ตัวเลขที่นักเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ติดตามมากที่สุดตัวหนึ่ง นอกจากดัชนีหุ้น คือ ข้อมูลการซื้อขายหุ้นของต่างชาติประจำวัน ซึ่งนักวิเคราะห์หุ้น ก็มักจะคอยดูว่าต่างชาติกำลังขาย หรือกำลังซื้อหุ้นสุทธิอยู่ และอาจจะนำไปพยากรณ์ว่า วันพรุ่งนี้หุ้นจะขึ้นหรือหุ้นจะลง เหตุผลคือ คนที่อยู่ในวงการหุ้นแทบทุกคนต่าง เชื่อว่า ถ้าต่างชาติซื้อ หุ้นก็จะขึ้น และถ้าพวกเขาขายหุ้นก็จะลง อิทธิพลของต่างชาติค่อนข้างสูง เพราะพวกเขามักเข้ามาซื้อหรือขายพร้อมๆ กันในหุ้นตัวใหญ่ ที่มีผลต่อดัชนีสูง
ถ้ารู้ว่าพวกเขาจะเข้ามาซื้อ หุ้นก็จะขึ้น นักลงทุนไทยก็จะเข้าไปซื้อด้วย เพื่อ "เกาะกระแส" การลงทุนของต่างชาติ ตรงกันข้าม ถ้า "ฝรั่ง" ขายเราก็ต้อง "โกย" แต่ประเด็นคือ เราจะเล่นหุ้น หรือลงทุนตาม "Fund Flow" หรือการเข้ามาซื้อขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติได้หรือไม่? และต่อไปนี้คือความเห็นของผมเกี่ยวกับเรื่องของ Fund Flow ซึ่งไม่จำกัดอยู่ที่การไหลเข้าตลาดหุ้นของ "เงินฝรั่ง" หรือ "เงินไทย"
ข้อสังเกตเรื่องแรกคือ ผมไม่แน่ใจว่า การซื้อหรือขายหุ้นสุทธิของต่างชาติประจำวัน ถ้าดูตามสถิติแล้ว มีผลต่อดัชนีหุ้นไทยจริงๆ หรือไม่ ผมเคยศึกษาเรื่องนี้นานมาแล้ว ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ยังเล็ก และยังไม่เป็นที่นิยมของคนไทยมากนัก ย้อนหลังไปน่าจะไม่ต่ำกว่า 20 ปี ครั้งนั้นผมจำได้ว่า ตัวเลขออกมาชัดเจน โดยบอกได้ว่า ถ้าต่างชาติซื้อสุทธิ 1,000 ล้านบาท ดัชนีขึ้นไป 7 จุด
แต่ช่วงหลัง ถ้าจะให้เดา คิดว่าไม่มีผลแล้วในยามที่คนไทย โดยเฉพาะนักลงทุนส่วนบุคคลซื้อขายหุ้นในปริมาณที่มากล้น บางช่วงที่ต่างชาติซื้อสุทธิในปริมาณที่มากเป็น 2-3,000 ล้านบาทต่อวันขึ้นไป เราอาจเห็นดัชนีปรับตัวขึ้นโดดเด่นเป็นเลขสองหลัก แต่ถ้าพวกเขาซื้อหรือขายสุทธิเพียงเล็กน้อยไม่เกิน 5-600 ล้านบาทต่อวัน
ผลที่มีต่อดัชนีอาจจะไม่ชัด ถ้าเป็นแบบนี้ การซื้อขายหุ้นสุทธิของต่างชาติ จึงอาจจะไม่มีผลอะไรเลย ยกเว้นเป็นการซื้อ หรือขายสุทธิในปริมาณที่มากกว่าปกติ เช่น เกินหนึ่งพันล้านบาทต่อวันขึ้นไป
ประเด็นที่สองคือ ถ้าต่างชาติซื้อสุทธิมาก และหุ้นจะขึ้นเป็นเรื่องจริง เราอาจไม่สามารถทำเงินจากการซื้อขายหุ้นได้ ถ้าเราไม่ได้ซื้อหุ้นไว้ก่อน การที่เราจะเข้าไปซื้อหุ้นหลังจากที่เห็นข้อมูลการซื้อขายหุ้นประจำวันแล้ว กลับจะเป็นการเข้าไปซื้อหุ้นในราคาที่สูงขึ้นไปแล้ว ผลคือ เราอาจขาดทุนได้ การซื้อขายหุ้นโดยอิงกับข้อมูลการซื้อขายหุ้นของต่างชาติประจำวัน จึงไม่มีประโยชน์ ถ้าเราไม่รู้ว่า เขายังจะซื้อหุ้นสุทธิ หรือขายหุ้นสุทธิมากๆ อีกหรือเปล่าในวันพรุ่งนี้หรือวันต่อๆ ไป
ข้อถกเถียงของคนที่เชื่อในการเล่นหุ้นตาม Fund Flow ของต่างชาติ คือ เราสามารถคาดการณ์ "การเคลื่อนย้ายของเงินต่างชาติ" ได้ และการเคลื่อนย้ายนี้ จะมาเป็นระลอก ไม่ใช่มาวันเดียวจบ ถ้าเราเห็นเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาซื้อหรือขายหุ้นหนักๆ ติดต่อกันหลายวัน เราน่าจะบอกได้ว่า แนวโน้มจะยังเป็นเช่นนั้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง และการเล่นหุ้นตามกระแสเงินไหลเข้าออกของต่างชาติ จะทำให้เราทำกำไรได้
เหตุผลในเชิงการเงินและเศรษฐกิจประกอบอีกมาก เช่นช่วงนี้พูดถึง "การผ่อนคลายเชิงปริมาณ" ของสหรัฐหรือ QE ว่าจะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายของกระแสเงินกันอย่างไร ผมคิดว่าการพยากรณ์ Fund Flow เป็นเรื่องยาก แม้จะพยากรณ์ได้ถูกต้อง แต่อาจจะไม่มีประโยชน์ ถ้าคนอื่นหรือคนส่วนใหญ่พยากรณ์ได้ถูกต้อง
ตัวอย่างเช่น QE ทุกคนรู้ว่า ในที่สุดธนาคารกลางสหรัฐ ต้องลดอยู่ดี แต่วันที่ประกาศลด เงินลงทุนต่างชาติที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยอาจไม่ได้ไหลออกก็ได้ เหตุผลเพราะนักลงทุนที่กลัวเรื่องนี้ ต่างถอนตัวออกไปหมดก่อนหน้านี้แล้ว เพราะเขาคาดว่าการทำ QE ต้องลดลงในที่สุด เขาจึง "หนี" ก่อน
สิ่งที่ผมสนใจเกี่ยวกับเรื่อง "Fund Flow" จริงๆ อยู่ที่กระแสเงินที่ไหลเข้าตลาดหุ้นในระยะยาว โดยเฉพาะคนในประเทศ เหตุผลเพราะว่า การเคลื่อนย้ายเงินจากสถาบันการเงิน หรือจากที่ไหนก็ตาม เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ในขณะที่จำนวนหุ้นจดทะเบียนเพิ่มขึ้นน้อยมาก จะเป็นพลังที่สำคัญในการผลักดันราคาหุ้นให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องยาวนาน พูดง่ายๆ ความต้องการหรือ Demand ของหุ้นมีมาก แต่ Supply หรือจำนวนหุ้นที่มีไว้ขายมีน้อย หุ้นก็ขึ้น
ในช่วงเวลาหนึ่งของประเทศใดประเทศหนึ่ง อาจจะมีช่วงเวลาที่คนในประเทศมีเงินสดมากกว่าปกติ ขณะที่มีภาระค่าใช้จ่ายน้อยกว่าปกติ ทำให้คนหรือประเทศมีเงินเหลือมาก ส่งผลให้ดอกเบี้ยต่ำลงมาก ดังนั้นเงินบางส่วนก็ถูกผันไปลงทุนในตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ผลคือราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น กระบวนการนี้อาจเกิดขึ้นนาน เนื่องจากเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสังคมที่ไม่ใช่เรื่องชั่วคราว ผมกำลังบอกว่าอายุของประชากร ซึ่งสัมพันธ์กับรายได้ และรายจ่ายของคนในประเทศ อาจมีส่วนสำคัญต่อ Fund Flow ที่ไหลเข้าออกจากตลาดหุ้นมาก จนทำให้ดัชนีมีทิศทาง และแนวโน้มทางใดทางหนึ่งต่อเนื่องยาวนาน
ถ้าเราลองคิดถึงว่าคนๆ หนึ่ง ช่วงเวลาในชีวิตของเขาที่เริ่มทำงาน แต่งงาน มีลูก เงินที่เขาหาได้ มักถูกใช้จ่ายไปแทบจะไม่เหลือสำหรับคนที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมาก แต่เมื่อลูกๆ โตและทำงานได้แล้ว อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เขามีอายุ 45-60 ปี เขาจะมีเงินเหลือมากทีเดียวเพราะไม่ต้องเลี้ยงดูลูก และไม่ต้องผ่อนบ้านที่ผ่อนไปจนหมดแล้ว เขาก็ต้องเริ่มเก็บและ "ลงทุน" เพื่อการเกษียณที่จะตามมา
เงินนี้บางส่วน "ไหล" เข้าตลาดหุ้น ประเด็นคือ ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่ง มีการเกิดเด็กใหม่ลดลง และทำให้สังคมประกอบไปด้วยคนที่มีอายุ 45-60 ปีมากขึ้น จะส่งผลเงินไหลเข้าตลาดหุ้นมากเป็นพิเศษ และการไหลต่อเนื่อง 10-15 ปี จนกว่าคนจะแก่ และเลิกทำงาน ทำให้มีเงินน้อยลง และอาจเริ่มไหลออกจากตลาดหุ้นเรื่อยๆ
อาการเงินไหลเข้าตลาดหุ้นยาวนาน และทำให้ดัชนีหุ้นขึ้นเป็นสิบปีขึ้นไป หลังจากนั้นหุ้นก็โตช้าลงยาวนาน ซึ่งเคยเกิดขึ้นในตลาดหุ้นนิวยอร์กช่วงทศวรรษ ปี 1991-2000 ที่หุ้นปรับตัวขึ้นจาก 2600 จุดเป็น 10450 จุด หรือ 4 เท่าในเวลา 10 ปี คิดเป็นการเพิ่มขึ้นปีละ 15% แบบทบต้น ซึ่งเป็น"ประวัติการณ์" ครั้งหนึ่ง แต่หลังจากนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลา 13 ปี ดัชนีดาวโจนส์ขึ้นมาอยู่ที่เพียง 15450 จุดหรือขึ้นมาแค่ 50% คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นเพียงปีละ 3%
ตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ต้นปี 2544 ดัชนีอยู่ที่ 270 จุด จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 13 ปี ได้ปรับขึ้นเป็น 1500 จุด หรือ 5.5 เท่า คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 14.5% นับเป็นการเติบโตต่อเนื่องยาวนาน และสอดคล้องกับอายุของประชากรที่ดูเหมือนว่ากำลังมีรายได้สูง ลูกโต และกำลังใกล้เกษียณดังที่กล่าวไว้
อนาคตตลาดหุ้นไทย ถ้าเชื่อในทฤษฎีดังกล่าว ประกอบกับการที่คนไทยกำลังเข้าสู่สังคมคนสูงอายุในเวลาอาจจะ 10-20 ปีข้างหน้า ผมคิดว่าในที่สุดผลตอบแทนการลงทุนจะลดลงไปยาวนาน แต่ระหว่างนี้ กระแสเงินจากคนไทย น่าจะยังไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไม่น้อย และจะทำให้ตลาดหุ้นไทยดีต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง 5-10 ปี แต่หลังจากนั้น เราอาจต้องไปลงทุนในตลาดอื่นที่คนยังหนุ่ม และเพิ่มขึ้นเร็วอย่างในประเทศ AEC ส่วนใหญ่ เพื่อจะให้ได้ผลตอบแทนที่ดีต่อไป
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556
No comments:
Post a Comment