบแทนดีเยี่ยม และน่าจะเหนือกว่าการลงทุนหลักอย่างอื่น ไม่ว่าจะฝากเงิน ซื้อหุ้นกู้หรือพันธบัตรรัฐบาล หรือแม้แต่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ไม่ต้องพูดถึงทองหรือการลงทุน “ทางเลือก” อื่น ๆ

ว่าที่จริง ตลาดหุ้นไทยนั้นต้องถือว่าเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนระยะยาวที่ดีใกล้เคียงกับตลาดหุ้นในสหรัฐ และดีกว่าตลาดหุ้นจำนวนมากในโลก ผมเองไม่รู้ว่าตอนเริ่มมีการซื้อขาย “หุ้นตลาด” ในปีแรกนั้น อัตราจ่ายปันผลเป็นเท่าไร แต่ถ้าให้คาดเดาคิดว่าอาจประมาณปีละ 3% และถ้าเป็นอย่างนั้นสามารถจะพูดต่อได้ว่าอัตราเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนต่อปี โดยเฉลี่ยในช่วง 38 ปีที่ผ่านมาก็คือ 7% ต่อปี

ในกรณีผลตอบแทน “ระยะสั้น” หรือ “ระยะกลาง” ตั้งแต่หนึ่งปีหรือหลายๆ ปีจนถึง 10 ปีหรืออาจจะ 20 ปีนั้น เราจะต้องเพิ่มตัวเลขอีกตัวหนึ่งเข้าไปในสูตรหาผลตอบแทนระยะยาว ตัวเลขนั้นคือ การเปลี่ยนแปลงของค่า PE หรือราคาเมื่อเทียบกำไรต่อหุ้น ในกรณีที่ค่า PE ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมผลตอบแทนจากการลงทุนเหมือนกับกรณีลงทุนระยะยาว เช่น ปันผลปีแรก 3% และกำไรโต 12% ผลตอบแทนทั้งปีเท่ากับ 15%

แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง เช่น ค่า PE เดิมของหุ้นเมื่อซื้อหุ้นเท่ากับ 10 เท่า แต่ในวันที่ขายหุ้นหลังจากถือหุ้นมา 1 ปีเท่ากับ 20 เท่า แบบนี้ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นไปอีกประมาณหนึ่งเท่าตัวหรือเท่ากับเราได้กำไรเพิ่มขึ้น 100% เมื่อบวกกับผลตอบแทนจากปันผล 3% และผลตอบแทนจากการเติบโตของกำไรอีก 12% กลายเป็นว่าผลตอบแทนในระยะเวลา 1 ปีของบริษัทนี้คือ 115%

แต่ถ้าสมมุติการเปลี่ยนแปลงของค่า PE นี้ เกิดขึ้นในปีที่ 2 แทนที่จะเป็นปีแรก ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น 100% นั้นจะต้องแบ่งออกเป็น 2 ปี หรือเท่ากับกำไรต่อปีที่เพิ่มขึ้น 50% เมื่อรวมกับผลตอบแทนจากปันผลเริ่มแรกที่ 3% และอัตราเติบโตที่ 12% เท่ากับว่าผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของหุ้นตัวนี้คือประมาณ 65% ยิ่งระยะเวลาลงทุนยาวมาก ผลกระทบจากการปรับค่า PE จะน้อยลงเรื่อยๆ จนในที่สุดแทบไม่มีผล

การเปลี่ยนแปลงของ PE มักเกิดขึ้นจากมุมมองต่อหุ้นเปลี่ยนไป ถ้านักลงทุนมองบริษัทมีพื้นฐานดีขึ้น อนาคตจะมีกำไรโตเร็วขึ้น เนื่องจากเหตุผลอะไรก็ตาม เขาจะเข้ามาลงทุนหรือยอมจ่ายมากขึ้น ในการเข้ามาซื้อหุ้นหรือมาเป็นเจ้าของหุ้น ผลคือราคาหุ้นวิ่งขึ้นไป ทั้งที่กำไรในระยะสั้น อาจยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก นี่ทำให้ค่า PE ปรับตัวสูงขึ้น

ตรงกันข้าม ถ้านักลงทุนมองพื้นฐานบริษัทแย่ลง อนาคตเติบโตจะช้าลงหรืออาจติดลบ เขาจะขายหุ้นทิ้งหรือจะซื้อแต่ต้องในราคาต่ำลง ผลคือราคาหุ้นตกลงมา ค่า PE ก็จะลดลง และกรณีหลังนี้ ผลตอบแทนการลงทุนระยะสั้นหรือระยะกลางก็จะปรับลง

จากตัวอย่างเดิมถ้าค่า PE ลดลงจาก 10 เท่า เหลือ 9 เท่า ทำให้ราคาหุ้นหายไป 1 เท่าของกำไรต่อหุ้นที่ 12% ดังนั้น ผลตอบแทนคาดว่าจะได้ 15% ต่อปีเหลือแค่ 3% ต่อปี ทั้งที่กำไรในปีแรกยังโต 12% อยู่

จากเหตุผลทั้งหมดข้างต้น จะเห็นว่าในระยะสั้น ผลตอบแทนจากการลงทุนส่วนใหญ่ ขึ้นอยู่กับมุมมองหรือความเห็นของนักลงทุนต่อตัวหุ้นว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร มากกว่าข้อเท็จจริงว่าผลประกอบการจะเป็นอย่างไร หรือบริษัทจ่ายปันผลปีแรกมากน้อยแค่ไหน เพราะผลตอบแทนนั้นมักถูกกระทบจากการปรับค่าของ PE ค่อนข้างมาก แต่ในระยะยาวแล้ว ผลตอบแทนการลงทุนมักขึ้นอยู่กับผลประกอบการที่เกิดขึ้นจริงต่อเนื่องนานในอัตราค่อนข้างสูง บวกอัตราจ่ายปันผลเมื่อเทียบราคาหุ้นหรือ Dividend Yield ปีแรก

สำหรับ VI แล้ว การเลือกลงทุนหุ้นตัวไหนนั้น คิดว่าควรคาดการณ์ “ผลตอบแทนระยะยาว” เป็นหลัก ค่าอัตราปันผลต่อราคาหุ้นหรือ Dividend Yield ปีแรกนั้น น่าจะคาดการณ์ได้ไม่ยากนัก เนื่องจากคาดการณ์กำไรในระยะเวลาเพียงปีเดียว รวมถึงการจ่ายปันผลนั้นโอกาสผิดพลาดรุนแรงคงไม่สูง ตัวเลขยากกว่ามากคืออัตราเติบโตของกำไรหรือปันผลในระยะยาว ซึ่งอาจมองไปข้างหน้าอย่างน้อย 5-10 ปีขึ้นไป

การประมาณมากกว่าปีละ 15% ต่อปี ต้องมีเหตุผลหนักแน่นจริงๆ เพราะหมายถึงบริษัทเป็น “ซูเปอร์สต็อก”จริง ๆ เมื่อได้ตัวเลขสองตัวนี้ก็จะรู้ว่าผลตอบแทนที่คาดหวังสำหรับการลงทุนในหุ้นตัวนั้นคือเท่าไร ถ้าพบว่าหุ้นตัวหนึ่งกำไรน่าจะโตเกิน 10% ต่อปีแบบทบต้นในระยะยาว นี่ก็เพียงพอในขั้นต้นแล้วว่า อาจเป็นหุ้นน่าสนใจลงทุน โดยไม่ต้องคิดถึงอัตราปันผลตอบแทนในปีแรก

อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจลงทุน ตัวเลขค่า PE ของหุ้นเป็นสิ่งที่สำคัญเท่ากัน เพราะเราอาจจะไม่ได้ลงทุนในระยะเวลาที่ยาวมากขนาดเป็นสิบๆ ปีขึ้นไป ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงค่าของ PE จึงอาจกระทบกับผลตอบแทนการลงทุนได้ซึ่งในบางครั้งค่อนข้างมาก

วิธีลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนที่ดีคือถ้าค่า PE วันนี้ที่ซื้อมีค่าค่อนข้างต่ำ เช่นไม่เกิน 10 เท่า โอกาสที่ค่า PE จะปรับขึ้นมีมากกว่า จะทำให้ผลตอบแทนต่อปีดีขึ้น ถ้าค่า PE อยู่ช่วงกลางๆ เช่น 13-14 เท่า อาจมองว่าผลตอบแทนคงประมาณที่คำนวณได้ต่อปีในระยะยาว แต่ถ้าค่า PE ค่อนข้างสูงเช่น 20 เท่า ขึ้นไป ต้องระวังว่าโอกาสค่า PE ในอนาคต อาจปรับตัวลงได้ เพราะมุมมองของนักลงทุนต่อหุ้นในอนาคต อาจเปลี่ยนไปได้และนั่นทำให้ผลตอบแทนลดลง

แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน ผลกระทบของ PE จะน้อยลงถ้าเราถือหุ้นยาวขึ้น ดังนั้น สำหรับนักลงทุนระยะยาว สิ่งที่สำคัญที่สุดน่าจะยังเป็นอัตราเจริญเติบโตในระยะยาวของบริษัท


บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2556

No comments:

Post a Comment