Saturday, November 9, 2013

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ผมอยากมีลูกมากๆ ซัก 6 คนถ้าเป็นไปได้ เขาจะได้เลี้ยงเราในยามแก่เฒ่า ถ้ามีลูกน้อยแล้วเขาเกิดตายไปด้วยเราจะลำบาก

ดูซิอันตรายเวลาขับมอเตอร์ไซค์บนท้องถนน หรือบางทีอาจจะเป็นโรคตายก่อนวัยอันควร มีลูกมากก็มีความสุข

นั่นเป็นคำพูดของไกด์หนุ่มเวียดนามอายุ 24-25 ปี ที่พูดไทยคล่องแคล่ว เขาเป็นชายหนุ่มดูทันสมัย แต่งตัวและทำผมแบบวัยรุ่นสไตล์เด็กแนวของไทย เขาเป็นคนนำทางร่วมไปกับกลุ่มนักลงทุนไทยที่ไปท่องเที่ยว และชมตลาดหุ้นโฮจิมินห์ ของเวียดนาม และพบปะกับบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ซึ่งจัดโดยมันนีแชนเนล ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผมเป็นสมาชิกคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสไปด้วย และต่อไปนี้คือข้อสังเกตของผมเกี่ยวกับตลาดหุ้นเวียดนามและอนาคตของการลงทุนในประเทศนั้น

ความน่าทึ่งของเวียดนาม สำหรับผมคือ ประเทศนี้กำลังมีวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจคล้ายๆ กับไทย เมื่อสมัยที่ผมยังเป็นวัยรุ่นเป็นเวลา 40 ปีมาแล้ว เพียงแต่อาจจะแรงกว่ามาก เพราะเวียดนาม ขณะนี้มีประชากรกว่า 90 ล้านคน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังเป็นหนุ่มสาวอายุพอๆ กับไกด์หนุ่ม ประเด็นคือ ประชากรของเวียดนามในอนาคต จะเพิ่มขึ้นไปอีกมากทีเดียว อนุมานจากความคิดและความต้องการของไกด์ที่อยากมีลูกมาก และยังมองว่าการมีลูกมาก เป็นเสมือนการลงทุนอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้ตนเองสบายในยามแก่เฒ่า ซึ่งเป็นความคิดของคนในยุคพ่อแม่ผม การมีประชากรที่เป็นคนอายุน้อยมากมายในปัจจุบันและต่อไปอีกในอนาคต ถือเป็นแต้มต่อที่สำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียและที่อื่นๆ ทั่วโลก

ผมถามเขาว่ารับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูไหวหรือ? รัฐบาลให้เรียนฟรีหรือเปล่า? คำตอบก็คือ ทุกอย่างคนเวียดนามต้องออกเอง การเรียนโดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยแพงมาก น่าจะมีคนเวียดนามเพียง 10-15% ที่เรียนถึงระดับวิทยาลัย ผมนึกดูแล้วก็คล้ายๆ กับเมืองไทยหลายสิบปีก่อนที่ ไม่มีอะไรฟรีหรือที่รัฐบาลออกให้ แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่มีลูกไม่น้อยกว่า 5-6 คน ก็เลี้ยงดูและให้การศึกษาตามอัตภาพ ลูกคนที่เรียนดีบางคน ได้รับการศึกษาถึงระดับวิทยาลัย ส่วนคนที่ ไม่ได้เรียน ก็ออกไปทำงานเป็นช่าง เป็นคนงานโรงงาน และอื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้ความรู้ระดับมหาวิทยาลัย

งานของคนเหล่านี้ แม้จะไม่ได้ทำรายได้มากเพราะค่าแรงต่ำ แต่ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ อานิสงส์จากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีนไต้หวัน และนั่นช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตมาโดยตลอด และบังเอิญ นี่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวียดนามที่นักลงทุนใหญ่ในปัจจุบันก็คือ ไต้หวันและญี่ปุ่น

คนเวียดนามในเวลานี้ ต้องถือว่ายังยากจนเหมือนเมืองไทย 40 ปีก่อน พวกเขายังบริโภคสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันเป็นหลัก แม้โฮจิมินห์จะมีร้านแบรนด์เนมหรูจากต่างประเทศที่ดังๆ เกือบทุกยี่ห้อ แต่จำนวนร้านมีไม่มาก และคนที่เข้าร้าน ส่วนใหญ่ เป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเวียดนาม และคนที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศหยิบมือเดียว สินค้าที่ต้องใช้เงินมากเช่น บ้านจัดสรร หรือรถยนต์ที่มีราคาขายพอๆ กับเมืองไทย ยังคงมียอดขายน้อยกว่าเมืองไทยมาก เหตุผลนอกจากความมั่งคั่งแล้วคือ ระบบการซื้อเงินผ่อนยังไม่เกิดขึ้น คนชั้นกลางต้องค่อยๆ เก็บสะสมเงินจนได้เป็นล้านบาทขึ้นไปถึงจะมีปัญญาซื้อบ้านหรือรถได้ ซึ่งนี่ทำให้การบริโภคน้อยลงไปมากเทียบกับเศรษฐกิจที่มีระบบนี้ เรื่องสินค้าเงินผ่อนนี่ก็เช่นกัน

ก่อนหน้าที่เมืองไทยจะมีระบบนี้แพร่หลาย ผมจำได้ว่าการซื้อบ้าน หรือการมีรถยนต์ เป็นเรื่อง ไกลเกินเอื้อม ในช่วงที่ผมเพิ่งทำงานหลังจบปริญญาตรีใหม่ๆ สิ่งที่คนเวียดนามมีกำลังซื้อค่อนข้างมากขณะนี้คือมอเตอร์ไซค์ ที่มีอยู่เต็มท้องถนนและทำให้รถยนต์ต้องแล่นช้ากว่าปกติมาก ชั่วโมงละ 20 กิโลเมตรในเมือง และ 30-40 ก.ม. นอกเมือง ทำให้ประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ต่ำมาก การเดินทาง 100 ก.ม. ออกไปยังเมืองท่า หรือเมืองตากอากาศใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง

ปัญหาที่ฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจโตได้เร็วไปกว่าปีละ 6-7% ที่เป็นอยู่นั้น ในความเห็นของผม อยู่ที่ระบบความคิด และการปกครองของรัฐบาล ที่ติดอยู่กับระบบสังคมนิยมที่รัฐควบคุมอยู่พอสมควร ความไม่แน่นอนของแนวทางการควบคุมระบบการเงินซึ่งทำให้ตลาดการเงินไม่มีเสถียรภาพ เห็นได้จากเงินเฟ้อที่สูงลิ่ว 7-8% ต่อปี และอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินด่องกับเงินดอลลาร์ผันผวนมาก และลดลงมาต่อเนื่องหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นหรือตราสารการเงินขาดทุน ทั้งๆ ที่ราคาหุ้นอาจสูงขึ้นในแง่ของเงินด่อง

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจเวียดนาม ก็ยังร้อนแรงในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา และแล้ว ระเบิด ขึ้นในช่วงปีสองปีนี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลงอย่างหนัก เศรษฐกิจมหภาคดูไม่ดี เพราะขาดดุลการค้าสูงและเงินทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์ต่ำ เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวลงอย่างแรง ดัชนีหุ้นลดลงมามาก สำหรับคนเวียดนาม ดูเหมือนนี่จะเป็นวิกฤติ แต่สำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุน อาจเป็นโอกาสที่หาได้ไม่ง่ายนัก

ประการแรกคือ เงินเฟ้อดูเหมือนจะลดลงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้มากขึ้น อานิสงส์จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีเสถียรภาพขึ้น ซึ่งต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อค่าเงินด่องลดลงมามาก จะลดกันลงไปได้อีกแค่ไหน! เช่นเดียวกัน ดัชนีหุ้นลดลงมามาก และคนเล่นหุ้นในเวียดนาม ซึ่งมีจำนวนเป็นล้านคน และมากกว่านักลงทุนรายย่อยในบ้านเรา ต่าง เลิกเล่น เพราะขาดทุนหนัก ที่จริง Market Cap. หรือมูลค่าตลาดหุ้นของโฮจิมินห์ลดลงเหลือน้อยมาก ประมาณ 400,000 ล้านบาท หรือ 3-4% ของตลาดหลักทรัพย์ไทย

ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจเวียดนาม เท่ากับ 30-40% ของไทย โอกาสที่ตลาดหุ้นเวียดนามจะโตขึ้นจึงน่าจะมีมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นคือเมื่อเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นจากภาวะ วิกฤติ เล็กๆ ในช่วงนี้ ระยะยาวคือ เมื่อเศรษฐกิจเวียดนามมีการพัฒนาขึ้นตามศักยภาพที่ควรเป็นของประเทศ ที่มีทรัพยากรมากประกอบกับการที่มีประชากรสูง คนเวียดนามเอง จากการสำรวจขององค์กรระหว่างประเทศพบว่า เป็นคนที่มีระดับ IQ สูงระดับต้นๆ ของเอเชีย เมื่อระบบการปกครองและบริหารเศรษฐกิจของประเทศลงตัวแล้ว ประเทศควรจะก้าวหน้าและเติบโตต่อไปได้มาก แน่นอน มูลค่าของบริษัทจดทะเบียนต้องสูงขึ้นตาม

ผมคิดว่า ตลาดหุ้นโฮจิมินห์ น่าสนใจมาก ด้วยเหตุผลที่กล่าวแล้ว อุปสรรคการลงทุนก็ยังมีอยู่มาก ข้อแรกคือ ความน่าเชื่อถือของการบริหารงานของบริษัทรวมถึงระบบบัญชีต่างๆ ที่อาจจะยังไม่ได้มาตรฐาน ว่าที่จริง ก.ล.ต. เวียดนามเพิ่งตั้งขึ้น เข้าใจว่าปีที่แล้วนี่เอง อีกข้อหนึ่งคือ บริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะถือหุ้นและควบคุมโดยรัฐที่มีผลประกอบการดี ดูเหมือนว่า จะถูกต่างชาติซื้อจนเต็มเพดาน ถ้าเราต้องการ ต้องซื้อเป็นล็อต และจ่ายราคาพรีเมียมอย่างน้อย 20% และราคาหุ้นก็ไม่ถูก สุดท้ายคือ ข้อจำกัดของแบงก์ชาติของไทย ที่ไม่อนุญาตให้คนไทยเอาเงินออกไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม อาจดูว่า อันตราย สำหรับประเด็นหลังนี้ ผมก็รู้สึกประหลาดใจมากว่า ทำไมเจ้าหน้าที่จึงต้องห่วงแทนผมซึ่งเป็นเจ้าของเงิน?


บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556

No comments:

Post a Comment