Saturday, November 9, 2013

หุ้นน่ากลัว

การลงทุนในตลาดหุ้นมานานมาก ได้เห็นเหตุการณ์และพฤติกรรมต่างๆ ของผู้บริหารจำนวนมากในตลาด ทำให้ผมพบความ “ไม่โปร่งใส”ในการบริหารงานบริษัทจำนวนมาก บางเรื่องเป็น “ความจำเป็น” ทางธุรกิจ บางเรื่องเป็นการกระทำของผู้บริหารที่เอาเปรียบหรือโกงบริษัท บริษัทที่มีอาการหรือพฤติกรรมเหล่านี้มักจะมีลักษณะหรือโครงสร้างของการทำธุรกิจที่ “เอื้ออำนวย” ให้เกิดการโกงได้ง่าย

การโกงนั้นบางทีทำให้บริษัทถึงกับล้มละลาย แต่ส่วนใหญ่แล้วทำให้ผลประกอบการไม่ดีหรือลุ่มๆ ดอนๆ ดังนั้น สำหรับผมแล้ว การลงทุนในหุ้นเหล่านี้จึงเป็นเรื่อง “น่ากลัว” ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ถ้าหุ้นไม่ถูกจริงหรือมีประเด็นน่าสนใจจริงๆ แล้ว ผมจะไม่ลงทุน และต่อไปนี้คือบางส่วนของหุ้นที่ผมคิดว่า “น่ากลัว”

หุ้นกลุ่มแรก คือหุ้นของบริษัทที่รับงานจากหน่วยงานของรัฐ เช่น งานรับเหมาก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เหตุผลก็เพราะว่างานเหล่านี้มักจะต้องมี “รายจ่ายพิเศษ” ที่คาดการณ์ไม่ได้ รายจ่ายนี้คือรายจ่ายบริษัทต้องจ่ายเพื่อให้ “ได้งานและเพื่อที่จะสามารถส่งมอบงานอย่างไม่ติดขัด” จริงอยู่บริษัทมักจะรวมค่าใช้จ่ายนี้ไว้แล้วเวลาเสนอราคา แต่การเปลี่ยนแปลงระหว่างที่กำลังทำงานเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้บริษัทขาดทุนได้

นอกจากนั้น บริษัทมีรายจ่ายพิเศษที่ต้องจ่ายออกไปให้คนอื่นโดย“ไม่มีใบเสร็จ”อยู่แล้ว การที่บริษัทจะจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้ผู้บริหารหรือคนที่ทำเรื่องจ่ายจึงเป็นเรื่องง่ายและตรวจสอบไม่ได้ ผลคือกำไรบริษัทอาจไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่ารายจ่ายพิเศษจะมีมากน้อยแค่ไหน และนี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายบริษัทที่มียอดขายมากมาย แต่กลับไม่มีกำไรอยู่บ่อย ๆ

หุ้นกลุ่มที่สองที่ “น่ากลัว” คือบริษัทที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์ผ่านดีลเลอร์รายใหญ่ ๆ หรือตัวแทนที่ผู้บริหารเป็นเจ้าของ ประเด็นก็คือ ผลิตภัณฑ์ของบริษัท มักมียอดขายสูงมาก แต่มีมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายต่ำ

หากผู้บริหารต้องการทำกำไรให้ตนเองสูงสุด เขาสามารถลดราคาขายให้ดีลเลอร์ที่เป็นบริษัทส่วนตัว อาจเป็นเปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อย แต่เขาจะได้เงินมาก และนั่นทำให้บริษัทเสียหาย กำไรน้อยลงหรือไม่ได้กำไรเลย ดังนั้น การลงทุนในหุ้นแบบนี้ นักลงทุนจึงคาดผลประกอบการได้ยาก และมีโอกาสเสียหายหนัก ถ้าเจ้าของหรือผู้บริหารไม่โปร่งใส

หุ้นกลุ่มที่สามที่รู้สึกไม่สบายใจ และกลัวว่าผู้บริหารอาจจะไม่โปร่งใส คือบริษัทที่ซื้อกิจการหรือทรัพย์สินขนาดใหญ่ จากบริษัทหรือคนที่ “ตรวจสอบไม่ได้” หรือเป็นคนที่ไม่น่าเชื่อถือพอ ประเด็นคือ ราคาที่จ่ายไปอาจจะสูงเกินไปมาก หรือกิจการมีคุณสมบัติแย่หรือกำลังย่ำแย่ลง

แต่เหตุผลที่ซื้อราคาแพงนั้น อาจเป็นเพราะซื้อแล้วมี “เงินทอน” ให้กับผู้บริหารจากคนที่ขาย ซึ่งตรวจสอบไม่ได้ เนื่องจากเป็นบริษัทเอกชนหรือเป็นบุคคลธรรมดา กรณีแบบนี้ในที่สุดแล้ว บริษัทจะเสียหายเนื่องจากกิจการหรือทรัพย์สินที่ซื้อมา ไม่สร้างผลตอบแทนที่ดีคุ้มค่ากับเงินที่บริษัทจ่ายไป

หุ้นกลุ่มที่สี่ที่รู้สึกกลัวตลอดเวลา ถ้าต้องถือหุ้นไว้ คือหุ้นของบริษัทมีลูกหนี้มาก เมื่อเทียบกับยอดขายหรือขนาดทรัพย์สินหรือขนาดของเงินทุนของบริษัท โดยเฉพาะถ้าลูกหนี้นั้นไม่ได้เป็นบริษัทหรือกิจการที่มีขนาดใหญ่มีเรทติ้งดีมาก เหตุผลคือ ลูกหนี้นั้นอาจจะเบี้ยวหนี้หรือกลายเป็นหนี้เสียและทำให้บริษัทเสียหายหนัก บางครั้งอาจจะล้มละลายได้

การที่ลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสีย อาจมีได้หลายสาเหตุซึ่งรวมถึงภาวะทางเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมตกต่ำลงอย่างหนัก หรือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้บางรายที่เป็นลูกค้ารายใหญ่มาก หรือในกรณีเลวร้ายสุด คือเป็นลูกหนี้ที่เป็นกิจการของผู้บริหาร ที่ตั้งขึ้นเพื่อจะ“โกงบริษัท”ตั้งแต่แรกก็เป็นไปได้

หุ้นกลุ่มที่ห้าที่ไม่ใช่เรื่องของการโกง แต่เป็นบริษัทที่มีหนี้มาก ขณะที่กิจการมีความไม่แน่นอนของผลประกอบการสูง เนื่องจากเป็นกิจการที่ขายสินค้าเป็นวัฏจักร หรือสินค้ามีความเป็นโภคภัณฑ์สูง ประเด็นคือยามเกิดความยากลำบากขึ้น บริษัทอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทำให้บริษัทมีปัญหาทางการเงินหนัก บางทีอาจถึงกับล้มละลายได้ หรือกรณีอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นมาก ผลกำไรบริษัทอาจถูกกระทบอย่างมีนัยสำคัญได้

หุ้นกลุ่มที่หกที่บ่อยครั้งคนในวงการนักเล่นหุ้นชอบมาก เพราะเป็นหุ้นกลุ่มที่อาจจะให้ผลตอบแทนในระยะสั้นหวือหวา แต่สำหรับผมที่เน้นลงทุนในพื้นฐานและเป็นการลงทุนระยะยาวแล้ว กลับเป็นหุ้นที่น่ากลัว เนื่องจากไม่ใคร่เชื่อว่าเป็นสิ่งดี หลายครั้งรู้สึกด้วยว่าเป็น “เกมปั่นหุ้น” ที่อาจจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวได้มาก และทำให้คนที่รู้ขายทำกำไรไปก่อน แล้วทิ้งให้คนที่มาทีหลัง หรือคนไม่รู้รับความเสี่ยงไป และนี่คือหุ้นบริษัทที่มี “วิศวกรรมการเงิน” หรือการ “ปรับโครงสร้าง” ใหญ่ ๆ ของบริษัทตลอดเวลา โดยที่ผลิตภัณฑ์หรือการดำเนินการหลักของบริษัทไม่ได้เปลี่ยนอะไรที่สำคัญและไม่ใช่ธุรกิจดีเลิศอะไรนัก

บริษัทน่ากลัวในกลุ่มที่หก เช่น บริษัทที่เปลี่ยนแปลงหรือมีธุรกิจใหม่ ที่มีนัยสำคัญสูงอยู่เรื่อยๆ บางทีนอกจากธุรกิจใหม่ ชื่อของบริษัทถูกเปลี่ยนไปตามแนวของธุรกิจใหม่ จนจำไม่ได้ว่าเดิมบริษัทชื่ออะไร ความน่ากลัวอยู่ที่ธุรกิจใหม่นั้น อาจไม่ดีทำให้ผลประกอบการเลวลง เนื่องจากบริษัทอาจไม่มีความสามารถหรือประสบการณ์พอในการทำงาน เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าของเดิมบริษัททำไม่ได้ดีอยู่แล้ว ของใหม่จะทำได้เหนือกว่าคู่แข่งได้อย่างไร!

นอกจากเรื่องของการเปลี่ยนธุรกิจไปเรื่อยๆ แล้ว บริษัท “ใช้เครื่องมือทางการเงิน” พร่ำเพรื่อ โดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ เป็นสิ่งที่มักกลัว เช่น การแตกพาร์จาก 1 บาทเหลือ 25 สตางค์ เพื่อ “เพิ่มสภาพคล่อง” ของหุ้น ทั้งที่ราคาหุ้นไม่ถึง 10 บาทอยู่แล้ว หรือการออกวอร์แรนท์แจกให้ผู้ถือหุ้นมากมายหลายชุดต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนวอร์แรนท์มีสัดส่วนอาจเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งบริษัท แบบนี้ถือว่าไม่สมเหตุผล

ประเด็นคือผมคิดว่าผู้บริหารเน้นการ “บริหารหุ้น” มากกว่าบริหารกิจการ ดังนั้นการเข้าไปซื้อหุ้นมีคนบริหารนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะอาจเข้าไปซื้อที่ราคาแพงเกินไปมากได้

หุ้นกลุ่มสุดท้ายที่จะพูดถึง คือหุ้นที่ “กินก่อน จ่ายทีหลัง” เช่น สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กิจการธุรกิจ สถาบันการเงินปล่อยกู้เพื่อซื้อสินค้าหรือบริการแบบเงินผ่อน บริษัทประกันภัย เป็นต้น บริษัทเหล่านี้เมื่อขายบริการหรือผลิตภัณฑ์ตน พวกเขาจะกำไรทันทีในระยะสั้น แต่ต้นทุนที่จะเกิดในอนาคตยังไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับลูกค้าหรือเหตุการณ์ในอนาคตว่าบริษัทจะได้รับเงินคืนหรือไม่

แต่โดยธรรมชาติของคนคือ เราอยาก “กินก่อน” อนาคตไม่แน่นอนอย่าไปคิดมาก เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าลูกค้าเสีย เจ้านายอาจลืมไปแล้วว่าใครเป็นคนทำ ดังนั้น สำหรับธุรกิจแบบนี้เป็นสิ่งน่ากลัว เพราะอาจคิดว่าบริษัทกำลังโต กำลังดีขึ้น ทั้งที่อาจจะไม่จริงเพราะในที่สุดบริษัทอาจต้อง “จ่ายหนักทีหลัง” นั่นคือบริษัทเสียหายอย่างหนัก

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหุ้นที่น่ากลัว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะลงทุนไม่ได้ เพียงแต่ว่าเราจะต้อง Discount หรือลดมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นลง นั่นคือหุ้นจะต้องมีราคาต่ำพอที่จะคุ้มสำหรับการลงทุน

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556

No comments:

Post a Comment